โครงสร้างค่าไฟในเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 มีราคาต่อหน่วย 2.77 บาท ในขณะที่ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะขึ้นอย่างต่อเนื่อง คำถามคืออะไรคือสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง
- ก. ก๊าซในอ่าวไทยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีน้อยลงในขณะที่ความต้องการมากขึ้น
- ข. การสำรองค่าไฟที่มากเกินความจำเป็นถึง 20,000 กว่าเมกะวัตต์
- ค. ดีลผูกขาดทุนพลังงานไฟฟ้า
- ง. กฟฝ. มีสัดส่วนน้อยเกินไปในตลาดไฟฟ้า
คำตอบคือ ถูกทุกข้อ
ทุก ๆ 1 องศาที่ร้อนขึ้น แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% และทุก 1 องศาที่ร้อนขึ้น จ่ายค่าไฟแพงขึ้นอยู่แล้ว 7% ยังไม่นับค่า FT ที่เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นสำคัญในทุกบิลค่าไฟของเรา คือการบริหารจัดการของรัฐที่ผิดพลาด ตั้งแต่ ค่าพร้อมจ่าย ดีลผูกขาด ค่าก๊าซธรรมชาติราคาแพง ไปจนถึงการไม่ยอมเจรจากับกลุ่มทุนเพื่อหาทางลดภาระให้ประชาชน
กำบิลค่าไฟที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ไว้ให้แน่น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันว่าอะไรที่อยู่ข้างในตัวเลขที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือน มีตัวเลขไหนที่ซ่อนอยู่แต่รัฐไม่ยอมบอกประชาชน
ค่าพร้อมจ่าย ใครพร้อมจ่าย 25 สตางค์ต่อหน่วย
ตัวเลขมากมายในบิลค่าไฟนั้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นมามากไม่ใช่ค่าไฟฐาน แต่เป็นส่วนที่เรียกว่าค่า FT หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งผันแปรตามราคาเชื้อเพลิงตามตลาดโลก
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อการผลิตไฟฟ้าของไทยยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะที่ราคาเชื้อเพลิงเหล่านี้กำลังถีบตัวสูงขึ้นจากภาวะสงคราม โรคระบาด และในช่วงโควิดที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฝผ.) ได้รับหนี้ส่วนนี้ไว้จากผลกระทบการขนส่งและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ในปัจจุบันคนไทยถูกหนี้ส่วนเหล่านั้นเรียกกลับคืนในรูปแบบของค่า FT
“ไฟฟ้าในประเทศไทยกว่า 51% ยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ข้อเสียอย่างมากคือมันผันผวนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา แม้ในอ่าวไทยจะมีก๊าซธรรมชาติอยู่มาก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนกลุ่มทุนมาสัมปทาน ทำให้ผลิตได้น้อยลง และทำให้วันนี้เราต้องนำเข้าก๊าซเหล่านี้มาผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าหลายเท่า”
แต่ก็ใช่ว่าค่าไฟฐานจะไม่เป็นปัญหาเลย เพราะการบริหารจัดการผิดพลาดของรัฐที่ผ่านมา ทำให้ค่าไฟฐาน ซึ่งเป็นค่าคำนวณราคาต้นของค่าไฟ เป็นการผูกขาดให้ประชาชนต้องเลือกผู้ผลิตไม่กี่เจ้าเท่านั้น ค่าไฟฐานจึงไม่ได้มาจากราคากลางที่ภาครัฐจัดการได้ แต่เป็นราคาคุ้มทุนของเอกชน
ทั้งปัญหาค่าไฟฐานและค่า FT ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาที่ 3 คือเรามีโรงไฟฟ้ามากเกินไป จากการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าตามแผน PDP ซึ่งเป็นการพยากรณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในอนาคต แต่ที่ผ่านมาเราคำนวณปริมาณไฟฟ้ามากเกินจริง
“ในขณะที่เรามีโรงไฟฟ้าถึง 53,000 เมกะวัตต์ แต่ในความเป็นจริงเราต้องใช้ไฟฟ้าเพียงแค่ 32,000 กว่าเมกะวัตต์”
แต่ 20,000 กว่าเมกะวัตต์ที่เหลือ ไม่ได้ถูกทิ้งไว้อย่างลำพัง จากสัญญาที่รัฐทำการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ นำมาซึ่งค่าพร้อมจ่ายหรือเรียกได้ว่าเป็นการประกันราคา ในการที่จะดูแลพลังงานไฟฟ้าสำรองเหล่านี้ และหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสูงถึง 55% ในขณะที่ความจำเป็นจริง ๆ เราต้องการแค่ 15% เท่านั้น ซึ่งหากคิดคำนวณเป็นเงิน จะตกอยู่ที่ 49,000 ล้านบาท/ปี และหมายความว่าประชาชนทุกคนกำลังช่วยจ่ายเงินตรงนี้คนละ 25 สตางค์/หน่วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมารัฐไทยและ กฟผ.มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปล่อยให้ส่วนแบ่งกว่าครึ่ง และสัดส่วนของตัวเองในตลาดไฟฟ้านี้มีน้อยเกินไป ทำให้การกำหนดราคาและช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐ แต่ไปขึ้นอยู่กับเอกชน หนำซ้ำรัฐเองก็ไม่เจรจากับเอกชนด้วยซ้ำ
ปัญหาหลักที่ทำให้เอกชนถือไพ่เหนือกว่าภาครัฐ คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยังถือสัดส่วนในตลาดเพียงแค่ 32% ซึ่งนับว่าน้อยหากเทียบกับทางรัฐธรรมนูญที่ภาครัฐควรจะถือกรรมสิทธิ์ในสัดส่วน 51%
“ช่วงก่อนหน้านี้เราครองตลาดเกินกว่าครึ่งไปเยอะ แล้วมีเอกชนผลิตไฟฟ้าให้เราไม่กี่ราย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเราโดนกลืนสัดส่วน ซึ่งเกิดมาตั้งแต่หลายรัฐบาลก่อนหน้า แต่ทีนี้พอ คสช.เข้ามา เรามีเอกชนเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดไฟฟ้ามากกว่ารัฐแล้ว ไม่นับบริษัทลูกที่เขาบอกว่าไม่ได้เป็นเครือเดียวกันนะ ไปจนถึงการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าเหล่านี้ นี้เลยเป็นคำตอบว่าทำไมคนถึงแชร์โพสต์ว่าบริษัทพลังงานนี้กำไรเท่าไหร่ต่อปี เพราะมันผูกขาดจริง ๆ ขนาดรัฐยังประกันกำไรให้เลย”
พลังงานทดแทน ทางออกที่ไทยอยากได้แต่ไปไม่ถึง
รศ.ดร.ชาลี กล่าวถึงที่มาของก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันค่า FT จากเชื้อเพลิงนี้มีราคาอยู่ที่ 0.98 บาท แต่ในความเป็นจริงเรากำลังจ่ายมากกว่าที่ควรหรือไม่ และราคานี้เองทำให้เราต้องจ่ายมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายเท่าตัว
แต่เดิมก๊าซธรรมชาติจำนวนมากที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มาจากอ่าวไทย ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 100 บาท/หนึ่งล้าน BTU และหากนำมาผลิตไฟต้นทุนจะตกอยู่ที่ 1.6 บาท/หน่วย
แต่เพราะปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ถูกนำไปใช้ทางปิโตรเคมีด้วย ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซจากที่อื่น และส่วนที่ 2 ที่เรานำเข้ามาคือก๊าซจากทางมาเลเซียและพม่า ซึ่งราคาจะเขยิบขึ้นไปอยู่ที่ 200-300 บาท/หนึ่งล้าน BTU พอนำมาเข้ามาผลิตไฟฟ้าต้นทุนก็จะอยู่ที่ 2-3 บาท/หน่วย
และปัจจุบันยังมีความต้องการไฟฟ้าสูงขึ้น ไทยยังนำเข้าก๊าซธรรมชาติอีกประเภทคือ LNG มีทั้งหมด 2 แบบ คือ
1.การซื้อระยะยาว คือการทำสัญญากับแหล่งผลิตก๊าซที่ต่างประเทศเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ต้นทุนจะตกอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย
2.การนำเข้าก๊าซ LNG แบบ spot เป็นการซื้อเชื้อเพลิงแบบปลีก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ไทยเราเคยจ่ายสูงถึง 6.50-8.50 ต่อหน่วย
ในช่วงหลังเรามีการนำเข้าก๊าซ LNG แบบ spot เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าหมายความว่าเรากำลังจ่ายแพงกว่าที่ควรเกือบ 6 เท่า และ ทำให้ราคาก๊าซประเภทอื่น ๆ มีราคาสูงขึ้นตาม
เพราะฉะนั้นแล้วการลดหรือยกเลิกการใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าจึงเป็นทั้งทางออกทางด้านสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน จะกลายเป็นการลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยให้กับประชาชนได้ง่ายที่สุด
ที่สำคัญ การยกเลิกการผลิตไฟฟ้าผ่านพลังงานฟอสซิลยังเป็นทางเลือกที่ไทยควรจะไป ในขณะที่ทั่วโลกเปลี่ยนไปใช้การผลิตไฟฟ้าแบบอื่น ๆ เพื่อลด Carbon Footprint แต่เรายังนำเข้าก๊าซเข้ามาเรื่อย ๆ อีกทั้งยังมีต้นที่สูง
อาจารย์ชาลีอ้างอิงถึงตัวเลขที่ภาครัฐประกาศออกมาว่าประเทศไทยในปี 2050 จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนกว่า 80% ซึ่งในบ้านร้อนเมืองร้อนอย่างประเทศไทย พลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นตัวเลือกลำดับต้นของพลังงานทดแทน
รศ.ดร.ชาลี เปรียบเทียบโมเดลของประเทศมาเลเซีย ที่มีการกักเก็บแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปีเดียวเขาสามารถเก็บไฟฟ้าคืนตามสายส่งได้ถึง 500 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าส่งคืนเหล่านี้ก็สามารถลดต้นทุนค่าไฟของประชาชนได้เหมือนกัน
แม้โมเดลในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประเทศมาเลเซียจะดูง่ายแล้วใช้ได้จริง แต่ภาครัฐไทยกลับทำสิ่งตรงกันข้าม รศ.ดร.ชาลี ตั้งคำถาม 2 ประเด็นเกี่ยวกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ถ้าหากรัฐบาลใดจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอนาคตให้กับบ้านเรือนของประชาชน นอกจากสายตรงที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงในตอนกลางวัน แล้วในช่วงเวลากลางคืนจะสามารถกักเก็บไฟฟ้าเหล่านี้ไว้อย่างไร หรือส่งคืนตามสายหรือไม่
ในขณะเดียวกัน การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อทำการซื้อขายกับภาครัฐ อย่างการทำโซลาร์ฟาร์ม ทั้งต้นทุนในการติดตั้งเพื่อให้มีไฟฟ้ามากพอ ต้องมีพื้นที่มากพอที่จะวางแผงโซลาร์เซลล์ได้ นอกจากนี้ยังต้องมีวิศวกรโยธามาตรวจ แจ้งสำนักงานเขตว่าจะติดตั้ง รวมถึงต้องติดมิเตอร์ถึง 2 ตัว สำหรับซื้อและขาย สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนล้มเลิกก่อนจะได้ติดตั้ง และทำให้พลังงานทดแทนเข้าไม่ถึงประชาชนสักที
“รวม ๆ แล้วจะกระบวนการทั้งหมดจะมีต้นทุนสูง ไม่นับการหาคนมาตรวจ ไม่นับงานเอกสารหรือการติดต่อราชการ รวม ๆ แล้วในแผนผังมีทั้งหมด 16 ขั้นตอน กระบวนการมันยุ่งยากซะจนประชาชนเข้าไม่ถึง ในขณะที่หลายประเทศเขาทำให้ง่าย แต่เรากลับทำสวนทาง”
อาจารย์ได้เสนอทางออกสำหรับสิ่งแวดล้อมและกระเป๋าเงินของคนไทย ซึ่งสามารถทำได้เลย และหากทำเราจะสามารถไปถึงเสถียรภาพทางพลังงานได้ไวขึ้นด้วย
“อย่างแรกคือเรื่อง ราคาก๊าซ ทุกวันนี้มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศใช้ก๊าซจากอ่าวไทยด้วย ซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมนี้ได้ใช้ก่อนและได้ราคาถูก แต่ภาคพลังงานไฟฟ้าได้ใช้นิดเดียวในขณะที่แพงกว่า และหลายส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากเราปรับนโยบายให้ทุกคนได้ใช้ราคาก๊าซเดียวกัน จะมีเงินส่วนเกินเข้ามาในระบบทันที 48,000 ล้านบาท
ซึ่งเงินจำนวนนี้จะทำให้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย 0.25 บาทในข้างต้นลดลงทันที เพระทุกวันนี้ภาคไฟฟ้าไม่ได้ใช้ราคาเฉลี่ย ทำให้ประชาชนต้องแบกรับเงินต่อหน่วยมากขึ้น” รศ.ดร.ชาลี กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้กรมกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เคยมีการพูดคุยแล้วเพียงแต่ลดน้อยไปเลยไม่เกิดผลมากนัก
ประเด็นที่สองให้ทำให้ประชาชนเข้าถึงโซลาร์เซลล์ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบัน เราสามารถลงทุนโซลาร์เซลล์ในราคาเพียง 30,000 บาท/1กิโลวัตต์ สามารถประหยัดค่าไฟได้ 600 บาท/เดือน นั่นหมายความว่า ใช้เวลา 4 ปี ก็สามารถคืนต้นทุน หลังจากนั้นคือเวลาที่เราได้กำไรไปตลอดทุกเดือน
รวมถึงภาครัฐต้องเข้ามาให้การสนับสนุนในการติดตั้งมากขึ้น รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ครัวเรือนติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือการเข้าไปประสาน ขอใช้พื้นที่นำร่องสำหรับการติดตั้งเพื่อสร้างโมเดลพื้นที่พลังงานสะอาด นั่นจะเป็นการให้พลังงานสะอาดเข้าถึงประชาชนโดยตรง และเกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ไปจนถึง กฟผ.ต้องคิดรูปแบบการกักเก็บพลังงานทดแทนนี้ ว่าจะสามารถเก็บในแบตเตอรี่ หรือคืนตามสายส่งและนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งหมดนี้ อาจารย์เรียกว่าการออกแบบการใช้พลังงานทดแทนที่ใช้ได้จริง
“ทางออกของสิ่งแวดล้อมและภาระค่าใช้จ่ายคนไทย ไม่พ้นที่รัฐจะต้องถืออำนาจสามารถเข้าไปคุยกับภาคเอกชน เพราะทั้งหมดนี้เป็นทรัพยากรของประเทศไม่ใช่ให้ใครคนหนึ่งเป็นเจ้าของ และกลับไปตั้งคำถามว่าทำไมที่ผ่านมา รัฐถึงยอมให้เอกชนเป็นผู้ถืออำนาจแทนที่จะเป็นประชาชนทุกคน” รศ.ดร.ชาลี กล่าว
ท้าชนสัญญาเลือด สิ่งที่พรรคการเมืองควรพูดเรื่องค่าไฟ
ใกล้เลือกตั้งเข้ามาทุกที นโยบายที่ทุกพรรคเลือกมานำเสนอมากเป็นอันดับต้น คือการปฏิวัติพลังงาน ทั้งค่าไฟ ค่าแก๊ซ ค่าน้ำมัน สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของทุกพรรคคือการนำเสนอนโยบายนี้ ชี้ให้เห็นชัดว่าค่าใช้จ่ายในด้านนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในทันที
รศ.ดร.ชาลี มองถึงสนามเลือกตั้ง 66 สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำมากที่สุด คือการทำพลังงานทดแทนให้เข้าถึงประชาชนและต้องเจรจากับกลุ่มทุนให้สำเร็จ
“ทำยังไงให้มันง่ายก่อน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเห็นประโยชน์ของมัน เพราะพลังงานทดแทนไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มันสะท้อนถึงเงินของพวกเขาได้โดยตรง ว่าพลังงานทดแทนจะเป็นทางรอดจากค่าไฟที่แพงขึ้นทุกวัน ไม่ว่าคุณจะใช้สูตรไหนก็ได้หมด จะเป็นลม+แสงอาทิตย์ หรือแสงอาทิตย์+แบตเตอรี่ หรือทั้งสามอย่างรวมกัน ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่ามันเป็นทางรอดของทุกคน”
อาจารย์ยังกล่าวไปถึงพลังงานทดแทนอื่น ๆ อย่างเขื่อน ซึ่งเป็นพลังงานน้ำ ในขณะที่ทั่วโลกกำลังลดพลังงานประเภทนี้ แต่สิ่งที่ไทยขาดคือการรับฟังเสียงของประชาชน ชาวบ้านเขายอมรับที่จะใช้พื้นที่ได้ไหม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ไปจนถึงการตั้งคำถามต่อการมีพลังงานทางเลือกประเภทนี้ ในการอ้างถึงการมีพลังงานไฟฟ้าสำรอง รัฐจะต้องไม่เซ็นสัญญาเลือด ที่จะกระทบประชาชนในพื้นที่การสร้าง ไปจนถึงกระทบค่าไฟของประชาชนที่อยู่ห่างนับพันกิโลก็ตาม
โดยเฉพาะการเจรจากับกลุ่มทุนไฟฟ้า สิ่งที่เป็นปัญหาคือการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าจำนวนหลายแห่ง ทั้งที่เข้าระบบและยังไม่ได้เข้าระบบ ซึ่งสาเหตุนี้มีปัญหาจากการใช้แผน PDP(แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย) ฉบับเก่า ซึ่งเป็นฉบับปี 2018 วางแผนการใช้ 20 ปี
ในความเป็นจริงแผน PDP จะต้องมีการอัพเดททุก ๆ 4 ปี เพราะเป็นการคาดคะเนในระยะเวลาอันสั้นถึงความต้องการไฟฟ้าสูงสุด การเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นการเร่งการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน และสิ่งที่ตามมาคือค่าพร้อมจ่ายที่ประชาชนต้องแบกรับ
แม้กลุ่มทุนในอุตสาหกรรมไหนได้สัมปทานไป แต่พลังงานเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพยากรของชาติ ซึ่งควรเป็นผลประโยชน์ของประชาชนทุกคน อาจารย์ได้กล่าวเสริมว่าแม้การเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าจำนวนมากจะเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหรือก่อนหน้า แต่ในช่วงรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ผ่านมา เราพบเห็นความผิดปกติในการจัดการพลังงานไฟฟ้าของรัฐ และยังไม่นับพลังงานด้านอื่น ๆ อย่างเช่นเหมือง เขื่อน ที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ฉะนั้น พรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลในสมัยถัดไป หรือการออกแบบนโยบาย หากยังไม่มีการแตะกลุ่มทุนที่มีสัญญาเลือดต่อค่าใช้จ่ายของประชาชน การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเหล่านี้ในครัวเรือนก็เป็นเพียงการกดราคาให้ต่ำเพียงชั่วคราว และอาจตีกลับสูงขึ้นกว่าเดิมจากปัจจัยภายนอกอย่างภาวะสงคราม โรคระบาด และอื่น ๆ ที่ส่งผลตรงต่อราคาตลาดโลกด้วย
เพราะถ้ารัฐบาลยังไม่กล้าแตะกลุ่มทุน เราก็คงไม่รอดกันหมด
ถึงเวลา ‘ฆ่า’ ไฟแพง
รศ.ดร.ชาลี ได้ให้ข้อเสนอแนะกับค่าไฟที่ยังแพงขึ้นทุกขณะไว้อยู่ 3 ข้อ
1.ยกเลิกการผูกขาด แบ่งสัดส่วนตลาดให้กับเอกชนรายอื่น อาจารย์ได้ให้ข้อมูลประกอบว่า ระบบไฟฟ้าของประเทศประกอบไปด้วย 3 ส่วน 1.การผลิต 2.การจำหน่าย 3.สายส่ง ซึ่งใน 2 ข้อหลังจำเป็นที่จะต้องมีรัฐเป็นผู้จัดการดูแล เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน รวมถึงสายส่งยังอยู่บนพื้นที่สาธารณะ และในส่วนการผลิตต้องดึงครึ่งหนึ่งของสัดส่วนเป็นการผลิตของรัฐ และสนับสนุนให้เอกชนหลากหลายรายเข้ามามีส่วนแบ่ง เพื่อลดการผูกขาด และมีการประมูล จ่ายค่าธรรมเนียม ในการใช้โครงสร้างของรัฐ
2.เพิ่มการเข้าถึงพลังงานทดแทนให้ประชาชน สิ่งนี้เองก็เป็นอีกทางที่อาจารย์มองเห็นว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน รวมถึงพาประเทศไทยไปสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนได้สำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องนำเสนอ ออกนโยบายสนับสนุน หากยังให้เป็นทางเลือกที่ยังต้องจัดการอย่างยุ่งยาก ก็คงไม่มีประชาชนมาสนใจและไม่สามารถผลักดันพลังงานสะอาดเหล่านี้ได้สำเร็จ
3.เจรจากลุ่มทุนไฟฟ้า ยอมรับความเสี่ยงไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากรัฐยังเอื้อให้เอกชนเข้ามามีอำนาจในการชี้บิลค่าไฟของประชาชนมากเกินไป รัฐบาลควรจะเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีกว่านี้ให้ประชาชน ตั้งแต่การใช้ราคาก๊าซเท่ากัน การยอมรับความเสี่ยงในการสร้างโรงไฟฟ้า ไปจนถึงการยกเลิกพลังงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ในความเป็นจริงไม่มีประเทศไหนในโลก หรือธุรกิจใดที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย รัฐเองกลับประกันกำไรให้พวกเขา แต่ภาระกลับไปตกอยู่ที่ประชาชน ระบบต้องสร้างการแข่งขันไม่ใช่ผูกขาด ผลประโยชน์ทั้งหมดคือเราทุกคนจะมีค่าไฟที่ถูกลง” รศ.ดร.ชาลี กล่าวทิ้งท้าย
เพราะในบิลค่าไฟที่เราเห็น ยังมีตัวเลขหรือข้อมูลอีกหลายส่วนที่รัฐไม่ได้บอกให้พวกเรารู้ การประหยัดไฟภายในครัวเรือนอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วนต่างหากที่เป็นภาระให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มถึง 3-4 เท่าในเดือนที่ผ่านมา
เมื่อการจัดการพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลที่ผ่านมาจะให้ความหวังกับเราเท่าหลอดไส้ แต่เพราะการเลือกตั้ง 66 ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ การปฏิวัติพลังงานผ่านการรื้อโครงสร้างพลังงาน จึงสว่างพอ ๆ กับเสาไฟตามสนามกีฬาขนาดใหญ่
และคำตอบที่เราทุกคนอยากรู้ว่ารัฐบาลถัดไปจะสามารถปฏิวัติค่าไฟได้จริงหรือไม่ ก็คงมาในรูปแบบของบิลค่าไฟ ไม่เดือนหน้า ก็ปีหน้า หรือ 4 ปีถัดไปก็อาจยังไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม