หมดเดือน Pride Month แต่ความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศของเรายังไม่หมดไป ตลอดเดือนมิถุนามีกิจกรรมเฉลิมฉลองของ LGBTIQN+ ทั้งขบวนพาเหรด การออกมาส่งเสียงถึงความสำคัญของสิทธิความหลากหลายทางเพศ เมืองมีสีสัน มีชีวิตชีวาแต่แฝงด้วยน้ำตาที่ถูกกดทับ และสิ่งที่น่ายินดีที่สุดส่งท้ายเดือน Pride คือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรกในสภา
ในพีระมิดของเพศที่มีความหลากหลายและโครงสร้างซับซ้อนกดทับของสังคมไทย คนพิการที่นิยามตนเป็นเพศหลากหลายถูกนับรวมในพีระมิดนั้นไหม พวกเขายอมรับตัวตนและแสดงอย่างไร
De/code พูดคุยกับ เคส ยุทธกร โสภา หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มคนตาบอดไทยผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Thai Blind and Sexual Diversity : TBSD) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันให้ความรู้เรื่องเพศกับคนตาบอดที่กำลังค้นพบตัวเอง ฝึกฝนซื่อตรงกับตัวตนภายใน เพราะเรื่องเพศหลากหลายไม่ค่อยถูกพูดถึงในกลุ่มคนตาบอด
คุณเคสเป็นพิการทางสายตาที่มองเห็นได้เลือนลาง เธอนิยามตัวเองเป็นสาวข้ามเพศที่กล้าเป็นตัวเองมากขึ้นหลังรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ เสริมพลังและให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศกับคนตาบอด เดิมทีเป็นแต่งกายตามเพศกำเนิดชายในที่ทำงาน ไม่แสดงออกมากนัก ที่มาของการอยู่ในกรอบนั้นมาจากการสั่งสอนของพ่อแม่และครูในโรงเรียนประจำสมัยที่เธออยู่บ้านเกิดที่ภาคเหนือ การเป็นกะเทยที่นั่นคึดบ้านคึดเมือง หรือผิดปกติ เป็นกรรมจากชาติก่อนและมองว่ากะเทยพิการอย่างเธอน่าสงสาร
ความคิดจากคนรอบข้างเหล่านั้นทำให้เธอไม่อยากกลับบ้านเกิด ที่ไม่เข้าใจความเท่าเทียมและความเป็นมนุษย์ของเธอ คุณเคสเปลี่ยนมานับถือคริสต์หลังเพราะไม่ชอบทัศนคติฝังหัวของพุทธศาสนิกชนบางส่วนที่มองว่าเธอผิดบาป ความแตกต่างทางอัตลักษณ์เรื่องความพิการ เพศสภาพและศาสนาทำให้เธอห่างจากพ่อ ครอบครัว และลุกขึ้นมาส่งเสียงให้กะเทยตาบอดคนอื่น ๆ ในสังคมเห็นคุณค่าและกล้าเป็นตัวเอง
การเป็นคนตาบอดที่มีความหลากหลายทางเพศ ใช้ชีวิตยากไหม
ยากนะคะ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะบางคนยังติดอยู่กับวัฒนธรรมและความคิดเดิม ๆ ถูกฝังหัวมาว่าเป็นคน “คึดบ้านคึดเมือง” มีคนชอบมาพูดว่า “เกิดเป็นผู้ชายแล้วชอบผู้ชาย คึดบ้านคึดเมือง” แปลว่าเราผิดปกติ
ณ ตอนนั้น การแสดงจุดยืน (Call Out) ออกมาก็ยาก บางคนไม่กล้ายอมรับ วันนี้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้น “ความยาก” เหล่านั้นเริ่มหายไป คนก็ยอมรับตัวเองมากขึ้น เมื่อมีคนที่หนึ่งเปิดตัว เป็นตัวอย่างออกมา ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ 2, 3 และ 4 ออกมาเหมือนกันค่ะ ยิ่งเขาเห็นถึงสังคมที่มีความเข้าอกเข้าใจ ในการมีเพศหลากหลายมากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เขากล้าที่จะแสดงจุดยืน (Call Out) ออกมามากยิ่งขึ้น
สำหรับคนพิการคนตาบอด เขาจะถูกสังคมต่อว่าอีกเรื่องหนึ่ง คือ “สภาพร่างกายพิการแล้ว ดูแลตัวเองก่อนดีไหม พิการยังไม่พอ ยังจะเป็นเพศที่ไม่ตรงกำเนิดอีก” ก็เหมือนกับถูกต่อว่าสองเท่าค่ะ
ถ้าพูดถึงเรื่องการแสดงจุดยืน (Call Out) การไปรวมกลุ่ม ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่เรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทำร้ายจิตใจคนพิการ ก็คิดว่าจะโดนทำร้ายมากกว่า และยิ่งถ้าเราไปช่วยสังคม เขาจะมองว่า “ช่วยตัวเองก่อนไหม ก่อนที่จะไปช่วยคนอื่น” เคสกล่าว
กลิ่น จินตนาการ และผิวสัมผัสคือความเปลี่ยนแปลงที่คนตาบอดข้ามเพศรับรู้ตัวตน
เคสเล่าว่าการมองไม่เห็นตัวเองในกระจกของคนตาบอด ไม่ใช่อุปสรรคการข้ามเพศของพวกเธอ เพราะแม้ประสาทสัมผัสทางตาจะบกพร่อง และผัสสะด้านอื่นยังดีอยู่ พวกเธอเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายผ่านการบำรุงผิวให้อ่อนนุ่ม บำรุงผมให้ยาวสลวยสวยหอม และใกล้เคียงความเป็นหญิงตามที่พวกเธอนิยามให้มากที่สุด อีกทั้งคำชมหรือคำแนะนำจากคนรอบข้างที่ไว้ใจก็เป็นอีกทางที่เสริมความมั่นใจและเข้าใกล้การข้ามเพศในมุมของเธอ
“สิ่งที่บอกถึงความเปลี่ยนแปลงของเขาได้ด้วยตนเองก็คือเรื่องผิวและผม สิ่งเหล่านี้สัมผัสได้อยู่แล้ว ความนุ่มสัมผัสได้ คนตาบอดจะจินตนาการถึงความเป็นผู้หญิง ว่าผิวจะต้องนุ่ม เนียนขึ้นกว่าเดิม ผมยาว ผมนุ่ม เสียงหวาน ๆ แหลม ๆ แสดงถึงความเป็นหญิง
ส่วนเรื่องหน้าตา เรามองไม่เห็นต้องให้บุคคลภายนอกช่วยดูให้ ใช้เสียงคนรอบข้างเป็นตัวประเมินผล คนรอบข้างที่ไว้ใจได้มีผลมาก ๆ กับคนตาบอดที่อยู่ในกระบวนการข้ามเพศ” เคสกล่าว
แรงกดทับที่ซับซ้อนของการเป็นคนเหนือ ตาบอด “แล้วยังเป็นกะเทยอีก”
ชีวิตวัยเด็กของเคสเกิดในครอบครัวคนเหนือ ตอนเรียนประถมครูบอกพ่อของเธอว่าเคสมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เคสเป็นกะเทย พ่อไม่ได้ว่าอะไรแต่มาเล่าให้เธอฟังภายหลังว่าครูเคยบอกพ่อแบบนี้ และเรื่องนี้ไม่เคยถูกหยิบมาพูดอีก ต่างฝ่ายต่างรับรู้ตัวตนของกันและกัน
“ถ้าถามว่าพ่อยอมรับไหม ไม่ถึงขั้นยอมรับได้ แต่ไม่ได้ต่อต้าน เราก็เข้าใจ เพราะพ่ออยากได้ลูกชาย เวลาเพื่อน ๆ พ่อมาหา พ่อก็ต้องบอกว่านี่คือลูกชาย เราไม่ได้พูดเรื่องนี้กันอีกเลยจนเร็ว ๆ นี้ คุณอาเสียชีวิต ภาคเหนือประเพณีบวชจูงศพ คนรอบข้างถามพ่อว่าทำไมเคสถึงไม่บวช เราเป็นหลานชายคนเดียว
เรื่องนี้พี่สาวเล่าให้ฟังอีกที พ่อไม่ได้พูดกับเคสโดยตรง พี่สาวเล่าว่า พ่อไม่อยากให้เราบวช เพราะ หนึ่ง เคสเปลี่ยนศาสนาแล้ว สองคือ รู้ทั้งรู้ว่าลูกเขาไม่ใช่ผู้ชายจะให้บวชได้อย่างไร เราเลยเข้าใจ ณ ตอนนั้นว่า พ่อก็รู้โดยที่เราไม่ต้องไปบอกอะไร แต่เรากลับคิดแทนพ่อ เราไม่อยากกลับบ้าน เพราะไม่อยากจะให้ชาวบ้านมาถามพ่อว่าลูกเป็นยังไง
ลูกชายเป็นอะไร คำถามหนักใจจากป้าข้างบ้าน
ถ้าคนนอกที่เขามาเห็นลักษณะของเคส มาได้ยินเสียง เขารู้อยู่แล้วว่าเราต้องไม่ใช่ผู้ชายจริงแน่ ๆ เราก็ไม่อยากให้ทางบ้านต้องรู้สึกกดดัน เคสไม่ได้อยู่บ้านตลอด นาน ๆ ทีกลับ เราไม่รู้ว่าพ่อจะต้องเจออะไรบ้าง เราจะเป็นห่วงตรงนี้มากกว่า ส่วนญาติทางฝั่งแม่โอเคอยู่แล้ว แต่บางครั้งแม่ก็ยังอยากได้ลูกชาย เวลาเขาไปพูดว่าเราเป็นลูกชาย เราก็เข้าใจได้อยู่
เคยถามแม่ว่า ถ้าวันนึงเราจะเปลี่ยนไปทั้งหมดเลยแม่จะโอเคไหม แม่บอกว่า แม่ก็โอเคนะ แต่แม่ก็ไม่อยากให้เราเจ็บ เพราะมีข้อมูลที่ว่าเวลาเราเปลี่ยนทั้งหมดเลย มันเจ็บมาก อาจถึงขั้นป่วยทางจิตด้วย เพราะมีข่าวออกมา เราก็ยอมรับว่ามีกระแสนี้ออกมาจริง ๆ ซึ่งตัวเคสเองก็เป็นคนที่กลัวเลือดด้วย แม่ก็เป็นห่วง ถ้าเปลี่ยนก็ยอมรับได้ แต่เป็นตัวของตัวเราตอนนี้ก็ได้นะ
แต่ชาวบ้าน ป้าข้างบ้าน หรือผู้ปกครองของเพื่อน ๆ ที่ชอบมองว่าเป็นคนพิการอยู่แล้ว เป็นคนมีกรรมมาจากชาติที่แล้ว ไปควักลูกตาใครมาหรือเปล่า ชาตินี้เลยตาบอดอีกทั้งการเป็นกะเทยในศาสนาเก่าของเคสเขาว่ากันว่า ไปทำผิดศีลข้อสาม ไปมีชู้เมื่อชาติที่แล้ว แต่มันก็เป็นความคิดทางศาสนา เคสไม่อยากจะพูดถึงมาก เราก็เปลี่ยนศาสนามาแล้วด้วย
เราคิดว่า “มันใช่หรอ ใครเป็นคนบอก เขาเจอมากับตัวเองหรอ ถึงรู้ว่ามันเป็นแบบนั้น” เคสกล่าว
หลังจากออกจากบ้านมาเรียนโรงเรียนประจำในจังหวัด จนได้เข้าเรียนต่อมหาลัย เคสบอกกับเราว่าเธอไม่อยากกลับบ้าน เส้นบาง ๆ ระหว่างเพื่อนเก่าที่ไม่พิการ และความสัมพันธ์กับที่บ้านเริ่มห่างออกไป เพราะเธอไม่อยากกลับไปตอบคำถามกับคนรอบข้างว่าเธอเป็นอะไร เธอไม่ใช่ลูกชาย เพื่อนชายที่พวกเขาเคยรู้จัก
ถามว่าคิดอย่างไร ทำไมถึงไม่อยากกลับบ้าน ตอนมัธยมต้นเราก็กลับบ้านที่ลำปางบ้าง พอไปอยู่เชียงใหม่ก็เริ่มที่จะไม่กลับบ้าน ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจเหตุผลตัวเองหรอก อาจจะเป็นเพราะไม่อยากกลับเฉย ๆ หรือติดโรงเรียน ติดเชียงใหม่ แต่พออยู่มหาวิทยาลัย เราคิดว่าพ่อต้องแบกรับอะไรมากมายจากการเป็นเรา เราเลยไม่อยากกลับถ้าไม่จำเป็น พ่อก็อยากให้กลับ แต่เราไม่กล้าอธิบายเรื่องนี้ให้พ่อฟัง ว่าที่เราไม่อยากกลับ เป็นเพราะว่าเราไม่อยากให้คนอื่นตั้งคำถามกับพ่อ ว่าลูกเป็นอะไร ทำไมลูกถึงมีเสียงแบบนั้น เราไม่อยากที่จะแสดงตัวตนของเราออกมาให้เห็น ไม่อยากตอบคำถามพวกเขา เคสกล่าว
จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มคนตาบอดไทยผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Thai Blind and Sexual Diversity : TBSD) เริ่มขึ้นช่วงโรคระบาดในปี 63 เคสและเพื่อนใช้แอพพลิเคชั่น Clubhouse แลกเปลี่ยนประเด็นเรื่องเพศและการขับเคลื่อนกันเองสี่ห้าคน จนเกิดการก่อตั้งกลุ่มจริงจัง เปิดโอกาสให้คนตาบอดที่ต้องการข้ามเพศเข้ามาปรึกษา กลายเป็นทำโครงการให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ และเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พิการทางการมองเห็น เคสเล่าแม้การเคลื่อนไหวของเธอจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่ผู้ใหญ่ในสมาคมต่าง ๆ ของคนพิการ กลับไม่เห็นด้วยและเป็นแรงเสียดทานที่เธออยากก้าวข้ามให้ได้
ความคิดเก่า ๆ แก้ไม่ได้ด้วยความสงสาร ขอแค่ ‘โอกาส’ ที่สังคมหยิบยื่นให้
คนพิการไม่ใช่ว่าจะช่วยตัวเองไม่ได้ เขาช่วยตัวเองได้แต่อาจจะดูลำบาก หรือทุลักทุเลในสายตาคนภายนอก แต่อยากบอกให้รู้ว่าเขาก็สามารถพึ่งตัวเองได้ คนพิการจะมีข้อจำกัดที่ต่างกันไป อย่างคนพิการทางสายตามีข้อจำกัดเรื่องการมองเห็น คนพิการทางร่างกายก็จะมีข้อจำกัดทางด้านการเคลื่อนไหว คนที่ไม่ได้ยินก็มีปัญหาด้านเสียง ถ้ามีอะไรมาสนับสนุนเขาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรมาก
คนพิการที่อยากจะออกมาช่วยสังคม เขาก็เล็งเห็นแล้วว่า อยากจะทำให้สังคมดีขึ้น มีความพัฒนาขึ้น แต่ทุกคนกลับมองว่าเขาน่าสงสาร น่าเวทนา อยากจะให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ จากเดิมที่มองว่า
“คนพิการเกิดมามีกรรม ไปใช้งานเขามันจะยิ่งบาปกรรม ซ้ำเติมความเวทนา”
อยากให้คิดว่าเป็นการให้โอกาสในการพัฒนาฝีมือ คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสารเลย เขาต้องการโอกาสที่สังคมมอบให้ ตอนแรกอาจจะทำอะไรได้ไม่คล่อง แต่ต่อไป เมื่อเขาทำบ่อย ๆ เขาก็จะสามารถทำได้ด้วยความเคยชิน
บทสนทนาดำเนินมาถึงคำถามถึงเป้าหมายของการรวมกลุ่มของเคสอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทย หรืออย่างน้อย ๆ ก็เปลี่ยนในสังคมของคนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยกัน “จริง ๆ เป้าหมายของกลุ่มเลยก็คือ เราต้องการให้คำแนะนำ ให้ความรู้แก่คนพิการผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะคนตาบอด ว่าขั้นตอนและวิธีการในการเปลี่ยนตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง และเราก็อยากจะค้นหาคนตาบอดไทยผู้มีความหลากหลายทางเพศ มาพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อจะให้เขาพิสูจน์การทำงานในตลาดแรงงาน หรือแวดวงวิชาการได้ในอนาคต”
เป้าหมายอีกประการหนึ่งก็คือ เราต้องการไปให้ความรู้ในเรื่องของเพศหลากหลาย และประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ว่าเขาก็สามารถทำงานเกี่ยวกับคนพิการได้ และเขาจะช่วยคนพิการที่เป็นเพศหลากหลายด้านใดได้บ้าง เราเหมือนเป็นเพื่อนให้กับคนตาบอดไทยผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่กล้าจะแสดงจุดยืน (Call Out) หรือกลัวสังคม อย่างน้อย ๆพวกเขาก็มี “TBSD” ที่คอยรับฟัง