“คดีของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นจากนโยบายที่ไร้วิสัยทัศน์ของรัฐบาล ไม่ใช่เพราะเด็กเหล่านั้นเกิดมาเพื่อเป็นนักโทษ แต่เพราะพวกเขาไม่มีทางออกที่ดีพอต่างหาก และผู้ใหญ่อย่างเราก็หลงลืมสิ่งนี้มาโดยตลอด”
ความเห็นของ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ในคดีของ “หยก ธนลภย์” เยาวชนวัย 14 ปีเศษ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมขังฐานเป็นผู้ต้องหาในคดี 112 เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา กลายเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุดที่เคยบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมไทย แม้เมื่อปี 2565 ก็มีการแก้กฎหมายให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษทางอาญา หรือระหว่างอายุ 12-15 ปี ให้สามารถใช้มาตรการอื่นที่ละมุนละม่อมแทนที่จะรับโทษทางอาญา ทว่าเมื่อสังเกตจากกรณีของหยก ทั้งการออกหมายจับ การเข้าจับกุม และการทำงานของเจ้าหน้าที่ ล้วนแล้วแต่ผิดหลักมนุษยธรรมและกฎหมายทุกกระบวน
ในวันที่ 13 ตุลาคมปีที่แล้ว หยกได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา ทว่า อานนท์ กลิ่นแก้ว
ได้แจ้งความที่ สน.สำราญราษฎร์ในมาตรา 112 กับหยก จนหมายเรียกมาถึงหยกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งระบุว่าให้เธอมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ แต่หยกติดภารกิจทางการศึกษา โดยต้องไปรายงานตัวเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย เธอจึงได้ทำการเลื่อนวันรับทราบข้อกล่าวหาเป็น วันที่ 9 เมษายน แต่ถึงอย่างนั้น ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ร.ต.อ. เลิศชาย ผือลองชัย กลับยื่นคำร้องให้ศาลเยาชนและครอบครัวกลางออกหมายจับหยก
และหนึ่งเดือนให้หลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมตัวหยกโดยอ้างหมายจับจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขณะที่หยกกำลังสังเกตการณ์เหตุการณ์การพ่นสีสเปรย์ที่กำแพงวัดพระแก้ว และถูกควบคุมตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา จนวันที่ 29 มีนาคม หยกถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 7 คนใช้กำลังบังคับเพื่อนำตัวไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการจับกุม
งานเสวนา “เยาวชนไทยในกระบวนการยุติธรรม: อนาคตของประเทศยังมีพวกเขาอยู่ไหม?” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงเป็นงานที่ร่วมกันพูดคุยและตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวหยก ภายในงานมีการเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวกับการจับกุมดังกล่าวมาร่วมวงเสวนาด้วย แต่ก็ไร้วี่แววของเจ้าหน้าที่ แม้ทีมผู้จัดงานจะต่อสายไปถึงสำนักงานตำรวจ(สน.สำราญราษฎร์) แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น
ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษกมองว่า “ในระบบอำนาจนิยมมีราคาแสนแพงที่ต้องจ่าย” อำนาจนิยมนั้นเป็นระบบที่มีปัญหา และเป็นมรดกทางความคิดชิ้นสำคัญที่ส่งผลร้ายมหาศาลต่อเด็กและเยาวชน เธออธิบายว่าในช่วงก่อนปี 2495 กฎหมายไทยให้เด็กตั้งแต่อายุ 7 ปีที่กระทำความผิดทางอาญา “ต้องรับความผิดทางอาญา” แต่ภายหลังปี 2495 มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับเยาวชนร่างแรกเกิดขึ้น พร้อมกับเป็นปีแรกที่มีสถานพินิจแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไปอยู่ในเรือนจำกับผู้ใหญ่
อย่างไรก็ดี คำถามที่ว่า “เด็กอายุเท่านั้นทำไมต้องรับผิดทางอาญา” ก็ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทิชามองว่าเป็นตัวอย่างของการเพิกเฉยต่อความทุกข์ของเด็ก ๆ แม้ประเทศไทยจะลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อปี 2535 จนประเทศไทยถูกตั้งคำถามกว่า 36 ข้อจากสหประชาชาติ หนึ่งในคำถามเป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนในคดีอาญา นำมาสู่การแก้กฎหมายเด็กและเยาวชนในปี 2551 ว่าเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี ไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่ก็ยังน้อยไปในสากลโลก จนเมื่อปี 2565 จึงมีการแก้กฎหมายอีกครั้ง ให้เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษทางอาญา หรือระหว่างอายุ 12-15 ปี ให้สามารถใช้มาตรการอื่นที่ละมุนละม่อมแทนที่จะรับโทษทางอาญา
“เรื่องนี้ผิดตั้งแต่ไปออกหมายจับเด็ก ผิดตั้งแต่การใช้วิธีจับกุมแบบนี้
ผิดที่เอาหยกไปเข้าคุก ฉะนั้นศาลควรปล่อยตัวหยกทันที เพราะกระบวนการมันไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น” กฤษฎางค์ให้ความเห็นถึงกระบวนการทำงานของศาลและตำรวจ
“ผิดทุกประตู” กฤษฎางค์อธิบายว่าในวันที่ตำรวจเข้าจับกุม และไม่ว่าหยกจะถูกกล่าวหาว่าอย่างไร เธอยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การที่ศาลจะออกหมายจับเด็กหรือเยาวชน ต้องคำนึงถึงความผิด สถานะ พฤติการของเด็ก รวมถึงว่าการจับกุมครั้งนั้น ๆ จะเกิดผลเสียหายกับเด็กอย่างไรบ้าง ซึ่งหากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ก็ไม่ต้องออกหมายจับและให้เลือกใช้วิธีอื่น เช่น การติดตามตัวเด็กแทน
กฤษฎางค์กล่าวเสริมอีกว่า ในวันที่หยกโดนจับกุม เธอนั้นมีอายุราว 14 ปี 8 เดือน ซึ่งกฎหมายอาญาเขียนไว้ชัดเจนว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ต้องรับโทษหากกระทำผิด (แต่มีเงื่อนไขบางประการ) ฉะนั้นหมายจับของหยกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นล้าหลัง เพราะในคดีความที่เป็นเรื่องความเห็นต่าง จำเป็นต้องประกอบด้วยวิจารณญานที่เหมาะสม หากบุคคลนั้นไม่มี ก็ไม่สมควรที่จะทำงานในระบบยุติธรรม “ผู้พิพากษาไม่ว่าจะศาลใด เขาคือตัวแทนของเรา ซึ่งในกรณีนี้ผมวิจารณ์ว่าเขาผิด ถ้าเขาคิดว่าเขาถูก เขาต้องมาพูดชี้แจงวันนี้ว่า ทำไมถึงออกหมายจับหยก”
ทางด้านผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักนิติศาสตร์และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 19 วรรค 2 กล่าวไว้ว่าประชาชนไม่ว่าอายุเท่าใดที่อยู่ภายใต้หลักการรัฐธรรมนูญในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นบริสุทธิ์ ฉะนั้นศาลจึงมีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการกล่าวหาของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
“แต่ในทางปฏิบัติกลับหย่อนยานพอสมควร” ผศ.ดร.ปริญญายกตัวอย่างถึงหลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ ที่มีมาในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2492 แต่ในทางปฏิบัติเรากลับนิยมการ “จับมาแล้วขัง” จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำผิด ระหว่างนั้นหากจะปล่อยตัวผู้ต้องหา ก็ให้ “ปล่อยชั่วคราว” แต่เป็นหน้าที่ของผู้ต้องหาในการร้องขออ้อนวอนศาลให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้นขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญในวรรค 3 ของมาตราที่ 29 ที่กล่าวไว้ว่า “การจับกุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี”
ผศ.ดร.ปริญญา ยังเสริมในเรื่องการออกหมายจับอีกว่า เรายังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ ดังที่มาตรา 66 กล่าวไว้ว่า การออกหมายจับต้องมีเหตุอย่างเช่น หนึ่ง บุคคลนั้นต้องทำความผิดอาญาอัตราโทษสูงเกิน 3 ปี สอง มีหลักฐานว่าบุคคลนั้นทำการหลบหนี ยุ่งกับหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายอื่น ๆ ซึ่งในวรรค 2 ของมาตรา 66 ยังเขียนไว้อีกว่า หากบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกโดยไม่มีเหตุผลอันควร ซึ่งกรณีของหยกอาจเข้าข่ายข้อหนึ่ง แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีความผิดในข้อสอง
รวมไปถึงการควบคุมตัวหยกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 68 ในการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ที่ห้ามมิให้ควบคุม คุมขัง กักขัง คุมประพฤติ หรือมาตราการอื่นใดที่มีลักษณะจำกัดสิทธิของเด็กและเยาวชน เว้นที่มีหมายหรือคำสั่งศาล แต่ถึงแม้จะมีคำสั่งศาลก็ต้องไม่เป็นไปตามการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่ของศาลที่ต้องมาชี้แจงว่าได้ใช้วิธีเหล่านี้แล้วหรือยัง
“ซึ่งทั้งเรื่องของการตั้งข้อหาว่าสมควรหรือไม่ มีการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ด้วยความพยายามรึเปล่า การออกหมายจับ ถ้ามีความไม่ถูกต้องขึ้นมาก็ต้องโทษ
นายกรัฐมนตรีด้วย เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี” ผศ.ดร.ปริญญาชวนให้สังเกต
“หยกได้ปลุกผู้ใหญ่ในประเทศนี้ให้ตื่นขึ้น” ทิชาเสริมว่า ช่วงเวลาปัจจุบันเป็นช่วงที่ผู้ใหญ่ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะผู้ใหญ่หลายคนในไทยล้วนประคับประคองตัวเองอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยมมาโดยตลอด ซ้ำยังสมาทานและรักษาระบบนี้ไว้เพียงเพราะอำนาจนิยมนั้นทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ทำให้เด็กไม่เถียงผู้ใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ใหญ่ก็ต้องยอมรับว่าระบบอำนาจนิยมนั้นไร้ประโยชน์ในโลกอนาคต เราต้องเอาอำนาจนิยมออกไปให้มากที่สุด และพาเยาวชนออกไปจากเส้นทางนี้ “และนาฬิกาชีวิตของเขาจะต้องไม่หยุดเดินเพียงเพราะถูกควบคุมตัวตามคำพิพากษา” ทิชากล่าวทิ้งท้าย