เริ่มจากเหยื่อ จบที่แพชชั่นของปังปอนด์–กฤตนัน ดิษฐบรรจง - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ตอนนั้นอยู่บนราวสะพานจะกระโดดน้ำ แวบแรกคือ ยังอยากเป็นนักข่าว ยังไม่อยากตายจริง ๆ ถ้าตายไปคงทำความฝันอดีตเก็บไว้เป็นบทเรียน แต่ปัจจุบันเราขีดเขียนเองได้เลยมีเราถึงทุกวันนี้” 

คำพูดของชายวัย 23 ปีที่อยู่รวมกับ HIV มากว่า 7 ปี โดยที่ความฝันของเขาคือ การอยากเป็นนักข่าว ปังปอนด์–กฤตนัน ดิษฐบรรจง คนรุ่นใหม่ที่อยู่แถวหน้าของการรณรงค์หยุดการตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้ที่อยู่ร่วมกับ HIV เขาออกมาเคลื่อนไหวประเด็นนี้ 4 ปีหลังจากที่หยุดตีตราตัวเอง โดยมีความฝันเป็นแรงผลักดัน Decode ขอพาทุกคนไปเจาะลึกเรื่องราวเบื้องหลังชีวิตปังปอนด์ ผ่านบทสัมภาษณ์ทั้งรอยยิ้มและคราบน้ำตา

01 ความรุนแรง

ตั้งแต่จำความได้เด็กชายปังปอนด์วัย 4 ขวบแทบจะไม่เห็นหน้าพ่อแท้ ๆ เนื่องจากพ่อของเขาถูกศาลตัดสินให้จำคุกในคดียาเสพติด ดังนั้นเขาจึงอาศัยอยู่กับแม่สองคนในชุมชนแออัดย่านบางโพ กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก หลังจากนั้นไม่นานแม่เขาก็มาคบกับพ่อเลี้ยง เขาคิดว่าอะไร ๆ คงจะดีขึ้น แต่เปล่าเลย เขาถูกพ่อเลี้ยงใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก ทั้งถูกต่อย ถูกแตะ ถูกตี โดยที่เขาไม่สามารถต่อสู้กลับคืนได้ 

“เรารู้สึกว่านั่นไม่ใช่บ้าน ไม่เคยอยากอยู่ที่นั่น เรารู้สึกไม่ปลอดภัยตั้งแต่ 7 ขวบ ถูกทำร้ายร่างกายบ่อยมากจากพ่อเลี้ยง เพียงเพราะเราทำในสิ่งที่เขาต้องการไม่ได้ กระทืบ มีตี มีแตะ เราเดินไปหยิบของให้ช้าบ้าง เขาก็มาตบหัวเรา เราเก็บกดมากช่วงนั้น” 

“แล้วแม่ไม่รู้เรื่องนี้เหรอ?” ผมถามปังปอนด์กลับ 

“ไม่…ส่วนใหญ่พ่อเลี้ยงทำตอนที่แม่ไม่อยู่” เหมือนหน้ามือเป็นหลังมือ ตอนที่แม่ของเขาอยู่ด้วยพ่อเลี้ยงก็ทำกับเขาจากเคยตบหัวก็เดินมาลูบหัว ทำให้แม่ไม่คิดว่าพ่อเลี้ยงจะทำร้ายร่างกายเขา จนเวลาผ่านไป พ่อเลี้ยงตกงาน อารมณ์ภายในบ้านเริ่มตึงเครียดมากขึ้น พ่อเลี้ยงเริ่มหันไปพึ่งอบายมุข และสิ่งเสพติด การใช้ความรุนแรงไม่ได้ถูกใช้กับปังปอนด์เพียงฝ่ายเดียว แม่ของเขาก็ตกเป็นเหยื่อด้วย 

“แม่ก็สู้ไม่ได้ บางทีแรงผู้ชายมันเยอะกว่า เราเคยทำคืนแล้วโดนกลับมาแรงกว่าเดิม ถูกต่อยปากแตกเลือดไหล เราก็เลยกลัวไม่กล้าขัดขืนอีก” 

ความรุนแรงภายในครอบครัว เป็นปัญหาในทุกยุคทุกสมัย สร้างบาดแผลทางใจให้กับเด็กในระยะยาวและก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอีกด้วย ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กโดย คุณหมอเบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจาก ‘เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา’ กล่าวว่า “ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวส่งผลกระทบต่อเด็ก ตัวเด็กจะเกิดบาดแผลทางจิตใจ บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องของวิตกกังวล ซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจ ไม่เห็นคุณค่าในตัวตนของตัวเอง มีงานวิจัยหลาย ๆ อย่างที่บอกว่าความรุนแรงที่เด็กเจอในวัยเด็ก จะติดตามไปถึงตอนที่เขาเป็นผู้ใหญ่ และเกิดปัญหาสังคมตามมาหลายด้าน เช่น ปัญหาเด็กหนีออกจากบ้าน ต่อต้านสังคม หรือหลงเข้าไปสู่อบายมุข”

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ และผลสำรวจเด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2558-2559 มีเด็กอายุระหว่าง 1-14 ปี ประมาณ 470,000 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงมากที่บ้าน และเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายกำลังช่วยกันแก้ไข

สภาพสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ในในชีวิตจริงเท่านั้น แต่สื่อทั้งโทรทัศน์ สังคมออนไลน์ในโลกของโซเชียลมีเดีย อินเตอร์เน็ต จะมีลักษณะค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะการใช้คำพูด การดุด่าว่ากล่าว ใส่ร้ายอะไรกัน ตรงนี้เป็นความรุนแรงได้กับเด็กในยุคปัจจุบัน 

“เราโดนใช้ความรุนแรงอย่างนี้มาเรื่อย ๆ จนสะสมเป็นความความเครียด ไม่อยากออกไปเจอใคร เราได้แค่โดนคนที่บ้านทำร้ายร่างกายอย่างเดียว 

“เราก็ยังโดนล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย เราเลยต้องหนีออกจากบ้าน” 

-02 ล่วงละเมิด

“เราไม่เคยเปิดเผยเรื่องจากที่ไหนมาก่อนเลย เรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเรายังเด็กมากและโดนมาเรื่อย ๆ” 

“ครั้งแรกตอนไหน” ผมถาม 
“ป.2” เขาตอบกลับ 

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แม่ไปทำธุระกับพ่อเลี้ยงที่ต่างจังหวัดและทิ้งให้เขาอยู่บ้านเพียงลำพัง ด้วยความร้อนในเดือนเมษายนทำให้เด็กชายไม่ทันระวังเปิดประตูห้องทิ้งไว้ หวังเพียงให้ลมระบายความร้อนเพื่อจะได้หลับอย่างสบาย ทว่าฝันร้ายก็เข้ามา 

“ตื่นขึ้นมา เราเห็นเหมือนคนเดินเข้ามาในห้อง ลองมองดี ๆ เขาเป็นแรงงานก่อสร้างแถวบ้าน เดินเข้ามาจับของเรา ตอนนั้นตกใจมาก แล้วก็ใช้ปากออรัลเซ็กส์ให้เรา ตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่า มันคืออะไร รู้อย่างเดียวคือเรากลัวตัวสั่นไปหมด นอนหลับตาและร้องไห้” ผมรับรู้ถึงความรู้สึกเศร้าผ่านน้ำเสียงจากเขา 

เด็กวัย 7 ขวบไม่สามารถสู้แรงชายวัย 30 ได้ ทำได้แค่ร้องขอความช่วยเหลือแต่ไม่มีใครได้ยิน…หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ปังปอนด์ได้บอกแม่ของเขา

“ความตลกร้ายก็คือ มีคนในชุมชนมาขอร้องว่าอย่าแจ้งความเลย ไม่อยากให้เป็นเรื่องใหญ่ และสุดท้ายเขาก็หนีไปได้” รอยแผลนั้นยังฝังลึกในจิตใจของเขา “เรานอนไม่หลับบ่อยมากเพราะเหตุการณ์มันยังวนเวียนไม่ไปไหนนั้นคือสิ่งที่เราตอน 7 ขวบต้องเจอ” 

“ทำไมคนในชุมชนช่วยกันปกปิด” เราถาม 

ปังปอนด์คิดอยู่ชั่วครู่ “อันนี้เป็นสิ่งที่เราค้างคาใจมาถึงทุกวันนี้มาก พอโตมาเราจึงหนีจากชุมชนนั้นไง เขามองว่าการที่เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ใช่แค่เราที่โดนคนแรก โดยเฉพาะเราเป็นเด็กผู้ชายที่ดูไม่เสียหายเท่าเด็กผู้หญิง ซึ่งเอาจริงมันเป็นแผลในใจที่ลึกมาก ๆ รักษาแทบไม่ได้” 

ปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถิติจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2561 มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวนทั้งสิ้น 419 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ถูกกระทำจากคนในครอบครัวจำนวน 151 คนและถูกกระทำจากบุคคลภายนอกครอบครัวจำนวน 268 คน และจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 ทำให้เห็นว่าปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศในไทยยังถูกมองข้ามและถูกแก้ปัญหาอย่างไม่จริงจัง มีแคสให้เห็นออกมาอย่างต่อเนื่องในข่าว 

แต่น่าแปลกที่หน่วยที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยกับประชาชนเช่น ตำรวจก็ปล่อยผ่านเรื่องนี้เหมือนเหตุการณ์ที่ปังปอนด์เคยเจอ 

“เราเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกครั้งที่สวนลุมพินี ตอนนั้นอายุ 14 เราหลงทางกับแม่ แล้วเจอชายคนหนึ่ง เขาบอกจะช่วยพาเราไปหาแม่ แต่พาเราไปไหนไม่รู้ เขาก็ล่วงละเมิดเรา พยายามทกดหัวเราไปทำออรัลเซ็กซ์ แต่เราขัดขืนและตะโกนให้คนช่วย จน รปภ.มาเห็น เราแจ้งความที่ สน. ลุมพินี คุยกันไปคุยกันมา ตำรวจก็ให้หยวน ๆ จ่ายเป็นค่าปรับแทน เรื่องจะได้จบ ลงบันทึกประจำวันไป และที่ตลกคือแม่เราก็ยอม เพราะไม่อยากเสียเวลาฟ้องร้อง เราทำอะไรไม่ได้ เขาบอกเป็นเรื่องของผู้ใหญ่” 

“แต่เด็กต่างหากที่เป็นผู้ถูกกระทำ เป็นเด็กแม่งโคตรลำบาก” 

“เราว่า การถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับเราบ่อยครั้ง เพราะว่าขาดทักษะการปฏิเสธกับผู้อื่น คือเราชอบช่วยคนอื่น เดี๋ยวช่วยครับ คนที่มาไม่ดีเขาก็คิดว่าเราหลอกลวงได้ง่าย ที่สำคัญเลยเราขาดผู้ใหญ่ดูแลปกป้อง ถ้าวันนั้นแม่เอาเราไปด้วย หรือไม่ปล่อยให้เราอยู่คนเดียวเราคงไม่โดนอะไรแบบนี้” 

คิดว่าฝันร้ายคงจะจบ เขาก็ได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกครั้งโดย รปภ. แถวบ้านนับ 10 ครั้งเพราะโดนข่มขู่ว่าจะบอกเรื่องนี้กับคนอื่นด้วยความอายและบอกใครไม่ได้ก็ต้องจำยอม เพราะไม่มีใครสามารถช่วยเขาได้เลย 

“ช่วงนั้นคือเราแย่มาก ๆ จากพ่อเลี้ยงที่ใช้ความรุนแรงกับเรา แม่ของเราก็ใช้ความรุนแรงกับเรา ทำให้ไม่กล้าบอกเรื่องนี้กับแม่เพราะกลัวหาว่าเรียกร้องความสนใจ ไหนปัญหาทางการเงินจากที่บ้านอีก” 

“ผู้ใหญ่เขาจึงตัดสินใจส่งเราไปเป็นเด็กวัดแถวบ้านเพื่อให้เราพอมีข้าวกิน” 

แต่โชคชะตากลับเล่นตลกร้ายอีกครั้ง เมื่อเขาคิดว่าศาสนาควรเป็นทางออกและช่วยให้จิตใจของเขาดีขึ้น แต่ไม่เลยการถูกล่วงละเมิดกลับมากอีกครั้งและบุคคลที่กระทำคือ ‘พระ’ 

“เราไปเป็นเด็กวัด กินข้าวก้นบาตรพระ เราได้ไปนอนกับพระรูปหนึ่ง ด้วยความที่หน้าตาเราคงถูกใจพระรูปนั้น เขาก็ล็อกกลอนปิดประตู เราก็สงสัยนะแต่ไม่คิดอะไรมาก เสร็จแล้วก็เปิดคลิปโป๊ให้เราดู เขาก็ให้เรามานอนที่เตียง แล้วก็เริ่มที่จะถกกางเกงเราลง ออรัลเซ็กส์ให้เรา ล็อกแขนเราทั้งสองข้าง โดนสอดใส่อวัยวะเข้าไป 

“เรารู้สึกว่าศาสนาไม่สามารถเป็นที่พึงพิงกับเราได้อีก สำหรับเรานะหลังจากนี้จะไม่นับถือศาสนาอีกแล้ว อาจจะมองว่าเราเหมารวมก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าในแง่หนึ่งมันคือการรักษาสภาพจิตใจของเราให้ยังดีอยู่ เพราะตราบใดที่เรากลับเข้าไปอยู่ในศาสนาภาพมันจะแฟลชแบ็กกลับมาถึงเหตุการณ์นั้นเสมอ และเราเสียใจทุกครั้งที่มันเกิดขึ้น” 

“เล่าให้แม่ฟังก็ไม่กล้าแจ้งความ ทุกสิ่งทุกอย่างมันบีบบังคับให้เราต้องออกจากบ้าน เพราะเราไม่เคยรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่บ้าน และเขามักพูดบอกเราเสมอว่าเป็นผู้ชายไม่เป็นอะไรหรอก” 

เราทุกคนรู้มาตลอดมาว่าสังคมไทยเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกบังคับให้อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี และไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตน โดยเฉพาะเรื่องเพศได้อย่างอิสระ แต่คำว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่” เอง ก็บีบให้ผู้ชายต้องเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นผู้นำ ดังนั้นคนในสังคมจึงมองว่าผู้ชายไม่ใช่ฝ่ายที่จะถูกกระทำทางเพศได้ ไม่เสียหายอะไร 

ทว่ามันส่งผลให้ผู้ชายไม่มีโอกาสเรียนรู้ว่าต้องรับมืออย่างไรกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร และสังคมเองก็ยังขาดกลไกทางสังคมที่ดีพอที่จะดูแลผู้ชายหรือเด็กชายที่ถูกล่วงละเมิด ซึ่งต่างจากผู้หญิงที่เห็นปัญหาได้ชัดเจนกว่ามีกระบวนการช่วยเหลือที่ต่อเนื่องยาวนานและเป็นระบบมากกว่า

“ถึงเราเป็นผู้ชายเราก็อ่อนแอได้ คุณจะเป็นเพศอะไร อายุเท่าไร คุณก็สามารถถูกล่วงละเมิดได้ทั้งนั้น เราคือมนุษย์เหมือนกันมีจิตใจเหมือนกัน เราว่าสังคมต้องมองทุกคนให้เท้ากันจริงๆ ก่อนถึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้” 

การแก้ปัญหาจึงไม่ควรแก้ที่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องรื้อมุมมองและบรรทัดฐานเรื่องเพศที่เอื้อไปสู่การใช้ความรุนแรงทางเพศหรือล่วงละเมิดทางเพศต่อกันได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม 

“ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น เหมือนทำให้เราเป็นคนไร้บ้าน” คำพูดของปังปอนด์ทำให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วปัญหาเด็กเยาวชนที่หนีออกจากบ้านมาเผชิญชะตากรรมในชีวิตคนเดียว ใครหลายๆ คนมองว่าเขาเหล่านั้นเป็นเด็กมีปัญหาต่อต้านสังคมแต่ถ้าลองเปิดใจและนั่งฟังพวกเขาอย่างจริงใจจะพบว่าแทบไม่มีใครอยากที่จะไร้บ้านเพียงเพราะเขาต่างผ่านอะไรมาทำให้ไร้บ้านมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว 

ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมอยู่ ทั้งครอบครัว เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นผ่านทางแคสของปังปอนด์ได้ดีเลยว่าทุกอย่างบีบบังคับให้เขาต้องเป็นเด็กที่หนีออกจากบ้าน 

-03 HIV / ซึมเศร้า

หลังออกจากครอบครัว โดยมีเงินติดตัวไม่ถึงร้อยบาท ร่างของเด็กชายวัย 15 เดินร้องไห้ไปตามถนน เขาคิดว่าจะหาเงินอย่างไรให้อยู่รอด “สมัครที่ไหนก็ไม่มีใครรับ เพราะยังไม่จบ ม.3 การขายตัวถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด” เขาเริ่มไปยืนขายตัว เพราะเคยเห็นในรายการสารคดีทางโทรทัศน์ ได้ค่าตัวครั้งละ 500 บาทขึ้นไป ตกต่อวันได้ 3,000-4,000 ซึ่งถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น แต่ก็ต้องแลกด้วยความลำบากเพราะในช่วงกลางวันเขาต้องไปแอบนอนหลับที่ศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า และกลับไปขายบริการในช่วงกลางคืน 

ปังปอนด์ใช้ชีวิตแบบนี้วนไปวนมาถึง 6 เดือนเต็ม มีอยู่วันหนึ่งเขาได้ขายบริการตามปกติทว่าลูกค้ารายประจำกลับทักเขาด้วยคำพูดที่แปลกไป 

“ทำไมผอมจังเลย โทรมจังเลยติดหรือเปล่า ตัวดำนะนิ เขาก็ให้เงินมาหนึ่งพัน ให้เราไปตรวจเลือด เขาก็ไม่มี sex กับเรา แต่เราก็คิดว่าไม่น่าเป็น มีอะไรไปเรื่อย ๆ หลังจากนั้น 3 เดือนแม่ก็มาตาม เพราะเขาเลิกกับพ่อเลี้ยงแล้ว” 

พอกลับบ้านอะไร ๆ ก็เริ่มดีขึ้น กลับไปเรียนตามปกติ มีอยู่วันหนึ่งเขาเริ่มมีไข้ ไม่สบายง่าย ท้องเสียบ่อย เขาเริ่มไม่แน่ใจว่าอาการที่เป็นคืออะไรกันแน่ ในที่สุดเขาก็แอบแม่ไปตรวจ เหมือนฝันร้ายกลายเป็นจริง ผลเลือดเป็นบวก “ตอนนั้นช็อคไปเลย นานมากกว่าจะกล้าตัดสินใจไปบอกแม่” 

“บอกแม่แล้วเป็นอย่างไร” ผมถาม 

“แม่ไม่คุยด้วยอาทิตย์หนึ่ง แยกของใช้ทุกอย่าง แก้ว จาน ชาม เขาคงกลัวแหละ เราก็พาเขาไปคุยกับหมอเขาก็เริ่มดีขึ้น ในที่สุดเขาก็รับได้ เพราะหมอพยายามพูดปรับความเข้าใจกับแม่ว่า HIV ไม่ได้ติดง่ายอย่างที่แม่เราคิด” เกือบ 3-4 เดือน ช่วงแรกที่เขาเครียดมากจนนอนไม่หลับ 

“ถ้าวันนั้นแม่เราไม่ให้ความสำคัญกับพ่อเลี้ยงขนาดนั้น แล้วมาให้ความสำคัญกับลูกมากกว่า เราก็คงไม่ออกไปขายตัว รู้สึกว่าอบอุ่นกว่านี้ มันเหงามากเวลาตอนที่เราต้องนอนบนโต๊ะที่ศูนย์อาหารคนเดียว….(น้ำตาเริ่มไหล) คือเราเชื่อมั่นว่าแม่เป็นแม่เลี้ยงเดียวได้ แต่ทุกวันนี้แม่ก็กลับมาเป็นแม่เลี้ยงเดียว แม่ก็ดีขึ้นกับเรา แม่ยอมรับขึ้นในตัวเราและ HIV” 

หลังจากรักษา HIV มาสักพักหนึ่ง เขาเริ่มรู้สึกว่ามีบางสิ่งผิดปกติจากอารมณ์ของเขา เช่น เวลาอยู่คนกลับเพื่อนเขาจะเฮฮา มีความสุขมากกว่าปกติ กลับกันถ้าวันไหนเขาอยู่คนเดียวเขามีความรู้สึกอยากนอนหลับไปโดยไม่ตื่นอีกเลย เขาเริ่มไปหาหมอ และถูกวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้ากับไบโพล่าขั้นที่ 2 

“มันมีวันหนึ่งเดินผ่านสะพานหัวช้าง แล้วอยากกระโดดลงไป แต่มีสิ่งหนึ่งแว๊ปขึ้นมาคือ passion การอยากเป็นนักข่าว” 

-04 ทางออกจากความมืด-

ตั้งแต่เด็กปังปอนด์มีความฝันอยากเป็นนักข่าว เพราะชอบอ่านหนังสือพิมพ์เป็นประจำ “เวลารู้เรื่องข่าวสารบ้านเมือง แล้วไปพูดกับผู้ใหญ่เขาก็ชมเราเห็นค่าเรา เราเลยอยากเป็นนักข่าว” ที่โรงเรียนเขาก็มักจะอาสาเป็นประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน ทำเสียงตามสาย หรือเป็นพิธีกร เพราะนั่นทำให้เขากลายเป็นคนที่มีบทบาททางสังคม มีตัวตนมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้ปังปอนด์รู้สึกมีค่าที่ได้ให้ข้อมูลคนอื่น

“การอยากเป็นนักข่าว ทำให้เรารู้ว่าเรายังไม่อยากตายจริง ๆ ถ้าเราตายไปเราคงทำความฝันเราไม่สำเร็จ เราต้องก้าวผ่านมันไปให้เพื่อทำตามฝันของเราให้สำเร็จ อดีตก็คืออดีตเก็บไว้เป็นบทเรียนได้ แต่ปัจจุบันเราขีดเขียนเองได้ เราก็เลยมีพลังส่งต่อเราเรื่อยๆ 

ทุกวันนี้ ปังปอนด์ ฝึกมือตัวเอง เขาเปิดเพจ ‘ส่องสื่อ’ วิพากษ์สื่อแม้เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็มีเป้าหมายที่อยากให้เพจเสนอมุมมองใหม่ ๆ ให้กับสังคม ขณะเดียวกันก็สะท้อนสื่อไทยด้วย และเขายังเปิดพื้นที่กับทุกความคิดอย่างเท่าเทียมกันจัดไลฟ์สดคุยกับคนในวงการสื่อแลกเปลี่ยนมุมมองสื่อในยุคปัจจุบันในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ “เราอยากเห็นสังคมมันถูกถกเถียงได้โดยไม่มีกฎหมายมากดไว้ รู้สึกว่าความคิดของคนมันต้องแลกเปลี่ยนกันมันคือหลักง่าย ๆ ของนิเทศศาสตร์ สังคมมันถึงพัฒนา มันคือแก่นที่เราอยากทำมากที่สุด” 

“เราว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่คิดสั้นคือการที่เรามีความฝัน มีจุดหมาย ที่จะเป็นนักข่าว มันเป็นอาวุธชั้นดีที่ทำให้เราต่อสู้กับโลก หรือโรคนี้ได้ เรารู้สึกโชคดีที่เรายังมีฝัน มีจุดหมายว่าพรุ่งนี้เมื่อเราตื่นมาจะทำอะไร และเราต้องทำให้มันเป็นจริง” 

4 ปีกับการทำงานสื่อช่วยให้เขามีพลังในการเดินหน้าพัฒนาตัวเองในวงการสื่อมวลชนนี้ แต่ปังปอนด์ไม่เคยลืมเรืองราวที่เกิดขึ้นในชีวิต และอยากสื่อสารประเด็นความรุนแรง และการถูกล่วงละเมิดมาทุก ๆ ครั้งที่มีโอกาส เพราะสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นชัดมากถึงโครงสร้างวัฒนธรรมของสังคมไทย ตั้งแต่การที่พ่อแม่คิดว่าลูกอยู่ในครอบครองแล้วจะทำอะไรก็ไม่ได้ จำเป็นต้องเข้าใจว่า เด็กไม่ใช่วัตถุทางกายภาพ เด็กคือคนหนึ่งคนซึ่งควรมีสิทธิ์มีเสียงเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ที่ควรได้รับความเคารพเช่นกัน และเลิกทัศนคติการใช้ความรุนแรง เพราะนั่นไม่ได้แก้ปัญหา

นอกจากการให้สังคมต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว ปังปอนด์เองก็มองว่า “พลังในตัวของเราเอง” ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันที่จะทำให้เราก้าวข้ามเรื่องแย่ ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตได้

“การที่เรากลับมามองตัวเองว่าเรามีคุณค่าตรงไหนบ้าง? อาจจะไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ใครหลายคนมอง แต่เราว่าทุกอย่างที่ทำให้เรามีชีวิตก็มักจะเกิดขึ้นจากตัวเราเอง พักหลังมาครอบครัวได้เรียนรู้ว่าเราไม่จำเป็นที่ต้องมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบก็ได้ แต่พวกเราก็สามารถให้ความรัก ความอบอุ่นได้เทียบเท่ากับครอบครัวที่เขามีกันครบ พ่อ แม่ ลูก”

บทความนี้อาจไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องที่สุดของปัญหาเหล่านี้ แต่เราเชื่อว่าเรื่องราวประสบการณ์ของ ปังปอนด์–กฤตนัน ดิษฐบรรจง อาจสะท้อนประเด็นอะไรหลาย ๆ อย่างในสังคมเรา และเป็นกำลังใจให้กับใครที่กำลังเจอเรื่องราวร้าย ๆ ดีผ่านมุมมองชายวัย 23 ปีผู้นี้ผู้มองว่า 

‘ความฝันกับความตั้งใจ คืออาวุธที่ทำให้เขาผ่านเรื่องร้าย ๆ ไปได้’