ทอมหึงโหด ชักปืนยิงแฟนสาวดับคาห้องพัก
กะเทยเมาถีบรถหนุ่มล้ม อ้างจะขอนอนด้วย
เกย์โหดกรีดหน้าหนุ่มหล่อยับ
ภาษาไทย และการเลือกใช้คำนั้นสำคัญฉไน
ในช่วงเวลาที่การเรียกร้องในทุกมิติกำลังเติบโต สิ่งหนึ่งที่ดูแล้วจะสะท้อนการเรียกร้องแบบไทย ๆ เสียเหลือเกิน คือ ‘การถกเถียงเรื่องการใช้คำ’ ด้วยระดับภาษา ความจำกัดในการแปล ความล้าหลังในการบัญญัติศัพท์ ที่ให้ความหมายไม่ตรงกับบริบทในปัจจุบันอีกต่อไป จนทำให้ใครหลายคนดูเหมือนจะ ‘woke’ และ ‘เรื่องมาก’ เกินไปอยู่บ่อย ๆ ยังเป็นสิ่งที่เราได้เห็นกันอยู่แบบรายวัน – บางทีก็รายชั่วโมงเสียด้วยซ้ำไป
วันนี้ De/code จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับ กี้ – วรปวีร์ และ ริสา – ภูริษา สองผู้ดูแลเพจ เพียงคน เฟซบุ๊กเพจที่นำเสนอ ‘คำในภาษาไทย’ ที่ได้รับการถกเถียงเป็นอย่างมากในยุคปัจจบัน บ้างก็พูดขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้าใจในวงกว้าง บ้างก็เป็นชนวนในการสร้างสมรภูมิแห่งความความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาเสียเอง ด้วยคีย์เมสเสจที่ว่า ‘เราทุกคนเป็นเพียงคน’
จุดเริ่มต้นของการเล่าสู่การฟัง ที่ฉันไม่ได้ถูกแต่ก็ไม่ได้ผิด
กี้และริสาได้จับมือกันทำเพจ ‘เพียงคน’ คอนเทนต์เกี่ยวกับภาษาหรือคำเกี่ยวกับเพศ สิทธิมนุษยชน และความเป็นมนุษย์ ขึ้นมาด้วยข้อสังเกตที่ว่า ในทุก ๆ ขบวนการ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย แรงงาน หรือแม้แต่ขบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเอง จะมีคนที่ไม่เข้าใจคำศัพท์หลายอย่างจนทำให้เกิดความผิดพลาด หรือช่องโหว่ในการสื่อสารขึ้นมาไปเสียง่าย ๆ แม้พวกเขาจะต้องการเรียกร้องในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันก็ตาม
ทั้งสองจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการนำ ‘คำในภาษาไทย’ มารวบรวมไว้ เพื่อแชร์มุมมองของตนเกี่ยวกับคำ ๆ นั้น ด้วยความหวังที่ว่า หากสังคมเข้าใจคำแต่ละคำได้มากขึ้น ก็อาจนำไปสู่การเข้าใจคนแต่ละคนได้มากขึ้นเช่นกัน
ริสา: เราต้องคอยเตือนกันเสมอว่า เราไม่ได้ทำเพจมาเพื่อที่จะสอน เราไม่ได้ทำเพจเพื่อให้ได้ความหมายคำว่า คำคำนี้คืออะไร เราจะไม่ได้โฟกัสเลย
กี้: เราไม่ได้มาเพื่อให้ความหมาย และเราก็ไม่มาเพื่อสอนด้วย ให้ใช้คำว่า ‘แบ่งปันมุมมอง’ มากกว่า เราจะไม่ใช้คำว่า ถูก เราจะไม่ใช้คำว่า ผิด เพียงแต่เราจะแชร์ว่า คำคำนี้ถูกสังคมมองหรือตีความยังไงบ้าง ซึ่งเอาจริง ๆ การทำความเข้าใจเรื่องคำ มันเป็นขั้นตอนแรกเลยนะ พอทุกคนเข้าใจแล้วว่าคำแต่ละคำมันเป็นยังไง สุดท้ายจะเข้าใจกันเองว่า คำพูดนี้มันไม่ต้องใช้เลยก็ได้
ริสา: เราไม่ได้แค่อยากให้ทุกคนที่เป็น “ชายจริงหญิงแท้” มาเข้าใจว่าคำเหล่านี้แปลว่าอะไร หรือเข้าใจเรานะ ไม่ใช่ เราต้องการให้ทุกคนเลย แม้กระทั่งทรานส์ด้วยกันเอง บางคนยังไม่เข้าใจเลยจริง ๆ ว่าต้องเรียกว่าอะไร ทำไมต้องเรียกแบบนี้ บางคนยังมีการแบ่งแยกเลยว่า ‘ถ้าผ่าแล้วต้องเรียกทรานส์’
กี้: อย่างกลุ่มทรานส์ด้วยกันเอง ถ้ามองว่าเป็นเด็กตัดผมนักเรียนอยู่จะเรียกว่า ตุ๊ด ตุ๊ดก็จะมีแบ่งอีก ตุ๊ดเด็ก ตุ๊ดลูกเจี๊ยบ ตุ๊ดหัวโปก โตมาหน่อยผมยาวเป็น กะเทย ถ้ามีนม ผ่ากีแล้วเป็น สาวประเภทสอง แต่ถ้ารู้สึกจิตใจเป็นผู้หญิงค่อยเป็น ผู้หญิงข้ามเพศ ก็รู้สึกว่าโอ้โห กะเทยเป็นโปเกมอนเนอะ มีวิวัฒนาการด้วย
กี้: การที่เราทำคอนเทนทต์เพียงคนขึ้นมา เราอาจทำให้คำเหล่านี้ที่หลายคนไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ให้ออกมาง่ายมากขึ้น เพื่อให้เขาทำความเข้าใจในมุมของเรา ซึ่งเขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ไม่เป็นปัญหาอะไร
ริสา: เพราะเราไม่ได้ต้องการสอนเขา วัตถุประสงค์หลักไม่ใช่อันนั้น
กี้: ใช่แล้ว เป็นการเล่าสู่กันฟัง และแน่นอนว่าใครหลายคนเข้ามาก็อาจจะไม่พอใจเพราะเขาไม่ได้นิยามหรือใช้แบบเดียวกับเรา แต่ว่าแนวทางของเราก็ ไม่ได้บอกอยู่แล้วว่าเราถูก แต่ก็ ไม่ได้บอกว่าเราผิด หรือ ไม่ได้บอกว่าเขาผิด แต่เป็นการแชร์มุมมองให้สังคมเข้าใจไปในภาพเดียวกัน ประมาณว่าคำนี้มันควรใช้ในทำนองนี้หรือเปล่า คำนี้มันควรใช้ในทำนองนี้นะ
ถ้าเขาคิดว่า ไม่ เราจะมาเรียกตัวเองว่าเป็นกะเทยไม่ได้ เราจะเรียกว่าสาวประเภทสอง เราก็โอเค เป็นความเข้าใจของเขา แต่ว่าวิธีการที่สังคมรับรู้เนี่ย ก็ต้องดูว่าสังคมจะเลือกรับรู้แบบไหน อะ เดี๋ยวพอพูดแบบนี้ก็จะถูกตั้งข้อสงสัยว่ากำลังเอาใจสังคมหรือเปล่า ก็ไม่นะ ไม่ได้เอาใจนะ มันเป็นเรื่องที่เราต้องถกเถียงกันอยู่แล้วเป็นธรรมดา
De/code: ถ้ามีทัวร์ลงเพจก็คือไม่ว่าอะไร
กี้: ก็อยากให้ลงค่ะ
ริสา: ลงได้ ลงเลย รออยู่
จุดเจ็บปวดของโลกที่หมุนไว ที่ใครหลายคนก็ตามไม่ทัน
อย่างที่บอกไปก่อนหน้า ว่าทุกวันนี้มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย เพื่อใช้อธิบายทุกความหลากหลายในสังคม
นอน-ไบนารี
แซฟฟิก
เพศกำหนด เพศกำเนิด เพศสภาพ เพศสำนึก เพศสรีระ เพศวิถี
…
อะไรวะ?
กี้และริสาเล่าให้เราฟังว่า ในทุก ๆ วันจะมีคนอยู่ประเภทหนึ่งที่ไม่เข้าใจเนื้อหาบางอย่างที่ใครหลายคนต้องการจะสื่อ พร้อมตั้งคำถามตอบกลับมาแบบดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ปะปนกันไป ทั้งสองจึงพยายามรวบรวมคำไทยจากหลายแขนงที่มักเป็นที่ถกเถียงขึ้นมา โดยหนึ่งในเรื่องที่ดูแล้วจะฮอตฮิตอยู่เสมอ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘เพศ’
กี้: อะ เราอยากจะสื่อสารให้เข้าใจอย่างง่ายว่าเราเป็นกะเทย เป็นทรานส์เจนเดอร์ แต่ถ้าเป็นอย่างตอนเด็ก เราก็ถูกเรียกว่าตุ๊ด โตมาหน่อยเรียกกะเทย โตมาอีกหน่อยสังคมเข้าใจว่าเป็นสาวประเภทสอง ผ่านมาปุ๊บเป็นเพศที่สาม เราก็ เอ้ย ทำไมมันเกิดขึ้นหลายคำจังเลย แล้วเราควรจะเรียกตัวเราเองว่าอะไรยังไง ทำไมมันหลายคำจังเลย
แล้วพอเราเลือกที่จะ อะ ฉันเป็นกะเทยละกัน ก็จะมีกลุ่มคนที่เป็นเหมือนกันกับเรานี่แหละ เขาก็จะบอกว่า ไม่ เราไม่ได้เป็นกะเทย เราเป็นสาวประเภทสอง มันก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งมาบอกว่า ไม่ใช่ เราคือผู้หญิงข้ามเพศ อะไรทำนองนี้ เราก็เลย เอ้า แล้วแบบนี้คนอื่นจะเข้าใจเรายังไง แล้วเราจะเข้าใจตัวเราเองได้ยังไง ก็เลยมองว่า เออเนอะ คำมันมีปัญหาจริงๆ
ริสา: อีกหนึ่งตัวอย่างคือคำว่า ‘เพศหลากหลาย’ สมัยเราไม่ได้ใช้คำว่าเพศหลากหลายนะ
กี้: รักร่วมเพศด้วยซ้ำไป
ริสา: ใช่แล้ว คำว่าเพศหลากหลายมันเพิ่งมาเมื่อไม่กี่ปีนี้เองเนอะ สมัยมัธยม มหา’ลัย เขาใช้คำว่า ‘เพศทางเลือก’ ซึ่งคำนี้ถือเป็นคำที่ใช้ในเชิงวิชาการเลย แต่ว่าปัจจุบันอะ คำว่าเพศทางเลือกเป็นคำที่ผิด เป็นคำที่ดูถูก คนกลุ่มหนึ่งบอกว่าคำว่าเพศทางเลือกเป็นคำที่บูลลี เพราะว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือก เราก็รู้สึกว่า อ้าว ตอนนั้นที่เรารู้คำนี้มามันไม่ได้มองแบบนี้ ซึ่งมันก็สะท้อนว่า ขนาดเราเป็นคนในคอมมูฯ เองยังต้องมาคอยนั่งอัปเดตข้อมูลตลอดเวลาเลย
จุดเจ็บปวดใหม่ ที่ยิ่งนำเสนอ ยิ่งเข้าใจยาก
อย่างไรก็ตาม กี้และริสาก็ย้ำกับเราว่า ทั้งสองไม่เพียงต้องการนำเสนอคำศัพท์ในเรื่องเพศเท่านั้น แต่รวมไปถึงคำใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องมนุษย์ โดยบางคำไม่มีแม้กระทั่งคำแปลที่เหมาะสมในภาษาไทยจนถูกใช้ในแบบทับศัพท์เรื่อยมา ซึ่งในกรณีนี้ก็ทำให้ใครหลายคนมองว่า นอกจากจะเยอะแยะมากสิ่งไม่พอแล้ว ยังยุ่งยากเข้าใจยากไปหมด เราเลยถามต่อไปว่าทั้งสองเห็นด้วยกับมุมมองดังกล่าวไหม
กี้: ก็จริงนะ
ริสา: เห็นด้วย
กี้: เราต้องยอมรับว่าการมีคำเรียกเพิ่มขึ้นมากมาย มันทำให้การทำความเข้าใจของคำยากมากขึ้น แต่ถามว่าผิดมั้ย เขาไม่ผิด การที่แต่ละคนอยากมีคำเรียกซึ่งมีขึ้นมากมายมันก็เรื่องของเขา อย่างเช่น สี ผู้ชายมองว่านี่คือ สีแดง ผู้หญิงคือ แดงเลือดนก แดงนี้ แดงนั้น แค่นี้เขาก็ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันเลย แต่ทำไมมันถึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ล่ะ
กลับกันกับเรื่องเพศ และเรื่องการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เรามีคำใหม่ ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อเรียกอัตลักษณ์และแสดงความเป็นปัจเจกของแต่ละคน ทำไมสังคมกลับรู้สึกว่า ยากจังเลย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ใช่ มันยาก เพียงแต่ว่าการที่เขาจะรับรู้หรือเข้าใจได้ไหม อันนี้มันก็ไม่ใช่ความพยายามของเราฝ่ายเดียวแล้วล่ะ มันคือความพยายามของเขาด้วยว่าเขาจะพยายามทำความเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน เพราะสุดท้ายสิ่งที่เราทำได้มันก็คือการอธิบายในส่วนของเรา สังคมมันก็ต้องค่อย ๆ ปรับเข้าหากัน ค่อย ๆ เรียนรู้กัน
ริสา: ในมุมของพวกเราน่ะค่ะ เวลาจะทำให้สังคมมัน blend in กันไปได้ ไม่ใช่แค่ว่าเราต้องไปบอกเขาฝ่ายเดียวว่าคุณต้องเข้าใจเรานะ คุณต้องทำแบบนี้ ๆ ฉันมีอัตลักษณ์แบบนี้แล้วเดี๋ยวอนาคตก็จะมีเพิ่มอีก มันก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าสังคม blend in แล้ว ทุกคนต้องมานั่งเรียนเพิ่มตลอดเวลามันก็ค่อนข้างที่จะยากในการที่จะทำให้สังคมเข้าใจกันได้ เว้นแต่เราจะมองว่า งั้นเราก็ไม่ต้องมีเลยสิ ให้ทุกคนมันเป็นหนึ่งเดียวกันไปเลยว่าคือ ‘คน’ เหมือนกัน แล้วทำไมเราจะต้องไปนิยามเยอะแยะมากมายแบบนั้นด้วย มันน่าจะง่ายกว่าที่เราจะเข้าใจกันมากขึ้น
กลับมาอีกครั้งกับบทบาทของสื่อในการเคลื่อนไหว
ดังนั้นอีกหนึ่งสิ่งที่กี้และริสา จะไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ก็คือเรื่อง ‘สื่อและการสร้างภาพจำ’ ที่เป็นที่ถกเถียงกันแบบวนลูปมาช้านาน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่หลายคนคาดหวังนั้นดูจะมาไม่ถึงเสียที
ริสา: เอาง่าย ๆ นะ สื่อ เวลาเขาจะระบุเพศ มันมีผลต่อภาพจำและทัศนคติของคนมากเลย อย่างคดีฆาตรกรรมหึงหวง ถ้าผู้ชายลักษณะตุ้งติ้งเป็นผู้กระทำก็ถูกตีตราไปแล้วว่าเป็นกะเทย ซึ่งไปสร้างภาพจำให้สังคมอีกว่า ‘ว่าแล้วกะเทยต้องมีข่าวแบบนี้’ ไหนจะทอมหึงโหด ตุ๊ดบ้ากาม แต่พอเป็นผู้ชายก็พบผู้ชาย พบผู้หญิงแค่นั้นเอง
กี้: และสมมติเราบอกว่า ‘งั้นไม่ต้องเรียกว่าอะไรเลย’ ฉันจะเจอแบบนี้ในแมนมินิสต์บ่อยมาก ตอนตายไปให้ตำรวจพูดว่าไง ‘เจอหมาตายเหรอ’ คำนี้เลยนะ
ริสา: เอ่อ เราก็บอกไปว่าเจอคนตายไปสิ
กี้: พบผู้เสียชีวิต เออ ไม่ทราบชื่อ คิดว่าพอมะ พอแล้ว บางคนก็บอก อุ๊ย ก็บอกสิว่า ผู้หญิง ผู้ชาย จะได้รู้ รู้แล้วไงต่อล่ะ
ริสา: มันไม่ได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน สาเหตุการตายมันไม่ได้เปลี่ยนนะ
กี้: ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็มาร่วมแบ่งปันกันได้นะ เราอยากฟังเหตุผลว่า การระบุเพศมันสำคัญขนาดไหนในบริบทของสื่อ อย่างนี่เคยไปหาหมอที่โรงพยาบาล พอไปถึงทำใบประวัติ หมอเขียนมาเลยนางสาว นี่ก็แบบ “อ้าวหมอ หมอดูใหม่ค่ะ” หมอก็ดูบัตรประชาชน หมอก็ “อ้าว เป็นนาย” แค่นี้เราก็รู้สึกว่า แล้วยังไงเหรอ ขนาดหมอก็ยังไม่รู้เลยว่าเป็นนางสาวหรือเป็นนาย แล้วก็ไม่ได้มีความจำเป็นว่าผู้ป่วยเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เพราะมันก็เป็นแค่คนคนหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา มันจะมีอาการกี่อาการกันที่ต้องแบ่งการแยกรักษาระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ถ้าใครรู้ก็คอมเมนต์มานะคะ แบ่งปันกันค่ะ
ทั้งสองยังชวนคิดอีกว่า หากประเด็นเรื่องการใช้คำยังดูเป็นเรื่องเล็กในสายตาใครหลายคนอยู่ แล้วทำไมทุกครั้งที่มีการทักท้วงขึ้นมาเพียงหนึ่งจุด ถึงสามารถลุกเป็นไฟลามทุ่ม จนเกิดการถกเถียงครั้งยิ่งใหญ่บนโลกโซเชียลหลายต่อหลายครั้งได้
ริสา: สื่อมีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจจริง ๆ เราก็เลยพยายามที่จะเป็นสื่อที่ พูดไปก็เวอร์นะ แต่ก็อยากจะเป็นสื่อที่ดีกว่า ซึ่งเอาจริงเราก็ไม่ได้ดีกว่า เป็นอีกเฉดนึง เป็นอีกความหลากหลาย เพราะสุดท้ายมันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์หรอก
กี้: เห็นด้วย เรารู้สึกว่า ทุกอย่างในชีวิตมันไม่ใช่การที่เราเลือกไปทางใดทางหนึ่งแล้วต้องตรงไปเลยเสมอ บางครั้งย้อนแย้ง แม้แต่พูดตอนนี้ ผ่านไปอีก 5 ปี 10 ปี ก็อาจจะเปลี่ยนก็ได้ มันอยู่ที่ว่า ณ ชั่วขณะนั้นอะ เรากำลังโฟกัสและพยายามที่จะสื่อถึงอะไร เพราะฉะนั้นคำว่า ย้อนแย้ง ก็สามารถนำมาอธิบายกับทุกคนได้เหมือนกัน อย่ามองว่าคำว่าย้อนแย้งมันไม่ดีขนาดนั้น บางทีย้อนแย้งก็เหมือนการนินทา คือสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นธรรมดา เพียงแต่ว่าเรารับมือกับมันยังไง แล้วเรารู้ตัวไหมว่าเรากำลังย้อนแย้งอยู่
จุดขุ่นเคืองร่วม ที่ยังคงอยู่
อีกหนึ่งเรื่องที่กี้และริสาพยายามดันคือเรื่อง ‘การยินยอม’ (consent)’ ในการเรียกคนอื่น โดยทั้งสองเล่าว่า ในฐานะที่เป็นกะเทยด้วยกัน ทั้งคู่สามารถเรียกกันว่า กะเทย ตุ๊ด หรือคำอื่น ๆ ที่แต่เดิมอาจดูเหมือนเป็นคำเหยียดในบริบทภาษาไทยโดยไม่มีใครถือได้ เพราะทั้งสองต่างเป็นเพื่อนกัน และรู้ consent ของกันและกัน
ทว่าหากใครเดินมาเรียกทั้งสองว่า อีกะเทย หรือแม้แต่กะเทย กี้กับริสาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคงรู้สึกไม่พอใจเป็นแน่ เพราะคนที่มาเรียกแบบนั้น ต่างไม่ได้รับการยินยอมจากทั้งคู่
กี้: ยกตัวอย่างอย่างง่ายที่สุดเลย คนเป็นแฟนกัน เรียกอ้วน ๆ ๆ ทำไมเรียกกันได้ แต่คนอื่นเรียกอ้วน แล้วโกรธ เพราะมันขึ้นอยู่กับ consent แค่นั้นเอง ถ้าสมมุติว่าเขานิยามตัวเองว่าไม่ใช่ผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง ถ้าเกิดมีใครจะเรียกเขาผิดอย่างงี้ ถ้าหากเขาบอกเลยว่าเขาเป็นเพศอะไร ก็แค่เรียกให้ถูก ไม่ใช่ว่าไปยืนเถียงหัวชนฝาว่า ‘มึงก็ผู้ชายนั่นแหละ’ ‘มึงก็ผู้หญิงนั่นแหละ’
ริสา: สมมติว่าถ้าเราไม่ได้รู้จักเขามาก่อน
กี้: คนที่เรียกก็ควรจะเรียกแบบให้เกียรติ ถ้าไม่รู้เพศสภาพเขา ก็เรียกตามเพศสรีระเขา เห็นผู้หญิงก็เรียกผู้หญิง เห็นเป็นผู้ชายก็เรียกผู้ชาย แต่ถ้าเมื่อไรที่เรารู้ว่าคนคนนี้มีเพศสภาพเป็นอะไร เรียกตัวเองว่าอะไร เราก็เรียกตามนั้น นอกจากคนเรียกแล้ว ตัวคนที่ถูกเรียกเองก็อยากให้พยายามใจกว้างนิดนึง คือต้องพยายามเข้าใจด้วยว่า โอเค การที่เราอยู่ในแบบที่สรีระดูเป็น Feminine หรือว่าเป็น Masculine ถ้าคนอื่นมาเรียกเราว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เราก็ต้องให้โอกาสเขาได้ทำความเข้าใจเรา แต่กรณีที่เราบอกเขาแล้ว แล้วเขาไม่ทำความเข้าใจกับเราอันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง
อย่างกรณีล่าสุดเรื่องสมรสเท่าเทียมในสภา อันนี้ก็ต้องขอบคุณ ส.ส. ทุกคนมากที่ขึ้นมาพูดนะ แต่คำที่แต่ละคนใช้พูดก็สะดุดอยู่นะ อะ พูดอย่างนี้มีคนแคปแล้วนะ เนี่ยไม่พอใจอีกละ เรื่องมากจังพวกมึงเนี่ย ส่วนที่สะดุดก็คือในเมื่อเราต้องการความเท่าเทียม เพราะว่าเราเป็นคนเหมือนกันเนอะ ทำไมเขาใช้คำพูดแบบ “เรากำลังต่อสู้เพื่อพวกเขา พวกเขาก็เหมือนพวกเรา” ทำไมมีการแบ่งพวกเขา พวกเราอะ พอเราได้สิทธิ์สมรสเท่าเทียม “ก็ดีใจกับ LGBTQ+ ด้วย” “ดีใจกับชุมชนนี้ด้วย” ทั้ง ๆ ที่ก็รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องของทุกคนไง เราควรฉลองไปด้วยกันสิ ไม่ใช่ว่าฉลองแค่เฉพาะกลุ่ม เราควรจะ blend in ในทุกขณะว่า เราเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด
จุดตรงกลาง – ทางออก เมื่อทุกคนต้องอยู่ในสังคมเดียวกันอยู่วันยันค่ำ
กี้: ความเข้าอกเข้าใจ คือคำตอบสำหรับพวกเรานะ เรื่องอย่างนี้มันปรับที่เขาไม่ได้ มันก็ต้องปรับที่เรา เราต้องใจกว้าง ถ้าเราอยากให้เขาเรียนรู้เรา เราก็มีหน้าที่นำเสนอฝั่งเราให้เขาเรียนรู้ ถ้าเขาไม่เรียนรู้แต่เรายังพูดดีด้วยแต่ก็ไม่เรียนรู้ก็ปล่อยเขา ถ้าสักวันหนึ่งวิธีการของเรามันโอเคจริง ๆ สังคมจะค่อย ๆ รับเราเข้าไปเอง ส่วนคนที่เขาไม่พยายามเข้าใจเรา สุดท้ายแล้วธรรมชาติก็จะคัดสรรเองว่าคนกลุ่มนี้เขาจะต้องปรับตัวต่อไปยังไง
ริสา: อาจจะเสริมอีกมุมหนึ่งไปด้วย ถ้าสมมุติว่าเราอยากจะให้เขาเข้าใจเรา แล้วเราบังคับเขาแต่เขาไม่เข้าใจอะ งั้นเราก็ต้องลองกลับมาให้เราลองเข้าใจเขาแทน ทำไมเขามีแนวคิดแบบนี้ อ๋อ เขาอยู่ในสังคมแบบนี้ มันก็ไม่แปลกที่เขาจะเป็นคนแบบนี้ เราจะได้รับมือได้
กี้: บางคนอ่านก็คงจะแอบคิดว่า เออ ทำไมเราต้องอ้อนคนขนาดนั้นเพื่อให้เขาเข้าใจเรา มองในมุมหนึ่งก็อาจจะมีความหมายแบบนั้นก็ได้ เพราะสุดท้ายมันก็อยู่ในคำ ๆ หนึ่งคือคำว่า เรียกร้อง ทุกคนเรียกร้องเพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าแต่ละคนมีวิธีการแตกต่างกัน
บางคนอาจจะเดินขบวน บางคนอาจจะแสดงออกทางสัญลักษณ์ บางคนอาจจะเกรี้ยวกราด โกรธ บางคนอาจจะใช้อินเตอร์เน็ต โอเค เราอาจจะเลือกวิธีหนึ่งคือเอาใจเขามาใส่ใจเราละกัน โดยที่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะเอาใจเรามาใส่ใจเขานะ (ขำ)
ริสา: เราพูดกันอยู่เสมอว่า เราต้องเป็นคนที่อัปเดตอยู่ตลอดเวลา อย่ายึดติดกับความคิดมากเกินไป เพราะถ้ายึดติดต่อไป อีก 10 หรือ 20 ปี เราอาจจะเป็นสลิ่มสำหรับเด็กในยุคใหม่ก็ได้ อนาคตความคิดแบบนี้ก็น่าจะเก่าไปแล้ว แล้วเราก็จะกลายเป็นคนโลกแคบอยู่แค่นั้น
กี้: และถ้าหากคุณเชื่อว่าเพศมีสองเพศจริง ๆ โอเค คุณเชื่อได้ แต่นั่นคือแค่เพศกำเนิดนะ หมายถึงเครื่องเพศคุณเป็นอะไร แต่จะต้องเปิดใจรับด้วยว่ามันมีเพศสำนึกอยู่ มีเพศวิถีด้วย รวมกันก็คืออัตลักษณ์ทางเพศ คนเราสามารถจะรู้สึกเป็นเพศอะไรก็ได้เหมือนกัน พอฟังแบบนี้ก็จะแบบ เอ๋า อย่างงี้คนเราจะนิยามว่าตัวเองเป็นเพศอะไรก็ได้หมดสิ ก็ต้องมานั่งเรียนรู้เหรอ ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคุณว่าคุณจะเปิดรับแค่ไหน เราไม่ได้ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าเพศมีกี่เพศ แต่เราขอแค่นิดนึงว่า ไม่ต้องยึดติดมากว่าเพศมีแค่ 2 เพศ
ส่วนคนในคอมมูนิตีเรา ถ้าขอได้ก็ขอให้อย่าพยายามบังคับให้ใครเข้าใจเพศเราให้ ครบ ทุกอัตลักษณ์ อย่างเราด้วยกันเองก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด เพราะฉะนั้นอย่าไปคาดหวังจนสุดใจกับคนที่โตมาทั้งชีวิตพร้อมความเชื่อว่า ชายจริงหญิงแท้คือความจริงที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว แล้วกันนะ
ในตอนนี้หนึ่งก้าวเล็ก ๆ ของกี้และริสาก็ได้สร้างการถกเถียงใหม่ในโลกออนไลน์ไปแล้วสมใจหวัง แต่ผลลัพธ์ปลายทางที่ออกมาจะเป็นอย่างที่สองคนวาดฝันไว้หรือไม่ หากท้ายที่สุดแล้ว ‘ภาษา’ คือ สิ่งซับซ้อนยากจะพรรณา ที่สร้างความแตกแยก และแหลกร้าว เพราะความเข้าใจที่ไม่ตรงกันมานักต่อนัก
ในวันหน้า ‘ภาษา’ จะผสมเข้ากับ ‘การเปิดใจ’ จนกลายเป็น ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ เพื่อนมนุษย์ที่หลากหลาย และผสานรอยร้าวที่มันได้สร้างขึ้นมา จนทำให้สังคมมองเห็น และโอบรับกันได้มากกว่าที่เคยได้หรือไม่
ก็คงต้องมาคอยดูกันต่อไป