ทุกข์ของคนเมืองทั่วไปคือชั่วโมงนรกบนถนนที่รถติดแหง็กอยู่กับที่เป็นชั่วโมง ไม่ว่าจะไปโรงเรียนหรือไปทำงานแต่เช้าก็ต้องออกตั้งแต่ตะวันยังไม่พ้นขอบฟ้า กลับบ้านมาอีกทีก็ฟ้ามืดไปเสียแล้ว เพราะต้องเสียเวลานั่งอยู่บนรถกันวนไปวนมา ประสบการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องดาษดื่นที่คนกรุงเทพและคนหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ หรือขอนแก่นต้องเจอทุกวัน ในชีวิตหนึ่งต้องมีสักครั้งที่มานั่งร้องไห้ตัดพ้อกับชีวิตว่าทำไมเราจะต้องมาเจอกับอะไรอย่างนี้ด้วยนะ ฝนตกน้ำท่วมก็รถติด ยืนรอรถกว่าจะมาก็เปียกชุ่มไปทั้งตัว ฝนไม่ตกรถก็ติด มาไม่ตรงเวลาอีก จะกะเวลาวางแผนอะไรในชีวิตไม่ได้เอาเสียเลย
ในขณะที่คนเมืองส่งเสียงบ่นก่นด่าดังอื้ออึงว่าขนส่งสาธารณะที่บ้านตนมันห่วยแตกเพียงใด คนในจังหวัดนอกสายตาของรัฐไทยไม่มีแม้แต่ขนส่งสาธารณะที่ทั่วถึง บขส.ก็ดันไปสร้างอยู่ไกลตัวเมืองเหลือเกิน ถ้าไม่มีรถของตัวเอง จะไปไหนมาไหนทีลำบากเสียยิ่งกว่าการต้องติดแหง็กอยู่ในรถบนถนนในเมืองใหญ่เสียอีก ใครไม่เคยอยู่ต่างจังหวัดก็ลองจินตนาการดูสิว่า ถ้ากรุงเทพไม่มีรถสาธารณะแล้วจะเป็นอย่างไร
วันที่ปราจีนบุรี ไร้ ‘ลุงเริบ’ ขนส่งผู้คน
ทุกเช้าเมื่ออรุณแย้มขอบฟ้า ลุงเริบ-บุญเริบ โพนน้อย ออกจากบ้านพร้อมรถคู่ใจ เลี้ยวเลาะผ่านซอกซอยเล็กใหญ่ของหมู่บ้าน ตระเวนรับนักเรียนน้อยใหญ่ไปส่งตามโรงเรียนในตัวเมือง พอตกเย็นก็ไปรับนักเรียนหน้าเดิมกลับมาบ้าน อาชีพงานขับรถรับส่งนักเรียนดำเนินไปเช่นนี้ในทุกวันราชการ จึงเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่ภาพเช่นนี้เป็นสิ่งคุ้นตาสำหรับคนในหมู่บ้านหนองไข่ไก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี ลุงเริบรับจ้างขับรถรับส่งนักเรียนตามบ้านระหว่างโรงเรียนในเขตเมืองปราจีนบุรี
ลุงเริบเท้าความให้ฟังว่า ด้วยความที่แกเคยขับรถจ้างมาก่อนหลายที่ทั่วประเทศเลยมีรถคู่ใจไว้ใช้เพื่อประกอบอาชีพหนึ่งคัน พอย้ายมาอยู่ที่หนองไข่ไก่ก็มีหลานมาอยู่ด้วย คนในหมู่บ้านเห็นว่าแกรับส่งหลานไปโรงเรียนในตัวเมืองทุกวัน เลยฝากลูกหลานติดรถไปบ้าง ทำไปทำมาลุงเริบก็เลยจับพลัดจับผลูมาเริ่มอาชีพขับรถรับส่งนักเรียนเสียเลย
ภาพของลุงเริ่มไม่เพียงเป็นเอกลักษณ์ประจำหนองไข่ไก่ หากเป็นภาพจำของคนต่างจังหวัดที่แม้ไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรง ใครที่เป็นเด็กต่างจังหวัดต่างมีเพื่อนที่ขึ้นรถรับส่งมาโรงเรียน หรือไม่ก็เห็นรถรับส่งขับผ่านหน้าบ้านบ้างหรือผ่านไปตามถนนเป็นประจำ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าประสบการณ์ดาษดื่นของเด็กต่างจังหวัดจึงเริ่มต้นมาจากความที่บ้านนอกคอกนานั้นไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและทั่วถึง
คนที่ขับรถไม่เป็น คนที่ขับรถไม่ได้ หรือคนที่ไม่มีกำลังในการซื้อรถเป็นของตัวเองต่างต้องกระเสือกกระสนหาทางกันไปเพื่อให้ได้เดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างคนอื่นเขาบ้าง โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ยังเป็นผู้เยาว์ ขับรถไม่เป็น และต้องพึ่งพาผู้ปกครองเป็นหลักในเรื่องการเดินทาง ใครที่ผู้ปกครองไม่สามารถขับรถไปรับไปส่งถึงโรงเรียนได้ก็จำต้องพึ่งพากลไกแบบออร์แกนิคในชุมชนของตัวเองเพื่อให้ได้ไปเรียนหนังสือ กลไกออร์แกนิค หรือกลไกตามมีตามเกิดที่ว่าก็คือไม่ใช่อะไร หากแต่เป็นรถรับส่งนักเรียนในชุมชนนี่เอง
แม้ลุงเริบรับส่งนักเรียนมาแล้วรุ่นต่อรุ่นจากปี 2528 ที่มีเด็กนักเรียนยี่สิบกว่าคนครื้นเครงเต็มรถ จนถึงปี 2561 เหลือนักเรียนไม่ถึงห้าคน ทำให้แบกรับค่าน้ำมันไม่ไหว ต้องเลิกกิจการไปในที่สุด เมื่อไม่มีลุงเริบแล้ว เด็กที่เหลือก็จำต้องหาทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง
กุ๊กไก่-กฤษณา ศรีทะประกอบ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เคยขึ้นรถลุงเริบคนหนึ่งอาศัยอยู่กับแม่ที่ทำงานรับจ้างไม่เป็นเวลา ไม่สามารถไปรับไปส่งที่โรงเรียนได้ ก็จำต้องขอให้น้า ช่วยรับส่งแทน จากที่ต้องออกจากบ้านตอนหกโมงกว่าพร้อมลุงเริบ ก็ต้องตื่นขึ้นมาแข่งไก่ขันตั้งแต่ตีห้า เพื่อให้ไปโรงเรียนแล้วถึงได้กลับบ้าน
ชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ในเมืองปราจีนบุรีไม่ต่างกันเท่าใดนักกับเด็กที่เคยเล่นเกมงูในโนเกียเมื่อสิบปีที่แล้ว เนสท์-รัตนาวดี แจ่มชุมศิลป์ อดีตศิษย์เก่าโรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี ที่บ้านไกลจากตัวเมือง 50 กิโลเมตรก็ต้องตื่นมาแข่งไก่ขันเพื่อให้ทันรถรับส่งซึ่งต้องวนไปรับนักเรียนที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกันจนเต็มรถก่อน ถึงจะเริ่มออกเดินทางมาอำเภอเมือง ตกเย็นรถออกจากตัวเมืองตอนสี่โมงครึ่ง
บ่อยครั้งที่เธอต้องไปเรียนพิเศษตอนเย็นในตัวเมือง เนื่องจากสมัยนั้นอำเภอที่ไกลตัวเมืองยังไม่มีสถาบันกวดวิชา กว่าจะเลิกเรียนก็กลับรถรับส่งไม่ทันเสียแล้ว จะกลับบ้านได้ต้องนั่งรถตุ๊กๆ จากที่เรียนพิเศษไปต่อรถไฟรอบสุดท้ายในตัวเมือง รถไฟเที่ยวหกโมงที่แทบไม่เคยตรงเวลา ตกรถไฟก็หลายครั้ง ที่พึ่งสุดท้ายจึงเป็นรถตู้จากจังหวัดอื่นที่ผ่านมาอำเภอเมืองและเลยไปแถวบ้านของเธอ จะไปรอรถตู้ได้ก็ต้องนั่งตุ๊กๆ ไปที่สี่แยกนเรศวร หรือวงเวียนตีนเขาใหญ่ที่มีรถทัวร์และรถตู้ผ่านมาจากจังหวัดใกล้เคียงอย่างนครนายกหรือสระบุรี มุ่งหน้าไปทางจังหวัดสระแก้ว ด้วยสายตาของเด็กผู้หญิงตัวเล็กคนหนึ่งในตอนนั้น รถทัวร์ดูใหญ่โตน่ากลัวเกินกว่าจะขึ้นได้ เส้นทางที่รถผ่านก็ไม่สามารถเช็คได้ก่อน ตารางเวลาที่แน่นอนยิ่งไม่มีใครรู้
เนสท์ทำได้แค่ภาวนาให้รถตู้คันคุ้นตาที่ผ่านแถวบ้านยังไม่ออกไปเสียก่อน ในขณะที่เพื่อนคนอื่นทำการบ้าน หรือนอนเล่นอยู่บ้านอยู่นั้น กว่าเธอจะก้าวเท้าเข้าประตูบ้านก็มืดค่ำเสียแล้ว ด้วยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มานับครั้งไม่ถ้วน การนั่งรถสาธารณะแบบตามมีตามเกิดจึงกลายมาเป็นความทรงจำสีจางอันหมองหม่น “เจออย่างนี้บ่อยๆ เข้า มันฝังใจนะ ตั้งแต่จบมัธยมมาก็ไม่ขึ้นรถไฟอีกเลย” เธอกล่าว
เวลาและเงินของเด็กต่างจังหวัดหลายคนต้องเสียไปก็เพราะไม่มีรถขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและทั่วถึง คนบ้านไกลอย่างเนสท์ต้องเสียค่าตุ๊กๆ และค่ารถไฟกลับบ้านอย่างน้อยวันละ 100 บาท แยกจากค่าขนมวันละ 60 บาท ส่วนคนบ้านใกล้อย่างกุ๊กไก่ ถ้าต้องทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนก็ต้องจ้างรถแถวบ้านวันละ 120 บาท นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเดินไปไหนมาไหนเองอี เพราะทั้งเงินและเวลาถูกพรากไปด้วยการเดินทางแบบตามมีตามเกิด ชีวิตเด็กต่างจังหวัดหลายต่อหลายคนจึงถูกจำกัดอยู่แค่บ้านและโรงเรียนเท่านั้น
รีวิวขนส่งสาธารณะเกาหลีใต้
เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้นั้น ชีวิตคนพลเมืองแดนกิมจิช่างห่างไกลจากกลไกตามมีตามเกิดแบบไทยๆ ระบบการเดินทางที่โน่นเปรียบเสมือนปีกนกที่พาคนของเขาบินไปได้ทุกที่อย่างอิสระปราศจากโซ่ตรวน คำเปรียบเปรยนี้ไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริงแต่อย่างใด ลองจินตนาการดูเถิด หากบ้านเรามีรถสาธารณะที่นอกจากจะมาตรงเวลาแล้ว ยังสามารถเช็คตารางเวลาและตำแหน่งรถตามเวลาจริง (Realtime) ได้ การเดินทางโดยทั่วไปครั้งหนึ่งจ่ายเพียง 1,200 วอน หรือประมาณ 33 บาท ทั้งรถเมล์หรือรถไฟฟ้าก็เชื่อมต่อกันโดยไม่ต้องจ่ายเพิ่มเวลาเปลี่ยนสาย ส่วนการเดินทางข้ามจังหวัดมีทั้งรถบัสข้ามจังหวัด (Intercity bus) รถบัสด่วน (Express bus) รถไฟธรรมดา (Mugunghwa-ho) และรถไฟความเร็วสูง (RTX-KTX) ให้ได้เลือกใช้บริการกันตามสะดวก ลองหลับตานึกดูสิ นึกถึงความเป็นไปได้มากมายที่จะเกิดขึ้นในชีวิตเรา
แม้แต่หมู่บ้านกลางหุบเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีอย่างหมู่บ้านเนวา ในเมืองทูซอมยอน จังหวัดอุลซาน ที่ร้อยทั้งร้อยถามใครก็ไม่มีใครรู้จักยังมีรถเมล์เข้าไปถึง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นคนหลากหลายรุ่นอายุขึ้นรถเมล์กันอย่างเสรีในประเทศเกาหลีใต้ คนอายุน้อยไม่จำเป็นต้องพึ่งผู้ปกครอง คนเฒ่าคนแก่ไม่จำเป็นต้องพึ่งลูกหลาน คนไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจมากไม่ต้องเอาเงินไปผ่อนรถ ไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบตามมีตามเกิด เอาเวลาและเงินไปทำอย่างอื่นที่จำเป็นในชีวิตได้อีกมากมาย และจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกันที่คนปูซานที่อยู่ใต้สุดของประเทศจะเดินทางมาเรียนพิเศษในโซลที่อยู่ภาคเหนือของประเทศซึ่งห่างจากกัน 330 กิโลเมตรได้ภายในเวลาสองชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้รถส่วนตัว นอนๆ นั่งๆ ไปในรถได้แบบสบายๆ จากเหนือลงใต้เช้าไปเย็นกลับ
ย้อนกลับมามองบ้านเราเป็นต้องฉงนว่า ทำไมคนต่างจังหวัดจำต้องใช้ความพยายามในการใช้ชีวิตประหนึ่งหนังโศกสลดน้ำเน่าริมคลองด้วยเล่า ทำไมระบบขนส่งสาธารณะในบ้านเราไม่สะดวกสบาย คำนวณเวลาได้ เข้าถึงทั่วพื้นที่ และที่สำคัญคือปลดเปลื้องภาระการเดินทางให้กับพลเมืองเจ้าของภาษีอย่างประเทศอื่นเขาบ้าง บางคนจะไปโรงพยาบาลทั้งทีวันนั้นทั้งวันไม่ต้องคิดจะทำอย่างอื่นเลย ตั้งแต่ลืมตามาก็ต้องมานั่งเกาหัวหาวิธีการเดินทางไปถึงที่หมายให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดจำเขี่ย ไหนค่าเดินทางจะแพงเหลือเกินกับการที่ต้องจ้างรถไปเองหรือต่อรถไม่รู้กี่ทอด ไหนจะเวลาที่ต้องเสียไปกับการคอยรถที่ทั้งไม่ตรงเวลาและไม่รู้เวลาอีกต่างหาก ทำไมการจะเดินทางไปไหนทีมันจะต้องลำบากถึงเพียงนี้เล่า
ข้อมูลจากรายงานการวิเคราะห์ของสำนักงบประมาณรัฐสภา ฉบับที่ 4/2562 พบว่ากระทรวงคมนาคมคือหนึ่งในห้ากระทรวงที่ได้งบประมาณสูงสุดในปี 2561-2563 ไฉนประเทศไทยจึงไม่มีระบบขนส่งสาธารณะอื่นนอกจากระบบตามมีตามเกิด มิหนำซ้ำงบประมาณองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2563 จำนวน 25,339.1741 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.86 ของงบประมาณทั้งประเทศที่ไปกองอยู่กับกรุงเทพมหานครก็ไม่ได้ช่วยให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีระบบขนส่งสาธารณะมีรถสาธารณะที่เข้าถึงทั่วทุกหนแห่งทั้งทางโครงสร้างและทางเศรษฐกิจ (1)
ข้อมูลเรื่องแผนการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ประจำปีงบประมาณ 2564 จากสำนักงานขนส่งจังหวัดปราจีนบุรี พบว่างบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดจำนวนทั้งหมด 20 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 159,740,000 ล้านบาท ถูกนำมาใช้ในการ ”ซ่อมสร้างถนนลาดยาง” ทั้งหมด (2) โดยให้เหตุผลไว้ในยุทธศาสตร์แผนพัฒนาท้องถิ่น (พศ. 2561-2565) ว่า “ผลที่คาดว่าจะได้รับ” ก็เพื่อให้ ”ประชาชนทั่วไปได้ใช้ถนนสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย” (3) แนวคิดเช่นนี้มาจากการตีความบนพื้นฐานมุมมองที่เห็นว่า การสัญจรที่ “สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย” นั้นต้องมาจากการมีถนนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเป็นพอ การพัฒนาระบบคมนาคมที่เข้าถึงไม่ใช่ธุระกงการของรัฐ พลเมืองต่างหากที่มีหน้าที่ขวนขวายหายานพาหนะส่วนตัวเอาเอง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถตู้ รถอะไรก็ตามที่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย เอามาวิ่งได้บนถนนที่รัฐจัดไว้ให้ได้เป็นพอ
เมื่อหัวเมืองใหญ่มีแค่ ‘เส้นเลือดฝอย’ ขนส่งสาธารณะ
นอกจากปัญหาโครงสร้างทางการเมืองของรัฐพันลึกอันเป็นปัจจัยหลักของความเหลื่อมล้ำทางด้านระบบคมนาคมในต่างจังหวัด แวน-วริทธิ์ธร สุขสบาย จากองค์กรของคนธรรมดาที่ทำงานเรื่องระบบขนส่งสาธารณะอย่าง MAYDAY ให้ความเห็นว่า รัฐไทยในปัจจุบันไม่มีนโยบายเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่จับต้องได้ หรือแม้แต่ในช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นเองก็ตาม ยังไม่มีใครเสนอระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงและครอบคลุมอย่างแท้จริง ในส่วนของงานวิจัยเองนั้นก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า
ทำไมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในไทยจึงไม่สำเร็จเสียที ไม่มีใครตอบได้ว่า เพราะอะไรกันแน่รถขนส่งสาธารณะในเมืองรองจึงลดหายตายจากกันไปวันแล้ววันเล่า ไม่มีใครถามอย่างจริงจังว่า จะทำอย่างไรประเทศไทย (ที่ไม่ใช่ประเทศกรุงเทพ) จึงมีระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างประเทศอื่นบ้าง
แวนเล่าต่อว่า นอกจากกรุงเทพแล้ว การพัฒนาขนส่งสาธารณะก็ไม่เป็นผลสำเร็จแม้แต่ในเมืองใหญ่ อย่างขอนแก่น เชียงใหม่ หรือภูเก็ต เพราะ “เส้นเลือดฝอย” แตกสาขาเข้าไปในตัวจังหวัดไม่ทั่วถึงและไม่สะดวกอย่างที่ควรจะเป็น ในเมืองรองที่ไม่มีเส้นเลือดฝอยสักเส้นนั้น เมื่อออกจากระแวกเมืองไป ไม่มีทางเลยที่จะไปไหนได้ถึงที่หมายหากไม่มีรถส่วนตัว ในระเบียบโลกยุคปัจจุบันที่เวลาเป็นเงินเป็นทองนั้น ใครๆ ก็ไม่อยากเสียเวลารอรถที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อใดจะถึงเมื่อใด ฉะนั้นแล้ว คนส่วนใหญ่จึงหันไปออกรถแทน ไม่มีเงินก็ออกมอเตอร์ไซค์ไปก่อน
“เรา [รัฐ] ควรทำให้มัน [ระบบขนส่งสาธารณะ] ดีก่อน ต้องโน้มน้าวให้คนอื่นมาขึ้น ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมถึงควรมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แล้วรถสาธารณะดียังไง แต่ตอนนี้ขาดการวางแผน ขนส่งสาธารณะควรเป็นสิ่งพื้นฐานก่อน แต่ไม่มีใครคิดเรื่องนี้มาก่อน”
อันด้วยว่ารัฐไทยไม่ชายตามาดูบ้างว่าคนในต่างจังหวัดเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร นักเรียนในต่างจังหวัดเขาไปโรงเรียนกันอย่างไร ระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทยจึงไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่เอาเสียเลย ในโลกที่แม้จะกำลังล้มลุกคลุกคลานจากโคโรนาไวรัส การเดินทางยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการดำเนินชีวิต ในชีวิตจริงนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่คนเดินดินทั่วไปจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกแคบอึมครึมได้โดยไม่ต้องเดินทางไปมาหาสู่กันหรือไปทำธุระใดๆ ประเทศไทยเรายังไม่เอื้อให้ทำทุกสิ่งอย่างผ่านออนไลน์ได้โดยไม่ต้องไปไหนมาไหนอย่างชาวฮิคิโคโมริ (คนที่อยู่แต่ในห้อง ไม่ออกจากบ้านไปไหนเลย) ในประเทศญี่ปุ่น
ใครที่ไม่มีรถเป็นของตัวเองก็เหมือนถูกตัดแขนตัดขา ขาดอิสรภาพในการเดินทาง มองให้ลึกไปกว่านั้นก็คือการขาดอิสรภาพในการเป็นตัวของตัวเอง การขาดอิสรภาพในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง จะทำอะไรทีต้องมานั่งพึ่งใครต่อใครมันร่ำไป จะทำอะไรทีก็ต้องเจียดเงินมาผ่อนรถเสียก่อน
วัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางจึงกลายสภาพมาเป็นทัศนคติที่ว่า ถ้าอยากเดินทางสะดวกไม่ต้องปวดหัวเรื่องหารถก็ต้องซื้อรถเอง ผ่อนไปสิรถมอเตอร์ไซค์ ผ่อนไปสิรถยนต์ ใครไม่มีเงินก็ต้องพึ่งกลไกตามมีตามเกิดกันไปเป็นวงจรอุบาทว์กันต่อไป ลองจินตนาการดูอีกสักครั้งว่า ถ้าเราไม่ต้องเอาเงินผ่อนรถ ทุกคนเข้าถึงรถสาธารณะกันหมด เราจะเอาเงินและเวลาที่เหลือไปทำอะไรได้อีกบ้าง เราจะมีอิสระในการดำเนินชีวิตสักเพียงใด
ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพัฒนาโดรนแท็กซี่เพื่อนำมาใช้ลดการจราจรที่เนืองแน่นในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอย่างโซลให้ได้ภายในปี 2568 (4) ในขณะที่คนเมืองส่งเสียงบ่นก่นด่าดังอื้ออึงว่าขนส่งสาธารณะที่บ้านตนมันห่วยแตกเพียงใด บ้านนอกคอกนาของเรานั้นหนา แค่มองหารถเมล์สักคันยังไม่เห็นเลย
จากสิบปีที่แล้วที่ศิษย์เก่าโรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนต้องดิ้นรนดั้นด้นมาโรงเรียนเช้าเย็นจากบ้านที่ห่างไกลจากตัวเมือง ณ ปัจจุบัน นักเรียนในอำเภอเมืองปราจีนก็ยังต้องดิ้นรนไปโรงเรียนเหมือนเดิม จากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ จังหวัดเมืองรองนอกสายตาเลยขอบเขตการพัฒนาก็ยังไม่มีขนส่งสาธารณะกันต่อไป ขนส่งสาธารณะอันเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่เข้าถึงได้ในประเทศอารยะจึงเป็นเพียงความฝันลมๆแล้งๆ สำหรับคนต่างจังหวัดต่อไป
อ้างอิง:
(1) https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=687, หน้า 8, 22, ผ-14.
(2) https://prachinpao.go.th/site/แผนการดำเนินงาน-ประจำป-4/, หน้า 1, 50-61.
(3) https://prachinpao.go.th/site/แผนพัฒนาท้องถิ่น-พ-ศ-2561-2565-อง-4/, หน้า 11-14.
(4) http://www.businesskorea.co.kr/news/articleView.html?idxno=54869.