หมอลำ เป็น จน ตาย เพราะรักหรือไร้หลักประกันในชีวิตแรงงานนอกระบบ  - Decode
Reading Time: 3 minutes

“หมอลำ มันเป็นจนตาย“ 

ประโยคแฝงนัยยะของคนในวงการหมอลำที่ถูกส่งต่อมาอย่างยาวนาน ถึงชีวิตบนเส้นทางความฝันสู่ความจริง เมื่อชุดเพชรแวววาวที่สวมใส่ล้อกับแสงไฟจากเวทีเพื่อให้ตัวนักแสดงเปล่งประกายท่ามกลางผู้ชมที่คอยเฝ้ามองข้างล่างเวทีนั้นกลับหนักอึ้งและถ่วงรั้ง เมื่อความสามารถการลำไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่การันตีถึงชีวิตที่มั่นคง

“ถ้าอายุถึงสามสิบห้า สี่สิบ แล้วยังไม่ดัง ก็ต้องเลิกเป็นหมอลำแล้ว”

สิงห์ (นามสมมติ) คนหนุ่มสาวที่เคยประกอบอาชีพเป็นหมอลำได้กล่าวถึงการจะเป็นหมอลำแล้วประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพึ่งพาโชคชะตาและความเอื้อเฟื้อของพ่อยกแม่ยก หากโชคดีพอ การมีชื่อเสียงและเงินทองจะกลายเป็นจริง แต่หากไม่ใช่ชีวิตในวัยเกษียณก็อาจกลายเป็นฝันร้าย

“หมอลำก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย บางทีก็เกี่ยวกับเรื่องหน้าตา ต่อให้ลำดีร้องดีเต้นดีเอนเตอร์เทนดี แต่หน้าตาไม่ถูกใจพ่อยกแม่ยก เขาไม่เอ็นดู ก็รายได้น้อยกว่า ไม่เพียงพอต่อความมั่นคงระยะยาว” 

“และถ้าสี่สิบยังไม่ดัง จะเปลี่ยนงานก็ยาก ไม่มีทักษะอย่างอื่นไปสู้กับคนอื่นในตลาดแรงงาน ทั้งชีวิตก็เรียนแต่ร้องแต่เต้นมา ถ้าไม่วางแผนเงินเก็บไว้ตั้งแต่ตอนมีงานวงทั่วไป ก็มีโอกาสอยู่นะ ที่คนเหล่านี้อาจจะกลายเป็นคนที่หลุด และเป็นไร้บ้านในอนาคตได้ “ 

ชีวิตบนเส้นทางการออนทัวร์ของคณะหมอลำนั่นไม่ใช่เพียงแค่การเต้นและร้องลำเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตที่ต้องจากบ้านและครอบครัวช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เป็นความหวังว่าฤดูกาลนี้จะมีรายได้จากการแสดงมากเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนในครอบครัวต่อไปได้ 

ฤดูกาลทัวร์ของคณะหมอลำใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน ไม่นับรวมการซ้อมเตรียมการแสดง ช่วงเวลาแห่งโอกาสจะเริ่มต้นขึ้นในกลางเดือนกันยายนไปจนถึงปลายมิถุนายน เฉลี่ยแล้วหากเป็นหมอลำคณะใหญ่จะมีงานอยู่ที่ 200 – 300 งานต่อฤดูกาล และราคาในการจ้างต่อวงจะอยู่ที่งานละ 200,000 – 300,000 บาท โดยราคาจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นขึ้นอยู่กับตามเทศกาลและกระแสความนิยมของวงในเวลานั้น ส่วนคณะขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดเล็ก ราคาจะลดหลั่นตามลงมาจากราคาคณะใหญ่ 

กิจวัตรประจำวันในคณะหมอลำที่ประกอบไปด้วยชีวิตผู้คนจำนวนหลายร้อยชีวิต เริ่มต้นด้วยการออกเดินทางด้วยรถทัวร์ที่มีเพียงพัดลมเพดานของรถเป็นเครื่องระบายอากาศยามคนจำนวนมากอยู่รวมกัน ความแออัดที่เพิ่มทวีคูณตามระยะเวลาที่ขึ้นอยู่กับจุดหมายปลายทางว่าใกล้หรือไกล 

ลานดินกว้างตัดกับสีของฟ้าครามช่วงกลางวันแสก ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค ตามแต่ความต้องการของเจ้าภาพที่ใช้บริการความบันเทิงคือจุดหมายเมื่อมาถึง 

พื้นที่กว้างสามารถจุผู้คนที่เข้ามาชมการแสดงได้จำนวนหลายร้อยและมากพอที่จะให้ผู้ชมได้ออกลวดลายท่าเต้นสนุกสนานไปพร้อมกับการแสดงบนเวที

หากไม่ใช่ฝ่ายติดตั้งสถานที่ที่ต้องเริ่มเตรียมงานตั้งแต่พระอาทิตย์ยังคงแผ่ความร้อนจ้ากลางกระหม่อมในตอนบ่ายของวัน เหล่าสมาชิกก็จะพากันแยกย้ายกันหาจุดกางเต็นท์เพื่อนอนพักผ่อน ตามใต้ต้นไม้ใหญ่ที่พอให้ร่มเงาดับร้อน หรือตามวัด โรงเรียนซึ่งใกล้กับสถานที่จัดงานเพื่อพักเอาแรงก่อนขึ้นการแสดง 

เมื่อใกล้ถึงเวลาประมาณหกโมงเย็น นาฬิกาแห่งการพักผ่อนได้หยุดเดิน พวกเขาจะตื่นขึ้นมาจากที่นอน จัดเตรียมอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวรอต่อคิวอาบน้ำตามวัด โรงเรียน หรือบ้านเจ้าภาพ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเปลี่ยนชุดขึ้นทำการแสดงในบริเวณหลังเวทีที่จะถูกล้อมปิดแบ่งอาณาเขตเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยผ้ายางลายทางสีฟ้าเข้มสลับฟ้าอ่อนเช่นเดียวกันกับพื้นที่พวกเขาปูนั่ง

สมาชิกนับร้อยคนต่างเดินขวักไขว่ข้างหลังเวที ทุกคนล้วนรู้หน้าที่ของตัวเองว่าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อให้การแสดงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านั้นราบรื่นและไม่ติดขัด เหล่านักแสดง หมอลำและแดนเซอร์จะหามุมวางอุปกรณ์ประกอบอาชีพ อย่าง กระจก เครื่องสำอางค์ ชุด รองเท้า ฯลฯ อุปกรณ์พร้อมท้องก็ต้องอิ่ม เพื่อให้มีแรงในการขึ้นแสดง หากวงใดมีสวัสดิการเป็นอาหารเย็นที่ประกอบโดยฝ่ายครัวประจำวงก็จะสามารถประหยัดไปได้อีกหนึ่งมื้อ   

กลิ่นธูปของพิธีไหว้ครูลอยเพื่อขอชัยในความราบรื่น โชยตามลมไปจนทั่วหลังเวที เป็นสัญญาณบ่งบอกให้ทุกคนเตรียมตัวให้พร้อม เสื้อผ้าหน้าผมของนักแสดงจะต้องทำด้วยความสามารถของตัวเองนั้นจะต้องเสร็จสิ้นให้ทันเวลาก่อน

ยกเว้นแต่บางคณะ ที่หมอลำคนใดมีชื่อเสียงจะมีช่างแต่งหน้าประจำตัว เวลาสามทุ่มที่ประธานกล่าวเปิดงานการแสดง ทุกคนต้องประจำตำแหน่งและรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง ตลอดระยะเวลา 9 ชั่วโมง จาก สามทุ่มที่ฟ้ามืดจนถึงฟ้าสางในเวลาหกโมงเช้า นักแสดงและแดนเซอร์ ก็จะต้องคอยวิ่งขึ้นลงเปลี่ยนชุดและแต่งหน้า จนกว่าจะถึงการเต้ยลาเวทีในช่วงสุดท้ายที่หมายถึงเสร็จสิ้นการแสดงตามมาด้วยเสียงโห่ร้องแรงเชียร์ของผู้ชมนั้นจางลง เมื่อการแสดงเสร็จสิ้นเหล่าทุกคนจะต้องรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า ถอดชุดเก็บของลงกล่องดังเดิม ระหว่างรอขนของขึ้นรถ บางคณะก็จะมีสวัสดิการข้าวเหนียวนึ่งให้ยามเช้าลงจากหลังเวที เพื่อให้ท้องหยุดร้องหลังจากใช้แรงกายแรงใจทุ่มเทลงไปกับการแสดงที่ผ่านมาตลอดเก้าชั่วโมง และมุ่งหน้าเดินทางกันต่อด้วยรถทัวร์พัดลมคันเดิม เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ตามคิวการแสดงในเย็นวันนั้นต่อไปและวนเป็นวงจรเช่นนี้ไปเป็นเวลานานนับ 9 เดือน 

หยาดเหงื่อแรงกาย แรงใจที่พวกเขาเสียไปในระหว่างทาง นั้นเพื่อให้การแสดงปรากฏของคณะแก่สายตาผู้ชมด้วยคุณภาพที่ดีที่สุด นับเป็นเกียรติที่พวกเขายึดถือ พวกเขาใช้ความสามารถและทักษะที่ร่ำเรียน เพื่อมอบความสุข รอยยิ้ม ความบันเทิงใจให้กับผู้คนที่เดินทางและจ่ายเงินเข้ามารับชมตลอดทั้งค่ำคืนอย่างไม่ขาดสาย  

ด้วยเกียรติแห่งการดำรงชีพในการลงแรงร้องเล่นเต้นลำเหล่านี้ หมอลำและคณะ จึงเป็นแรงงานที่มีส่วนประกอบสร้าง ให้สังคมขับเคลื่อนและยังคงอยู่ไว้ของ ผู้คน ศิลปะ และวัฒนธรรม

แต่พวกเขากลับไม่ได้รับความคุ้มครองและการปฏิบัติเยี่ยงแรงงานอื่น ในสังคม

“บางทีป่วยก็ไม่กล้าที่จะลา เพราะถ้าลาก็กลัวรายได้หาย ในฤดูกาลจะต้องทำงานให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะได้เงินเยอะ ๆ ต้องขึ้นแสดงเพื่อรักษาพ่อยกแม่ยก และบางครั้งก็อาจจะเข้าตาผู้ใหญ่ที่จะช่วยผลักดันเราไปได้ไกลขึ้น“ 

สิงห์ เล่าถึงในวันที่เขารู้สึกไม่สบาย แต่ต้องจำยอมขึ้นแสดงเพราะความคาดหวังและฝันที่มีมันมากเกินกว่าที่เขาจะหยุดพักได้ และหนึ่งวันในบางครั้งไม่ได้มีเพียงแค่งานหนึ่งงาน ในบางครั้งพวกเขาจะต้องเล่นต่อเนื่อง และข้ามจังหวัด บ้างก็ข้ามถึงภูมิภาค หากมีงานเหล่านี้เกิดขึ้น ช่วงเวลาพักผ่อนเวลาเดียวของพวกเขาคือการนอนหลับบนรถทัวร์พัดลมกันอย่างแออัด และร้อนอบอ้าวเป็นเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะถึงที่หมายที่จะต้องขึ้นโชว์ในครั้งต่อไป 

เมื่อยามสปอตไลท์และแสงไฟสาดส่องจะต้องไม่มีคำว่าเหนื่อยล้าออกจากปากและแววตาของพวกเขา เหล่านักแสดงต้องซ่อนความไม่มั่นคง ภาระในชีวิตที่แบกไว้เพียงภายในใจ ตลอดระยะเวลาเก้าชั่วโมงที่อยู่บนเวทีจะต้องมีเพียงแต่รอยยิ้มพิมพ์ใจให้กับผู้ชม พ่อยกแม่ยก ที่มารอชม 

คณะหมอลำไม่ใช่แค่เรื่องของความขยันขันแข็ง ใช่ว่างานที่มีทุกวันจะเป็นปรากฏการณ์ของทุกคณะ ต้องพิจารณาว่าอยู่วงเล็กหรือวงใหญ่ หากอยู่คณะเล็กและไม่มีพ่อยกแม่ยกขวัญใจให้พวงมาลัย ก็นับว่าเป็นเรื่องยากที่อาชีพหมอลำจะทำเงินมากเพียงพอให้ถึงวันเกษียณ ค่าแรงที่นับว่ามากกว่าขั้นต่ำดึงดูดให้เหล่าแรงงานผู้อยากมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมนั้นเข้ามาหมุนเวียนอุตสาหกรรมหมอลำเป็นจำนวนมาก แต่การทำงานที่ไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุม นั้นทำให้หลาย ๆ ครั้งเป็นช่องว่างในการเอาเปรียบของนายจ้าง 

ในคณะหมอลำจะมีการหักเงินออมลูกจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันว่าลูกจ้างจะต้องอยู่ให้ครบฤดูกาล เพื่อที่จะได้เงินออมก้อนนั้นกลับคืนมา แต่กลับกลายเป็นว่าบางครั้งนายจ้างบางคนที่เล่ห์เหลี่ยมต่อลูกจ้างกลับไม่คืนเงินออมให้ พร้อมเล่ห์เพทุบายที่ทำให้เหล่าลูกจ้างหรือแรงงานต้องถอดใจ และไม่กล้าฟ้องร้องทางคดีความ เพราะการเป็นแรงงานหาเงินวันต่อวันนั้นหมายถึงเวลาของพวกเขามีค่าต่อปากท้องและครอบครัวในทุก ๆ วินาทีและสิ่งนี้คือความเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญ 

เมื่อฝนของฤดูได้เริ่มโปรยปรายปลายเดือนมิถุนายน เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงว่าถึงช่วงเวลาที่ฤดูกาลแห่งความสนุกสนานของทุก ๆ คณะหมอลำต้องสิ้นสุดลง การปิดฤดูกาลของเหล่าแรงงานผู้ทำงานหามรุ่งหามค่ำในการเดินทางทัวร์ทั่วประเทศไทย แรงงานจำนวนมากกลับภูมิลำเนาของตัวเองเพื่อไปหว่านเมล็ดพันธุ์พืชในไร่นาของตัวเอง หวังเป็นหลักประกันให้ตนและครอบครัวอิ่มท้องในวันที่ไม่มีงาน และเป็นช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจครั้งใหญ่ของหลาย ๆ คณะหมอลำว่าอนาคตในฤดูกาลหน้าของวง ศิลปินคนไหนจะอยู่ หรือจะไป  

ัญญา ฤดูกาล และการรวมตัว ใบเบิกทางอาชีพ ‘หมอลำ’

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้มีการประชุมภาคีหมอลำ ซึ่งเป็นการรวมตัวผู้ประกอบการ หรือ หัวหน้าคณะหมอลำในภาคอีสานเป็นจำนวนทั้งสิ้น 25 คณะ และมีคณะใหญ่อย่าง ระเบียบวาทะศิลป์ ประถมบันเทิงศิลป์ สาวน้อยเพชรบ้านแพง หมอลำใจเกินร้อย อีสานนครศิลป์ ฯลฯ  เพื่อพูดคุยแก้ไขและเป็นกระบอกเสียงถึงปัญหาของคณะหมอลำในภาคอีสาน 

จากการประชุมได้มีมติที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกระแสสังคมหมอลำและแฟนคลับในเรื่องของสัญญา ภายใน 25 คณะได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่า

“หากศิลปินฉีกสัญญาในฤดูกาลนั้น ศิลปินคนนั้นจะไม่มีสิทธิ์ขึ้นแสดงต่อกับวงในภาคีทั้งหมด หรือ เรียกว่าจะต้องถูกพักเพื่อปรับทัศนคติ หนึ่งฤดูกาล และต้องจ่ายค่าฉีกสัญญาให้กับวงเดิมเป็นจำนวนเงินสูงสุด สองล้านบาท” 

โดยนับแต่นี้ไป ศิลปินทุกคนที่อยู่ภายใต้วงภาคีจะต้องทำการลงนามในสัญญา ที่เป็นข้อตกลงว่าศิลปินคนนั้นจะอยู่ในนามของวงเป็นจำนวนกี่ปี และการอยู่ในวงจะได้รับอะไรบ้าง เช่น มีงาน 200 งานต่อปี ได้ออกเพลงส่วนตัว ฯลฯ โดยข้อตกลงนี้จะมีผลก็ต่อเมื่อมีการลงนามความยินยอมทั้งฝ่ายหัวหน้าวง และฝ่ายของศิลปิน 

แต่จะลงนามหรือไม่นั้นเป็นสิทธิของศิลปิน และถ้าหากไม่ลงนาม ก็ย่อมได้ แต่จะต้องทำใจถึงผลประโยชน์และการผลักดันของวงว่าจะได้รับไม่เท่ากับบุคคลผู้ลงนามสัญญา และหากศิลปินที่ไม่ลงนามสัญญา ลงเวทีก่อนจบฤดูกาล ก็จะไม่สามารถขึ้นแสดงในวงอื่นในภาคีเช่นเดียวกัน 

ทางภาคีได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อตกลงนี้สร้างขึ้นมาเพื่อวงหมอลำคณะเล็ก ๆ ที่มักถูกวงใหญ่ดึงตัวนักแสดงไปกลางฤดูกาล และให้เงินมาฉีกสัญญากับคณะเดิม ทำให้เกิดปัญหาการแสดงในฤดูกาลนั้นที่ซ้อมมาพร้อมกันอีกกว่า 200 ชีวิตภายในวง ต้องชะงักกลางฤดูกาล อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่แรงงานอย่างศิลปินสามารถต่อรองกับนายจ้างได้ โดยการสามารถทวงถามถึงสิ่งที่อยู่ในสัญญาว่าได้รับครบหรือไม่ 

“เป็นการให้ศิลปินตระหนักรู้พิจารณา ก่อนที่จะเซ็นสัญญาว่าตัวเองสามารถทำตามข้อตกลงได้หรือไม่”

และในวันนั้นภาคีได้มีการพูดคุยถึงการสร้างความมั่นคงในคณะหมอลำ โดยการสร้างนโยบายหมอลำปริญญาตรี คือการที่หมอลำมีสิทธิ์ในการเรียนปริญญาในมหาวิทยาลัยไปพร้อม ๆ กับการเป็นหมอลำ 

“เพราะทางภาคีมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นใบรับประกันทางสังคมอย่างหนึ่ง และมีการผลักดันในอาชีพหมอลำเป็นอาชีพที่ถูกรับรอง”

รวมถึงการสอบวิชาชีพหมอลำเพื่อวัดระดับความสามารถที่เปรียบเทียบเป็น ปวช. ปวส. เพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษา และมีความมั่นคงในการยืนเพื่อไปยื่นขอสินเชื่อทางการเงิน ส่งเสริมความคล่องตัวทางการเงินของผู้คนในคณะ เพื่อต่อยอดอาชีพในอนาคต 

ถึงคุณพ่อ คุณแม่ ที่เคารพ

หนึ่งในวัฒนธรรมที่มีมาอย่างช้านานของคณะหมอลำ คือการอยู่อาศัยกันแบบครอบครัว เนื่องจากการจะต้องออกทัวร์เป็นระยะเวลานานติดต่อกันถึงเก้าเดือน ทำให้สมาชิกในวงจะต้องคอยช่วยเหลืออาศัยและกินข้าวหม้อเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งได้ไปเล่นในพื้นที่ที่ห่างไกล ก็จะได้ทานอาหารเติมแรงจากกับข้าวที่ทางวงเตรียมหาไว้ให้ รวมทั้งความเคารพและศรัทธาต่อหัวหน้าวงในสมัยดั้งเดิมที่เป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิชาการร้องลำเต้นให้แก่หมอลำเป็นความรู้ติดตัวในการทำมาหากิน และถูกมองว่าเป็นผู้ให้โอกาสผู้คนได้มีอยู่มีกิน หลุดพ้นจากความยากจนข้นแค้นของความแห้งแล้งในภูมิภาคอีสาน ที่ทำให้ตัวหมอลำ และครอบครัว มีอยู่มีกินและลืมตาอ้าปากได้  

จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หัวหน้าวงนั้นเปรียบเสมือนพ่อและแม่ของลูกวง 

เมื่ออำนาจนิยมในที่ทำงานผสานเข้ากับวัฒนธรรมความรู้สึกทางใจของการเป็นครอบครัว สิ่งที่ตามมาคือความจงรักภักดีต่อองค์กรที่แฝงมาในนามการกตัญญูรู้คุณ 

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก ที่หมอลำจะกตัญญูต่อพ่อแม่วงที่คอยผลักดันพวกเขาให้เด่นให้ดังและมีธรรมเนียมที่ว่าเกิดจากหมอลำคณะไหนจะต้องตายที่หมอลำคณะนั้น ต่อให้วงจะลำบากเพียงใดจะต้องอยู่เคียงข้างวง

และเป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อไปถึงกลุ่มแฟนคลับหรือเหล่าพ่อยกแม่ยกที่ติดตามผลงาน จะมักติดตามศิลปินที่อยู่ในวงที่ตนเองชื่นชอบ 

“บางวงไม่จ่ายค่าจ้าง ครึ่งปี หนึ่งปี ก็มีนะ เขาหมุนเงินไม่ทัน ใครจะไปอยู่ไหวเราก็ต้องออก” เมื่อฉากหลังของแรงงานคณะหมอลำเจ็บปวดกว่าที่คิด ฐานแฟนคลับและภาพลักษณ์ต้องรักษา แต่ปากท้องและความอยู่รอดของตัวเองและครอบครัวก็สำคัญ นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลหนึ่งที่ ทำให้หมอลำ บางคนต้องลงกลางฤดูกาล เพื่อหาความมั่นคงที่ดีกว่าในชีวิตและเส้นทางอาชีพของพวกเขาที่ไม่มีอะไรมารับรองแต่หลายต่อหลายครั้ง พวกเขากลับกลายถูกตราหน้าว่าเป็นคนอกตัญญู 

ด้วยเหตุผลของทางอำนาจแฝงเหล่านี้ทำให้เกิดคติที่เชื่อว่า หากทางผู้บริหารคณะ หรือหัวหน้าวงตัดสินใจสิ่งใดแล้ว นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด ดั่งเช่นพ่อแม่ที่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเสมอ 

เมื่อเกิดการรวมตัวของนายจ้างที่เปรียบเสมือนพ่อแม่ผู้มีพระคุณต่อเหล่าแรงงานในรูปแบบภาคีหมอลำ หากเป็นเช่นนี้ เหล่าแรงงานภายใต้ภาคีจะถูกการันตีถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้หรือไม่ 

บุญวาสนาเพียงมายา สิทธิ-สวัสดิการแรงงานคือสิ่งที่มั่นคง 

“แล้วถ้าเขาเปลี่ยนคณะกรรมการขึ้นมา นโยบายจะยังเหมือนเดิมไหม” คำถามที่สำคัญจากปากคำของสมาชิกวงหมอลำที่อยู่ภายใต้ภาคีถามถึงนโยบายที่ก้าวหน้าของการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคณะหมอลำในประเทศไทย 

ที่แม้จะเป็นความหวังครั้งใหญ่ของอาชีพหมอลำแต่สุดท้ายเส้นทางของนโยบายนี้ ก็ไม่มีสิ่งที่แน่นอนสำหรับชีวิตแรงงาน ถ้าหากผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามา ไม่ได้มีแนวความคิดก้าวหน้าและเห็นใจแรงงาน ชีวิตของพวกเขาจะยังคงหวังว่าจะดีขึ้นได้ดังเดิมหรือเปล่า 

หรือสุดท้าย ความไม่แน่นอนและมั่นคงที่พวกเขาเผชิญมาตลอดชีวิตของการเป็นหมอลำจะกลับมาอีกครั้ง

ความไม่แน่นอนที่หมอลำและคณะเป็นการประกอบอาชีพที่ไม่ถูกรับรองจากทางภาครัฐ หรือที่เรียกว่าอาชีพอิสระหรือการเป็นแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีสัญญาในการจ้างที่แน่นอน และทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองเนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าใครคือผู้เป็นนายจ้างที่แท้จริง  

“การรวมตัวนายจ้างเป็นเรื่องที่ดีกับแรงงานโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ เพราะเมื่อนายจ้างรวมตัวกันทำให้ลูกจ้างมีคู่เจรจาที่ชัดเจน 

แต่เมื่อนายจ้างรวมตัวกันเขาจะผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ที่ดีกับเขาไม่ใช่แรงงาน “ 

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ หรือ CUT (Creative Workers Union Thailand) กล่าวถึงกรณีภาคหมอลำต่อปรากฏการณ์การวิพากษ์วิจารณ์สัญญาศิลปินหมอลำที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย

“คนตัวเล็กมีอำนาจมากกว่าคนตัวใหญ่อยู่แล้ว แค่คุณโพสต์ลงโซเชียลถึงความอยุติธรรมที่คุณเจอ แฟนคลับก็พร้อมซัปพอร์ต และหัวหน้าวงต่าง ๆ ไม่มีใครอยากเสียชื่อเสียงหรอกครับ” เฮียหน่อย หมอลำไอดอล พูดถึงอำนาจต่อรองที่มีในมือของเหล่าหมอลำ ที่มีมากกว่าผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างถึงความสมเหตุสมผลของสัญญาและนโยบาย ที่ไม่ต้องเกรงกลัวความไม่เป็นธรรม ว่าเหล่าแรงงานสามารถใช้โซเชียลเป็นเครื่องมือสิทธิและสวัสดิการคุณภาพชีวิตของแรงงานได้ 

“พอโพสต์ลงโซเชียล วงอื่นก็จะไม่อยากรับเข้าทำงานต่อ เพราะกลัวเอาเรื่องในวงไปโพสต์ เพราะทำแบบเดียวกันแทบจะทุกวงเลย ขนาดจะให้สัมภาษณ์หรือพูดถึงปัญหาในวงการในกลุ่มเฟซบุ๊ก ก็จะต้องปกปิดตัวตน เพราะกลัวไม่มีงาน กลัวอดตาย “  

สิงห์พูดถึงการยกของคณะหมอลำว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้รับการแก้ไข และเหล่าแรงงานถูกทำให้มองเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ  

การยกในคณะหมอลำ คือการที่ขึ้นแสดง แต่งานนั้นไม่ได้รับค่าจ้าง หรือเรียกว่าเล่นฟรีให้ทางวง แต่ทางวงก็จะได้รับเงินเต็มจำนวนเช่นเดิมจากทางผู้จัด เช่น เล่น 7 งาน ยก 1 งาน เป็นธรรมเนียมที่หลายวงในวงการหมอลำใช้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการจ้างงาน  

โดยทางคณะและผู้บริหารชี้แจงว่า งานยก เป็นการนำเงินจากงานนั้นมาบริหารจัดการให้วงสามารถไปต่อ และเพื่อสามารถจ่ายเงินค่าจ้างให้กับสมาชิกในวงในงานต่อไปได้ 

ตามมาตรา 76 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อชำระภาษีตามที่ลูกจ้างต้องจ่าย ค่าบำรุงสหภาพแรงงาน เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 และ เป็นเงินสะสมตามกองทุนที่ได้ตกลงไว้ โดยห้ามเกินร้อยละสิบหรือหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิ  

“การยกคือการเบียดเบียนคนทำงาน แรงงาน ลูกน้องในวง ฤดูกาลนึงมี 200 กว่างาน เท่ากับยกไปแล้ว 30 งานเป็นอย่างต่ำ เท่ากับ 1 เดือน ที่คนในวงเล่นไปฟรี ๆ บางคนเก็บไว้เป็นค่าเทอม ค่านมลูกได้ เก็บเป็นค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ หรือของตัวเอง 1 เดือนนี่เยอะมากสำหรับคนที่ไม่เคยมีอะไรรองรับอยู่ข้างหลังเมื่อล้มลง“ 

“กฎหมายควรจะรองรับเราเป็นแรงงานเพื่อมีสิทธิในการรวมตัว และกฎหมายแรงงาน สวัสดิการทั้งหมดต้องครอบคลุมเรา ไม่ใช่เราจะมานั่งรอให้นายจ้างที่มีอำนาจมากกว่าเราอยู่แล้ว มาคอยมอบสิทธิที่เราควรจะได้รับตั้งแต่แรก”  

สิงห์กล่าวทิ้งท้ายถึงความกดดันภายใต้การทำงานวงคณะหมอลำว่าพวกเขาก็เป็นคนทำงานและเป็นแรงงานที่ควรได้รับการคุ้มครอง  

เขาเล่าเรื่องราวถึงจุดเริ่มต้นด้วยใจที่รักในการลำและผู้คนในคณะต่างทำงานนี้ด้วยใจที่รักในเสียงเพลงผสานกับความอยู่รอดของชีวิต ไม่มีสมาชิกวงผู้ลงแรงลงใจไปกับคณะคนใดอยากจะเห็นคณะที่ตัวเองอยู่ล่มสลายเพราะการขาดทุน แต่จะเป็นการอันดีถ้าหากมีการเจรจาที่ชัดเจนและโปร่งใสระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ถึงค่าแรงที่เป็นธรรม  

“แรงงานต้องมีอำนาจและเป็นส่วนหนึ่งของการร่างสัญญาการจ้างงาน เพราะมันเกี่ยวกับชีวิตของเรา กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าทำไมต้องมีสหภาพ เพื่อต่อรอง ถ้าเราไม่มีสหภาพเขาก็จะเขียนสัญญาแบบไหนก็ได้ขึ้นมา หรืออย่างสัญญาที่มีความโน้มน้าวให้ยินยอมลงนาม โดยเอาสิทธิประโยชน์มาอ้างที่สุดท้ายก็เป็นการผลักภาระมาให้ลูกจ้าง” 

“ค่าแรงที่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ถูกใช้เป็นเครื่องมือบดบังในสิทธิของเหล่าแรงงาน เช่น สิทธิในชั่วโมงทำงาน การได้พักผ่อน สวัสดิการ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ความมั่นคง ความปลอดภัยในที่ทำงานที่นายจ้างต้องรับผิดชอบนั้นกว้างกว่าค่าแรง”

“การได้ค่าแรงดีแต่ต้องซื้อประกันสุขภาพเอง การศึกษาลูกหลานพ่อแม่ เมื่อไม่มีสวัสดิการก็ไม่มีความมั่นคง จริงที่ค่าแรงที่ดีกว่าแต่มันก็ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทางสังคมได้ ”

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์

สิทธิการรวมตัวกันของแรงงานหรือตั้งสหภาพแรงงานเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนทำงานหนักเหล่านี้จะสามารถส่งเสียงและพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง

และสหภาพหมอลำนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่นนอกเสียจากแรงงานในวงการหมอลำต้องพูดคุยกันเองและพูดปัญหาที่เกิดขึ้นออกมาเอง ไม่มีใครรู้ปัญหาภายในได้ดีเท่าพวกเขา และองค์กรพันธมิตรแรงงานในไทย ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ แต่ต้องเริ่มจากการรวมตัวของพวกเขาเสียก่อน ถ้าคนทำงานหมอลำมารวมตัว ทุกคนต่างมีปัญหาในที่ทำงาน รู้ว่าอะไรควรได้แต่กลับไม่ได้ ความรู้สึกไม่พอใจว่าทำไมสิ่งนี้เราต้องรับผิดชอบเอง เราจะไม่ได้รู้สึกคนเดียว แต่จะมีคนอีกมากที่รู้สึกร่วมกัน เราจะเจอเพื่อนในวงการเราที่เจอเหมือนเรา และเราจะรู้ว่าสิ่งนี้ต้องเปลี่ยน และรู้ว่าเราไม่ควรมาเจอ

เมื่อรวมตัวกันได้ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ 

“การรวมตัวคนทำงาน ไม่ใช่แค่รวมตัวเพื่อภายในพื้นที่ทำงาน แต่ยังส่งผลถึงเรื่อง สวัสดิการ ความเป็นคน ความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม ถ้ารวมตัวได้แข็งแรงจะขยายได้กว้างขึ้นต่อเรื่องที่มีผลกระทบกับเราทั้งในตอนนี้และอนาคต” 

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ 

สหภาพแรงงานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างลูกจ้างและนายจ้างในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้สัญญาที่เป็นธรรมและถูกรับรองโดยกระทรวงแรงงาน ผ่านมติและความคิดเห็นของแรงงานอย่างครอบคลุมถึงความเสี่ยงในทุกมิติทางสังคม ไม่ใช่สัญญาที่มาจากนายจ้างฝ่ายเดียวที่บีบให้ลงนามเพื่อความอยู่รอดของชีวิต หรือสิทธิพิเศษที่มาจากการถูกขูดรีดและเลือกปฏิบัติ

“เราเป็นคนที่ผลิตมูลค่าเพิ่มให้คนอื่น ที่เป็นแสนเป็นล้าน  เรากำลังผลิตมูลค่าเพิ่มอย่างมาก ไม่จะเป็นอาคาร ถนน การแสดง ความบันเทิง

แต่เราได้รับค่าจ้างเป็นค่าเศษเสี้ยวของมูลค่าเพิ่มนั้น ฉะนั้นเราเป็นแรงงานเหมือนกัน เพราะมูลค่าเพิ่มถูกกินไปโดยคนอื่น นายจ้าง นายทุน ถ้าเรารวมตัวคนที่สร้างสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะต่อรองได้“

สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ 

หากภาครัฐเล็งเห็นถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในอุตสาหกรรมหมอลำที่เป็นแรงงานสร้างสรรค์ และเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อลดการปะทะในการต่อรองอำนาจ รับรองสถานะการเป็นแรงงาน จะเกิดระบบนิเวศที่เอื้อให้แรงงานสามารถมีชีวิตที่มั่นคง โดยเฉพาะในยุคเสรีทุนนิยมที่ก้าวหน้าและเติบโต ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมการรับชมของผู้ชมเปลี่ยนแปลงไป เวที ฉาก และแสงสีเสียงจะต้องยิ่งใหญ่และมีคุณภาพ เพื่อเอาชนะใจผู้ชมให้อยู่หมัดที่ทำให้หมอลำไม่ใช่เรื่องของนักแสดงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักดนตรี แดนเซอร์ คนประกอบเวที คนทำฉาก คนดูแลเสื้อผ้าหน้าผม ที่ทำให้หมอลำโดดเด่นขึ้น แต่ในปัจจุบันพวกเขากลับต้องเผชิญความเสี่ยงที่สูง หากพวกเขาเรียกร้องถึงชีวิตที่ดีกว่าในการทำงาน ก็อาจถูกไล่ออกและหาคนแทนที่ ทำให้การเก็บองค์ความรู้ และเอกลักษณ์ของหมอลำที่จะถูกพัฒนาต่อยอดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เป็นไปได้ยากขึ้น 

การสร้างสหภาพแรงงานจะช่วยให้อุตสาหกรรมหมอลำอยู่ได้อย่างยั่งยืน การสนับสนุนและการรวมตัวกันของแรงงานจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา 

พวกเขาจะไม่เผชิญความอยุติธรรมในการจ้างงานอย่างโดดเดี่ยว

พวกเขาจะไม่ต้องกังวลถึงอนาคตเมื่อจบฤดูกาลที่ไม่แน่นอน

พวกเขาจะไม่ต้องกังวลถึงปากท้องของคนที่รักที่รออยู่ข้างหลัง

พวกเขาจะไม่ต้องกังวลในวันที่ป่วยหนัก แก่ตัวลง ว่าจะสูญเสียรายได้  

พวกเขาจะถูกยอมรับว่า เป็นแรงงานที่ประกอบอาชีพที่มั่นคง สุจริต ด้วยใจรักพร้อมความสามารถในการสร้างสรรค์ความบันเทิงของพวกเขา

สหภาพแรงงานคือการสร้างความหวังและความเป็นธรรมในอุตสาหกรรมหมอลำ ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพให้กับผู้ชมซึ่งจะทำให้คณะหมอลำสามารถทำการแสดงที่สมกับการรอคอยของแฟนคลับและสามารถเติบโตไปอย่างมั่นคงในอนาคต