ครืดดดดด แกร๊ก! เขาดันลิ้นชักเข้าเต็มแรง สี่ ไม่สิ! ห้าครั้งแล้ว “อ่า ปิดไม่ล่าย” เธอเป็นสิ่งไม่มีชีวิตเดียวที่เรียกร้องเกินไปหรือเพราะเขาไม่แยแสต่อสิ่งใดอีกแล้ว ลำพังตัวมันเองก็กระจ้อยร่อย สูงแค่ 45 cm แต่ถมทับไปด้วยกระดาษยับย่น สำเนาคดีเบนนี่ เบห์แนมน่ะ เรื่อยไปจนถึงบทสารคดี AFTER: Father Death ที่เขาไม่ได้เป็นผู้แสดง แต่ขีดเขียนให้เปิดฉากจาก ฝูงวัวแดง เพ่งพินิจนาฏกรรมของตนเองดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย
เสียงร้องของผู้แพ้ ในกลางดึกคืนนั้น
ราวกับฉากสุดท้ายของเสือที่ชื่อ ‘ธนากร’
เป็นการจากไปในฉากที่ไม่มีการต่อสู้ ปราศจากเสียงขู่คำราม
หลังได้รับอีเมลฉบับนั้น ทีมวิจัยพบสัญญาณจากปลอกคอ 83806 ซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวของเสือโคร่งที่ชื่อ ‘ธนากร’ อายุ 10 ปี “แต่เป็นไปได้ที่ปลอกคออาจทำงานผิดปกติ” หัวหน้าโภช-สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ เล่าให้เขาฟัง เช้าวันถัดมามีโทรศัพท์ติดต่อกลับมายังสำนักงานวิจัยว่า 83806 ตายแล้ว
มันไม่เหมือนการต่อสู้เอาเป็นเอาตายอย่างที่เขาคิดเลยสักนิด สัญญาณสุดท้ายก่อนสิ้นลม ธนากรใช้ชีวิตลัดเลาะตามแนวเขตที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น บ้าน ไล่หลังเจ้าของบ้านตัวใหม่ที่แข็งแรงกว่า จนมันต้องขยับเข้ามาใกล้ชุมชนมนุษย์ ตามคำบอกเล่าของสองพ่อลูก ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์คืนนั้น
“งัวตัวนั้นท้องแก่ใกล้จะออกลูกอยู่แล้ว
หลานผมก็ยืนคุยโทรศัพท์ ห่างจากเสือไม่ถึงสิบเมตรนะ
คืนนั้นเสือกัดงัว ก็ว่าทำไมงัวถึงร้องจัง”
มันจะมีเหตุผลอะไร ถ้าไม่ใช่ความหิว เขาคิด
กระทั่ง มันถูกยิงยาสลบก่อนนำตัวขึ้นรถ กลับคืนผืนป่าห้วยขาแข้งอีกหน แล้วก็เป็นวันธรรมดา ๆ ที่ธนากรออกล่าได้สำเร็จ กลิ่นของอาหารมื้อใหญ่ปะทะเข้ากับจมูกเจ้าถิ่น เป็นภาษาพี่โคร่ง “เรียกแขก” มาร่วมโต๊ะ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่จากคำบอกเล่าของนักวิจัยยืนยันตรงกันว่า ธนากรไม่ต้องการ สู้ หรือ ตอบโต้ บนโต๊ะอาหารที่ฉากหลังคือผืนป่าอันรกทึบ จึงปราศจากร่องรอยการต่อสู้ เพียงแต่ธนากรโอบรับต่อโชคชะตาสำหรับการดำรงอยู่ในสถานพำนักที่เคยเป็น “บ้าน” ตลอดกาล
เช้าวันนั้น, มันดูอึมครึมพิลึก คนแถวบ้านเรียกฮ้อนอวม อาการเหมือนฝนจะตกแต่ไม่ตกทำนองนั้น ความทรงจำกระท่อนกระแท่นผุดพลัน เมื่อดวงตาคู่นั้นจ้องมองมาจากผนังบ้าน ลายตัวนี้ไม่เหมือนธนากรเลยเฮะ! เขาทึกทักไปแบบนั้น ก็สองสามวันมานี้เอาแต่หมกมุ่นกับฟุตเทจ “เสือธนากร” จนเก็บไปฝัน
นั่งเป็นกำกึดไปก็เท่านั้น จนกว่าจะเขียนออกมา เขาพึมพำกับตัวเอง
ดูสิ! มันนอนราบไปกับหินผาวางฝ่าเท้าไว้เบื้องหน้า โดยมีแอ่งน้ำอยู่เบื้องหลัง สะท้อนเรือนร่างสีไฟและเงาป่าพระอาทิตย์ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของธรณี ดวงตาสงบนิ่งดั่งผู้ทรงศีล ใบหูของมันขยับรับสัญญาณจากหอบังคับการภายในจนเป็นหนึ่งเดียวกับเอกภพทั้งมวล
“มันเป็นพ่อของวิจิตรหรอกรึ” เธอถาม เขาพยักหน้า
“คนกับเสือน่าจะอยู่ชั้นสอง” ชายชราผู้ที่เขาเคารพเหมือนพ่อแท้ ๆ เอ่ยขึ้น
หน้าในสลักไว้ แด่… ‘วิจิตร’ ผู้พยายามแล้วที่จะอยู่อย่างเสือ พลิกไปอ่านปกหลัง พึมพำอยู่ในลำคอ
มันไม่เคยล่าสัตว์อื่นด้วยเหตุผลที่มากกว่าความหิว ไม่เคยฆ่าเพื่อสนองความต้องการด้านอำนาจ และไม่เคยมีข้อเรียกร้องใดต่อสัตว์พันธุ์เดียวกัน มันอยู่โดยลำพังเป็นส่วนใหญ่ หากไม่นับห้วงเวลาที่ฟ้าดินสั่งให้มีความรักแล้วก็อาจต้องถือว่ามันเป็นสัตว์โดดเดี่ยวที่สุดชนิดหนึ่ง ทั้งโดดเดี่ยวและสันโดษ
เรื่องราวของสองพ่อลูกพรานป่าที่ฟ้าดินลิขิตให้พบพานกับแววดาวอีกคู่ในเอกภพ มันอาจจะเป็นนาทีนี้หรือชั่วโมงหน้าที่เสือตัวนั้นจะเข้ามากินซากวัวของชาวบ้าน ผู้เป็นพ่อรู้ดีว่าคู่ต่อสู้ครั้งนี้คือพัฒนาการสูงสุดของชีวิตในผืนป่า สองพ่อลูกไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องเผชิญหน้ากับมัน
“ทำไมถึงต้องเป็นฉันด้วย” ลูกชายเอ่ยปากถามพ่อซึ่งเป็นพรานมือฉมังของหมู่บ้าน เป็นคนแรกที่คนทั้งบางถามหาเมื่อข่าวเสือกินวัวแพร่สะพัดออกไป “เพราะกูแก่แล้ว” พ่อตอบสั้น ๆ กูออกตามมันไม่ไหว นั่งห้างไม่ได้ ปากก็ไอ มือก็สั่น มึงเป็นลูกกู มึงต้องยิงมันแทนกู
ฉากตอนหนึ่งของหนังสือที่ทำงานกับเขาในฐานะผู้อ่านให้กลายเป็นส่วนหนึ่ง ผกผันกับสิ่งที่เป็นของตัวแสดงเอก มันยิ่งกว่าศักดิ์ศรี “กูเป็นพราน ถ้าเสือเข้าหมู่บ้านนี้ได้ กูจะเรียกตัวเองว่าอะไร” ความเป็นมนุษย์ของผู้เป็นพ่อต่อสู้กับความจำเป็นบังคับให้ต้องฆ่า เราอ่านใจผู้เฒ่าผ่านสายตาของลูกชายที่ทึกทักไปว่าพ่อส่งให้ไปเรียนหนังสือในเมืองก็เพื่อให้หลุดพ้นไปจากชีวิตพรานสันโดษแบบที่พ่อใช้มา พ้นจากประโยคนั้นคือความทรงจำอันพร่าเลือน วุ่นวิ่น จนไม่อาจจำแนกโลกจริงหรือเรื่องสั้น ข่มตานอนไปในความมืด
เนิ่นนานพอให้พื้นที่สำหรับเขา/เรา หดแคบ กระทั่งรู้สึกถูกไล่ล่า ไขว่คว้าหาความอยู่รอดในส่วนลึกของจิตใจ มิใช่เป็นเพราะมีผู้ใดอยากเอาชีวิต หากเพราะทั้งเขาและเราเริ่มรู้สึกคล้ายตนเองไม่มีชีวิต
เรื่องราวดำเนินไปอย่างเนิบนิ่ง แต่ดิ่งลึกสู่ห้วงนึกของการเคลื่อนไหวใช้ชีวิต ฉัน/คุณก็ไม่ต่างกันหรอก
เคยสิ มันต้องมีสักครั้งที่คุณรู้สึกแปลกแยกกับผู้คนและสถานที่ แม้แต่ในศาสนสถาน สวนสาธารณะ ที่ทำงาน กระทั่ง Café & Bar เธอเปิดโน๊ตบุ๊กนั่งประชุมในมุมสลัว ชายสูงวัยกึ่งนั่งกึ่งหลับขณะที่วัยรุ่นสามสี่คนนั่งดื่มโดยไร้บทสนทนามีเพียงแสงฟ้าจากหน้าจอที่เลื่อนไลก์ไถฟีด หลังสงครามแห่งการเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองยืดเยื้อยาวนาน ทันใดแสงไฟในบาร์ก็สว่างจ้าน้ำตาก็รื้น บทเพลงสุดท้ายกลายเป็นเพลงอกหักมากกว่ารักทั้งปวง
เขาพูดกับคนน้อยลง ทั้งที่อยากจะพูดกับใครสักคน เขาเพียงต้องเดินไปอย่างนั้น เพราะมันกลายเป็นวิถีเดียวที่จะเดินไปสู่จุดหมายบางอย่าง พื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวใช้ชีวิตหดแคบลง ขณะที่พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในใจนับวันจะยิ่งขยายอาณาเขตปกครอง
ในที่สุดก็มาถึงจุดที่ เขา/เรา ต้องเลือก ระหว่างบุกเบิกพื้นที่อย่างแรกหรือการดูแลพื้นที่อย่างหลัง
แต่ก็พบว่าแท้จริง คือสมรภูมิเดียวกัน
ใช่! ในเรื่อง เขาออกจากงาน และได้เป็นเจ้าของวิญญาณตัวเอง บางค่ำคืน นอนขดตัวอยู่ในมุมมืดเหมือนสัตว์ป่าบาดเจ็บ ยามนั้นได้แต่ฝันถึงดวงดาวเกลื่อนเหนือทุ่งกว้าง ราวกับโหยหาบ้านเกิดดั้งเดิม ยิ่งวิญญาณถูกโบยตี ยิ่งฝันถึงส่วนที่หายไป ฝันถึงความรักในความหมายสูงสุดของถ้อยคำ และมาบรรจบกันที่การเดินทางโดยลำพัง จนกว่าจะเจอเสือตัวนั้น มันเป็นทั้งหมดของชีวิต หรือเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งนั้นยังมีอยู่
การพบพานคือจุดหมาย เพื่อกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งยามได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เหมือนเดินทางกลับไปยังเส้นทางเดิมอีกหน แต่ไม่ใช่คนเดิมนะ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ ‘วิจิตร’ เป็นลูกของ ‘ธนากร’ และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เขาจะทำสารคดีชุดนี้ขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย หากไม่ใช่อิทธิพลทางความคิดและปัญญาที่ล่าลึกระดับจิตวิญญาณได้รับมาจาก “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ผู้เคารพรักศรัทธา นอกจากพระเจ้าที่มีความหมายอันสูงสุด เขายกอาจารย์เสกฯ ให้เป็นพ่อ ผู้เป็นคุรุทางปัญญา และเป็นผู้ไม่ยอมจำนนต่อสิ่งใด
คุณจะรู้ว่าคุณเป็นใคร หรือต่อให้เดินลงแม่น้ำยาระเดนเป็นครั้งที่สอง เขาก็ไม่ใช่คนเดิม
คืนนั้น, โฟล์คซองบรรเลงเพลงรัก “คิดถึงควนเนียง บ้างเหรียงบ้านเจ้ามั่นหม้าย…” ใฝ่ฝันถึงดินแดนเหนือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ชาโรน เพราะไม่ว่า คนหรือสัตว์ป่า เราต่างถูกเบียดขับให้ออกไปเผชิญหน้ากับความเปราะบางอย่างโดดเดี่ยว
“คุณทำสารคดีสัตว์ป่าเหรอ”
เขาส่ายหัว ปฏิเสธไปซื่อ ๆ มันไม่ใช่สารคดีสัตว์ป่าหรอกค่ะอาจารย์
มันเป็นสารคดีชีวิตที่ชะตาลิขิตให้หาฐานที่มั่นสุดท้าย
คล้ายว่าจะสามารถซ่อมแซมรอยสึกกร่อนของกาลเวลา
บัดนั้น ชีวิตและสรรพสิ่งก็คือ เลือดเนื้อของเรา
เสียดายอยู่อย่างเดียว เจอหนังสือเล่มนี้ช้าไปหน่อย
“แล้วเจอมั้ยล่ะ” เธอถาม
เจอค่ะเจอ! เขา/เรา เพ่งลึกในดวงตาคู่นั้นอยู่เนิ่นนาน ตัวอักษรของ “เสกสรรค์” บรรจงภาพขึ้นในใจ
มันหมอบนิ่งเป็นรูปสลักของกาลเวลา เขารู้สึกได้สัมผัสกับบางสิ่งที่คุ้นเคยราวกับเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง
เขาคือเสือ เสือคือเขา หากมันสมควรตาย เขาก็ไม่ควรมีชีวิตอยู่
บัดนี้ เขาได้พบแล้วว่าดินแดนที่เขาฝันถึงไม่ทุ่งหญ้าชาโรน
และยิ่งไม่ใช่ที่ทางที่เขาสังกัด หากคือทุกสิ่งทุกอย่างในแววตาคู่นั้น
เขาพนมมือ แล้วเลือกตายอย่างสงบศพสีชมพู และเป็นอีกครั้งที่ “เสกสรรค์” ตั้งใจให้ผู้อ่านเลือกฉากจบของตัวเอง แม้ในชีวิตจริง เรามักไม่ค่อยได้เลือกตอนจบของเรื่องราวที่ตนเองเผชิญ
Playread: คนกับเสือ
ผู้เขียน: เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์: Praphansarn
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี