เราเริ่มต้นบทสนทนากับรองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ต่อความท้าทายตลอดระยะเวลาหกเดือนของการเข้ามาบริหาร กทม.ของชุดอาจารย์ชัชชาติ “ความคาดหวังระดับอาจารย์ชัชชาติ คือเราต้องมีผลงานตั้งแต่วันแรก” อย่างคำถามว่าทำไมรถยังติด ฟุตบาทยังพัง?
นี่เป็นคำถามตั้งแต่วันแรกเข้ารับตำแหน่ง สิ่งที่ศานนท์ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา คือการเข้ามาในองค์กรที่มีคนอยู่ก่อนแล้วกว่า 7 หมื่นคน พวกเราทีมบริหาร 18 คน เข้ามาพร้อมนโยบาย แต่คนนำนโยบายไปขับเคลื่อนคือข้าราชการ เราต้องคุยและทำความเข้าใจกับปลัดและข้าราชการระดับสูงของสำนักต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางและวิธีปฏิบัติว่านโยบายที่พวกเราคิดกันมาจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เอางบประมาณตรงไหนมาจัดการบริหาร
ศานนท์บอกว่าสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับข้าราชการเกือบทั้งหมด นี่ไม่ใช่องค์กรเอกชน ที่เรา Include คนได้เอง เรายอมรับสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ต้น อย่างการเปลี่ยนตัวแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงก็ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากอาจารย์ชัชชาติรับตำแหน่ง อย่างเหตุการณ์ที่มีประชาชนมาขอพบอาจารย์ชัชชาติเพื่อไม่ให้เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการเขตประเวศ กรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องทุจริต จนอาจารย์ชัชชาติต้องออกมาบอกว่ายังไม่ได้โยกย้ายใคร
การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ได้จุดกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของคนทั้งประเทศกลับมาอีกครั้ง มันไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินหวัง แต่รัฐราชการอำนาจรวมศูนย์กลับทำให้เรื่องพื้นฐานแบบนี้เกิดขึ้นได้ยาก ที่เกิดขึ้นได้เพราะกรุงเทพถูกเรียกว่าเขตพิเศษ คำถามกลับกันที่เรียบง่ายที่สุด ต้องพิเศษใช่ไหมถึงจะทำเรื่องพื้นฐานอย่างนี้ได้ หรือจริงแล้วกรุงเทพก็ไม่ได้พิเศษอย่างที่ว่า เราชวนคุยครั้งนี้เพื่อเจาะเข้าไปใจกลาง ว่าเลือกตั้งผู้ว่านั้นพิเศษหรือแค่เปลี่ยนที่อำนาจรวมศูนย์
ระบบราชการถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนกลางคือระดับกระทรวง กรม กอง ส่วนภูมิภาค คือจังหวัด และอำเภอ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ คนเหล่านี้ถูกแต่งตั้งผ่านขั้นตอนที่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย และส่วนที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด คือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีนายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาจากการเลือกตั้ง ในส่วนของกรุงเทพฯ และเมืองพัทยาถูกแบ่งออกมา เพราะนายกเทศบาลเมืองพัทยา และผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร มีที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้พระราชบัญญัติของตนเอง หรือเราเรียกกันสั้น ๆ ว่าเป็นการกระจายอำนาจแบบพิเศษ
“เมืองของเรา(กทม.) มันเป็นท้องถิ่นพิเศษที่ดูโบราณมาก อำนาจมารวมศูนย์อยู่ที่ผู้ว่าฯ” แค่เลือกผู้ว่าได้เองอย่างที่หลายคนพูดคงไม่พอ หากต้องการขับเคลื่อนเมืองให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว “อย่างแค่ลอกท่อที่ลาดกระบัง แต่อำนาจการตัดสินใจมันอยู่ที่เสาชิงช้าหรือดินแดง” ศานนท์บอกว่า ต้องทำให้อำนาจของผู้อำนวยการเขตทำอะไรได้มากขึ้น ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ถึงขั้นออกแบบงบประมาณของตัวเองได้ หรือประชาชนในเขตสามารถเลือกผู้อำนวยการเขตได้เอง ซึ่งนั่นก็ถึงขั้นแก้ระเบียบของมหาดไทย แต่หัวใจคือต้องทำให้อำนาจกลับไปอยู่ใกล้ประชาชนให้มากที่สุด “ต่อให้ได้ชัชชาติอีก 20 คน ก็เปลี่ยนเมืองไม่ได้หรอก” ถ้าเรายังมีรูปแบบในการจัดการและการบริหารในลักษณะนี้
ขณะเดียวกันเราก็ไม่ลืม ว่าการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ซึ่งคือการเลือกตั้งคน ๆ เดียว พร้อมทีมบริหารที่มากับผู้ว่าฯ รวมแล้วแค่ 18 คน แต่ขณะที่คนทำงานกว่า 7 หมื่นคน พวกเขามาจากการแต่งตั้ง ศานนท์พูดว่า “เราเพิ่งมาได้แค่ไม่กี่เดือน แต่เขาอยู่กันมานานละ” และด้วยแบบปฏิบัติที่ถูกส่งต่อกันมา คือการทำตามนายสั่ง ซึ่งบางครั้งไม่เท่าทันต่อการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ศานนท์บอกว่า อย่าง Traffy fondue ก็เข้ามาเพื่อลดช่องว่าง ให้คำสั่งหรือความเดือดร้อนของประชาชนไปถึงคนที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบได้เร็วที่สุด
“อย่างแรกที่เราทำคือให้เขตเป็นคนรับเรื่องทั้งหมด เอาแค่ถนนหรือฟุตบาท ก็ไม่รู้กี่หน่วยงานที่เป็นเจ้าของหรือรับผิดชอบ ประชาชนไม่รู้หรอกว่าเป็นของใคร แต่เขตต้องรับไป และประสาน เพราะเขตรู้ว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ” อย่างน้อยที่สุดคือเราเห็นความพยายามว่าการเข้ามาของอาจารย์ชัชชาติ พยายามทำให้ระบบราชการที่ขึ้นชื่อว่าอืดอาดยืดยาดให้ทำงานเร็วขึ้น เห็นผลเร็วขึ้น แต่นั่นก็เท่ากับว่า ถ้าเมื่อไรที่ระบบราชการแข็งข้อ ดื้อแพ่ง นั่นก็อาจทำให้หลายส่วนต้องหยุดชะงัก น่าเสียดายที่มันเปราะบางเกินไปสำหรับอำนาจจากฝ่ายที่ผ่านการเลือกตั้ง
การเข้ามาของอาจารย์ชัชชาติจากการชนะด้วยคะแนนที่ล้นหลาม สะท้อนว่าความหวังของผู้คนก็มหาศาลเช่นกัน ตลอดแคมเปญหาเสียงกว่า 200 นโยบาย ยาวนานนับหลายเดือน “สิ่งที่เราคิดกันก่อนหน้านี้ คือทำให้ละเอียดที่สุด อ่านแล้วเข้าใจ ไม่ต้องตีความ เอาไปทำได้เลย” และคำประกาศของอาจารย์ชัชชาติในวันที่ทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ อาจารย์ชัชชาติอยากฝากอะไรถึงข้าราชการ กทม.บ้าง คือคำถามของนักข่าว อาจารย์ชัชชาติตอบว่า อยากฝากถึงข้าราชการ ให้ช่วยไปดูนโยบาย 212 นโยบายด้วย ความหมายของทั้งหมดทั้งมวลคือ ถ้าจะขับเคลื่อนงานของ กทม.เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงตามนโยบาย คือต้องพึ่งแรงของข้าราชการกว่าครึ่งแสน ไม่ใช่แค่ทีมที่มากับอาจารย์
อีกหนึ่งคำถาม ที่เราก็รู้คำตอบดี แต่ก็จงใจถาม เพราะคิดว่าทีมบริหารเข้าใจดี คือการรับตำแหน่งผู้ว่าของอาจารย์ชัชชาติ ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณที่ตัวเองออกแบบกว่าปีครึ่ง คืออาจารย์ชัชชาติเข้ามาในปลายปีงบประมาณ 2565 และงบประมาณปี 2566 ก็ถูกออกแบบไว้แทบที่จะเปลี่ยนอะไรในภาพใหญ่ไม่ได้ นั่นหมายความว่าเราแทบไม่ได้เห็นโครงการใหญ่ในฐานะผู้ว่าฯ ชัชชาติ จนถึงปีงบประมาณ 2567 แปลกไหม? ไม่รู้ นี่เรามีระบบแบบไหนกันที่ออกแบบงบประมาณกันล่วงหน้า จนแทบที่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ศานนท์ยกตัวอย่างว่า อย่างเช่นเรากำลังทำงบปี 2567 ในปี 2566 แล้วเราอยากทำเกี่ยวกับ NFT “แต่เราไม่รู้เลยปี 2567 NFT อาจเจ๊งไปแล้วก็ได้” มันจำกัดเกินไป เราต้องพยายามทำให้งบประมาณมันยืดหยุ่นกว่านี้ อย่างเช่นการวางกรอบไว้ และเนื้อหาในกิจกรรมอาจปรับเปลี่ยนได้
ประเด็นสำคัญหลังจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่มีนโยบายมากแค่ไหน แต่จะทำได้มากแค่ไหนต่างหาก ที่จะทำให้เมืองอย่างที่ใคร ๆ ว่า กรุงเทพ เมืองเทพสร้าง นั้นเปลี่ยนไป และจะเปลี่ยนได้ไหม คำตอบของคำถามไม่ได้อยู่แค่เลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วจบ บันดาลทุกสิ่งได้ในพริบตา แต่ประกอบไปด้วยหลายส่วน อย่างส่วนสำคัญคือระบบและกลไกของราชการแบกรับความคาดหวัง ในระดับเดียวกับฝ่ายที่ผ่านการเลือกตั้งแบกรับไว้หรือไม่ เพราะเขาคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงาน และสามารถเปลี่ยนเมืองนี้ได้จริง