Track 00: Sound of New Normal
Location: ทำเนียบรัฐบาล (ละติจูด 13.7632196, 100.5120686)
Recording Date: Since 26.03.63
Author: อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์
‘Sound of New Normal’ ความปรกติใหม่ของเสียงที่ดัง – ชัด- ถี่ที่สุด
ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ดำเนินมาถึงจุดที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ขึ้นมาในวันที่ 26 มีนาคม 2563
เสียงของโฆษกศบค.-นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ได้กลายเป็น ‘เสียงของความปรกติใหม่’ ในเวลา 11.30 น.ของทุกวัน เป็นการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต มาตรการการควบคุมโรค รวมไปถึงภาพรวมการแพร่ระบาดของประเทศต่างๆ เข้าไปอยู่ในหัวของผู้คน กลายเป็นความคุ้นชิน
ด้านหนึ่ง นี่เป็นการสื่อสารที่รู้เรื่องกว่าการสื่อสารแบบไม่มีทิศทางของรัฐบาลในช่วงแรก ทำให้เห็นถึงสถานการณ์และความพยายามในการควบคุมโรคแบบเบ็ดเสร็จ
แต่อีกด้านก็ถูกตั้งคำถามถึงการชูมิติทางสุขภาพ – สาธารณสุข สำคัญกว่ามิติอื่น – ชีวิต – เศรษฐกิจ – ปากท้องและผลกระทบทางสังคม
ราวกับเป็นเสียงของศูนย์กลางจักรวาล
สะท้อนมุมมองจากทำเนียบฯ จากข้างบน ลงข้างล่าง เป็นทางเดียว
เสียงอื่นๆ จึงถูกกดทับ บางเบา แทบไม่ได้ยิน
นี่ยังไม่รวมถึงเสียงแถลงของกระทรวงสาธาณสุขที่มาทุกวัน ในเวลา 13.00 น.
และบางวัน ก็มีเสียงแถลงของนายกรัฐมนตรีจากเพจไทยคู่ฟ้า ในเวลาไล่เลี่ยกัน
เมื่อ ‘ไม่ได้ยิน’ ไม่ได้หมายความว่า ‘ไม่ได้มีอยู่’
เมื่อ ‘เราเท่ากัน’ ในสถานการณ์พิเศษ เสียงของทุกเสียงก็ควรถูกปรับ Volume ขึ้นให้ดังเท่าๆ กัน
ชวนเคลียร์หูฟัง ฟังอีก 10 เสียงที่ถูกบดบัง กับ ’Hidden Track เสียงที่หายไป’
Track 01: ความตายที่ไม่เงียบ
Location: สะพานพุทธฯ (ละติจูดที่ 13.7406559, 100.4980575)
Recording Date: 20.05.63
Author: ภัทราภรณ์ ศรีทองแท้
ความตายที่ไม่เงียบ ระเบียบใหม่ของศูนย์อำนาจ
ระหว่าง ทำเนียบรัฐบาล กับ ราวสะพานพุทธฯ
ระหว่าง ความเป็น กับ ความตาย
ระหว่าง โคโรน่า กับ ปากท้อง
ก่อนโควิดจะมา ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปนามของปากท้อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่อยไปจนถึงราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ พวกเขาจะตบเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาล แต่ในบรรยากาศของความปกติใหม่ การรวมตัวกัน 5 คนขึ้นไป ก็อันตรายยิ่งกว่าแก๊สน้ำตา เพราะเราอาจสูญเสียการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า
แต่นั่นก็ไม่อาจประมาทความรู้สึก ‘ไม่ไหวแล้ว’
เพราะเรื่องปากท้องสัมพันธ์กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเพราะต้องอดมื้อกินสองมื้อ ขับรถแท็กซี่ 3 ชั่วโมง โดยไม่มีผู้โดยสาร หรือเห็นคนเร่ร่อนมากขึ้นเพราะไม่มีทางเลือก แถมต้องอยู่อย่างหลบซ่อนในโป๊ะเรือข้ามฝากที่ร้างคนสัญจร เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงที่สะพานพุทธฯ
“ตกปลาทำเป็นอาชีพหรืองานอดิเรกคะ” คำทักทายเซียนตกปลาใต้สะพานพุทธฯ
ก่อนจะได้คำตอบสั้น ๆ ว่า “ตกปลา เพราะตกงาน” บทสนทนาระหว่างคนแปลกหน้าที่จบลงด้วยนิยาม “เงินห้าพันที่รัฐบาลแจก” มันย้อนกลับมาหาคนจนในรูปของภาษีและสินค้าราคาแพง
เรื่องปากท้องจึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายของหลายคน รวมถึงพี่ “ยอด” โชว์เฟอร์แท็กซี่ เคสล่าสุดที่พยายามฆ่าตัวตายที่สะพานพุทธฯ พูดถึงวินาทีที่ตัดสินใจมาสะพานพุทธฯว่า รู้สึกเครียด เพราะหวังว่าจะได้เงิน 5,000 บาท ที่รัฐบาลจะเยียวยา แต่ระบบแจ้งว่า ยกเลิกการลงทะเบียน ทั้งที่ไม่เคยยกเลิกมาก่อน จึงพยายามโทรไปสายด่วนของกระทรวงการคลังมากกว่า 100 สาย แต่โทรไม่ติด
ยินดีที่ไม่ตาย ++
“คนจะตาย ไม่มากระโดดสะพานพุทธฯฆ่าตัวตายหรอก ต้องการเรียกร้องมากกว่า” แม่ค้าส้มตำริมฝั่งเจ้าพระยาวิเคราะห์จากเหตุการณ์ฆ่าตัวตายหลาย 3- 4 เคสในช่วงที่ไวรัสโคโรน่าแพร่ระบาด รูปแบบการฆ่าตายก็เปลี่ยนไป เพราะสะพานพุทธฯมันไม่เงียบ คนพลุกพร่าน มันไม่เหมาะที่จะตาย บางคนปีนขึ้นไปบนสะพานตั้งใจที่จะให้คนเห็น และเรียกร้องบอกกล่าวถึงความต้องการของเขา บางข้อเรียกร้องก็จงใจบอกกล่าวถึงรัฐบาล
คำบอกเล่าจากปากคำของแม่ค้าส้มตำที่ยืนระยะจากสะพานพุทธฯในระดับสายตา ที่สังเกตุความเป็นไปของผู้คนแปลกหน้าที่มาเยือนตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา
เวลาหนึ่งทุ่มโดยประมาณ
สะพานพุทธฯ ณ ละติจูด 13.7406559, 100.4980575
ต้อนรับผู้คนทุกระดับ ตั้งแต่นักวิ่ง หนุ่มสาวพรีเวดดิ้ง กระทั่งแม่ค้ารถเข็น
ยิ่งเข้าใกล้เวลาเคอร์ฟิว คนยิ่งพลุกพล่าน
ความตาย ก็เริ่มดังขึ้น
Track 02: ข้าวกล่องเสี่ยงทาย
Location: คลองเตย กรุงเทพฯ (ละติจูดที่ 13.7108353, 100.5830258)
Recording Date: 09.05.63
Author: กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์
เกือบ 1 เดือนที่คนชุมชนคลองเตย ฝากท้องไว้กับ “ข้าวแจก” ใกล้ ๆ ชุมชน ผู้คนมารอที่นี่ทุกวัน เพราะสำนักงานเขตคลองเตยเตรียมสถานที่ไว้สำหรับผู้ที่ต้องการแจกข้าวให้ผู้ที่เดือดร้อนจากโควิด-19 3 รอบ 8.00 น. / 12.00 น. และ 16.00 น. เจือจิตต์ และคนอื่น ๆ ในชุมชนที่เราได้คุยด้วยต่างบอกตรงกันว่า “รู้สึกขอบคุณในน้ำใจ” ของคนไทยที่หลั่งไหลมาไม่ขาดสายเลย แต่ด้วยระบบการแจกข้าว 1 คน 1 กล่อง หลายครั้งที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนคนที่มารอในแต่ละรอบ
“แค่เขามาให้เรา มาทำบุญก็ดีใจแล้ว คุณๆ เขาตั้งใจมา เราก็มาเสี่ยงเอา”
ไม่ใช่เสี่ยงว่าอาหารจะไม่อร่อย หรือคุณภาพไม่ดี แต่เสี่ยงว่า วันนี้ทุกคนจะได้ข้าวติดมือไปครบหรือไม่ การต้องมาต่อแถวเฝ้ารอข้าวกล่อง พวกเขาต้องมาก่อนเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อได้บัตรคิวแรก ๆ เพราะถ้าอยู่ท้ายแถว มีสิทธิ์สูงมากที่จะอดข้าวมื้อนั้นไป บางคนมารอตั้งแต่เช้าไปจนถึงรอบเย็นเพราะไม่มีเงินเลย บางคนมีเงินพอใช้แค่ 40 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นค่ารถไป-กลับ บ้านและสถานที่แจกข้าว หลายครอบครัวพากันมาทั้งบ้าน ทั้งคนแก่ คนท้อง หรือเด็กเล็ก ๆ
“เราไม่ได้อยากมายืนต่อแถวขอข้าวเขาเหมือนขอทานหรอก แต่ว่าเราต้องเก็บเงินไว้ใช้ยามจำเป็น ข้าวกล่องพวกนี้จึงสำคัญมาก” เจน หนึ่งฤทัย บุญเผือก แม่ลูก 3 บอกกับเราแบบนี้
หลาย ๆ อย่างกำลังเข้าสู่ภาวะ “ผ่อนคลาย” แต่ชีวิตของชาวคลองเตยและคนอีกหลายคนยังตึงเครียดอยู่ แม้วันนี้ที่ลานแจกข้าวยังมีข้าวมาแจกวันละ 3 เวลา และมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ พวกเขาอุ่นใจที่ยังมีข้าวแจกเป็นที่พึ่งของท้อง แต่การล็อกดาวน์นับเดือน พวกเขากำลังจะเผชิญสิ่งต่อไปนี้ คือ การค้างค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ เงินทองหร่อยหรอ การกู้หนี้ยืมสินที่มากขึ้น และข้าวของจำเป็นอย่างนม และแพมเพิร์ส เป็นต้น หลายคนไม่ได้ยื่นสิทธิ์เยียวยา 5,000 บาท
“เขาบอกว่าถ้าโกหกจะโดนจับ เรายังมีงานเล็ก ๆ ทำอยู่ แต่มันก็เดือดร้อนจริง ๆ”
ออกหางานรับทำไม่ได้หรือ? ป้ายุพิน นาคประสาน บอกว่า “คนที่นี่จะขายของ ขี่รถรับจ้าง หรือรับจ้างนวด ลูกค้าก็คือคนในชุมชนเป็นส่วนใหญ่ วันนี้ลำบากกันหมดแล้วว่าใครจะมาซื้อ มาเป็นลูกค้าของเรา?”
Track03: นักรบสแตนเลส
Location: โรงงานสยามโคราช จ.นครราชสีมา (ละติจูดที่ 14.8736557, 102.1798605)
Recording Date: 22.05.63
Author: ภัทราภรณ์ ศรีทองแท้
ในอัตราเร่งที่ควบคุมได้ด้วยมือเปล่ากับปลายสายที่ไม่รู้ว่า จะดังขึ้นเมื่อไร
“มีสายคนไข้ขอความช่วยเหลือเข้ามาแล้วค่ะ คุณหมอคุณพยาบาล” สัญญาณชัดก็เป็นอันสิ้นสุดการทดสอบหุ่นยนต์นับร้อย บนจุดนัดพบที่ละติจูด 14.8736557, 102.1798605 โรงงานย่านชานเมือง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศิษย์เก่าจุฬาฯ แตกไลน์บริษัท Start up ในชื่อ HG Robotics และบริษัท obodroid ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ “พี่กระจกน้องปิ่นโต” นักรบสแตนเลส ที่หนุ่มสาวโรงงานกำลังประกอบร่างจากรถเข็นสแตนเลสส่งอาหารในโรงพยาบาลและแท็บเล็ตหนึ่งเครื่อง
ทำงานคู่กับ “น้องปิ่นโต” รถเข็นส่งอาหารบังคับระยะไกลที่ถูกพัฒนามาจากรีโมทคอลโทรลโดรน ใช้งานง่าย และการดูแลรักษาไม่ซับซ้อน เป็นตัวแทนของแพทย์และพยาบาลในการเข้าไปตรวจเยี่ยมอาการคนไข้ สังเกตอาการ พูดคุยถามตอบ ลดการใช้อุปกรณ์เครื่องป้องกัน ลดระยะเวลา และลดขั้นตอนในการสวมชุด PPE ในการเข้าไปพบผู้ป่วยได้ดี ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัย คนไข้ก็อุ่นใจที่สามารถพูดคุยกับคุณหมอได้ตามปกติ
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับมิสเตอร์โรบอท พี่ช้าง มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท HG Robotics ยอมรับว่า กว่าจะเป็นหุ่นยนต์ตัวนี้มันไม่ง่าย เพราะต้องตัดสินใจในเวลาสั้น ๆ ว่า จะเอาของชิ้นไหนมารวมร่างกัน เชื่อไหมว่า แก้ไขแบบมากกว่า 10 ครั้ง
“ตอนนี้ผลิตไปแล้ว 25 ตัว และจะผลิตเพิ่มให้ครบ203 ตัวตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ความได้เปรียบของเรา คือ ความยืดหยุ่น เรามีทีมงาน เรามีสปอนเซอร์ที่บริจาคเงินให้เราทำ แต่สิ่งที่ยากคือ ผลิตให้ตรงเวลา ตามความคาดหวังของทุกคน เพราะในการผลิตหุ่นยนต์ในไทยไม่ได้มีพาร์ท 100% พาร์ทอย่างมอเตอร์ อุปกรณ์ควบคุม กระทั่งจอมอนิเตอร์ ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน ดังนั้นซัพพลายเชน และความล่าช้าของอุปกรณ์ที่นำเข้ามาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น”
สิ่งที่ทำให้พี่กระจกน้องปิ่นโต แตกต่างไปจากหุ่นยนต์อื่นๆ คงไม่ใช่แค่ฟังก์ชั่นและการใช้งานหุ่นยนต์ 1-2 ตัว แต่ตั้งต้นมาเพื่อผลิตนับร้อยๆตัวส่งให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ กลายเป็นจุดนัดพบของการนำพาหนุ่มสาวโรงงานหันหน้ากลับเข้าสู่สายพานการผลิตอีกครั้ง ด้วยโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนไป จากการจับมือทำธุรกิจร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพ เบื้องหลังที่ทำให้โรงงานกลับมาเดินเครื่องได้ใหม่ สร้างงานใหม่ ด้วยโมเดลใหม่ของหุ่นยนต์ฝาแฝด “พี่กระจกน้องปิ่นโต” คำนวณด้วยเครื่องคิดเลขคิดเป็นจำนวนสองร้อยสามตัวถ้วน
ถ้าเป็นคนก็คงเป็นคนง่ายๆ เลี้ยวซ้ายคือซ้าย เลี้ยวขวาคือขวา ถ้าไม่สั่งก็ไม่ทำ !
Track04: พร้อมเท ไม่พร้อมเปย์ ?
Location: กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ (13.7806839, 100.5381373)
Recording Date: 14.05.63
Author: กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์
มือของเขาบรรจงเขียน ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน ให้ชัดเจน ด้านล่างมีคำถามถามถึงเหตุผลไหนกันที่ทำให้พวกเขา “ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท” หรือ อื่น ๆ โปรดระบุ ท้ายกระดาษ ลงชื่ออีกครั้ง แล้วนั่งรอต่อแถว เพื่อพบเจ้าหน้าที่
“ขอให้ทุกคนเข้าแถว เตรียมบัตรประชาชน รับเอกสาร ใครเขียนหนังสือไม่ได้ เรามีเจ้าหน้าที่เขียนให้” ประโยคซ้ำ ๆ ที่ถูกส่งผ่านลำโพงตลอดเวลา เช่นเดียวกับแถวที่ยาวเหยียดจากหน้าประตูถึงลานร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่จากกรมประชาสัมพันธ์ จากกระทรวงการคลัง จากธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน คอยอำนวยความสะดวกทุกขั้นตอน
“เพื่อนผมที่วินฯ ได้เงินครบหมดแล้ว มีผมคนเดียวที่ยังไม่ได้”
“ถูกออกจากงาน ลงทะเบียนไปก็ไม่ได้ ตอนแรกว่าเขาว่าได้”
“พร้อมเพย์มันคืออะไรล่ะหนู ลุงไม่เข้าใจ เขาบอกว่าลุงได้เงินแล้วนะ แต่ลุงต้องไปแก้อะไรนี่แหละที่ธนาคาร”
“หนูไม่รู้หรอกว่าต้องไปลงทะเบียนอะไร คนแถวบ้านบอกมาว่ารัฐเขาช่วย นี่มีเงินอยู่ 100 นั่งรถมาจากพุทธมณฑล ไม่รู้วันนี้จะได้ไหม เหลือเงินอยู่ 30 บาท”
“เงินผู้สูงอายุมันจะไปพออะไร นี่อยู่เดือนละ 1,500 บาท ไม่มีเงินจ่ายแล้ว จะไปพึ่งลูกเขาก็ไม่ไหว เขาก็ลำบากเหมือนกัน ว่าแต่อันนี้มันต้องลงทะเบียนมาก่อนหรือ ลงยังไง ใช้โทรศัพท์แบบนี้ (ยื่นมือถือที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟนให้ดู)”
“เขียนให้หน่อยได้ไหมว่า ว่าต้องการให้รัฐช่วยเหลือจริงๆ ไม่มีเงินแล้ว”
มากมายหลายเหตุผลที่แต่ละพูดกับเรา ฉายภาพชัดเจนว่าโควิด-19 กระทบกระเทือนกับทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ต่อเดือน 3 เดือน รวม 15,000 บาท ไม่ใช่เงินก้อนโต ใช้ครู่เดียวเดี๋ยวก็หมด แต่ในภาวะวิกฤตที่คนตกงาน หรือต้องหยุดกิจการชั่วคราว เงินก้อนนี้ “สำคัญ” เหมือนน้ำมันที่ใช้เลี้ยงเครื่องยนต์ไม่ให้ดับ และไปได้ต่อได้อีกนิด-อีกนิดเดียว รอทุกอย่างดีขึ้น
ยอดคนเดินทางมาร้องทุกข์ที่นี่มีเฉลี่ย 2-3,000 คนต่อวัน เป็นตัวเลขเฉพาะที่กรุงเทพฯ เท่านั้น เราพบทั้งคนที่ยื่นให้ทบทวนสิทธิ์ใหม่ คนที่ลงทะเบียนได้ แต่เงินไม่เข้า กลุ่มนี้มีโอกาสสูงว่าจะได้รับเงินไล่หลัง แต่อีกกลุ่มที่ “ไม่เคย” รู้เลยว่าตัวเองมีสิทธิ์ยื่นขอรับเงินเยียวยาได้ พวกเขาเดินทางมาวันนี้ “หวังโชคดี” ได้รับเงิน แต่ความจริงรัฐจำเป็นต้องปฏิเสธ ให้สิทธิ์เฉพาะคนที่เคยลงทะเบียนแล้วเท่านั้น
เงินช่วยเหลือเยียวยาถูกตั้งคำถามถึงการจัดการตั้งแต่ระบบลงทะเบียนที่ไม่เสถียร ระบบคัดกรองด้วยเอไอ (Artificial Intelligence) การเปิดให้ลงทะเบียนเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต กรองคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือใช้ไม่เป็นไปแล้ว 1 ชั้น หรือการผูกระบบจ่ายเงินไว้กับระบบพร้อมเพย์ที่คนแก่ไม่เข้าใจ หรือแม้แต่การจำกัดจำนวนผู้ได้สิทธิ์เยียวยาทั้งที่ควรได้รับแบบ “ถ้วนหน้า” มากกว่าต้องมาพิสูจน์ความจนให้เป็นที่ประจักษ์
ข้อคำถามที่ส่องให้เห็นช่องว่าง และอาจทำให้ “เราไม่ทิ้งกัน” ครั้งนี้ทำหลายคนตกหล่นขบวนความช่วยเหลือ “ไว คงทวี” ผอ.สำนักตรวจสอบและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่ากระทรวงรู้ปัญหาดี และหากรัฐมีโครงการลักษณะนี้อีกจะต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบสิทธิ์ และการเข้าถึงกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ต
จากวันนั้นถึงวันนี้ การยื่นร้องทุกข์รับการเยียวยาจบลงแล้ว (ข้อมูล 28 พฤษภาคม 2563) รัฐทำงานลุล่วงไปแล้วกว่า 99.5 % จากผู้ลงทะเบียนรับสิทธิทั้งหมด 28.8 ล้านคน ยังเหลือ ผู้ที่ทบทวนสิทธิ์ 0.11 ล้านคน
ผู้ได้รับสิทธิ์ 15.10 ล้านคน พวกเขาจะได้รับเงินผ่านบัญชีที่ผูกไว้กับระบบพร้อมเพย์ ส่วนคนไม่ได้รับสิทธิ์ 7.03 ล้านคน + คนที่ไม่ได้ยื่น แต่ก็ลำบากบน ไม่แน่ใจว่าความรู้สึก และสถานะของพวกเขาอยู่ในกลุ่ม พร้อม (ถูก) เท หรือไม่
Track05: เสี่ยงเปล่งเสียง
Location: ตลาดนัดกรีนวิลล์ กรุงเทพฯ (ละติจูดที่ 13.779188,100.394813)
Recording Date: 13.05.63
Author: ภาวิณี คงฤทธิ์
บ่าย 2 โมงครึ่ง ของวันพุธกลางสัปดาห์ ณ ตลาดนัดกรีนวิลล์ ในขณะที่แดดร้อนกำลังแผดเผาผู้คนอย่างไม่เกรงใจใคร ชายหญิงคู่หนึ่งกำลังเปล่งเสียงเพลงหวานขับกล่อมไปทั่วทั้งตลาด สองนักร้องดูโอ้ผู้พิการทางสายตาเปลี่ยนริมฟุตปาธขนาดเล็กให้กลายเป็นเวทีการแสดงขนาดย่อม แม้จะไร้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ เหลือเพียงแค่ลำโพงพกพาขนาดเล็กและไมโครโฟนคู่ใจ แต่คุณภาพการแสดงดนตรีสดที่ออกมานั้นก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเลย พิสูจน์ได้จากเหล่าผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยต่างไม่ลังเลที่จะหยอดเงินใส่กล่องแทนคำขอบคุณสำหรับเสียงเพลงอันไพเราะ
“ไม่ใช่ทุกตลาดที่จะเปิดให้เรากลับมาร้องเพลงได้อย่างเก่า เราโชคดีที่ตลาดนี้ยังเปิดให้เรากลับมาร้องเพลงได้”
คือ คำบอกเล่าจาก เอิร์น-วิภาพร ชาวเขา นักร้องตาบอดสาวประสบการณ์ 7 ปี เธอเล่าย้อนให้ฟังว่าก่อนหน้าที่จะมีการคลายการล็อกดาวน์เมือง เธอและแฟนหนุ่ม บี-ทศพร ดอนโพธิ์ ไม่สามารถออกมาร้องเพลงได้เลย เนื่องจากถูกเพ่งเล็งจากคนในสังคมบางกลุ่มว่านักร้องเปิดหมวกอาจกลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่มีสิทธิแพร่โรคโควิด-19 ไปสู่ผู้อื่น จึงเป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ทั้งคู่ต้องขาดรายได้และต้องนำเงินเก็บที่นับวันยิ่งเหลือน้อยลงมาใช้จ่ายประทังชีวิตก่อนล่วงหน้า
“แต่ก่อนเราออกไปร้องเพลง 5 วันต่อสัปดาห์ มาตอนนี้เหลือแค่วันเดียว หรือต่อให้รวมเงินคนพิการที่ได้ 800 ต่อเดือน ยังไงรายได้มันก็ไม่พออยู่แล้ว เราก็ต้องประหยัดเอาหน่อย” บีเอ่ยด้วยน้ำเสียงนิ่ง ก่อนจะหัวเราะออกมาเบาๆ อย่างขมขื่นใจ ที่มาของเสียงหัวเราะที่แสนเศร้านี้อาจจะมีสาเหตุมาจากที่ ณ เวลานี้ยังไม่มีผู้พิการคนใดได้รับเงินเยียวยา 1000 บาท ที่ทางภาครัฐได้สัญญาไว้ นับเป็นเวลากว่าร่วมเดือนนับตั้งแต่ออกประกาศที่ผู้พิการต้องรออย่างไร้ความหวัง
“แค่การเว้นระยะห่างก็ทำให้เราใช้ชีวิตลำบากมากอยู่แล้วเพราะคนตาบอดต้องอาศัยการสัมผัสในการใช้ชีวิตประจำวัน แล้วตอนนี้อาชีพที่เราทำได้ทั้งร้องเพลงหรือการไปนวดก็ถูกหยุดหมดเลย แต่รายจ่ายอย่างค่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ มันไม่หยุดนะ มันยังมี เราอยากให้เขามาช่วยตรงนี้ ไม่ต้องช่วยค่ากินเราก็ได้ ขอแค่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายพวกนี้ได้ไหม” เอิร์นทิ้งท้ายไว้ก่อนจะแยกจากกัน
แม้ตามใบหน้าของเอิร์นและบีจะเต็มไปด้วยหยาดเหงื่อ ไม่ต่างจากที่ในใจเองก็เต็มไปด้วยความกลัวที่ต้องออกมาเสี่ยงร้องเพลงตามที่สาธารณะต่างๆ แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อนี่เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้พวกเขามีชีวิตรอดในสังคมที่มักจะลืมมองเห็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปเสมอ
Track06: มิงกะลาบา
Location: เอกชัย 67 เขตบางบอน กรุงเทพฯ (ละติจูดที่ 13.779188,100.394813)
Recording Date: 08.05.63
Author: วุฒินากร เอียดจุ้ย / กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์
ห้องเช่าเล็ก ๆ ขนาดสัก 16 ตร.ม. เป็นที่พักกาย และพักใจของแรงงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ 5 คน พวกเธอย้ายมาจาก จ.ระยองเมื่อ 2 เดือนก่อน “เขาบอกว่าที่นี่มีงานทำ แต่พอมาไม่มีอะไรให้ทำเลย”
การสื่อสารผ่านล่ามทำให้เรารู้ว่า ทั้ง 5 คน ถูกให้ออกจากโรงงานอาหารทะเล เถ้าแก่บอกว่า ต้องปิดโรงงานเพราะโควิด-19 สถานะแรงงานข้ามชาติแบบ MOU อยู่ในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารครบถ้วน ไม่ได้ช่วยให้พวกเธอเข้าถึงสิทธิ์การช่วยเหลือของรัฐไทยเมื่อต้องหยุดทำงาน เพราะเงื่อนไขที่ต้องมีการรับรองจากนายจ้าง และด้านภาษา
“กลัวติดโรค แต่แยกกันอยู่ไม่ได้”
Ko Zaw ล่ามแปลภาษาบอกว่า ค่าเช่า 1,500 บาท ต่อเดือน บวกค่าไฟหลักร้อย หารกัน 5 คน ตกอยู่คนละไม่เท่าไหร่ต่อเดือน แต่หากรายได้เป็นศูนย์แล้ว หารเหลือไม่เท่าไหรอย่างไรก็เเยอะอยู่ดี ทำให้พวกเธอเครียดไม่น้อย จะกลับบ้านก็ไม่ได้ จะอยู่ต่อก็ไม่สบายใจ ตอนนี้พวกเธอกำลังติดหนี้ 15,000 บาท และค่าเช่าห้องที่ยังไม่ได้จ่ายมา 2 เดือน
หนึ่งในแรงงานห้องนี้ เปิดหม้อกับข้าวเป็นยำอะไรสักอย่างที่พวกเธอต้องกินด้วยกัน 5 คน จากปกติกิน 1 มื้อ ตอนนี้ต้องลดปริมาณต่อมื้อ หม้อนี้ต้องเก็บให้ได้ 2 มื้อ บางวันนั่งรถเมล์ไปตามทุ่งนา เพื่อเก็บผักบุ้งมาทำกับข้าวกิน
เมื่อไม่ได้ภาษาไทย และไม่มีเครือข่าย ทำให้พวกเขาทั้ง 5 ยังมืดมนกับการหางานทำ แต่อาจเป็นความโชคดีหน่อยที่หอพักที่อยู่ คนส่วนใหญ่เป็นคนเมียนมาร์ประเทศเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เธอจะได้งานเร็ว ๆ นี้ เพราะทุกคนในตึกนี้ถูกพักงานกันหมด
แม้สื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ แต่เรารับรู้ได้ถึงความกระตือรือร้นที่อยาก “ทำงานแลกเงิน” มากกว่านั่งรอความช่วยเหลือ เพราะการทำงานไม่ใช่แค่เงินที่ช่วยจ่ายค่าเช่า ค่ากิน (แบบอิ่มๆ) เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการได้ส่งเงินกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเองด้วย ที่นั่นมีครอบครัวของพวกเขารออยู่
แรงงานข้ามชาติในตึกที่เราไปครั้งนี้เป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ในบรรดาแรงงานข้ามชาติ 3 ล้านคนในประเทศไทย พวกเขาเผชิญชะตากรรมไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก คือ ถูกพักงาน ให้ออกจากงาน เข้าไม่ถึงสิทธิ์การเยียวยาจากภาครัฐแม้ว่าเป็นแรงงานถูกกฎหมาย (ข้อมูลแรงงานลงทะเบียน 1.1 ล้านคน) ส่วนแรงงานที่ไร้สถานะยิ่งยากในการเข้าถึงความช่วยเหลือ
Track 07: ข้นแค้นแคนหมอลำ
Location: บ้านพักหมอลำระเบียบ วาทะศิลป์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น (ละติจูดที่ 16.5100090, 102.6857687)
Recording Date: 23.05.63
Author: กาญจนา ปลอดกรรม
พวกเขาเหลือกันอยู่เพียงสิบชีวิต
นั่นเป็นจำนวน 1 ใน 10 ส่วนที่เคยมีกันกว่าสามร้อยชีวิตในวงหมอลำอันดับ 1 ของขอนแก่น ‘ระเบียบ วาทะศิลป์’ พ่อเปีย – สุมิตรศักดิ์ พลล้ำ ในฐานะหัวหน้าวงจำต้องให้ลูกน้องค่อยๆ ขนย้ายข้าวของออกจากห้องหับที่เคยใช้เป็นที่อยู่ที่กินออกไปเรื่อยๆ จากห้องพักราว 50 ห้องที่แยกหอพักชายและหอพักหญิงเอาไว้ พ่อเปียลงทุนสร้างเพื่อให้เป็นที่อยู่ของลูกๆ ในวง – ค่าน้ำค่าไฟ ฟรี ตอนนี้หลายห้องฝุ่นเขรอะ ข้าวของเครื่องใช้กระจัดกระจาย ดูออกว่ามันไม่เคยมีใครเข้ามาใช้งานอีกเลยมากว่าสามเดือน
“รอๆ ไปก็ไม่มีความหวังว่าเขาจะปลดล็อกวันไหน ให้เรารวมทีมวันไหน มันกระทบถึงคิวงานปีหน้า เพราะปีนี้ถูกยกเลิกงานไปแล้ว 90 กว่าคิว ที่ตัดรายได้พ่อไปเลย เด็กไม่มีรายได้ พ่อเลี้ยงคน 300 กว่าคน ไม่ใช่แค่ 300 คนแต่มันขยายตัวไปถึงพ่อแม่ครอบครัวเขานับพันคน”
พี่อ๊อด – สุรศักดิ์ ขุสีหลาย เลขาพ่อเปีย เล่าว่าปกติแล้วการแสดงหมอลำในแต่ละครั้งต้องใช้เพลงเกือบ 30 เพลง และชุดประกอบเพลงทุกเพลงต้องตัดเย็บและออกแบบใหม่ทั้งหมด แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เงินทุนสำหรับการเปิดฤดูกาลหมอลำครั้งหน้าไม่เหลือเลยสักบาท
พี่อ๊อดจึงรวบรวมน้องๆ ที่เหลืออยู่ช่วยกันนำชุดการแสดงเก่าๆ ออกมาตัดเย็บใหม่เท่าที่พอจะทำได้
อันไหนที่พอปรับให้สวยขึ้นได้ – ก็ปรับ การแสดงไหนต้องตัดชุดใหม่จริงๆ ก็ลดจำนวนลงจาก 30 ชุดเหลือเพียง 12 ชุด หรือ 18 ชุดเท่าที่ทำได้
“ได้ยินข่าวว่าจะต่อ พรก. ฉุกเฉินไปอีกเดือนหนึ่ง มันก็หนักไปเรื่อยๆ คือมันหนักมาอยู่แล้วแหละ แต่มันมากระตุ้นให้เราไม่มีหวัง … ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำไปในแนวทางไหน? งานก็มีจองเข้ามาเรื่อยๆ งานที่ปีนี้ยกเลิกไป 90 กว่าคิว บางคนก็ยกเลิกไปเลย บางคนก็เลื่อนไปปี 64 65 มันก็มีงานรองรับอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะไปถึงจุดไหนของหมอลำ” น้ำเสียงคล้ายคนคิดไม่ตกทั้งแววตาที่ฉายความกังวล ทำให้คนฟังอย่างเราเข้าใจได้ไม่ยาก ถึงภาวะหนักอึ้งที่พ่อเปียแบกรับอยู่
การอยู่กับหมอลำนี้มาทั้งชีวิต 50 กว่าปี ไม่ได้ช่วยให้พ่อเปียมองวิกฤตครั้งนี้กับวงการหมอลำได้ชัดขึ้นเลย
เอาแค่ว่าจะหาเงินทุนกว่า 6 ล้านสำหรับเปิดฤดูกาลหมอลำปีหน้าได้จากที่ไหน? – พ่อเปียยังคิดไม่ตก
พรก.ฉุกเฉินจะถูกประกาศยกเลิกเมื่อไหร่? – พ่อเปียก็รอคำตอบอยู่เช่นกัน
Track 08: Lady On street ใต้ม่านศีลธรรม
Location: สุขุมวิท กรุงเทพฯ (ละติจูดที่ 13.7429484, 100.5536640)
Recording Date: 20.05.63
Author: กาญจนา ปลอดกรรม
เข้าวันที่ 3 แล้ว เธอยังไม่ได้ลูกค้า
การโอนเงินให้ลูกชายและพ่อแม่ที่บ้านจำต้องหยุดชะงัก
“เมื่อก่อนวันนึงเราได้วันละ 2 รอบยังพออยู่ได้ ณ ตอนนี้ 4 -5 วันได้ลูกค้ารอบนึง ได้เงินพันนึงดีหน่อยก็พันห้ามันพอไหม? มันไม่พอเลย ไหนเราต้องส่งกลับบ้านพ่อแม่เราไหนจะลูกเราอีก มี 6-7 ร้อยเราก็ต้องโอน สำหรับเราเก็บไว้แค่ 2-3 ร้อยไว้กิน คือเราทำงานแบบนี้เราไม่รู้หรอกว่าข้างหน้าเราจะได้เงินไหม แต่ถ้าเราออกมาทำงาน เราก็ต้องหาลูกค้าให้ได้”
น่ากลัวว่าโควิดคือ พรก.ฉุกเฉิน เธอต้องเปลี่ยนเวลาทำงานจากช่วงเย็นมาเป็นตอนบ่าย แต่ช่วงเวลาไพรม์ไทม์สำหรับพวกเธอกลับกลับเป็นช่วงค่ำไปจนถึงดึก การไม่สามารถทำงานในช่วงเวลากลางคืนได้ นั่นจึงเป็นผลกระทบที่ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่มันคือคนข้างหลังของเธอด้วย
“แต่ก็ต้องหาเงิน … ก็ต้องดิ้นรน”
‘ดิ้นรน’ ‘หาเงิน’ สองคำนี้คือคงอธิบายชีวิตของหญิงวัยสามสิบต้นๆ ที่นั่งอยู่ตรงหน้าเราตลอดเวลา 17 ปีที่ผ่านมา กับการเลือกเส้นทางในอาชีพนี้ได้เป็นอย่างดี จากความอยากได้เงินเพื่อปรนเปรอตัวเองในช่วงวัยรุ่น เปลี่ยนสู่การต้องรับผิดชอบชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่เกิดมากับแฟนคนแรกซึ่งเธอเรียกว่า ‘ลูก’
จากเพื่อตัวเอง กลายเป็นเพื่อใครอีกคน
“ลูกชายเป็นพลังให้เรามากน้อยแค่ไหน?” ฉันถาม
“ให้มากเลย เพราะว่ากับลูกชายเราลำบากมาด้วยกัน ตอนพี่เริ่มมาทำงานตรงนี้ตอนนั้นกำลังท้องน้อง พี่ทำงานจนคลอดเลย ก่อนออกมาทำงานก็จะพูดกับน้องว่า ถ้าหนูรักแม่ หนูต้องอยู่กับแม่นะ ต้องช่วยแม่หาลูกค้านะ”
เธอหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เปิดแชทให้ดูบทสนทนาที่คุยกับลูกชาย ด้วยความที่เป็นภาษาอีสาน ผู้เขียนเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างแต่ประโยคหนึ่งที่ยังจำติดใจ เธอถามลูกว่ากินข้าวกับอะไร คำตอบจากเด็กชายทำให้เรานิ่งอึ้งไปชั่วครู
‘กินกับน้ำปลา’
ตัวอักษรไม่มีความรู้สึก แต่มนุษย์ไม่เป็นเช่นนั้น.
จากเด็กหญิงที่เคยใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ วันนี้เธอเลือกกทางเดินนี้ด้วยตัวเธอเอง 17 ปีที่ผ่านมากับงานบนสายอาชีพนี้ ดูเหมือนจะหาความภูมิใจไม่ได้เลยสำหรับเธอ ความหวังเดียวที่พอจะเหลือให้เห็นในแววตา คงเป็นยามเอ่ยถึงเด็กชายวัยกำลังโตคนนั้นและยามเล่าถึงความฝันในบั้นปลาย
“พี่อยากเก็บเงินได้สักก้อน 2-3 แสน พี่อยากกลับไปอยู่บ้าน กลับไปขายของ กลับไปอยู่กับลูก”
Track09: ห้องเรียน 4×4
Location: อ.สามโคก จ.ปทุมธานี (ละติจูดที่ 13.7429484, 100.5536640)
Recording Date: 22.05.63
Author: พลอยธิดา เกตุแก้ว
เพราะ…3 ชีวิต ต้องอยู่ในห้องแถวขนาด 4×4 ตาราเมตร
เพราะ…ตา-ยาย ตอบข้อสงสัยของหลานไม่ได้ทุกแบบฝึกหัด
เพราะ…ข้อจำกัดในการเข้าถึงอุปกรณ์
และเพราะต้องทดลองเรียนออนไลน์ จึงทำให้ต้นทุนการศึกษาถูกแบ่งจ่ายด้วยเวลาและพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของทุกครัวเรือน เป็นต้นทุนแฝงที่หลายครอบครัวไม่อาจยืดอกแบกรับไว้อย่างสบายใจ
“ช่วงนี้อากาศร้อน เวลาหลานเรียนผ่าน DLTV อยู่ในห้อง รู้สึกสงสารหลานเหมือนกัน แต่ช่วงเวลาที่หลานเรียน ผมก็จะออกไปนอนข้างนอก เพราะต้องออกไปทำงานตอนกลางคืน” – ปริญญา คำบูชา คุณตา วัย 50 ปี อาชีพช่างเดินท่อร้อยสายไฟ –
ดูเหมือนคิวงานการใช้สอยพื้นที่ภายในห้องแถวขนาด 4×4 ตารางเมตร กำลังถูก Disrupt ด้วยการศึกษาในยุคโควิด19 พื้นที่เล็กๆ ถูกแบ่งซอยให้เด็กน้อยวัย 6 ขวบ ได้เรียนอย่างสะดวกที่สุดเท่าที่ครอบครัวเอื้อมถึง และหากห้องแถวพูดได้ มันคงอยากจะบอกว่า ฉันเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ทั้ง ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าว และตอนนี้ได้เพิ่มบทบาทเป็นห้องเรียนชั่วคราว มีประตูเข้า-ออก มีห้องน้ำในตัว แต่แตกต่างตรงที่…ห้องสี่เหลี่ยมตรงนี้ ไร้หน้าต่าง และมีเพียงแสงไฟจากทีวีที่สว่างกว่าหลอดนีออน
แค่มีที่เรียนคงไม่จบ เพราะระหว่างทางก็พบปัญหาใหญ่ เมื่อต้นทุนความรู้ในครัวเรือนอาจกำลังสร้างความกังวลใจให้กับ 2 ตายาย หลายครั้งที่ไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับบทเรียนของหลานได้ เพราะวิชาความรู้ทั้งคณิต วิทย์ ไทย เมื่อ 40 ปีก่อนคงช่วยอะไรได้ไม่มากนัก
“ช่วงที่เริ่มเรียนที่บ้าน ถ้าหลานไม่เข้าใจบางอย่างผมก็พอจะบอกและสอนได้ ส่วนยายไม่ต้องพูดถึง เขาบอกไม่ได้เลย แต่ยิ่งหลานเลื่อนชั้นสูงขึ้น หนังสือก็จะยากขึ้น บางครั้งผมก็ไม่เข้าใจ”
ข้อดีของการเรียนทางไกลจากทีวีบริจาคคงอยู่ที่การมีอะไรให้ทำ นอกจากวิ่งเล่น หรือ อยู่บ้านเฉยๆ แต่อีกด้านคุณตาปริญญา ยอมรับว่าที่บ้านคงให้ ‘ความต่อเนื่อง’ และ ‘สภาพแวดล้อม’ เทียบเท่ากับในโรงเรียนไม่ได้ เพราะ(ต้นทุน)เรา…ไม่เท่ากัน
Track 10: #MobfromHome
Location: ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ละติจูดที่ 14.068062,100.600563)
Recording Date: 19.05.63
Author: ภาวิณี คงฤิทธิ์
“หลังจบโควิดหนูคิดว่ามีการชุมนุมครั้งต่อไปแน่ๆ มีแน่ๆ และรอบนี้เราคาดหวังได้เยอะด้วย”
21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมทั้งตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ถัดจากนั้นเพียงแค่ 1 วัน เวลา 17.30 นาที ณ บริเวณลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สหภาพนักเรียน นิสิตและนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” โดยมีไฮไลท์อยู่ที่การปราศรัยจากเหล่านักศึกษาที่ประกาศชัดเจนว่า ‘การยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่จุดจบแต่เป็นแค่จุดเริ่มต้น’
ประโยคข้างต้นไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริง นับตั้งแต่วันนั้นการชุมนุมประท้วงในรูปแบบแฟลชม็อบของเหล่านิสิตนักศึกษาเกิดขึ้นไปทั่วทั้งประเทศไทยราวกับไฟลามทุ่ง ภาพการเคลื่อนไหวของเหล่านักศึกษาที่ไม่ได้เห็นมานานแสนนานปลุกความหวังให้เกิดขึ้นภายในใจของใครหลายคนอีกครั้ง แต่แสงไฟที่กำลังลุกโชติช่วงเป็นอันต้องหยุดลงชั่วคราวเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อการรวมตัวกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ซ้ำเติมไปด้วยการกลับมาของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ส่งผลให้การเมืองไทยถูกแช่แข็งอยู่ในความว่างเปล่าอีกครั้ง
“ถามว่าเสียดายไหม เอาจริงๆ เราเองก็เสียดายเหมือนกัน เพราะตอนนั้นพวกเราเห็นภาพที่นักศึกษาทั่วประเทศจะรวมตัวกันและจัดม็อบใหญ่ได้ ตอนวันแฟลชม็อบที่ลานพญานาคถึงมีคำพูดที่ว่าเราจะพาคนไปราชดำเนิน ที่กล้าพูดถึงขนาดนั้นเพราะเราคิดจริงๆ ว่ามันเกิดขึ้นได้ แต่พอโควิดมาแน่นอนว่าด้านหนึ่งมันแช่แข็งทุกอย่างไป แต่อีกด้านก็ทำให้เราเห็นถึงความย่ำแย่ของรัฐบาลนี้มากขึ้น”
รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โฆษกแห่งสนท. เล่าย้อนให้ฟังถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในวันนั้น แม้จะเสียดายแต่พวกเขาไม่เสียใจและพยายามหาช่องทางในการแสดงออกอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้เองกิจกรรม #MobfromHome จึงเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้คนได้มาแสดงความคิดเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดียและเป็นการอุ่นเครื่องเตรียมรับการเคลื่อนไหวระลอกใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเทียบพลังกันแล้วคงไม่สามารถสู้พลังที่ได้มาจากการมาชุมนุมร่วมกันแบบตัวเป็นๆ แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแสดงออกถึงการไม่ยอมจำนนต่อระบบอันบิดเบี้ยว เป็นสิ่งที่เราทำได้ในวันที่การบังคับใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังคงอยู่
“หลังจากหมดโควิด น่าสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ แต่หนูคิดว่าการชุมนุมจะเกิดขึ้นแน่ๆ และจะอิมแพ็คมากกว่าเดิม มันจะไม่มีเรื่องโรคมาเป็นตัวสกัดอีกแล้ว ในขณะเดียวกันนักศึกษาแต่ละกลุ่มจากที่เคยกระจัดกระจาย มาวันนี้ทุกคนรวมตัวกันพร้อมทั้งตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาและคงกำลังคิดไม่ต่างกันว่าเราจะเอายังไงกันต่อ ที่สำคัญหนูคิดว่ารอบนี้จะไม่ได้มีแค่นักศึกษาแต่ประชาชนจะมาร่วมด้วย เพราะตอนนี้มันไม่ไหวแล้ว คนมันลำบากจนไม่มีอะไรจะเสียแล้ว
รัฐกำลังทำให้คนตกต่ำจนถึงขีดสุด ไม่ว่ายังไงมันจะเกิดขึ้นแน่ๆ”
HIDDEN TRACK เสียงที่หายไป
Project ลำดับที่ 1 ของ Decode.plus บันทึกเสียงด้วยความละเอียดสูงของผู้คนที่เราไม่ค่อยได้ยิน ในท่วงทำนองของความยากลำบาก และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจการเมือง และการเผชิญหน้ากับโลกหลังโควิด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออกของสังคมด้วยงานคราฟท์ทีเราตั้งใจคัดเลือกประเด็นอย่างพิถีพิถัน ใส่ใจในบทสนทนา ความจริง และตั้งคําถามท้าทาย สู่การลงมือคราฟท์สังคมไปด้วยกัน