ครั้งหนึ่งในเวลาหนึ่ง ความทรงจำนั้นมี ‘เสียง’ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ไม่นานมานี้ผมกลับไปอ่านหนังสือเล่มเก่าที่เคยอ่านตอนเข้ามาทำงานกรุงเทพใหม่ ๆ ผมเพิ่งเข้าใจคำว่ากล่าวที่ว่าหนังสือบางเล่มอ่านคนละช่วงเวลากลับให้รสสัมผัสที่ต่างกัน

“ครั้งหนึ่งในเวลาหนึ่ง : Portrait In Our Time” คือหนังสือเล่มนั้น

หนังสือเล่มนี้รวมงานเขียนจากคอลัมน์ Field Work | Portrait จากนิตยสาร WRITER ที่ทำหน้าที่บอกเล่าวิธีคิดเบื้องหลังในการทำงานของช่างภาพนาม ศุภชัย เกศการุณกุล ถ้อยคำในเล่มเปิดโอกาสให้ผมได้เห็น ได้ฟัง ได้ ‘ลอบ’ รู้ความคิดเสี้ยววินาทีก่อนกดชัตเตอร์ มันเป็นช่วงเวลาส่วนตัว ไม่บ่อยนักที่ช่างภาพจะเปิดเปลือยสิ่งเหล่านี้

ว่ากันว่ามนุษย์เรียนรู้จากความผิดพลาด ตะกอนประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นเป็นปุ๋ยอันอุดมที่เสริมส่งคนรุ่นถัดไป ถ้าจะมีหนังสือภาพถ่ายประกอบเรื่องเล่าสักเล่มจะแนะนำ หนังสือเล่มนี้เป็นชื่อแรกที่ผมนึกถึง เพราะนอกจากภาพถ่ายที่มีเอกลักษณ์

ผมว่าหนังสือเล่มนี้มี ‘เสียง’

แต่ทว่ามันไม่ใช่เสียงระหว่างลั่นชัตเตอร์ แต่กลับเป็นเสียงที่แฝงความประหม่าในนาทีที่ช่างภาพสู้รบกับใจตนเอง ผมได้ยินเสียงที่ว่าลอยคว้างในบรรยากาศตลอดทั้งเล่ม

ศุภชัย เปิดเรื่องด้วยการเลือกเลนส์ที่เปรียบได้กับเลือกอาวุธ ส่วนตัวเขาเป็นช่างภาพที่ใช้เลนส์ฟิกซ์ระยะ 50 มิลลิเมตรเป็นหลัก เขามักจะพกกล้องฟิล์มและดิจิทัลอย่างละหนึ่งตัว ไม่นิยมใช้แฟลช เน้นถ่ายแสงธรรมชาติ ตลอดทั้งเล่มเขามักจะบ่นกับตนเองในเรื่องการใช้ฟิล์มที่เปลืองเกินไป บางงานถ้ายังได้ภาพที่อยากได้ เขาลงพื้นที่ถ่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ขอถ่ายภาพเลยได้ไหม ผมอยากได้อารมณ์สด ๆ แบบนี้ที่เพิ่งจะซ้อมเสร็จมาเหนื่อย ๆ”

ประโยคข้างบนคือคำขอที่เขายื่นแก่ ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เพื่อยื้อไม่ให้อาบน้ำหลังซ้อมบอลมาเหงื่อท่วม ช่างภาพให้เหตุผลว่า ความเหนื่อยล้าอิดโรยจากใบหน้าซิโก้เป็นสิ่งที่เขาอยากได้มาประดับเฟรม ไม่นับว่านี่เป็นการนัดถ่ายภาพครั้งที่สาม หลังจากสองครั้งที่ผ่านมาเขาผิดหวังด้วยเหตุผลว่า ซิโก้อยู่ผิดที่ผิดทาง และช่างภาพรู้สึกว่าภาพที่ได้มันยังไม่ใช่สิ่งที่ตามหา ในหนังสือเล่มนี้เผยบทสนทนาของซิโก้ และช่างภาพ

“โอย ทำไมถ่ายเยอะจัง ได้ภาพไปเพียบแล้วมั้ง” ซิโก้แซว

“ยังครับ อยากได้ภาพดี ๆ แต่ยังไม่ได้ดั่งใจ” คำตอบพร้อมรอยยิ้มขณะพูด แต่ใจผมไม่ยิ้มด้วย

หลังจากอ่านประโยคข้างต้น ผมหวนคิดระหว่างทำงานที่ผ่านมา เรามีประโยคเหล่านี้เกิดขึ้นในใจบ่อยแค่ไหน การยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเรายังไม่สามารถมอบภาพที่ดีที่สุด หรือ งานที่ดีที่สุดให้แหล่งข่าวได้ ถ้ามีโอกาสบอกกล่าวซึ่งหน้า เรากล้าพูดแบบนั้นไหม แล้วที่ผ่านมาเราใช้ความพยายามมากพอคุ้มค่ากับเวลาแล้วหรือยัง ส่วนตัวผมยังไม่เคยพูด แล้วคิดว่าคงไม่กล้า ความจริงใจจากประโยคที่ว่าจึงเป็นอะไรที่แปลกใหม่น่าสนใจ

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมผลงานหลากหลายปี ส่วนใหญ่เป็นงานภาพประกอบยุคนิตยสาร ด้วยความที่ผมเติบโตไม่ทันยุคนิตยสารเฟื่องฟู เลยไม่รู้ว่าต้นทุนในแต่งานช่างภาพสมัยนั้นได้เงินเท่าไร แต่หลายเรื่องเล่าในเล่ม พอจับสังเกตได้ว่า ช่างภาพมีโอกาสลงพื้นที่ตามติดหลายวัน จะเพราะด้วยแรงปรารถนาส่วนตัว หรือมีต้นทุนสนับสนุน

การได้มีเวลาตามติดแหล่งข่าว ลงพื้นที่ซ้ำ ๆ ทำงานอย่างละเอียดลึก มันเป็นอุดมคติในการทำงานสารคดี หรือข่าว แต่ในวันที่สื่อมีมากมาย นับวันผมยิ่งเห็นงานที่ใช้เวลาลงพื้นที่เกาะติดต่อเนื่องน้อยลง จากการพูดคุยกับเพื่อน ๆ สื่อ แทบจะเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์สื่อปัจจุบัน เพราะเม็ดเงินโฆษณามีแต่ลด ค่าตอบแทนก็น้อยลง การลดต้นทุนอย่างรัดกุมเป็นทางออกที่ทุกคนเผชิญ

หนังสือเล่มนี้เผยวิธีคิดการตีความและให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม หรือฉาก ไม่แพ้ตัวแบบ หรือที่ศุภชัยเน้นว่าการนำตัวแบบไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตัวแบบสบายใจ เป็นตัวเอง ความเป็นธรรมชาติจะปรากฏ หรือที่ศุภชัยใช้คำว่า “ภวังค์บางอย่างที่เกิดขึ้นรอบ ๆ” อาจเป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นครั้งเดียว เขาอยากดักจับสิ่งนี้ไว้ในภาพถ่าย

“ที่ผ่านมาผมสนุกกับการถ่ายภาพโดยเลือกสถานที่ที่เหมาะสมกับตัวแบบอาจเป็นบ้านหรือที่ทำงาน เพราะผมเชื่อว่าสถานที่มีบทบาทในการเล่าเรื่องของคนในภาพ ผมจึงวางคอมโพสิชั่นค่อนข้างกว้าง เพื่อให้สถานที่ทำงานของมัน”

ศุภชัย เล่าว่าเขาเดินทางด้วยรถไฟไปบ้านของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ ที่เชียงใหม่ และเมื่อไปถึงเขาสอบถามเจ้าบ้านถึงพื้นที่ทำงาน เพราะคิดว่าการได้ถ่ายผู้กำกับหนังในพื้นที่สร้างสรรค์ส่วนตัวน่าจะเป็นฉากหลังที่ลงตัว

“ผมถามพี่เจ้ยทำงานที่ไหน เพราะคิดว่าจะเป็นการดีที่ผมจะได้เห็นสถานที่ที่เขาทำงาน เพื่อเตรียมมุมเอาไว้ถ่ายภาพ เขาบอกว่าตรงที่เรานั่งคุยกันอยู่ตอนนี้นี่แหละ เขาหมายถึงชานบ้านเปิดโล่ง บนโต๊ะเป็นไม้เนื้อหยาบ มีร่มใหญ่ไว้กันแดด…”

ถ้าใครเคยเห็นภาพ Portrait ของอภิชาติพงศ์ ตามสื่อต่าง ๆ ก็พอจะเดาทางออก ส่วนใหญ่เป็นภาพใบหน้าเรียบเฉย นัยน์ตาโศก ซึ่งเป็นภาพลักษณ์หลักที่เราเห็นบ่อยครั้ง ในหนังสือเล่มนี้ก็มีภาพสไตล์นี้อยู่สองภาพ เป็นภาพผู้กำกับหนังอยู่ในดงไม้ที่มีแสงแดดตกกระทบสวยงาม

แต่ในบรรดาภาพที่ผมรู้สึกได้ว่าบางช่วงขณะเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และได้มาโดยไม่ตั้งใจ คือภาพ เจ้ย อภิชาติพงศ์ นั่งเหม่อข้างหมาที่ยืนเท่อยู่บนโต๊ะ ภาพนี้น่าจะเป็นภาพที่ผมชอบอันดับต้น ๆ

ศุภชัยอธิบายถึงการได้มาของภาพนี้ว่าเกิดขึ้นหลังจากที่เขาตามถ่ายภาพตามมุมที่กำหนดไว้ครบหมดแล้ว แต่ว่าในช่วงท้ายหลังนั่งคุยกันต่อ บางเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เป็นช่วงเวลาปล่อยไหลที่ตัวแบบผ่อนคลาย

“เขานั่งบนโต๊ะไม้ยาวสบาย ๆ ผมถ่ายภาพเขาเพิ่มเติม ไม่นานเจ้าก็อตซิลล่าหรือไม่ก็คิงคองกระโดดขึ้นมาบนโต๊ะเล่นกับเจ้านายของมัน พี่เจ้ยนั่งลูบหัวลูบหางพูดกับมันเหมือนคุยกับเพื่อน มันทำให้พี่เจ้ยผ่อนคลายลงและเหมือนว่าผมจะได้ภาพที่ชอบ”

ที่ผ่านมาศุภชัยใช้กล้องฟิล์มเป็นมือไม้ในการทำงาน ในงานชิ้นนี้เขาเปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิทัล แต่อยากทำงานสไตล์ฟิล์ม เขามีความตั้งใจจะเป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพแต่น้อย เท่าที่จำเป็น เพราะเชื่อว่าภาพถ่ายดี ๆ เพียงไม่กี่ภาพก็เพียงพอต่องานภาพประกอบสัมภาษณ์ แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้กำกับภาพยนต์ที่เขาได้ยินชื่อเสียงมานาน คราวนี้เขารัวถ่ายภาพ เช็คหลังกล้องซ้ำ ๆ แม้จะมั่นใจในการวัดแสงของตนเอง

เหมือนเคย ‘เสียง’ แห่งความลังเลปรากฎในตัวอักษรของเขา

“กล้องดิจิทัลทำให้ผมถ่ายภาพมากกว่าเดิมจนอดคิดไม่ได้ว่าเครื่องมือกำหนดวิธีการทำงานของเรามากกว่าที่เราจะใช้มันเป็นเครื่องมือ”

ภาพถ่ายทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ ผมชอบภาพถ่ายคุณศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้เขียน “ปีศาจ” นิยายที่เป็นอมตะตลอดกาล ผมเห็นภาพถ่ายนี้ในช่วงเวลาที่เขาเสียชีวิตในปี 2557 จำได้ว่าในบรรดาภาพทั้งหมด ภาพนี้ฝังประทับในความทรงจำ และโดดเด่นกว่าทุกภาพ ณ ช่วงเวลานั้น

พอได้กลับมาอ่านที่มาของภาพอีกครั้ง ภาพถ่ายนี้กลับมามีชีวิตและให้ความหมายลึกซึ้งกว่าเดิม

ภาพถ่ายนี้ศุภชัยเล่าว่าเขาถ่ายที่บ้านพักคุณเสนีย์เมื่อปี 2552 เป็นครั้งแรกที่เขาได้มีโอกาสเจอและถ่ายภาพนักเขียนในดวงใจ เขาเขียนบรรยายบรรยากาศบ้านยุค 70’s ของคุณเสนีย์อย่างเห็นภาพราวกับได้ตามไปด้วย ในวันนั้นแสงอาทิตย์ลอดผ่านม่านเป็นแหล่งแสงเดียวในภาพนี้

“ในบ้านของลุงเสนีย์แสงค่อนข้างน้อย ผมจำไม่ได้แน่ชัดว่าวันนั้นมีไฟในบ้านเปิดอยู่หรือเปล่า ทำให้การทำงานครั้งนี้น่ากังวลโดยเฉพาะเรื่องความนิ่งของช่างภาพ ไม่ใช่ความนิ่งของมือ แต่เป็นความนิ่งของใจ”

หลังจากนั้นเขาได้มีโอกาสไปถ่ายภาพคุณเสนีย์ อีกครั้งในปี 2555 ในวันนั้นเขาเล่าว่าเจ้าของนิยายปิศาจได้พูดประโยคหนึ่งพร้อมรอยยิ้มว่า “หวังว่าจะไม่ได้พบกันอีก…”

การพบเจอครั้งนั้นก็เป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ 

ผมพลิกหน้ากระดาษมาถึงภาพโต๊ะกลมแบบจีนท่ามกลางเก้าอี้ไม้เข้าชุด ผมพอจะจำได้ลาง ๆ เมื่อครั้งเปิดเจอหน้านี้ครั้งแรก มันเป็นความรู้สึกประหลาด ๆ เพราะเป็นภาพเปิดเรื่องภาพเดียวที่ไม่มีมนุษย์อยู่ในภาพ นอกจากมีข้อความตัวหนากำกับว่านี่เป็นภาพของ ‘หมาป่า’

ศุภชัยเปิดเรื่องด้วยการอธิบายถึงความผิดหวังในชีวิตช่างภาพที่มีหลากหลายแบบ แต่สำหรับ ‘หมาป่า’ คือความผิดหวังชนิดที่ว่าเขาอยากถ่ายภาพบุคคลนี้แค่ไหนก็ไม่สามารถถ่ายได้ ‘เรืองรอง รุ่งรัศมี’ เป็นกวี นักเขียน นักแปล ผู้ที่ไม่ต้องการมีภาพตนเองทิ้งไว้บนโลกใบนี้

ช่างภาพเล่าถึงที่มาของคำว่า ‘หมาป่า’ ว่าเป็นคำเรียกระหว่างคนใกล้ชิดที่สนิทสนมของเรืองรอง ในเบื้องแรกมาจากครั้งหนึ่งเรืองรองเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งชื่อ หมาป่า ซึ่งเปรียบเปรยว่านักเขียนก็เหมือนหมาป่าที่หากินบนท้องทุ่งกระดาษ

“ผมขอหมาป่าถ่ายภาพไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งในรอบ 6 ปี แต่เขาปฏิเสธการขอด้วยความตั้งใจตั้งแต่วัยหนุ่ม แม้ว่าจะเข้าใจความตั้งใจของผมก็ตาม”

ผมจำได้ว่าผมได้ยินชื่อหมาป่า หรือ เรืองรอง รุ่งรัศมี ครั้งแรกจากหนังสือเล่มนี้ จำได้ว่าพิมพ์ชื่อของเขาใน google แต่น่าจะไม่พบเจอรูปถ่ายอะไรเพิ่มเติม ในตอนนั้นคิดว่าคนอะไรช่างลึกลับ มีคาแรคเตอร์สุด ๆ

ในหนังสือเล่มนี้ศุภชัยเล่าความผูกพันของเขากับเรืองรอง ถึงแม้จะเคยเจอกันบ่อยครั้ง คุยโทรศัพท์กันหลายหน แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ถ่ายภาพเลยสักครั้ง และเมื่อเขาอยากนำชีวิตของเรืองรองมาเล่าในเล่ม เขาเลือกใช้วิธีเขียนถึงความฝันว่าถ้ามีโอกาสถ่ายหมาป่าเขาจะทำอย่างไร ซึ่งก็มีทั้งฉากเดินในเยาวราชเช้าตรู่ ซีนพักเหนื่อยในร้านชา หรือแม้แต่หมาป่านั่งบนหินก้อนใหญ่ระหว่างเที่ยวดอย

“แม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพบนฟิล์ม แต่ถ้าหากผมจะถ่ายภาพหมาป่า เฟรมที่วางบนอากาศคงประมาณนี้”

ในปี 2563 เรืองรอง รุ่งรัศมี ได้เสียชีวิตในวัย 67 ปี ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมได้เห็นใบหน้าที่แท้จริงของเขา เป็นรูปถ่ายที่ใช้ในงานศพจากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี 2558 ผมจำได้ดีว่าซื้อหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่แรก ๆ หลังวางจำหน่ายที่ร้านเดอะ ไรท์เตอร์ ซีเคร็ท ย่านนางเลิ้ง ผ่านมา 8 ปี ร้านหนังสือที่ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ปิดกิจการไปนานแล้ว บุคคลในภาพถ่ายเล่มนี้บางคนเหลือไว้เพียงเรื่องราว

ระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมเลื่อนภาพชุดหนึ่งเป็นภาพผมกับเพื่อนนักข่าวลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หลายภาพผมไม่เคยเผยเอาลงโซเชียลมีเดีย ผมดูภาพเหล่านี้เงียบ ๆ แต่กลับได้ยิน ‘เสียง’ ระหว่างเดินตลาด ความฝันของเพื่อนนักข่าวที่อยากทำกลุ่มนักข่าวท้องถิ่นที่ทำประเด็นการต่อสู้ของชาวบ้านในต่างจังหวัดเด่นชัดขึ้นอีกครั้ง ภาพถ่ายพาความทรงจำกลับมา แม้เจ้าของบทสนทนาและความฝันจะจากโลกนี้ไปแล้ว

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้รอบที่สองหลังผ่านไป 8 ปีหลังจากเปิดอ่านครั้งแรก อ่านจบผมกลับไปดูภาพถ่ายของตนเองบางภาพ ฉากและอากาศที่แวดล้อมกลับมาชัด

บางภาพพาผมกลับไปฟังเสียงชาวบ้านที่ร้องไห้

บางภาพพาผมกลับไปฟังเสียงนักสู้เรื่องที่ดินที่บอกว่าผมพร้อมตาย

บางภาพพาผมไปฟังเสียงชาวประมงที่บอกว่าถ้าเขาจากไป ขอให้เอาเรื่องราวการต่อสู้ของเขามาเปิดในงานศพ

และบางภาพพาผมย้อนกลับไปตลาดเช้าริมทางรถไฟกลางเมือง ณ จังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แดดเช้าเดือนเมษาในวันนั้นสวยงามกว่าวันไหน ๆ

ท่อนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้อธิบายบทสรุปของหนังสือได้เป็นอย่างดีว่า

“…มันดึงช่วงเวลาที่เรามองผ่านวิวฟายเดอร์กลับมาพร้อม ๆ กับเห็นตนเองกำลังถ่ายภาพในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น อดีตกลับมามีชีวิตอีกครั้ง…”

ในวันนี้บางคนในภาพยังอยู่ บางคนจากไป หลายเหตุการณ์เป็นควันจางในอากาศ ภาพถ่ายทำหน้าที่เป็นหมุดยึดพอให้เราคว้า เพื่อนึกถึงใครบางคน

Playread : ครั้งหนึ่งในเวลาหนึ่ง…ความทรงจำและเวลา
ผู้เขียน :  ศุภชัย เกศการุณกุล 
สำนักพิมพ์ : ไรท์เตอร์

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี