เรื่องราวของมนุษยชาติถูกขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์มาตั้งแต่อดีตกาล ชีวิตและศิลปะวิทยาการถูกถักทอเป็นผ้าผืนเดียวกันด้วยความประณีต ก่อเกิดเป็นสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่หลากหลาย แต่แท้จริงแล้วเรามีโอกาสได้สัมผัส ศิลปะ มากเพียงใดภายใต้ผืนฟ้าราชอาณาจักรไทยแห่งนี้
Ars longa, vita brevis
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น อาจเป็นประโยคคุ้นหูของใครหลายคน ไม่ว่าคุณจะได้ยินมาจากใครความหมายก็ไม่ได้ถูกตีความไปไกลจาก ศิลปะหรือความรู้ในทุกสาขานั้นไม่มีสิ้นสุด ในขณะที่ชีวิตของคนหนึ่งคนนั้นแสนสั้นนัก ศิลปะสามารถถูกถ่ายทอดและทำให้มีชีวิตชีวาสืบต่อไปได้แม้ผู้คิดค้นหรือสร้างสรรค์จะจากไป ตราบใดที่มีคนให้ความสนใจและโอบกอดมันด้วยความชื่นชม แต่ใครเล่าจะเห็นความสำคัญของสิ่งสวยงามเหล่านั้นหากท้องยังไม่อิ่ม
Decode ได้พูดคุยกับ 3 คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงศิลปะทั้งในฐานะผู้สร้างสรรค์และผู้ติดตามผลงาน เพื่อถอดรหัสคำว่า ศิลปะ ในสังคมไทย ผ่านมุมมองของนักเรียนออกแบบ-อินฟลูเอนเซอร์ผู้เป็นกระบอกเสียงให้กับประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ทิชา (Instagram @tishashast) ต่อด้วย ปัน หรือที่รู้จักกันในฐานะเจ้าของเพจวิจารณ์หนังชื่อดังอย่าง เทพเจ้าคอนเน็ตโต้ และ พิว ผู้ชื่นชอบในศิลปะที่สร้างสรรค์ผลงาน “คนต่างจังหวัดอยากได้หอศิลป์”
ความเหลื่อมล้ำเหนือจินตนาการ
“ประเทศเราห่วย (ขำ) คนไม่มีเวลามาให้ความสำคัญกับการยกระดับจิตใจอย่างศิลปะ เพราะแค่คุณภาพชีวิตพื้นฐานยังไม่มีเลย จะยกระดับจิตใจไปไหนก็ต้องมาปรับพื้นฐานกันก่อน (เช่น การออกมาเรียกร้อง พูดเรื่องขนส่ง ทางเท้า) ถ้าประเทศเจริญศิลปะก็เจริญ ไม่ใช่พึ่งแต่นายทุนใหญ่ ๆ แล้วค่อย ๆ กลายเป็นเครื่องมือกลวง ๆ ให้ทุนนิยมไปเรื่อย ๆ”
ทิชา นักเรียนออกแบบ – อินฟลูเอนเซอร์ กล่าว
ทิชากล่าวอีกว่าพวกเราลืมตาตื่นขึ้นมาภายใต้โลกทุนนิยมที่ตัดสินคุณค่าชีวิตคนด้วยฐานะและเงินทอง เมื่อขาดรัฐสวัสดิการที่เพียงพอผู้คนจึงดิ้นรนเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับตัวเองและสังคมมากกว่าการพัฒนาศิลปะ ด้วยการแข่งขันที่สูงอย่างเลี่ยงไม่ได้ทำให้การผลิตผลงานที่สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำย่อมดีกว่าสร้างคุณค่าให้แก่วงการนั้น ๆ ถ้าการเมืองดี เราจะมีรัฐสวัสดิการที่เพียบพร้อม ไม่ว่าอาชีพอะไรก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยมีเป้าหมายคือการสร้างคุณค่าแทนที่จะเป็นเม็ดเงินเพื่อหาเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว
“ทุกคนคือมดงาน แม้กระทั่งเด็กที่กำลังเรียนอยู่เพราะเขาจะต้องโตไปขับเคลื่อนประเทศในอนาคต แต่โอกาสในการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ มันห่างกันมาก”
พิว ผู้สร้างสรรค์ผลงาน “คนต่างจังหวัดอยากได้หอศิลป์” กล่าว
พิวเสริมว่าสังคมไม่อนุญาตให้เรามีความหวัง หรือความฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่ในกรอบชีวิตที่ตื่นเช้าขึ้นมากับคำถามว่า “วันนี้จะมีเงินพอซื้อข้าวไหม” ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เคยเลยที่ต้องมารู้สึก หรือตั้งคำถามเหล่านั้นสักครั้งในชีวิต ช่องว่างเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องหาอ่านจากนิยายดิสโทเปียที่ไหน แต่มีให้เห็นได้ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย
ราคาของการสร้างสรรค์
หากลองคิดในมุมมองของผู้ผลิตงานศิลปะก็จนตรอกไม่แพ้กัน การสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาหนึ่งอย่างไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพยนตร์ ละครเวที เพลง นิยาย ประติมากรรม และศิลปะอื่น ๆ ทุกแขนงล้วนแล้วมีค่าใช้จ่ายสูงอย่างเลี่ยงไม่ได้ อุปกรณ์ศิลปะถูกจัดอยู่ในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย ค่าสถานที่ ค่ากิน ค่านักแสดง ค่าไฟ ยังไม่รวมไปถึงค่าฝึกฝนฝีมือที่ไม่สามารถตีราคาออกมาเป็นเม็ดเงินให้เห็นได้อีก
อีกต้นทุนหนึ่งที่มีราคาสูงไม่แพ้กันคือต้นทุนทางทัศนคติของคนรอบตัว ค่านิยมเรียนสายวิทย์และไม่สนับสนุนสายศิลป์ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและมักเป็นผลพวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเดือนอยู่เสมอ หลายคนอาจผ่านด่านนี้มาได้และได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ในขณะเดียวกันยังมีคนจำนวนมากที่ต้องทำตามกรอบค่านิยมที่คนรุ่นก่อนวางไว้ แทนการได้เลือกทางเดินชีวิตให้กับตัวเองที่ตนเป็นเจ้าของเพียงคนเดียวโดยสมบูรณ์
“เรารู้สึกว่าศิลปะไม่ควรถูกตีเป็นราคาในที่สุด มันมีคุณค่าในตัวของมันอยู่แล้วโดยที่อาจจะไม่ต้องตอบโจทย์ผู้เสพเสมอไปก็ได้ การทำศิลปะจริง ๆ อย่างวิจิตรศิลป์และศิลปะบริสุทธิ์ก็เหมือนจะมีนิยามไว้เลยว่ามาจากตัวผู้สร้างศิลปะเอง เป็นศิลปะเพื่อศิลปะหรือ Art for art’s sake ในขณะที่นิเทศศาสตร์หรือพาณิชย์ศิลป์ต้องสนใจกลุ่มเป้าหมายและผู้รับสาร ซึ่งตัวนิยามของมันไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวเลย แต่โลกทุนนิยมเหมือนเข้ามาพัง (ขำ) แทนที่ศิลปะจะนำสังคมกลายเป็นต้องง้อสังคม มันจะเดินตามสังคมต้อย ๆ จะมีอะไรใหม่ออกมาก็ยาก” ทิชา กล่าว
ทิชากล่าวอีกว่า งานศิลปะที่ขายดีทุกวันนี้บางอันแทบไม่มีอะไรเลย อะไรที่ได้เงินเยอะไม่ขึ้นตรงกับคุณภาพเพราะความรู้ความแตกฉานในเรื่องศิลปะของคนส่วนใหญ่ไม่ตรงกับศิลปินด้วย บางคนไม่รู้ว่างานชิ้นนี้มันใหม่ยังไง พอราคาดันไปขึ้นอยู่กับคนที่ไม่ได้มีความรู้เลยทำให้ราคาวัดคุณภาพไม่ค่อยได้ และอาจเป็นเพราะการศึกษาไทยด้วย ประเทศนี้ไม่ได้เจริญพอที่คนจะมาหาความรู้รอบตัวชื่นชมสิ่งต่าง ๆ หรือประเทศเป็นทุนนิยมเกินกว่าที่คนจะเอาเวลามาเสพหรือหาความรู้อะไรจรรโลงใจในด้านที่ตัวเองไม่ได้สร้างรายได้จากมันได้ด้วย
สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อแก่การเติบโตของวงการศิลปะไม่ได้ส่งผลทางด้านลบแค่กับผู้ผลิตเท่านั้น เมื่อหนังสือหนึ่งเล่มราคาเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำหนึ่งวัน กำลังทรัพย์ของผู้บริโภคจึงมีความผกผันกับราคาความเหน็ดเหนื่อยเหล่านั้นอย่างน่าใจหาย หลายคนต้องการสนับสนุนความชอบของตัวเองอย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่ด้วยบริบทของประเทศไทยทำให้ความต้องการนั้นถูกพับเก็บไปเพราะในขณะที่ศิลปะยังคงมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในมุมมองของผู้สร้าง แต่กลับมีราคาสูงเกินกว่าจะเอื้อมถึงในสายตาของผู้เสพ
“สำหรับเราเราคิดว่าการที่ค่าฝีมือของงานด้านศิลปะ มันดูมีราคาต่ำในสายตาผู้ผลิตผลงาน (ศิลปิน) เพราะค่าครองชีพ (Cost of Living) ในการใช้ชีวิตให้มีความสุขในประเทศนี้มันสูงกว่าราคาศิลปะในตลาดที่เขาขายได้ ยิ่งคนทำงานไม่ว่าจะทำงานประเภทไหน ๆ มันก็ต้องกินต้องใช้เพราะรัฐไม่สามารถจัดหาปัจจัยในการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานแก่ทุกคนได้” พิว กล่าว
พิวกล่าวอีกว่า วาทกรรมนักวาดไส้แห้ง นักเขียนการ์ตูนไส้แห้ง มันเกิดขึ้นในประเทศนี้เป็นเพราะงานที่เขาผลิตออกมามันไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างไม่ลำบากได้ และเป็นเพราะว่าความบันเทิงทางศิลปะเป็นความบันเทิงที่สร้างสรรค์ได้ยากกว่า การหาความบันเทิงจากการเสพสื่อประเภทอื่นประกอบกับกลไกของรัฐที่ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงตลาดงานศิลป์ หรือเข้าไปสร้างสวัสดิการ จัดหาทุน หรือเงินสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ไม่ขอนับรวมโครงการที่แจกเงินเพื่อให้ใช้ศิลปะเพื่อเชิดชูตัวบุคคล แถมยังสนับสนุนแค่ศิลปะบางประเภท แค่แบบที่เป็นไทยนิยม ทำให้เกิดการกีดกันความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะสำหรับผู้สร้างเลยกลายเป็นเรื่องการลงแรงที่ไม่คุ้มเงิน เป็นความพยายามแบบดันทุรังใต้เท้าของคนที่มีอภิสิทธิ์ (Privileged) มีหน้ามีตาในวงการมากกว่า และศิลปะสำหรับผู้เสพจึงดูกลายเป็นเรื่องของรสนิยม ที่มาพร้อมราคาแพง ๆ
สำหรับคนรากหญ้า คนต่างจังหวัด ที่ได้เงินค่าแรงแค่วันละสามร้อยหรือบางที่ได้น้อยกว่านี้ การเจียดเงินตรงนั้นมาซื้อสื่อหรือความบันเทิงให้ตัวเอง มันคงไปได้ไม่ไกลเกินปากขวดเหล้า ยาเสพติด หรือการพนันจริงๆ ซึ่งให้ความบันเทิงที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า เพื่อบรรเทาความเหนื่อยจากการทำงานหามรุ่งหามค่ำในแต่ละวัน ศิลปะในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ มันคงไม่ใช่ความบันเทิงที่คนรากหญ้าจะสามารถให้ความสนใจได้ ไม่ใช่เพราะมันไม่ถูกใจหรือไม่โดนใจ แต่เพราะศิลปะไม่เคยได้เข้าไปอยู่เป็นตัวเลือกให้เขาได้มีสิทธิ์เลือกเลยด้วยซ้ำ
“ส่วนตัวเรามองว่าโครงสร้างเหลื่อมล้ำและรัฐสวัสดิการที่ไม่เคยจะเข้าถึงผู้ที่ลำบากจริง ๆ มันคือสิ่งที่สร้างความเหินห่างแก่ศิลปินและผู้เสพมากที่สุด รองลงมาคงเป็นการปิดกั้นพื้นที่ทางศิลปะเพื่อเปิดให้แค่คนไม่กี่กลุ่ม ศิลปินที่จะยืนหยัดในวงการได้แบบสง่าผ่าเผย ถ้าไม่เป็นผู้ชายเงินหนา ทุนหนัก ก็เป็นนักเทิดทูนตัวยง ศิลปะของประเทศเรามันเลยมาได้แค่นี้จริงๆ”
ความเป็นไทยกลืนกินความหลากหลาย
“ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะไทยไม่มีประชาชน ศิลปะพื้นบ้านแทบไม่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์กระแสหลักเลย” พิว กล่าว
พิวกล่าวอีกว่าคนต่างจังหวัดใช้ชีวิตอยู่กับศิลปะทุกวันแต่ไม่ได้รับการชี้นำว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นศิลปะแต่เป็นวิถีชีวิตแทน เช่น ในภาคอีสานถ้ามีงานบุญก็จะมีการจ้างหมอลำมาเล่นซึ่งเป็นการแสดงอย่างหนึ่งไม่ต่างอะไรกับที่จัดแสดงในหอศิลป์ แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งนี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อคนในพื้นที่เป็นคนชักนำมันเข้ามาด้วยทุนทรัพย์ของตัวเองเท่านั้น
และเมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากภาครัฐ การจัดแสดงผลงานต่าง ๆ จึงถูกหยิบยื่นไปที่เอกชน แต่ด้วยเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของชาวไทยภาคเอกชนเหล่านั้นก็คือนายทุนดี ๆ นี่เอง
“วงการศิลปะไทยชอบคงความเป็นไทยไว้แค่กับเนื้อหาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือภาพความสวยงามของชาวบ้านชาวนาในต่างจังหวัดที่แต่งตัวใส่ม่อฮ่อม ซึ่งไม่ใช่ภาพความจริงในปัจจุบันแล้ว ศิลปะที่อิงความเป็นไทยในอุดมคติของคนส่วนใหญ่จึงไม่ได้สร้างอะไรใหม่ ๆ พัฒนา ตั้งคำถาม หรือแม้แต่ท้าทายเลย” ทิชา กล่าว
ทิชาได้กล่าวอีกว่าการถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่การผูกความเป็นไทยในศิลปะไว้แค่กับภาพเหล่านั้นก็มีผลเสียต่อการเติบโตของวงการนี้ไม่น้อย ความเป็นไทยไม่ใช่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ณ ตอนนี้เราก็ยังเป็นประเทศไทยโดยมีอิทธิพลโลกยุคใหม่เข้ามาผสม ถ้าคำว่าไทยไม่ปรับตามภาพของคำว่าไทยก็เหมือนถูกหยุดเวลาแล้วจบที่ในอดีตคือประเทศไทยก่อนอิทธิพลตะวันตกเข้ามา ทั้ง ๆ ที่อิทธิพลพราหมณ์-ฮินดูก็เข้ามานานแล้ว และอยู่ในภาพความไทยที่ถูกคาดหวังไว้มานาน
พิวเล่าเสริมว่า เคยไปงานเทศกาลศิลปะนานาชาติที่หอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ (National Gallery Singapore) และได้เห็นงานของศิลปินคนไทยที่ชั้นบนสุด ซึ่งเป็นภาพถ่ายคุณลุงใส่สูทสีชมพูทำหน้าตาตลก ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ความตลกร้ายกว่านั้นอยู่ที่ว่าพิวเคยเห็นงานนี้มาก่อนที่ร้านกาแฟเล็ก ๆ ในประเทศไทยที่เจ้าของผลงานไปขอพื้นที่ของร้านในการจัดแสดง
“ศิลปะในไทยสนับสนุนอะไร? ศิลปะในไทยไม่เคยก้าวไปไหนเลยนอกจากวัฒนธรรม”
ศิลปะ คำวิจารณ์ และมาตรฐานที่ไม่มีอยู่จริง
“หลาย ๆ คนยังต้องการความสำเร็จรูปของศิลปะชิ้นนั้น ๆ อยู่ เช่น ดูหนังเรื่องนึงก็ยังต้องการเข้าใจเนื้อหาทะลุปรุโปร่ง ดูจบภายในหนึ่งวันต้องเข้าใจแล้ว หรือเสพแล้วต้องรู้สึกทันทีถึงจะฟังก์ชันกับเขา”
ปัน เจ้าของเพจวิจารณ์หนังเทพเจ้าคอนเน็ตโต้
การเรียนการสอนในประเทศไทยได้ปลูกฝังความคิดที่ว่า “เมื่อมีสิ่งหนึ่งถูก ย่อมมีสิ่งหนึ่งผิด” การไหลตามความคิดของครูผู้สอน ผู้อาวุโส หรือสิ่งที่คนหมู่มากกล่าวย่อมดีกว่า และคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อขาดกระบวนการคิด วิเคราะห์ แลกเปลี่ยน และออกความเห็นที่เพียงพอ ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาคือผู้คนมีมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างจำกัดและยอมรับความหลากหลายน้อยลงไปโดยปริยาย ทั้งที่ในโลกความเป็นจริงเราไม่สามารถตีความเป็นเพียงขาวและดำได้ การเสพงานศิลปะก็เช่นกัน
“เราแอบรู้สึกว่าคนตีความคำพูดว่าศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิดในแบบผิด ๆ ไปหน่อย คือมันไม่มีผิดมีถูก แต่งานแต่ละชิ้นมีคุณค่า มีผลต่อสังคม มีอะไรที่ต่างกัน คนชอบเอาคำนี้มาใช้ในเชิงว่าไม่ควรวิจารณ์ศิลปะว่าดีไม่ดี แต่จริง ๆ ศิลปะควรจะวิจารณ์ได้ การวิจารณ์มันทำงานกับศิลปะทั้งนั้น”ทิชา กล่าว
“คำวิจารณ์จากคนดูมันดีจริง ๆ นะ จะชมจะด่าคือจัดมาเลย คนสร้างมันจะรู้สึกว่าเขาสนใจงานเขาจริง ๆ และรู้สึกไม่โดนทอดทิ้ง และก็ได้รู้วิธีจูนเข้าหาคนดูด้วย” ปัน กล่าว
เราอาจเคยเห็นคำว่า “นักอ่านเงา” ผ่านตากันมาบ้าง คำนี้เป็นคำที่สามารถพบเจอได้ในวงการนักเขียนออนไลน์ ซึ่งหมายถึงผู้ติดตามงานเขียนที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดทิ้งไว้หลังจากอ่านจบ คำ ๆ นี้ตกเป็นประเด็นถกเถียงอยู่บ่อยครั้งว่าสุดท้ายแล้วการกระทำนี้มีผลดีและผลเสียต่อการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ในอนาคตมากน้อยเพียงใด เมื่อลองคิดทบทวนดูแล้วการวิจารณ์หรือแสดงความเห็นในสังคมไทยมักถูกผลักไปเป็นเรื่องต้องห้ามหรือเป็นการกระทำที่เสียมารยาทหากไม่ใช่ในด้านบวก เราไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างอิสระ เราไม่สามารถติเพื่อก่อได้อย่างตรงไปตรงมา โอกาสในการต่อยอดและพัฒนาสิ่งเหล่านั้นจึงลดลงไปแม้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารจะไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใดก็ตาม
“ศิลปะสมัยก่อนคือมากับคำวิจารณ์ตลอด เวลาดูประวัติศาสตร์มันเห็นว่าอะไรคืองานที่สร้างอะไรใหม่ อะไรคืองานเดิม ๆ ที่ไม่มีไอเดียอะไรใหม่ไม่ทำอะไรให้สังคม อะไรไม่แพรวพราวด้านเทคนิค อะไรทำให้คนดูได้อะไร มันวิจารณ์ได้แต่แค่คุณค่ามันมีหลายด้าน และเราต้องมองให้ครบเฉย ๆ” ทิชา เสริม
ในท้ายที่สุดแล้ว ศิลปะจะเรืองรองในประเทศไทยได้เมื่อใด จะต้องมีผู้สร้างสรรค์อีกกี่คนหมดไฟ หรือตัดสินใจโยกย้ายเพื่อไปเฉิดฉายที่ประเทศอื่น ลงหลักปักฐานในสถานที่ใหม่ที่ให้ความสนใจและสนับสนุนความสามารถของเขาหรือเธอระหว่างรอ เมื่อนั้นโอกาสและเงินทองจะเป็นใบเบิกทางไปสู่สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อความหลากหลายแทนการสร้างความรุ่งเรืองทางศิลปะด้วยผลงานที่มีคุณค่าเหล่านั้นที่นี่
แล้วสำหรับคนที่ไม่มีเงินทุนและไม่สามารถเข้าถึงโอกาสเหล่านั้นได้ล่ะ เขามีตัวเลือกในเส้นทางสายนี้แค่ไหนกัน
แนวคิดที่ผลักศิลปะออกให้เป็นเพียงเรื่องไกลตัวที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมไทยเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ต้นตอของปัญหานี้ไม่ได้หยุดแค่คนไม่สนใจ แต่ต้องค้นต่อไปอีกว่า “เพราะเหตุใดผู้สร้างและผู้เสพศิลปะถึงไม่สามารถมาเจอกันด้วยข้อตกลงที่พึงพอใจทั้งสองฝ่ายแทนการประนีประนอมความชอบและความต้องการของตัวเองเพื่อความอยู่รอดในวันข้างหน้าได้”
เราได้เจอการปิดกั้นทางความคิดและการแสดงออกจนชินชา
เราได้เจอรัฐสวัสดิการที่ไม่ส่งเสริมให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
เราได้เจอทุนนิยมที่ซ่อนอยู่ทุกที่ ยากจะหลีกหนีได้
“หลายคนอาจจะงงว่าถ้าไม่ใช่ทุนนิยมแล้วจะเป็นอะไร หรืองงว่าใครที่ทำธุรกิจก็คือไม่ดีแล้วเหรอ คือมันไม่ใช่นะ แค่อยากให้เปิดใจแล้วก็ลองศึกษาดูก่อน ยิ่งเป็นระบบที่เราโดนบังคับให้อยู่กับมันยิ่งต้องคอยสังเกต เราวิจารณ์มันได้อยู่แล้ว มันไม่ได้ย้อนแย้ง เพราะเราก็ไม่ได้เลือกเองว่าเราจะอยู่ใต้ทุนนิยม แต่ระบบมันมาเป็นแบบนี้ซะเอง
ข้อเสียมันก็เยอะจนถึงเวลาแล้วที่มันจะเกิดการคุยและคิดว่าเราจะลดความทุนนิยมลงแล้วเพิ่มคุณค่าในด้านความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม สิ่งแวดล้อม ได้มากขึ้นยังไง การทำธุรกิจไม่ได้ผิดเสมอไป แต่กลไกการผลิต บริโภค เพื่อหากำไร หาการแลกเปลี่ยน มันทำร้ายอะไรทางอ้อมได้เยอะมากจริงๆ คนเคยคิดว่าเงินหรือกำไรนี่แหละที่เป็นแรงจูงใจที่ดีในการพัฒนาคิดสิ่งต่างๆ แต่การคิดนั้นมันมักจะไม่ยั่งยืนเอาซะเลย มันฉาบฉวยซะมากเพราะเงินมันจูงใจด้านอื่นไม่ได้เลย มันไม่จูงใจให้เราสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จ่ายเพิ่มเพื่อให้แรงงานได้รับค่าแรงที่เหมาะสม แถมยังบั่นทอนและมองข้ามคุณค่าในด้านอื่นๆ บางทีทำให้เรารู้สึกตายซาก หมดไฟ ความหมายของชีวิตมนุษย์มันบิดเบี้ยว”
“เราคิดว่ามนุษย์ฝักใฝ่การพัฒนาเป็นธรรมชาติ ฝักใฝ่คุณภาพชีวิตดี ๆ เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว อย่าดูถูกคุณค่าและความดีงามในตัวมนุษย์จนคิดว่าเงินเป็นสิ่งจำเป็นหลักในการผลักชีวิตให้ดำเนินกันเลย”
ทิชา กล่าว
เมื่อทุกอย่างมีจุดเชื่อมโยงกัน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะยอมรับว่า แท้จริงแล้วศิลปะไทยไม่ได้ไร้คนสร้าง อีกทั้งไม่ได้ร้างคนเสพ แต่ระบบเศรษฐกิจที่ควบคุมชีวิตเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่ตื่นจนหลับคือขวากหนามบนเส้นทางของความสำเร็จ รากของปัญหาที่หยั่งลึกเป็นเวลานานอาจทำให้เราหันมองซ้ายขวาและคิดว่าตัวเองไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก มันดูเป็นเรื่องใหญ่เกินตัวกว่าที่คนทั่วไปจะสามารถแตะหรือเปลี่ยนอะไรได้ จนลืมไปเสียสนิทว่าสิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันคือ พลังในฐานะผู้บริโภค ที่จะพยายามสรรหาและคัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนอยู่เสมอ เมื่อนั้นความสามารถในการเลิกรดน้ำ หยุดหล่อเลี้ยง หรือที่เรียกว่าหลีกเลี่ยงทุนนิยม และหันไปสนับสนุนการเติบโตของเพื่อนร่วมทางก็ขึ้นอยู่ที่มือเรา
แล้วสักวันผู้สร้างสรรค์จะเผยแพร่ผลงานของตนพร้อมรอยยิ้มแห่งความอิ่มเอมใจโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ในขณะที่ผลงานของพวกเขาจะไม่ถูกจำกัดเป็นเพียงความสุขของคนที่มีเงินมากพออีกต่อไป
แล้วสักวัน ศิลปะไทยจะเบ่งบาน สวยงาม เป็นสิ่งธรรมดาที่แสนพิเศษ พร้อมให้ทุกคนได้ชื่นชมอย่างที่ควรจะเป็นเสมอมา