มหา'ลัย (ไม่เอา) เหมืองแร่ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ทุกคนต้องใช้แร่ทั้งนั้น ไอ้คนที่ต้าน ๆ เหมืองแร่นี่มีไหมมีใครอยู่โดยไม่ใช่แร่ รถ เรือ บ้าน ปากกาดินสอ โต๊ะเก้าอี้ ส่วนประกอบมาจากเหมืองแร่” 

ประโยคข้างต้นของข้าราชการอาวุโสแห่งกรมธรณีท่านหนึ่งกล่าวด้วยอารมณ์โมโห ตอบโต้ชาวบ้านจากพื้นที่เหมืองทองแห่งหนึ่ง ในเวทีการประชุมวิชาการเหมืองแร่ ในปี 2554 ตามที่ปรากฏในหนังสือ เมฆปริศนา นั้นทำให้ผู้อ่านรู้สึกชะงักราวกับมีมวลบางสิ่งขวางใจกลางหน้าอก

ความรู้สึกนี้ไม่ใช่เพราะว่าคำพูดของข้าราชการท่านนั้นเป็นความจริง แต่มันเป็นส่วนผสมความรู้สึกของความขุ่นหมอง โกรธเคือง ผิดหวัง เสียใจ ดั่งเช่นความรู้สึกของผู้คนในแต่ละชุมชนที่หนังสือเล่มนี้ ได้บันทึกไว้ และสามารถเป็นคำตอบ ให้กับคำถามเชิงเย้ยหยันของข้าราชการกรมธรณีผู้นั้นได้เป็นอย่างดี 

เมฆปริศนา : ประวัติศาสตร์บอกเล่าเหมืองแร่ในเมืองไทย เขียนโดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์ และภาพถ่ายโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ถูกเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2554 เมฆปริศนาเป็นหนังสือที่บอกเล่าสายธารประวัติศาตร์เหมืองแร่เชิงสารคดี ที่ไม่ใช่แค่บันทึกการเกิดขึ้นของเหมืองแห่งแรกในประเทศไทยมีความเป็นมาอย่างไรเพียงเท่านั้น แต่เป็นหนังสือที่ ‘เก็บบันทึก’ ประวัติศาสตร์ผลกระทบด้านสุขภาพจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทย จากการเดินทางสัมภาษณ์ทั่วประเทศไทยที่ปรากฏให้เห็นชัดว่า ภายใต้ภูเขา พื้นดิน แหล่งน้ำ ไม่ได้มีเพียงแค่แร่ ที่สามารถนำมาสกัด ถลุง แปรเปลี่ยนมูลค่าที่วัดได้ด้วยเงินตรา และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น 

แต่ยังมี ‘ชีวิต’ ของผู้ ‘คน’ 

ที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ 

แทนทาลัม บทเรียนที่เจ็บไม่จำของรัฐ

นับตั้งแต่แรกเริ่มของการเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ตในสมัยพระนารายณ์มหาราช นั้นยาวนานต่อเนื่องมาหลายร้อยปี จนกระทั่งเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้ธุรกิจดีบุกซบเซาลง ทำให้กลุ่มทุนจำนวนมากปิดกิจการเหมืองลง และไม่ยอมส่งคืนที่ดินให้กับภาครัฐ และปรับเปลี่ยนที่ดินจากการทำเหมืองมาเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว ที่พัก รีสอร์ท ที่ทำให้นายเหมืองเหล่านี้ ครอบครองที่ดินเป็นจำนวนมหาศาล 

จนกระทั่งความจริงถูกเปิดเผยในเรื่องของ “แทนทาลัม” ที่ปะปนอยู่กับแร่ดีบุก และมีมูลค่าที่สูงเป็นอย่างมาก ความลับที่ถูกปิดบังจากมูลค่ากากแร่ที่แอบแฝงโดยโรงถลุงแร่ต่างชาติและราคาดีบุกก็ลดน้อยลงเพราะการเข้ามาแทนที่ของพลาสติก  ขณะนั้นภูเก็ตเองก็กำลังหาทิศทางการพัฒนาแบบใหม่ ทำให้เกิดการสร้างโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม ในปี 2528 โดยบริษัท TTIC 

ปี 2529 ได้มีการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ถึงความกังวลกรรมวิธีผลิตทางเคมีของโรงถลุงแทนทาลัมนั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ประกอบกับสถานการณ์โลกในช่วงนั้นที่มีเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล รัสเซีย และโรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ ในอินเดียระเบิด นั้นทำให้เกิดการตื่นตัวถึงผลกระทบของโรงงานแทนทาลัมในภูเก็ตเป็นอย่างมาก เกิดเป็นเหตุจลาจลเผาโรงงานแทนทาลัม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529 ที่มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมนับแสนคน 

เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้าของวัน ประชาชนทุกสาขาอาชีพและต่างอำเภอพากันรวมตัวที่ใจกลางภูเก็ตเพื่อคัดค้านโรงงานแทนทาลัม และรอคอยรัฐมนตรีอุตสาหกรรมมายังศาลาประชาคม จนกระทั่งผู้ชุมนุมโกรธเคืองที่รัฐมนตรีไม่มาตามนัด เหล่าผู้ชุมนุมต่างโห่ร้อง บางกลุ่มเคลื่อนตัวไปยังโรงแรมที่เชื่อว่ารัฐมนตรีเข้าพัก เจ้าหน้าที่ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อหวังให้มวลชนล่าถอย แต่กลับถูกมวลชนผู้ชุมนุมโต้กลับด้วยการขว้างปาก้อนหินเข้าไปยังศาลาประชาคม และกระจกของโรงแรม และบางกลุ่มก็เริ่มทำลายบ้านนายทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในท้องถิ่นที่เคยออกข่าวว่ามีส่วนได้เสียกับโรงงานแทนทาลัม

ต่อมาในช่วงเวลาบ่ายของวันนั้น มวลชนได้เคลื่อนตัวไปยังโรงงานถลุงแทนทาลัมที่เพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นานนัก เหล่าเครื่องจักรที่เพิ่งถูกติดตั้งและรอการใช้งานได้ถูกวางเพลิง ด้วยความโกรธแค้นของประชาชนจากการทำงานของหน่วยงานราชการ ที่ไม่เคยให้คำตอบและฟังเสียงของประชาชนในวันนั้น 

‘วันเผาโรงงานแทนทาลัมวันนั้น ถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นเครื่องหมายว่า ชาวภูเก็ตได้หันหลังให้กิจการเหมืองแร่โดยเด็ดขาด แม้ว่าที่ผ่านมาทุกคนจะจดจำว่า อุตสาหกรรมแร่มีส่วนสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากเหมืองแร่มายาวนั้นก็ปรากฏชัดแก่สายตา สภาพภูมิประเทศเมืองภูเก็ตเต็มไปด้วยหลุมเหมือง’

เหตุการณ์การจลาจลโรงงานแทนทาลัมในอดีต ถือเป็นบทเรียนและการบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ครั้งใหญ่ของประชาชน หากเสียงของพวกเขาไม่ถูกรับฟัง พลังของมวลชนจะสามารถทำลายทุกสิ่งอย่างที่ผู้มีอำนาจเคยสร้างมา 

มหา’ลัยเหมืองแร่ในชีวิตจริง

นาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองโดยแร่ที่ถูกสำรวจพบในนาหนองบงคือแร่ทองคำ ทำให้ในปีพ.ศ. 2549 เกิดการสัมปทานและเป็นเหมืองทองคำโดยบริษัททุ่งคำจำกัด 

หนังสือ เมฆปริศนา ได้เขียนถึงนาหนองบงไว้ในบท จดหมายจากทะเลถึงภูเขา เป็นจดหมายที่เขียนโดยทะเลภูเขาอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเลย เนื้อความจดหมายบรรยายถึงความเจ็บปวดของภูทับฟ้า และภูซำป่าบอนที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลับถูกนายเหมืองจากแดนจิงโจ้เข้ามาระเบิด ขุด เจาะทั้งวันทั้งคืนแลกกับทองคำอันมีค่า สายน้ำที่เคยหล่อเลี้ยงผู้คนตั้งแต่เด็กยันชรากลับร้างราผู้คน เมื่อปลาเริ่มตาย สัตว์น้ำ ดินและพืชบริเวณแหล่งน้ำเต็มไปด้วยสารพิษ 

และนี่คือจดหมายที่ทะเลภูเขาเขียนบอกเล่าให้กับภูเขาทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย

จดหมายจากทะเลภูเขาถูกเขียนขึ้นนานนับ 10 ปี ในวันที่ผู้เขียนบทความลงพื้นที่ไปยังชุมชนนาหนองบง เป็นเวลานับ 6 ปี ที่เหมืองทองคำแห่งนี้ปิดตัวลง ท่ามกลางรอยคราบน้ำตาและหยาดเหงื่อของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดที่ต่อสู้ยาวนานมาถึง 18 ปี และผู้เขียนก็ได้เห็นถึงเรื่องราวในจดหมาย ด้วยเนื้อตาแท้ ความเป็นจริง

ระหว่างเส้นทางเข้าสู่นาหนองบงจะเห็นป้ายที่เขียนว่า “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” ตั้งอยู่ข้างทางของถนนสายหลักทางเข้าหมู่บ้าน พื้นหลังสีเขียวที่ซีดจางของป้ายที่เผชิญ แดด ลม ฝน แสดงถึงการต่อต้านเหมืองของชุมชนที่ยาวนาน

เสียงไม้กระทบดัง ตึก ตึก ของเครื่องทอผ้า หรือ กี่ เสียงที่ช่างคุ้นหู เมื่อเดินเข้าไปยังศูนย์การเรียนรู้ “ตำฮูกสู้เหมือง” ที่จะเห็นภาพของกลุ่มแม่หญิงเมืองเลยผู้มีผมสีดอกเลากำลังนั่งทอผ้าฝ้ายอย่างใจจดใจจ่อ 

ในอดีตการทอฝ้ายในชุมชนมักทอเพื่อสวมใส่เพียงแค่ในครัวเรือน แต่นับตั้งแต่การปรากฏของเหมืองทองคำใกล้บ้าน และการออกมาคัดค้าน และการเล่าเรื่องราวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองทองคำ กลับมีค่าใช้จ่ายจากการโดนคดีความตามมาอย่างมหาศาล เหล่าแม่หญิงเมืองเลยจึงทอผ้าให้เป็นสินค้า และออกแบบลายผ้าที่เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านเหมือง และนำเงินมาเป็นกองทุนในการขับเคลื่อนในวันที่หน่วยงานรัฐ และความยุติธรรมนั้นไม่เข้าข้างพวกเขา 

แม้เหมืองจะปิด แต่การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

“ใครจะไปคิดว่าสู้เหมืองจะนานขนาดนี้ สู้ให้เหมืองปิด ยังต้องสู้ให้ฟื้นฟูอีก”

“แต่ก็สู้มาตั้งแต่ผมดำจนตอนนี้ผมหงอก“

คำพูดของแม่รจ – ระนอง กองแสน วัย 60 ปีสมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด พูดถึงการลุกขึ้นมาต่อต้านเหมืองทองคำจากการปนเปื้อนของสารพิษในกรรมวิธีการสกัดทองคำของเหมืองที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำใช้และกินของชุมชน รวมทั้งทำให้วิถีชีวิต ป่าไม้ ภูเขา ที่เธอและชุมชนเคยอาศัยหาอยู่หากินพึ่งพิงนั้นสูญหายไป ลูกแล้วลูกเล่า 

การเดินทางที่แสนยาวนานของชาวบ้านนาหนองบง ที่ต้องจากบ้านไปยังเมืองหลวงเพื่อแจ้งเหตุแก่ผู้มีอำนาจของประเทศและหวังว่าพวกเขาจะรับฟัง

กลับถูกเมินเฉยและตามมาด้วยคดีความฟ้องร้องจากเหมืองทองคำ

อีกทั้งในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ราว 200 คน พร้อมอาวุธและอำพรางใบหน้าเข้ามายังชุมชนนาหนองบงเพื่อลักลอบขนแร่เถื่อนโดยไม่มีใบอนุญาตด้วยการบุกเข้าชุมชนยามวิกาล และจับคนในชุมชนนาหนองบงเป็นตัวประกัน มีการทำร้ายร่างกาย ลักพาตัว ขู่ฆ่าถึงชีวิต ทั้งหญิงชายและคนชรา เพื่อเป็นข้อต่อรองให้ชุมชนเปิดทางในการเอาสินแร่ออกไป

เป็นค่ำคืนที่แสนยาวนาน และไร้ความช่วยเหลือจากผู้ผดุงความยุติธรรมทุกหน่วยงานในประเทศ

แม้จะผ่านไป 10 ปี บาดแผล ความหวาดกลัวไม่เคยจางไปจากใจของชาวบ้านนาหนองบง

แม้จะเจ็บปวด แต่พวกเขาต้องสู้ต่อ เพราะนาหนองบง คือบ้านของพวกเขา 

ในท้ายที่สุดในปี 2559 เหมืองทองคำ บริษัททุ่งคำจำกัด  ได้ปิดตัวลง จากการต่อสู้ของชาวบ้าน ที่ทำทุกวิธีทางให้เกิดการ “ปิดเหมือง ฟื้นฟู” 

จนในปลายปี 2561 ศาลได้ตัดสินให้ชุมชนต้องได้รับการฟื้นฟูจากบริษัททุ่งคำจำกัด และจะต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน 

แม้เหมืองจะปิด และได้รับคำสั่งการฟื้นฟู 

แต่การต่อสู้ของคนในชุมชน ยังต้องดำเนินต่อ เพื่อให้ได้ “แผนฟื้นฟูฉบับประชาชน” เกิดขึ้นจริงและเป็นบรรทัดฐานให้กับประเทศไทย 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ชุมชนนางหนองบงได้จัดงานฟื้นฟูภูซำป่าบอน ครั้งที่ 2 กลุ่มหญิงวัย 50-60 ปีที่เดินขึ้นภูซำป่าบอน เท้าสองข้างคีบรองเท้าแตะช้างดาว เดินไต่ภูลาดชันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย มือหนึ่งข้างถือเสียมและอีกข้างถือกล้าไม้ ผ้าฝ้ายพันคอเพื่อบังแดด ขุดดินที่เป็นเศษหินจากการระเบิดเหมือง ก้มเงยเกือบร้อยครั้งเพื่อปลูกต้นไม้ลงไป โดยมีคนหนุ่มสาว เยาวชน และเด็กเล็กในชุมชน ช่วยกันอย่างขยันขันแข็งด้วยความหวังว่ากล้าไม้เหล่านี้จะเติบโตแทงเหล่าเศษหินจากเหมือง งอกงามและเติบใหญ่ตามกาลเวลากลับคืนมาเป็นป่าชุมชนให้ผู้คนได้หากิน

นอกจากนี้พวกเขายังหย่อนความหวังสายสัมพันธ์ในชุมชนที่เคยห่างเหินกันไปจากการมีเหมือง ได้กลับมาใกล้ชิดและเกื้อกูลกันอีกครั้ง นับเป็นการฟื้นฟูทั้งระบบนิเวศของป่า และผู้คนในชุมชนนาหนองบง เพราะความเสียหายจากการทำเหมืองไม่เคยเป็นเพียงแค่เรื่องทางทรัพยากรธรรมชาติ ตัวเลขค่าสารพิษที่คงอยู่ในดิน แต่รวมถึงจิตใจของผู้คนในชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้  

ความเสียหายต่อความสัมพันธ์ของชุมชน ญาติสนิทมิตรสหายที่เคยรวมอาศัยบนผืนดินนาหนองบง กลับสั่นคลอนเมื่อเหมืองใหญ่เข้ามาป้อนอาชีพ และการงานให้กับคนในชุมชน ทำให้เสียงของผู้คนแตกเป็นสองฝ่ายว่าการเข้ามาของเหมืองนั้นดีหรือทำลายชุมชน เพราะความเห็นเรื่องเหมืองที่มีนั้นแตกต่าง ผู้คนบางครอบครัวต้องเบือนหน้าหนีออกจากกัน

สิ่งเหล่านี้ไม่เคยได้รับการประเมินว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟู การมองข้ามบาดแผลทางอารมณ์และความทุกข์เศร้าอันมิอาจประมาณค่าได้ ของอดีตที่ไม่อาจหวนคืนมา ความหวาดกลัวในการเผชิญความอยุติธรรมทำให้บางคนเลือกที่จะออกจากหมู่บ้านไป เพราะกลัวการหวนกลับคืนมาของเหมืองทอง นี่คือสิ่งที่ทำให้เข้าใจอย่างแท้จริงว่า ทำไมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการฟื้นฟูจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนในชุมชนรู้ดีที่สุดว่ามีอะไรสูญหายไปในชุมชนของพวกเขาในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งแวดล้อม

สารพิษ และร่องรอยของการทำเหมือง มันไม่ได้คงอยู่เพียงแค่แทรกซึมไปในพื้นดิน แหล่งน้ำ 

แต่ยังกัดกร่อน ความเชื่อ วิถีชีวิต และซึมลึกเป็นบาดแผลที่อยู่ในจิตใจของผู้คนในชุมชน

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้รักษ์ในชีวิตและทรัพยากรบ้านเกิด

ผลกระทบดั่งที่ปรากฏในหนังสือ เมฆปริศนา ที่ประกอบไปด้วยผลกระทบจาก เหมืองดีบุก ภูเก็ต, เหมืองดีบุก ร่อนพิบูลย์ สงขลา, เหมืองสังกะสี แม่ตาว แม่ฮ่องสอน, เหมืองหิน เขาคูหา สงขลา, เหมืองเหล็ก แม่ถอด ลำปาง, เหมืองถ่านหิน แม่เมาะ ลำปาง, เหมืองถ่านหิน เวียงแหง, เหมืองทองคำ พิจิตร, เหมืองทองคำ เลย, เหมืองตะกั่ว คลิตี้ กาญจนบุรี, เหมืองโปแตช อุดรธานี  

นั้นถือเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังสือ เมฆปริศนา มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ชีวิตผู้คนที่ถูกจดบันทึก คู่ขนานกับการทำเหมืองที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล และไม่ว่าจะผ่านมายาวนานเพียงใด ชุมชนเหล่านี้บางชุมชนก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรมและผลกระทบในทุก ๆ มิติก็ไม่สามารถย้อนคืนมาได้ อย่าง เด็กเล็กในชุมชนคลิตี้จำนวน 6 รายที่เสียชีวิต และเด็กบางคนที่ยังไม่ทันได้ลืมตาดูโลกก็ต้องจากไปเพราะการปนเปื้อน 

เหตุการณ์เหล่านี้ ใครคือคนที่ต้องรับผิดชอบ ?

หนังสือเล่มนี้ควรจะเป็นคู่มือสำคัญของทางภาครัฐ ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจการอนุมัติเหมืองแร่ในยุคปัจจุบันว่า คนสามารถรับผลที่ตามมาเช่นนี้ได้หรือไม่ และหากคุณไม่เดือดเนื้อร้อนใจเพราะคิดว่าไม่ใช่ชุมชนบ้านเกิด เหตุการณ์อย่างการจลาจลแทนทาลัมอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เมื่อผู้มีอำนาจไม่รับฟังเสียงของประชาชน 

Playread: เมฆปริศนา : ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย
ผู้เขียน: บำเพ็ญ ไชยรักษ์
จัดพิมพ์โดย: ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินปลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี