11 พฤศจิกายน 2562…เปิดฉากการต่อสู้กรณีเหมืองอมก๋อยกับการเข้ารับฟังข้อกล่าวหาของ 2 นักต่อสู้รุ่นใหม่ในพื้นที่อย่างพี่โจและพี่เบิ้ม ณ สถานีตำรวจอำเภออมก๋อย พร้อมกำลังใจจากพี่น้องแนวร่วมอีกหลายสิบชีวิต
ดวงแก้วเด็กสาววัย 19 ปี รวมถึงฝ้ายและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันอีกหลายสิบชีวิต ต่างหอบหิ้วดอกไม้ ป้ายกระดาษ ป้ายผ้า ปากกาหลากสีเพื่อขีดเขียนเจตนารมณ์ของการต่อสู้ในครั้งนี้
พวกเราจะสู้ต่อไป
คนอมก๋อยไม่เอาเหมืองแร่
ชาวอมก๋อยไม่ทิ้งกัน
อีกหลากหลายประโยคบอกเล่าความรู้สึก และถูกประกาศในวันนั้น แม้ไม่รู้เส้นทางการต่อสู้จะทอดยาวไปอีกนานแค่ไหน..?
แต่วันนี้ดอกกุหลาบขาวในมือของพวกเขากำลังเริ่มเบ่งบานขึ้นพร้อมความหวังแห่งชัยชนะ
284 ไร่ บนพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 800 เมตร เป็นบ้านเกิดของหนุ่มสาวที่รวมตัวกันในวันนี้ พื้นที่ที่กว้างขนาดนั้นกินรวบป่าต้นน้ำ 2 แหล่งที่เปรียบเหมือนต้นกำเนิดชีวิตชาวกะเบอะดินและชาวอมก๋อย มันหล่อเลี้ยงชีวิตและเป็นแหล่งน้ำในการทำเกษตรอีกด้วย
แต่มันกำลังกลายเป็นเหมืองแร่ถ่านหินขนาดใหญ่
ที่ห่างจากหมู่บ้านกะเบอะดินไม่ถึง 1 กิโลเมตร!
ใน EIA ที่จัดทำขึ้นจะระบุว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นเพียงป่าเสื่อมโทรม แต่จากปากคำคนในพื้นที่แล้วมันขัดแย้งกันอย่างชัดเจนเพราะพื้นที่ 284 ไร่เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านกว่า 42 ครัวเรือน ซึ่งใช้ทำการเกษตรปลูกพืชหมุนเวียนอยู่ทั้งปี และป่าต้นน้ำอย่าง ห้วยอ่างขาง และ ห้วยผาขาว ยังห่างไกลจากคำว่าป่าเสื่อมโทรมอยู่มากโขเพราะมันหล่อเลี้ยงชาวบ้านหลายร้อยชีวิตตลอดทั้งสาย
“เหมืองแร่จะกินพื้นที่ประมาณครึ่งดอยเป็นวงกลมรอบพื้นที่ที่เรายืนอยู่นี้เลย ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แล้วบางคนก็มีแค่ที่ตรงนี้ที่เดียวในการทำมาหากิน ถ้ามีการสร้างเหมืองจริงๆ เขาก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำยังไงต่อไป”
ดวงแก้ว เด็กสาวชาวปกาเกอะญอที่มักอยู่ในชุดสีขาวยาวกรอมเท้า ปักลายเฉพาะชนเผ่าจนชินตา เอ่ยขึ้นกับเราในขณะที่เดินนำเราไปตามทางเส้นเล็กๆ ซึ่งทอดยาวเข้าไปในป่าเขียวครึ้มเบื้องหน้า มันคือป่าต้นน้ำห้วยผาขาวตามคำบอกเล่าของเธอ
1 กิโลเมตรจากหมู่บ้าน ดวงแก้ว ฝ้ายและเพื่อนอีก 2 คนพาเราเดินทางมาด้วยรถโฟล์วิลบนเส้นทางที่ขรุขระทั้งรกชัฏไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ เส้นทางนี้เชื่อมต่อกับเส้นทางหลักของหมู่บ้านที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาและเชื่อมกับอีก 6 หมู่บ้านใกล้เคียง คือ หนองกระทิง ตุงลอย ยองกือ บ้านขุน ทุ่งกว้าง และ บ้านมะกอก 3 ต้น
แต่หากเหมืองเกิดขึ้นจริงเส้นทางนี้จะกลายเป็นเส้นทางขนย้ายถ่านหินตามคำร้องของเหมืองที่ขอให้รถบรรทุกขนย้ายแร่ถ่านหินสามารถวิ่งได้ 50 เที่ยวต่อวัน แต่ถ้าลองคิดขาไป-กลับ มันคือ 100 เที่ยวต่อวันเลยทีเดียว!
“ความจริงเราได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าเหมืองจะมา แต่ไม่รู้เลยว่าเหมืองคืออะไร? มันจะมีผลกระทบอย่างไร? เราไม่รู้อะไรเลย”
ดวงแก้วเล่าย้อนในครั้งที่เหมืองยังเป็นเรื่องที่เธอไม่ได้ใส่ใจ และเป็นเพียงเรื่องเล่าในความทรงจำจางๆ ของคนแก่ในหมู่บ้าน ข้อมูลที่รับรู้มีเพียงการเข้ามาติดต่อขอซื้อที่จากชาวบ้านในครั้งที่เธอยังไม่เกิดด้วยซ้ำ
เงินที่ได้ไม่มากนักแต่กับชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ กระทั่งพูดภาษาไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ ความไม่เข้าใจและไม่มีข้อมูลทำให้ชาวบ้านหลายคนยอมรับเงินมา
แล้วเรื่องราวก็เงียบหายไป…
เด็กหญิงดวงแก้วเกิดและเติบโตในหมู่บ้านกะเบอะดิน บ้านไม้ชั้นเดียวยกสูง ภูเขาเขียวครึ้ม และหมอกจัดในวันที่อากาศหนาวคือสิ่งที่เธอคุ้นชินมาตั้งแต่เด็ก
แม้สถานะทางบ้านจะติดลบไม่ต่างจากครอบครัวอื่นในหมู่บ้าน แต่ความโชคดีของเด็กสาวคนนี้คือเธอสามารถเรียนจบในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ ในขณะที่เพื่อนในวัยเดียวกันมีโอกาสได้เรียนแค่ประถมหกหรือไม่เคยได้เรียนเลยเท่านั้น อย่างไรก็ตามความฝันของการอยากเป็นหมอก็ดูจะไกลเกินไปสำหรับเด็กสาวชาวปกาเกอะญอคนหนึ่ง
หลังการจบชั้นมัธยมปลายเธอกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านบนเขากับแม่และพ่อ ดวงแก้วอาจจะมีชีวิตไม่ต่างจากเด็กสาวที่นี่มากนัก หากในวันหนึ่งเธอจะไม่บังเอิญไปเห็นใบสัมปทานกับการเข้ามาของเหมืองแร่ถ่านหิน!
“เราเจอใบสัมปทานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แล้วถ่ายรูปลงเฟสบุ๊คหลังจากนั้นก็เป็นข่าวขึ้นมา พร้อมกับการเข้ามาของทีมยุติเหมือง”
ในฐานะเด็กผู้หญิงคนหนึ่งดวงแก้วก็ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งตัวเองจะมายืนอยู่ใจกลางของความขัดแย้งเช่นนี้ แต่เหตุผลของการลุกขึ้นต่อสู้มันไม่ยากเลย เมื่อต้นทุนทางการศึกษาที่เธอพอมีมากกว่าคนอื่นๆ ในหมู่บ้านมันยิ่งตอกย้ำให้เธอเข้าใจว่า
…ถ้าเธอไม่ทำโอกาสชนะที่แทบจะไม่มีอยู่แล้วก็จะยิ่งติดลบ! และเมื่อไม่มีความรู้ ไม่มีคนมากพอ คนรุ่นใหม่นี่แหละคือคำตอบ
“เราสร้างกลุ่มรักบ้านเกิดที่เรียกว่า #Saveกะเบอะดิน เพื่อพูดคุยกัน ใครอยากบอกอะไรก็รับฟังกันในที่ประชุมและแบ่งงานกันทำ เราจะดูว่าใครถนัดทำอะไร ก็ให้ทำอย่างนั้นและทำให้ดีที่สุด สิ่งที่เราต้องทำอีกอย่าง คือ การสร้างเครือข่าย สร้างแกนนำ ให้คนหมู่บ้านอื่นเข้ามาเป็นแนวร่วมเครือข่ายเดียวกัน”
การรวบรวมพลังคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่แค่ในพื้นที่กะเบอะดินแต่รวมไปถึงต่างหมู่บ้านซึ่งอาจได้รับผลกระทบ เป็นงานหลักที่ดวงแก้วและเพื่อนกำลังร่วมกันทำ เพราะการต่อสู้เพียงหมู่บ้านเดียวที่มีจำนวนเพียง 200 คน การต่อรองกับสิ่งที่จะเข้ามาแทบไม่มีเลย
การทำงานร่วมกันของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ดวงแก้วและเพื่อนเองก็เพิ่งได้เรียนรู้หลังจากเหตุการณ์เหมืองเข้ามา ดวงแก้วบอกว่าแต่เดิมกลุ่มคนในวัยเดียวกันก็รู้จักกันบ้างอยู่แล้ว จากการเห็นหน้าค่าตาในงานวัดหรืองานประจำปี เพียงแต่ไม่ได้สนิทชิดเชื้อกัน
ในการทำงานช่วงแรกจึงเป็นการติดต่อกันผ่านคนที่รู้จักหรือสนิทในหมู่บ้านนั้นก่อน หลังจากนั้นกลุ่มของพวกเธอและพี่ๆ จากกลุ่มยุติเหมืองจึงลงพื้นที่ไปในหมู่บ้านเพื่อให้ความรู้เรื่องเหมือง ผลกระทบ รวมถึงกฎหมายด้วย
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ถูกถักทอขึ้นจากพื้นที่เล็กๆ ในบ้านกะเบอะดินจนกลายเป็นตาข่ายผืนใหญ่ซึ่งครอบคลุมไปถึงพื้นที่ข้างเคียงอีกกว่า 7 หมู่บ้าน ทั้งดวงแก้ว ฝ้าย และเพื่อนๆ เชื่อว่าหากพวกเขาสามารถถักทอเส้นใยเครือข่ายคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้ใหญ่พอครอบคลุมอมก๋อยทั้ง 20 หมู่บ้าน นั่นจะเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้พวกเขาชนะ
โจ หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อมก๋อย หมู่บ้านยังเปาของโจเป็นพื้นที่หนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเหมือง เด็กหนุ่มในวัยเกือบ 30 ปีจึงตัดสินใจกลับบ้าน หลังเรียนจบปริญญาตรีและทำงานในเมืองอยู่นานหลายปี
กลับมา … เพื่อดูแลบ้านเกิดและเปลี่ยนแปลงอมก๋อยเพื่อคนอมก๋อยอย่างแท้จริง
“ผมรู้ว่าสถานการณ์โลกปัจจุบันมันเปลี่ยนไป บ้านเมือง สังคมก็เปลี่ยนตามกาลเวลา ความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชุมชนเราทั้งด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตมันก็ทำให้ชีวิตคนอมก๋อยเปลี่ยนไป
ผมเข้าใจว่ามันเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลก แต่ผมก็ยังเชื่อว่าคนอมก๋อยยังคงมีวิถีที่อาศัยพึ่งพิงป่าและช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าต้นน้ำซึ่งเป็นทรัพย์สินของคนอมก๋อยและของประเทศด้วย ตอนนี้ที่ผมอยากได้คือ ยกเลิกการทำเหมืองที่อมก๋อย มันจะถือเป็นของขวัญของคนกะเบอะดินและคนอมก๋อยด้วยครับ”
วันนี้การต่อสู้เพิ่งเริ่มต้น …
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ก็เพิ่งเริ่มถักทอ ปลายทางจะเป็นการแพ้หรือชนะก็ยังไม่รู้ดี แต่ภาพอมก๋อยที่พวกเขาวาดไว้ คงต่างจากภาพอมก๋อยในมุมของรัฐ ทุน หรือแม้กระทั่งคนนอกมองอย่างแน่นอน
“มันมี 2 ส่วนที่สำคัญคือคนข้างนอกที่เข้ามาช่วย ถ้าไม่มีกลุ่มพี่เขา ชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ ไม่มีความรู้ก็ไม่รู้จะพึ่งใคร ส่วนชาวบ้านเองถ้าไม่ลุกขึ้นสู้ คนข้างนอกก็ช่วยเราไม่ได้ตลอด ต้องมีสักวันที่พี่เขาต้องไปช่วยพื้นที่อื่นที่ได้รับผลกระทบแบบเรา มันเป็นหน้าที่เราที่ต้องลุกขึ้นมาสู้และปกป้องบ้านตัวเองเอง”
คิดว่าจะชนะไหม?
“เราชนะไหมก็อยู่ที่ชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านไม่ยอม ยังไงเราก็ชนะ เพราะมันเป็นสิทธิของชาวบ้านที่เขาจะเอาหรือไม่เอา”
ดวงแก้วตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ไร้แววชะงักหรือความลังเลใดๆ ในดวงตาคู่นั้น.