วรรณกรรมคลาสสิก ที่ต้องยอมรับก่อนเปิดอ่าน ว่าไม่ใช่จะอ่านจบได้ง่าย ๆ ไม่ใช่เพราะเนื้อเรื่องแสนน่าเบื่อ แต่เพราะสลักภาษาที่คมคาย ชวนตีความ การลำดับเนื้อเรื่อง อีกทั้งชื่อตัวละครที่ชวนสับสนจนต้องขีดเส้นด้วยปากกาว่าใครเป็นใครเพราะนี่คือเรื่องราวของ 1 ตระกูลแต่หกลำดับชั่วอายุคน ที่ส่งต่อการปกครองจากรุ่นสู่รุ่น แม้ในบางช่วงจะมีผู้ปกครองจากรัฐส่วนกลางเข้ามา ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ทำให้สับสนกับตัวละครสำคัญ เพราะสายตระกูลบวนเดียที่เปลี่ยนรุ่นไปตามลำดับ แต่ถ้าหากหลงรักเข้าแล้ว จะให้ต้องเปิดอ่านอีกกี่รอบ ผมก็เชื่อว่าทุกคนจะอ่านจบ เพราะนี่แทบจะเป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ชุดย่อของมวลมนุษยชาติ
เริ่มต้นด้วยการบุกเบิกและหาแหล่งหลักปักฐานจากการเร่ร่อนเดินทางที่แปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของยิปซี(ชื่อขนานนามมนุษย์ก่อนลงหลักปักฐานแบบมีชุมชน) โฆเซ อากาดิโอ บวนเดีย ผู้บุกเบิกพื้นที่ไม่กี่เอเคอร์ ติดแม่น้ำที่พาดยาว ชื่อหมู่บ้านว่า ‘มาก็อนโด’ ก่อนที่มาก็อนโดจะกลายเป็นเมืองหลักของหนังสือเล่มนี้ ถูกเล่าผ่านการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายรูปแบบ ที่เปรียบได้อย่างสนิทใจ ว่านี่คือลำดับของประวัติศาสตร์ในการสรรค์สร้างโลกของเทพเจ้า
จากยุคที่ไร้การปกครอง ไร้สงคราม ไร้วิทยาการและนวัตกรรม สู่ยุคที่เป็นชุมชนจัดการตัวเอง แบ่งสรรจัดส่วนผลประโยชน์ให้ทุกคนได้เข้าถึงแหล่งน้ำอย่างเท่าเทียม “โฆเซ อากาดิโอ บวนเดีย ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งชุมชน ได้จัดวางให้บ้านทุกหลัง ใช้ระยะเวลาเท่ากันในการเดินถึงบ่อน้ำ” และที่น่าประหลาดใจ “เราไม่รู้วิธีเกี่ยวกับการจัดการศพ เพราะตลอดหลายปีหลังการก่อตั้งหมู่บ้าน ก็ไม่เคยมีคนตาย หลังจากที่มีคนตายศพแรก เราก็จะไม่ฝังที่นี่” คำพูดของอากาดิโอ บวนเดีย ทำให้เราสงสัยและตั้งคำถามว่า วิทยาการหรือภูมิปัญญาเกี่ยวกับการจัดการศพของมนุษย์ยุคแรก ๆ จัดการอย่างไร หลังจากที่เป็นคนเผ่าเร่ร่อนมาหลายร้อยปี และความรู้เกี่ยวกับการจัดการศพอย่างการฝัง หรือการเผา เกิดขึ้นด้วยสาเหตุใดนอกจากบัญชาของพระคัมภีร์ในแต่ละศาสนา
อากาดิโอ บวนเดีย คือบุคคลในตระกูลบวนเดียลำดับแรกที่ก่อตั้งมาก็อนโด พวกเขาใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม จากที่ระบอบการปกครองแบบหัวหน้าเผ่าจะทยอยเข้ามา จนเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองที่ถูกจัดการด้วยกองทัพ มีผู้ปกครองที่ถูกส่งมาจากรัฐบาลส่วนกลาง และเกิดสงครามที่ต่อสู้ระหว่างอนุรักษนิยมและเสรีนิยมที่ใฝ่ฝันถึงโลกใหม่สงครามการแย่งชิงกันปกครองมาก็อนโดจากหลายฝ่ายในยุคที่บวนเดียรุ่นลูก เติบโตพอที่จะเป็นผู้นำ ‘พันเอกเอาเรเลียโน บวนเดีย’ ที่ต้องการเปลี่ยนมาก็อนโดให้เป็นไปแนวทางแบบเสรีนิยม แต่ต้องคัดง้างกับกลุ่มอำนาจเดิม จนพรรคพวกของเขาต้องถูกจับกุม พาขบวนการปฏิวัติไม่ถึงฝั่งฝัน
มีนักวิจารณ์หนังสือหลายท่านกล่าวว่า งานเขียนของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ต้องการล้อเลียนสถานการณ์ในแอฟริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 1820 เพราะเป็นช่วงที่การเมืองมีความไม่แน่นอน ภาวะเศรษฐกิจเกิดการแย่งชิง ในบทหนึ่งของหนังสือ บอกเล่าถึงการแต่งงานของคนในตระกูลบวนเดียรุ่นหลัง ที่แต่งกันเอง และต้องหอบข้าวของออกไปนอนนอกบ้าน มีการแสดงความเป็นเจ้าของ ตั้งแต่ระดับห้องนอน บ้าน และที่ดิน อีกทั้งยังมีความต้องการที่จะก่อการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลง
เช่นประเด็นเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ดูเหมือนจะเป็นใจกลางความสำคัญของมาก็อนโด ที่ฝ่ายกองทัพใช้ตัดสินว่าใคร ที่มีความคิดในการกบฏ และต้องถูกจับตัว ประหารชีวิตในที่สุด ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เชื่อว่า ที่ดินทุกเอเคอร์นั้นมีจ้าของ และฝ่ายกองทัพที่เชื่อว่ากองทัพเป็นฝ่ายถือครองกรมสิทธิ์ทุกตารางนิ้วเหนือมาก็อนโด
เมืองที่เปลี่ยนผ่านหลายชั่วอายุคน แต่ก็ต้องเปลี่ยนผ่านตามภาวะสงครามอันยืดเยื้อ แม้สุดท้ายของผู้ก่อการแล้วกลับได้บทสรุปว่า “สงครามนั้นมีแต่ความว่างเปล่า พันเอกเคริเนลโด ในฐานะผู้นำฝ่ายกองทัพตระหนักได้” ซึ่งสอดคล้องกับประวัติศาสตร์โลกหลายครั้ง ที่สงครามไม่ได้ก่อเกิดอะไรเลย นอกจากการล้มหายตายจาก “ให้เราต่างลืมกันและกันไปตลอดกาลเถิด” คือคำพูดท้าย ๆ ระหว่างผู้นำฝ่ายกองทัพ และเอาเรเลียโน บวนเดีย ผู้ที่ใฝ่ฝันอยากมีโลกใหม่
ชุมชนอย่างมาก็อนโด สะท้อนภาพของชุมชนในชีวิตจริงอย่างที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ผู้เขียนเล่าให้เห็นว่าผู้คนต่างถ้อยอาศัยและพึ่งพาแลกเปลี่ยนกัน แน่นอนว่าภาพชุมชนเหล่านี้อาจย้อนแย้งกับชุมชนเมืองที่การติดต่อสัมพันธ์ของผู้คนเหลือเพียงแค่น้อยนิด แต่ถ้าหากตัดสินด้วยจำนวนแล้ว การดำเนินชีวิตแบบชุมชนดั้งเดิมย่อมมีมากกว่า “บ้านทั้งหลายอบอวลไปด้วยความรักอาเรเลียโน บวนเดีย แสดงออกความรู้สึกนี้ผ่านบทกลอนที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดสิ้นสุด เขาเขียนมันลงบนแผ่นหนังหยาบที่เม็ลกีอาเดสมอบให้เป็นของขวัญ และบนผนังห้องน้ำ” หรือการแต่งงานกันระหว่างคนใกล้ชิด ครอบครัว และคนในชุมชน และมีสิ่งแปลกอย่างการแต่งงานกันภายใต้สายเลือดเดียวของตระกูลบวนเดีย (อันเป็นที่มาของความสับสนในการจำชื่อตัวละคร ของบวนเดียในแต่ละรุ่น) ซึ่งสิ่งนี้แทบไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แม้ในชุมชนห่างไกลก็ตามที
มาก็อนโดไม่ค่อยเชื่อมกับโลกภายนอก หรือเรียกว่าปิดกั้นตัวเอง แม้ในบางช่วงเวลาจะถูกนักการเมืองจากส่วนกลางเข้ามาปกครอง มีนักเดินทางแวะเวียนมาพักผ่อน หรือแม้กระทั่งศิลปินก็ตามที เลยทำให้วิทยาการในมาก็อนโดล้าหลังจากโลกภายนอก ครั้งหนึ่งในมาก็อนโดภายใต้ของตระกูลบวนเดียที่สามหรือสี่ “ผู้คนในมาก็อนโด ต่างก็ตาพร่าไปกับสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ทั้งหลายจนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตื่นตาตื่นใจจากตรงไหน พวกเขาอดตาหลับขับตานอนเพ่งมองหลอดไฟฟ้าสีซีดที่ได้รับพลังงานจากต้นไม้อย่างพินิจพิเคราะห์” ซึ่งสะท้อนว่าวิทยาการสมัยใหม่ เข้าถึงมาก็อนโดช้ากว่าที่อื่น ๆ
อย่างไรก็แล้วแต่มาก็อนโดก็ไม่อาจหลีกหนีจากระบบทุนนิยม ที่แทบเรียกได้ว่าเป็นวิธีคิดทางเศรษฐกิจแบบหลักที่โลกสมัยใหม่ปรับใช้ มาก็อนโดต้องเจอกับบรรษัทข้ามชาติ เจอทุนข้ามชาติจากบริษัทกล้วย ผู้คนต้องกินกล้วย “จนบางครั้งแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากล้วยบนโต๊ะอาหารหมดเป็นหวี ๆ” เสมือนกับว่า ทุนนิยมแพร่กระจายถึงตรงไหน ตรงนั้นก็เปิดรับความเป็นสมัยใหม่เข้ามา ซึ่งสุดท้ายนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งด้วยของการล่มสลายของมาก็อนโด
ซึ่งนี่นับเป็นงานวรรณกรรมคลาสสิกเกินที่จะเปรียบเทียบกับวรรณกรรมชิ้นไหน ๆ คงเป็นเพราะผู้เขียนได้ล้อเลียนกับสภาพความเป็นจริงอย่างเจ็บแสบอยู่หลายครั้ง ทั้งเรื่องสงคราม เรื่องทุนนิยม เรื่องบรรษัทข้ามชาติ และการแต่งงานภายใต้สายเลือดเดียวกันที่มีสิทธิ์ในการสืบทอดการปกครองของชุมชนหนึ่ง ๆ และเต็มไปด้วยคำถามที่ยากจะหาคำตอบ ว่าถ้าเราต้องการชุมชนแห่งจินตกรรมสักที่หนึ่ง บทเรียนจากมาก็อนโดมอบอะไรกับเรา และภาพชุนชนแบบจินตกรรมจะมีหน้าตาเป็นแบบใด
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี
PlayRead: หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
ผู้เขียน: กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
แปล: ชนฤดี ปลื้มปวารณ์
สำนักพิมพ์: บทจร