“เลี้ยงลูกบ้านจะไปเหนื่อยอะไร สบายจะตาย
ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องหาเงินเอง”
แม้จะมีการออกมาตอบโต้ความเห็นทำนองนี้สมอๆ และดูเหมือนจะมีคนเข้าใจบทบาท “คนเลี้ยงลูก-งานดูแลคนที่บ้าน” มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความเห็นเหล่านี้ก็ยังไม่หายไปง่ายๆ
ในวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลประจำปี 2565 มีการพูดคุยประเด็นนี้ผ่านวงเสวนา “การเริ่มต้นบทสนทนาเรื่อง CARE INCOME คุณค่าและค่าตอบแทนงานของแม่และคนทำงานดูแล” ซึ่งมีการพูดถึงและอยากให้สังคมมีการผลักดันให้ “คนทำงานดูแล” มีค่าตอบแทน มีรัฐสวัสดิการ เพราะนี่ก็ถือ “เป็นการงาน” เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาในปีประเทศไทยเคยลงนามในปฏิญญาและแผนปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของสตรีเมื่อปี 2538 ซึ่งระบุว่า ต้องคิดมูลค่าเศรษฐกิจของงานดูแลบ้านที่ผู้หญิงทำด้วย แต่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวในฐานะที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกและต้องดูแลคุณพ่อที่ติดเตียงอยู่ช่วงหนึ่ง ระบว่า เวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากจึงมีความเข้าใจดี และเห็นว่าต้องมีสวัสดิการที่ดีเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า
“ไม่ต้องกังวลว่าสามีจะให้เงินต่อเดือนเท่าไร เพราะรัฐดูแล ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีหากหย่ากับสามี รัฐจะส่งข้าวของเครื่องใช้อุปกรณ์ในดูแลลูกมาให้เพื่อดูแลลูกที่เป็นประชากรของเกาหลี ไม่ใช่ภาระของพ่อแม่เท่านั้น แต่เป็นภาระของทั้งสังคม ซึ่งค่าตอบแทนของแม่และคนดูแลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย ทั้งนี้เห็นว่าควรผลักดันเรื่องการลาคลอด 180 วันทั้งชายหญิงด้วย ถ้ามีสิทธิ์ลาคลอดนายทุนจะอ้างไม่รับผู้หญิงได้ แต่เมื่อให้สิทธิ์ลาคลอดทั้งชายและหญิงจะตัดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้”
ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ตัวแทนของขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าหลายคนจะให้คุณค่ากับการทำงานนอกบ้าน แต่เวลาที่เราทำงานในบ้านเคยได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบ้างหรือไม่ ไม่ว่าพวกเราจะทำงานในการดูแลชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากร แม้ว่าทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม ทั้งที่งานในโลกนี้ทั้งหมด 2 ใน 3 เป็นผู้หญิงทำทั้งหมด ผู้หญิงยังเป็นผู้ผลิตอาหารให้กับโลกถึง 50 % แต่เราได้รับรายได้เพียงแค่ 10 % จากรายได้ทั้งหมดของทั่วโลก และมีผู้หญิงที่มีทรัพย์สิน เช่น บ้าน หรือที่ดินเพียงแค่ 1 % เท่านั้น
“ไทยเรามีผู้หญิงเยอะที่สุด ผู้หญิงออกเสียงเลือกตั้งและเสียภาษีเยอะที่สุด เป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจะต้องหันมาหามองเราในการใส่ใจเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้หญิงที่เป็นแม่และเป็นคนดูแลครอบครัว เรื่องค่าตอบแทนงานของแม่และคนทำงานดูแล ประเทศไทยลงนามในปฏิญญาและแผนปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งระบุว่า ต้องคิดมูลค่าเศรษฐกิจของงานดูแลบ้านที่ผู้หญิงทำด้วย”
“แต่ผ่านมาแล้ว 20 กว่าปี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งนี้การลงทุนเรื่องเกี่ยวกับคนทำงานดูแลเป็นทิศทางใหม่ด้านเศรษฐกิจ และเป็นทิศทางใหม่ให้สังคมอยู่รอดและสร้างความยั่งยืนให้กับทุกคนได้ ค่าตอบแทนงานของแม่และคนทำงานดูแลจะเป็นสิ่งที่สร้างศักยภาพในชีวิตของประชาชน สร้างความฝันความหวังให้เกิดขึ้นได้”
ด้าน ชูศรี โอฬาร์กิจ ตัวแทนของสหพันธ์เกษตกรภาคใต้และขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เพราะไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ข้าราชการได้รับการดูแลตลอดทั้งพ่อ แม่ ลูก ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ แต่เกษตรกร หรือผู้หญิงในชนบทยังเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ จะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้
“เราต้องมาดูว่ารัฐมีงบมากมาย แต่ทำไมไม่คิดทำ ถ้าอยากร้องขอแค่น้ำประปา ไฟฟ้า เราต้องมาร้องขอถึง กทม. และถูกสลายชุมนุม เหมือนในปัจจุบัน เราแค่อยากให้เห็นความสำคัญว่าถ้าผู้หญิงในชนบท หรือต่างจังหวัด ควรได้ค่าตอบแทนตรงนี้ หรือสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งจะสร้างคุณค่าในชีวิตให้เรารู้สึกมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่รัฐกลับมองไม่เห็น”
แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหนีไม่พ้นที่ผู้หญิงต้องดูแลคนในครอบครัว เพราะวิธีคิดคือการดูแลเป็นงานของผู้หญิง หลายประเทศมีการให้สวัสดิการกับผู้หญิงที่ดูแลครอบครัว แม้กระทั่งมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิม หรือบางประเทศในยุโรป แต่เป็นการให้เฉพาะกลุ่ม จึงต้องถกเถียงกันว่าเป็นสิ่งที่ควรให้เฉพาะกลุ่มหรือไม่หรือไม่ เบื้องต้นงานดูแลเป็นงานที่ทุกคนต้องทำ แต่เราจะมีบทบาทต่อกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เราจะสร้างบทสนทนาอย่างไรที่ไม่ทำให้เพศใดเพศหนึ่งถอยออกไปจากเรื่อง care income นี้
“ถ้าเราจะไปข้างหน้าต่อ การมีค่าตอบแทนของแม่และคนดูแลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ต้องพูดถึงหลักประกันรายได้สำหรับทุกคน ไม่เฉพาะผู้หญิง แต่ผู้ชายก็เป็นผู้ดูแลได้ด้วยเช่นกัน การพูดซ้ำๆ ในเรื่องนี้จะเป็นการสร้างแนวร่วมได้ และต้องไม่ทำให้ผู้ชายหลุดจากวงโคจรนี้ ยืนยันว่าสวัสดิการของประเทศนี้ควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกคนจริงๆ และต้องไม่เป็นการสงเคราะห์ และเชื่อว่าเราสามารถบริหารจัดการเงินของประเทศนี้ร่วมกันได้”
“งานดูแลคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 300 ล้านล้านบาท มันสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศและสังคมขนาดไหน” นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย We Fair) ระบุว่า เรื่องนี้ควรบรรจุในรัฐธรรมนูญใหม่ ที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2567 หลัง ส.ว.หมดอายุลง ค่าตอบแทนของแม่และคนทำงานดูแลเป็นเรื่องสำคัญต้องรื้อมายาคติว่าผู้หญิงต้องนั่งพับเพียบในห้องครัว หรือในบ้าน ถ้าเรามีค่าตอบแทนตรงนี้ ผลประโยชน์จะเป็นรายได้พื้นฐานที่ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เกิดขึ้น ถ่วงดุลระหว่างผู้ชายที่ทำงานนอกบ้านและผู้หญิงที่ทำงานในบ้านได้
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้สวัสดิการหลายด้านกลายเป็นเรื่องการสงเคราะห์ ประเด็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย แรงงาน มีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นผู้ด้อยโอกาสน่าเวทนา เป็นสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอของรัฐธรรมนูญ 2560
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มูลค่าที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในการเป็นผู้ดูแลเต็มเวลาอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาท คิดเป็น5 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา การเป็นผู้ดูแลเต็มเวลา 6 เดือน1 ปี ส่งผลต่อรายได้ทั้งชีวิต เราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร กรณีหนี้กยศ.ที่ตนได้ต่อสู้มา ถูกนักเศรษฐศาสตร์คลั่งศีลธรรมในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ บอกเป็นเรื่องเพ้อเจ้อเอาเงินจากไหนมาใช้ในส่วนนี้ได้
“ประเทศไทยมีทหาร 4 แสนคน ทหารไม่เคยรบและกินบำนาญเพิ่มขึ้น เป็นการจ้างคนมาดูแลความมั่นคงชนชั้นนำ แต่เวลาเราพูดถึงคนดูแลที่มีค่าจ้างสูงกว่าขั้นต่ำ 5 เท่า ซึ่งเราใช้งบ 5-6 แสนล้านบาทต่อปีในการดูแลส่วนนี้เพียงแค่ 18 % ของงบรายจ่ายประจำปี ไม่ใช่งบมากมาย แต่ชนชั้นนำมักแยกออกจากัน มองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันเป็นไปไม่ได้”
อย่างไรก็ตามในการผลักดันประเด็นเหล่านี้ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า จำเป็นต้องกดดันพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่จริงจังมาก ที่ผ่านมาคิดว่าพรรคการเมืองลอยตัวอยู่เหนือปัญหามากเกินไป พรรคเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ รัฐบาล พวกเขามีทั้งอำนาจ ความนิยม มีเงิน แต่ปัญหาคือพวกเขาไม่ได้ต้องการการเปลี่ยนแปลง พวกเขาต้องการให้สถานะทุกอย่างมันเป็นอยู่แบบนี้
“คำถามคือจะทำอย่างให้พวกเขารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญได้ เมื่อ 3 ปีก่อน เรื่องบำนาญประชาชนยังไม่ได้ถูกเห็นความสำคัญแม้จากพรรคที่มีความก้าวหน้าก็ยังไม่เอา ยังรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่พอเวลาผ่านไปมันกลายเป็นสามัญสำนึกของคนว่าเป็นไปได้ จนตอนนี้พรรคการเมืองหลักเกินครึ่งยอมรับเรื่องนี้ พรรคการเมืองบางครั้งเขาอาจจะดูหน้าด้าน แต่บางจังหวะเขาหน้าบางมากกว่าที่คิด”
“เราต้องทำให้เขารู้สึกละอาย ปัญหาคือชนชั้นนำประเทศนี้ไม่มีความละอาย ไม่มีความรู้สึกผิด ถ้าเราสามารถฝังเรื่องเหล่านี้ให้เขารู้สึกได้ว่าเรากำลังพูดถึงคนในสังคมทั้งหมด จะต้องเป็นคนประเภทไหนที่สามารถปัดตกนโยบายเหล่านี้ได้ จึงต้องทำให้เขาละอายและไม่มีที่ยืน ถ้าเราไม่กล้าด่าพรรคการเมืองเราจะไม่มีวันได้อะไร ถ้าประชาชนไม่ส่งเสียงอภิสิทธิชนก็จะคิดแทนเราแน่นอน ดังนั้นต้องมีการรวมตัวและกดดันในเครือข่ายที่หลากหลาย และอย่าลดเพดานในการส่งเสียง”
ภาพจาก: เครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย