จากการทูตยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สู่การทูตในยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร “แม้มีทิศทางที่ดีขึ้นในเบื้องต้นเพราะมีประโยคที่แถลงถึงวาระในต่างประเทศ แต่ยังเป็นการทูตแบบไร้จุดยืน” กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเป็นธรรม ในฐานะกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อธิบายในสถานการณ์โลกที่ปั่นป่วน เรากลับสงวนท่าทีอย่างที่นายกฯ กล่าวในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า “เราจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง” ระหว่างประเทศ แต่สถานการณ์ไม่เป็นแบบนั้น กัณวีร์ยกตัวอย่างสถานการณ์อิสราเอลและปาเลสไตน์ ว่าสถานการณ์ดังกล่าว “มันบังคับให้เราต้องเลือกเราจะเอาอย่างไร” เพราะอย่าลืมว่าเรามีแรงงานที่อยู่ในอิสราเอลกี่ชีวิต นายกฯ จะมาพูดว่าเราจะไม่มีท่าทีใด ๆ ไม่ได้ หรือหากมองใกล้ตัวขึ้นกว่านั้น สถานการณ์ในเมียนมาก็จะเด่นชัดที่สุด ที่จะสะท้อนจุดยืนของเราท่ามกลางมหาอำนาจต่าง ๆ
De/code คุยกับ “กัณวีร์ สืบแสง” หนึ่งในฝ่ายนิติบัญญัติและอดีตคนทำงานด้านมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัยในเวทีนานาชาติ ชวนคิดและตั้งคำถามกับตัวแสดงทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสกับผลกระทบต่อไทยในอนาคตอันใกล้ รวมถึงบทบาทของอาเซียนที่หลายคนมักยกให้เป็นพี่ใหญ่ว่าทำไมต้องมีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาในเมียนมา?
หลังจากการเยือนเมียนมาของรัฐมนตรีระหว่างประเทศของประเทศจีนที่ประกาศว่า “จีนต้องการมีอิทธิพลที่จะเป็นจะมีส่วนในการสร้างสันติภาพในเมียนมา” การต่างประเทศของเรามีเจตจำนงตรงนี้หรือเปล่า กัณวีร์ เริ่มตั้งคำถามพร้อมกับให้ความเห็นว่า เหตุใดจีนถึงต้องการมีบทบาทหรือเป็นพี่ใหญ่ในการสร้างสันติภาพในเมียนมา เพราะเราต้องยอมรับว่า สิ่งที่ไม่อยู่เรดาห์ของการพูดคุยเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาเลย คืออิทธิพลของจีนที่มีต่อเมียนมาอย่างมากทั้งทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การทหารและความมั่นคง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากเราจะหยิบยกบทเรียนจากจีนคือ “จีนนี่เขาฉลาดมาก ๆ ถึงแม้จะมีชายแดนสั้นกว่าประเทศไทย แต่เขามองเรื่องยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน อย่างเช่นเรื่องการค้าหยกเป็นต้น” ที่เศรษฐกิจของรัฐบางรัฐอย่างรัฐฉานซึ่งแทบที่จะขึ้นอยู่กับอิทธิพลของจีนทั้งหมด แม้อย่างเป็นทางการ
“จีนอาจจะบอกว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของเพื่อนบ้าน แต่ในเชิงปฏิบัติเราก็เห็น ๆ ว่าเงินในรัฐฉานเข้ามากับใครในตอนนี้” ซึ่งสอดคล้องกับที่สื่อท้องถิ่นของเมียนมาอย่าง The Irrawaddy รายงานว่าจีนมีส่วนต่อการส่งอาวุธให้เมียนมาทั้งกองกำลังต่าง ๆ และทหารเมียนมา ซึ่งท้ายที่สุดอิทธิพลของจีนก็จะส่งผลต่อเมียนมาเป็นอย่างมาก แล้วเราในฐานะทวิภาคีกับเมียนมาไม่แสดงท่าทีอะไรเลยทั้งที่ผลกระทบจะเข้ามายังชายแดนของเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง “เราต้องกล้ายืนยันว่าจีนมีอิทธิพลมาก ประเทศไทยจะยอมหรือในการที่เราจะไม่มีจุดยืนใด ๆ ทั้งนั้น เราจะแค่ตอบสนองต่อสถานการณ์บางสถานการณ์ต่อไปเรื่อย ๆ” กัณวีร์บอกว่า เราต้องมองภาพกว้างกว่านี้ และต้องเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันสันติภาพในเมียนมา “เราต้องเป็นเบอร์หนึ่งเราไม่สามารถเป็นเบอร์รองกับใครได้ประเทศไทยต้องชัดเจนในเรื่องนี้ว่า เราจะเป็นคนชูธงร่วมมือกับคนเมียนมา ร่วมมือกับ ชนเผ่า กองกําลังต่าง ๆ ร่วมมือกับทางกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ติดกับชายแดนไทยทั้งหมดว่าเราจะทําอย่างไรให้เกิดสันติภาพ”
“เราเป็นการทูตแบบ selfish หรือเห็นแก่ตัว ไม่ใช่การทูตแบบ salesman” กัณวีร์ แสดงความเห็นต่อนโยบายทางการทูตของรัฐบาลเศรษฐาที่ผ่านมาที่ไม่แสดงท่าทีต่อสถานการณ์ในเมียนมา และไม่พยายามที่จะมีบทบาทในการผลักดันสันติภาพให้กับเพื่อนบ้าน เพราะหากถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของรัฐบาล และตลอดระยะเวลา 10 กว่าเดือนมานี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องเกี่ยวกับการจัดอันดับความสำคัญว่าสถานการณ์ในเมียนมามีผลกระทบต่อประเทศไทย
รัฐบาลไทยให้ความเห็นว่าฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน คือการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ต่อประเด็นนี้กัณวีร์ เสนอว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องกระโดดออกจากกรอบความคิดนั้นให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีจุดยืนที่มั่นคงและชัดเจน ปัจจุบันในฐานะที่เรามีอาณาเขตติดกับเมียนมายาวที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ของเมียนมา แต่นโยบายของเราที่กำลังดำเนินการอยู่
“มีเพียงแค่การตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า” ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติที่ไม่ Progressive และ Proactive เหตุผลอะไรที่ทำให้กัณวีร์ วิจารณ์นโยบายในขณะนี้ว่าไม่ก้าวหน้าและไม่เร่งดำเนินการ นั่นคือการที่เรารอให้สถานการณ์ต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อเรา “เราถึงจะมีท่าทีบางอย่างเช่นสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยสงคราม ที่เรามีเพียงแค่กรอบของความมั่นคงในการดำเนินการทั้ง ๆ ที่เมื่อพิจารณาอย่างจริงจัง เรากลับเป็นเพื่อนบ้านของเมียนมาที่ได้รับผลกระทบเยอะที่สุด สิ่งที่รัฐไทยต้องมองให้เห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีอิทธิพลกับเราอย่างไร ทั้งเรื่องการค้าชายแดน การค้าข้ามแดน และเรื่องมนุษยธรรมสิทธิมนุษยชน
This photo taken on January 11, 2021 shows a Chin woman carrying a baby in Bethel village in Hmawbi, on the outskirts of Yangon, where hundreds of members of the Chin ethnic community have settled after being displaced by fighting between Myanmar’s military and the Arakan Army in the country’s north. (Photo by Ye Aung THU / AFP)
แม้ข้อเสนอของกัณวีร์ไม่เป็นไปในทางเดียวกับฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน กัณวีร์ โต้แย้งในประเด็นนี้ว่า “เราต้องมองข้าม หากเราอยากเห็นสันติภาพจริง ๆ เกิดขึ้นในเมียนมา ไม่ใช่ว่าฉันทมติของอาเซียนไม่ดี แต่ว่ามันไม่ practical” โดยให้เหตุผลสำคัญว่า เพราะกลไกที่ไม่ต่อเนื่องของอาเซียนไม่อาจแก้ไขปัญหาที่มีความรอบด้านและลุ่มลึกอย่างปัญหาในเมียนมาได้ chair person ต่าง ๆ อย่างเลขาธิการฯ และกลุ่มงานในอาเซียน เปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป ซึ่งถ้าอาเซียนอยากมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาและสร้างสันติภาพในเมียนมา อาเซียนจำเป็นต้องมีกลุ่มงานและคนที่ทำงานด้านเมียนมาโดยเฉพาะฝังตัวอยู่ในอาเซียน และเป็นกลุ่มงานที่อยู่อย่างถาวรไม่ใช่กลุ่มงานที่ตั้งขึ้นมาตามเฉพาะกิจเท่านั้น หรือถ้าหากมองย้อนกลับไปในขณะที่มีคนไทยนั่งเก้าอี้เลขาธิการอาเซียน
ยกตัวอย่างดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งขณะนั้นได้ใช้หลักการอย่าง Constructive Engagement (นโยบายพัวพันอย่างสร้างสรรค์ของอาเซียนต่อเมียนมา) ซึ่งกัณวีร์มองว่า ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่เราอาจจะต้อง Constructive Intervention (การใช้การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์) ที่ต้องใช้คำว่า “แทรกแซง” เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงทุกฝ่ายเข้ามามีบทบาทในการผลักดันสันติภาพ ซึ่งจำเป็นต้องยึด core value ด้วยกันสามประการ 1.Humanitarian ที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาด้านมนุษยธรรมอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดคุณค่าที่สอง Development ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งคุณภาพชีวิต การศึกษา และการมีส่วนร่วมทางการเมืองคุณค่าที่ 3.Peace สันติภาพ จำเป็นจะต้องให้คนตรงนั้นมีส่วนร่วมให้มากที่สุด
กัณวีร์ ยอมรับด้วยว่า ส่วนตัวแล้ว อยากเห็นการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์จริง ๆ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าข้อเสนอเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อเรามีรัฐบาลที่มี political view เจตจำนงทางการเมือง มีความปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพ และได้รับความไว้วางใจ นี่คือบันไดขั้นแรก ที่จะทำให้เรามีจุดยืนต่อการแก้ไขปัญหาในเมียนมา
A Thai military personnel (R) checks the bag of a Myanmar national after crossing over into Thailand, at the Tak border checkpoint in Thailand’s Mae Sot district on April 11, 2024. Myanmar junta troops have withdrawn from a major trade hub near the Thai border following days of clashes, an ethnic armed group told AFP on April 11, 2024, dealing a further blow to the embattled military. (Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)
แต่ถ้าต้องวิจารณ์ทางการไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางการทูต ก็ต้องวิจารณ์ไปที่ตัวผู้นำของรัฐบาล “เพราะเราไม่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทางด้านการทูต จะไปโทษเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่ได้” เพราะตลอดเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา เรามีแต่เรื่องค้า ๆ ขาย ๆ และเรื่องลงทุนที่มองเห็นแต่เม็ดเงิน และคิดว่าเงินอาจจะแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ “เจตจำนงทางการเมืองของประเทศไทย ที่เราเห็นชัดเจนโดยนัยยะของมัน คือการสร้างความเจริญรุ่งเรืองด้วยเม็ดเงิน จนลืมมองการสร้างความเจริญรุ่งเรืองโดยมนุษยชาติ” กัณวีร์บอกว่า นี่คือความเป็นจริงที่สะท้อนนโยบายทางการทูตของเราในขณะนี้ ปัจจุบันการทูตในการเดินหน้าขายของของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การทูตด้วยซ้ำ “เพราะเราเอาแต่มองว่าเราจะได้อะไรจากโลก แต่เรากลับไม่คิดเลยว่าโลกจะได้อะไรจากเรา” นี่นับว่า “เราเป็นการทูตแบบ selfish เห็นแก่ตัว ไม่ใช่การทูตแบบ salesman” เพราะสองด้านของงานทางการทูตคือ “เราต้องการอะไรจากเวทีระหว่างประเทศ แล้วคนอื่นเค้ามีความคาดหวังอย่างไร กับเราที่จะออกไปอยู่ในเวทีระหว่างประเทศ”
นโยบายด้านมนุษยธรรมก็ช้าเกินกว่าจะเยียวยา ทั้งผู้หนีภัยและผู้ลี้ภัยสงคราม ซึ่งต้องยอมรับก่อนว่า เราไม่ใช่ชาติแรกที่เจอสถานการณ์ภายใต้ปัญหาเฉพาะแบบนี้ เพราะยุโรป และอเมริกาเคยเจอปัญหาในลักษณะผู้ลี้ภัยมาก่อนเรา และเขามีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ ซึ่งต่างจากเราที่มีกรอบความคิดแค่ว่า “กลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” และปฏิบัติตามแค่กรอบกฎหมายของคนเข้าเมือง
แม้จะมีการเรียกร้องทั้งจากภาคประชาชนและนานาชาติอยู่บ้างไม่ให้เกิดการส่งกลับ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง จะยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในบ้านประเทศไทยเลวร้ายลงไปอีก ตามคาดการณ์แม้จะไม่มีบันทึก เราจะมีคนเข้ามาอย่างน้อย ๆ หนึ่งล้านคน หรืออย่างน้อยที่สุดคือสามแสนคนที่กำลังรออยู่ที่ชายแดน และค่ายผู้ลี้ภัยต่าง ๆ โดยพื้นฐานคนเหล่านี้ไม่ได้มีความผิดอะไร “เขาผิดเพราะรัฐสมัยใหม่มีชายแดนเกิดขึ้น” การโยกย้าย และอพยพถิ่นฐานอยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นพัน ๆ ปี
This handout photo taken and released on April 11, 2023 by the Royal Thai Army shows people from Myanmar crossing the Moei river on the Thai-Myanmar border to return from Thailand’s Mae Sot district in Tak province. Thousands of people who had fled into Thailand following fighting between Myanmar rebels and the military returned back to Myanmar on April 11, Thai officials said. (Photo by Handout / ROYAL THAI ARMY / AFP)
“หากวันนี้เราไม่มองว่าคนเหล่านี้แตกต่างจากเรา เราสามารถดึงศักยภาพของแต่ละคนที่เขาไม่ สามารถเดินทางกลับไปประเทศต้นกำเนิดได้ มาอยู่ในส่วน หนึ่ง ของการพัฒนาชาติได้ เราก็จะได้กำลังคนอย่างมหาศาลมาทดแทนแรงงานด้านต่าง ๆ ที่เรากำลังขาดหาย
แม้เราจะมีกฎหมายว่าคนที่เดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมายจะต้องถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่ด้วยข้อตกลงที่เรามีต่อนานาชาติ ไม่อาจให้เราทำแบบนั้นได้ เพราะจะเป็นการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางที่ไม่มีความปลอดภัย ซึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมีตั้งแต่ วิศวกร พยาบาล และแรงงานทั่วไป งานบางประเภทแรงงานไทยไม่ทำแล้วด้วยซ้ำ เช่นแรงงานในภาคประมงและภาคก่อสร้างที่เหลือน้อยลงทุกวัน หากเราสามารถดึงศักยภาพเหล่านี้มาร่วมพัฒนาชาติได้ สร้างชาติได้ ก็จะยิ่งทำให้เรามีกำลังคนในภาคแรงงานได้
“เราอยู่ในยุคสังคมสูงวัย แต่อยากเติบโตทาง GDP อย่างก้าวกระโดด” แล้วคำถามสำคัญคือ เราจะหากำลังคนที่ไหนมาทดแทนแรงงานที่กำลังขาดหายไป
ทั้งหมดนี้คือโจทย์ใหญ่ในการแก้ไขปัญหาสันติภาพในเมียนมา ซึ่งไม่เพียงพอที่ใช้แค่กรอบความคิดใดความคิดหนึ่ง เพราะความรุนแรงและขัดแย้งครั้งนี้มีความท้าทายอย่างมาก แต่เมื่อเราไม่จุดยืนและท่าทีใด ๆ ต่อสถานการณ์ในเมียนมา ภัยเหล่านี้ก็จะยิ่งใกล้ตัวเราขึ้นเรื่อย ๆ กัณวีร์ เน้นย้ำว่า “ทุกวันนี้ก็ใกล้จนไม่รู้จะใกล้อย่างไรแล้ว”
A demonstrator holds an image of Myanmar’s military chief Min Aung Hlaing during a protest against the coup in Myanmar outside the venue for the Australia-ASEAN (Association of Southeast Asian Nations) summit in Melbourne on March 4, 2024. (Photo by Martin KEEP / AFP)