“ไม่จำเป็นต้องสร้างบรรยากาศความกลัว” อาจารย์-นศ.แสดงจุดยืนเคียงข้างผู้ถูกตั้งข้อหา ม.112 เพราะปราศรัยเรียกร้องรัฐสวัสดิการ - Decode
Reading Time: 2 minutes

วันนี้ (1 เม.ย.64) อาจารย์และนักศึกษาจากศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ และนักศึกษากลุ่ม TUMS Thammasat University Marxism Studies ถือป้ายและมอบดอกไม้ให้กับผู้ถูกตั้งข้อหา ม.112, ม.116, ม.215 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากกิจกรรมการปราศรัยและชุมนุมที่แยกเกียกกาย เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 ซึ่งกิจกรรมมีการยืนสงบนิ่ง 7 นาทีไว้อาลัยให้แก่เข้ามาของรัฐบาลทหารตั้งแต่ปี 2557 รวม 7 ปี และเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่สามารถทำให้ประเทศเกิดรัฐสวัสดิการได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงออกเพื่อยืนยันสิทธิการแสดงออกของประชาชน ทำไมการพูดถึงความเท่าเทียม และการจัดการงบประมาณให้เหมาะสมในแต่ละส่วน ตั้งแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ และสวัสดิการสังคม จึงต้องถูกตั้งข้อกล่าวหา

#เด็ดทิ้งจะยิ่งบาน เป็นป้ายที่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ถือไว้ อ.บอกว่า แม้จะมีการใช้เครื่องมืออย่างกฎหมายเข้ามาหยุดการพูดถึงประเด็นพื้นฐานเหล่านี้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งนักวิชาการ สื่อ และศิลปิน รวมถึงประชาชนต้องทำให้เรื่องนี้สามารถพูดได้อย่างเป็นปกติ และไม่จำเป็นต้องมีบรรยากาศของความกลัว รวมถึงการออกมาเคียงข้างผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา และถูกดำเนินคดีสำคัญมากเพื่อจะยืนยันสิทธิการแสดงออกของพวกเขา และประชาชน

“การที่พวกเขาเรียกร้องถึงการเรียนฟรี การจัดสรรงบประมาณ รัฐสวัสดิการ หรือการทวงถามนโยบายพรรคการเมือง เป็นสิ่งพื้นฐานมาก ๆ ไม่ควรมีใครต้องถูกดำเนินคดี พูดอีกอย่างพรรคการเมืองเหยียบความฝันของคนพวกนี้ขึ้นไป สุดท้ายเขาต้องมาเสียเวลากับเรื่องพวกนี้เอง อั๋วยังเรียนอยู่ปี 3 บอลยังเรียนอยู่ปี 2 ทำไมคนที่อยากมีชีวิตที่ดีต้องโดนคดี”

ใครโดนดำเนินคดีบ้าง

ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาครั้งนี้มี มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, บอล-ชนินทร์ วงษ์ศรี และบิ๊ก-เกียรติชัย ตั้งภรพรรณ ซึ่งวันนี้ (1 เม.ย.64) เป็นการมาตามนัดของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางโพ เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนคดีและความเห็นสั่งฟ้องต่ออัยการ ส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน อั๋ว และมายด์ บอกว่า มีความกังวลหากถูกสั่งฟ้องและไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เพราะยังมีภาระเรื่องการเรียนอยู่ รวมถึงบอกว่าการถูกดำเนินคดี ม.112 ไม่เป็นธรรม และไม่ควรโดนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ผิด และระบุว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

ไม่เห็นด้วยกับ112

“ไม่ได้กลัวที่จะถูกตั้งข้อหา แต่ไม่เห็นด้วยกับการโดน 112”

อั๋ว-จุฑาทิพย์ บอกกับ De/Code ถึงข้อจำกัดของม.112 ซึ่งการไม่ให้สิทธิประกันตัวอาจเป็นเหตุทำให้ผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพราะไม่เชื่อมั่น และอาจจะลี้ภัยซึ่งมีความเสี่ยงกว่าเดิม อั๋วแสดงความเห็นว่า ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายมาตรานี้การเลือกต่อสู้ของแต่ละคนถือว่าเป็น “เจตจำนงค์เสรี” เคารพการตัดสินใจของทุกคน เพราะกฎหมายนี้บีบบังคับให้ทุกคนจนมุม ทั้งหมดแล้วไม่ควรมีใครถูกตั้งข้อหาตั้งแต่แรก

ด้านบอล-ชนินทร์ ระบุว่าการไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างของรัฐ สถาบันฯ หรือรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่ปัญหาหลาย ๆ อย่างได้ ซึ่งตัวเขาเองพยายามทำให้เห็นว่า หากประเทศมีการจัดสรรงบประมาณได้อย่างสมเหตุสมผล ประเทศจะมีเงินมากพอที่จะจัดสรรสวัสดิการได้ เช่น งบอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 600บาท/เดือนไปจนถึง 6 ขวบ แม้วันนี้จะกังวลต่อการถูกตั้งข้อหา เพราะอาจเสียโอกาสประกันตัว เสียโอกาสเรียน หรือพบเจอพ่อแม่เพื่อนฝูง แต่เขาไม่กลัว เพราะต้องการยืนยันเสรีภาพในการพูด และความหวังดีที่มีต่อประเทศ