เวลาเกือบสี่ทุ่ม
ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะนักกับการเริ่มต้นพูดคุยกับใครสักคนถึงประเด็นที่ค่อนข้างซีเรียสอย่างประเด็น ‘การกิน-อยู่ของคนเมือง’ เมื่อโควิด – 19 ทั้ง ‘สร้าง’ ทางเลือกและบ่อน ‘ทำลาย’ ระบบซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนาน
ระบบ…ซึ่งรวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการอาหารทั้งระบบการผลิต ระบบการกระจายและการบริโภค
ระบบ…ซึ่งอนุญาตให้เรามองเห็นได้แค่ผัก ผลไม้บนเชลฟ์แต่ไม่รู้ที่มา
ระบบ…ซึ่งตัดการเชื่อมต่อของผู้ผลิตและผู้บริโภคออกจากกันอย่างสิ้นเชิง และโชคร้ายที่ระบบนี้กลับไม่สามารถทำงานได้ในยามวิกฤต ผลจึงตกอยู่ที่คนเมืองซึ่งห่างไกลพื้นที่ผลิตอาหารนับหลายร้อยไมล์
นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘โครงการข้าวแลกปลา’ ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างและสร้างความฮือฮาได้ทันทีที่เปิดตัว เพราะมันถูกพูดถึงในฐานะนวัตกรรมทางสังคมที่จะทำให้สังคมอยู่รอดได้ในวันที่วิกฤตยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
“โครงการข้าวแลกปลามันสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘เศรษฐวัฒนธรรม P2P Resolution’ เปิดโอกาสให้คนกับคนมาเจอกัน เป็นโอกาสให้ผู้ผลิตกับผู้ผลิตซึ่งมีสายสัมพันธ์อุปสงค์อุปทานเดียวกันมาแลกเปลี่ยนอุปสงค์อุปทานกันให้มากที่สุด
แต่ถึงอย่างนั้นการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ก็ดูเป็นไปได้ยากในภาวะปกติ ยังไม่นับรวมเรื่องระบบโลจิสติกส์อีก นั่นคือคำถามต่อไปสำหรับเรื่องนี้
แล้วระบบเศรษฐกิจ(ทางเลือก)แบบไหน ที่อาจเป็นทางรอดคนเมืองในวิกฤตครั้งต่อไป?
เวลาเกือบสี่ทุ่ม
เวลาดึกเช่นนี้ควรเป็นเวลาแห่งการหลับนอน แต่ ‘พี่ชิ’ หนึ่งในผู้คิดโครงการข้าวแลกปลา กลับมีเพียงช่วงเวลานี้เท่านั้นที่พอกระเบียดกระเสียรตัวเองออกจากการงานที่รัดแน่น ให้เราได้พูดคุยถึงประเด็นที่กำลังกระตุ้นต่อมอยากรู้อยู่ในขณะนี้
ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ นั่นคือชื่อและตำแหน่งทางวิชาการอย่างเป็นทางการของพี่ชิแต่สิ่งที่ทำให้เราจดจำชายหนุ่มคนนี้ได้ไม่ใช่ในฐานะด็อกเตอร์หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่คือภาพนักดนตรีที่มักยืนอยู่บนเวทีในชุดเสื้อผ้าซึ่งแสดงสถานะถึงความเป็นชนเผ่าชาวปะกาเกอะญอ พร้อมด้วยเครื่องดนตรีคู่ใจอย่างเตหน่ากูและขับร้องเพลงท้องถิ่นด้วยภาษาเฉพาะตนเอง
‘ครูชนเผ่า’ คนแรกของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นั่นคือพี่ชิในแบบที่เรารู้จัก
ฉัน : “เราเริ่มเห็นคนเมืองจำนวนมากมองหาอาหารที่เป็นทรัพยากรในพื้นที่ชนบทมากขึ้น พอจะอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอย่างไรได้บ้างคะอาจารย์?”
อาจารย์ชิ : “สังคมกำลังมองหาและให้คุณค่ากับสิ่งใหม่มากขึ้น”
เสียงอาจารย์ตอบกลับมาตามสายมาทันทีหลังเราโยนคำถามแรกไป
การสัมภาษณ์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนโฉมไปมาก เปลี่ยนการพบปะหน้ากันไปสู่การทำความรู้จักผ่านเสียงแต่นั่นไม่ได้ทำให้ท่าทีจริงจังของอาจารย์ยามตอบคำถามลดน้อยลงไปเลย
อาจารย์ชิ : “โควิดทำให้เห็นว่าชนบทยังมีชีวิตอยู่และมีชีวิตอยู่พร้อมศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพียงแต่ที่ผ่านมาเรามักโฟกัสทุกอย่างไปที่จุดศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ มองจุดศูนย์กลางเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนา เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เป็นสัญลักษณ์ของชาติ”
เส้นทางรถไฟฟ้า ทางด่วน ซุปเปอร์ไฮเวย์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการทิ้งร้างชนบทไว้เป็นเพียงภาพเลือนลางในความรู้สึกของคนเมือง
ท้องถิ่นไม่เคยถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ไม่เคยถูกทำให้เป็นอัตลักษณ์ของชาติ แต่เมื่อเกิดวิกฤตมันย้อนกลับไปหาความจริงว่าท้องถิ่นยังทำหน้าที่ของมันอยู่ ท้องถิ่นยังมีศักภาพของมันอยู่
อาจารย์ชิเน้นหนักถึงการมีอยู่ของชนบท ซึ่งล้มล้างทฤษฎีมากมายที่กล่าวว่าชนบทตายแล้วและกำลังผันตัวกลายเป็นเมือง
อาจารย์ชิ : “กลายเป็นเมืองที่พึ่งตัวเองไม่ได้ คนที่พึ่งตัวเองได้คือชนบท ไม่ว่าจะวิกฤตหรือไม่วิกฤต เขาอยู่ได้อยู่แล้วแต่ยิ่งวิกฤตมันจะยิ่งชัดขึ้น เพราะฉะนั้นโควิดมันทำให้รู้ว่าฐานการผลิต อยู่ที่ไหนของประเทศ”
ฉัน : “ถ้าอย่างนั้น New Normal ที่เกิดขึ้นหลังการรับรู้นี่ล่ะคะจะเป็นแบบไหน?”
ฉันยิงคำถามต่อทันที
อาจารย์ชิ : “ผมมองว่าหลังจากนี้ เมื่อเราเห็นแล้วว่าถ้าคนส่วนใหญ่ตอบรับกระแสนี้เป็น New Normal มันจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่รับท้องถิ่นจะอ่อนแอลง แล้ววิกฤตครั้งต่อไปเราจะเห็นศักยภาพท้องถิ่นมันลดลงเพราะพื้นที่ของท้องถิ่น และ Local System มันถูกทำลายก็จะไม่มีกองกำลัง
เปรียบเทียบถ้าภูเก็ตและกรุงเทพฯ คือ เมืองหน้าด่าน ตอนนี้ถูกโควิดตีแตกกระเจิงแต่ท้องถิ่นส่งกองกำลังมา แล้วกองกำลังนั้น คือ กองกำลังอาหาร เป็นหน่วยความมั่นคงทางอาหาร”
อาจารย์ชิตอบคำถามและอธิบายอย่างใจเย็น ฉันหยุดนิ่งเพื่อฟัง ก่อนก้มลงจดความคิดที่ไหลผ่านเข้ามา ณ ชั่วขณะนั้นลงในสมุดบันทึก
‘ความห่างไกลของชนบทและเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ แม้จะห่างไกลในเชิงระยะทางแต่ดูเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างชนบทกับเมืองจะใกล้ชิดกันมากกว่านั้น การคงอยู่ของชุมชนอาจหมายถึงความมั่นคงทางอาหารของคนเมือง’ – ฉันเขียน
ชนบทที่จะเข้มแข็งหรือเฟื่องฟูได้
คือชนบทที่มี ‘ทุน’ และสามารถ ‘เข้าถึง’ ต้นทุนนั้นได้”
อาจารย์ชิบอกว่าหากเราสังเกตจะเห็นว่าชุมชนที่เด่นขึ้นมาแต่ละชุมชนในช่วงการเกิดวิกฤตโควิดนี้ ส่วนใหญ่มันเด่นขึ้นมาเพราะศักยภาพทุนเหล่านี้ทั้งนั้น การที่ท้องถิ่นจะมีศักยภาพต้องดูว่าเขามีทุนอะไรบ้างที่ทำให้เขาอยู่ได้ เช่น เมืองมีพื้นฐานอะไรบ้างที่ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนา การบริโภค นี่คือทุนของเมืองทำให้เกิดศักยภาพของเมือง
ในขณะที่ทุนของชนบทคือ ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ระบบการผลิตแบบเกษตรกรรม ทั้งหมดนี้คือทุนของท้องถิ่น ถ้าเราทำลายสิ่งเหล่านี้หรือทำให้เขามีข้อจำกัดในการใช้ทุนเหล่านี้มันจะยิ่งทำลายความเด่นของชุมชนนั้น
“New Normal มันต้องสร้างให้ความเป็นชนบทมีคุณค่าและน่าภูมิใจแล้วมันอยู่ได้ สร้างเศรษฐกิจได้ ถ้าเราสร้างแบบนั้นได้มันจะเกิดระบบใหม่ เกิดวิธีคิดวิธีการแบบใหม่ วัฒนธรรมใหม่ พูดสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคืออารยธรรมใหม่”
อาจารย์ชิทิ้งท้ายในประเด็นนี้
ฉัน : “การเกิดขึ้นของ Alternative Platform ซึ่งตัดเส้นทางของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้สั้นลง จะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าระบบเศรษฐกิจทางเลือกได้ไหมคะ?”
อาจารย์ชิ : “ใช่ เมื่อก่อนเราจะซื้ออะไรกับใครหรือแลกอะไรกับใคร เราต้องรู้จักคนนั้น นี่คือการค้าแบบดั้งเดิม แต่ในระบบทุนนิยมผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้บริโภคไม่รู้จักกันเลยด้วยซ้ำ ทำการขายจบก็จบกัน ดังนั้นการขายแบบ Relationship มันเป็นตัวความสัมพันธ์ แบบใหม่เหมือนเราสั่งออนไลน์ เราสั่งออเดอร์โดยตรงจากผู้ผลิตเลย เรียกว่าเราสร้าง Market System ใหม่เลยด้วยซ้ำ”
อาจารย์ชิเล่าด้วยความตื่นเต้นว่า โควิด – 19 เกิดขึ้นเพราะไวรัสโคโรน่า ดังนั้นถ้าเราจะกำจัดไวรัสก็ต้องใช้ไวรัสด้วยกันฆ่า
ไวรัสที่ว่า คือ ‘ระบบเศรษฐกิจแบบ VIRUS’
V – Value คือ การหาคุณค่าของชนบท คุณค่าของฐานการผลิต คุณค่าของทุนท้องถิ่น
I – Informal คือ ไม่ทางการ ไม่มีการผูกขาดต้องคิดอะไรที่นอกระบบและหลากหลาย
R – Relationship คือ ชนบทอยู่ได้เพราะสัมพันธภาพ ความเป็นพี่น้อง ความเป็นมิตร มันไม่ได้อยู่ได้เพราะมอง คนในสังคมเดียวกันเป็นคู่อริ มันมองเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
U – Understanding คือ เข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังปรากฎการณ์ เข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย วิถีชีวิต องค์ความรู้ของเขา คนที่ไม่เข้าใจกันเราจะรักกันยาก
S – System คือ ระบบของท้องถิ่น
ระบบเศรษฐกิจแบบ VIRUS นี่ไม่ใช่แค่คำพูดสวย ๆ แต่พฤติกรรมของคนเมืองในตอนนี้กำลังค่อยๆ วางรากฐานของระบบเศรษฐกิจแบบไวรัสที่ว่า การไม่ยึดติดกับแบรนด์การตลาดเพียงไม่กี่เจ้าหรือจะเรียกว่าแบรนด์ Formal สู่การมองหาและการมองเห็นทรัพยากรอาหารในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ‘สินค้าท้องถิ่น’ ไม่ต่างจากการถูกส่องด้วยสปอตไลท์
นั่นคือ การให้คุณค่ากับแบรนด์เล็กๆ ที่ Informal
การขายแบบออนไลน์สั่งออเดอร์โดยตรงเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ (Relationship) และเมื่อความสัมพันธ์ของการซื้อขายเปลี่ยน ตัวละครลับในห่วงโซ่อาหารนี้ก็ค่อยๆ ปรากฎตัวชัดเจนขึ้น เราเห็นหน้าคนต้นทาง เราเห็นพื้นที่ผลิตอาหาร เราเห็นการขนส่งเคลื่อนย้าย เรากำลังสร้าง Market System ใหม่ด้วยซ้ำ
“ผมถึงบอกว่ามันเป็นเศรษฐกิจแบบไวรัส เรากำลังให้คุณค่ากับสิ่งที่มันเป็นคุณค่าจริงๆ เพราะคนรู้สึกว่าการซื้อของท้องถิ่นมันมีคุณค่าและเขาได้คุณค่าบางอย่างกลับไป
อาจารย์ชิทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนา
การสร้างระบบกระจายอาหารโดยตัดเส้นทางผู้ผลิตและคนกินให้สั้นลง ไปสู่มือหลายมือในห่วงโซ่อาหารเป็นการเพิ่มทางเลือกและทำให้ระบบอาหารสมดุลมากขึ้น
แต่ก็ไม่แน่ใจว่าระบบนี้ยังสามารถอยู่ได้หรือไม่…เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว ?