'คิวผี' มีอยู่จริง! สองล้านคนเสี่ยงผิดกฎหมายจากผลพวงมติครม. - Decode
Reading Time: 4 minutes

“… การขึ้นทะเบียนครั้งนี้มันเหมือนกับรัฐบาลทั้งสองประเทศมัดมือชกเรา เราเสียภาษีทั้งสองประเทศ แม้กระทั่งได้เงินเดือนมาไม่กี่หมื่น …” ซายกล่าวขึ้น

ซาย ทุน ซ่วย (นามสมมติ) เป็นแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ทว่าเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ซายเดินทางมายังโรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ว่าด้วยการต่ออายุการอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยของแรงงานข้ามชาติ 

เพราะมติดังกล่าวอาจทำให้ซายและแรงงานข้ามชาติอีก 2.39 ล้านคนกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กันยายน 2567 คือเปิดลงทะเบียนกลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมาที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้อยู่อาศัยและทำงานในราชอาณาจักรไทยได้ (กลุ่มใหม่) เพื่อบรรเทาสถานการณ์และผลกระทบจากสงครามและความไม่สงบในประเทศเมียนมา กับอีกส่วนหนึ่งคือการต่ออายุกลุ่มแรงงานเดิมตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่มีประชากรกว่า 2.39 ล้านคน

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 คือมติที่กระทรวงแรงงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้ง 4 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมา เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยสามารถอยู่และทำงานได้เป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 

ทว่าการลงทะเบียนแรงงานกลุ่มเดิมในครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยข้อโต้แย้งจากฟากฝั่งแรงงาน ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม อาทิ ระยะเวลาในการลงทะเบียนที่สั้นซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่รอขึ้นทะเบียนอยู่มหาศาล ค่าใช้จ่ายการลงทะเบียนที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 2 เท่า และเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่แรงงานกว่า 2.39 ล้านคนจะหลุดออกจากระบบกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งนั่นอาจทวีคูณความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ

“ถ้าเรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในการต่ออายุแรงงานสองล้านกว่าคน ความมั่นคงของไทย เศรษฐกิจ และการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติในระยะยาวจะตกอยู่ในความเสี่ยง โจทย์ที่ต้องตั้งก็คือ เวลาเราพูดว่าแรงงานผิดกฎหมาย มันเกิดจากกระบวนการทำให้ผิดกฎหมายโดยนโยบายของรัฐหรือไม่?”

อศิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติอธิบายว่า การต่อทะเบียนแรงงานข้ามชาติตามมติครม. รอบนี้ต่างกับที่ผ่านมา จากเดิมที่แรงงานสามารถขึ้นทะเบียนได้เลยในประเทศที่เขาทำงาน ทว่ามติครม. รอบนี้กลับมีลักษณะเป็น ‘กึ่ง MOU’ กล่าวคือแรงงานจำเป็นต้องประสานกลับไปยังประเทศต้นทางด้วย

หากนำขั้นตอนการลงทะเบียนของการขึ้นทะเบียนรอบที่รอบ 13 กุมภาพันธ์ 2566 มาเทียบกับรอบปัจจุบันจะพบว่ามีขั้นเพิ่มขึ้นมาจาก 5 ขั้นตอนเป็น 9 ขั้นตอน โดยหลังจากนายจ้างหรือบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ (บนจ.) ยื่นเอกสารเข้าระบบเพื่อให้สาธารณะสุขจังหวัด (สจจ.) และสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว (สบต.) ตรวจสอบแล้ว ผู้ยื่นต้องดำเนินการตรวจสอบเอกสารกับสถานทูตประเทศต้นทางด้วย ซึ่งในการลงทะเบียนเมื่อปี 2566 นั้นไม่มีขั้นตอนดังกล่าว

จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ทำให้อดิศรมองว่าสถานการณ์แรงงานข้ามชาติจากเมียนมานั้นน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะภายใต้ตัวเลข 2.39 ล้านคน กว่า 2 ล้านคนเป็นแรงงานชาวเมียนมา และนอกเหนือตัวเลขนั้นที่อาจเป็นแรงงานทั่วไปหรือผู้ลี้ภัยทางสงครามที่ยังไม่ถูกบันทึกเข้าระบบ

ขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับความมั่นคงของผู้ประกอบการและแรงงาน เมื่อนโยบายกับผู้ใช้งานอยู่ห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ ช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ นายหน้าเถื่อน หรือกระทั่งรัฐบาลเอง แสวงหาผลประโยชน์กับแรงงานหรือนายจ้างรายย่อยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อาทิ เช่น คิวผี หรือคิวที่นายจ้างหรือแรงงานต้องจ่ายเงินเพื่อติดต่อทำเอกสารกับหน่วยงานรัฐ เพราะไม่มีสามารถหาคิวลงทะเบียนโดยตรงได้

หรือกระทั่งกฎระเบียบใหม่ของรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ออกกฎระเบียบใหม่ให้บริษัทจัดหาแรงงานและแรงงานในประเทศเมียนมา ต้องลงนามในสัญญาจ้างต่อหน้าเจ้าหน้าที่แรงงานก่อนเดินทางออกนอกประเทศ ในสัญญาระบุว่า แรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศต้องส่งเงินอย่างน้อย 25% ให้กับประเทศเมียนมาผ่านช่องทางการเงินที่รัฐบาลกำหนดให้ หากไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว แรงงานจะถูกห้ามทำงานในต่างประเทศเป็นเวลา 3 ปีหลังจากครบกำหนดสัญญา

อดิศรยกตัวอย่างตัวเลขการนำเข้าแรงงานตาม MOU ว่าในปี 2563 ก่อนเหตุการณ์โรคโคโรนาไวรัสระบาด จำนวนแรงงาน MOU ของเมียนมานั้นเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ก็ลดลงต่อเนื่องในปี 2564-2565 ที่ยังอยู่ในช่วงระบาดของโรค ทำให้ไม่มีการนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่น ต่อมาในปี 2566 ที่สถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย มีการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ทำให้ตัวเลขการนำเข้าแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนกว่าคน ทว่าพอเข้าปี 2567 จำนวนแรงงานตาม MOU กลับลดลงเป็น 2 แสนกว่าคน ทำให้อดิศรตั้งคำถามว่าการลดลงของแรงงานข้ามชาติในระบบนี้ เป็นผลมาจากกระบวนการนำเข้าแรงงานและขึ้นทะเบียนแรงงานหรือไม่

“จากวันนี้ (4 ธันวาคม 2567) มีเวลาอยู่ไม่ถึง 2 เดือนเต็ม ถ้าตัดวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ออก ซึ่งถ้าคำนวณออกมาก็จะต้องดำเนินงานทั้งหมด 39,468 คนต่อวัน ซึ่งอันนี้หมายถึงถ้าประเทศต้นทางเริ่มด้วยนะ ถ้าประเทศต้นทางยังไม่เริ่ม ตัวเลขมันก็จะบวกเข้าไป เพราะงั้นคำถามสำคัญคือ สถานะในการอยู่อาศัยหลัง 13 กุมภาพันธ์ของแรงงานก็จะผิดกฎหมายทันที ถ้าไม่ทันจะทำอย่างไร”

มายด์ นายจ้างผู้ใช้แรงงานต่างด้าวที่เข้าร่วมงานเสวนารายหนึ่งให้ความเห็นอีกว่า ปกติที่เธอยื่นขึ้นทะเบียนแรงงานตาม MoU นั้น ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนหรือกระทั่งขั้นตอนการยื่นความต้องการแรงงาน ก็ใช้เวลามากถึง 15 วัน เธอย้ำอีกว่านี่เป็นเพียงขั้นตอนที่ทำในประเทศไทยเท่านั้น หากรวมขั้นตอนที่ต้องทำร่วมกับทางการเมียนมาก็อาจกินระยะเวลามากขึ้นไปอีก 

นอกจากระยะเวลาที่สั้นเกินไปแล้ว อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนที่แพงขึ้นกว่าเดิมมาก นิลุบล พงษ์พยอม ผู้แทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวอธิบายว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นเหตุมาจากธุรกรรมที่นายจ้างและแรงงานต้องทำร่วมกับทางการเมียนมาด้วย 

นิลุบลเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานแบบเก่ากับแบบใหม่ให้เห็นภาพ เธออธิบายว่าการลงทะเบียนแบบเก่าจะต้องเสียค่าตรวจโรค (500 บาท) ค่าใบอนุญาตทำงาน 2 ปี (1,900 บาท) ค่า VISA (500 บาท) ค่าอัปเดตบัตรชมพู (20 บาท) ค่าหนังสือรับรองนิติบุคคล (350 บาท) และค่าหนังสือเดินทาง (6,000 บาท)

แต่การขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้านแบบใหม่นี้ นายจ้างหรือแรงงานต้องเสียค่าเนมลิสต์ฝั่งเมียนมา 2,000 บาท ค่าภาษีฝั่งเมียนมา 2,400 บาท ค่าคิวเซ็นสัญญาที่สถานทูต 1,500 บาท และค่าเดินทางไป/กลับศูนย์เซ็นสัญญาแรงงานเมียนมาที่เปิดเพียง 3 ศูนย์ (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ระนอง) ซึ่งนั่นอาจสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเดินกว่า 4,000-5,000 บาทตามระยะทางของนายจ้างและแรงงาน

จากที่เสียค่าใช้จ่ายราว 9,000 กว่าบาทต่อแรงงานหนึ่งคน กลายเป็นต้องจ่ายถึง 21,000 กว่าบาท ซึ่งเป็นภาระแสนหนักอึ้งของนายจ้างผู้ใช้แรงงานข้ามชาติกว่า 400,000 รายในหลายอุตสาหกรรม

“อันนี้เป็นราคาที่นายจ้างจะต้องจ่ายแน่ ๆ สมัยก่อนช่วงฟองสบู่แตก ท่านทักษิน สมัยก่อนทำแค่บัตรชมพูอย่างเดียว ตรวจโรค จ่ายค่าใบอนุญาตทำงาน ฟรีวีซ่า ทำบัตรชมพู ค่าใช้จ่ายแค่สามพันกว่าบาท เราถือบัตรชมพูทำงานได้เลยสองปี เหตุผลอะไรที่เราต้องมาจ่ายตรงนี้เพิ่มเติมขึ้น”

ทั้งมายด์และนิลุบลยังสะท้อนอีกประเด็นที่เหมือนกัน คือ “คิวผี” ทั้งสองอธิบายว่า มันคือขั้นตอนที่นายจ้าง บนจ. หรือแรงงานต้องติดต่อเซ็นสัญญาหรือทำเอกสาร ทว่าเมื่อไปถึงสำนักงานนั้น ๆ กลับไม่สามารถไม่มีคิวให้พวกเขาจองเพื่อทำเอกสารได้เลย หากต้องการคิวก็จำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับนายหน้าที่มาขายคิวนั่นเอง ซึ่งทั้งสองก็ได้ทวงถามว่าการขายคิวแบบนี้ เป็นตามระเบียบของหน่วยงานนั้น ๆ หรือไม่

นิลุบลเล่าว่า เธอเคยเจอคิวผีมาแล้วหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นคิวผีที่ศูนย์ CI คิวผีตอนทำบัตรชมพู กระทั่งคิวผีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และคิวผีสถานทูต ซึ่งเธอมองว่าคิวผีเหล่านี้เป็นผลเสียต่อนายจ้างรายย่อย เพราะยิ่งติดต่อหลายที่ ก็ยิ่งต้องซื้อคิวมากขึ้น ยิ่งเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น

มายด์เสริมอีกว่า ด้วยคิวผีต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ยังมีแรงงานหลายคนที่ตกค้าง และยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบอยู่อีกจำนวนมาก เช่น แรงงานที่เข้าทำงานในประเทศไทยตามมติครม. วันที่ 5 กรกฎาคม 67 และ 3 ตุลาคม 67

“แม้จะต้องจองคิวผี เราก็ต้องทำ เพราะกระทรวงแรงงานหารือกับประเทศต้นทาง แต่ไม่หารือกับผู้ประกอบการและนายจ้าง เราไม่เคยมีส่วนร่วมเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการนโยบาย ชุดอนุฯ หรืออะไรก็ตาม”

ขณะเดียวกัน ซาย แรงงานชาวเมียนมาเล่าถึงเงื่อนไขที่เขาต้องเผชิญอีกว่า ขั้นตอนการต่ออายุหรือขึ้นทะเบียนแรงงานนั้นค่อนข้างเป็นภาระของพวกเขา เพราะพวกเขาจำเป็นต้องออกค่าใช้จ่ายหลายส่วนด้วยตนเอง เขายังบอกว่าอีกว่า กว่าจะได้เงิน 20,000 เพื่อขึ้นทะเบียนใหม่อีกครั้ง เขาต้องเก็บเงินกว่า 6 เดือน เดือนละ 3,000 บาท ทว่าภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง อีกทั้งต้องส่งเงินกลับไปยังประเทศต้นทางด้วย เขาบอกว่าหากไม่มีเงินโอที เขาก็เก็บได้เพียงเดือนละ 1,000 บาทเท่านั้นเอง

“เงินจำนวนนี้เราใช้เวลา 6 เดือนจริง ๆ เพื่อที่จะเก็บมันมาได้นะครับ เราไม่ได้เจอภาวะการ เมืองอย่างเดียว เราเจอภาวะเงินเฟ้อในประเทศด้วย เพราะงั้นกาแฟก็อัปเป็นสองเท่า เพราะเราใช้สินค้าไทย เพราะงั้นเงินเราก็เฟ้อร้อยเปอร์เซ็นต์ ช่วงสงครามเราก็ส่งเงิน กลับไปทุกเดือน เพราะงั้นเราไม่มีเงินพอที่จะมาออม 2-3 หมื่นขนาดนั้น” ซายอธิบาย

‘เราต่างฝันให้ทุกคนถูกกฎหมาย’ นโยบายรัฐไทยและตลาดโลก 

แน่นอนว่านอกจากนายจ้างและแรงงาน มติครม. วันที่ 24 กันยายน 2567 นี้ก็สร้างความกังวลให้กับภาคส่วนอื่นๆ ในตลาดด้วยเช่นเดียวกัน ปัญญรักษ์ โรเก้ จาก Dignity In Work For All นับตั้งแต่สหประชาชาติมีข้อตกลงที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน บริษัทในทวีปยุโรปก็มีการทำงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เช่น ออกกฎหมายห้ามขนหรือนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยงเรื่องการค้ามนุษย์ หรือสินค้าที่มาจากการใช้แรงงานแบบบังคับ

ซึ่งตัวชี้วัดว่าบริษัทต่าง ๆ ละเมิดข้อตกลงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสิทธิและเอกสารในการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศนั้น ๆ 

ปัญญรักษ์ยกตัวอย่างจากการทำแบบสอบถามความต้องการของนายจ้างและผู้ซื้อ (Buyers) พบว่า เมื่อแรงงานข้ามชาติหลุดออกนอกระบบ และนายจ้างต้องการนำเขาเข้าระบบใหม่อีกครั้ง ขั้นตอนการนำเข้าจะยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำให้นายจ้างอาจตัดสินใจไม่นำแรงงานเข้าระบบตามขั้นตอน สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองของแรงงานก็จะหลุดหายไปด้วย ซึ่งนั่นเป็นภาวะที่สั่นคลอนและเป็นความเสี่ยงว่าผู้ซื้อที่สนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนอาจไม่บริโภคสินค้าเหล่านั้น

และด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงนี้ อาจทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อตัวแรงงานเองด้วย อาทิ การหลอกลวงแรงงาน หรือการกลายเป็น ‘แรงงานขัดหนี้’ กล่าวคือ การที่นายจ้างออกค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนให้กับแรงงานก่อน ก็เท่ากับว่าแรงงานคนนั้นจะถูกบังคับให้ทำงานเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนนั้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวขัดกับหลักการที่สากลยอมรับอย่างสิ้นเชิง

แต่อย่างไรก็ดี แม้ ‘หลักการสรรหาแรงงานอย่างรับผิดชอบ’ กับ ‘หลักการนายจ้างจ่าย’ จะเป็นหลักการที่สากลยอมรับ แต่การนำหลักการมาใช้กับธุรกิจไทยนั้นยังค่อนข้างติดขัด กล่าวคือผู้ที่ได้เปรียบตามหลักการนี้คือกลุ่มธุรกิจส่งออก แต่กลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตอาจต้องสำลักค่าใช้จ่ายอันมหาศาล จนความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตภายในประเทศลดน้อยลงไปด้วย

“ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการสรรหาแรงงานข้ามชาติของผู้ประกอบการในไทย จำเป็นควรเป็นค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลเพียงพอที่จะนำแรงงานเข้าสู่ระบบที่แท้จริง และไม่มีค่าใช้จ่าย ที่จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายบานปลายตรงนี้ เพราะมันมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยมากเหมือนกัน”

ปัญญรักษ์อธิบายต่อว่าแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Industry Best Practice) ที่ทั้งผู้ซื้อและสากลแนะนำ คือผู้ประกอบการควรจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงต่อสิทธิมนุษยชนของแรงงานอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะสามารถตั้งมาตรการป้องกันและเยียวยาที่เพียงพอ และลดความเสี่ยงเรื่องแรงงานขัดหนี้

ทว่าข้อท้าทายที่สำคัญคือ การประเมินความเสี่ยงนั้นยากมาก เพราะมาตรการและนโยบายของภาครัฐและมีความซับซ้อนสูง เปลี่ยนแปลงบ่อย และมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวค่อนข้างยาก 

อรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาด้านแรงงานสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยให้ความเห็นที่น่าสนใจ ว่าไม่ว่าจะเป็นกรมการจัดหางานก็ดี กระทรวงแรงงานก็ดี กระทั่งรัฐบาลก็ดี เราต่างเห็นว่ามีจำนวนแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่หากเราถามเพิ่มอีกว่า แล้วประชากรแรงงานข้ามชาติในแต่ละจังหวัดมีจำนวนเท่าไหร่ หรือในแต่ละอุตสาหกรรมมีแรงงานอยู่เท่าไหร่ หน่วยงานของรัฐกลับไม่สามารถประเมินตัวเลขได้อย่างแม่นยำ

ดังนั้น นอกจากระเบียบการลงทะเบียนที่ต้องปรับแก้แล้ว การสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ก็สำคัญไม่แพ้กันในทัศนะของอรรถพันธ์ เพราะนั่นจะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติทำงานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ทุกคนถูกกฎหมายอย่างแท้จริง

“ฉันเองก็เกิดคำถามว่าท่านพร้อมในพื้นที่จริงรึเปล่า ท่านบอกว่าท่านเข้าระบบคอมพิวเตอร์ แต่เท่าที่ฉันฟังจากสมาชิก คอมพิวเตอร์ก็ล่มอยู่เป็นระยะ ๆ แล้วถามว่ามันจะทันไหมคะเนี่ย ระยะเวลาที่ท่านกำหนดเอาไว้ จะทำยังไงให้เรามีความมั่นใจมากกว่านี้”

เช่นเดียวกับ ร.ศ.ด.ร. กิริยา กุลกลการ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มองว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐไทย ภาคประชาสังคม และประชาชน กระทั่งตัวแรงงานข้ามชาติต่างก็มีฝันร่วมกัน คือให้ทุกคนเข้าประเทศและทำงานอย่างถูกกฎหมาย

เพราะการที่แรงงานต่างชาติทำงานและอยู่อาศัยในประเทศที่สองอย่างถูกกฎหมาย ไม่ได้เป็นเพียงความมั่นคงของชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นความมั่นคงของตัวแรงงานเองที่จะไม่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ และสามารถอาศัยทำงานได้อย่างไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ 

ร.ศ.ด.ร. กิริยาอธิบายต่อว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเริ่มต้นเมื่อปี 2533 หรือก้าวเข้าสู่ปีที่ 35 แล้วนั่นเอง ทว่ารูปและขั้นตอนต่าง ๆ ก็ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด อย่างเช่นปัจจุบันที่ปรับมาเป็นการขึ้นทะเบียนแบบกึ่ง MOU ดังนั้นสำหรับเธอแล้ว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มันยากและต้องทำอย่างมีส่วนร่วม

ประการแรก ร.ศ.ด.ร. กิริยาเสนอว่า หากทางกรมการจัดหางานยืนยันที่จะใช้ระบบยื่นเอกสารแบบออนไลน์อยู่ ก็ต้องพิสูจน์ว่าระบบออนไลน์ที่ว่านั้นพร้อมรองรับแรงงานกว่า 2-3 ล้านคนได้อย่างแท้ จริง หรืออีกประการหนึ่งก็คือ แม้กระทรวงจะบอกว่าพร้อมรองรับแรงงานเหล่านั้นทั้งหมด แต่เธอบอกว่าความพร้อมไม่ได้หมายถึงระบบของหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่มันหมายถึงความรู้ความเข้าใจของนายจ้าง ความสมเหตุสมผลของรายจ่าย การลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น หรือกระทั่งความพร้อมที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติด้วย

“ตอนนี้เหมือนรัฐพร้อมแต่เอกชนไม่ได้พร้อมด้วย ฉะนั้นมันเลยเหมือนจับมือกันหลุดออกนอกระบบ นั่นเป็นความเสี่ยงที่เราอยากเห็นรึเปล่า … วันนี้ถ้าเราไปยืนที่แม่สอด เสียงระเบิดก็ยังดังอยู่ทุกวัน วันนี้เราก็ยังได้ยินอยู่ มันใช่เวลามั้ยที่ประเทศเพื่อนบ้านเราก็พร้อมที่จะทำสิ่งเหล่านี้ แม้หลักการมันจะดี แต่เรารีบร้อนไปเพื่ออะไร” ร.ศ.ด.ร. กิริยาย้ำ

ด้าน นิลุบล มายด์ และอรรถพันธ์ ตัวแทนผู้ประกอบการทั้งสามเห็นตรงกันว่า หน่วยงานรัฐควรออกแบบขั้นตอนการลงทะเบียนให้ถูก เร็ว และง่ายมากกว่านี้ และอะไรที่เคยทำไว้ดีก็ขอให้นำกลับมา เช่น นิลุบลยกตัวอย่างเมื่อปี 2564 ที่มีศูนย์ One-Stop Service ที่นายจ้างสามารถพาแรงงานมา ตรวจโรค ทำเอกสาร และรอรับใบอนุญาตทำงานได้เลย 

ซาย แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า เขาและแรงงานชาวเมียนมาอีกหลายคน ไม่เห็นด้วยกับมติครม. ในครั้งนี้ เพราะมันกระทบต่อความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงานอย่างมาก

เขากล่าวต่ออีกว่า เอกสารเหล่านี้มีความสำคัญต่อชีวิตของแรงงานข้ามชาติมาก อย่างใบอนุญาตทำงานก็ทำให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมั่นคงต่อไป หรือบัตรสีชมพู ก็ทำให้เขาสามารถอัพเกรดสัญญาณอินเทอร์เน็ตรายเดือนได้แบบคนไทยและมีตัวตนในฐานะพลเมืองขึ้นมาได้ 

“ผมคิดว่ารัฐบาลไทยควรจะมีแผนบี มีการขยายเวลา แต่การขยายเวลานั้นควรจะให้อนุญาตในการอยู่อาศัยและทำงานไปด้วย เพราะกฎหมายบางตัวที่ออกมา มันให้แค่อยู่อาศัย แต่การทำงานต้องใช้ใบอนุญาตทำงานด้วย มันทำให้เราเสียเปรียบ การที่เราไม่มีเอกสารทำให้การใช้ชีวิตในเมืองไทยของเรายากลำบาก การที่เรามีเอกสารต่าง ๆ ครบ มันมีความสำคัญต่อพลเมืองอย่างเรา”