สำรวจ "ของเถื่อนในม็อบ" ประเด็นใต้ดินที่อยากทำให้ถูกกฎหมาย - Decode
Reading Time: 2 minutes

ของเถื่อน คือ อะไร?

ของเถื่อนที่เราว่านั้น มันคือประเด็นใต้ดิน ประเด็นที่สังคมไทย “ปากว่าตาขยิบ” ตั้งแต่เรื่องทำแท้ง พนักงานขายบริการ ไปจนกระทั่งการพูดถึงรสชาติเครื่องดื่มบางชนิด

วันนี้ในการชุมนุมหลาย ๆ ครั้ง ประเด็นข้างเคียงข้อเรียกร้องบนเวทีเรายังเห็นประเด็นเหล่านี้ที่คนรุ่นใหม่ต้องการทำให้ดีขึ้นในเชิงกฎหมาย หรือทำให้มันถูกกฎหมาย (Legalise) เพื่อที่ว่าทุกที่อยู่แวดล้อมในวงนี้…จะได้รับสิทธิ์การคุ้มครองอย่างเต็มที่

ของเถื่อน 01: Sex Worker

“สิ่งที่ยากที่สุดในการต่อสู้เรื่องนี้คือการสู้กับความเชื่อของคนที่เชื่อว่างานนี้เป็นการลดทอนศักดิ์ศรี ซึ่งไม่ใช่ศักดิ์ของคนทำงาน แต่คือศักดิ์ศรีภาพรวมของประเทศ เราต้องการให้เข้าใจสิทธิความเป็นมนุษย์มากกว่าการรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ ประเทศของเรายังอยู่ในกรอบผู้หญิงดี ถ้าเราพ้นกรอบนี้มาได้ประเด็นการต่อสู้ของเราน่าจะรอด”

ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ ตัวแทนกลุ่ม sex worker บอกเล่าถึงความต้องการที่อยากเห็นอาชีพนี้และคนในสังคมมีส่วนร่วมลงชื่อเสนอร่างยกเลิก  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 จำนวน 10,000 รายชื่อ เพื่อให้งานขายบริการไม่ผิดกฎหมาย จากอยู่ใต้พรมเป็นขึ้นมามีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานคนอื่น ๆ นายจ้างจะได้ไม่เอาเปรียบ ไม่เอาเงินไปหักส่วย ไม่ถูกล่อซื้อ ไม่ต้องถูกจับ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีการล่อซื้ออยู่แต่ไม่มีข่าวให้เห็นมากนัก ส่วนใหญ่พวกเขาทำงานที่ บาร์ คาราโอเกะ และอาบอบนวด มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ รวมกลุ่มกันมากว่า 20 ปีแล้ว

ชัชลาวัณย์ บอกว่า พวกเขาต้องยอมรับว่างานนี้มาพร้อมกับการตีตราในทางลบ สังคมไทยยังไม่ยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลครอบครัว พ่อแม่จะต้องยอม นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า Sex Worker มากถึง 80% เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว

“พวกเรา…เลือกอาชีพนี้เพราะรายได้สูง
พวกเรา…ต้องดูแลครอบครัวมันผิดเหรอ
พวกเรา…ต้องดูแลลูกมันผิดเหรอ
พวกเรา…รู้ว่ามันผิดศีลธรรม มันอาจจะผิดมากหรือผิดน้อย แต่จำเป็นต้องผิดทางอาญาด้วยหรอ”

นี่คือสิ่งที่ ชัชลาวัณย์และกลุ่ม sex worker พยายามสื่อสารกับสังคมให้มากขึ้น ตอนนี้คนก็เริ่มเปิดใจแล้ว จึงคิดว่าช่วงเวลานี้เหมาะที่จะประชาสัมพันธ์ให้คนมาเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจริง ๆ ซึ่งประเด็นนี้คนในสังไม่ได้ต้องการลงโทษ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนการค้าประเวณี จุดร่วมตรงกลางคือให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองจากการทำงาน เช่น สามารถแจ้งความได้หากโดนขโมยเงินจากลูกค้า ถ้าโครงสร้างทางสังคมดูแลตั้งแต่ประชาชน ตั้งแต่เรื่องการศึกษา การสร้างรายได้ ค่าครองชีพ แก้ปัญหาจากรากหญ้าขึ้นมา คนทำงานแบบนี้จะลดลงแน่นอน

จากประสบการณ์การทำงาน ทำให้ชัชลาวัณย์เห็นข้อกังวลของสังคมในประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนเด็กเกิดเพิ่มขึ้น ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย จึงหาทางแก้โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากประเด็น ‘ถ้าไม่มีกฎหมายค้าประเวณีแล้ว การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กจะเพิ่มขึ้นไหม’

คำตอบกลับตรงกันข้าม มีกฎหมายนี้หรือไม่มี เด็กก็สามารถเข้าสู่อาชีพนี้ได้ ปัญหามันหยั่งรากลึกในสังคม ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงการศึกษา ถ้าเราจะแก้ปัญหาการค้าประเวณีมันคนละจุดกัน

การแก้ปัญหาการค้าประเวณี ต้องเอากฎหมายการค้าประเวณีออกไป แต่ปรากฏว่าประเทศไทยเรามีกฎหมายหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาคุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กฎหมายอาญาเกี่ยวกับเด็ก ถ้าเด็กขายบริการทางเพศจะไม่มีความผิดทางอาญา เพราะต้องได้รับการคุ้มครองเแล้วเข้าสถานพินิจ ส่วนผู้แสวงหาประโยชน์จากธุรกิจการบริการนี้มีทั้งอาญา ค้ามนุษย์ มีกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับลงโทษ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ถูกใช้ กลับมีไว้จับพนักงานขายบริการทางเพศเท่านั้น

ขณะที่อีกหนึ่งคำถาม คือ “เมื่อเรามีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเรา ร่างกายเป็นของเราจริงไหม” รัฐธรรมนูญอันนี้พวกเราไม่ได้มีส่วนร่วม ซึ่งพวกเขาสนับสนุนเพราะท้ายที่สุดการชุมนุมจะนำไปสู่การร่างรัฐธรมมนูญแบบมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา การจ่ายส่วยมีสูงขึ้นมาก และเคร่งครัดบังคับใช้กฎหมายสูงขึ้นไม่แพ้กัน แต่ชีวิตพนักงานไม่ได้สวยงามขึ้นตาม รัฐบาลบอกว่าจะเข้ามาปราบโกงปราบอบายมุข แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม

เข้มงวดกฎหมายมากขึ้น=จ่ายส่วยมากขึ้นและใช้ชีวิตยากขึ้นต่างหาก

ของเถื่อน 02: ทำแท้ง

ทำแท้ง ถูก หรือ ผิด ตัดสินอย่างไร?
อีกหนึ่งเรื่องราวของเถื่อนในม็อบ (19 กันยายน 2563) เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่สังคมเลือกทำเป็นไม่สนใจ
แน่นอนว่าคนในสังคมย่อมมองด้วยเลนส์ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะมองด้วยมุมกฎหมาย จารีต หรือสิทธิ แต่ศูนย์รวมของปลายจบลงที่ ‘ผู้หญิง’ ผู้กลายเป็นเป้า

‘ทำแท้ง’ เท่ากับความผิดบาป
‘ทำแท้ง’ เท่ากับเป็นอาชญากร
เพราะ…ทำแท้งเท่ากับผิดกฎหมาย

วาทกรรมที่ต้องการหาความเท็จ-จริงเหล่านี้ถูกผนวกเข้ากับอีกหลายเหตุผลเกิดเป็นชนวนให้กลุ่มผู้หญิงปลดแอกลุกขึ้นมาพูดในเรื่องที่สังคมเลือกที่จะเงียบ

“เราต้องการให้ยกเลิกมาตรา 301 ที่เอาผิดผู้หญิงทำแท้ง” คือ คำเรียกร้องประโยคแรกที่ กรกนก คำตา พูดในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้หญิงปลดแอก (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

กรกนก มองว่า ม.301 เป็นสิ่งที่กดให้คนต้องเสียชีวิตจากการทำแท้งด้วยตัวเอง และเป็นเครื่องมือสร้างข้ออ้างให้แพทย์ปฏิเสธการทำแท้งที่ปลอดภัย และเป็นเงื่อนไขที่รัฐใช้เลี่ยงประชาสัมพันธ์การบริการทำแท้งให้กับประชาชน อย่างเช่น สายด่วน 1663 ที่บริการให้คำปรึกษาแต่จำกัดอยู่แค่ในวงแคบ

“จริง ๆ รัฐมีบริการทำแท้ง แต่ไม่ถูกประชาสัมพันธ์และก็ยังย้อนแย้งอีก เพราะว่ามีกฎหมายอาญาที่บอกว่าผู้หญิงที่ทำแท้งผิดกฎหมาย คราวนี้กลายเป็นว่ารัฐมีบริการแต่ก็มีกฎหมายที่ลงโทษด้วย”

และถึงแม้ว่าปัจจุบันกฎหมายสามารถ ‘ยุติการตั้งครรภ์’ ได้ใน 6 กรณี ได้แก่
1) การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายของผู้หญิง
2) การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางใจของผู้หญิง
3) ทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรง
4) การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา
5) การตั้งครรภ์ในเด็กหญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปี
และ 6) การตั้งครรภ์มาจากเหตุล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่ เพื่อทำอนาจาร สนองความใคร่

แต่ไม่ได้คำนึงถึงสภาพทางเศรษฐกิจ ความพร้อม-ไม่พร้อม รัฐสวัสดิการที่ไม่ฟังก์ชันต่อการดูแลเด็กที่ต้องเกิดมา และการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาของระบบการศึกษาไทย

นอกจากนี้ตัวแทนผู้หญิงปลดแอก ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การเรียกร้องให้การทำแท้งถูกกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าอยากให้การทำแท้งเป็นเสรี แต่เป็นการเรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงสิทธิ์การรักษาที่ปลอดภัยและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ชีวิตที่ไม่พร้อมของเพศหญิง

เพราะ…คือสิทธิของผู้หญิง คือสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ คือสิทธิมนุษยชน การทำแท้งจึงเป็นอีก 1 สิทธิ์เบื้องต้นที่เปิดให้ผู้หญิงได้ดูแลตัวเอง

ของเถื่อน 03: 32 ดีกรี

“ทุกคนควรมีสิทธิ์พูดว่า ชอบ ไม่ชอบ มันเป็นการแสดงออกขั้นพื้นฐาน”

ส้ม-สุภัค ก่ออิฐ Co-Founder ประชาชนเบียร์ ชวนประชาชนและผู้ร่วมชุมนุมม็อบ #19กันยา ลงชื่อแก้กฎหมายมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวโฆษณาผลิตภัณฑ์ ภายใต้แคมเปญ ‘ไม่คบ32’

“ตรงตัวเลยค่ะ ไม่คบ 32 เพราะมันไม่น่าคบ สิ่งที่ไม่น่าคบ เพราะไม่ให้มีการพูดถึงมัน ถ้าโพสต์รูปภาพเห็นสลาก แล้วบอกว่าอร่อยจัง หรือชอบก็ผิดหมด มีสิทธิ์โดนปรับตั้งแต่ 17,000-50,000 บาทได้”

ทีมประชาชนเบียร์ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อจะที่จะนำไปเสนอแก้ไข “ความกำกวม” ของกฎหมายมาตรานี้ ที่พิจารณาคนผิดด้วย “ดุลยพินิจ” ซึ่งมันไม่ชัดเจน

“แค่คำว่าโดยตรงโดยอ้อม มันคืออย่างไรก็ได้ มองว่าสิ่งนี้เป็นสิทธิ์ที่เราควรแสดงความเห็นได้อย่างเสรีว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร”

“มันถูกมองว่าเป็นสิ่งมึนเมา” เราถาม
ส้มตอบว่า “มองเป็นของมึนเมามันไม่แปลกค่ะ แล้วประเด็นนี้เคยไปแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นนี้มาแล้ว จุดประสงค์กฎหมายนี้คือกลัวว่าจะมีนักดื่มหน้าใหม่ แต่เราก็พยายามสื่อสารว่าคนดื่มคือดื่ม ขณะที่คนไม่ดื่มก็ไม่ดื่ม เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนรู้ว่าอะไรดีชั่ว ความชอบไม่ชอบของตัวเองควรได้พูดออกมา ตรงนี้แหละคนออกกฎหมาย คือไม่เข้าใจว่าประชาชนควรมีสิทธิ์เลือกได้ด้วยตัวเอง ทำไมเราถึงไม่สามารถบอกว่าไม่ชอบได้”