เพื่อนที่ไม่รู้จัก(แต่ล้วนรักประชาธิปไตย)ในทวิตเตอร์: ฐานการต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่ไม่มีในโลกออฟไลน์ - Decode
Reading Time: 5 minutes

หยุดคุกคามประชาชน
ยุบสภา
ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สามข้อเรียกร้องจากคนรุ่นใหม่ในม็อบ #เยาวชนปลดแอก ที่ขยายไปสู่การชุมนุมทั่วประเทศ

ในขณะที่คนรุ่นใหม่กำลังฮึกเหิมสร้างแฮชแท็กใหม่ ๆ และเสนอ #ไอเดียออกม็อบ กันไม่เว้นแต่ละวัน “ผู้ใหญ่” หลายคนกลับรู้สึก “ขัดใจ” และสงสัยว่า โถ มันจะมีคนมาร่วมชุมนุมกันสักกี่ค้นน (เสียงสูง เบ้ปากนิด ๆ ส่ายหัวพร้อมถอนหายใจ)

กระแสโต้กลับที่ดูแคลนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ว่าเป็นขบวนการของ “เด็ก ๆ” ที่ “ถูกจัดตั้ง” หรือมองว่า “เป็นเด็กมีหน้าที่เรียนก็เรียนไป” คนที่เชื่อแบบนี้นอกจากจะยังไม่เข้าใจแนวคิดของการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว อาจจะยังไม่เข้าใจพลวัตการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะหากเข้าใจ เราจะไม่เห็นแค่เด็กนักเรียนใส่ชุดม.ปลายชูป้าย “อตอห” (และไม่งงว่ามันแปลว่าอะไร) แต่เราจะมองเห็นเครือข่ายของคนอีกจำนวนมากที่คิดเหมือนกัน รู้สึกเหมือนกัน เข้าใจมุกตลกเดียวกัน เป็น “เพื่อน” ที่สื่อสารและสนับสนุนกันอยู่ตลอดเวลาในโลกออนไลน์ (แม้ชุมนุมสลายตอนเที่ยงคืนก็ยังทวีตกันต่อยันเช้า)

จากรัฐประหารวันนั้นถึงการชุมนุมวันนี้ คนรุ่นใหม่ไทยใช้ทวิตเตอร์เป็นที่มั่นสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระบายความรู้สึก แชร์ข้อมูลที่สื่อหลักไม่รายงาน ช่วยคนที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกันสร้างภาษาเพื่อดันเพดานเสรีภาพในการแสดงออก และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันผ่านหลากหลายแฮชแท็ก เครือข่ายหลวม ๆ ของ “เพื่อนที่ไม่รู้จัก” ร่วมกันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในโลกออนไลน์จนสุกงอม พร้อมแสดงพลังในโลกออฟไลน์อย่างที่เรามีโอกาสได้ชื่นชม

ใครที่ตายังพร่า มองเห็นแค่ส่วนที่โผล่พ้นน้ำของภูเขาน้ำแข็งและยังคิดว่า “เด็กพวกนี้ มันต้องมีท่อน้ำเลี้ยงแน่ ๆ”
บทความนี้ชวนทำความเข้าใจการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล และชวนมองฐานอันแข็งแกร่งของภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ใต้กระแสน้ำที่เชี่ยวกราก

ประชาชนล่าถอย เมื่อโลกออฟไลน์เต็มไปด้วยการกดขี่โดยรัฐ

กิจกรรมชุมนุม #ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน 24 ก.ค.63 ภาพโดย พลอยธิดา เกตุแก้ว

“Well, I’m now in Amsterdam so I can speak about it.”

หญิงสาวในวัยยี่สิบกว่าเกริ่นขำ ๆ เราคุยกันเรื่องเสรีภาพสื่อในประเทศไทยกลางตลาดนัดแห่งหนึ่งในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

“เสรีภาพสื่อในไทยค่อนข้างจำกัด มีกฎหมายที่ทำให้เราแสดงออกอย่างเสรีไม่ได้ แต่ถ้าเราดูในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มันไวรัลมากเลย”

หญิงสาวตอบพร้อมลงรายละเอียดในเรื่องที่สื่อไทยไม่กล้ารายงาน
อยู่ต่างประเทศพูดได้ อยู่ไทยต้องอยู่เป็น หลักการเอาชีวิตรอดสำคัญที่คนไทยหลายคนคงเข้าใจดี หลักการที่สะท้อนสภาพสังคมไทยได้ชัดเจนที่สุด

ขอบคุณกันเสร็จสรรพ เธอเดินจากไป ไม่มีเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาขอดูบัตร ไม่มีใครมาขู่ ไม่มีชายหัวเกรียนแอบถ่ายภาพรายงานตามนายสั่งมา มองซ้ายมองขวา ผู้คนเดินผ่านไปมาตามปกติ เสรีภาพในการแสดงออกที่ไม่ต้องเล่นมุกตลกเกี่ยวกับคุกเพื่อกลบความกลัวมันหอมหวานแบบนี้นี่เอง มองย้อนกลับมาที่บ้านเรา พื้นที่สาธารณะและบทสนทนาแบบตรงไปตรงมา คือสิ่งที่ไม่(ถูกอนุญาตให้)มีในประเทศไทย เพราะตั้งแต่คสช. ทำการรัฐประหารในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เราเห็นประชาชนและนักกิจกรรมถูกข่มขู่และแจ้งข้อกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด สื่อมวลชนก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองจนแทบไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรีของการเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน

เมื่อพื้นที่สาธารณะในโลกออฟไลน์ไม่ใช่พื้นที่แห่งเสรีภาพอีกต่อไป จึงไม่น่าแปลกใจที่บทสนทนาในโซเชียลมีเดียจะร้อนแรงและมีพลังมากขึ้นเรื่อย ๆ

ภาพโดย นราธร เนตรากูล

หากเรามองความเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ยุคที่คนรุ่นใหม่โตมากับการหลอมรวมทางเทคโนโลยีการสื่อสาร (Convergent technologies) Zizi Papacharissi อาจารย์ด้านการสื่อสารจากประเทศสหรัฐอเมริกาอธิบายว่า คนเรารู้สึกไม่พอใจและรู้สึกไร้พลังเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะในโลกออฟไลน์ เรารู้สึกรัฐบาลไม่ฟังเรา รู้สึกว่าเสียงของเราไม่มีอำนาจ  เราเลย “ล่าถอย” เข้าสู่โลกออนไลน์ โลกที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นและแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของเราได้มากกว่า เราสามารถสร้าง “อวตาร” ในโซเชียลมีเดียที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของเราหรือจะใช้มันเพื่อซ่อนความเป็นตัวตนของเราก็ได้ เราใช้ชื่อในทวิตเตอร์ว่า “นิรนาม_BlackPink_Democrazy_III” เป็น “แอกหลุม” แอกเคาท์ที่ไม่มีใครรู้ว่าเราคือใคร แถมเรายังมีมากกว่าหนึ่งแอกเคาน์ ใช้อีกชื่อหนึ่งสำหรับเพื่อนที่โรงเรียน ส่วนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง เอาไว้เป็นเพื่อนกับพ่อแม่และญาติ ๆ ให้พวกเขาสบายใจ นี่คือสิ่งที่โลกออนไลน์ให้ได้ โซเชียลมีเดียมอบอำนาจการปกครองตัวเอง (autonomy) และความยืดหยุ่นในการแสดงออกให้กับเรา โดยเฉพาะในสังคมที่รัฐกดขี่และคุกคามการแสดงออกของประชาชน

การล่าถอยสู่โลกออนไลน์ของประชาชนเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการปกครองของรัฐบาล ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน ในยุคดิจิทัล เราคือประชาชนที่คอยติดตามตรวจสอบความเป็นไปในสังคมอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งในพื้นที่ส่วนตัวของเรา เราคือประชาชนที่มีความสามารถในการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการคุกคามของรัฐบาลได้ เราคือประชาชนที่ใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ในการเจรจาต่อรองอำนาจในการแสดงออกที่ถูกจำกัดในโลกออฟไลน์ เราทวีตแสดงความคิดเห็นต่อการประชุมสภาได้ขณะที่นอนอยู่บนเตียง ลงชื่อยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินใน change.org ช่วงพักเบรกขณะทำงาน หรือถกกับ IO และคนที่เห็นต่างจากเราอย่างเข้มข้นตอนนั่งอยู่บนโซฟาที่บ้าน สมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตจึงเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา รวมไปถึงวิถีในการแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของชีวิต

Zizi Papacharissi อธิบายว่าเทคโนโลยีการสื่อสารที่หลอมรวมอยู่ในสมาร์ทโฟนเบลอเส้นแบ่งระหว่าง “สาธารณะ” กับ “ส่วนตัว” แม้เราจะทวีตแบบบ่น ๆ สไตล์เรา จากโต๊ะกินข้าวที่บ้านในวันหยุด (และใส่ชุดนอน) เราอาจจะได้เข้าร่วมบทสนทนาบนพื้นที่สาธารณะออนไลน์ทั้งแบบรู้ตัว (ตั้งใจติดแฮชแท็กขณะบ่น) และไม่รู้ตัว (ทวีตเฉย ๆ แต่ดันไวรัล มีคน retweet และ reply เยอะ) ในยุคที่คนไทยออกมาชุมนุมแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องในโลกออฟไลน์ได้ยากขึ้นจากการถูกจำกัดเสรีภาพโดยรัฐ เมื่อเราเปิดแอปทวิตเตอร์ เลื่อนดูข้อความตามแฮชแท็กการเมืองต่าง ๆ บางข้อความตรงและแรงจนต้องกรีดร้องในใจดัง ๆ

กิจกรรมชุมนุม #ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน 24 ก.ค.63 ภาพโดย พลอยธิดา เกตุแก้ว

หากลองมองสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านคอนเซปต์หนึ่งที่เรียกว่า “Preference Falsification” ที่อธิบายว่า คนเราแสดงออกในพื้นที่สาธารณะต่างไปจากพื้นที่ส่วนตัว จริง ๆ เราอาจจะไม่ได้ชอบสิ่งหนึ่งที่ค่านิยมทางสังคมบอกว่าเราควรชอบ เวลาอยู่ในพื้นที่สาธารณะเราก็อาจจะเลือกที่จะแสดงออกว่าชอบตามกระแสไป (อยู่เมืองไทยต้องอยู่เป็น) เป็นพฤติกรรมที่นักวิชาการบอกว่ามักจะเกิดในสังคมเผด็จการที่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก เทคโนโลยีการสื่อสารที่เบลอเส้นแบ่งระหว่างสาธารณะกับส่วนตัว ทำให้บางคนรู้สึกว่าโลกออนไลน์คือพื้นที่ปลอดภัยที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด และแสดงความคิดเห็นที่แท้จริงได้มากที่สุด การหลอมรวมของเทคโนโลยีที่หลอมรวม “สาธารณะ” กับ “ส่วนตัว” ช่วยเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกในใจของคนรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์เป็นความคิดเห็นบนพื้นที่สาธารณะออนไลน์ที่ไม่ถูกอนุญาตให้แสดงออกได้หน้าทำเนียบรัฐบาล

ในยุคดิจิทัล หากเรายังมองการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในศตวรรษที่ 21 ผ่านแว่นตาเก่าที่ใช้มาจนร้าว เราอาจจะมองไม่เห็นคุณค่าและนัยยะต่าง ๆ ของเหตุการณ์ที่กำลังเป็นไป

งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ไม่นานของ Adel Iskandar นักวิชาการชาวอียิปต์ ศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในอียิปต์ในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งในปรากฏการณ์อาหรับสปริง พวกเขาคือเจเนอเรชั่นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกโดยมีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่เมื่อเรามองอียิปต์ในวันนี้ คนรุ่นใหม่เหล่านั้นกลับต้องเผชิญกับการคุกคามจากรัฐ บ้างติดคุก บ้างต้องลี้ภัย ที่เหลืออยู่ในประเทศต้องอดทนอดกลั้น ระมัดระวังในการแสดงออก อียิปต์ในวันที่ไม่มีใครกล้าลงถนน หลายคนอาจจะมองว่า คนรุ่นใหม่แพ้แล้ว แต่ Adel บอกว่า ไม่จริง พวกเขาไม่ได้แพ้ คนรุ่นใหม่ในอียิปต์ทุกวันนี้ใช้พื้นที่ออนไลน์ในการสร้างมีม สร้างมุกตลกเสียดสีเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา Adel ถกเถียงว่า รูปแบบการแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่บนพื้นที่ออนไลน์ภายใต้บริบทการกดขี่ของรัฐแบบนี้ มีนัยยะสำคัญและมีความหมายเท่ากันกับการลงถนนประท้วงในยุคอาหรับสปริง!

“เครือข่ายเพื่อนที่ไม่รู้จัก” ในทวิตเตอร์ไทยแลนด์

จำ “นิรนาม_BlackPink_Democrazy_III” แอกเคาน์ของเราในทวิตเตอร์ (ที่เพิ่งยกตัวอย่างไป) ได้ไหม?

ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ทวิตเตอร์ค่อย ๆ กลายเป็นสนามความคิดเห็นสำคัญของคนรุ่นใหม่เมื่อลองดูการสื่อสารของผู้ใช้ที่คุยกันเรื่องการเมืองและเรื่องที่แทบคุยไม่ได้ในสังคมออฟไลน์ เราจะพบว่าคนส่วนใหญ่ใช้ “แอกหลุม” หรือแอกเคาท์นิรนาม ไม่เปิดเผยชื่อ-นามสกุล และตัวตนที่แท้จริง จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการใช้แอกหลุมในทวิตเตอร์มีที่มาจากวัฒนธรรมเคป๊อปของเกาหลีใต้ที่มีการวัดความนิยมของศิลปินผ่านแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ทำให้แฟนคลับสร้างแอกเคาน์ปลอมขึ้นมาเอาไว้ปั่นโหวตหรือปั่นแฮชแท็กเกี่ยวกับศิลปินที่ตนชื่นชอบให้ติดท็อปเทรนด์

แต่ในบริบทสังคมไทยที่ไร้เสรีภาพในการแสดงออก แอกหลุมที่เริ่มต้นมาจากวัฒนธรรมเคป๊อปกลับมีฟังก์ชันในการช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่เจ้าหน้าที่รัฐขยันใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ที่สำคัญเมื่อไม่รู้ว่า “ใครเป็นใคร” ทวิตเตอร์จึงเป็นพื้นที่ที่ “เราเท่ากัน” มากกว่าแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กที่เต็มไปด้วยเพื่อน ญาติ พ่อแม่ ครู จะโพสต์อะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ มันไม่สำคัญว่าคนที่เราเมนชัน (@) ไปคุยด้วยคือใคร สำคัญที่ว่า ภายใต้แฮชแท็ก (#) ที่ใช้ร่วมกันนี้ เราต่างสนใจในประเด็นเดียวกัน

บนพื้นที่ที่เราเท่ากันซึ่งหาได้ยากในโลกออฟไลน์ไทยแลนด์ คนรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์ “แชท” กันเรื่องการเมืองในแบบที่นักวิชาการด้าน Political Communication เรียกว่า “everyday political talk” คือแชทกับเพื่อนทุกเรื่องรวมถึงเรื่องการเมืองด้วย (เพราะคนรุ่นใหม่เข้าใจว่าการเมืองอยู่ในทุกเรื่องของชีวิต ในขณะเป็นเด็กนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียนพวกเขาก็เป็นประชาชนที่มีสิทธิ์มีเสียงด้วย เรื่องง่าย ๆ ที่ “ผู้ใหญ่” จำนวนหนึ่งดูเหมือนจะไม่เข้าใจ) หากเราอ่านข้อความในทวิตเตอร์ตามแฮชแท็กการเมืองต่าง ๆ เราจะเห็นนัยยะของ “เพื่อน” ในบทสนทนาของคนรุ่นใหม่อยู่ตลอด

เราเข้าใจกันนะ เรารู้กันนะ มันคืออนาคตของพวกเรานะ เราโกรธและอึดอัดเหมือนกันนะ เราก็กลัวเหมือนกันนะ เราจะติดคุกด้วยกันนะ *tearsofjoyemoji* ทั้งหมดนี้ทำให้ Twitter Thailand เป็นพื้นที่ของ “เครือข่ายเพื่อนที่ไม่รู้จัก” ที่วาดฝันและร่วมกันผลักดันให้สังคมออฟไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่เราเท่ากัน

อย่าลืมว่าตั้งแต่คสช.มาจนถึงรัฐบาลที่นำโดยทหารในปัจจุบัน เราอยู่กันมาแล้วตั้งกี่ปี แต่ละปี มีกี่ประเด็นที่ชวนให้แสดงอารมณ์ในโลกออนไลน์? (เพราะแสดงออฟไลน์แล้วถูกจับ) ใช่ไหม! มันนับไม่ไหว! แม้เราจะไม่เห็นการเคลื่อนไหวในโลกออฟไลน์มากนัก แต่เครือข่ายเพื่อนที่ไม่รู้จักเขา tweet, retweet และ reply (รวมถึง DM ในแชทส่วนตัว) เพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นไปของสังคมมาโดยตลอด หากย้อนกลับไปช่วงทวิตเตอร์ร้อนแรงสุด ๆ ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งปี 2562 จนถึงช่วงเวลาก่อนที่เจ้าไวรัสโควิด-19 จะเข้ามา เราเห็นเลยว่า เครือข่ายเพื่อนที่ไม่รู้จักของคนรุ่นใหม่ไม่ได้มาเล่น ๆ นอกจากการใช้แฮชแท็ก #ประชุมสภา และอีกหลายชื่อในการร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แฮชแท็กอย่าง #saveนิรนาม และการรวมตัวกันแบบแฟลชม็อบของนักศึกษาหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียมีพลังในการขับเคลื่อนทางการเมืองและสังคม

กิจกรรมชุมนุม #เยาวชนปลดแอก 18 ก.ค.63 ภาพโดย นราธร เนตรากูล

ชายหนุ่มอายุ 20 ปีในจังหวัดชลบุรี ผู้ใช้ทวิตเตอร์แอกเคาน์ “นิรนาม_” ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นห้องพัก และพาตัวไปยังสถานีตำรวจโดยไม่มีหมายจับ และถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระบุสาเหตุจากการทวีตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาถูกนำตัวฝากขังต่อศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว กรณีนี้คือที่มาของ #saveนิรนาม แม้แทบไม่มีสื่อกระแสหลักรายงาน แต่ผู้ใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กแชร์ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ผ่านแฮชแท็ก #saveนิรนาม จนสามารถระดมทุนได้เกือบสองล้านบาท หลายคนเปลี่ยนชื่อแอกเคาน์ตัวเองเป็น “นิรนาม” เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หลายคนเรียกชายหนุ่มที่ถูกกักขังว่า “เพื่อน” ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน บางคนทวีตข้อความแจกหนังสือและของฟรีอื่น ๆ ให้กับคนที่ช่วยสมทบทุน บางคนเมนชันสื่อต่างประเทศไปจนถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนพร้อมแปลเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ พวกเขาช่วยกัน “ระดมพล” และ “กำหนดวาระทางสังคม” ผ่านการ “ดันแฮชแท็ก” #saveนิรนาม จนทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งของ Twitter Thailand ณ ช่วงเวลานั้น จนกระทั่งนิรนามได้รับการประกันตัว

เพียงแค่วันเดียวหลังจากที่ชาวทวิตภพช่วยกัน #saveนิรนาม ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เสียงวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจผ่านเครือข่ายเพื่อนที่ไม่รู้จักถูกทวีตและรีทวีตเป็นรายวินาที หากเราศึกษาพลวัตการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์ช่วงนั้น ความรู้สึกไม่ยุติธรรมที่ทวีคูณนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ “แฟลชม็อบ” ตามสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยแต่ละม็อบมีชื่อแฮชแท็กของตัวเอง นี่คือการออกสู่พื้นที่ออฟไลน์ครั้งแรกของเครือข่ายเพื่อนที่ไม่รู้จัก เราเห็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันผ่านการใช้แฮชแท็ก คนที่ไปร่วมได้ทวีตมาจากสถานที่ชุมนุม คนที่ไปร่วมไม่ได้ทวีตรูปชูสามนิ้วของตัวเอง ทวีตเนื้อเพลง Do You Hear The People Sing? ที่คนในชุมนุมร่วมกันร้อง การเคลื่อนไหวทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ดำเนินควบคู่ไปด้วยกัน

กิจกรรมชุมนุม #ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน 24 ก.ค.63 ภาพโดย พลอยธิดา เกตุแก้ว

หากเราขยายภาพออกมา เครือข่ายเพื่อนที่ไม่รู้จักของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในปรากฏการณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองในศตวรรษที่ 21

การศึกษาของ Lance Bennett อาจารย์ด้านการสื่อสารคนสำคัญคนหนึ่งในวงการ Political Science พบว่า เทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อการรวมตัวกันของผู้คน ทุกวันนี้การจะรวมตัวทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ได้เรียกร้องการเป็นสมาชิกแบบเป็นทางการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้เราสร้างเครือข่ายแบบหลวม ๆ ของคนที่คิดเห็นตรงกัน เจอกันผ่านทางโลกออนไลน์ อาจจะลงถนนหรือไม่ลงก็ได้ แต่มีเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน และใช้การ “แชร์” บนพื้นที่ออนไลน์เป็นหัวใจสำคัญของการร่วมกิจกรรม เราเห็น Global movements อย่าง #Metoo และ #BlackLivesMatters ที่คนสนใจประเด็นเดียวกันรวมในโลกออนไลน์เพื่อขับเคลื่อนสังคม และมีพลังมากพอที่จะลงถนนร่วมกันในแต่ละประเทศทั่วโลก Bennett บอกว่า การรวมตัวกันของเครือข่ายหลวม ๆ แบบนี้ก็มีพลังในการบรรลุจุดประสงค์ทางการเมืองและสังคมร่วมกันได้

การแชร์ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ยังถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Participatory Politics การเมืองแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการแชทกันเรื่องการเมืองในชีวิตประจำวัน แชร์ข่าวที่สื่อกระแสหลักไม่รายงาน หาข้อมูลว่าที่รัฐบาลพูดมันจริงไหม สร้างมีมขึ้นมาล้อรัฐบาลและนักการเมือง ทั้งหมดนี้คือการมีส่วนร่วมทางการเมืองบนโลกออนไลน์ที่ท้าทายสถาบันเดิม ๆ ทางการเมืองที่เคยผูกขาดข้อมูลข่าวสาร สถาบันเดิม ๆ ที่เคยเป็นผู้กำหนดวาระทางสังคม (agenda setter) เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิตัลปรับโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนกับรัฐให้เท่ากันมากขึ้น อย่างในบริบทของไทย หากใครอยู่ในโลกทวิตเตอร์ก็จะเห็นนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลสื่อสารกับประชาชนโดยตรงเป็นประจำ ที่สำคัญในประเทศที่การไปชูป้ายหน้าทำเนียบมันเสี่ยงคุกเสี่ยงตารางเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่ เราสามารถเมนชั่น @prayutofficial พร้อมแสดงความคิดเห็นได้เลย และถึงแม้ @prayutofficial จะไม่ตอบเรากลับมา แต่ยังมีส.ส.จำนวนหนึ่งที่นำประเด็นจากแฮชแท็กเข้าไปถกเถียงในการ #ประชุมสภา ในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่เลือกพวกเขาเข้าไปทำหน้าที่

พลวัตที่กำลังเกิดขึ้นนี้อาจสะท้อนได้ว่าการทวีตบ่น ๆ ระบายความรู้สึก และแชร์ความคิดเห็นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสังคมที่ไร้เสรีภาพในการแสดงออก ทรงพลังและมีคุณค่าในฐานะความคิดเห็นสาธารณะมากกว่าโพลทางการของภาครัฐหรือการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักที่หวาดกลัวอำนาจผู้ปกครอง

ทวีตข้อความบนป้ายประท้วง จากทวิตเตอร์สู่ท้องถนน

กิจกรรมชุมนุม #เยาวชนปลดแอก 18 ก.ค.63 ภาพโดย นราธิป ทองถนอม

อตอห.
Do you hear the people sing?
PARASITE
ศิลปะยืนยาว CROP TOP สั้น
อะหรือ อะหรือ อะหรือว่ามีคนสั่ง?
ละแมะ ละแมะ ละไม่ออกสักที
ไม่น่ารักหรือเปล่า
คนที่คุณก็รู้ว่าเป็นใคร

We are hamster who will not be slave again 🙂
IOใช้ภาษีประชาชน?
#ถ้าการเมืองดี จะไม่ต้อง #saveใคร
#ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล
ดังขึ้นอีก ดังขึ้นอีก

ข้อความมากมายจากทวิตเตอร์ปรากฏอยู่บนป้ายประท้วงและคำปราศรัยบนท้องถนน ตั้งแต่แฟลชม็อบของนักศึกษาช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ของคนรุ่นใหม่ที่ #ไม่ทน อีกต่อไปในวันนี้ ภาษาและสไตล์ที่ใช้สื่อสารเพื่อต่อต้านเผด็จการอาจทำให้ใครหลายคนที่ไม่ได้ติดตามทวิตเตอร์หรือไม่ได้โตมากับป๊อปคัลเจอร์เดียวกันงงอยู่พักใหญ่

เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิตัลไม่ได้เบลอเส้นกั้นระหว่างสาธารณะและส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “การเมือง” กับ “บันเทิง” “ทางการ” กับ “ไม่เป็นทางการ” สลายหายไปด้วย เหมือนกันกับเวลาเราเลื่อนดูโพสต์ต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย จากโพสต์ที่เพื่อนบ่นแฟน มาเจอเพจการเมืองที่เราติดตามโพสต์ภาพชุมนุมที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เลื่อนลงมาอีกเราเจอโฆษณาละคร อีกโพสต์เป็นรูปแมว (โคตรน่ารักเลย) คน ๆ หนึ่งใช้แอกหลุมทวีตทั้งเรื่องศิลปิน ละคร เพลง รวมไปถึงความคิดเห็นต่อการประชุมสภา ความคิดเห็นต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และประเด็นทางสังคมอื่น ๆ คนรุ่นใหม่เติบโตมากับเส้นแบ่งเบลอ ๆ สื่อสารแลกเปลี่ยนกันตั้งแต่บ่นเรื่องที่บ้าน แชร์ข้อมูลที่สื่อไม่รายงาน โปรโมทศิลปินเคป๊อปที่ชอบ ระบายความอัดอั้นตันใจเรื่องการศึกษาไทย ไปจนถึงใช้ป๊อปคัลเจอร์เพื่อแสดงออกทางการเมือง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเกือบทุกที่ในยุคดิจิตัล อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์ Star Wars ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถกเถียงเรื่องการเมืองบนโซเชียลมีเดียจนนักวิชาการต้องศึกษาทำวิจัย

ล่าสุด แฟนคลับศิลปินชาวเกาหลีและผู้ใช้ TikTok ร่วมใจกันแกล้งประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ โดยการสมัครขอรับบัตรเข้าร่วมแคมเปญหาเสียงของเขาเป็นจำนวนกว่าแสนใบ แต่ไม่ไปร่วมงานในวันจริง พร้อมทำคลิปล้อเลียนออกมาอีกมากมาย การศึกษาเรื่องป๊อปคัลเจอร์และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในประเทศอังกฤษพบว่า ป๊อปคัลเจอร์ทำหน้าที่เป็นแหล่งที่มาของความรู้ทางการเมือง รวมทั้งเป็นเครื่องมือช่วยสร้าง “ตัวตนร่วม” ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ เพื่อสะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศของตัวเอง

กิจกรรมชุมนุม #ปทุมธานีไม่ปราณีเผด็จการ 23 ก.ค.63 ภาพโดย ณัฏฐวุฒิ ลอยสา

ในขณะที่คนรุ่นใหม่ในประเทศประชาธิปไตยสามารถด่ารัฐบาลได้อย่างตรงไปตรงมาขณะแชทกันกับเพื่อน
Twitter Thailand กลับเต็มไปด้วย “โค้ด” ที่เครือข่ายเพื่อนที่ไม่รู้จักใช้สื่อสารกัน

มีม (meme) มุกตลก ถ้อยคำเสียดสี บางท่อนบางตอนจากหนังและบทเพลง โค้ดเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากการรับรู้ข่าวสารเดียวกัน โดยเฉพาะข่าวสารที่คนในสังคมออฟไลน์อาจจะไม่ได้รับรู้เพราะสื่อกระแสหลักไม่รายงานหรือรายงานไม่ได้ หลอมรวมกับป๊อปคัลเจอร์ หนัง ละคร เพลง ดาราศิลปิน ฯลฯ ที่คนรุ่นใหม่รู้จักและชอบเหมือน ๆ กัน ใครที่ไม่ใช่คนในกลุ่ม (in-group audience) จะไม่เข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ หากเรามองปรากฏการณ์นี้ผ่านการศึกษาการแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในสังคมเผด็จการ คนรุ่นใหม่ในจีนและรัสเซียก็ใช้มุกตลก ถ้อยคำประชดประชัน และเสียดสีเหน็บแนมเพื่อหลบซ่อนจากการสอดส่องและการลงโทษของรัฐ คนรุ่นใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างเวียดนามและกัมพูชาก็สร้างภาษาที่ต้องอ่านหลายชั้น (multi-layered message) ขึ้นมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสังคมกระแสหลัก ความขบขัน ความไม่เป็นทางการ และความไม่ตรงไปตรงมาเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้มาอย่างยาวนานในสังคมที่ไร้เสรีภาพในการแสดงออก เพราะมันเป็นภาษาที่ผู้ปกครองไม่ใช้ เป็นภาษาที่ผู้ปกครองอ่านไม่ออกและมองไม่เห็น

ความกำกวมที่รวมกับความบันเทิงยังเปิดประตูต้อนรับคนรุ่นใหม่อื่น ๆ ที่มีความสนใจทางการเมืองแต่ไม่กล้า มันทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยที่จะเข้าร่วมมูฟเมนต์มากขึ้น ป๊อปคัลเจอร์ในสังคมเผด็จการจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่คนรุ่นใหม่หยิบมาใช้เพื่อดันเพดานเสรีภาพในการแสดงออก

หากใครสำรวจบทสนทนาในทวิตเตอร์ล่าสุด จะเห็นว่า พวกเขากำลังถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในประเด็นนี้ ว่าควรไหมที่จะใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มให้น้อยลงเพื่อต้อนรับคนกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาร่วมขบวนนี้ด้วย จึงน่าสนใจว่าในอนาคตอันใกล้นี้ พลวัตการขับเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ไทยจะขยับขยายไปในทิศทางใด

ในโลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีอิทธิพลต่อวิถีการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน หากเรายังมองการมีส่วนร่วมทางการเมืองในแบบเมื่อวาน เราอาจกำลังตกขบวนของวันพรุ่งนี้ จากทวิตเตอร์สู่ท้องถนน จากประชาชนที่รู้สึกไร้พลังในพื้นที่ออฟไลน์ กลายมาเป็นประชาชนที่พร้อมแสดงพลังหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อมองดูกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาชุมนุม หากเข้าใจเราจะมองเห็นกลุ่มคนที่โตมากับหนัง เพลง การ์ตูน และสังคมเผด็จการเดียวกัน

หากเข้าใจ เราจะมองเห็น “เพื่อน” ของพวกเขาอีกมากมายที่อาจไม่ได้มาแสดงตัว  หากเข้าใจ เราจะมองเห็นเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจว่าการเมืองอยู่ในทุกเรื่องของชีวิต หากเข้าใจเราจะเห็นพลเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม

ไม่ว่าขบวนการขับเคลื่อนของเครือข่ายเพื่อนที่ไม่รู้จักจะพาประเทศไทยไปได้ไกลแค่ไหน แต่ทั้งหมดนี้คือ ความพยายามในการดันเพดานเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอยู่ในสังคมออฟไลน์ที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่เคารพสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน

กิจกรรมชุมนุม #เยาวชนปลดแอก 18 ก.ค.63 ภาพโดย นราธร เนตรากูล

อ้างอิง
Bay, Morten. (2018). Weaponizing the haters: The Last Jedi and the strategic politicization of pop culture through social media manipulation.

Bennett, W., & Segerberg, A. (2012). THE LOGIC OF CONNECTIVE ACTION: Digital media and the personalization of contentious politics. Information, Communication & Society: A Decade in Internet Time: The Dynamics of the Internet and Society, 15(5), 739–768. https://doi.org/10.1080/1369118X.2012.670661

Iskandar, A. (2019). Egyptian Youth’s Digital Dissent. Journal of Democracy, 30(3), 154–164. Retrieved from https://muse.jhu.edu/article/729176

Kahne, J., Middaugh, E., & Allen, D. (2015). Youth, new media, and the rise of participatory politics. In D. Allen & J. S. Light (Eds.). From voice to influence: Understanding citizenship in a digital age (pp. 35–59). Chicago, IL: University of Chicago Press.

Lee, A. (2018). Invisible networked publics and hidden contention: Youth activism and social media tactics under repression. New Media & Society, 20(11), 4095–4115. https://doi.org/10.1177/1461444818768063

Papacharissi, Z. (2010). A private sphere: Democracy in a digital age. Malden, MA: Polity.

Street, J., Inthorn, S., & Scott, M. (2012). Playing at Politics? Popular Culture as Political Engagement. Parliamentary Affairs, 65(2), 338–358. https://doi.org/10.1093/pa/gsr03