ระหว่างบรรทัดของการการค้าทาสสมัยใหม่ในน่านน้ำไทย - Decode
Reading Time: 3 minutes

ไม่นานมานี้ได้มีโอกาสเป็นล่ามให้กับนักข่าวชาวเยอรมันจากสำนักข่าว ARD นักข่าวคนนี้มาพร้อมกับคำถามที่เรียบง่าย แต่ชวนให้ทั้งสังคมไทยกระอักกระอ่วนใจที่จะตอบ 

ในน่านน้ำของประเทศไทย ยังมีการค้ามนุษย์อีกหรือ

ในจังหวะที่ไทยพยายามแก้ไขปัญหานี้มากว่า 7 ปี ดูเหมือนว่าคำถามนี้จะ “ละเอียดอ่อน” มากกว่าที่คิด ร่วมติดสอยห้อยตามนักข่าวยุโรป และล่ามไทยผ่านหลังเลนส์ที่บางที เราอาจได้รับรู้ความจริงที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด

วันที่ 0 : ใครเป็นใครในท้องเรื่อง และท้องทะเล ?

เกือบสองเดือนต่อจากนี้ ทีมงานของเราจะต้องเดินทางจากมหาชัยไประนอง ต่อจากระนองไปสงขลา เพื่อหาคำบอกเล่า พยานหลักฐาน และคำตอบที่ค้างมานานกว่า 7 ปีนี้ให้เจอ เราเริ่มต้นจากสำรวจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของคำถามนี้กันก่อน

เจ้าของเรือประมง : ผู้ร้ายในสมการ คนที่ขูดรีดแรงงานและนำมาซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์ในท้องทะเลไทย จริงหรือไม่?

เจ้าหน้าที่รัฐ : ตัวละครหลายบทบาท หลากบุคลิก บางครั้งเป็นผู้แก้ไขปัญหา บางครั้งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ยากที่จะคาดเดา

แรงงานข้ามชาติ : รับบทผู้ถูกกระทำตลอดกาล แต่สังคมก็ยังตั้งคำถาม จะเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมายทำไม? ทำไมไม่ทำให้ถูกต้อง? ทำไมไม่กลับประเทศตัวเองไป?

ตัวละครเข้มข้นซับซ้อนราวกับนิยายอุโมงค์ผาเมือง ก่อนที่จะไปเจอพวกเขาตัวจริง ๆ ตัวเป็น ๆ เราขอพาผู้อ่านไปรู้จักปูมหลังของพวกเขากันสักหน่อย 

ก่อนจะลงพื้นที่จริง เรานัดพบกับคุณศิววงศ์ สุขทวี จาก Migrant working group เพื่อช่วยให้เราทำความเข้าใจว่าจะไปพบเจอกับอะไร 

“ทำไมปัญหาแรงงานข้ามชาติ (แรงงานต่างด้าว) ในไทยมันไม่หมดไปสักที ยังลักลอบกันเข้ามาเรื่อย ๆ ทำให้ถูกกฎหมายไปก็จบเรื่อง” 

“ประเทศเราต้องการแรงงานมาตลอด และเจ้าของธุรกิจก็พร้อมจ่ายด้วย จริงอยู่ที่รัฐบาลมีการเปิดให้ขึ้นทะเบียน พยายามทำให้ถูกกฎหมาย แต่ก็เป็นครั้งคราวเท่านั้น แม้แต่การนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศแบบผ่านรัฐทั้งสองฝั่งเป็นตัวกลาง (MOU) ก็มีต้นทุนสูงกว่าแอบเข้ามากันเองถึง 2 เท่า จ่ายตำรวจแล้วก็ยังถูกกว่า ถ้าเราสังเกตดูดี ๆ ธุรกิจประมงนี่เป็นการใช้แรงงานแบบเข้มข้นมากเลยนะ จะกี่สิบปี แทบไม่มีเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ยังไงก็ต้องการคนทำงาน งานหนักมาก ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่แรงงานข้ามชาติที่โดนหลอกขึ้นเรือประมงไป คนไทยก็มี หลับ ๆ อยู่ตื่นบนเรือก็เยอะ การลักพาตัว การหลอกมาขายแรงงาน ไปจนถึงเรียกค่าไถ่ เป็นสิ่งที่มีมาตลอดโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่ใกล้น่านน้ำสากล ”

บ้านเกิดของผู้เขียนเป็นคนใต้ เป็นเมืองใหญ่ติดชายแดนที่เคยคึกคักมากในอดีต ที่นั่นจะมีตลาดที่เต็มไปด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และของหนีภาษี นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นจนคิดว่าเป็นเรื่องปรกติตั้งแต่จำความได้ที่ตลาด แม่จะไปซื้อขนมที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ผู้เขียนจะไปเดินเลือกแผ่นเกมตามแผงที่อยู่ไม่ไกลกัน แต่เมื่อได้พูดคุยกับคุณศิววงศ์ ผู้เขียนพอเข้าใจได้ว่าไม่ได้มีแต่ของพวกนี้เท่านั้นที่หล่อเลี้ยงบ้านเกิดของเธอ

เป็นไปได้หรือไม่ที่มีธุรกิจขนาดใหญ่กว่านั้นอยู่เบื้องหลัง ธุรกิจประมงเป็นเพียงสิ่งบังหน้าเพื่อค้าน้ำมันเถื่อน แอบลักลอบขนสัตว์และพืชพันธุ์หายาก ค้าแรงงาน ไปจนถึง ค้ามนุษย์

ใช่ อาจเป็นไปได้” คุณศิววงศ์ตอบข้อสงสัยของผู้เขียนด้วยรอยยิ้ม

“หลังจากที่มีกระแสเรื่อง IUU ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลไม่ได้ การแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐช่วยให้การค้ามนุษย์น้อยลงไปบ้างมั้ย”

“มีผลอยู่ราว ๆ 2-3 ปี มีหน่วยงานหนึ่งที่ตั้งขึ้นมา ชื่อ Port in Port Out (PEPO) คอยบันทึกเรือและจำนวนคน รวมถึงวันเดินทางให้เป็นไปตามกฎหมายบังคับ แน่นอน จำนวนเรือไทยที่ไม่ได้มาตรฐานก็ลดน้อยลง”

“แต่ไปโผล่ที่อื่นแทน” คุณศิววงศ์กล่าว

“มีมาตรการอะไรอีกบ้างที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในธุรกิจประมงนี้”

“มีให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าจ้างแรงงานข้ามชาติผ่านทางบัญชี แล้วให้แรงงานข้ามชาติทำบัตร ATM ไปกดเองโดยตรง จะได้ไม่โดนหักเงิน โกงเงิน แต่สุดท้ายพอทำบัตรเสร็จ นายจ้างก็ยึดไว้เหมือนเดิมอยู่ดี เงินเดือนออกมา ก็หักค่าทำเอกสารบ้าง หักค่านายหน้าบ้าง หักเงินที่ยืมไปก่อนบ้าง ปัญหาคือมันไม่มีการตรวจสอบจากรัฐ ไม่มีสื่อคอยมอง กลไกและช่องทางการร้องเรียนแม้แต่ช่องทางสื่อสารให้เขาก็ไม่ค่อยเห็นผล พอมันเป็นแบบนี้ การรวมกลุ่มดูแลกันและกันเลยพึ่งพาได้มากกว่ารัฐบาล”

“เรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ มันเหมือนแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ข้างใต้มันมีเรื่องความมั่นคงทางทหาร ความต้องการทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง ปัญหาความทับซ้อนของหน่วยงานรัฐ ทั้งกองทัพ ตำรวจชายแดน กอ.รมน. มันจึงไม่แปลกถ้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะถูกเขียนด้วยมุมมองเพื่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่ความมั่นคงของมนุษย์”

มหาชัย – ระนอง – สงขลา : คำบอกเล่าจากคนหาปลา และตัวละครใหม่ที่ไม่มีใครคาดถึง

เราเช่ารถขับตรงไปยังมหาชัย พื้นที่ที่มีการแปรรูปวัตถุดิบจากทะเลขนาดใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ในประเทศ เมื่อมีงาน ที่นั่น ย่อมมีคนทำงาน เมื่อเป็นงานใช้แรงงาน ลำบาก ค่าจ้างต่ำ คนทำงานกลุ่มนั้น ย่อมหนีไม่พ้นแรงงานข้ามชาติ

แต่พวกเขา สมัครใจทำงานนี้กันมากน้อยแค่ไหน?

เราเดินทางไปพบ คุณสมพงค์ สระแก้ว (ตุ่น) จาก Labour Protection Network ที่นั่นเองเราได้พบกับคนที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือแรงงานออกจากการทิ้งบนเกาะที่ห่างไกล ได้พูดคุยกับอดีตนายหน้าที่ผันตัวเองมาเป็นล่าม และเหล่าแรงงานข้ามชาติที่เล่าประสบการณ์ตัวเองให้เราฟังอย่างเห็นภาพ

ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป ค่อนข้างสะเทือนใจพอสมควร

ชีวิตบนเรือเป็นยังไงบ้าง?

“เรือลำใหญ่จะออกหาปลาเป็นเวลานาน นานเป็นเดือน เป็นปี คนงานต้องกินอยู่บนเรือลำนั้น พอหาปลาได้เต็มลำก็จะมีเรือลำอื่นมารับขนถ่ายปลาเข้าฝั่ง ไม่ได้กลับบ้านอยู่ดี มีคนมากมายโดนหลอกขึ้นเรือไป พอขึ้นไปแล้วก็ติดต่อญาติไม่ได้ ไม่รู้เป็นตายร้ายดียังไง ถ้าป่วย ถ้าไม่ทำงาน ก็โดนทุบตีบ้าง โดนสาดน้ำร้อนใส่บ้าง งานมันหนัก สภาพแวดล้อมแย่ เกินกว่าครึ่งบนเรือลำนั้นต้องใช้ยาเสพติดให้ผ่านไปได้แต่ละวัน คนที่ดูแลเรือบางทีก็เป็นคนขายยาเอง ลูกเรือจะได้มีแรงทำงาน บางทีคลุ้มคลั่งจากยาที่ใช้ ทำร้ายกันก็มี พลัดตกเรือไปก็มี เป็นเรื่องปรกติ”

เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องในอดีตหลายปีมาแล้ว ตอนนี้ไม่มีเคสให้ช่วยเหลือแบบนั้นในน่านน้ำไทยแล้วใช่มั้ย?

“ใช่ ในน่านน้ำไทย ในเรือที่ติดธงสัญชาติไทย ไม่มีมาพักใหญ่แล้ว”

ปัญหาไม่ได้หายไป แค่ย้ายที่เกิด เปลี่ยนธงชาติ มันแค่ไม่ใช่ปัญหาของทางการไทยแล้วเท่านั้นเอง

“ทะเลมันเชื่อมต่อถึงกันหมด ปัญหาของการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงมันไม่สามารถแก้ได้ด้วยแค่บังคับใช้กฎหมายกับประเทศเดียว บังคับใช้ IUU กับไทย ให้ธงเหลืองเรา เรือที่ทำผิดกฎหมายพวกนั้นก็แค่ย้ายไปทำผิด ไปค้ามนุษย์ ไปบังคับคนให้ทำงานในน่านน้ำประเทศอื่น สิ่งที่เราเจอกันอยู่ตอนนี้มันคือการค้าทาสสมัยใหม่ นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของเมียนมา ไทย อินโดนีเซีย มันคือปัญหาที่ต้องแก้ร่วมกันของทั้งภูมิภาค”

ผู้เขียนเริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวเข้าด้วยกัน ดูเหมือนที่ทางการไทยพูดว่าเราไม่มีการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานภาคประมงในน่านน้ำไทย โดยเรือไทยอีกต่อไปแล้ว นั้นเป็นความจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงนี้จะหายไปแล้วจริง ๆ

ดูเหมือนจะได้เวลา ที่เราต้องเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของเรือกันสักที

เจ้าของเรือประมง : ผู้ร้าย หรือ เหยื่อ

ในที่สุด เราก็เดินทางมาถึงระนอง พื้นที่ชายแดนติดต่อกับเกาะสองของประเทศเมียนมาร์ ปัญหาแรงงานที่นี่ทับซ้อนกับปัญหาความมั่นคงตามประสาพื้นที่ติดชายแดน พ่วงด้วยปัญหาเกี่ยวเนื่องกับสงครามกลางเมืองในเมียนมาร์ และไหนจะปัญหาโควิดที่ทำให้การค้าชายแดนชะงักไปอีก

เราจะไปคุยกับตัวแทนของผู้ประกอบการ บรรดาเจ้าของเรือ และคนที่ดูแลแรงงานเหล่านี้กัน เรามีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับนายกสมาคมประมงของจังหวัดระนอง

“เอาตรง ๆ เลยนะ ถ้าอยากปรับก็ปรับเลย ตอนนี้ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว อยากทำอะไรก็ทำเลยแล้วกัน ”

ภาพที่คิดไว้ในตอนแรกจะเป็นบรรยากาศแบบดุเดือดเผ็ดมัน แต่เหมือนกลายเป็นล้อมวงเล่าปัญหาปรับทุกข์แทน

ขออนุญาตผู้อ่านทุกท่านพักเบรกอารมณ์ แล้วชวนไปเล่าความแตกต่างของธุรกิจประมงในทะเลไทยกันสักครู่

เราสามารถแยกได้คร่าว ๆ แบ่งออกเป็น ประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์

ประมงพื้นบ้านเจ้าของเป็นคนไทย เป็นประมงใกล้ชายฝั่ง ปลาที่หามาได้จะบริโภคอยู่ภายในระบบท้องถิ่น เป็นธุรกิจในครอบครัว มีอยู่ประมาณลำสองลำ ออกเรือกันที 4-5 วัน หรือเป็นอาทิตย์ก็มี ลูกจ้างบนเรืออาจมีได้ถึง 10-15 คน ในขณะที่ประมงพาณิชย์ เรือลำใหญ่อาจมีคนงานได้ถึง 50-60 คน ออกไปไกลจากฝั่งมากขึ้น อาจเป็นเดือน หรือเป็นปี

กลับมาที่บทสัมภาษณ์ของเจ้าของเรือประมงกันต่อ

“ที่อื่น (ประมงพาณิชย์/ ประมงขนาดใหญ่) ก็มีการค้ามนุษย์ ทำไมไม่บังคับใช้กฎหมายให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน คุณมาบังคับใช้กับธุรกิจประมงขนาดเล็กแบบนี้ บอกให้เราปรับตัว บอกให้เราปรับปรุง แต่ไม่ได้บอกเราเลยว่าจะหาเงินมาจัดการยังไง เอกสารผิดนิดผิดหน่อยคุณปรับเรากันเป็นแสนเป็นล้าน คุณจะติดเครื่องมือติดตามเรา ตอนแรกก็ให้เราออกค่าใช้จ่ายกันเอง พอเราไม่ยอม ถึงจะมาติดเครื่องมือให้ คุณลองคิดดี ๆ ว่าปัญหาค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นมันเกิดกับเรือแบบไหนกันแน่ แต่คุณบังคับใช้กฎหมายกับธุรกิจทุกขนาดเหมือนกันหมดเลย แล้วธุรกิจรายย่อย ๆ เล็ก ๆ มันจะไปสู้ค่าใช้จ่ายได้ยังไง เรือจอดนิ่งทิ้งกันหมด มันจะเหลือแต่เจ้าของธุรกิจรายใหญ่ ๆในระบบเท่านั้น

คนงานเขาก็ต้องทำงานกัน พอไม่มีงานให้ทำ เขาก็ย้ายไปทำที่อื่น ประเทศอื่น คุณดูอย่างมาเลเซียตอนนี้นะ ที่ผ่านมาทำไมเขาสัดส่วนตลาดเขาสู้เราไม่ได้ ตอนนี้เขาต่อเรือกันได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาเขาไม่มีแรงงาน ตอนนี้เขามีแล้ว

คุณไปดูสัดส่วนปลาในตลาดไทยตอนนี้ การนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ทะเลเราก็มี ปลาเราก็มี แต่มันไม่ง่ายเลยที่จะออกไปจับปลา มันไม่ง่ายเลยที่จะอยู่รอด

สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ก็มีแต่นายทุนใหญ่ที่ทำตามได้ คุณคิดดูดี ๆ ว่าคนกลุ่มไหนที่เดือดร้อนกับการที่สินค้าประมงส่งออกไม่ได้ พวกเราจับปลาได้ก็ขายกันอยู่ในพื้นที่ คนที่เดือดนร้อนมันคือธุรกิจประมงขนาดใหญ่ที่จะส่งปลาออกจายต่างประเทศรึเปล่า แต่พอบังคับใช้ กลับมาบังคับใช้กับเรือประมงท้องถิ่นด้วย

พวกผมอยู่กับเรือมาทั้งชีวิต อยู่บนเรือมาตั้งแต่เป็นเด็กชาย นี่เป็นธุรกิจของครอบครัว มันคือชีวิตของพวกเรา จะให้เราเลิกทำประมงกันตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไรแล้วเหมือนกัน”

เหลือตัวละครสุดท้าย เราไปคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบกัน

ON DUTY: คุยกับคนหน้างาน สมการเพื่อความมั่นคง (ของใคร ?)

บรรยากาศระหว่างการลงพื้นที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนนั้นตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ นักข่าวต่างชาติในเวลานี้ อาจไม่เป็นที่ต้อนรับของ NGO บางเจ้า ของสถานประกอบการบางกลุ่ม และบางหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ใช่กับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล หรือ ศรชล. 

“ก่อนอื่นเลยเราอาจจะต้องปรับทัศนคติกันก่อน ไม่จริงเลยที่หน่วยงานราชการไม่ได้ทำงานของตัวเอง ทั้งศรชล. PEPO และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่างก็ทำหน้าที่เต็มกำลังเต็มศักยภาพเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมง แต่ผมอยากให้กลับไปมองที่ EU ที่ประเทศต้นทางของพวกท่านด้วย การดำเนินกิจการ เทคโนโลยี ความยากง่าย ความเข้าใจและทุนช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจการใน EU หรือประเทศตะวันตกประเทศอื่น ๆมันมากกว่าทางนี้แค่ไหน รูปแบบของเรือประมงที่ใช้ทำธุรกิจเองแตกต่างหรือเหมือนกับบ้านเราอย่างไร คุณจะใช้มาตรฐานแบบเดียวบังคับกับคนทั้งโลก มันเป็นไปไม่ได้

พวกเราเองก็เหมือนหนังหน้าไฟ ชาวบ้านก็รังเกียจ NGO ก็ตั้งแง่ ทางหน่วยงานระหว่างประเทศก็จี้มาอีก อยากให้เห็นถึงความจริงจังตั้งใจในการปฏิบัติงานของทางการไทย และเข้าใจปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ด้วย ”ตัวแทนของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล หรือ ศรชล. กล่าว

บทสัมภาษณ์ฉบับเต็มทั้งหมดจะถูกถ่ายทอดเป็นภาษาเยอรมัน ทางสถานีวิทยุ ARD สำนักข่าวที่เป็นเหมือน BBC ของอังกฤษ เหมือน THAIPBS ในประเทศของเรา

การเดินทางในครั้งนั้นขาดตัวละครสำคัญที่เป็นเหมือน ‘plot hole ’ ในเรื่องเล่า นายทุนใหญ่ที่ว่าเป็นใคร ? จริงเท็จแค่ไหนกับข้อกล่าวหาการเกาไม่ถูกที่คันของรัฐไทย ?

ระหว่างนี้ ดูเหมือนว่าปัญหาการค้าทาสสมัยใหม่ และการบังคับใช้แรงงานจะไม่มีอยู่จริงในน่านน้ำไทย และแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลิต กำลังทะลักไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างยากที่จะหวนกลับ และคำถามสำคัญข้อหนึ่งที่พานักข่าวชาวยุโรปเดินทางมาไกลถึงนี่ แต่คนไทยแทบจะไม่เคยตั้งคำถาม นั่นก็คือ

บรรดากุ้ง ปลา ปลาหมึก ที่เรากำลังกินกันอยู่ มันมาจากไหน และแลกมาด้วยอะไรบ้างกันแน่

มันกำลังแลกมาด้วยการขูดรีด เลือดเนื้อ อวัยวะ หรือชีวิตของใครอยู่รึเปล่า

หากปัญหานี้ไปพ้นจากประเทศเรา จากการรับรู้ของเราแล้ว เรายังจำเป็นต้องสนใจมันต่อหรือไม่

เส้นศีลธรรมของพวกเรา จะหยุดทำงานเมื่อข้ามเขตแดนประเทศไปแล้ว จริง ๆหรือ