"เศรษฐกิจเหรอ...พัง-รุงรัง" คุยกับแม่ค้าพ่อขาย วันที่เอาตัวรอดในม็อบ 19 ก.ย. - Decode
Reading Time: 2 minutes

เศรษฐกิจติดม็อบ ณ ส.สนามหลวง
แนวร่วม 3 ส. เสื่อ เสื้อ และ ไส้กรอก

“ไข่เจียวร้อนๆทางนี้จ้าาาาา”
“ขอหนมจีบ 30 ค่ะ”
“เสื่อไหมจ้ะ 20 บาทจ้า”

เสียงของพ่อค้าแม่ขายที่ดังคลอไปกับเสียงปราศรัยกลายเป็นเรื่องปกติที่เรามักจะพบเห็นได้ในทุก ๆ ม็อบ และยิ่งในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจของไทยอยู่ในขั้นโคม่า การได้มาขายของในม็อบถือเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของเหล่าคนหาเช้ากินค่ำ

เราลัดเลาะสนามหลวงเพื่อพูดคุยกับสามประสาน (ร้านค้า) แห่งม็อบ ตั้งแต่คุณน้าขายเสื่อ คุณพี่ขายเสื้อ และ ปิดท้ายด้วยคุณป้าขายไส้กรอก ว่าเศรษฐกิจติดม็อบในวันนี้เป็นอย่างไร และ เมื่อม็อบจบลงไป เขามีหวังไหมว่าเศรษฐกิจนอกม็อบจะสามารถมอบชีวิตที่ดีให้เขาได้อีกครั้งหนึ่ง

สมภาร ศรีภาเสน
อาชีพ : ขายเสื่อ

เวลาประมาณเกือบ 6 โมงเย็น ท้องฟ้า ณ สนามหลวงมืดครึ้ม ผู้ชุมนุมหลายคนเข้ามาจับจองหาพื้นที่นั่งและลงหลักปักฐานอย่างจริงจังเตรียมพร้อมสำหรับการค้างคืน แน่นอนว่าหนึ่งไอเท็มที่ดูจะเป็นที่ต้องการมากที่สุดคือเสื่อผืนกว้างสักผืน

ด้วยเหตุนี้เองเราจึงพุ่งตัวไปด้วยความเร็วแสงเพื่อพูดคุยกับแม่ค้าขายเสื่ออย่าง สมภาร ศรีภาเสน สาวขอนแก่นใจสู้ ถึงการค้าขายในวันนี้ว่าขายดิบขายดีอย่างที่ใครหลายคนคาดไว้หรือเปล่า

“เพื่อนเคยเล่าให้ฟังว่าปกติเวลามาขายเสื่อในม็อบจะขายดี แต่ปีนี้ขายไม่ดีเลย พี่มาตั้งแต่ 6 โมงเช้า ตอนนี้ 6 โมงเย็นแล้ว ต้องขายได้สัก 10 ผืนถึงจะอยู่รอด แต่เราเพิ่งขายได้ 4 ผืนเอง”

สมภารเล่าว่านี่เป็นครั้งแรกของเธอในการมาขายเสื่อที่ม็อบ เพราะปกติเธอสารภาพว่ากลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นก็เลยเลือกที่จะไม่ไปขาย แต่ช่วงนี้ด้วยพิษเศรษฐกิจที่ออกฤทธิ์แรงจนทำให้ลูกชายทั้ง 2 คนของเธอกลายเป็นคนตกงาน โดยเธอเสริมว่าลูกชายคนเล็กเพิ่งถูกไล่ออกเมื่อวานนี้เอง

จากที่เคยมีเสาหลักเป็นเจ้าลูกชายทั้ง 2 ซึ่งทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์ วันนี้สมภารต้องรับหน้าที่นี้เสียเอง เธอกลับมาเป็นคนที่ต้องแบกรัไบครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูกชายทั้ง 2 และ แม่ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ดูท่าเมื่อปากท้องถึงคราววิกฤตความกลัวก็กลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ ไปเสียเลย

“ถ้าถามว่ากังวลอะไรมากที่สุด เราก็กลัวลูกตกงาน กลัวลูกไม่มีงานทำ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจมันแย่มาก แย่มากจริงๆ”

ก่อนจากกัน เราถามสมภารว่าถ้าเธอตกงานด้วยแล้วจะทำยังไง สมภารยิ้มเศร้าและตอบว่า “ก็ตายเลย ตายเลย”

วรพล บุตรไสย
อาชีพ : ขายเสื้อ

“ให้รัฐช่วยเหรอ? ช่วยยากนะ แล้วก็ไม่ได้หวังว่าจะช่วยได้ด้วย”

วรพล บุตรไสย พักสั้น ๆ หลังขายเสื้อสกรีนในม็อบ #19กันยา เขาบอกว่านี่เป็นครั้งแรกเลยที่นำเสื้อมาขาย เพราะปกติมาชุมนุมทีไร ก็จะนำมาแจกทุกครั้ง

ครั้งนี้เลือกขายในราคาย่อมเยาว์ 150 บาท หวังได้กำไรกลับบ้านแบบกรุบกริบ แต่พอเราเข้าคำถามให้ลองรีวิวเศรษฐกิจให้ฟังหน่อย เท่านั้นเขาก็ค่อย ๆ บอกว่า ธุรกิจสกรีนเสื้อที่เลี้ยงชีวิตคน 6 คนในครอบครัวค่อย ๆ ดิ่งลงเรื่อย ๆ

เริ่มจากออร์เดอร์จากต่างชาติชะลอตัวตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว พอโควิดมาอีก ออร์เดอร์หายหมด เพราะรายได้หลักขึ้นอยู่การขายในต่างประเทศ คนเข้ามาสั่ง และส่งออก แต่วันนี้ กำลังซื้อในประเทศเองก็หดตัวมาก ๆ

“คนไม่มีเงิน เขาไม่มาสนใจแฟชั่นมากหรอกคุณ”

วรพลกังวลอนาคตธุรกิจสกรีนเสื้อตัวเองตลอดเวลา เพราะมันบอบช้ำจากหลายปัจจัยมานาน ยิ่งในวงการสกรีนเสื้อยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะทุกคนเจอชะตากรรมเดียวกัน “ไม่มี..ไม่มีหวังเลย ถ้ามีหวังคนจะออกมาออกเหรอ ดูดิคนออกมาเยอะมาก ๆ เลยนะ”

ศรีอร ดวงชื่น
อาชีพ : แม่ค้าไส้กรอกปิ้ง

“แย่…แย่มาก เศรษฐกิจพัง หนี้พะรุงพะรัง”

ความอัดอั้นของ ศรีอร ดวงชื่น แม่ค้าร้านไส้กรอก หมูปิ้ง ข้างการชุมนุม #19กันยา พุ่งตรงมาถึงเรา ขณะที่มือก็ระวิงกับการจับไส้กรอก ลูกชิ้นปิ้ง หมูปิ้ง ส่งให้ลูกค้า-ผู้ชุมนุมตลอดเวลาการพูดคุย

วันนี้ลูกค้าเป็นผู้ชุมนุมทางการเมือง เป็นครั้งแรกที่เธอรู้สึกว่า “เป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่” เพราะนั่นหมายถึงเงินในกระเป๋าที่จะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จะได้นำเงินไปพร่องหนี้สินบ้าง เพราะโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ย่ำแย่วันนี้ ทำให้ลูกค้าเดิมคือนักท่องเที่ยวจีนหายไปทันที

“ปกติขายอยู่หน้าธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักศึกษาเขากินกันก็ขายดีนะ แต่มันไม่ได้ดีไปกว่าการขายของฝากของกินคนจีนหรอก” บ้านของศรีอรมีสมาชิกอยู่กัน 5 คน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 2 คน เธอไม่มีความเห็นว่ารัฐบาลควรออกหรือไม่ แต่เท่าที่ดูเธอไม่เห็นการพัฒนา

เราถามว่าอยากให้รัฐบาลช่วยแก้อะไร “โอ๊ย…ก็อยากให้โควิดมันหายไป ท่องเที่ยวจะได้กลับมา ส่วนรัฐบาลก็เห็นแก้นะ แต่มันก็ไม่ได้พัฒนาอะไรเท่าที่เห็นนะ เอื้อแต่ทุนใหญ่ กีดกั้นพวกเราแม่ค้า เราเรียนก็ไม่สูง ไปสมัครงานก็ทำได้แค่แม่บ้าน เงินเดือนก็น้อย ไม่พอเลี้ยงคนหรอก”