บันทึกเฉียดตายที่อินเดียใต้ - Decode
Reading Time: 3 minutes

HumanIndian-คนอินเดียมีหัวใจ

ณฐาภพ  สังเกตุ

ล่องอินเดียใต้

เรื่องราวต่อจากนี้เป็นการเดินทางจากภาคตะวันตกของอินเดีย ล่องลงทางใต้จนถึงจุดสิ้นสุดของแผ่นดินอินเดียที่กันยากุมารี

ผมเริ่มออกเดินทางจากปูเน่ (Pune) เมืองที่ผมอยู่อาศัยช่วงปลายเดือนธันวาคม 2022 เดินทางไปยังเมืองบังคาลอร์โดยรถบัส เมืองปูเน่กับเมืองบังคาลอร์ (Bengaluru) เป็นเมืองที่อยู่ในรัฐติดกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 14 ชั่วโมง 

ผมเดินทางมาถึงบังคาลอร์ช่วงเช้าของอีกวัน ผู้คนทางอินเดียใต้สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนทางเหนือ ในแง่ของอาหารอินเดียใต้ก็มีความคล้ายอาหารไทยมากกว่าด้วยรสชาติเผ็ด มัน เค็ม 

เมื่อเดินทางมาถึง ปัสนาคือโฮสต์ที่เขายินดีให้ผมพักอาศัยอยู่กับเขาเป็นเวลา 2 คืน ผมติดต่อทำความรู้จักกับปัสนาผ่านแอป Counchsufing มันคือแอปสำหรับเหล่า Backpacker จากทั่วโลก ที่เวลาออกเดินทางท่องเที่ยว พวกเขาจะใช้แอปนี้ในการพูดคุยกัน โดยวัตถุประสงค์คือการหาโฮสต์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในที่พัก และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วัฒนธรรม จากคนในท้องถิ่นนั้น

ความอินเดียมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือ พวกเขาจะดูแลแขกผู้มาเยือนอย่างดีที่สุด ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘Guest as a god.’

ผมเริ่มต้นสำรวจเมืองบังคาลอร์ในช่วงเที่ยงของวัน สถานที่แรกผมไปเจอเข้ากับลานกว้าง ที่ถูกทำให้เป็นสนามคริกเก็ต ผู้คนนับร้อยต่างแบ่งกลุ่มเล่นคริกเก็ตกันอย่างเมามัน คริกเก็ตคือส่วนหนึ่งชีวิตของผู้คนอินเดีย ผมหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูป ไม่นานพวกเขาก็ยกโขยงเข้ามารุมล้อมผม 

คนอินเดียมีทั้งดีและแย่ปะปนกันไป บางคนนิสัยดีก็จะเข้ามาทักทายพูดคุยกับเราอย่างสุภาพ แต่กับบางคนพวกเขามักจะเข้าหาด้วยความหยาบคาย ทั้งการกอดคอ พูดจาไม่ให้เกียรติ พวกเขาไม่ได้มีเจตนาไม่ให้เกียรติ เพียงแค่ว่าพวกเขาไม่รู้จักวิธีการเข้าหาชาวต่างชาติแบบที่ควรจะเป็นเท่านั้น 

วันที่สองผมเดินออกมาหาอะไรกินตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ คนอินเดียมักจะกินอาหารเช้าเป็นอาหารจำพวกแป้งจิ้มกินกับแกง เมนูอาหารเช้ายอดนิยมที่พบเจอได้ทุกภูมิภาคคือ โดซา (Dosa) แผ่นแป้งทอดกรอบ ข้างในจะเป็นไส้หัวหอม, มาซาลา และอื่น ๆ แตกต่างกันไปตามภูมิภาค สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คู่กับอาหารเช้าคือไจ หรือชาใส่นมของอินเดีย รสชาติคล้ายชาไทย แต่จะมีส่วนผสมเพิ่มเติมคือมาซาลาและขิง

ช่วงบ่ายปัสนาขี่มอเตอร์ไซต์พาผมไปยังย่านศูนย์การค้า Mahatma Gandhi Road ผมประหลาดใจที่เจอผู้คนหน้าตาละม้ายคล้ายคนในฝั่งเอเชียตะวันออก เหมือนคนพม่า จีน ลาว และไทย 

ปัสนาเล่าให้ฟังว่าพวกเขาคือคนอินเดียที่มาจากทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยส่วนใหญ่มักจะมาทำงานบริการตามร้านอาหาร โรงแรมต่าง ๆ ในเมืองบังคาลอร์ ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียคือ คนอินเดียบางส่วนมักจะเหยียดคนที่มาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  คนอินเดียมองว่าคนจากฝั่งนั้นมีความเป็นอื่น ทั้งหน้าตา เขตแดน และการที่พื้นที่ในฝั่งนั้น ไม่ค่อยได้รับการพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการศึกษาและความเจริญของเมือง เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ

ผมรับรู้ความรู้สึกของคนอินเดียจากฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความที่ใบหน้าของผมคล้ายคลึงกับพวกเขา โดยเฉพาะคนจากรัฐนาคาแลนด์ รัฐที่มีชายแดนติดประเทศพม่า

สิ่งที่ผมต้องรับมืออยู่ตลอดคือ คนอินเดียจะไม่ให้เกียรติ ครั้งหนึ่งเคยโดนกระเป๋ารถเมล์ตบหัว เพียงเพื่อว่าจะเรียกให้เราขยับตัว หรือหลายครั้งก็จะเจอการถูกหัวเราะเยาะ เพียงเพราะว่าเราไม่พูดภาษาฮินดี

ยามค่ำคืนเมืองบังคาลอร์เต็มไปด้วยแสงไฟจากร้านอาหาร ผับ บาร์ ฤดูหนาวในอินเดียเริ่มต้นขึ้นช่วงเดือน พ.ย. – ก.พ. ให้ความรู้สึกเย็นสบายในช่วงกลางคืน ผมบอกลาปัสนาเพื่อเตรียมออกเดินทางต่อไปยังเมืองไมซอร์

เดิมทางข้าม 3 รัฐ คาร์นาตากา-ทมิฬนาฑู-เกรละ

ผมเลือกโดยสารรถไฟแบบไม่ระบุที่นั่งไปยังเมืองไมซอร์ (Mysore) รัฐคาร์นาตากา (Karnataka) ค่าโดยสาร 60 รูปี หรือราว ๆ 28 บาท สำหรับคนที่ต้องการโดยสารรถไฟแต่ไม่ได้จองตั๋วล่วงหน้า ตั๋วแบบไม่ระบุที่นั่งเป็นตัวเลือกที่ถูกและรวดเร็วที่สุด

สิ่งที่จะต้องเจอบนรถไฟชั้นไม่ระบุที่นั่งคือฮิจรา (Hijra) คำเรียก ‘เพศที่สาม’ ของผู้คนที่มีลักษณะเป็นชายแต่ใจเป็นหญิงในอินเดีย คนกลุ่มนี้มักไม่ถูกยอมรับในสังคมอินเดีย พวกเขาจะถูกขับไล่ออกจากครอบครัวและชุมชน รวมทั้งไม่สามารถหางานได้เฉกเช่นคนปกติ พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันและออกขอเงินผู้คนตามท้องถนนและบนรถไฟ

บนรถไฟนั้นบางคนก็เป็นฮิจราจริง ๆ แต่บางคนก็แค่แต่งตัวให้เหมือนผู้หญิง พวกเขาจะขึ้นมาไถเงินผู้โดยสารบนรถไฟ โดยกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาเจาะจงไปที่ผู้ชายวัยรุ่นและวัยทำงานเท่านั้น วิธีการของพวกเขาคือ จะเข้ามาใช้มือตีไปที่หัวไหล่ผมและบอกให้ผมเอาเงินให้เขา ถ้าไม่ให้พวกเขาจะเอามือมาจับใบหน้า บ้างก็เอามือมาตีหน้าอก ครั้งหนึ่งเขาหยิบแว่นกันแดดผมไป เพื่อแลกกับการที่ผมต้องให้เงินเขา

ผมมาถึงไมซอร์ช่วงบ่าย ไมซอร์เป็นเมืองขนาดเล็ก ผู้คนมีอัธยาศัยดี โฮสต์ในเมืองไมซอร์ที่ผมได้รับการตอบรับจากแอป counchsufing คือแบดรี่ ชายวัย 50 ปี 

แบดรี่เกิดมาในวรรณะพราหมณ์ วรรณะที่ถือว่าตนเองนั้นเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นผ่านสายเลือด แบดรี่เรียนจบด้านวิศวกรรมและปริญญาโทบริหารธุรกิจ ก่อนจะย้ายไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาในสายงานไอที เขากลับมาอินเดียด้วยปัญหาทางครอบครัว ปัจจุบันเขาให้ความสนใจเรื่องการเมืองในอินเดีย

เขาบอกว่ารัฐบาลอินเดียปัจจุบัน ทุ่มงบประมาณไปกับเรื่องไร้สาระที่ไม่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนอินเดีย ทางการทุ่มงบประมาณไปกับกองทัพ การพยายามนำประเทศตัวเองไปเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ผู้คนมากมายในประเทศยังคงอดอยาก

วันถัดมาผมออกสำรวจเมืองไมซอร์ สิ่งที่ได้ค้นพบคืออินเดียใต้อาหารมีความหลากหลาย เราสามารถหากินเนื้อปลา เนื้อวัว ได้ตามร้านข้างทางที่หาไม่ได้ตามภูมิภาคอื่น ปัจจัยหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะเรื่องของศาสนา อินเดียใต้เต็มไปด้วยโบสถ์คริสต์ มัสยิดอิสลาม วัดฮินดูกระจายอยู่แทบทุกเมืองที่ผมเดินทางผ่าน เมื่อศาสนามีความหลากหลาย อาหารก็มีความหลากหลายตามมา

จากเมืองไมซอร์ผมออกเดินทางเข้าสู่รัฐทมิฬนาฑู เมืองโคอิมบะทอร์ (Coimbatore) จากนั้นจึงโดยสารรถไฟเพื่อเข้าไปยังรัฐเกรละ (Kerala) 

บนรถไฟชั้นไม่ระบุที่นั่งแออัดไปด้วยผู้คนเต็มโบกี้ เบาะนั่งสำหรับ 3-4 คน ต้องเบียดเสียดนั่งด้วยกันถึง 6-7 คน บางคนต้องยืน แม่คนหนึ่งต้องยืนอุ้มลูกอยู่บนรถไฟนานหลายชั่วโมง ผมเองเลือกที่จะนั่งลงไปกับพื้นตู้โดยสาร ด้วยระยะทาง 6 ชั่วโมงที่อย่างไรก็คงยืนไม่ไหว ผู้คนเดินข้ามหัวไปมากลายเป็นเรื่องปกติที่ต้องยอมรับให้ได้ ผมมาถึงเมืองโคชิน (Cochin) รัฐเกรละช่วงเย็น ก่อนทิ้งตัวลงนอนด้วยความหมดแรง

โคชินเป็นเมืองชายฝั่ง นักท่องเที่ยวจากชาติตะวันตก รวมทั้งคนอินเดียมักเลือกมาพักผ่อนตากอากาศที่เมืองแห่งนี้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เมืองชายฝั่งเมืองไทยยังคงมีความสวยงามและบรรยากาศดีกว่า ผมเลือกพักอยู่ที่เมืองโคชิน 3 วัน จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยัง เมืองธิรุวานันทพุราม (Thiruvananthapuram) เมืองที่เปลี่ยนเรื่องราวการเดินทางของผมแบบไม่มีวันหวนกลับ

จากการเดินทางสู่การเอาชีวิตรอดในอินเดียใต้

ผมได้รับการตอบรับจากโฮสต์ผ่านแอป Counchsufing ปรานาว ชายวัยรุ่นอายุ 22 ปี ผมตรวจสอบดูโปรไฟล์เขาพบว่า ได้รับการรีวิวจากนักเดินทางคนอื่นในทางที่ดี เขามารอรับผมที่สถานีรถไฟช่วงเที่ยงวัน

เมื่อไปถึงบ้านเช่าที่เขาพักอาศัยอยู่กับเพื่อน เขาได้หยิบบัง (bhang ki goli) มาให้ผมดู มันเป็นลูกอมที่มีส่วนผสมของกัญชาและสมุนไพร คนอินเดียนิยมนำบังมาบดผสมนมดื่มกินในช่วงเทศกาลโฮลี เพื่อสังสรรค์  บังเป็นสิ่งถูกกฎหมายในบางรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย แต่เป็นสิ่งผิดกฎหมายในรัฐเกรละ

“คุณกับฉันเราแบ่งกันกินคนละครึ่งเม็ด”

เขาบอกให้ผมลองลูกอมดังกล่าว ผมพยายามตอบปฏิเสธเขาไปถึง 3 ครั้ง โดยผมอ้างว่าระหว่างการเดินทาง ถ้าเลี่ยงได้ผมจะไม่ใช้ของมึนเมา แต่เขาก็พยายามคะยั้นคะยอ โดยบอกว่ามันไม่เหมือนกัญชาที่ทำให้เมาขนาดนั้น เป็นเพียงส่วนผสมเล็กน้อยที่หลังจากกินแล้วทำให้รู้สึกผ่อนคลาย  

จนสุดท้ายเขาบดบังครึ่งเม็ดผสมกับน้ำอุ่นให้ผมดื่ม ผมมารู้ทีหลังว่าโดยปกติแล้ว ปริมาณบังครึ่งเม็ดคนอินเดียจะผสมน้ำหรือนมแบ่งกันดื่มได้ถึง 4-5 คน

หลังกินเข้าไปผมเริ่มมีอาการเวียนหัว เขาพาผมออกไปหาอะไรกินข้างนอก อาการเริ่มหนักขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1-2 ชั่วโมง ผมเริ่มเห็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเปลี่ยนไปจึงบอกให้เขาพาผมกลับที่พัก 

เมื่อไปถึงที่พักผมเริ่มทรงตัวเองไม่ได้ จึงพยายามล้มตัวลงนอนแต่เมื่อหลับตาลง ความคิดก็ยิ่งฟุ้งซ่าน คิดในด้านลบไปต่าง ๆ นานา เริ่มรู้สึกหวาดระแวง ผมได้ยินเสียงปรานาวพร้อมเพื่อนของเขา เดินเข้ามาในห้องที่ผมนอนอยู่ ผมเกิดความรู้สึกว่าพวกเขาจะเข้ามาทำร้ายผม ใจผมเต้นแรง หายใจไม่ออก ต้องเปิดหน้าต่างเพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัด  

ผมพยายามขอร้องให้เขาพาผมไปโรงพยาบาล แต่เขาตอบปฏิเสธ เพราะเขากลัวตัวเองจะเดือดร้อน ในใจตอนนั้นผมคิดว่าตัวเองคงไม่รอดแน่ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร รู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งจากสิ่งที่ตัวเองกินลงไป และกับผู้คนสถานที่ที่ผมอยู่ 

อาการวิตกกังวล หวาดกลัวเป็นอยู่อย่างนั้น 2-3 ชั่วโมง จนกระทั่งผมหมดสติวูบหลับลงไปครู่หนึ่ง ภาพในหัวเปลี่ยนไปอีกครั้ง ผมจินตนาการว่าตัวเองอยู่ที่ชายหาดสักแห่ง ที่บรรยากาศรอบข้างเงียบสงบผ่อนคลาย ผมค่อย ๆ ควบคุมสติตัวเอง พยายามกินน้ำ อาบน้ำ และอ้วกออกมาอยู่ตลอดเวลา

ปรานาวหาขนมปัง, ชา, และน้ำดื่มมาให้ผมอยู่ตลอดคืน เขาไม่ได้ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แต่เขาก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น และไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ผมพยายามกินขนมปังเพื่อไม่ให้ท้องว่าง แต่ผมไม่สามารถกลืนขนมปังได้ ต้องเคี้ยวขนมปังเป็นก้อนๆ และดื่มน้ำตาม ผมสลับทำอย่างนั้นอยู่ตลอดทั้งคืน มันเป็นค่ำคืนที่ทรมานที่สุดในชีวิต จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าของอีกวัน

ผมลองออกมาเดินสูดอากาศข้างนอก พบว่าตัวเองยังคงมีอาการหวาดระแวง เมืองที่ผมอยู่ตอนนี้ผมไม่รู้จักใครสักคน ระยะห่างจากเมืองปูเน่ที่ผมพักอาศัย 1,000 กว่ากิโลเมตร ผมมืดแปดด้านพยายามใช้ความคิดจนถึงที่สุด จนตัดสินใจได้ว่าจะต้องออกจากบ้านหลังนี้เป็นอันดับแรก ผมเก็บของใส่กระเป๋า รีบเดินออกมาในขณะที่ทุกคนยังหลับอยู่

ผมเปิด Google map หาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ในตอนนั้นโรงพยาบาลคือสถานที่ปลอดภัยที่สุดที่ผมคิดออก ผมโบกริกชอร์ (รถสามล้อ) ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เมื่อถึงจุดหมายผมเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้หมอฟัง เขาให้น้ำเกลือและยากินกับผมมาชุดหนึ่ง ก่อนที่จะบอกให้ผมออกจากโรงพยาบาล ทั้งที่ผมพยายามร้องขอนอนพักที่โรงพยาบาล แต่หมอบอกว่าไม่มีความจำเป็น

ผมเดินออกมาข้างนอกอีกครั้งอย่างไร้จุดหมาย เพราะการเดินทางกลับเมืองปูเน่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีตั๋วรถไฟ และระยะทางที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน การหาโรงแรมพักสภาพจิตใจผมตอนนั้นก็หวาดกลัวเกินกว่าจะอยู่คนเดียวได้ ผมพยายามขอความช่วยเหลือจากกลุ่มเพื่อนอินเดียใต้ที่รู้จัก จนกระทั่งชาจูเพื่อนที่อยู่ในรัฐทมิฬนาฑู ระยะทางห่างออกไป 5-6 ชั่วโมงจากจุดที่ผมอยู่ เขายินดีช่วยเหลือผม โดยบอกว่าให้ผมไปถึงบ้านเขาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผมเดินทางกลับมาสถานีรถไฟอีกครั้ง ซื้อตั๋วรถไฟไปยังกันยากุมารี เพื่อไปตามปลายทางที่ตั้งใจ ฟังดูไร้เหตุผลในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ผมเพียงแค่อยากไปให้ถึงเพื่อรักษากำลังใจของตัวเอง เพราะตอนนั้นถ้าผมสูญเสียกำลังใจในตัวเอง ผมอาจคิดสั้นหรือทำอะไรพลาดพลั้งได้ทุกเมื่อ ผมต้องทำทุกอย่างเพื่อบอกตัวเองว่า ผมยังเข้มแข็งและสิ่งนี้มันทำร้ายผมไม่ได้ไปมากกว่านี้

ผมไปถึงกันยากุมารีช่วงพระอาทิตย์กำลังตกดิน คลื่นลมแรง คนอินเดียต่างสนุกสนานอยู่กับการถ่ายรูป และใช้เวลาร่วมกันกับคนในครอบครัว แต่สำหรับผมมันเป็นการเดินทางถึงจุดหมายที่ไม่มีสิ่งใดรออยู่ 

ผมเดินกลับมาที่สถานีรถไฟกันยากุมารี จองตั๋วรถไฟอีกครั้งเพื่อไปให้ถึงบ้านของชาจูในช่วงหัวค่ำ โดยสารไปกับคนอินเดียเต็มโบกี้รถไฟ รถไฟแล่นผ่านความมืดในรัตติกาลจนในที่สุดก็มาจอดที่ชานชาลา ชาจูและครอบครัวมารอรับผมที่สถานีรถไฟ ผมพักผ่อนร่างกายและจิตใจที่บ้านของเขา 4 วัน ก่อนให้เพื่อนอินเดียอีกคนช่วยจองตั๋วรถไฟในเช้าวันจันทร์ เดินทาง 33 ชั่วโมง จากใต้สุดของอินเดียกลับมายังเมืองปูเน่

เกิด แก่ เจ็บ ตาย อินเดียจากสายตาผู้มาเยือน

เหตุการณ์ผ่านไป 1 เดือนผมกลับมาเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้น ชีวิต 7 เดือนในอินเดียเป็นเวลามากเกินกว่าที่จะรู้จักคนอินเดียแค่ในฐานะนักท่องเที่ยว แต่ก็น้อยเกินกว่าที่จะบอกว่าเข้าใจคนอินเดียอย่างแท้จริง เป็นเพียงการใช้สายตาของนักเดินทางที่เดินทางตั้งแต่อินเดียเหนือจรดอินเดียใต้ ในการทำความเข้าใจความเป็นอินเดียผ่านเรื่องราวที่ตนเองพบเจอ 

คนอินเดียไม่ได้เลวร้าย น่ากลัวอย่างที่ใครกล่าวอ้าง ตลอดการเดินทางที่ทั้งพบเจอ กินอยู่ ใช้เวลาร่วมกับคนอินเดีย ไม่เคยเจอคนอินเดียที่คิดร้ายกับผม แต่ในขณะเดียวกันการอยู่ร่วมกับคนอินเดียก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุการณ์ที่ผ่านมาบอกให้ผมต้องรู้จักปฏิเสธคนอินเดียให้หนักแน่นกว่านี้ ความเกรงใจใช้ไม่ได้ผลกับคนที่นี่ นิสัยหนึ่งของคนอินเดียคือชอบคะยั้นคะยอให้คนอื่นทำในสิ่งที่ตนต้องการ โดยไม่นึกถึงความต้องการของอีกฝ่าย การจะอยู่รอดในอินเดียต้องตระหนักถึงความปลอดภัยด้วยตัวเองเป็นอันดับแรก อย่าได้หวังความปลอดภัยที่คนอื่นจะนึกถึงหรือมอบให้ 

สายตาที่ผมมองอินเดียเปลี่ยนไป ผ่านความรู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่เมื่อครั้งแรกพบอินเดีย บาดเจ็บจากทั้งอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บที่ผ่านพบ เรียนรู้ผ่านผู้คน วัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนกระทั่งผ่านความรู้สึกเฉียดตาย 

อินเดียเป็นดินแดนกว้างใหญ่ มีเรื่องราวมากมายให้ผู้คนเข้าไปเรียนรู้ และไม่ว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรกลับออกมา เราก็ไม่สามารถจำกัดความเป็นอินเดียได้ด้วยแค่คำใดคำหนึ่ง