‘ผู้ปรับตัวที่ดี’ เราชอบคำนี้ ฟังดูมีพลังบวก ให้พลัง (empower) สามารถอยู่รอด และไปต่อได้ในทุก ๆ สถานการณ์ แต่ ‘ผู้ปรับตัวที่ดี’ ในความหมายของ คณิน ฉินเฉิดฉาย นิสิตปีสุดท้ายของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วัย 22 ปี ที่เราได้คุยนั้นแตกต่างไป มันมีความหมายถึงการ “จำยอม” ต่อโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่ได้เอื้ออำนวยคนรุ่นใหม่เท่าไรนัก ผลักการปรับตัวเป็นหน้าที่…ที่ดี และเป็นหน้าที่ของใครของมัน โดยเฉพาะการหางาน และความมั่นคงในชีวิต
วันนี้ทั้งบัณฑิตจบใหม่ นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย first jobber ต่างร้อน ๆ หนาว ๆ “เคว้งคว้าง-อ้างว้าง” มากกว่าที่เคย เพราะภาพตลาดร้างงานมันชัดขึ้นทุกขณะ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 1.03 % คนเกือบ 4 แสนคนตกงาน ไม่นับรวมบัณฑิตจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานอีก 5.2 แสนคน ซึ่งมีแนวโน้มว่าก็อาจไม่มีงานทำ โดยรวมทั้งปี 2563 คาดว่าจะมีคนประมาณ 8.4 ล้านคนเสี่ยงถูกเลิกจ้าง
โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ด้วยวัตถุประสงค์จ้างงาน 70% ของงบประมาณที่เสนอไป ผิวเผินดูเป็น “ความหวัง” ที่อาจช่วยให้เหล่าคนรุ่นใหม่ถึงฝันของการมีงานทำมากขึ้น แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เมื่อบรรดาโครงการ 34,263 โครงการ งบประมาณ 841,269 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2563) มีคำซ้ำ ๆ อย่าง งาน อาชีพ ถนน ก่อสร้าง ผิวทาง ดิจิทัล โควิด-19 ที่มองดูแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้เด็กจบใหม่เริ่มต้นชีวิตการทำงานได้ดีนัก
เด็กจบใหม่อยู่ตรงไหนของการจ้างงานครั้งนี้ Decode คุยกับคณิน หนึ่งในกรรมการสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (ตัวแทนจากม.บูรพา) และสมาชิกกลุ่มโกงกางที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และประชาธิปไตย
อ.ว.สร้างงาน VS ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ตำแหน่งว่างที่ยังไม่สปาร์คจอย
ยังอยู่ชั้นปี 3 อะไรทำให้มาสนใจเรื่องเงินกู้ 4 แสนล้าน
ผมได้ยินข่าวเรื่องการกู้เงิน 1.9 ล้านล้านของรัฐก่อน แล้วก็ยังไม่ได้เข้าใจมากว่าโครงการ 4 แสนล้านบาทคืออะไร รู้เพียงว่า มันเป็นจำนวนเงินที่จะนำไปฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 แต่หลังจากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมวงคุยในฐานะตัวแทนนักศึกษาเกี่ยวกับการกู้เงิน 4 แสนล้านบาท ก็เริ่มเข้าใจเงินก้อนนี้มากขึ้นในหลายมิติ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานที่บอกว่าช่วยเหลือเด็กจบใหม่ หรือนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะจบ ทำให้ผมเห็นช่องโหว่มากขึ้นว่างบประมาณก้อนนี้อาจจะใช้ได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ และเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ น่าจะสามารถนำไปออกแบบโครงการที่ประโยชน์ได้มากกว่านี้ เพราะเท่าที่ติดตามโครงการมองว่า นิสิตนักศึกษา และประชาชน หรือแรงงานอาจยังไม่ได้รับประโยชน์มากที่ควร
ทำไมถึงมองว่าเงิน 4 แสนล้านบาท อาจไม่ได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาหรือคนที่จบมาใหม่ ๆ
นิสิตนักศึกษาเป็นกลุ่มหนึ่งที่ในช่วงโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบพอสมควร แต่ว่านโยบายของรัฐที่ผ่านมากลับมองข้ามพวกเรา และคนจบใหม่ไปเยอะ พวกเราต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในยุคปัจจุบัน ทั้งค่าเทอมค่าเรียน อุปกรณ์การเรียน แล้วเราก็ถูกมองว่าเราสามารถพึ่งพาพ่อแม่ และครอบครัวเราได้ แต่ความจริงคือมีนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่ทำงานพาร์ทไทม์ เป็นไรเดอร์ เพื่อหาค่าใช้จ่ายใน่วงวิกฤต พอโมเดล 4 แสนล้านออกมา หรือนโยบายช่วยเหลืออื่น ๆ รู้สึกว่า เราแทบไม่ถูกมองเห็นเลย ทั้ง ๆ ที่เราก็มีปัญหาเหมือนกัน ส่วนคนที่จบใหม่ ก็ถูกมองเห็นแบบก่ำ ๆ กึ่ง ๆ ไม่ได้รู้สึกว่ามันมาเติมเต็มอะไรมากนัก คนที่เรียนอยู่แบบผมก็น่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากเงินกู้ 4 แสนล้านมากกว่า
ทางอ้อมที่ว่า มันอ้อมมาถึงเราในทางไหนบ้าง
ทางอ้อมของ 4 แสนล้านก้อนนี้เป็นเงินที่หน่วยงานรัฐต้องเขียนโครงการเข้าไปขอรับเงิน อย่างโครงการ “อว.สร้างงาน” ของรัฐ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นโครงการที่ให้นักศึกษาเข้าเป็นอาสานักศึกษาในการพัฒนาชุมชน มีสัญญา 3 เดือน เงินเดือนเดือนละ 9,000 บาท ผมมองว่ามันไม่ตอบโจทย์ ไม่เพียงพอ เขาอาจมีรายจ่ายเยอะกว่านั้นก็ได้ ที่สำคัญมันเป็นโครงการสัญญา 3 เดือนจบ แล้วตัวเศรษฐกิจมันจะฟื้นฟูตัวได้ไหมหลังจากนั้น และฟื้นได้จนรับนักศึกษาจบใหม่ทำงานได้เลยหรือ ที่บอกว่า อว.เป็นทางทางอ้อม เพราะมันเป็นโรปเจก ๆ ไป สุดท้ายก็จบ
เราไม่ได้หวังให้โครงการมันทั่วหน้าทั่วถึง แต่มันควรครอบคลุมในทุกกลุ่ม ไม่ใช่ใครโชคดีได้โควต้า คนที่เหลือจะยังไงต่อ แล้วประเทศเราก็ไม่ได้มีสวัสดิการหรือโครงสร้างที่มันรองรับคนที่ประสบปัญหา หรือล้มจากปัญหาเศรษฐกิจอะไรเลย นอกจาก อว.เราก็ยังไม่เห็นโครงการไหนที่เป็นประโยชน์เท่าไหร่
อย่างโครงการที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี (Digital Adviser) ให้ผู้สูงวัยในชุมชนเป็นไอเดียที่น่าสนใจพอสมควร คิดว่าน่าจะจูงใจคนรุ่นใหม่ได้ไหม
ได้ยินเรื่องนี้จาก ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เหมือนกัน รูปแบบเหมือน อว.เลย นิสิตคนไหนอยากกลับบ้านไปทำงานที่บ้านท้องถิ่นหรือรองาน รอเศรษฐกิจฟื้นตัวก็สามารถมาสมัครได้ สัญญา 3 เดือน เดือนละ 9,000 บาทเหมือนกัน หน้าที่คือสอนเรื่องเทคโนโลยีให้กับคนเฒ่าคนแก่ เหมือนอาสาสมัครชุมชน (อสม.) ผมมองว่าน่าจะมีคนเข้าร่วมก็จริงนะ เพราะระหว่างช่วงวัยต้องยอมรับว่ามันมีปัญหาหารเข้าถึง และความไม่เท่าทันอยู่ เป็นช่องว่าที่ควรมีคนเข้าไปแนะนำเช่นกัน ทีนี้ผมก็ตั้งข้อสังเกตเหมือนว่าหลาย ๆ ครั้งเขา (ผู้สูงวัย) เขาอาจไม่ได้อยากใช้เทคโนโลยีก็ได้
ส่วนเรื่องอัตรกำลังการเปิดรับสมัครจ้างงาน 32,000 ที่นั่ง ก็ยังมองว่าก็อาจจะมีคนสมัครไม่เต็ม ด้วยตัวงานและรายละเอียดงานมันเป็นไปได้ยาก เพราะตัวงานไม่ตอบโจทย์สิ่งที่เด็กเรียนเรียนมา รายได้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์กับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และด้วยสัญญาจ้างแค่ 3 เดือน ผมมองว่าคนที่ว่างงานเขาอาจหางานช่วงนี้อาจใช้เวลานี้ไปเรียนเพิ่มเติม ฝึกทักษะอื่น ๆ เช่น ภาษา หรือความรู้เบื้องต้นในสาขาใดสาขาหนึ่งมากกว่า
แสดงว่าเงินเดือน 9,000 บาท ยังไม่ได้ดึงดูดมากพอที่จะทำให้เด็กแห่กันมาสมัคร
สำหรับผมไม่ถือว่าดึงดูดเท่าที่ควร คิดเฉลี่ยคือ 300 บาทต่อวัน รายได้ค่าแรงขึ้นต่ำทุกวันนี้มันอยู่ประมาณ 357 บาทต่อวัน อันนี้ได้น้อยกว่าค่าแรงมาตรฐานอีก และเท่าที่ติดตามก็ดูเหมือนจะไม่มีสวัสดิการเท่าที่ควร รูปแบบงานก็ต้องมาเรียนรู้อีกสักระยะ มันไม่ได้สามารถทำได้ทันที เพราะการเข้าชุมชนเราต้องฝึก และมีวิธีเหมือนกัน การเข้าถึงและพูดคุยกับผู้สูงอายุก็ต้องมีวิธีเหมือนกัน
โครงการผูกติดรัฐ (เกินไป) ทั้งที่งานอยู่กับเอกชนมากกว่า
ถ้านอกเหนือจากโครงการเหล่านี้ มีโครงการมากมายที่ถูกเสนอเข้าไปแบ่งงบก้อนนี้ โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ ฟื้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงาน 70% คณินเห็นช่องทางที่จะทำให้เรา และเพื่อน ๆ ได้ประโยชน์ไหม
มันต้องแยกเป็นประเด็นกันครับ อันแรกโครงการบอกว่าโครงการต้องมีการจ้างงาน 70% แต่ตัวโครงการมันผูกติดกับโครงการของรัฐแทบทั้งหมดเลย หน่วยงานรัฐต้องเสนอเข้าไป หรือว่าจะเป็นงานภาคประชาสังคม ก็ยังต้องยื่นผ่านหน่วยงานอย่าง สสส. หรือพอช. พอมันผูกติดของรัฐ การเพิ่มการจ้างงาน 70% มันยากมาก เพราะการการจ้างงานมันอยู่ในเอกชน อยู่ในภาคบริการบริการ และการท่องเที่ยว ตัวเงินกู้ 4 แสนล้าน มันไมได้เพิ่มการจ้างงานเอกชน เป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการทำงาน ระบบเศรษฐกิจแบบสั้น ๆ แน่นอนมันจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง ในแง่กลไกทางเศรษฐกิจ มันก็คงกระเตื้อง และดีขึ้น แต่ไม่ยั่งยืน
มันควรมีโครงการในระยะยาว กระตุ้นเศรษฐกิจตรงนี้เพื่อให้เกิดการจ้างงาน 70% จริง ๆ ถ้ารัฐสามารถสร้าง MOU กับเอกชนได้ ช่วยเหลือธุรกิจ SME หรือทำงานกับเครือข่ายหลาย ๆ พื้นที่ มันจะช่วยนักศึกษา และคนทั่วไปหางานได้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้เขาไปหางานเองหมด เราควรทำโครงการร่วมกับภาคเอกชน เขาขาดคน แต่ก็ไม่มีเงินจ้าง จากมุมมองของตัวเอง
ถ้าโครงการที่เสนอไปมันไม่เวิร์ก คณินมีโครงการอะไรมาลองเสนอให้รัฐเพื่อช่วยให้เกิดการจ้างงานนักศึกษา และเด็กจบใหม่ 4 แสนล้านไหม
ผมอยากเสนอโครงการที่ช่วยเพิ่มการจ้างงานกับทุกคน ไม่ใช่แค่นักศึกษา หรือคนทำงานออฟฟิศ สิ่งสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจซบเซาวันนี้ มันมีหลายปัจจัยทั้งเรื่องภาคการผลิตที่ลดต้นทุน ลดกำลังการผลิต โครงการแรกที่อยากเสนอเลย
1.) โครงการรัฐจับมือภาคเอกชนในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่เขามีการรวมกลุ่มกันอยู่ เช่น ด้านการท่องเที่ยว หรือสื่อ แล้วอยากให้รัฐไปเอาตัวเลขว่ามีตำแหน่งไหนบ้างว่าง ก็สนับสนุนงบประมาณตรงนั้น จ้างงานแทนเอกชน
2 ) โครงการกระจายอำนาจ ภาครัฐไม่ควรกระจุกตัวอำนาจไว้ที่เดียวควรกระจายอำนาจภูมิภาค ลงสู่มหาวิทยาลัยต้นสังกัด หรือสำนักงานจัดหางาน กระจายออกไปให้มีการจัดการเชิญชวนนักศึกษา คนว่างงานให้ติดต่อทางมหาวิทยาลัย ตอนนี้ มีการฝึกงานเพื่อพัฒนาฝีมืออยู่หลายที่ แต่มันก็ยังไม่ครอบคุลม เราต้องหาว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ และมันต้องเอื้อให้เกิดการจ้างาน ทำให้ตัวคนที่ว่างงานสามารถเข้าไปติดต่องานได้โดยตรงเลย ถ้าเราอัดฉีดเงินเข้าเอกชน เงินมันก็จะหมุนเวียน ตัวเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น มองว่าปัญหาของนักศึกษาจบใหม่ คือ งานสำคัญมากมากกว่าปัญหาสุขภาพ
3.) โครงการสนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัย อันนี้อาจไม่เกี่ยวมากแต่มันก็มีผล ตอนนี้มหาวิทยาลัยรัฐออกนอกระบบกันหมดแล้ว มหาวิทยาลัยต้องหารายได้เอง ซึ่งหลัก ๆ ก็มาจากค่าเทอม งานบริการวิชาการ หรือการเช่าสถานที่ ยิ่งเศรษฐกิจช่วงนี้กระทบต่อการบริหารจัดการของสถาบันไม่น้อย โดยเฉพาะแห่งเล็ก ๆ ที่อาจจะแก้ไขโดยการเพิ่มค่าเทอม จึงมองว่ารัฐควรเข้ามาหนุนตรงนี้เพิ่มเติม เด็กจะได้เรียนจบและหางานทำได้
“ผู้ปรับตัวที่ดี” ใต้รัฐที่ไม่มีตาข่ายช่วยเหลือคนพ่ายแพ้ในตลาดแรงงาน
อีก 1 ปี คณินจะจบแล้ว มองการหางานของตัวเองในทิศทางไหน แล้วกังวลอย่างไรบ้าง
จริง ๆ ผมกังวลเรื่องนี้มาตั้งแต่เรียนปี 2-3 เพราะเรียนสายสังคม ทำให้สนใจการบ้านเมือง เศรษฐกิจ รับรู้มาตลอดว่าเศรษฐกิจมีปัญหา เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ยิ่งช่วงหลังการรัฐประหาร บวกกับก่อนหน้านี้ที่ก็แย่อยู่แล้ว ตอนนี้ (ปี 2563) ก็ยังไม่ดีขึ้น ตัวเลขอาจบอกว่าจีดีพี (GDP) เพิ่มมากขึ้นก็จริง แต่ในระดับรากหญ้าก็ยังบ่นกันอยู่เลยว่าเงิน 500 บาทใช้วันเดียวก็หมด
เด็กกำลังจะจบ เด็กจบใหม่กังวลเรื่องการหางานแน่นอนอยู่แล้ว เพราะการหางานนี้มันไม่ได้มีรัฐเข้ามาช่วยหางานด้วย เราต้องหากันเอง อัตราเด็กจบใหม่ล้นเกินความต้องการของตลาด ที่ผ่านมารัฐพยายามให้แต่ละสถาบันสนับสนุนสาขาวิชาใดเป็นพิเศษเพื่อให้ตรงกับความต้องการ เช่น ม.บูรพาใกล้ทะเล ก็จะมีเรื่องงานโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เราก็มุ่งเน้นผลิตไปทางนั้นอย่างเดียว แต่ผมมองต่างคิดว่าทุกอาชีพทุกสาขามีคุณค่าและทำงานต่อสังคมคนละแบบ ซึ่งรัฐควรเข้ามาสนับสนุนอย่างเท่าเทียม ไม่ควรทำให้มหาวิทยาลัยเป็นโรงงานผลิต หรือรับเลี้ยงเด็กอย่างเดียว ควรเป็นพื้นที่อิสระทางความคิด เป็นปัญญาให้แผ่นดิน
โมเดล (4แสนล้าน) สวนทางกับความป็นจริง ประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจที่แย่ลงเรื่อย ๆ อัตราว่างงาน และจ้างงานไม่สม่ำเสมอ สวัสดิการของแรงงานก็ยังไม่เท่าเทียม ไม่ทั่วถึง
ตอนนี้หลาย ๆ อย่างมันแย่ลงในเวลาที่เราเรียนจบ กำลังจะจบ เด็กจบใหม่จบมาโดยการปราศจากตาข่ายที่จะช่วยพยุงเขาให้มีงาน ไม่มีโครงการ สวัสดิการของรัฐ จะมีคนที่ชนะและต่อสู้ได้ก็ต้องมีงาน คนที่ไม่มีก็พ่ายแพ้ แต่แพ้แล้วมีบ้านให้กลับก็ยังดี แต่คนที่ไม่มีนี่สิ พวกเขาไปไหนต่อ
คนเมืองค่าครองชีพสูงขึ้น มันไม่สามารถอยู่ได้อยู่แล้ว ไม่งั้นไม่เกิดปัญหาคนฆ่าตัวตายจากเศรษฐกิจ เขาไม่มีทางเลือกเขาพยายามเป็นผู้ปรับตัวที่ดีต่อปัญหาที่เข้ามา เพื่อรอดในวิกฤต และรอดในโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวขนาดนี้ให้ได้
จริง ๆ แล้วยุคนี้เราก็พูดถึงการปรับตัว เพิ่มสกิล ฝึกทักษะใหม่ ๆ กัน การเป็นผู้ปรับตัวที่ดี ก็น่าจะช่วยเราไม่ใช่หรือ แต่ในบริบทนี้คณินกำลังมองว่าการปรับตัวเป็นการถูกปรับอยู่ฝ่ายเดียวหรือเปล่า
ทุกอย่างผลักปัญหาเป็นเรื่องปัจเจก เป็นขอทานเพราะขี้เกียจ เป็นคนจนเพราะขี้เกียจ ทั้งที่คนจน แรงงานทำงานหนักคนในออฟฟิศในหลาย ๆ ด้าน ไม่ใช่แค่ปัจจัยขี้เกียจหรือปรับตัวไม่ดีพอ โครงสร้างสังคมมันกดจนเขาไม่สามารถลุกขึ้นได้ การแก้ปัญหามันแก้ไขไม่ได้ด้วยปัจเจก ตัวโครงสร้างต้องเอื้อกับการปรับตัวให้อยู่รอด เมื่อรอดแล้วก็ต้องดี ยกตัวอย่าง เราไม่มีรัฐสวัสดิการ ถ้ามีเด็กจบใหม่เขาไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านคมนาคม หรือการศึกษาของลูกเขา ไม่ต้องดูรักษาพยาบาล หรือทำงานเพื่อคนครอบครัวอย่างเดียว โดยไม่มีตัวเขาเลย ผมมองว่าโครงสร้างดีต้องมาจากรัฐ ที่ต้องบริการคนในสังคม รัฐเป็นตาข่ายดักจับคนชายขอบ แม้จะมีคนล้มจากเศรษฐกิจแค่ไหน หรือพ่ายแพ้จากเศรษฐกิจ เจอปัญหาตกงานในยุคโควิด-19 แค่ไหน เขาล้มได้นะ แต่เขาจะไม่หลุดออกจากกรอบการช่วยเหลือ
ถ้างั้น 4 แสนล้านก็น่าจะเป็นความหวัง และคลายกังวลนี้ได้ไหม
ส่วนตัวยังหวังเสมอ ถ้ามีความหวังยังไงความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น แต่สำหรับตัวโมเดล 4 แสนล้าน ผมคิดว่าก็คงสร้างความหวังได้บ้าง แต่ยังต้องติดตามว่าจะได้แค่ไหน เพราะโมเดลผูกติดกับรัฐอย่างเดียว มันทำให้เชื่องช้า ตัดโอกาสการเข้าถึงคนหลายส่วน ขั้นตอนจากรัฐต้องมาสู่หน่วยงาน สู่ท้องถิ่น มันน่าจะมีถนนเส้นเดียวตัดตรงแล้วเงินถึงประชาชน ถึงนักศึกษาไปเลย