หากอยากให้ราเมงชามนี้อร่อยอย่างที่ตั้งใจไว้ เคล็ดไม่ลับที่เจ้าของร้านบอกได้ คือ ต้องใช้เวลาลวกเส้นราว ๆ 2 นาที ความร้อนของน้ำซุป ความนุ่มความเนื้อ และกลิ่นหอม จะปรุงกันจนเป็นความลงตัว เป็นราเมงชามโตที่ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยให้ท้องอิ่ม แต่เป็นรสชาติที่ลูกค้าสามารถ “ดื่มด่ำ” ทั้งรส และบรรยากาศในร้าน แต่ทันทีที่โควิด-19 ตีชิดถึงประตูร้าน ทุกกระบวนท่าของการทำราเมงของร้านราเมงเนื้อ นาม “งัว” ร้านนี้ก็เปลี่ยนไป
01: ราเมงชามนี้ห้ามกินที่ร้าน
“เป็นไงครับ น้ำซุปเข้มข้นไหม วันนี้อร่อยเลย เคี่ยวมานาน เพราะขายไม่ค่อยได้” ประโยคแซวตัวเองของพี่ มรรธ สูงใหญ่ 1 ใน 3 เจ้าของร้านราเมง “งัว”
ในวันที่เราคุยกันช่วงกลางเดือนเมษายน 2563 นั้น เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้วที่ร้านต้องปิดป้าย Take Away Only และงดทานในร้าน เพราะพิษโควิด-19
ร้านราเมงของพี่มรรธ วัย 34 ปี ร่วมหุ้นกับเพื่อนอีก 2 คน เป็นร้านเล็ก ๆ ใกล้บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศย่านบางซื่อที่เขาเคยทำงานอยู่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่ด้วยความชื่นชอบการทำอาหาร พี่มรรธพาตัวเองไปท่องโลกกว้างเรียนรู้-สั่งสมประสบการณ์ด้านนี้มาตลอด ทำร้านมาหลายร้าน ซึ่งพี่มรรธบอกว่า “ก็เจ๊งเป็นส่วนใหญ่”
แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทุกอย่างดูลงตัวไปหมด เขาเป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น 2 ร้าน คือ อาหารญี่ปุ่นแนว ๆ ของดิบ และร้านราเมงเนื้อร้านนี้ที่เพิ่งเปิดได้ 9 เดือนเท่านั้น จุดเด่นของร้านอยู่ที่ความ Homemade การได้เข้ามานั่งซดน้ำซุปร้อน ๆ และกินราเมงทันทีที่มันถูกทำเสร็จ ร้านนี้จึงแน่นขนัดไปด้วยลูกค้า จนต้องต่อแถวออมานอกร้าน
ในสนามแข่งของธุรกิจอาหารบ้านเรา ขึ้นชื่อว่า “ดุ” อยู่แล้ว ร้านอาหารที่จะอยู่ได้ และอยู่รอดในภาวะปกติจำเป็นต้อง “ปรับตัว” และ “เปลี่ยนแปลง” ตัวเองอยู่เสมอ พี่มรรธเองก็ปรับกลยุทธ์ธุรกิจร้านอาหารตลอดเวลาเหมือนกัน แต่ที่คิดไม่ตก และต้องคิดหนักว่า “ควรไปทางไหนดีต่อ” ก็เมื่อตอนเริ่มมีโรคระบาด และทางการประกาศห้ามกินในร้าน
ร้านอาหารญี่ปุ่นร้านแรกของพี่มรรธ ถูกปิดไปก่อน เพราะลูกค้าลดฮวบ เขาย้ายพนักงานทั้งหมดจากร้านที่ 1 มาทำงานที่ร้านราเมงร้านนี้ แบบไม่ปลดใครออกเลยแม้แต่คนเดียว
“ตอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามกินในร้านก็ว่าแย่แล้ว ยิ่งมีประกาศเคอร์ฟิวยิ่งไปกันใหญ่ คนก็ไม่กล้าออกมาจากบ้านเข้าไปใหญ่ ถ้าเราจะหวังลูกค้าให้มาเดินผ่านแล้วมาซื้อร้านเรา โอกาสแทบจะเป็นศูนย์เลย มันเหลือทางเดียวที่เราจะไปต่อได้ คือ เดลิเวอร์รี่ ก่อนหน้านี้ผมต้องปิดร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นแล้ว 1 ร้าน ก่อนสถานการณ์จะแย่แบบนี้ ร้านนั้นเป็นอาหารดิบ คนเขาก็ไม่กล้ากินกัน ร้านนี้เป็นที่เดียวเหลืออยู่“
ความอยู่รอดด้วยบริการส่งตรงถึงบ้านแบบเดลิเวอรี่ เป็นทางเลือก(สุดท้าย) พี่มรรธเองก็คิดหนักเหมือนกัน เพราะไม่อยากให้มันลดทอนรสชาติความอร่อยของราเมง แต่จะบอกว่าร้านไม่เคยมีออร์เดอร์เดลิเวอรี่ หรือไร้เหล่าไรเดอร์มาสั่งราเมงไปส่งลูกค้าเลยก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ร้านไม่ได้สร้างหน้าร้านออนไลน์กับแฟลตฟอร์มใด ๆ มีแต่ลูกค้าเป็นคนตั้งให้ ออร์เดอร์ออนไลน์มีเข้ามาเรื่อย ๆ แต่มันไม่ใช่ทางหลัก
“ตอนแรกเราไม่ได้สนใจเดลิเวอรี่ เพราะเราก็ขายดีหน้าร้านอยู่แล้ว เมนูก็สามารถปรับเปลี่ยน เพิ่มได้ลดได้ มันจะค่อนข้างวุ่นเวลาสั่งออนไลน์ แต่ทีนี้พอมีวิกฤตโควิดเข้ามา จากที่ขายได้วันละ 150-200 ชาม ก็เหลือแค่ประมาณ 10 ชาม เดลิเวอร์รี่มันเป็นทางเดียวที่ทำให้เรารอด“
02: วงใน ขลุกตัว #Saveร้านอาหาร
เมื่อ ฟู้ด เดลิเวอรี่ บริการส่งอาหารจากหน้าร้านสู่หน้าบ้านก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 “ช่องทางการขายหลัก” ของร้านอาหาร มีร้านอาหารเริ่มปรับกุลยุทธมาส่งตรงถึงบ้านแทน หลายพื้นที่สร้างระบบช่วยเหลือร้านอาหารในระดับชุมชน ภูมิภาค หรือประเทศ มีทั้งพึ่งพาคนกันเอง ใช้เครือข่าย หรือบางครั้งก็พึ่งพาแฟลตฟอร์ม เชื่อมคนกิน-คนขายให้มาเจอกัน
วันนั้น 20 มีนาคม 2563 “ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด” เขียนจดหมายผ่าน Social media พูดถึงวิกฤตร้านอาหารในช่วงโรคระบาดที่ยอดขายค่อย ๆ ดิ่งลงจาก 50% สู่ 80% บางร้านตัดสินใจปิดร้านไปเลย เป็นที่มาของแคมเปญ #Saveร้านอาหาร #สปดกรจรกม สู้ไปด้วยกันเราจะรอดหมด
วงใน (Wongnai) ในฐานะแฟลตฟอร์มร้านอาหารมากกว่า 350,000 ร้าน และไลฟสไตล์ เป็น 1 ในแฟลตฟอร์มระดับประเทศที่กระโดดเข้ามาสร้างทีม พาร้านอาหารให้มีหน้าร้านออนไลน์ หรือมีแล้วแต่ไม่เคยเข้าสู่วงการเดลิเวอร์รี่ ก็ชวนกันเข้ามา พวกเขา พัฒนาแอพฯ ที่ร้านอาหารสามารถขายเดลิเวอรี่บน LINE MAN ผ่าน Wongnai Merchant App ด้วยขั้นตอนที่ง่าย-เร็ว แต่เดิมใช้เวลาอนุมัติ 7 วัน ก็เหลือเพียง 1 วัน มีคนลงทะเบียนตั้งแต่ 22 มี.ค.63 มากกว่า 15,000 ร้านทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดิม 3-5 เท่า ซึ่ง 5 อันดับร้านอาหารที่ลงทะเบียนมากที่สุด คือ อาหารไทย / ก๋วยเตี๋ยว / ร้านกาแฟ / ของหวาน และอาหารอีสาน (ตัวเลขเดือน เม.ย.2563)
“เราอยู่กับร้านอาหารจำนวนมากตลอด พอเขากระเทือนหรือเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นเป็นที่แรก ๆ ที่เห็น และเราก็รู้ว่าการทำงานด้วยกันมันเป็นทางรอดทางเดียว ที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายรอดไปด้วยกัน รู้สึกเป็นหน้าที่ที่ต้องหาเครื่องมือ หรือแคมเปญมาช่วยร้านอาหาร เราไม่ได้มองว่าเราจะช่วยร้านอาหารเล็กๆ อย่างเดียว เราช่วยทุกระดับ ด้วยเครื่องมือที่แตกต่างกัน เรากำลังจะทำ Pick up สำหรับร้านที่ให้ลูกค้ามารับที่ร้านได้ และทำ Gift Voucher อายุ1 ปี เพื่อให้ร้านนำเงินตรงนี้ไปหมุนเวียนเพื่อรันร้านอาหารได้ต่อ”
เหตุผลที่ไม่ได้หนุนแค่บริการเดลิเวอรี่ก็เพราะร้านอาหารในบ้านเรามีมากมายหลากหลายรูปแบบ หลายประเภท อย่างหมูกระทะ บุฟเฟต์ หรือชาบู ต้องกินที่ร้าน หรือบ้างร้านมีบริการ และบรรยากาศเข้ามาเป็นปัจจัยด้วย การตัดสินใจทำเดลิเวอรี่จึงไม่ใช่สิ่งที่ทุก ๆ ร้านต้องการจะทำ
“เดลิเวอรี่โตขึ้นจริงถึง 20-30% เป็นทางออกในช่วงนี้ หลายร้านปรับตัว พวกชาบู หมูกระทะก็มีส่งหม้อไปด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเดลิเวอรี่จะไม่สามารถทำให้ค่าหัวของการสั่งมากเท่าไปกินที่ร้านอาหารได้ เช่น ถ้าสั่งมากินเราก็สั่งต่อหัว 100-200 บาท แต่ถ้าไปกินที่ร้าน มันมีบริการ มีบรรยากาศ ร้านสามารถทำให้ยอดการสั่งไปถึงหลักพันต่อหัวได้ ซึ่งอันนี้เดลิเวอรี่ทำไม่ได้”
ประเด็นของการ “หักหัวคิว” หรือค่า GP (gross profit) ที่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ร้านอาหารอาจต้องคิดหนักเมื่อต้องผูกพันกับการขายเดลิเวอรี่ เพราะลำพังขายให้ได้ให้พอกำไรเล็กน้อยเพื่อไปต่อยังยากอยู่แล้ว ยังต้องถูกหักเงินจากการขายเมื่อเข้าร่วมกับแฟลตฟอร์มต่างๆ สูงสุดถึง 35% ยิ่งทำให้รายได้ลดลงไป ทำให้ภาพของเดลิเวอร์รี่อาจไม่ใช่ทางออกที่โรแมนติกนัก
การขายผ่านแอพฯ ของวงใน และไลน์แมนก็มีประเด็นนี้เช่นกัน ผู้บริหารของวงในอธิบายว่า หน้าร้านอาหารออนไลน์ที่ทำกับวงในมีสิทธิ์กำหนดโปรโมชันได้ด้วยตัวเอง เลือกได้ว่าจะร่วมเข้า GP หรือไม่ ถ้าร้านไม่ได้มีลูกค้าประจำ แต่อยากใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย Matching และให้ร้านถูกมองเห็นจากลูกค้าหน้าใหม่ ซึ่งสำหรับร้านเก่าแก่ที่อาจไม่คุ้นเคยจะมีทีมงานคอยช่วยเหลือหลังบ้าน
“ผมสนับสนุนการช่วยเหลือในทุกแบบ แต่ถ้าถามว่าวงในแตกต่างอย่างไร มันเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้คนไม่เคยเจอกันได้มาเจอกันมากกว่า หรือเพิ่มทางเลือกของอาหารให้ลูกค้า ในทางหนึ่งคือการกระจายรายได้ด้วย“
03: “อีหมี่” จานนี้มีไรเดอร์มารับ
“อีหมี่เนื้อ 1 อีหมี่หมู 1 ลวกหมี่มา!” ทวนชื่อเมนูฮิตประจำร้านแบบเร็ว ๆ แล้ว มือไม้ของอากงธรรมยุทธ โรจน์หล่อสกุล วัย 83 ปี เจ้าของร้านนิวทายโหล้ง ย่านนางเลิ้งก็ขยับผัดหมี่ทันที การทำอาหารอย่างคล่องแคล่วไม่ได้ทำให้เห็นแค่ความชำนาญ แต่ยังเห็นความกระตือรือร้น และความดีใจที่มีออร์เดอร์เข้าร้านในวันที่ลูกค้าหายากกว่าเข็มในมหาสมุทร
“เศรษฐกิจแย่มันก็หลายปัจจัย ตอนมีม็อบก็แย่ แต่มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนี้“
ร้านเก่าแก่เกือบ 70 ปีร้านนี้ เป็นร้านขนาดเล็กที่แท้ทรู ตั้งอยู่ริมถนนก็จริงแต่ต้องสังเกตดีๆ หรือต้องมากินประจำเท่านั้นถึงจะหาเจอว่าร้านอยู่ตรงไหน ช่วงที่ถูกห้ามกินในร้าน ร้านปรับตัวกั้นพื้นที่ห้ามกินในร้าน สั่งกลับบ้านเท่านั้นตามประกาศของทางการ แต่จำนวนการขายก็ต้องบอกว่า “ลดลงอย่างมาก” วันหนึ่งอากงพบกับทีมงานของวงใน เขาเข้ามาขอสัมภาษณ์ และสอบถามว่าได้ทำบริการเดลิเวอร์รี่ไว้บ้างหรือไม่
“เราไม่รู้เรื่องหรอก เขามาสัมภาษณ์เรื่องร้านอาหาร แล้วก็มีวิน (ไรเดอร์) มารับข้าวไป มากันเต็มไปหมด ช่วง 2-3 สัปดาห์ ตอนนี้ก็ซาๆ ลงไปแล้ว“
ค้าขายมานานก็จริง มีลูกค้าประจำก็จริง แต่เวลานี้ลูกค้าประจำก็อาจหายหน้าหายตาไปบ้าง เพราะต้องอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ การมีหน้าร้านออนไลน์ช่วยให้ร้านของอากง “ถูกมองเห็น” มากกว่าแค่ลุกค้าประจำ และคนแถวนั้น จุดนี้เป็นกลายเป็นด้านดีของการมีหน้าร้านออนไลน์
“ร้านเราเคยย้ายจากเยาวราชมาอยู่ที่นี่ 10 กว่าปี แต่ร้านมีอายุ 68 ปีแล้ว หลายคนก็ไม่รู้หรอกว่าร้านย้ายมาที่นี่แล้ว พอเขาเห็นโฆษณา เขาก็ตามมากิน”
04: ช่วยเขาแล้วเราจะรอด
จะร้านเล็กร้านใหญ่ แฟลตฟอร์มเล็กแฟลตฟอร์มใหญ่ หรือจะกลุ่มไหน ๆ ชุมชนร้านอาหารที่พึ่งพากันและในยามนี้ ตั้งอยู่พื้นฐานของ “ช่วยเขาแล้วเราจะรอด” การรอดคนเดียวในยามนี้แทบไมมีประโยชน์ หรือเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันการจะพยุงไม่ให้ล้มก็สาหัสสากรรจ์ เพราะต่างก็มี “คนข้างหลัง” ที่ต้องดูแลกันทั้งนั้น ลำพังรายได้จากเดลิเวอรี่อย่างเดียวไม่ช่วยให้ร้านฟื้นลืมตาได้จริง แค่ประคับประคองเท่านั้น
พี่มรรธในฐานะผู้นำ (ของร้าน) การฝ่าวิกฤตครั้งนี้ เขามีภาระที่ต้องดูแลรับผิดชอบถ้าดีเป็นตัวเลขคือหลักแสนบาทต่อเดือน ถ้าตีเป็นตำนวนคนที่ต้องพยุงกันไปคืออย่างน้อย ๆ 10 คน การไปต่อคนเดียวพี่มรรธบอกว่า “ก็ไปได้นะ”
“ถ้าผมจะเห็นแก่ตัวก็ได้ ก็ไล่ลูกน้องออกให้หมด ขายคนเดียว รวยด้วย แค่ขยันเพิ่มหน่อย เหนื่อยเพิ่มหน่อย แต่ผมรอดคนเดียวนะ ลูกน้องอีก 10 คน และครอบครัวเขาก็ตายเลยนะ บ้านที่เขาเช่าอยู่ก็จะไม่มีเงินไปจ่าย เจ้าของห้องเช่าแถวนี้ก็ขาดเงินอีก มันกระทบกันไปหมดเลยเป็นลูกโซ่ สถานการณ์แบบนี้ มันต้องช่วยกัน” เจ้าของร้านราเมงงัวตอบคำถามว่า “นานแค่ไหนที่ยังไหว?“
พี่มรรธบอกว่า ทุกวันนี้สิ่งที่พยายามพยุงร้านราเมงแห่งนี้ ไม่เอาคนออก ไม่ปิดร้าน เพราะไม่อยาก “นับหนึ่งใหม่” หลังโควิดหมดไป เพราะนั่นอาจจะยากกว่าเดิมที่กลับมาอยู่ในตลาดธุรกิจร้านอาหารอีกครั้ง
ส่วนผู้บริหารวงในเองก็ยอมรับว่า รายได้ที่มาจากงานอีเว้นต์ และสื่อโฆษณาซึ่งส่วนใหญ่มากจากร้านอาหารก็กระทบไม่น้อย
“งานอีเว้นต์แน่นอนของเราหายไป 100% งานด้านสื่อ และโฆษณาก็หายไปด้วย 50% ร้านอาหารส่วนใหญ่ขาดรายได้ ไม่มีเงินมาโฆษณา มาประชาสัมพันธ์เหมือนกัน เราก็ต้องช่วยกันหาวิธี ผมมองว่า วิกฤตครั้งนี้การรอดไปด้วยกัน เป็นทางรอดเดียวที่ดีที่สุด เราเตรียมรับมือกับ Best Cast scenario และ Worst Case scenario ถ้าพรุ่งนี้โควิด-19 หมดไป เขาประกาศว่าเรากลับมาเปิดร้าน มาเจอกันได้ เลิกทำ Social Distancing แล้ว เราก็ต้องปรับตัวว่าจะทำอะไรต่อ แต่ใจเรา พร้อมรับกับ Worst Case scenario”
05: เดลิเวอรี่ฆ่าไม่ตาย กับความหรูหราใหม่ของการกินอาหารนอกบ้าน
หากเปรียบเทียบการต่อสู้ของร้านอาหาร มันคือ “การดำน้ำ” ให้ได้นานที่สุด อดทน-อดกลั้นกับความฝืดให้ได้มากที่สุด ล้มไม่ได้ เพราะหมายถึงการกลับมาที่อาจยากกว่าเดิม เนื่องจากหลายคนเชื่อว่าโลกหลังโควิด-19น่าจะเปลี่ยนไปแล้ว และเดลิเวอร์รี่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เป็นแค่คำตอบตอนนี้ เพราะคำตอบสุดท้าย คือ การปรับตัวที่ฉับไว และเปิดใจลองแนวทางใหม่ ๆ ที่ทั้งร้านอากง ร้านราเมง และวงในทำ
วันนั้น เราถามพี่มรรธว่า เมื่อเราไมได้ตั้งใจมีเดลิเวอร์รี่อยู่แล้ว ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น เขาทำยังเลือกทางนี้ไหม
“ราเมงของผมทุกวันนี้ยอดขายจาก 5% ที่ลดลงไปก็ขึ้นมาเป็น 30% เป็นเพียวเดลิเวอร์รี่เลย ถ้ากลับมาเปิดร้านได้อีกครั้งหนึ่งแล้วยอดขายเท่าเดิม หมายถึงปมจะมียอดขายเพิ่มอีก 30% เลยนะ ถือว่าเยอะมาก เราก็ต้องมองอันนี้ด้วย ผมว่าครั้งนี้มันช่วยทำให้ผมมองเรื่องการทำธุรกิจอาหารอีกแบบ ปกติผมปรับตัวเรื่อย ๆ นะ แต่ครั้งนี้มันสุดจริง ๆ ถ้าแย่กว่านี้ผมว่าต้องสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือเอเลี่ยนบุกโลกแล้ว”
วันนี้ รัฐประกาศ “ผ่อนคลาย” มาตรการห้ามกินในร้านอาหารแล้ว แต่ยังคงขอให้ร้านมีมาตรการของตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ข่าวดีที่หลาย ๆ ร้านดีใจ แต่เอาเข้าจริงอาจดีใจได้เพียงชั่วครูเท่านั้น เพราะพื้นที่นั่งของร้านจำเป็นต้องลดจำนวนคนเข้าบริการอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ตามมาตรการ Social Distancing ร้านไม่ได้ต่อสู้เพื่อแค่จำนวนลูกค้าที่ต้องลดลง แต่ยังต่อสู้กับช่วงเวลาเคอร์ฟิวที่แม้จะขยับเวลาออกไปอีกนิด แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไม่ออกไปกินข้าวนอกบ้าน นอกจากนี้ ร้านอาหารยังต้องสู้กับพฤติกรรมใหม่ New Normal ของคนกินที่ก็อาจเปลี่ยนไป หลายคนพูดว่า “ร้านอาหารไม่ได้กำลังสู้กับโรคแค่อย่างเดียว แต่กำลังสู้กับผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย”
ร้านราเมงของพี่มรรธก็เช่นกัน เขาประกาศผ่านเฟซบุ๊กของร้านว่าเปิดบริการให้เข้านั่งทานในร้านได้ แต่ขอจำกัดจำนวนคน และยังมีบริการ “เดลิเวอรี่” อยู่ เช่นเดียวกับร้านอากงธรรมยุทธ ที่ก็มองว่าการมีหน้าร้านออนไลน์ไม่ได้เสียหาย
ยอด ผู้บริหารวงในวิเคราะห์ว่าว่าโควิด-19นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่ที่อาจไม่มีใครคาดคิดมาก่อน “การเปลี่ยนแปลงตอนนี้มันเร็วมาก เป็น Fast Forward หลังโควิด-19 โลกของธุรกิจอาหาร และวิถีของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปด้วย” แต่เดลิเวอรี่ยังอยู่ แม้วัคซีนจะมี โควิดจะหมด แต่ร้านอาหารที่ยังต้องมีทางเลือก “ส่งตรงถึงบ้าน” ไว้ภายในร้านอยู่ ไม่ว่าจะอยู่เป็นแฟลตฟอร์มไหนก็ตาม เพราะมันถูกพิสูจน์ระดับหนึ่งแล้วว่า หากเกิดอะไรขึ้น นี่เป็นทางรอดในยามวิกฤตได้
มากไปกว่านั้น คนให้ความสำคัญกับการกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น – เมื่อก่อนการกินข้าวนอกบ้านอาจไม่ได้สลักสำคัญเท่าไหร่ แต่หลังจากที่โควิด-19 มาปะทะจนคนอดเข้าร้านอาหาร คุณค่าของการไปกินข้าวนอกบ้านจะเพิ่มทวีคูณ การได้พบปะเพื่อฝูงที่ร้านอาหารจะเป็นความหรูแบบใหม่ของชีวิตผู้คนเมื่อโควิด-19 จากไป