เคยไหม…ที่ตอนอ่านหนังสือเพื่อเขียน
ตอนแรกกะว่าจะเขียนเล่าประเด็นหนึ่ง
แต่จู่ ๆ พอจะเขียนใกล้จบ กลับอยากเขียนเล่าอีกประเด็นนึง
ซาฮาแมนชัน…หนังสือเล่มนี้ทำให้รู้สึกแบบนั้นแหละ
หนังสือเรื่อง ซาฮาแมนชัน เขียนโดยคุณโชนัมจู (คนเดียวกับที่เขียนเรื่องคิมจียอง เกิดปี 82 และเรื่อง Her Name is ชื่อของเธอคือ เล่มนี้ที่เราเคยเขียนถึงไปแล้ว Her Name is…โปรดเรียกเธอ ด้วยชื่อของเธอ)
แต่ที่เราเลือกอ่านเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพราะเป็นแฟนหนังสือคุณโชนัมจู แต่เพราะคำโปรยปกหลังต่างหาก
ในประเทศสมมติ บริษัทแห่งหนึ่งยิ่งใหญ่
และทรงอิทธิพลเสียจนแบ่งแยกตัวเองออกเป็นประเทศ
และใช้ชื่อว่า “ทาวน์”
บุคคลที่มีความสามารถจะได้รับสิทธิ์เป็นพลเมืองทาวน์
ส่วนพลเมืองชั้นสองจะต้องทำงานใช้แรงกาย
โดยได้รับแค่ค่าแรงขั้นต่ำและไม่มีสวัสดิการใด ๆ
ซาฮาแมนชัน เป็นที่อยู่อาศัยของคนนอกทาวน์ เป็นถิ่นฐานของคนไร้อนาคต
แต่แล้ววันหนึ่ง แพทย์หญิงที่ชื่อซูถูกพบเป็นศพในรถนอกตัวเมือง
โทคยอง น้องชายของจินคยองที่อาศัยอยู่ในซาฮาแมนชัน หายตัวไป
และโดนตั้งข้อสงสัยว่าเป็นฆาตกรสังหารพลเมืองของทาวน์
เพื่อสืบหาความจริง จินคยองต้องสอบถามเพื่อนบ้านแต่ละคนที่มีปูมหลังลึกลับ
แต่เมื่อยิ่งขุดลึกลงไป เธอก็ยิ่งค้นพบความลับอันดำมืดของทาวน์
แค่อ่านคำโปรยจากปกหลัง เราก็รู้สึกว่าเนื้อเรื่องมันดูเป็นแนวตามหาความจริง ก็เลยยิ่งน่าสนใจ บวกกับบางคำในโปรยปกหลังก็คล้าย ๆ เมืองอะไรแถว ๆ นี้ ซึ่งจริง ๆ ผู้เขียนได้บอกว่าหนังสือเล่มนี้ได้สอดแทรกสะท้อนสังคมเกาหลี มันเลยยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่
เอาจริง ๆ ถ้าเทียบเคียงหนังหรือซีรีส์อะไรที่เราเคยดูแล้วรู้สึกว่ามันใกล้เคียงกับหนังสือเล่มนี้ ก็น่าจะเป็นหนังเรื่อง parasite ที่ได้รับรางวัลออสการ์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นี่มันเหลื่อมล้ำชัด ๆ
ทาวน์ เมืองที่แทบจะเรียกว่าสถาปนาตัวเองเป็นประเทศได้เลย เพราะหลังจากที่หมู่บ้านชาวประมงได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ก็ถูกกลุ่มทุนเข้ามาปกครอง(?) มีการคัดเลือกรัฐมนตรี ซึ่งทำกันอย่างลับ ๆ ไม่เคยมีใครเห็นหน้าค่าตาของรัฐมนตรีมาก่อน แถมยังมีกฎหมายพิเศษ กฎหมายแปลก ๆ ถูกตั้งขึ้นมามากมาย เช่น หากจะรวมตัวกันมากกว่า 3 คนในวันหยุด ต้องได้รับการอนุมัติก่อน หนังสือบางเล่มเป็นหนังสือต้องห้าม ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมไม่เคยได้รับความชอบธรรม เพราะการเข้ามาของทาวน์ ทำให้ชาวพื้นเมืองถูกสั่งให้อพยพออกไป และถูกยึดทรัพย์สิน แต่ก็มีชาวพื้นเมืองจำนวนนึงที่ไม่ยอมย้ายออก ทำให้เริ่มพากันมาซ่อนตัวที่ซาฮาแมนชัน ซึ่งคนที่มาอยู่ซาฮาแมนชันก็จะถูกเรียกว่า ชาวซาฮา
เราจะเรียกว่าชาวซาฮาเป็นคนเถื่อนได้ไหมนะ จะมีเจ้าหน้าที่มาตามจับไหมนะ
แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีใครมาตามจับ อาจจะเพราะว่าเจ้าหน้าที่ยอมปิดตาข้างนึง เพื่อเอาแรงงานชาวซาฮามาทำงานอะไรบางอย่างที่พลเมืองของทาวน์ไม่ยอมทำนั่นเอง
เนี่ยยย… เหตุการณ์มันคุ้น ๆ เหมือนเคยอ่านเจอมาว่า…การลักลอบเข้าทำงานแบบผิดกฎหมายของคนที่โดดวีซ่าท่องเที่ยวเพื่อเข้าไปทำงานต่อในเกาหลีใต้ ส่วนนึงที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้จับจริงจัง ก็เพราะเกิดจากความต้องการแรงงานมาทำงานที่ชาวเกาหลีไม่ทำกันแล้ว เพราะค่าแรงถูกกว่า
แต่ก็ใช่ว่าชาวซาฮาจะอยู่ดีกินดี เพราะเมื่อเกิดเหตุอะไรในเมือง ชาวซาฮามักจะเป็นผู้ต้องสงสัยคนแรก ๆ อันที่จริงซาฮาแมนชันจะถูกรื้อถอนหลายต่อหลายครั้งแล้ว แถมน้ำประปา ก๊าซ ในแต่ละห้องก็ถูกตัด ทำให้ชาวซาฮาต้องมาใช้น้ำประปากับก๊าซส่วนกลาง ชาวซาฮาจำต้องอยู่ในสภาวะแบบนั้นแบบไม่มีทางเลือกเท่าไหร่นัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีเหตุการณ์ลุกฮือของชาวซาฮาเลย
เมื่อ 30 ปีที่แล้วก็มีเหตุการณ์นึงเกิดขึ้นในทาวน์ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า การจลาจลผีเสื้อ
ณ ตอนนั้น คนที่ไม่มีคุณสมบัติพอจะเป็นพลเมืองของทาวน์จะถูกเนรเทศไปยังแผ่นดินใหญ่ทุกเช้าของวันจันทร์ แต่อยู่มาวันนึงเรือที่บรรทุกคนที่ถูกเนรเทศหายไปอย่างไร้ร่องรอย และหลังจากนั้นในทาวน์ก็เริ่มมีใบปลิวลึกลับปรากฏขึ้น พร้อมกับการตั้งคำถามว่า “เรือหายไปไหน”
เมื่อข่าวการหายของเรือแพร่สะพัด คนก็อยากรู้ว่าเรือหายไปไหน รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้รับคำตอบ หลาย ๆ องค์กรต่างก็แสดงความวิตกต่อเหตุการณ์นี้ และนั่นก็ทำให้องค์กรเหล่านั้นถูกคุกคาม หัวหน้าองค์กรเหล่านั้นถูกลอบสังหาร คนทั่วไปไม่มีใครเชื่อผลการสอบสวน แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดอะไร ทุกอย่างถูกอำนาจกดทับรอวันที่จะระเบิดออกมา
แต่หลังจากเหตุการณ์จลาจลผีเสื้อครั้งนั้น ก็ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ขึ้นในทาวน์อีกเลย
เนื้อเรื่องภายในเล่มค่อย ๆ เล่าความเป็นมาของชาวซาฮาแต่ละคนว่ามาอยู่ที่ซาฮาแมนชันได้ยังไง ซึ่งบางตัวละครก็อพยพมาจากที่อื่น บางตัวละครก็เกิดที่นี่เลย แต่เมื่อทุกคนกลายเป็นชาวซาฮาแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องเจอเหมือนกันก็คือ ความเหลื่อมล้ำ อย่างที่เราเกริ่นไปข้างต้น
ความเหลื่อมล้ำทำให้โอกาสต่าง ๆ ของชาวซาฮามันห่างไกลออกไป
ห่างไกล…ทั้งการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่ดี เช่น น้ำ ไฟ ที่ใช้ในแต่ละห้อง
ห่างไกล…การเข้าถึงการศึกษาที่ดี
ห่างไกล…การมีอาชีพที่ดี เพราะ อาชีพดี ๆ จำกัดแค่พลเมืองชาวทาวน์ ส่วนอาชีพที่ต้องใช้แรงงานก็จะเป็นของชาว L2 และชาวฮาซาไป
ห่างไกล…จากการมีคู่ครองที่ดี แม้ว่าไม่มีการห้ามแต่งงานข้ามลำดับชั้นที่ชาวซาฮา หรือชาว L2 จะเลื่อนระดับไปเป็นพลเมืองของทาวน์ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดีเสมอไป เพราะอาจเจอพลเมืองชาวทาวน์นิสัยไม่ดีได้ หรือแม้คู่รักบางคู่ที่อยู่คนละชั้นกันแต่รักกันดี ก็ยังถูกกดดันจากสังคม
ห่างไกล…จากการรักษาที่ดี การดูแลคนที่เป็นพลเมืองทาวน์ กับชาว L2 หรือชาวซาฮา มีการรักษาพยาบาลที่ไม่เท่าเทียมกัน
แต่ประเด็นที่จู่ ๆ ทัชใจเราขึ้นมาระหว่างที่กำลังเขียนถึงหนังสือเรื่องนี้ คือเรื่องตัวตน ซึ่งตัวละครนั้นก็คือ
“อูมี”
หญิงสาวที่เกิดในซาฮาแมนชัน แม่ของเธอตายหลังจากที่คลอดเธอ ทำให้คุณยายกนนิมผู้ทำคลอดเธอนั้นรับเธอมาเลี้ยงดูที่ซาฮาแมนชันตามที่ได้รับปากสัญญากับแม่ของอูมีไว้
ในขณะที่ศูนย์วิจัยจะนำร่างแม่ของอูมีไป เจ้าหน้าที่คนนึงเห็นอูมีเข้า เขาเห็นลักษณะพิเศษอะไรบางอย่างในตัวอูมี จึงเสนอตัวว่าอยากจะช่วยเลี้ยงอูมี แต่คุณยายกนนิมไม่ไว้ใจจึงปฏิเสธไป
หลังจากที่คุณยายเลี้ยงอูมีได้ไม่นาน เธอก็เริ่มรู้สึกว่าอูมีไม่เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ทั่วไป เช่น ดื่มนมหมดอย่างรวดเร็ว ฉี่เยอะมากจนล้นผ้าอ้อม จนทำให้คุณยายเริ่มเลี้ยงเองไม่ไหว และต้องการขอความช่วยเหลือ คุณยายจึงยอมให้ศูนย์วิจัยเข้ามาช่วยเหลือ ตรวจสอบ และบันทึกพัฒนาการของอูมี เพื่อแลกกับการรักษาพยาบาล และเพื่อช่วยให้อูมีเติบโตขึ้นมาได้
นับตั้งแต่นั้นมา อูมีก็ต้องไป ๆ มา ๆ ที่ศูนย์วิจัยตลอด ตั้งแต่เด็ก จนถึงโต
แต่การที่ต้องไปศูนย์วิจัยตามที่คุณยายกนนิมบอกให้ไป เธอไม่เคยนึกสงสัย หรือตั้งคำถามกับการต้องทำสิ่งนั้นเลย เธอรู้แค่ว่าเธอต้องไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบผลอะไรบางอย่าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยบอกซักครั้งว่าผลการตรวจเป็นอย่างไร เมื่อตรวจเสร็จเธอก็กลับไปที่ซาฮาแมนชัน เป็นอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่เธอเกิด
อูมี ไม่เคยรู้สึกถึงการมีอยู่ของตัวเอง…ไม่รู้จักร่างกายตัวเองเลยด้วยซ้ำ
จนอยู่มาวันนึง ระหว่างที่เธอกำลังจะตรวจร่างกายที่ศูนย์วิจัยเหมือนเช่นเคยทุก ๆ ครั้ง แต่ครั้งนี้เธอต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ระหว่างที่เธอกำลังไปยังชั้นที่จะไปห้องตรวจนั้น เธอก็ล้วงกระเป๋าเจอห่อขนมปังอยู่ในกระเป๋า เธอนึกถึงเรื่องฮันเซลกับเกรเทล ที่โรยขนมปังชิ้นเล็ก ๆ ตามทางเพื่อที่จะได้กลับบ้านถูก เธอเลยนึกถึงตัวเองว่าถ้าเธอโดนเจ้าหน้าที่บิตัวเองไปเรื่อย ๆ ตัวเธอจะเหลืออะไรบ้าง
แล้วจู่ ๆ เธอก็นึกถึงคำพูดของซารา ผู้อาศัยที่ซาฮาแมนชันเชนเดียวกันกับเธอขึ้นมา
ฉันอยากมีชีวิตที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่มีชีวิตอยู่
แต่ได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริง
อะไรคือการที่ได้ใช้ชีวิตอย่างแท้จริง… อูมีเกิดคำถามในใจ
เมื่อเกิดคำถามนี้ขึ้น เธอจึงอยากหนีไปจากวงจรชีวิตเหล่านี้ เธอจึงทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาที่นั่นอีก
แน่นอนว่า…ถึงสุดท้ายเธอจะหนีไม่ได้ แต่ว่าสุดท้ายเธอก็ได้ลองทำ
จากเรื่องของอูมี ทำให้เรารู้สึกว่าเธอแทบจะไม่มีสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองเลย… เพราะตั้งแต่เธอเกิดมา เธอก็ต้องโดนคนจากศูนย์วิจัยทดลองหรือกำลังทำอะไรกับร่างกายของเธอก็ไม่รู้
จุดนึงที่สะกิดเรา คือ ในหลาย ๆ ครั้งในช่วงชีวิตของเราก็ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ โดยที่บางครั้งเราก็ไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเราเกิดมาทำไม เรามีชีวิตเพื่ออะไร หรือเราอยากทำอะไร บางอย่างก็ทำไปเพราะมีคนบอกว่าแบบนั้นดี แบบนี้ดี โดยที่ไม่ได้ตั้งคำถาม…
แต่พอใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ มันจะมีบางเหตุการณ์ หรืออะไรบางอย่างมาทำให้เราฉุกคิด… เหมือนที่อูมีเจอ…
เออว่ะ…
นี่เรากำลังทำอะไรอยู่เนี่ยยย…
จากนั้นมันก็จะไปสู่ขั้นตอนอื่น ๆ ในการพยายามหนีออกไปจากสภาพเดิม ๆ
เราใช้ชีวิตแบบไหนได้บ้างนะ ก็ค่อย ๆ ทดลองใช้ชีวิตไป..
ถึงแม้ว่าผลของการทดลองนั้นจะดี หรือไม่ดี แต่สุดท้ายเราก็ได้ลองทำ
ก็คงเหมือนกับอูมี ที่ได้ลองหนีออกจากการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ดูบ้าง
Playread : ซาฮาแมนชัน Saha Mansion
ผู้เขียน : โชนัมจู ผู้แปล : ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ
สำนักพิมพ์ : Earnest
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี