กยศ. สะพานการศึกษาที่ส่งไม่ถึงฝั่ง - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ไม่มีเงินเรียนก็ไปกู้ กยศ.เพื่อเรียนต่อสิ”

ประโยคดังกล่าว ทำให้หลายคนมองว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เป็นสะพานที่จะสามารถทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้จริง ๆ แต่เป็นสะพานสำหรับผู้ที่พร้อมอย่างเดียวหรือเปล่า

De/code พูดคุยกับ บิล (นามสมมุติ) อายุ 24 ปี นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัย มาประมาณ 2-3 ปี ที่มีความจำเป็นต้องทำงานควบคู่กับการเรียนไปด้วย และประสบการณ์การเก็บชั่วโมงจิตอาสา ทำให้เธอต้องสูญเสียทั้งงาน เงิน และเวลา ไปกับการทำความดีที่ได้ผลจริงหรือเปล่า นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับ ธนกาญจน์ รื่นไว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีประสบการณ์ในการกู้ยืมล่าสุดและดูเหมือนสะพานสู่โอกาสอาจไม่ได้สร้างมาเพื่อทุกคน?

ขั้นตอน “ง่าย ๆ” แต่ไม่ “ทันการณ์”

ธนกาญจน์ อธิบายขั้นตอนการกู้ยืม กยศ.หลัก ๆ

ขั้นตอนที่ 1 ยื่นข้อมูลกับมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับข้อมูลการกู้ กยศ.หรือบางมหาวิทยาลัยก็จะให้เก็บชั่วโมงจิตอาสาก่อนที่จะได้ยื่นกู้มหาวิทยาลัย

ขั้นตอนที่ 2 ยื่นข้อมูลทางแอปพลิเคชัน กยศ. Connect ตัวผู้กู้ก็จะไปกรอกข้อมูลเพื่อยื่นคำขอกู้กับทาง กยศ.

ขั้นตอนที่ 3 เมื่อ กยศ.อนุมัติคำขอยื่นกู้ ผู้กู้ก็ต้องไปเซ็นสัญญาการกู้ยืม เมื่อส่งไปสัญญาให้ทาง กยศ.แล้ว ก็จะโอนเงินค่าเทอมและค่าครองชีพให้

ซึ่งในความเป็นจริง แม้กระบวนดังกล่าวจะถูกออกแบบมาอย่างเป็นระบบ แต่หลายครั้งที่มหาวิทยาลัยส่งเอกสารล่าช้า ก็เพราะรอคนที่ยังไม่ส่ง ทำให้กระบวนการทุกอย่างก็ช้าลง เพราะต่อให้เราส่งเร็วก็อาจไม่ได้แปลว่าเอกสารจะส่งไปถึง กยศ.ทัน เพราะติดปัญหาดังกล่าว

“ปีที่เราเข้าไปเรียน ต้องจ่ายค่าเทอมแรกและค่ามอบตัวก่อน เพราะ กยศ.จะสามารถกู้ได้หลังจากเรามอบตัวเป็นนักศึกษาก่อน เทอมแรกก็ต้องไปกู้ข้างนอกก่อน ซึ่งแม้ว่าจะผ่อนผันได้ แต่บางที กยศ.ก็จ่ายเงินช้ากว่ากำหนดการ ทำให้ถ้าเราจ่ายค่าเทอมไปก่อนก็อาจจะดีกว่า เพราะถ้าจ่ายค่าเทอมช้าเกิดกำหนดก็จะมีผลต่อการลงทะเบียนเรียนด้วย” บิล กล่าว

นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการให้ราชการเซ็นรับรองรายได้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในวิธีการพิสูจน์ความจนของ กยศ. โดยการให้ราชการเซ็นรับรองรายได้ แต่ในบางทีราชการหลายคนก็จะไม่ค่อยกล้าเซ็น ทั้งที่ไม่ใช่การค้ำประกัน แค่เป็นการรับรองรายได้ จนบิลก็ใช้เวลาหาคนเซ็นชื่อให้อยู่นานจนต้องไปให้ครูที่โรงเรียนเซ็นรับรองรายได้ให้ แต่ก็คงไม่ใช่ทุกคนที่จะเจอคนเซ็นรับรองให้เธอ ทำให้การพิสูจน์ดังกล่าวอาจไม่ได้มีการครอบคลุมขนาดนั้น อีกทั้งการรับรองดังกล่าวจะเชื่อมั่นได้แค่ไหนว่า การรับรองรายได้นั้นเป็นความจริง

หากอิงจากกำหนดการให้กู้ยืมเงิน กยศ. ประจำปีการศึกษา 2566 สำหรับสถานศึกษาทั่วไป ภาคเรียนที่ 1

1.สถานศึกษาบันทึกปฏิทินการศึกษา (เฉพาะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา) ค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร และรายงานสถานภาพการศึกษาของผู้กู้ยืมเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566

2. ผู้กู้ยืมเงินลงทะเบียนขอรหัสเข้าใช้งาน กยศ. Connect /ระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (DSL)
ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 ก.ค. 2566

3. ผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงิน สถานศึกษาตรวจสอบแบบคำขอกู้ยืมเงิน
ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 ก.ค. 2566

4.สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน
ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 ส.ค. 2566

5.ผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ จัดทำสัญญากู้ยืมเงิน
ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 ส.ค. 2566

6.ผู้กู้ยืมเงินรายใหม่/รายเก่า ยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันเบิกเงินกู้ยืม*
ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 ส.ค. 2566

7.สถานศึกษาจัดส่งเอกสารสัญญากู้ยืมเงินและแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม
ให้ผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม
ไม่เกินวันที่ 15 ก.ย. 2566

จากระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวพบว่า มีปัญหาล่าช้า ธนกาญจน์กล่าวว่า มหาวิทยาลัยผมเปิดเดือนสิงหาคม ถ้าเราส่งเอกสารเร็วสุด เงินค่าครองชีพก้อนแรกก็จะได้ประมาณตุลาคม ทำให้ระหว่างก่อนหน้านั้นก็ต้องหาค่าครองชีพมาก่อน แต่อย่างของมหาลัยเอกชนผมมีระบบสำรองจ่ายค่าเทอมก่อน กยศ.จะโอนมาให้ แต่ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องจ่าย เช่น ค่าหอพัก ค่าเครื่องแบบ ค่าครองชีพต่าง ๆ ทำให้เงินค่าครองชีพที่คิดว่าจะมาจุนเจือค่าใช้จ่ายในช่วงแรกของการเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ต้องหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพราะกว่าจะมีการโอนค่าครองชีพก็เลยวันเปิดเทอมไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีในกรณีที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สำรองค่าเทอมให้ ก็อาจต้องหาทางหาเงินส่วนนี้ เพื่อให้ได้เข้าสู่สถานศึกษาจริง ๆ แต่หาทางไม่ได้ก็อาจหลุดจากการศึกษาไปเลย

ความจน ตัวแปรที่มากกว่า “รายรับ”

ไม่ว่าเราจะยื่นทุนหรือขอยื่นกู้เพื่อการศึกษา เราก็มักจะเห็นหลักเกณฑ์รายได้ครัวเรือนต่าง ๆ รวมถึงการขอกู้ยืมของ กยศ.ด้วยเช่นกัน โดย กยศ.ได้กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติรายได้ของครอบครัวในลักษณะที่ 1 และผู้กู้ลักษณะอื่น ๆ ที่ต้องการเงินค่าครองชีพด้วย กำหนดเกณฑ์รายได้ต้องไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี (จากเดิมกำหนดเกณฑ์รายได้ต้องไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี) หรือเฉลี่ย 30,000 ต่อเดือน รายได้ครอบครัวจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  • รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน รวมกับรายได้ของบิดามารดา ในกรณีที่บิดา มารดา ในกรณีที่บิดา มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง
  • รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน รวมกับรายได้ของผู้ปกครอง ในกรณีที่บิดา มารดา  ในกรณีที่บิดา มารดาเป็นไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจปกครอง
  • รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน รวมกับรายได้ของคู่สมรส ในกรณีที่ผู้ขอกู้ยืมเงินได้ทำการสมรสแล้ว

แต่การนำหลักเกณฑ์รายได้ดังกล่าวมากำหนดว่า คนไหนควรได้รับการสนับสนุนค่าครองชีพ ก็อาจแคบไปหรือเปล่า เพราะจากเกณฑ์รายได้ไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 30,000 บาทต่อเดือน เฉลี่ยรายได้ 15,000 บาทต่อคน ก็อาจเป็นรายได้ที่เทียบกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอเท่าไหร่ แล้วในระดับมหาวิทยาลัยก็มีค่าใช้จ่ายที่มากมาย ทั้งค่าครองชีพ ค่าอุปกรณ์การเรียน หรือค่าหอพัก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะ ทำให้เมื่อเทียบกับรายได้ครอบครัวไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท นอกจากนี้ยังมีกรณีที่อาจจะมีคนที่บิดาและมารดาไม่ได้ทำการหย่ากัน และยังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่ทั้งสองคน แต่ก็ได้ให้คนอื่นเลี้ยงบุตรแทน มีเพียงแค่การส่งเงินมาให้เป็นครั้งคราวเพียงเท่านั้น จากสิ่งเราได้กล่าวมาก็อาจเป็นการจำกัดความจนที่ตัดโอกาสคนที่จนจริง ๆ หรือเปล่า

ธนกาญจน์ เสนอทางแก้ว่า อาจจะมียื่น Statement ของบัญชีบิดาและมารดา และมีการหักกับรายจ่ายที่เป็นจริง แล้วก็อาจจะพิจารณาจากรายได้สุทธิ หลักการก็อาจจะคล้ายคลึงกับการยื่นภาษี ซึ่งก็น่าจะทำให้เห็นภาพกว้างกว่าการพิจารณาจากแค่รายรับเพียงอย่างเดียว

ชั่วโมงจิตอาสา ความดีที่มีผลกระทบ

โดยปกติ กยศ.จะกำหนดให้เก็บชั่วโมงไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดเกลาจิตใจให้มีความเมตตากรุณา มีความเสียสละ และมีจิตสาธารณะ แต่การส่งต่อความมีจิตสาธารณะอาจทำให้ผู้กู้ต้องยอมเสียสละอะไรบางอย่างไปเช่นกัน

บิลได้บอกกับเราว่า “อย่างเราไปช่วยคนตาบอดแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ เดินทางไปกลับก็ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ทำจิตอาสาอีกประมาณ 2 ชั่วโมง เราเสียเวลาไป 5-6 ชั่วโมงเพื่อได้ชั่วโมงจิตอาสา 2 ชั่วโมง จะไปเวลาเรียนก็ไม่ได้ แล้วหลังเลิกเรียนเพราะต้องทำงาน เสาร์อาทิตย์ก็ทำงาน บางทีเราลาแค่วันสองวัน เขาก็ไล่เราออกแล้ว”

ในตอนที่บิลกู้ กยศ.ได้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเดือนละ 2,200 บาท (ปัจจุบันได้เดือนละ 3,000 บาท) ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวก็ไม่พอกับค่าครองชีพจริง ๆ ทำให้เธอต้องไปทำงานพิเศษ และเธอก็ต้องไปตามเก็บชั่วโมงจิตอาสาอีก ทำให้ในบางทีเธอก็โดนไล่ออก เธอเลยต้องเปลี่ยนงานอยู่บ่อยครั้ง จนเธอเจอทางแก้ใหม่โดยการไปค่ายจิตอาสา 7 วันของเธอ ทำให้เธอสามารถลาหยุดได้แค่ 7 วันที่ลาไปค่ายจิตอาสา ถ้าลามากกว่านั้นเธอก็ต้องถูกไล่ออกไปหางานใหม่อีก แต่เธอก็กำลังเรียนมหาวิทยาลัย ในครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัยของเธอได้จัดสอบยาว 3 วัน โดยเป็นการนัดสอบนอกรอบ ซึ่งจะไม่ปรากฏตามตารางสอบที่เธอเคยเห็น แต่ด้วยเงื่อนไขที่เธอได้ตกลงไว้กับที่ทำงาน ทำให้เธอไม่สามารถลาได้อีกแล้ว เธอจึงได้ตัดสินใจดรอปเรียนวิชาที่จะต้องสอบไปในวันนั้นไปเลย เพราะด้วยความจำเป็นของงานที่จะทำให้เธอมีเงินในการดำรงชีพอยู่ได้

“เราก็เคยตกงานเดือนกว่า ก็ช่วงที่เราลาไปทำจิตอาสา เราก็ต้องสำรองจ่ายค่ากินอยู่ไปก่อน เพราะเงินค่าครองชีพจาก กยศ.ยังไม่เข้า เราก็ต้องนอนใต้ตึกมหาลัยที่เราเรียน เพราะเราไม่มีที่จะไป ไม่มีที่จะกิน เราก็เอาเงินจากค่าเดินทางกลับบ้าน ทั้งนั่งรถเมล์แล้วต่อวินมอเตอร์ไซต์ ค่าใช้จ่ายก็เลยเยอะ ทำให้ถ้าวันไหนเรารู้สึกว่า วันไหนเริ่มเย็นแล้ว เราก็นอนใต้ตึกเรียนไปเลย จะได้ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ตื่นมาก็ล้างหน้าแปรงฟันไปเรียน แล้วก็เอาเงินค่าเดินทางไปกินข้าว” บิล กล่าว

หรือบางทีก็อาจจะเห็นการโกงชั่วโมงจิตอาสาทั้งในรูปแบบของการโกงชั่วโมงจิตอาสาหรือจ้างคนอื่นเก็บชั่วโมงจิตอาสาให้ ทำให้ก็เกิดการความสงสัยว่า เจตนารมณ์ของ กยศ.สามารถส่งถึงผู้คนได้จริงหรือไม่

บิลเล่าถึงประสบการณ์ที่เธอเคยเจอคนใกล้ตัวโกงการเก็บชั่วโมงจิตอาสาว่า “เราเคยเจอคนไปวัดที่สนิทกับพระอาจารย์ไปกวาดเล่น ๆ แล้วไปให้พระอาจารย์เซ็นให้ แต่เขาก็จะมาเขียนชั่วโมงเอง หรือบางคนก็ปลอมลายเซ็น โดยแค่ไปจับไม้กวาดถ่ายรูป แล้วกลับมาเขียนเองว่าทำความสะอาดวัด บางทีก็เอาชุดไปเปลี่ยน 2-3 ชุด แล้วถ่ายทีเดียว แล้วเขียนวันเพิ่ม จะได้เก็บชั่วโมงได้เยอะ ๆ

นอกจากนี้ยังมีการจ้างเก็บชั่วโมงจิตอาสาผ่านคอร์สออนไลน์ โดย กยศ.สามารถเก็บชั่วโมงจิตอาสาจากคอร์สเรียนใน SET e-learning ได้ แล้วคนหลายคนก็ทำข้อสอบไม่ผ่าน ก็เลยไปจ้างคนอื่นมาเรียนหรือทำข้อสอบให้ ทำให้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ความรู้ไม่ได้ ประโยชน์ต่อสังคมก็ไม่มีด้วย

“กยศ.ให้โอกาสเราเยอะอยู่ มาช่วยเติมในวันที่เราขัดสน แต่ก็ยังมีเรื่องชั่วโมงจิตอาสา กยศ.จ่ายเงินช้า และขั้นตอนที่ล่าช้าไปยุ่งยากในบางที ก็อยากให้ กยศ.แก้ปัญหา เช่น ทาง กยศ.ประสานงานกับทางมหาวิทยาลัยเรื่องค่าเทอมในครั้งแรก โดยไม่ต้องให้ผู้กู้สำรองจ่ายเองก่อน จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องความล่าช้าในเรื่องค่าเทอม หรือตัดหลักเกณฑ์การให้ราชการมารับรองรายได้ด้วยก็ดี ก็จะทำให้ กยศ.เป็นสะพานสู่การศึกษาอย่างแท้จริง” บิล กล่าวทิ้งท้าย