เรื่องราวของพื้นที่อีสานแต่ไหนแต่ไรมา มักมีภาพจำว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐไทย นับแต่ผู้มีบุญในอดีตกระทั่งคนเสื้อแดงในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้มากไปด้วยการลุกขึ้นสู้ของคนลาวอีสาน เพื่อให้หลุดพ้นจากการกดขี่ของรัฐไทยในหลายช่วงเวลา
การตั้งมั่นทางอุดมการณ์ที่จะไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจศูนย์กลางของรัฐไทย สะท้อนผ่านความคิดของวิทยากร โสวัตร หรือ “พี่เจี๊ยบ” นักอ่าน นักเขียน และคนลาวอีสานที่มีใจรักหนังสือ ปัจจุบันเขาทำร้านหนังสืออิสระชื่อว่า ฟิลาเดลเฟีย ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเรื่องราวของที่นี่ไม่ได้มีแค่หนังสือเพียงอย่างเดียว แต่พื้นที่แห่งนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม เศรษฐกิจหลายแง่มุม ทั้งยังเชื่อมโยงกับตัวตนของวิทยากร
“เพราะพี่เป็นลาว ลาวคนหนึ่งในแผ่นดินอีสานของไทยที่ต่อต้านอำนาจไม่เป็นธรรมของรัฐส่วนกลาง”
บ้านไม่มีรั้ว ครัวไม่มีประตู
ตั้งแต่วัยเด็กมา วิทยากรไม่เคยมีความคิดฝันที่จะเปิดร้านหนังสือเลย เขาเพียงแต่อยากมีห้องหนังสือเล็ก ๆ สักห้องหนึ่งที่มีหนังสืออัดอยู่เต็มห้อง มีกาแฟให้เพื่อนฝูงได้มากิน และเป็นพื้นที่ให้คิดเขียนหนังสือ ทว่าด้วยความฝันของคนรักที่อยากจะทำร้านหนังสือ ทำให้เกิดร้าน “ฟิลาเดลเฟีย” ขึ้นมา สถานที่ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวแห่งนี้จึงเป็นทั้งร้านขายหนังสือ ออฟฟิศสำหรับทำงานเขียน รวมถึงเป็นบ้านที่ลูก ๆ ได้เติบโตมา
บ่อยครั้งฟิลาเดลเฟียได้เปิดพื้นที่ให้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันผ่านการจัดเสวนาหัวข้อต่าง ๆ บ้างก็วิจารณ์หนังสือ ลักษณะกิจกรรมในร้านเช่นนี้สะท้อนตัวตนของวิทยากรตั้งแต่เมื่อครั้งบวชเณรกระทั่งเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ห้ามมีทั้งกิจกรรมทางการเมือง ชมรมทางการเมือง การประท้วง หรือแม้แต่ห้ามนักการเมืองเข้ามาหาเสียง กระนั้น เขาก็เป็นแอคติวิสต์คนแรก ๆ ในมหาวิทยาลัยที่ทำกิจกรรมขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอด กิจกรรมหลักที่กลุ่มของวิทยากรคือ เอาหนังสือมาอ่านเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนและวิจารณ์กัน
“พอพี่ทำร้าน กิจกรรมในร้านก็เลยมีตัวตนของพี่ เป็นตัวตนที่เราต้องทำให้มันมีเสน่ห์ด้วยความเป็นตัวเราที่สุด”
วิทยากร โสวัตร เจ้าของร้านหนังสืออิสระ ฟิลาเดลเฟีย
เสน่ห์อีกอย่างของฟิลาเดลเฟียคือ ความสัมพันธ์ฉันมิตรกับคนที่มาเยือน วิทยากรไม่เคยเรียกคนเข้าร้านว่า “ลูกค้า” แต่จะเรียกว่า “แขก” คนที่มาร้านฟิลาเดลเฟียแทบทั้งหมดจะรู้สึกเหมือนมาบ้าน เพราะด้วยดีไซน์การตกแต่งร้านที่เหมือนบ้าน ไม่มีเชลฟ์หนังสือคั่นตรงกลาง ทุกอย่างติดผนังหมด และใช้ความรู้จากการเรียน landscape design มาใช้จัดสวนที่ร้าน คนเข้ามาก็จะรู้สึกว่าเหมือนมาเยี่ยมบ้านเพื่อน
อีกอย่างร้านฟิลาเดลเฟียไม่เคยปิด อาจจะปิดประตูหน้าโดยลงกลอนด้านใน แต่เปิดประตูหลังด้านครัวไว้ คนรู้จักแวะมาก็ใช้ครัวทำกับข้าวกินกันได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้มาจากภูมิหลังของวิทยากรเอง
“พี่โตมาในชุมชนคนลาวอีสานที่ไม่มีรั้ว ไม่มีประตูบ้าน ทุกคนเดินเข้าออกได้หมด”
ตัวตนของหนังสือที่เข้ากับร้าน ตัวตนของร้านที่เข้ากับหนังสือ
ด้วยพื้นที่ในร้านฟิลาเดลเฟียที่มีอยู่อย่างจำกัด การเลือกหนังสือเข้าร้านจึงต้องคัดแต่เล่มที่มีมาตรฐาน และเป็นแนวที่วิทยากรชื่นชอบ แม้บางเล่มเขาจะไม่ได้อ่าน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเวลาอ่านทั้งหมด แต่จากที่เขาอ่านสั่งสมมานานนับพันเล่มจนถึงทุกวันนี้ ก็จะรู้ได้ว่างานของนักเขียนคนไหนมีคุณภาพ หรือบางทีก็อ่านแบบสแกนก็พอรู้ว่าหนังสือนั้นดีไม่ดี
“ด้วยเวลาของชีวิตที่มีไม่มาก ต่อให้เราอ่านหนังสือได้วันละเล่ม แต่เชื่อเถอะว่า เราก็อ่านหนังสือทั่วโลกได้ไม่หมด เชื่อสิ ต่อให้คุณอ่านหนังสือจบวันละเล่ม ผมท้าเลย อ่านเก่งมาก เร็วมาก คุณก็ไม่สามารถจะอ่านหนังสือทุกเล่มบนโลกใบนี้ได้ ฉะนั้น เราก็ต้องเลือกอ่านงานที่เราชอบที่สุด”
หากใครเคยติดตามวิทยากรอยู่บ้างก็จะรู้ว่าจุดยืนทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยของเขาแสดงออกอย่างชัดเจน แต่นั่นไม่เท่ากับว่าหนังสือในร้านจะมีแต่งานของนักเขียนที่ยืนอยู่ฝั่งเดียวกัน เพราะวิทยากรมองว่า ในหมู่ฝ่ายซ้ายหรือเสรีนิยมก็มีคนที่สับปลับ แล้วยังมีฝ่ายอิกนอแรนต์ที่ทำเป็นชอบความก้าวหน้า ขณะเดียวกัน ในหมู่ฝ่ายขวาก็มีกลุ่มที่เรียกว่า “สลิ่ม” หรือฝ่ายขวาที่ชอบทำลาย ซึ่งงานเขียนของคนเหล่านี้เป็นยาพิษ มีพื้นที่มากมายในร้านหนังสือและห้องสมุดประชาชน
เมื่อไม่มีที่ไหนให้พื้นที่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับหนังสือฝ่ายก้าวหน้าและถูกจริตของวิทยากร ร้านฟิลาเดลเฟียจึงเปิดพื้นที่ที่หายไปขึ้นมา หนังสือที่ถูกจริตของวิทยากรไม่ได้มีแค่หนังสือฝ่ายก้าวหน้า แต่ยังให้พื้นที่หนังสือฝ่ายขวาที่ซื่อสัตย์ ขวาที่ก้าวหน้า และไม่ล้มการเลือกตั้ง
“เราจะนับถือโจรห้าร้อย หรือขุนโจรที่ซื่อสัตย์ มากกว่าวิญญูชนจอมปลอม” – วิทยากรอุปมาถึงเหล่านักเขียนบางกลุ่ม/บางคน
รัฐประหาร ความฝันที่ไม่ง่าย และประตูสู่โอกาสใหม่
รัฐประหารรอบล่าสุดในปี 2557 เป็นจุดพลิกผันสำคัญในชีวิตของใครหลายคน ซึ่งวิทยากรและร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียต้องเผชิญกับความผันผวนจากการล้มประชาธิปไตยคราวนี้เช่นกัน
วิทยากรย้อนเล่าถึงก่อนรัฐประหารว่า ข่าวคราวการมีอยู่ของร้านฟิลาเดลเฟีย ทำให้หลายคนที่ฝันอยากจะมีพื้นที่แบบนี้ แต่ยังไม่มี ได้มาใช้พื้นที่ตรงนี้ ประหนึ่งร้านฟิลาเดลเฟียแต่งเติมความฝันของพวกเขา
นอกจากนี้ ช่วงก่อนรัฐประหารไม่นาน มีจังหวะที่ร้านฟิลาเดลเฟียเริ่มจะตั้งตัวได้ โดยมีนักเรียนในโครงการ วมว. (โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย) สังกัดศูนย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาเป็นกลุ่มลูกค้าประจำ โครงการนี้มีงบให้นักเรียนซื้อหนังสือมารีวิวคนละ 1,000 บาท ซึ่งอาจารย์ที่กำกับดูแลโครงการนี้เคยเป็นผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้แก่วิทยากรเมื่อครั้งเรียนอยู่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แม้อาจารย์ผู้นี้มีลักษณะแบบอนุรักษนิยม แต่เป็นอนุรักษนิยมที่ก้าวหน้า มีหลักการ เหตุผล ให้คุณค่ากับการแสวงความรู้มาก
ทุกอย่างเหมือนกำลังจะดีขึ้น… วิทยากรมองว่าประมาณปี 2558 ร้านฟิลาเดลเฟียจะอยู่ได้อย่างมั่นคง ถ้าถึงจุดนั้นเขาจะทยอยคืนหนังสือให้สายส่งและสำนักพิมพ์ และค่อย ๆ ใช้หนี้ไป จากนั้นเอาเงินส่วนต่างที่ได้มาเลือกซื้อหนังสือเข้าร้านเอง เพราะรูปแบบที่เป็นอยู่ตอนนั้น เวลารับหนังสือมาขาย สายส่งจะให้ 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสำนักพิมพ์จะให้ 30 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึง
“เราต้องใช้พื้นที่เราทั้งร้านเนี่ย เอาให้เขาเจ็ดสิบถึงเจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ มันเหมือนกับทำนาบนหลังเรา พี่มีแพลนมานานตั้งแต่ทำร้านว่า วันหนึ่งร้านหนังสือฟิลาเดลเฟียจะมีพื้นที่เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์อย่างน้อยเป็นหนังสือของร้านเอง”
แต่ความฝันของวิทยากรหลุดลอยไป เมื่อวงจรอุบาทว์อย่างรัฐประหารโคจรมาอีกคำรบ
วิทยากรออกไปประท้วง แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารและนักเขียนที่ออกไปเป่านกหวีดอย่างชัดเจน จนสร้างความไม่พอใจให้นักเขียนฝ่ายนั้น กระทั่งเกิดวิวาทะกันบนโลกออนไลน์ และผลจากการรัฐประหาร แทนที่จะตั้งตัวได้ตอนปี 2558 กลับต้องมาพยายามล้มลุกคลุกคลาน แต่ข้อดีคือ การเปิดตัวชู 3 นิ้วต้านรัฐประหารอย่างชัดเจน ทำให้ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นคนเสื้อแดงหัวก้าวหน้า
“เขาเห็นว่าเราเป็นร้านหนังสือที่ทหารเข้า เป็นร้านหนังสือที่ต่อต้านรัฐประหาร ถือว่าเป็นเพื่อน พี่ได้เจอคนเสื้อแดงที่มีฐานะเยอะแยะไปหมดเลย บางคนเปิดตัว บางคนไม่เปิดตัว เข้ามาหา แล้วเราได้ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง”
พอมีกระแสคนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมือง วิทยากรพบว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากมาทางสายก้าวหน้า ทำให้ร้านฟิลาเดลเฟียมั่นคงขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 จากการได้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้ามา ซึ่งวิทยากรมองว่าคุณูปการที่เกิดขึ้นมาจากความชัดเจนในจุดยืนต้านรัฐประหาร ในแง่นี้เองที่ทำให้ร้านฟิลาเดลเฟียมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากร้านหนังสือส่วนใหญที่กลัวจะเสียฐานลูกค้า ซึ่งวิทยากรไม่สนเรื่องนี้ เพราะมันขัดแย้งกับตัวเอง
“เหมือนที่พี่บอกว่า หนังสือที่มันขัดแย้งกับเรา เราก็ไม่เอา วิถีการเมืองที่มันขัดแย้งกับเรา เราก็ไม่เอา เพื่อที่จะแสดงความเป็นตัวตนให้ชัดเจนที่สุด แล้วบังเอิญว่าการที่เราแสดงตัวตนให้ชัดเจนที่สุด มันเกิดไปโดนใจคนอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายเดียวกับเรา”
คอนเทนต์ออนไลน์ ความท้าทายต่อวงการหนังสือ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้คนจำนวนมากหันมาอ่านคอนเทนต์ออนไลน์กันเป็นชีวิตจิตใจ เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวดเร็ว และถูกกว่าหนังสือ นั่นทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงอนาคตของวงการหนังสือ
วิทยากรยอมรับความจริงว่า ตอนที่ตัดสินใจทำร้านหนังสืออิสระ รู้มาตั้งนานแล้วว่าหนังสือจะลดบทบาทลง และต่อไปร้านหนังสือจะมีสถานะเหมือนร้านของเก่า อย่างร้านฟิลาเดลเฟียก็เช่นกัน แต่ด้วยร้านฟิลาเดลเฟียมีหนังสือที่ตีพิมพ์ในหลายช่วงเวลา และคนอ่านได้เห็นหนังสือที่อยู่ในช่วงจังหวะต่าง ๆ ของชีวิต อาจทำให้ในอนาคตฟิลาเดลเฟียสามารถกลายเป็นร้านของเก่าหรือพิพิธภัณฑ์ได้ ในแง่นี้ ถ้าเป็นร้านหนังสือแฟรนไชส์จะไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ นี่จึงเป็นทางออกหนึ่งของร้านหนังสืออิสระ
“ถ้าเป็นคนอ่านหนังสือมาประมาณเดียวกัน มันก็เหมือนว่าฟิลาเดลเฟียจะเป็นพื้นที่ของคนที่มีรสนิยมและประวัติศาสตร์การอ่านเหมือนกันมารวมกันอยู่ที่นี่ ซึ่งพี่มองว่าน่าจะเป็นทางรอดที่ยั่งยืน”
ส่วนเรื่องคอนเทนต์ออนไลน์ วิทยาการมองว่าตอนนี้คอนเทนต์ออนไลน์ยังไม่ครอบคลุมและไม่คลาสสิกแบบหนังสือ คอลัมน์นิสต์บางคนที่เคยเขียนหนังสือหรือบทความในนิตยสาร เมื่อมาเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการเขียนและคอนเทนต์ที่จะเขียนให้เข้ากับแพลตฟอร์มใหม่ เขียนยาวไม่ได้ เพราะสมาธิของคนตอนโฟกัสที่หน้าจอมีน้อย ซึ่งสักวันหนึ่งคนจะเข้าถึงหนังสือเล่มน้อยลง แล้วหันไปอ่านหนังสือหรือคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ในอนาคตคอนเทนต์ออนไลน์อาจจะพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบที่ดูคลาสสิกเหมือนหนังสือก็ได้ แต่ตอนนี้หนังสือเล่ม โดยเฉพาะหนังสือวรรณกรรมและหนังสือวิชาการหนัก ๆ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเล่มอยู่
“ถ้าคอนเทนต์ออนไลน์จะทำให้ระบบหนังสือหายไป หนังสือเล่มหายไป พี่ก็ไม่เป็นไรไง เพราะว่าฟิลาเดลเฟียก็จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้คนมานั่งทำงานได้ เอาโน้ตบุ๊กมานั่งทำคอนเทนต์ของคุณได้ ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าวันหนึ่งหนังสือในฟิลาเดลเฟียจะหมดอายุ พี่ก็ยอมรับได้”
ในอีกทางหนึ่ง การเข้ามาของโซเชียลมีเดียช่วยให้ร้านฟิลาเดลเฟียไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงยุคโควิด-19 ต่างจากช่วงหลังรัฐประหารแรก ๆ ที่วิทยากรต้องพยายามประคับประคองร้านให้อยู่รอด นี่คือข้อดีของโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้ร้านหนังสืออิสระรอดตาย ร้านฟิลาเดลเฟียอยู่ไม่ได้จนถึงวันนี้ถ้าไม่มีช่องทางออนไลน์ การโพสต์ขายหนังสือในเฟซบุ๊กทำให้วิทยากรมั่นใจว่าร้านฟิลาเดลเฟียนั้นอยู่ได้
นอกจากนี้ วิทยากรมองว่า ช่องทางออนไลน์มีความเป็นประชาธิปไตยมาก เพราะสามารถโพสต์โพรโมตและเข้าถึงลูกค้าด้วยตัวเองได้ ถ้าไม่มีช่องทางนี้ ต่อให้เป็นสายก้าวหน้าเหมือนกันก็ต้องรอคิว ดูคอนเน็กชัน
“ในมุมหนึ่ง เรื่องการขายหนังสือแบบนี้ก็เป็นเผด็จการนะ เพียงแต่โซเชียลมีเดียมันทำลายกำแพงเผด็จการเหล่านั้น ซึ่งตรงนี้พี่ให้คุณค่ามากกับโซเชียลมีเดีย”
นิยายต่อต้านอำนาจนิยมเรื่อง “ฟิลาเดลเฟีย”
เรื่องราวของร้านฟิลาเดลเฟียที่ผ่านประสบการณ์ทั้งเหตุการณ์ทางการเมือง การรัฐประหาร ภาวะทางเศรษฐกิจ โรคระบาด และเป็นพื้นที่ที่เปิดรับคนมากหน้าหลายตาเข้าพบปะกันนั้น วิทยากรเปรียบเทียบเป็นนิยายว่า ฟิลาเดลเฟียคือตัวละครเด็กบ้านนอก คนลาวอีสานคนหนึ่งที่ดิ้นรนต่อสู้ต้านอำนาจ 2 ระดับ อำนาจระดับใหญ่คือ อำนาจที่กุมโครงสร้างของไทยและครอบงำเราอยู่ เช่น พวกอำนาจนิยม พวกเผด็จการ ฯลฯ
ภูมิหลังของตัวละครนี้อิงจากภูมิหลังของวิทยากรเองที่เป็นคนต่อต้านกรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก เมื่อครั้งบวชเรียน พระในวัดกรุงเทพฯ มักจะส่งแมวมองมาหาเณรเก่ง ๆ ในต่างจังหวัดไปอยู่วัดในกรุงเทพฯ เพื่อฝึกให้ได้มหาเปรียญในวัดตัวเองมาก ๆ และเพื่อให้เจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสได้ฐานันดรศักดิ์สูงขึ้น เมื่อถึงคราวที่พระจากกรุงเทพฯ จะมาเอาตัววิทยากรขณะบวชอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ เขาจึงหนีไม่ให้เอาตัวไป
เมื่อได้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย วิทยากรก็ต่อต้านโครงสร้างอำนาจนิยมที่ครอบงำสังคมไทย โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ดึงทุกอย่างเข้าสู่ส่วนกลาง แต่ทุกวันนี้ต่อให้มีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม รัฐและโครงสร้างแบบนี้ก็ยังไม่หายไป
อำนาจอีกระดับที่ตัวละครฟิลาเดลเฟียต่อต้านคือ อำนาจเผด็จการโดยไม่รู้ตัวของฝ่ายก้าวหน้า วิทยากรกล่าวว่าเขากำลังสู้กับวาทกรรมที่ว่าคนในต่างจังหวัดไม่อ่านหนังสือ ทั้งที่จริง ๆ แล้วคนต่างจังหวัดก็อ่านหนังสือ เพียงแต่ไม่มีโอกาสจะได้อ่าน เพราะร้านหนังสือฝ่ายก้าวหน้าหลายร้าน รวมถึงนักเขียน-ปัญญาชนหลายคนอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งสุดท้ายพวกเขาก็อยู่ในกรอบอนุรักษนิยม อยู่ในบริบทของศูนย์กลางอำนาจ วิทยากรตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่กระจายตัวออกมา ถ้ามองว่าร้านหนังสือเป็นตัวขับเคลื่อนทางปัญญาของฝ่ายก้าวหน้า ทำไมถึงไม่ออกมาจากกรุงเทพฯ
แม้แต่การเชิญนักวิชาการมาเสวนาที่ร้าน วิทยากรก็จะไม่เชิญนักวิชาการในกรุงเทพฯ เพราะต้องการให้โอกาสนักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ก่อน เพื่อให้พื้นที่ได้สร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา และเพื่อจะไม่ผูกขาดกับปัญญาชนในศูนย์กลาง หากนักวิชาการในกรุงเทพฯ ต้องการจัดเสวนาที่นี่จริง ๆ จะต้องขอมา ต่อให้เป็นคนรู้จักและเคารพรักก็ตาม
“ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะมันเหมือนกับว่า แม้ตัวเองเป็นฝ่ายก้าวหน้า เรายังไปยินยอมที่จะอ้อนวอนส่วนกลาง คล้าย ๆ ว่าทำไมคนเก่งถึงอยู่ส่วนกลางหมด นี่คือเรื่องหนึ่งที่พี่กำลังต่อต้าน จึงคิดว่าฟิลาเดลเฟีย ถ้าเป็นนิยายคงเป็นนิยายที่ต่อต้านอำนาจนิยม เป็น ‘ลาว’ ในภาคอีสานของไทยและต้องการความยุติธรรมเท่าเทียมกับคนกรุงเทพฯ”