อย่าปล่อยให้คนแพ้ต้องดูแลตัวเอง ในเมื่อไม่มีใครดูแลตัวเองได้ตลอด - Decode
Reading Time: 2 minutes

ที่ใดมีทุน

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

ผู้เขียนมีโอกาสได้ฟังศาสตราจารย์อาเธอร์ ไคลน์แมน กล่าวบรรยายในงานประจำปีของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไคลน์แมนเล่าถึงกิจกรรมสำคัญของมนุษย์ที่มักจะถูกละเลย หรือหลงลืมไป นั่นคือ การดูแลกัน (care) เขาชี้ว่า มนุษยชาติใช้เวลามากมายไปกับการดูแลคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เครือญาติ เพื่อน คนรัก หรือคนอื่น ๆ ในชุมชนและสังคม ในสังคมที่มีระบบเครือญาติขนาดใหญ่นั้น การดูแลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่เครือญาติที่แบ่งเบา และช่วยเหลือกัน งานดูแลจึงไม่ตกเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หรือไม่จำเป็นต้องจัดซื้อจัดหามาผ่านระบบตลาด แต่การดูแลเป็นกิจกรรมทางสังคมโดยพื้นฐานที่สุดที่ยึดโยงมนุษย์เข้ามาหากัน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเด็กแรกเกิดไปจนกระทั่งการดูคนแก่ คนที่กำลังจะเสียชีวิต และการดูแลกัน แม้กระทั่งในโลกหลังความตาย

การดูแลไม่ใช่กิจกรรมแบบทางเดียวที่ฝ่ายหนึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งแต่เพียงด้านเดียว แต่มนุษย์ทุกคนสักวันต้องเป็นผู้ถูกดูแล เช่นเดียวกับที่เราก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลคนอื่น ๆ ต่อไป การดูแลจึงเป็นกิจกรรมร่วมทางสังคมที่ต้องการผู้คนมากหน้าหลายตาและผู้คนหลากหลายรุ่นวัยเข้ามาเกี่ยวพันกัน พร้อมกันนั้น การดูแลยังเป็นเรื่องของการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นด้วย ในฐานะที่ชีวิตของเรานั้นมีวงจรตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บป่วย และตาย ซึ่งในกระบวนการทั้งหมดนี้ก็สัมพันธ์ และต้องการการดูแลจากคนอื่น

การดูแลจึงเป็นเรื่องของการร่วมทุกข์ไม่น้อยไปกว่าการร่วมสุข ความทุกข์และความสุขภายใต้การดูแลกันและกัน จึงทำให้สุขกับทุกข์ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของการ “ร่วม” และ “รวม” กันของหน่วยงานที่ใหญ่กว่าคน ๆ เดียว

หลายปีก่อน เพื่อนสนิทของผู้เขียนป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งปอด และเนื้อร้ายได้ลุกลามไปหลายจุดของร่างกาย เธอขอร้องให้พ่อพาเธอกลับบ้าน เพราะเธออยากไปพบกับไข่ต้ม หมาที่เธอเลี้ยงไว้เป็นครั้งสุดท้าย แต่คำของของเธอถูกปฏิเสธ เพราะแพทย์และญาติ ๆ เห็นว่า เธอต้องได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลมากกว่าที่จะกลับไปเจอหมาที่เธอรัก ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้เขียนรู้สึกกระอักกระอ่วนอย่างมาก เพราะใจอยากให้เธอได้กลับบ้านไปพบกับไข่ต้มมากกว่าที่จะนอนอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ก็ไม่มีอำนาจอะไรจะไปบอกกับญาติ ๆ ของเธอว่าควรทำตามสิ่งที่เธอร้องขอ

เหตุการณ์นี้ติดอยู่ในใจมาหลายปี และบ่อยครั้งมันก็กวนใจให้ต้องทบทวนหลายอย่างตั้งแต่การดูแล การถูกดูแล คำของของผู้ถูกดูแล อำนาจของการตัดสินใจว่าการดูแลจะเป็นเช่นไร ฯลฯ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ กิจกรรมของการดูแลเป็นสิ่งที่ใช้กำลังแรงงานจากผู้คนในสังคมอย่างมหาศาล บ่อยครั้งการโยนภาระให้ใครสักคนเป็นผู้ดูแลคนป่วยหรือคนสูงอายุติดเตียงก็ถึงกับทำลายชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ดูแลอย่างย่อยยับเลยทีเดียว ดังที่เคยได้ยินบ่อย ๆ ว่าทุกบ้านควรมีลูกผู้หญิง และลูกผู้หญิงสักคนก็ควรจะอยู่กับพ่อและแม่ ไม่ควรแต่งงาน เพราะเธอจะได้ดูแลพ่อและแม่ตอนแก่เฒ่า …ดูเหมือนว่า ในสังคมไทย การดูแลควรจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิงมากกว่าจะเป็นผู้ชาย ซึ่งก็หมายความว่า การดูแลนั้นมีเพศและถูกกำกับด้วยมิติทางเพศอย่างชัดแจ้ง

ในขณะที่การดูแลเป็นกิจกรรมที่จำเป็นและสำคัญขนาดนี้ แต่ไฉนการดูแลและผู้ดูแลกลับไม่ได้รับการเอาใจใส่จากสังคมมากนัก คำถามก็คือ หากคน ๆ นั้นกลายเป็นผู้ดูแล เขาและเธอจะได้รายได้จากไหน ทำไมเขาและเธอคนนั้นต้องทำหน้าที่ดูแลแต่เพียงผู้เดียว คนอื่น ๆ และสถาบันทางสังคมอื่น ๆ หายไปไหน

แอนเดรีย คอมโลซี (Andrea Komlosy) ผู้เขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์ 1,000 ปี ของสิ่งที่เรียกว่างาน (2018) ชี้ให้เห็นว่า นิยามของสิ่งที่เรียกว่า “งาน” (work) นั้นผันผวนและแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หลาย ๆ สังคมไม่มีการแยก “งาน” ออกเป็นเอกเทศจากกิจกรรมอื่น ๆ แน่นอนว่า เราอยู่ในสังคมที่ “งาน” นั้นมีเอกเทศชัดเจนจากกิจกรรมอื่น ๆ และงานก็ผูกโยงกับการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ข้อเสนอของคอมโลซีก็คือ มีก็แต่สังคมทุนนิยมเท่านั้นที่เป็นสังคมที่มีงานเป็นศูนย์กลางของทุกกิจกรรม (work-centered society) ซึ่งก็หมายถึงว่า เราจะมีชีวิตรอดได้ก็ต่อเมื่อเราต้องทำงาน และหากจะกล่าวหยาบก็คือ สังคมทุนนิยมเป็นสังคมที่ถ้าเราไม่ทำ “งาน” ที่หมายถึงการสร้าง “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” (value) อะไรบางอย่างอยู่เสมอ เราก็จะต้องตาย

การผูกงานเข้ากับมูลค่านั้นเป็นผลิตผลสำคัญของระบบทุนนิยม กล่าวอีกอย่างก็คือ กิจกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่จะถูกว่าเป็น “งาน” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวก็ทำให้คนที่มีส่วนสร้างมูลค่ากลายมาเป็น “คนทำงาน” ส่วนคนอื่น ๆ นั้นไม่ได้ทำงานเพราะพวกเขาไม่ได้สร้างมูลค่าแต่อย่างใด ผลผลิตของการผูกงานเข้ากับมูลค่าจึงทำให้มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ทำงาน เพราะพวกเขาทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้นำไปสู่หรือไม่ได้กำลังสร้างมูลค่า แม้ว่าพวกเขาจะทำกิจกรรมนั้น ๆ จนตัวตาย พวกเขาก็ไม่ได้ถูกนับว่าทำงาน … หลาย ๆ ครั้ง ผู้ดูแลซึ่งหารายได้ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีโอกาสออกไปหารายได้นอกบ้านก็ถูกมองว่า เป็นภาระของสังคม

การดูแลก็เช่นเดียวกันที่มักจะไม่ถูกนับว่าเป็น “งาน” และคนที่ทำกิจกรรมการดูแลก็ไม่ถูกนับว่าเป็น “คนทำงาน” แต่อย่างใด การดูแลซึ่งเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมนุษย์จึงถูกปกปิดหลบซ่อนไว้ในซอกหลืบของสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ อะไร ๆ ก็ผูกกับการสร้างมูลค่า

เมื่อการดูแลไม่ได้รับความสนใจในฐานะกิจกรรมที่มีความสำคัญ ผู้ดูแลและผู้ถูกดูแลก็มักจะกลายมาเป็นภาระในสายตาของสังคม และก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความสนใจแต่อย่างใด

กระแสการเรียกร้องรัฐสวัสดิการหรือระบบสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้าทั่วโลกนั้นผูกพันอย่างลึกซึ้งกับการต่อสู้เพื่อสลายเส้นแบ่งอันศักดิ์สิทธิ์ที่ระบบทุนนิยมลากขึ้นมา นั่นคือ เส้นแบ่งระหว่างงานกับสิ่งที่ไม่นับว่าเป็นงาน ความตื่นตัวของขบวนการสตรีในช่วง 1960 และ 1970 นั้นพุ่งเป้าไปที่การโจมตีต่อเส้นแบ่งอันนี้ ไม่ว่าจะมุ่งไปที่เส้นทางของการทำให้ทุกเพศต้องแบ่งกันทำงานบ้านซึ่งเป็นงานดูแลที่เกิดขึ้นแบบประจำวันที่สุด หรือมุ่งไปที่การเรียกร้องค่าแรงจากงานบ้าน (housework wage) ก็ตาม

การต่อสู้เพื่อขยายค่าแรงของชนชั้นแรงงาน การเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง และการเรียกร้องระบบสวัสดิการที่ดีขึ้นนั้นก็คือเรื่องเดียวกันและแยกจากกันไม่ได้

ช่วงที่พรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าบางพรรคเสนอนโยบายเงินสวัสดิการสำหรับเด็ก หลายคนในสังคมไทยโต้แย้งการเรียกร้องสวัสดิการเด็กเล็กด้วยเหตุผลว่า “ฉันไม่มีลูก ทำไมฉันต้องเอาเงินภาษีมาเลี้ยงลูกคนอื่นด้วย” การพูดเช่นนี้ก็มาจากฐานคิดที่ระบบทุนนิยมมองว่า การดูแลไม่ใช่ “งาน” และการดูแลไม่ได้สร้าง “มูลค่า” ทั้ง ๆ ที่งานดูแลคือเบื้องหลังหรือหลังพิงของทุก ๆ สังคม หากปราศจากผู้ดูแล การนำแรงงานของตนเองออกไปใช้เพื่อผลิตมูลค่านอกบ้านก็ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้

ใน แถลงการณ์ว่าด้วยงานดูแล (The Care Manifesto) ซึ่งเขียนขึ้นโดยนักสตรีนิยมฝ่ายซ้ายเสนอให้มองการดูแลในฐานะที่เป็นพื้นฐานและเป็นองค์รวมทั้งหมดของชีวิตมนุษย์ ทุกคนในสังคมสมควรได้รับการดูแล เช่นเดียวกับที่เราจำเป็นต้องร่วมกันดูแลคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย การอาศัยอยู่ในสังคมที่มั่นใจว่าเราจะได้รับการดูแลคือเงื่อนไขพื้นฐานให้มนุษย์ในสังคมนั้น ๆ มีความมั่นใจในตัวเอง มีศักดิ์ศรี และมีพลังชีวิตเหลือเฟือในการนำไปคิดเรื่องอื่น ๆ

การพิจารณาสังคมจากมุมมองของการดูแลจึงเป็นมุมที่แหลมคมที่สุดมุมหนึ่ง หากงานดูแลถูกโยนให้แก่ปัจเจกหรือครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบางด้อยอำนาจในสังคมที่สุด (ที่ไม่มีปัญญาจะจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการงานดูแลที่มีคุณภาพจากเอกชน) การพิจารณาความเหลื่อมล้ำของสังคมจากงานดูแลก็ย่อมจะหมายถึงการวิเคราะห์สังคมจากแง่มุมที่เปราะบางที่สุดทว่าเป็นแง่มุมที่ทำให้เห็นสังคมอย่างเป็นองค์รวมเช่นกัน การวิเคราะห์สังคมผ่านมิติของงานดูแลจึงเป็นการมองผ่านแง่มุมทาง “ชนชั้น” และความสัมพันธ์ทางอำนาจในตัวของมันเอง

เช่นเดียวกับที่หากเราจะเรียกร้องให้เกิดการปรับปรุงหรือพัฒนาระบบสวัสดิการ หรือแม้แต่สร้างรัฐสวัสดิการ การเริ่มพิจารณาสวัสดิการที่ต้องมีหรือสมควรจะมีจะเป็นก็ต้องมองจากแง่มุมของการดูแลเป็นหลัก รัฐสวัสดิการไม่จำเป็นต้องผูกโยงกับ “งาน” ในความหมายที่เป็นการผลิตมูลค่า แต่ระบบสวัสดิการเป็นเรื่องที่ต้องมองจากตำแหน่งแห่งที่ของสิ่งที่ไม่ถูกนับว่าเป็นงาน และปริมณฑลหรือกิจกรรมที่ไม่ถูกนับว่าเป็นงานมากที่สุดก็คือ งานดูแล

เราอาจจะอยู่ในสังคมที่ไร้หัวใจมานานเกินไป หันมาสร้างสังคมที่ดูแลกันและกันเถอะ