ในปี 2565 ปีที่การถอดรื้อโครงสร้างและมายาคติในทุกรูปแบบเกิดขึ้นให้เห็นตลอดเวลา ใครจะเชื่อว่าในปี พ.ศ.นี้ เรายังคงได้ยินข้อถกเถียงที่ว่าผู้หญิงใส่กางเกงในขณะทำงานได้หรือไม่ ? ซึ่งข้อถกเถียงนี้ที่น่าประหลาดใจที่สุด คือเกิดขึ้นในวิชาชีพของทนายความ อาชีพที่มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิให้กับประชาชน
De/code พูดคุยกับ ทนายแจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความสิทธิมนุษยชนที่พูดถึงการทำแท้ง ห้องให้นมลูก และทนายความหญิงต้องได้สิทธิใส่กระโปรงว่าความ เพื่อสอบถามถึงการต่อสู้ของทนายความหญิง ในวันที่สังคมไปไกลกว่าข้อบังคับในวิชาชีพทนายความ
ใส่ครุยทับไปก็ไม่เห็นกระโปรงอยู่ดี ถ้าอย่างนั้นปัญหาจริง ๆคืออะไร
เราว่าปัญหาจริง ๆ ของเรื่องนี้คือ วงการนักกฎหมายมันต้องศักดิ์สิทธิ์ ต้องให้ความเคารพสถานที่ คำว่าให้ความเคารพนี้แหละที่ทำให้เราหลงลืมอะไรบางอย่างไป ลืมไปว่าคนเวลามาศาล มาหาที่พึ่งสุดท้าย เพราะเขาอยากได้รับความยุติธรรม เหมือนคำลงท้ายที่ว่า โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจำเลยได้ จึงนำมาฟ้องเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งบังคับจำเลยต่อไป ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ศาลไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาลคือที่พึ่ง ไม่ควรทำให้อยู่ห่างจากประชาชนขนาดนั้น เหมือนเราหลงลืมไปว่าจริง ๆ แล้วศาลมีขึ้นมาก็เพื่อประชาชน เราหลงลืม core value ของอาชีพเราไปรึเปล่า พอคุณหลงลืมคุณค่าที่แท้จริงของอาชีพนี้แล้วไปแสวงหาเรียกร้องให้ประชาชนต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์ของคุณขึ้นมา จึงต้องมีกฎที่ต้อง ‘แสดงความเคารพ’ ด้วยเสื้อผ้าแปลก ๆ แบบนี้ขึ้น
การบังคับให้ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง คือการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ?
ประเด็นเรื่องเพศ (Gender) มันเป็นของใหม่มากนะ เมื่อก่อนใครตั้งคำถามนี่ถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าวเลย ทั้ง ๆ ที่เรากำลังเรียกร้องสิทธิพื้นฐานมาก ๆ อย่างสิทธิในการแต่งกายด้วยซ้ำ พอในยุคที่ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากขึ้น เริ่มเข้าไปในพื้นที่ของผู้ชาย ทนายความ หมอ วิศวะกร อาชีพพวกนี้แต่ก่อนมีผู้หญิงน้อยมาก เราเชื่อว่าเมื่อก่อนปัญหามันก็มี แต่พูดออกมาไม่ได้ ในยุคนี้มันถึงเวลาแล้ว เราเริ่มรู้ถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น
กฎ ‘เก่า’ ถ้าเรายัง ‘ตาม’ = ความล้าหลัง
ศาลจะมองว่าอาชีพเค้าคือความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยกระบวนการ ด้วยโครงสร้างสังคมเรา คนที่จบกฎหมายจะถูกผลักดันให้เป็นแค่อัยการกับผู้พิพากษา ทั้ง ๆ ที่แต่ละอาชีพมีคุณค่าเท่ากัน เราแค่มีหน้าที่ต่างกัน อย่างเราเป็นทนายความก็จะโดนผู้ใหญ่ถามว่าทำไมไม่ไปสอบศาลตลอด ทั้ง ๆ ที่ทนายความใช้ทักษะเยอะมาก เราต้องทำทุกอย่างเองหมดเลย
การเป็นทนายสิทธิในช่วงรัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่าย ห้องทำงานของเราคือค่ายทหาร คือเรือนจำ อีกฝั่งหนึ่งคือนายตำรวจยศใหญ่ คือรัฐ บางทีไปกลางดึกเราก็ต้องไปเพื่อไปหาลูกความเรา ทนายความจึงเป็นอาชีพที่ได้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรม
สู้มาขนาดนี้ ปี 2565 ยังต้องมาสู้เรื่องให้ทนายผู้หญิงใส่กระโปรงอยู่อีก
เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว ในทุกโครงสร้าง ในทุกระดับ นี่เป็นอีกก้าวหนึ่ง และมันจะมีอีกเรื่อย ๆ เมื่อก่อนคนไม่กล้าพูดเรื่องทำแท้ง พูดเรื่องสมรสเท่าเทียมด้วยซ้ำ เราชอบภาพที่คนจำนวนมากคุกเข่าเรียงหน้ากระดาน มีคนถือแส้อยู่ด้านหน้า เขาเอาแส้ฟาดเราทีละคนได้ แต่พอเราลุกขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เขาไม่มีทางสู้เราได้ มันต้องเริ่มที่ตัวเรา
สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย “เราขอแค่ให้ศาลเห็นแก่ประโยชน์แห่งความยุติธรรม”
ความกลัวมันจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คุณไม่เพียงแต่ช่วยยืนยันสิทธิของตัวเอง แต่คุณกำลังช่วยผลักดันให้ทนายความหญิงและทนายความข้ามเพศคนอื่น ๆ ด้วย เช่นเดียวกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับทนายความจิดาภา คงวัฒนกุล หนึ่งในทนายความที่ถูกผู้พิพากษาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตำหนิถึงการใส่กางเกงว่าความของเธอ
“วันนั้นคนในบัลลังก์เยอะมาก พอถึงคิวเรา หน้าบัลลังก์ทักขึ้นมาก่อนเลยว่าทนายใส่กางเกง ศาลเลยถามเราว่า ใส่กางเกงได้เหรอ เราเลยชี้แจงกับศาลไปตามที่สภาทนายเคยยื่นหนังสือแก้ไขข้อบังคับให้สามารถสวมกางเกงได้ไปตั้งแต่ปี 63 ว่าสภาทนายความไม่ได้ห้าม ความจริงเราใส่กางเกงมาตลอด ไม่เคยโดนตำหนิ ศาลที่เราไปเจอทั้งศาลทั้งหน้าบัลลังก์เป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ ไม่ได้ดูหัวโบราณ แต่เป็นคนที่เคร่งระเบียบในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มาก เหมือนครูฝ่ายปกครอง เขาไม่ได้ใส่อารมณ์นะ เพื่อนเราที่ใส่กางเกงเคยเจอศาลผู้ชายคนหนึ่งพูดด้วยท่าทางใส่อารมณ์ว่า ถ้าไม่อยากใส่กระโปรงก็ไปทำอาชีพอื่นด้วยซ้ำ แต่ที่เราเจอคือเขาแค่เป็นคนเคร่งระเบียบ มันเลยทำให้เราเห็นเลยว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นที่ระเบียบที่มันไม่ก้าวทันยุคสมัยและความเท่าเทียมจริง ๆ เราเลยรู้สึกว่าตัวระเบียบนี่แหละที่เป็นเครื่องมือตอกย้ำความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติแบบนี้”
“พอศาลพูดอย่างนี้มันทำให้ทนายหญิงและทนายข้ามเพศตกเป็นเป้า เปิดช่องให้มีการกลั่นแกล้งกันได้ด้วย เพราะการผิดมรรยาททนายความ โทษสูงสุดคือถอดใบอนุญาตทนายความได้เลย
การที่มีทนายความผู้หญิงใส่กางเกงมากขึ้นมันทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องปรกติขึ้นมาก โดนเพ่งเล็งน้อยลง อาชีพทนายมันต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ต้องคล่องตัว ต้องทำงานแข่งกับเวลา
เราพบว่าปัญหาจริง ๆ คือ ศาลยังติดกรอบว่ามีแค่สองเพศเท่านั้น ถ้าคุณจะเป็นผู้ชาย ก็ต้องเป็นผู้ชายให้เต็มยศ เป็นผู้หญิง ก็ต้องใส่กระโปรง และมันยังตามไปถึงการพิจารณาคดีออนไลน์ด้วย ซึ่งตามปรกติจะเห็นกันแค่ครึ่งตัวด้วยซ้ำ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องหยุมหยิมมาก แต่เรากังวลว่าจะทำให้ศาลมีอคติต่อตัวลูกความของเรา เราก็ไปเอากระโปรงมาใส่ ปรากฎพอเริ่มพิจารณาคดีออนไลน์ ศาลขอตรวจสอบ ให้เราลุกขึ้นยืน เปิดครุยให้ดูว่าใส่อะไรข้างใต้ครุย
ตอนนั้นเรารู้สึกถูกโดนคุกคาม ตอนนั้นทนายอีกฝั่งหนึ่งก็เห็นเราด้วย ไม่ใช่แค่ศาลเท่านั้น ซึ่งทนายผู้ชายอีกฝั่งก็ไม่ได้ถูกตรวจสอบว่าแต่งกายสุภาพเรียบร้อยหรือไม่แบบเราด้วยซ้ำ ทำไมการเป็นทนายผู้หญิงถึงโดนเพ่งเล็ง เรารู้สึกโดนละเมิดสิทธิ ทั้ง ๆ ที่หน้าที่ของเราคือการพิทักษ์สิทธิคนอื่น
เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด และไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับ LGBTQ+ ด้วยเช่นกัน เราอยากให้ประชาชนรู้ว่าในวงการนักกฎหมายมีข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันแบบนี้อยู่ และโทษของการใส่กางเกงว่าความมีตั้งแต่พักงานไปจนถึงถอนใบอนุญาตว่าความ ทนายความเป็นอาชีพที่ยังต้องมีความตระหนักรู้ในเรื่องเพศอีกมาก ไม่ควรมีใครถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ขณะที่สังคมกำลังรณรงค์เรื่องสมรสเท่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องการแต่งกายเป็นเรื่องพื้นฐานที่่สุด ทนายความเราจะไปคุ้มครองสิทธิของคนอื่นอย่างเต็มที่ได้ยังไงถ้าแม้แต่ศาลและองค์กรที่มีหน้าที่คุ้มครองวิชาชีพเรายังเพ่งเล็งเราด้วยเรื่องแบบนี้อยู่
ถ้าไปดูในแคมเปญ change.org ที่ NITIHUB ทำ จะมีรายชื่อของทนายความผู้ชายร่วมลงชื่อจำนวนเยอะมาก เราเห็นได้ว่าสังคมในวิชาชีพเราเองก็ก้าวหน้าและเติบโต แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เข้าใจ มองว่าเป็นแค่ความไม่สะดวกส่วนตัวเท่านั้น ก็ยังต้องขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจกันต่อไป
ความจริงเราเข้าใจศาลที่ตำหนิว่ามันเป็นเรื่องของระเบียบ แต่ในความเป็นจริงมีศาลจำนวนมากที่ไม่ได้หยิบเอาข้อบังคับที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศแบบนี้มาใช้ ในฐานะที่ศาลเป็นองค์กรที่อยู่สูงสุดในเชิงอำนาจ เมื่อมองลงมาจากบัลลังก์ เมื่อคุณเห็นทนายความเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันกับคุณ เราก็จะรู้สึกว่าเป็นศาลที่น่าเคารพจริง ๆ
จริง ๆ แล้วกฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนในกระบวนการยุติธรรมอำนวยให้เกิดขึ้น ศาลต้องทำหน้าที่ผดุงความยุติธรรม ไม่ใช่ผดุงค้ำจุนกฎหมาย เราอยากขอให้ศาลทบทวนจุดยืนของตัวเองว่าควรจะให้น้ำหนักกับอะไร เรามาเป็นผู้พิพากษาเพราะอะไร
ถ้า สภาทนายความเข้มแข็งจริง ๆ เขาต้องเป็นที่พิงหลังให้เราในการต่อสู้รักษาสิทธิให้กับทนายความด้วยซ้ำ แต่สภาทนายความกลับยื่นฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ต่อศาลปกครอง ในกรณีคดีพิพาทกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังคณะกรรมการ วลพ. มีคำวินิจฉัยให้สภาทนายความแก้ไขกฎการแต่งกายเพื่อรองรับความหลากหลายทางเพศ”
กฎหมายก้าวหน้า ในวันที่ “สิทธิ” ยังคลุมเครือ
ถึงแม้เราจะมี พ.ร.บ.หลายฉบับที่มีความก้าวหน้าออกมา เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมก็ดี แต่ในกฎหมายเหล่านั้นก็ยังเปิดช่องให้เกิดการใช้ดุลยพินิจของศาลประกอบการพิจารณา น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเรายังมีผู้พิพากษาที่สั่งให้ทนายหญิงเปิดครุยกลางกระบวนพิจารณาเพื่อตรวจสอบว่าใส่กระโปรงตามข้อบังคับหรือไม่ ผู้พิพากษาจะมีความเข้าใจต่อสังคมและสิทธิมนุษยชนมากเพียงพอที่จะบังคับใช้กฎหมายที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างตรงตามเจตนารมย์ของผู้ร่างกฎหมายและของประชาชนมากน้อยแค่ไหน
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 อนุกรรมาธิการ วลพ. ได้พิจารณาเรื่องที่สภาทนายความกับเนติบัณฑิตยสภา บัญญัติให้ผู้หญิงต้องนุ่งกระโปรงเท่านั้น เมื่อใส่ครุยในเวลาว่าความ
ประเด็นสำคัญคือ พิจารณาว่าการบัญญัติดังกล่าว ปราศจากความชอบธรรม ตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมกันทางเพศ หรือไม่ ท้ายที่สุดประธานอนุกรรมการได้ออกเสียงของประธานเองว่า ปราศจากความชอบธรรม จึงเสนอให้สภาทนายความและเนติบัณฑิตยสภาแก้ไขข้อบังคับให้เหมาะสม และเตรียมนำเสนอคณะกรรมการ วลพ.ชุดใหญ่ต่อไป