เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อมหาสมุทรที่เย็นลง - Decode
Reading Time: 2 minutes


Earth Calling

ดร.เพชร มโนปวิตร

“ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ พวกเราจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่มีโอกาสเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ในการสร้างอนาคตที่เท่าเทียม ยั่งยืน และสร้างสรรค์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมทศวรรษนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราต้องปกป้องมหาสมุทร ซึ่งเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่สุดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” – Peter Thomson ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร

ภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อโลกและมหาสมุทร น้ำทะเลที่อุ่นขึ้น มีความเป็นกรดมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และความถี่ของพายุที่เพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้น กำลังคุกคามระบบนิเวศทางทะเลโดยเฉพาะแนวปะการัง และหญ้าทะเล และนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติชายฝั่งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทางรอดของมหาสมุทรในยุคโลกเดือดคืออะไร และการปกป้องมหาสมุทรจะช่วยให้เรารอดพ้นจากภัยพิบัติอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนได้อย่างไร  

ปี ค.ศ. 2024 กลายเป็นเหมือนหนังตัวอย่างที่แสดงถึงผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่สภาพอากาศร้อนนรกที่ทุกคนสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ลงไปถึงน้ำทะเลที่อุ่นจนร้อนราวกับออนเซ็น แนวปะการังในประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ฟอกขาวอันเป็นผลโดยตรงจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการติดตามข้อมูลสมุทรศาสตร์และปะการังอย่างใกล้ชิด ยืนยันแล้วว่าเรากำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 4 ตั้งแต่เคยมีการบันทึกมา 

แม้ปะการังทั่วโลกจะครอบคลุมพื้นที่เพียง 284,300 ตารางกิโลเมตร หรือแค่ 0.1% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับเป็นแหล่งชีวิตใต้ท้องทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด ปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์ทะเลกว่า 1 ล้านชนิด เป็นปราการธรรมชาติใต้น้ำ ช่วยบรรเทาอันตรายจากคลื่นลมและพายุ ที่สำคัญคือเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญผ่านการท่องเที่ยวและการประมงให้กับชุมชนชายฝั่งราว 500 ล้านคน 

ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาโลกได้สูญเสียแนวปะการังไปแล้วราว ๆ ครึ่งหนึ่งจากกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ของมนุษย์ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 3 เมื่อปีค.ศ. 2010 ส่งผลให้ปะการังทั่วโลกราว 14% ตายลง โดยพื้นที่ที่เสียหายหนักคือในทะเลแคริบเบียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยที่พบว่า เกิดปะการังฟอกขาวรุนแรงกว่า 50-90% ในหลายพื้นที่ของทะเลอันดามัน โดยมีอัตราการตายเฉลี่ย 25-40% และบางพื้นที่เสียหายเกือบทั้งหมด  

เรายังไม่รู้ว่าสภาวะโลกเดือดที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้ จะทำให้ปะการังเสียหายและเสื่อมโทรมลงอีกเท่าไหร่ ในขณะที่ช่วงต้นปีผลการสำรวจหญ้าทะเลในหลายพื้นที่ของประเทศไทยสะท้อนภัยคุกคามสำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับภาวะระดับน้ำลงต่ำสุดผิดปกติ ทำให้หญ้าทะเลบริเวณกว้างต้องผึ่งแดดเป็นเวลานานกว่าปกติ จนนักวิจัยพบว่าหญ้าทะเลมีอาการตายนึ่ง 

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลเป็นบริเวณกว้างมีสาเหตุมาจากปัจจัยใดกันแน่ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณดินตะกอนที่เพิ่มขึ้นจากการขุดลอกร่องน้ำ หรือการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร​ แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกปัจจัยที่ยิ่งซ้ำเติมระบบนิเวศที่มีความเปราะบางจากภัยคุกคามของกิจกรรมมนุษย์อยู่แล้ว 

ทุกวันนี้ผืนน้ำทะเลกว้างใหญ่ที่ปกคลุม 70% ของพื้นผิวโลกยังคงทำหน้าที่ดูดซับความร้อน ดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่ามหาสมุทรของเราผลิตออกซิเจนที่เราใช้หายใจกว่า 50% ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ราว 30% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ และกักเก็บความร้อนส่วนเกินกว่า 90% มหาสมุทร จึงไม่เพียงแค่เป็นปอดของโลก แต่ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ไม่อาจทดแทนได้ เป็นตัวช่วยสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานฉบับล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ระบบนิเวศชายฝั่งมีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าระบบนิเวศบนบกถึง 10 เท่า ที่เรียกว่า คาร์บอนสีน้ำเงิน (blue carbon) โดยเฉพาะป่าชายเลนและหญ้าทะเล พืชเหล่านี้ดูดซับคาร์บอนได้ดีเยี่ยมและเก็บสะสมในดินตะกอนและชั้นใต้ทะเลเป็นเวลานานหลายร้อยปี มีการศึกษาว่าป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 1,000 ตันต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่) หรือราว 5 เท่าของป่าดิบชื้นในอเมซอน ในขณะที่มีงานวิจัยรายงานว่าหญ้าทะเลสามารถดูดซับคาร์บอนได้เร็วกว่าป่าฝนเขตร้อนถึง 35 เท่าและแม้จะครอบคลุมพื้นที่เพียง 0.1% ของมหาสมุทรแต่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 10-18% ของปริมาณคาร์บอนในมหาสมุทรทั้งหมด 

“เคยมีการคำนวณว่า ถ้าเราปล่อยให้มหาสมุทรได้ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ มันจะช่วยกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศและช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกได้ถึง 20-35% เลยทีเดียว” Callum Roberts ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัย Exeter สหราชอาณาจักร อธิบาย

Leticia Carvalho หัวหน้าหน่วยงานทางทะเลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า 

“วิทยาศาสตร์บอกเราว่าเราต้องลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างน้อย 45% ภายในปีค.ศ. 2030 หรือในอีกแค่ 6 ปีข้างหน้า ทั้งยังต้องเร่งเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้ 30% ภายในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบนิเวศและชุมชนชายฝั่ง แต่เวลาเหลือน้อยเต็มที” Carvalho ตอกย้ำ 

รายงานวิจัยจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงว่าด้วยเศรษฐกิจยั่งยืนทางทะเล (High Level Panel for a Sustainable Ocean Economy – Ocean Panel) ชี้ว่า แนวทางการใช้มหาสมุทรเป็นตัวช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 35% ของปริมาณการลดลงที่จำเป็นในแต่ละปีจนถึงปี ค.ศ. 2050 เพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์เดิมที่คาดว่ามหาสมุทรจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 21%

รายงานฉบับดังกล่าวได้ให้แนวทางการใช้มหาสมุทรเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Ocean – based Climate Solutions) ไว้ทั้งสิ้น 7 แนวทาง ดังนี้

  1. สงวนรักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล ไม่ว่าจะเป็น ป่าชายเลน หญ้าทะเล หรือ ป่าพรุชายฝั่ง อันเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ 5 เท่าของป่าเขตร้อน ดูดซับคาร์บอนได้เร็วกว่า 3 เท่า นอกจากการดูดซับคาร์บอนแล้ว ระบบนิเวศเหล่านี้ยังมีประโยชน์มากมายต่อความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว ความหลากหลายทางชีวภาพ และป้องกันชุมชนชายฝั่งจากภัยพิบัติ การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศเหล่านี้ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 76 แห่งในปี 2050
  1. ขยายการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืน ปัจจุบันความต้องการอาหารโปรตีนเพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตของประชากรโลก อาหารทะเลอย่าง สาหร่าย ปลา และหอยเป็นทางเลือกโปรตีนที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าและยั่งยืนกว่า เมื่อเทียบกับเนื้อวัวและเนื้อแกะ การส่งเสริมการบริโภคอาหารจากท้องทะเล นอกจากจะช่วยกระจายทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1.47 พันล้านตันต่อปีภายในปี 2050 เท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 393 แห่ง ทั้งนี้ต้องเป็นการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืนอีกด้วย 
  1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวทางทะเล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยเรือ สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ และหลายประเทศที่มีชายฝั่งมากมาย แต่การล่องเรือก็นับว่าเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า เรือสำราญขนาดใหญ่ลำหนึ่ง ปล่อยคาร์บอนมากเท่ากับรถยนต์ 12,000 คัน และมลพิษอื่น ๆ เช่น กำมะถัน หรือฝุ่นละอองคาร์บอน ทั้งยังทำลายระบบนิเวศและส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย การลดมลพิษจากเรือท่องเที่ยว อาทิ การใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.1 พันล้านตันในปี 2050 หรือเทียบเท่าการปิดโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 251 แห่ง
  1. ลดการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง การลดการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกฝั่งเป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญที่สุดในการใช้มหาสมุทรเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 5.3 พันล้านตันต่อปี ในปี 2050 หรือเทียบเท่ากับการเอารถยนต์ 1,100 ล้านคันออกจากท้องถนน อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเพิ่มแหล่งพลังงานปลอดมลพิษ เช่นพลังงานหมุนเวียนจากทะเล ขึ้นมาทดแทนด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเพื่อเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยน รัฐบาลควรยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ออกกฎหมายยุติการเผาแก๊สที่เกิดขึ้นในแหล่งน้ำมันหรือก๊าซ ยุติการอนุญาตสัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซใหม่ และหันไปลงทุนในความมั่นคงด้านพลังงานสะอาดเพื่อชุมชนที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ
  1. เร่งการใช้พลังงานหมุนเวียนจากทะเล อาทิ พลังงานลมนอกชายฝั่ง พลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ พลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลง และพลังงานกระแสน้ำ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 3.6 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2050 หรือมากกว่าก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยรวมกันจากประเทศในสหภาพยุโรป 27 ประเทศในปี 2021 เลยทีเดียว ปัจจุบันการลงทุนพลังงานหมุนเวียนจากทะเลกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ เป้าหมายการใช้พลังงานลมนอกชายฝั่งทั่วโลก เพิ่มเป็นสองเท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
  1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางทะเล ปัจจุบันการขนส่งระหว่างประเทศกว่า 80% เป็นการขนส่งทางทะเล หากนับอุตสาหกรรมการเดินเรือเหมือนประเทศหนึ่ง จะติดอันดับ 10 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ดังนั้นการลดการปล่อยมลพิษจากการเดินเรือ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้เชื้อเพลิงแบบใหม่ ๆ รวมถึงการลดความเร็วของเรือและวางแผนเส้นทางเดินเรือ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากการเดินเรือได้ถึง 2 พันล้านตัน ภายในปี 2593 เทียบเท่ากับการเอารถยนต์ 400 ล้านคันออกจากท้องถนนทุกปี
  1. ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของมหาสมุทรในการกักเก็บและกำจัดคาร์บอน เทคโนโลยีการกักเก็บและกำจัดคาร์บอนโดยอาศัยท้องทะเล ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ใช้แล้วอย่าง การรับซื้อคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม และส่งผ่านท่อลงไปเก็บใต้พื้นทะเล ซึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้อย่างถาวร ปัจจุบันเริ่มสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ราว 1 พันล้านตันใน 2050 รวมถึงมีเทคโนโลยีที่อยู่ในระหว่างการศึกษา อย่างการเพิ่มความเป็นด่างในน้ำทะเล เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการทำให้เกิดการเจริญเติบโตของสาหร่ายขนาดใหญ่ เพื่อดูดซับคาร์บอน แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ยังต้องการการวิจัยด้านผลกระทบเชิงนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจสังคมเพิ่มเติม แต่ก็ถือเป็นหนึ่งความหวังในอนาคต

ท่ามกลางปัญหาโลกเดือด การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะแหล่งกักเก็บคาร์บอนสีน้ำเงิน การส่งเสริมพลังงานหมนุเวียนจากท้องทะเล และเสริมความยืดหยุ่นให้กับชุมชนชายฝั่งที่เปราะบาง จึงเป็นสิ่งที่วงการพัฒนาให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่แน่นอนที่สุด ภาระหนักหนานั้นจะตกไปอยู่กับประเทศกำลังพัฒนา ที่พึ่งพาทรัพยากรจากทะเลเป็นหัวใจของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการประมง การท่องเที่ยว หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย ซึ่งเป็นรากฐานความเป็นอยู่ของผู้คนอีกจำนวนมาก  

หากเราสามารถปลดล็อกศักยภาพของมหาสมุทรในการต่อสู้กับโลกร้อนได้จริง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นย่อมมากกว่าแค่การบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพียงด้านเดียว แต่ยังหมายถึงโอกาสในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การจ้างงานที่ยั่งยืน ไปจนถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจสีน้ำเงินหรือ Blue Economy นั่นเอง

โดยหลักการ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน จึงหมายถึง การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรจากท้องทะเลอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นภาคประมง การขนส่ง การท่องเที่ยว พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งล้วนพึ่งพาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในมหาสมุทร การสร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์จึงเป็นหัวใจสำคัญ ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราให้น้ำหนักไปกับการพัฒนาจนหลงลืมไปว่า เราจำเป็นต้องอนุรักษ์ต้นทุนธรรมชาติเหล่านี้เอาไว้ด้วย 

เวทีสหประชาชาติได้ประกาศให้ช่วงปีค.ศ. 2021-2030 เป็นทศวรรษแห่งมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN Decade of Ocean Science for Sustainable Development) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างความรู้และโอกาสจากมหาสมุทร ขณะเดียวกันก็ต้องลดแรงกดดันจากกิจกรรมของมนุษย์และปกป้องระบบนิเวศทางทะเลที่เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

แม้วิกฤตโลกร้อน ภาวะโลกเดือดจะเป็นความท้าทายที่หนักหน่วง แต่ก็เป็นโอกาสดีที่มวลมนุษยชาติจะได้ทบทวนความสัมพันธ์กับธรรมชาติและมหาสมุทรใหม่ ความพยายามในการปกป้องและฟื้นฟูมหาสมุทรเพื่อบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จะไม่เพียงแค่ช่วยกอบกู้อนาคตของท้องทะเล แต่ยังเปิดโอกาสสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่เติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการอยู่รอดร่วมกันอย่างยั่งยืนของมนุษย์และธรรมชาติ

การฟื้นฟูสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน และสร้างรูปแบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับมนุษยชาติในการรักษาอนาคตของมหาสมุทร และมวลมนุษย์ให้อยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตโลกเดือดในครั้งนี้