อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของผู้วาง “กฎเกม” ทางการเมืองในอุษาคเนย์
คำโปรยของหนังสือ “The Ruling Game : ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เขียนโดย รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช เป็นหนังสือที่สำรวจถึงวิธีการที่ชนชั้นนำในภูมิภาคนี้ใช้อำนาจเพื่อสร้าง และรักษาอิทธิพลของตนในระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม
หนังสือเล่มนี้ นำเสนอการวิเคราะห์เกี่ยวกับการบริหาร และการจัดการอำนาจของชนชั้นนำในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยมุ่งเน้นการศึกษาเครือข่ายอำนาจ และการสร้างความสัมพันธ์ที่มีผลต่อการเมืองระดับชาติและระหว่างประเทศ ตั้งแต่ก่อนยุคอาณานิคมจนถึงยุคปัจจุบัน การมีอยู่ของ กษัตริย์ ศาสนา กองทัพ นักธุรกิจที่มีอิทธิพลและกลายเป็นชนชั้นนำเหมือนกันในทุกประเทศ
หนึ่งในจุดเด่นของหนังสือ คือการนำเสนอวิธีการที่ชนชั้นนำใช้ในการควบคุมทรัพยากร และการกระจายผลประโยชน์เพื่อสร้างความยอมรับและการสนับสนุนจากประชาชน
นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ถึงบทบาทของสื่อในการสร้างภาพลักษณ์และการรักษาอำนาจของชนชั้นนำ ตลอดจนการใช้กลไกต่าง ๆ เช่น การออกกฎหมาย การใช้กำลังทหาร การสร้างเครือข่ายทางการเมือง
หนังสือยังสำรวจถึงความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนทั่วไป โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริหารและการจัดการอำนาจของชนชั้นนำ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การขาดความยุติธรรมทางสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน การวิเคราะห์เหล่านี้ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจถึงความซับซ้อนของการเมืองในภูมิภาค
สามเหลี่ยมแห่งอำนาจ ‘ชนชั้นนำ’
แรกเริ่มความคิดเรื่องชนชั้นปรากฏตั้งแต่สมัยคลาสสิกอย่างปรัชญาการเมืองของเพลโตและอลิสโตเติล ที่แบ่งออกเป็นชนชั้นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง โดยชนชั้นปกครองจะมีจำนวนน้อยแต่สามารถผูกขาดอำนาจ ในขณะที่ชนชั้นถูกปกครองจะมีจำนวนที่มากแต่ถูกบังคับและควบคุมโดยชนชั้นผู้ปกครองเสมอ
โดยคำว่า ชนชั้นนำ ถูกปรากฏใช้ครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ใช้อย่างแพร่หลาย โดยสื่อให้เห็นสังคมที่ไม่เท่าเทียม โดยนิยามของคำว่า ชนชั้นนำนั้นถูกตีความอย่างแพร่หลายในนักรัฐศาสตร์ นักวิชาการ ทั่วทั้งฝั่งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก แต่มีจุดที่คล้ายกันเสมอ คือชนชั้นนำจะเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนน้อย และอยู่ยอดสุดของพีระมิดทางชนชั้นในสังคม พวกเขากุมอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองในสังคมว่าจะให้เป็นไปในทิศทางใด ไม่ว่าจะเป็น อำนาจในมวลชนของพรรคการเมือง อำนาจทางการเงินของกลุ่มนักธุรกิจ และอำนาจทางอาวุธสงครามของกองกำลังทหาร ซึ่งใกล้เคียงกับการจัดประเภทชนชั้นนำ ของ ซี ไรท์ มิลส์ (C. Wright Mills) แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ ชนชั้นนำทางการเมือง ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ และชนชั้นนำทางการทหาร ที่กลุ่มคนสามกลุ่มนี้ ได้รวมตัวกันจนเป็นสามเหลี่ยมแห่งอำนาจและยังมีผู้นำจากสถาบันอื่นในสังคมมาร่วม เช่น สมาคมอีชีพและศาสนา แต่ในความจริงแล้วชนชั้นนำในกลุ่มเหล่านี้มีความใกล้ชิดกันมากจนยากที่จะแยกออกจากกัน โดยแนบแน่นผ่านค่านิยม วิถีชีวิต ความคิดและผลประโยชน์ โดยกลุ่มชั้นนำในสังคมสามารถเปลี่ยนผ่านมือได้ตามเสถียรภาพของสถานการณ์ในสังคม ถ้าสถานการณ์ในประเทศสงบก็จะยิ่งมีการเปลี่ยนผ่านมือของกลุ่มชนชั้นนำที่น้อยลง
China’s Foreign Minister Wang Yi (5th L) poses for a family photo with foreign ministers from the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) countries during the ASEAN-China Ministerial Meeting in Bangkok on July 31, 2019. (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)
การเมืองในภูมิภาคกับประชาธิปไตยแบบเจ้าพ่อท้องถิ่น
การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในอำนาจของเหล่าชนชั้นนำที่ถึงแม้จะแยกออกจากกันยาก แต่การจำแนกประเภทความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันก็สามารถทำให้เห็นภาพของสถานการณ์ในสังคมนั้น ๆ เช่น ประเภทของระบอบการปกครอง ประเภทของทหาร ประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือน ประเภทของผู้นำ ซึ่งประเภทและความสัมพันธ์ของชนชั้นนำในแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกันไปจนเป็นระบอบการปกครองในประเทศนั้น ๆ
ข้อมูลจากหนังสือ ชนชั้นนำ และอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในอาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเรานั้นมีรูปแบบการปกครองที่คล้ายกันเป็นอย่างมากในปัจุบัน นั่นก็คือ ระบบเผด็จการ
ในสิ่งที่น่าสนใจในประเทศเพื่อนบ้านเราคือ ระบอบเผด็จการเลือกตั้งครอบงำที่ใช้การเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจ อย่าง นายก ฮุน เซน ในกัมพูชา และอย่างใน สิงคโปร์ที่มีการจัดการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจรัฐบาลจากพรรคกิจประชาชน โดยสามารถควบคุมอำนาจนิติบัญญัติจนทำให้ประเทศสิงคโปร์ไม่มีระบบทางการเมืองที่ฝ่ายค้านไม่ได้มีพลังมากพอที่จะถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายรัฐบาล
ส่วนระบอบประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์นั้น แม้จะมีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอและสามารถแข่งขันกันได้อย่างหลายพรรค แต่ภายในวัฒนธรรมการเมืองของฟิลิปปินส์ก็ส่งผลต่อความล่าช้าในการเป็นประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่น เช่น อิทธิพลของเจ้าพ่อและเจ้าที่ดินในระบบการเมืองท้องถิ่น จนทำให้ฟิลิปปินส์มีอีกชื่อว่า ประชาธิปไตยแบบเจ้าพ่อท้องถิ่น
และระบอบการปกครองที่คลุมเครือของไทย ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่พรรครัฐบาลก็ไม่ได้เป็นฝั่งที่ชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย แต่เป็นการจัดตั้งพรรครัฐบาลที่มาจากการผสมเสียงในสภาของพรรคต่าง ๆ และพรรคฝ่ายค้านก็มีอำนาจมากพอที่จะถ่วงดุลทั้งในหมู่ประชาชนและในรัฐสภา แต่ที่นอกเหนือกว่าการเมืองในรัฐสภาแล้ว ประเทศไทยยังต้องวิเคราะห์เชิงลึกถึงอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และกลุ่มอนุรักษนิยมที่เป็นผู้มีอำนาจต้น ๆ ในประเทศ
Solidarity ของประชาชนจะต้องไร้พรมแดน
จากการยกตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับเนื้อหาข้อมูลของหนังสือ The Ruling Game : ชนชั้นนำ และอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ในภูมิภาคของเรามีถึง 11 ประเทศด้วยกัน
และเมื่ออ่านจบ สิ่งหนึ่งที่เห็นถึงความเชื่อมโยงคือ การเปลี่ยนผ่านในสถานการณ์ทางการเมืองของภูมิภาคที่มีจังหวะที่ร้อยเรียงกัน อย่างประเทศไทย และ เมียนมา ที่เมื่อ คสช. ได้มีการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งทุกวิถีทางในปี 2562 และได้มาซึ่งการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิดการรัฐประหารในประเทศเมียนมา โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในปี 2564 กองทัพเมียนมาเห็นถึงพลังอำนาจในการรัฐประหาร และสืบทอดอำนาจความมั่นคงของกองทัพไว้ได้อย่างสิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ทำไว้
รัฐประหาร —> กวาดล้างผู้เห็นต่าง —> ปกครองและวางรากเผด็จการและชนชั้นนำอย่างแนบเนียน —> สร้างองค์กรต่าง ๆ เพื่อสืบทอดอำนาจในกติกาการเลือกตั้ง และแสร้งว่าหยิบยื่นโอกาสการเลือกตั้งให้ประชาชนมีหวัง แท้จริงคือการต่อลมหายใจในการกอบโกยผลประโยชน์จากประชาชน และวนกระทำสิ่งเหล่านี้ให้วนไปโดยมีเหล่ากลุ่มนักธุรกิจชนชั้นนำทั้งภายในและนอกประเทศ สนับสนุน อาวุธ และเม็ดเงินให้เกิดการทำรัฐประหารและสงครามโดยแลกเปลี่ยนกับการได้เป็นเจ้าของธุรกิจอย่างผูกขาด ที่ดิน ทรัพยากร ฯลฯ ในประเทศนั้น โดยเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันของกลุ่มชนชั้นนำ ผู้เป็นส่วนน้อยในสังคม
ความสัมพันธ์เหล่านี้ ไม่เคยมีประชาชนผู้ถูกปกครอง หรืออยู่ฐานล่างสุดของพีระมิดเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลยสักครั้ง และนี่คือเหตุผลสำคัญที่การเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เคยเป็นแค่การเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั้นหมายถึงเป็นการเมืองของพวกเราทุก ๆคนที่อยู่ต่างเขตแดนที่เรียกว่าประเทศ รัฐ เช่นกัน การถอดบทเรียนในภูมิภาค และภาคประชาชนสมัครสมานกลมเกลียวนับเป็นอาวุธในการต่อสู้เหล่าชนชั้นนำผู้ขูดรีดและกดขี่ประชาชน เพราะเราไม่สามารถรู้เลยว่า เหล่าชนชั้นนำเหล่านี้ จะมีอิทธิพลและความสัมพันธ์ในอำนาจกับกลุ่มชนชั้นนำผู้ปกครองประเทศของเราอย่างไร
Playread: The Ruling Game : ชนชั้นนำและอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้เขียน: รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช
สำนักพิมพ์: Matichonbook
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี