Never stop คดีที่ยังไปต่อ - Decode
Reading Time: 3 minutes

จำนวนคดีมาตรา 112 พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากเกิดการลุกฮือชุมนุมพร้อมกันอย่างขนานใหญ่ของคนหนุ่มสาวทั่วทั้งประเทศในปี 2563 ถึงแม้ว่านักปกป้องและเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน จะเห็นสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีมาโดยตลอดนับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2549 สิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็ลดลง และมีคนต้องเข้าคุกเพิ่มขึ้น มาโดยเสมอมา แต่จุดตัดและต้องบันทึกไว้ในคราวนี้ คือมีการฟ้องกล่าวหากันในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ และการเริ่มเดินหน้าฟ้องเอาผิดก็เกิดขึ้นหลังจากนายกประยุทธ์กล่าวต่อหน้าสื่อว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา จากที่ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์ว่าที่ไม่มีการดำเนินคดี 112 กับใคร เพราะพระองค์ท่านทรงโปรดให้ละเว้นกฎหมายมาตรานี้

Never stop เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับมาตรา 112 เล่มที่สามที่ iLaw ตีพิมพ์ออกมา” หลังจากที่จัดพิมพ์ไปแล้วก่อนหน้านี้ถึงสองเล่ม คือ ‘ห้องเช่าหมายเลข 112’ และ ‘Introduction to No.112’ แต่สถานการณ์การบังคับใช้ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีคูณ ผู้เขียนระบุว่า “นี่คือภารกิจขั้นต่ำ” เขาพยายามและตั้งเป้าหมายเพื่อที่จะสัมภาษณ์เพื่อบันทึกเรื่องราวของผู้โดนคดีให้ได้มากที่สุด “เท่าที่พอจะทำได้”

หลังจากกระแสการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในปี 2563 เกิดการชุมนุมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยแม้ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการรวมตัวกันชุมนุมในมหาวิทยาลัย แต่ภายหลังจากนั้นก็ยกระดับสู่การชุมนุมบนท้องถนน รัฐบาลในขณะนั้นที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ดำเนินการฟ้องคดีกับผู้ชุมนุมทั้งผู้เข้าร่วมและแกนนำหลายคน นับตั้งแต่กรกฎาคม 2563 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วถึง 1,951 คน ในจำนวน 1,279 คดี จากจำนวนทั้งหมดนี้ เป็นคดีตามความผิดมาตรา 112 ถึง 295 คดี และในช่วงปี 2566 หลายคดีความก็ถูกตัดสินในชั้นศาล มีทั้งที่ได้รับการประกันตัว และไม่ได้รับการประกันตัว ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง ถึง 42 คน และเกินกว่าครึ่ง มาจากฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ตลอดการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว ไม่ว่าคุณจะขุ่นเคืองต่อคำพูดจากการปราศรัยและการแสดงออกของคนเหล่านี้ หรือคุณจะชื่นชมสนับสนุนความคิดของคนเหล่านี้ ภายในระยะเวลาเกือบสองปี ชื่ออย่าง อานนท์ ,รุ้ง ,เพนกวิน,ไมค์ ชื่อเหล่านี้ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อทุกรูปแบบ นับไม่ถ้วน เมื่อสถานการณ์การเคลื่อนไหวเบาบางลงไป ชื่อของคนเหล่านี้ก็เงียบหายตามไปด้วย แต่ภาระการสู้คดีความภายใต้กระบวนการยุติธรรมยังคงอยู่และยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

แกนนำจากการชุมนุม หลายคนอาจจะรู้จักเพียงแค่คนชื่อ อานนท์ ,รุ้ง ,เพนกวิน ที่แต่ละคนโดนคดี 112 กันไปไม่น้อย พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดนคดี 112 ไป 23 คดี มากที่สุดจากผู้ที่โดนคดี 112 ทั้งหมด

อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโดนคดีในฐานความผิด 112 ไป 14 คดี ปัจจุบันอานนท์ ถูกตัดสินจำคุกและถูกจองจำอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 162 วัน (นับถึง 5 มีนาคม 2567) และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 แล้ว ถึง 10 คดี แม้นี่จะเป็นกลุ่มคนที่ถูกจดจำชื่อได้มากที่สุดจากบรรดาผู้ชุมนุม แต่กว่า 268 คนจากคดี 112 และ 1,900 กว่าคน จากผู้ชุมนุม คนเหล่านี้กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมไทย

ตะวันฝันถึงฟ้าใหม่

เขาเรียกลุ่มกิจกรรมของเขาว่า ‘ทะลุวัง’ หลายคนคงนึกหน้าเธอออกทันทีเมื่อได้ยินชื่อ ‘ตะวัน’ จากช่องทางไหนก็แล้วแต่ เธอบอกว่าเธอมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ที่บ้านทำกิจการเป็นของตัวเอง หลังจากจบการศึกษาจากมัธยม เธออยากท้าทายชีวิตด้วยมิติใหม่ ๆ โดยการออกไปเรียนในระดับ ปวส.ที่ประเทศสิงคโปร์ อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงมีคำถามว่า “ไปเรียนต่างประเทศได้ ที่บ้านมีตังค์อ่าดิ แล้วทำไมถึงออกมาทำอะไรแบบนี้ ?”

ตะวันเล่าว่า หลังจากไปใช้ชีวิตที่สิงคโปร์ “ก็สารภาพตามตรงเลยว่าชีวิตดีกว่าแน่นอน” พลางตั้งคำถามไปด้วยว่าทำไมบ้านเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบสิงคโปร์ไม่ได้ ตะวันต้องกลับประเทศไทยเนื่องจากสถานการณ์โควิค ที่ทุกอย่างต้อง Shutdown ซึ่งตรงกับสถานการณ์การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวพอดี เธอเข้าร่วมการเคลื่อนไหว ในฐานะการ์ดของการชุมนุมก่อนที่จะขยับออกมาตั้งกลุ่มกิจกรรม เพื่อดันเพดานข้อเรียกของเธอต่อไป

เธอบอกว่า ที่ตัดสินใจทำแบบนั้นเพราะ เห็นแกนนำจากการชุมนุมหลายคนถูกจับเข้าคุก และไม่ได้ประกันตัว เธอมีความคิดเพียงว่าจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของการชุมนุมให้ดำรงอยู่ต่อไป กิจกรรมส่วนใหญ่จากกลุ่มของเธอคือการไปทำโพลในสถานที่ต่าง ๆ อย่างการทำโพลสอบถามความเห็นเรื่องขบวนเสด็จ และการยกเลิกมาตรา 112

แม้กระแสความคิดเรื่องย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่จะพรั่งพรูและเป็นบทสนทนาในช่วงปี 2563 แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สำหรับตะวัน ในฐานะคนที่ไปอยู่สิงคโปร์มาแล้วสองปี และยอมรับว่าที่นั่นดีกว่าประเทศไทย “ความรู้สึกส่วนตัวคือไม่อยากย้าย เพราะเรารู้สึกว่าอยากมาเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ดีกว่าที่จะให้เขาโตขึ้นมาแล้วคิดว่าจะย้ายประเทศเหมือนเรา” แต่อีกกระแสความคิดที่ไม่คิดย้ายประเทศอย่าง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ก็ตื่นตัวจำนวนไม่น้อย เพื่อที่จะให้ปัญหาที่คาราคาซังซุกอยู่ใต้พรมของประเทศนี้มานาน ได้จบเสียที ซึ่งตะวันยอมรับว่า แม้มันจะไม่ง่าย แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

“บางคนรู้สึกว่า มันจะจบได้ยังไง สวยหรูเกินไปหรือเปล่า หนูว่าในความสวยหรูนั้นก็พยายามให้มันเป็นไปได้สิ ถ้าพยายามยังมีโอกาสอยู่ที่จะจบที่รุ่นเราจริง ๆ”

ชื่อของตะวัน ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อครั้งแล้วครั้งเล่า การสกัดกั้นเธอด้วยข้อหาที่หยุมหยิมไม่อาจหยุดการดำเนินกิจกรรมของเธอได้ เจ้าหน้าที่จึงเริ่มใช้ไม้หนัก จากข้อกล่าวหาฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตะวันยอมรับว่าการตัดสินใจเปิดหน้าออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองจะทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนไปมาก นอกจากจะไม่ได้เรียนต่อ ก็ยังถูกคุกคามด้วยสารพัดรูปแบบ ถึงขั้นเคยมีคนเอาก้อนหินไปทุ่มใส่รถที่จอดอยู่ในรั้วบ้าน “ใครจะไปคิดว่าวันนึงหนูจะมาโดนอะไรแบบนี้” แต่ตะวันก็ยังบอกกับเพื่อนนักกิจกรรมด้วยกันเสมอ ว่าถ้าเหนื่อยก็ให้พัก ออกไปใช้ชีวิต “ไม่ต้องทุ่มเทให้กับการเคลื่อนไหวก็ได้ ไปใช้ชีวิตให้เต็มที่ ตื่นมาเล่นกับแมว ไปกินข้าวกับเพื่อน ไปทะเล ไปสวนสนุกบ้าง เราอยากให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตของตัวเองก็พอแล้ว” เขาพร่ำบอกคนอื่น 

แต่วันนี้ตัวเขาเอง ยังทำไม่ได้ ยังไม่มีเวลา

ตะวันถูกคุมขังตามความผิดมาตรา 112 ในปี 2565 เธอตัดสินใจต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมด้วยการอดอาหารกว่า 37 วัน จนได้ประกันตัวมาต่อสู้คดีนอกเรือนจำ ปัจจุบันตะวันถูกคุมขังอีกครั้ง และเธอยังเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมโดยการอดอาหารอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 จวบจนปัจจุบัน

สงฆ์ไม่อยู่ในขนบ

สหรัฐ สุขคำหล้า เณรโฟล์ค ถูกจดจำในฐานะผู้ชุมนุมที่มีอาภรณ์เป็นจีวร เขาปรากฏในที่ชุมนุมในฐานะผู้ร่วมชุมนุม มากกว่าจะเป็นแกนนำปราศรัย แต่หลังจากเขาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนหนุ่มสาว หลังจากนั้นแค่หนึ่งสัปดาห์ก็มีหนังสือจากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติถึงเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เณรโฟล์คได้ปะทะกับพุทธจักรเข้าอย่างจัง

เขาเป็นเด็กต่างจังหวัด อาศัยอยู่กับปู่ย่า มาจากครอบครัวที่ฐานะลำบาก เณรโฟล์คเล่าว่าในวันที่แม่บอกว่า มีกำลังส่งลูกเรียนแค่ 1 คน ในขณะที่เขาอายุ 12 จึงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อให้มีโอกาสศึกษาต่อ ส่วนน้องของเขาก็เป็นหน้าที่แม่ต่อไป “มันทำให้ผมเข้าใจหัวอกของชนชั้นล่างมากขึ้นพวกเขาต้องทำงานหนักเพื่อให้มีโอกาสได้เรียนต่อ อย่างตัวผมต้องยอมไปบวชเพียงเพื่อจะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา” แต่จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองจนทำให้เณรโฟล์คถูกขับออกจนไม่มีวัดที่จำพรรษา เขาบอกว่านี่เป็นปัญหาทางกฎหมาย “เพราะถ้าพระสงฆ์ไทยที่ไม่มีวัดให้จำพรรษา 15 วัน ถือว่าเป็นพระเถื่อนและต้องถูกจับสึก”

เป็นสงฆ์ที่โดน 112

อย่างที่เขาบอกว่าส่วนใหญ่ของการเข้าร่วมการเคลื่อนไหว คือมาในฐานะผู้ร่วมชุมนุม แต่เพียงแค่การปราศรัยเพียงครั้งเดียวที่ห้าแยกลาดพร้าว ก็กลับทำให้เขาโดนคดี 112 เพราะตั้งคำถามถึงพลเอกประยุทธ์ว่านำมาตรา 112 กลับมาใช้ทำไม “ทั้งที่ก่อนหน้านี้คุณประยุทธ์เองเคยบอกว่า ที่ม.112 ไม่ถูกใช้เป็นเพราะในหลวงทรงขอให้งดใช้” และการโดนคดี 112 ก็ทำให้เณรโฟล์ค เป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเอาจริงเอาจัง

สมบัติกล้ามาก

สมบัติ ทองย้อย ในฐานะการ์ดของการชุมนุมของคนหนุ่มสาว และผ่านการเคลื่อนไหวในฐานะคนเสื้อแดง วันที่ 23 ตุลาคม สมบัติได้โพสต์ข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ผ่านแพลตฟอร์ม เนื่องจากเป็นคำที่พระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสกับฐิติวัฒน์ว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ในขณะที่พสกนิกรทรงรับเสด็จในวันปิยมหาราช การโพสต์ข้อความดังกล่าวของสมบัติเป็นต้นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดีในฐานความผิดมาตรา 112 แต่ไม่ใช่สมบัติคนเดียวที่โพสต์ข้อความดังกล่าว ซึ่งครั้งหนึ่งในการสืบพยานในชั้นศาลสมบัติเคยตัดพ้อว่า เป็นเพราะเขาเป็นคนที่ถูกจับตาในฐานะคนที่เคยเป็นการ์ดคนเสื้อแดง จึงถูกจับตามองอย่างเป็นพิเศษ

ผ่านคอกวัว ราชประสงค์ น้ำตายังนองเลือด

สมบัติเล่าถึงความโกลาหลของเมษายนปี 2553 “ยิ่งเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ก็จะได้ยินเสียง ปัง ๆ แปะ ๆ” ผู้ชุมนุมกระเจิงวิ่งหนีกระสุนถอยร่นออกมา สมบัติบอกว่า” นี่มันสงครามชัด ๆ” เขาบอกว่าเสียใจ ที่ผู้ชุมนุมขอแค่ยุบสภา ทำไมต้องใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุม

วันนั้นเป็นการ์ดแถวหน้าในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อ 2553 เขาเผชิญหน้ากับความเป็นความตายมานักต่อนัก เห็นกระสุนเจาะกระบาลของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ยังเป็นภาพติดตาอยู่จนวันนี้ จนถึงวันของการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เขาก็ยังไม่ทิ้งบทบาทของการ์ด แม้โดยส่วนตัวอาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางทั้งหมดของคนรุ่นใหม่ เขาบอกว่า “โจทย์แรกคือเอาประยุทธ์ออกให้ได้ก่อน แล้วกลับไปว่ากันในสภา  

ปัจจุบันคดีของสมบัติถูกตัดสินจนถึงที่สุด เขาถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยโทษจำคุกถึง 4 ปี จากการโพสต์ข้อความสามคำ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

หลายคนอาจตั้งคำถามด้วยความฉงนใจว่า การกระทำที่ดูแล้วไม่น่าจะเข้าข่ายตามฐานความผิด แต่ก็ยังถูกตัดสินให้จำคุกได้ อย่างตะวันที่ไม่ได้ปราศรัย แต่เคลื่อนไหวด้วยการทำโพลให้คนออกความคิดเห็น เณรโฟล์คที่กล่าวปราศรัยด้วยตั้งคำถามต่อตัวนายกรัฐมนตรี และสมบัติ ที่เอาข้อความมากล่าวซ้ำในแพลตฟอร์มออนไลน์ และยังมีอีกหลายกรณีที่ปรากฏคำถามในลักษณะเดียวกันว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวจะเป็นไปตามฐานความผิดได้อย่างไร ยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ได้กล่าวถึง อย่างเช่นการปล่อยให้บุคคลทั่วไปสามารถฟ้องร้องเองได้จนนำไปสู่ภาระของผู้ถูกฟ้อง มีกรณีที่ถูกฟ้องไกลที่สุด คือสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส สิ่งเหล่านี้ต้องตกเป็นภาระของจำเลยภายใต้กระบวนการยุติธรรมไทย