เอเรวอน วรรณกรรมในชุดวรรณกรรมโลกสมมติ ของสำนักพิมพ์สมมติ เป็นวรรณกรรมที่ทลายยอดขายจนต้องตีพิมพ์ซ้ำในเวลาอันใกล้ ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่สร้างบทถกเถียงในหมู่สังคมนักเขียนและนักอ่านในขณะนั้น เพราะเป็นงานเขียนที่มีทั้งคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดมัน และมีทั้งคนชื่นชมอย่างปีติยินดี อย่างจอร์จ ออเวล นักเขียนชื่อดัง ที่กล่าวชื่นชมต่องานเขียนของบัตเลอร์เล่มนี้ว่า “เครื่องจักรนั้นเป็นได้ทั้งประโยชน์และอันตรายต่อมนุษย์” แต่ขณะเดียวกัน เอเรวอน กลับถูกนักวิจารณ์จำนวนมากบอกว่า “นวนิยายเรื่องนี้ชวนให้สับสนและไร้เหตุผลมารองรับ” แม้เอเรวอนจะได้รับการนิยมอย่างสูงในช่วงวิคตอเรียน(1837-1901) ไม่ใช่เป็นเพราะชื่อเสียงของนักเขียน แต่เป็นเพราะกระแสสังคมให้ความสนใจ
เอเรวอน ดินแดนที่ท้าทายต่อขนบวิธีคิดแบบเดิม ไร้เหตุผลและหลักการทางวิทยาศาสตร์มารองรับ มองถึงจินตนาการที่ไม่อาจนึกถึง นี่จึงเป็นเสน่ห์อย่างเดียวของเอเรวอนที่ชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุด บัตเลอร์ชวนคิดกับผู้อ่าน ตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแห่งยุคสมัยที่ไม่มีใครอาจไปถึง คือการฉายภาพจินตนาการหลังผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม ซึ่งนี่คือการชวนคิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1872 ผมเองก็จินตนาการไม่ออกว่าในวันที่มนุษย์ละทิ้งเครื่องจักรเครื่องกล ทิ้งเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และความชอบธรรมทางศาสนา วันนั้นพวกเราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร
ซามูเอล บัตเลอร์ ไม่ได้ตั้งชื่อตัวละครในวรรณกรรมเล่มนี้ไว้อย่างจงใจ เพราะให้ตัวเองแทนตัวละคร เพื่อเดินเรื่องในวรรณกรรมอันซับซ้อน บัตเลอร์เป็นหนุ่มชาวอังกฤษผู้ย้ายถิ่นฐานในยุคล่าอาณานิคมมายังนิวซีแลนด์ พื้นที่ ที่แผ่นดินผืนใหม่ตั้งแต่ชายฝั่งจรดภูเขาหลายเอเคอร์ไม่ได้ถูกครอบครองโดยใครหรือนิติบุคคลคนใด การเข้ามาของคนอังกฤษในยุคแรก ด้วยเหตุผลไม่ต่างกัน คืออยากได้ที่พำนักใหม่เพื่อเอาตัวรอด หลังวิถีของเกษตรกรรมกำลังอยู่ในช่วงขาลง คนที่นี่ส่วนใหญ่เลี้ยงสัตว์ ทั้งแกะและวัวหลายสายพันธ์ก็ถูกผสมพันธ์ที่นี่ และส่งออกไปให้ผู้บริโภคทั่วโลกทุกสารทิศ และเรื่องราวของงานเขียนทั้งเล่มก็เกิดจากบัตเลอร์และมีคนตัดขนแกะของฟาร์มนามว่าเชาบ็อกเพียงเสี้ยวเรื่อง ซึ่งทั้งคู่ออกเดินทางพร้อมกัน
ไปยังดินแดนที่ไม่เคยมีใครไปถึง
เชาบ็อก คนตัดขนแกะ อาศัยในฟาร์มเดียวกับบัตเลอร์ เขามาจากชนเผ่าสักเผ่าหนึ่งในนิวซีแลนด์ ติดสุราและลักเล็กขโมยน้อย โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นี่จึงเป็นกุศโลบายของบัตเลอร์ซึ่งกำลังหาเพื่อนคู่ใจเพื่อออกเดินทางไปสู่มหาบรรพต เทือกเขาสุดสายตาที่ไม่เคยมีใครไปถึง เมื่อถึงวันออกเดินทางบัตเลอร์สัญญากับเชาบ็อกว่าจะให้เหล้าชั้นดีหากเชาบ็อกยอมเดินทางไปด้วย เป็นเล่ห์กลที่ง่ายดาย เชาบ็อกพร้อมออกเดินทางด้วยทันที แต่ด้วยเส้นทางที่ยาวไกลอย่างที่กล่าวว่าไม่เคยมีใครไปถึง ทั้งเทือกเขาและหน้าผา เชาบ็อกกลับหักหลังไม่ได้เป็นเพื่อนคู่ใจของบัตเลอร์จนถึงฟากฝั่ง แถมหายตัวไปด้วยการขโมยเหล้าที่เหลืออยู่ ชะตากรรมและการเดินทางทั้งหมดของวรรณกรรมเล่มนี้ ก็เหลือเพียงแค่บัตเลอร์ผู้เดียว
หลังจากออกเดินทางหลายสัปดาห์ บัตเลอร์เริ่มเข้าสู่ดินแดนไร้แห่งหน ปราการแรกคือม่านหมอกหนาคลุ้ง แต่ไม่รู้สึกถึงอุณหภูมิอันเยือกเย็น เลยแม้แต่น้อย เพราะในใจบัตเลอร์บอกว่า นี่ฉันมาถึงที่ไหนกัน ก่อนที่จะสลบไปกับเพลิงหญ้าด้วยอาการหมดแรง บัตเลอร์ตื่นขึ้นอีกทีพร้อมกับผู้คนในดินแดนไร้แห่งหนที่รายล้อม ด้วยอาการตกใจและงุนงงเพราะไม่เข้าใจภาษาของชนกลุ่มนี้ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาชาวเผ่าดั้งเดิมของคนนิวซีแลนด์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการพาบัตเลอร์รู้จักดินแดนไร้แห่งหน ที่ซึ่งไม่เคยมีใครมาถึงก่อนเขา และเมื่ออ่านเล่มนี้จบ ก็ตอกย้ำอย่างหนักแน่นอีกครั้ง ว่าคงไม่มีโอกาสไปถึงดินแดนแบบนี้จริง ๆ
ดินแดนไร้แห่งหน เต็มไปด้วยความพิลึกพิลั่น
บัตเลอร์ถูกนำตัวไปยังกลุ่มคนที่เป็นผู้นำ เขาถูกนำตัวผ่านเมืองต่าง ๆ ไปยังเมืองหลวงซึ่งรู้ว่าดินแดนแห่งนี้ชื่อ เอเรวอน แต่ความแปลกแรกของคนที่นี่คือการเจอคนแปลกหน้าอย่างบัตเลอร์ ที่ไม่มีใครมองเขาด้วยสายตาที่ฉงน ตั้งคำถาม หรือมีข้อสงสัยเลยแม้แต่คนเดียว มีแต่ผู้คนที่ปีติยินดี อยากเจอ อยากจับมือและได้บัตเลอร์มาครอบครอง ถ้าเราหลุดไปยังชาวเผ่าหรือพื้นที่ของคนป่า เราคงต้องถูกตั้งคำถามไม่เบา ว่ามาถึงนี้ได้อย่างไรมาที่นี่เพื่ออะไร ซึ่งบัตเลอร์ไม่เจอคำถามเหล่านี้เลย แต่กลับแปลกที่สิ่งติดตัวบัตเลอร์มาและถูกกักไว้เหมือนเป็นชิ้นส่วนอันตรายคือนาฬิกา ไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่เวลาอาจเป็นวัตถุอันตรายในดินแดนแห่งนี้ก็เป็นได้ ซึ่งเมื่ออ่านจบ ผมกลับเข้าใจว่ากลไกของเวลาคือการทำงานบนหลักการทางวิทยาศาสตร์ และดินแดนแห่งนี้ปฏิเสธหลักการเหล่านี้อย่างแข็งขัน
บัตเลอร์ถูกนำตัวผ่านพิพิธภัณฑ์เหมือนสถานที่เก็บของเก่า แต่กลับเจอเครื่องจักรเครื่องกลที่ทันสมัยถูกเก็บไว้ นั่นคือความประหลาดแรกเท่าที่เรานึกออกภายใต้การอยู่ท่ามกลางยุคอุตสาหกรรมทุนนิยมว่าของแบบนี้จะเป็นวัตถุที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร แต่เครื่องจักรเครื่องกลอันทันสมัยที่มนุษย์ในยุคอุตสาหกรรมแบบเราบอกว่า นี่คือความก้าวหน้าและอารยธรรมที่เจริญต่อโลก กลับกลายเป็นชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเก็บไว้เป็นของโบราณ และผู้คนที่นี่ก็มีท่าทีสะอิดสะเอียน
ผู้เขียนต้องการยอกย้อนอย่างเจ็บแสบ ว่าบัตเลอร์ผู้เดินทางมาจากยุคเกษตรกรรม ไปยังพื้นที่ที่อุตสาหกรรมแบบเครื่องกลกลายเป็นของล้าหลัง เมื่อย้อนถึงศตวรรษที่ 18 มนุษย์ได้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมจวบจนปัจจุบัน จนเรายังไม่ออกว่ายุคหลังจากอุตสาหกรรมล่มสลายจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เหลือเชื่อ ว่าบัตเลอร์ไปถึง และเห็นท่าทีการสะอิดสะเอียนต่อเครื่องจักรกลอันเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคอุตสาหกรรมของคนในเอเรวอน ผมตีความว่า นี่คงเป็นการสื่อนัยยะว่ายุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ขูดรีดผู้คนอย่างเจ็บปวดได้ถึงเพียงใด ถึงยุคนี้คนถึงมองเครื่องมือเหล่านี้เหมือนตัวร้ายในอดีตที่ผ่านมา
ไม่ใช่เพียงพิลึกพิลั่นแค่การมองในสิ่งที่คนยุคเราคิดว่าก้าวหน้ากลับล้าหลังที่เอเรวอน แต่มุมมองต่อปรัชญาการใช้ชีวิต การจัดการ กฎหมาย ของที่นี่ก็ผิดเพี้ยนไปหมด ซึ่งนี่คือเนื้อหาที่ถูกนักวิจารณ์ในปี 1880 วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่สุด ว่าไม่สอดคล้องกับเหตุผลและหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลายทศวรรษต่อมา กว่าจะเข้าใจว่าบัตเลอร์ต้องการเสียดสีสังคมอย่างในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมอย่างแสบทรวง
ปรับทัศนคติ ให้เป็นคนเอเรวอน
เมื่อเจอผู้นำในดินแดนแห่งนี้เสร็จ บัตเลอร์เหมือนวัตถุที่ล้ำค่า ได้อภิสิทธิ์ในการใช้ชีวิต แม้จะถูกตั้งข้อครหาจากการมีนาฬิกาในครอบครอง แต่เพื่อให้บัตเลอร์อาศัยอยู่ในเอเรวอนได้ เขาจึงถูกบังคับให้ปรับทัศนคติต่อการมองโลกให้เหมือนคนเอเรวอน บัตเลอร์ถูกนำตัวไปยังที่พักตัวของคนป่วย ซึ่งถ้าหากใครป่วยและมีโรคเรื้อรัง จะถูกลงโทษหนักกว่าการเป็นอาชญากร เพราะคนป่วยต้องจ่ายค่ารักษาเอง และถูกจับขังกักบริเวณบางโรคเรื้อรังต้องรับโทษสูงสุดอย่างโรคหัด โทษคือการจำคุกตลอดชีวิต ที่เอเรวอนหากใครป่วยก็ต้องเก็บอาการเอาไว้ อย่าไปหาผู้เชี่ยวชาญ หมอสังคม จนต้องถูกวินิจฉัยว่าป่วย ไม่อย่างนั้น ก็จะถูกสอบสวน ติดตาม เหมือนผู้ต้องหา และเสียเกียรติยศสำหรับครอบครัว ผมพลางนึกไปเองว่า ที่แบบไหนกัน ขนาดเจ็บป่วยไม่ได้เลยอย่างนั้นหรือ อย่างกรณีการตัดสินจำเลยที่เป็นวัณโรค ศาลไม่อาจรับฟังเหตุผลของทนายฝั่งจำเลยแม้แต่น้อย ซึ่งมีท่อนที่ผู้พิพากษากล่าวว่า “ไม่ใช่ธุระของข้าพเจ้าที่จะหาเหตุผลความชอบธรรมให้กฎหมาย เพราะในบางกรณีกฎหมายก็อับจนหนทางจริง ๆ” และถ้าหากผู้พิพากษาไม่อธิบายความชอบธรรมทางกฎหมาย แล้วหน้าที่ในการดำรงความยุติธรรมเป็นของใคร ซึ่งสุดท้ายผู้ป่วยรายนี้ถูกลงโทษในอัตราโทษสูงสุด กลับกันหากคุณเป็นอาชญากรก็จะถูกส่งเข้าโรงพยาบาลสำหรับคนป่วยเกินเยียวยาทันที
หรือเรื่องการเกิดและตาย ที่คนในเอเรวอนน่าจะมีทัศนคติที่ใกล้เคียงกับพวกเรามากที่สุด แต่ก็กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการตายของคนที่นี่ เหมือนการออกไปยังภพภูมิที่มองไม่เห็นซึ่งพวกเขาเชื่อว่าไม่มีใครเดินทางไปถึงภพภูมินั้นแน่ ๆ การตายจึงไม่ใช่เศร้าโศก ไม่มีการไว้อาลัย หรือเขียนจดหมายแสดงความเสียใจต่อญาติมิตร พิธีกรรมเดียวเมื่อมีคนตาย คือการเอาอัฐิไปโปรยลงพื้นดินที่ผู้ตายเลือกไว้ก่อนจะจากไป โปรยตรงไหนก็ได้ห้ามใครปฏิเสธ แปลกตรงที่ ถ้าสักวันหนึ่งมีคนบอกว่าจะเอาอัฐิของใครสักคนมาปล่อยตรงหน้าบ้านเราเพราะผู้ตายเลือกไว้ เราคงขวัญผยองไม่เบาที่ต้องอยู่ร่วมกับอัฐิของใครสักคน หรือถ้าใครเป็นคนสาธารณะหากจะมีรูปปั้นหลังจากการตายได้ ต้องรอให้เวลาผ่านพ้นไปอย่างน้อย 100 ปี
ส่วนของการเกิด หากพบว่าผู้หญิงคนไหนตั้งท้อง ก็จะถูกมองเหมือนคนป่วย ไม่มีใครอยากมีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องเก็บตัวเงียบไม่พบปะสังสรรค์จนกว่าจะคลอด เมื่อคลอดแล้วก็จะกลับกลายเป็นคนปกติ ไม่มีความผิด เพราะไม่มีเหตุผลที่จะเอาผิดได้แล้ว
การเดินทางออกจากบ้าน(ที่จงใจชี้ให้เห็นถึงยุคเกษตรกรรม) นานถึง 10 เดือน ก้าวพ้นยุคสมัยที่มนุษย์เรียกว่ารุ่งโรจน์ โชติช่วงชัชวาลที่สุดคือยุคอุตสาหกรรม ขณะนั่งเขียน ผมเองก็เกิดจินตนาการว่าเราจะก้าวพ้นยุคนี้ได้เมื่อไรกัน 10 เดือนของบัตเลอร์ในเอเรวอน เต็มไปด้วยสิ่งที่ขัดหูขัดตา ขัดใจไร้เหตุผล เพราะปกติวิสัย ที่พวกเราใช้ตัดสินหรือเข้าใจ ปรับใช้กับเอเรวอนไม่ได้เลยแม้แต่น้อย ก่อนที่จะวางแผนหนีออกจากเอเรวอนพร้อมหญิงสาวคนรัก บัตเลอร์ได้เข้าไปอ่านหนังสือในวิทยาลัยไร้เหตุผล เพื่อทำความเข้าใจให้กระจ่างต่อวิธีคิดของชาวเอเรวอน ซึ่งในขณะนั้นบัตเลอร์เริ่มรู้ตัวแล้วว่า ตัวเองกำลังจะถูกดำเนินคดีในฐานะผู้มีโรคหัด และถือนาฬิกาในครอบครอง ซึ่งนับว่าเป็นความผิดที่มีโทษสูงสุดในที่แห่งนี้
บัตเลอร์ตั้งคำถามกับเหตุผลและการไม่มีเหตุผล ซึ่งศาสตราจารย์ด้านสมมติศาสตร์กล่าวแก่บัตเลอร์ว่า “การไม่มีเหตุผลก็สำคัญพอ ๆ กับการมีเหตุผล” ทำให้บัตเลอร์งุนงงอย่างหนัก ว่าการไม่มีเหตุผลสรุปแล้วคือการมีเหตุผลหรือไม่ ทั้งเรื่องความเชื่อต่อกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ทั้งวิธีคิดต่อการเมือง เครื่องจักรกล นี่ยังไม่นับวิธีคิดต่อศาสนาและความตาย ที่บัตเลอร์ก็ไม่เข้าใจและอธิบายออกมาไม่ได้ เมื่ออ่านถึงจุดนี้ ผมเลยอยากชวนย้ำว่านี่คืองานวรรณกรรมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในปีทศวรรษที่ 80 เพราะไม่มีทั้งเหตุผลและหลักการที่ชวนสนับสนุนให้เข้าใจงานเขียนชิ้นนี้ของบัตเลอร์ได้เลย
คุณูปการอย่างยิ่งที่ผมมองเห็นจากหนังสือเล่มนี้ คือความคิดของผู้คนหลังจากยุคอุตสาหกรรม ซึ่งไม่อาจทราบว่าเท็จจริงแค่ไหน ที่สะอิดสะเอียนต่อวิธีการผลิตในยุคเครื่องกล เครื่องจักรเหล่านี้ แม้ว่ามันพร้อมจะรับใช้มนุษย์เยี่ยงทาส แต่มันก็สร้างบาดแผลให้กับผู้คนมากมาย นั่นคือการกลืนงานของมนุษย์ไปมากโข ไม่แปลกใจที่ชาวเอเรวอนจะมองของพรรค์นี้เหมือนสัตว์ตัวนึง(หนังสือเรื่องเครื่องจักรในวิทยาลัยไร้เหตุผลกล่าวไว้)
ถึงคราต้องหนี
เมื่อมาถึงเวลาของการหนีตามแผนของบัตเลอร์ที่วางไว้ เพราะถ้าอยู่ต่อก็ต้องติดคุกแน่ ๆ ในฐานะที่ครอบครองนาฬิกา เขาจะใช้บอลลูนเพื่อลอยตัวเหนือฟ้า และพึ่งพลอยให้กระแสลมพัดพาเขาและคู่รักไปพ้นจากเอเรวอน เขาได้ร้องขอต่อจากราชินี ว่าจะทำการแสดง เพื่อคุยกับฟากฟ้า จากนั้นคนในเอเรวอนก็ร่วมสร้างบอลลูนขึ้นมา คราตอนที่ใช้บอลลูนหนีออก เกือบตายเพราะบอลลูนปลิวไปตกลงกลางมหาสมุทร เขาติดเกาะอยู่หลายชั่วโมง ก่อนที่จะเจอกับเรือของกัปตันชาวอิตาลี ซึ่งเข้าใจว่าบัตเลอร์หนีตายจากสงครามฟรังโก-บรัซเซีย(สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมันนี) ซึ่งบัตเลอร์ไม่ทราบข่าวมาก่อนเลยแม้แต่น้อย ก่อนที่บัตเลอร์จะถูกส่งตัวขึ้นเรือของคนอังกฤษที่กำลังมุ่งหน้ากลับลอนดอน นั้นเป็นวินาทีที่บอกว่า เขากับเอเรวอนจบลงแล้ว
เมื่อกลับถึงอังกฤษ บัตเลอร์ทราบข่าวว่าแม่ก็จากไปก่อนวัยอันควร และญาติสนิทไม่มีใครต้อนรับกับการกลับมาของบัตเลอร์ ผมจินตนาการไม่ออกว่าความเศร้าตอนนั้นจะมากขนาดไหน แต่โชคดีที่ยังได้เพื่อนมิตรในลอนดอนมีงานการเขียนคอลัมน์เล่าเรื่องให้บัตเลอร์ใช้หากิน ซึ่งเขียนไปเขียนมาก็ออกมาเป็นวรรณกรรมเล่มนี้ แม้บัตเลอร์จะมีความพยายามที่จะทำอย่างไรดี เพื่อนำคริสตจักรกลับไปที่เอเรวอน หวังว่าพวกเขาจะได้เป็นผู้มีเหตุผลและใช้เหตุลผลในการดำเนินชีวิต ในส่วนนี้หลายคนอาจคิดว่าบัตเลอร์เป็นคนเคร่งศาสนาแน่ ๆ ที่ต้องการนำศาสนาคริสต์ไปเผยแพร่ แต่ผมว่าไม่หรอก บัตเลอร์ต้องการล้อเลียนคริสตศาสนามากกว่าที่เป็นคู่ปรับอย่างเผ็ดมัน ในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนา และกระแสแห่งจุดเริ่มต้นโลกาภิวัฒน์ในขณะนั้น เพราะมนุษย์เริ่มมีคำอธิบายที่สร้างการยอมรับอย่างชอบธรรมด้วยหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ที่เอเรวอนเวลาของพวกเขานำหน้าเราไปแล้วเป็นหลายร้อยปี
ภาพประกอบจาก AiVaad
หนังสือ: เอเรวอน ดินแดนไร้แห่งหน
ผู้เขียน: Samuel Butler
แปล: ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล
สำนักพิมพ์: สมมติ
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี