ก๊อก .. ก๊อก .. ก๊อก … มีใครอยู่ไหม ?
ฉันไม่อยากให้บรรยากาศการแนะนำตัวเป็นทางการจนเกินไป แต่ก็ไม่อยากให้เราได้รู้จักกันเพียงแบบชั่วครู่ชั่วคราว กลัวจะลืมกันไปเสียก่อนจะได้รู้จักกันจริง ๆ
บางคนเรียกเราว่า หลานชางเจียง บ้างก็เรียก ตนเลของ แต่ชื่อที่เธอพวกเธอคุ้นชิน น่าจะเป็นชื่อ ว่า โขงหรือแม่น้ำโขง จะบอกว่าจากบ้านมาไกลก็ไม่เชิง อย่างที่ใครเขาว่าแหละ ถ้าอยู่ที่ไหนแล้วสบายใจ ที่นั่นก็เป็นบ้านได้ทุกที่
แต่ก่อน เราเป็นหิมะบริเวณทิศเหนือของเทือกเขาหิมาลัย บนที่ราบสูงทิเบต จากหิมะก็เปลี่ยนสถานะเป็นสายน้ำไหลรวมกลายเป็นธารน้ำ ผ่านมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน นอกจากการเป็นแม่น้ำโขงแล้วยังเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญอีก 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำสาละวิน
ฉันตัวสูง(ยาว) พอสมควร ฉันสูงตั้ง 4,909 กิโลเมตร แหน่ะ ไหลผ่านกว่า 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นั่นเป็นประวัติคร่าว ๆ ที่พอจะปรากฎอยู่ในบัตรประชาชนของฉัน
วันนี้วันดี เผอิญฉันได้รับจดหมายแนบบทความถึงตัวฉันถึง 4 ฉบับ จากน้อง ๆ นักศึกษา บ้างก็เป็นคนใกล้เคียง บ้างก็เป็นคนห่างกัน เขียนถึงฉันในแง่มุมต่าง ๆ
คงเป็นเพราะฉันพูดไม่ได้ เลยอยากจะจดบันทึกความรู้สึกของฉันไว้สักหน่อย เกรงว่าให้พูดทั้งหมดในรอบเดียวคงจะทำได้ยาก เอาเป็นว่า ลองมาอ่านบทความสัก 2 ชิ้น พร้อมกับทำความรู้จักตัวฉันไปพร้อม ๆ กันนะ
คนริมโขงไม่เคยอด
เมื่อสายน้ำแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนริมโขงกำลังจะหายไป โดย นางสาวชุติมา อร่ามเรือง, นางสาวกีรติกา อติบูรณกุล, นายศุภธัช ธาตุรักษ์ คือบทความแรกที่ฉันจะกล่าวถึง และเขียนถึงฉัน ในมุมที่อยากให้ทุกคนได้รู้จริง ๆ
“ริมแม่น้ำโขงนี่เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน เมื่อก่อนนี่ถึงจะแล้งจะแห้งยังไง คนริมโขงไม่เคยจะอดตายนะ ปีไหนมันแห้งแล้งมาก มันก็จะร้อนมาก ถ้าปีไหนร้อนมาก ๆ ลงมาแช่น้ำโขง แค่ 30 นาที นี่จะหนาวสั่นกลับไปละ น้ำมันเย็น น้ำสะอาด”
ฉันแอบได้ยิน พ่อสมจิตร เล่าถึงชีวิตริมน้ำโขงสมัยก่อน
เมื่อฉันกลายเป็นแม่น้ำ แน่นอน นั่นหมายถึงว่าย่อมมีคนตามมา พอคนเยอะเข้า ฉันก็เริ่มมีชุมชน หลายชุมชน เวลาผ่านไปแต่ละวัน ฉันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและได้รับการยอมรับ ว่าฉัน มีความสำคัญต่อพวกเขา
นอกเหนือจากพวกเขาจะมาเล่นน้ำท่ามกลางอากาศร้อนของประเทศแถบอาเซียน ฉันยังมีปลากว่า 1,300 ชนิด ยังมีพืชพันธุ์ต่าง ๆ อยู่เป็นเพื่อนอีก
มีตำนานของผู้เฒ่าผู้แก่ว่า เวลาไปหาปลา เราจะปิ้งปลาไปไม่ได้ จะปลาแห้ง ปลาร้า หรือปลาอะไรก็ไม่ได้ ให้ไปหาเอาข้างหน้าเลย จะเอาไปได้ก็มีแค่พวกน้ำพริก ป่นแจ่ว มะขามหวาน เกลือ สิ่งพวกนี้เอาไปได้ แต่ให้ไปหาปลาเอาข้างหน้า เพราะว่าสมัยก่อนปลาในแม่น้ำโขงนั้นมีเยอะ ออกเรือไปอย่างไรก็ต้องได้ปลากลับมาอยู่แล้ว เอาแต่ข้าวไปเท่านั้น
ส่วนผัก ก็ไม่ต้องเก็บผักไป ไปหาเอาข้างหน้าได้ ถ้าเดินเลาะริมน้ำไปก็ได้ผักติดไม้ติดมือกลับมาแล้ว
ที่สำคัญชาวบ้านยังให้ฉันเป็นประธานในการแข่งขันเรือประจำปีของพวกเขาอยู่เสมอ
อย่างประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งชาวริมโขงเรียกประเพณีนี้ว่า เฮือไฟ ซึ่งจัดขึ้นในวันออกพรรษา ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี
“เกียร์ 3 เกียร์ 4 ไล่อัดตามให้ทันแล้วจ้า! เอาแล้วครับพี่น้องครับ เที่ยวนี้ใครจะอยู่ใครจะไป ตอนนี้ยังเสมอกันอยู่ดูไม่ออกเลยครับ! รุ่งสุริยายังนำอยู่ สิงห์ปทุมเริ่มไล่เบียดไล่บี้ขึ้นแล้วครับ! ตีแรง แซงตี! ตีแรง แซงตี! ตีแรง แซงตี! สิงห์ปทุมตี! สิงห์ปทุมตี! สิงห์ปทุมตี! ทั้งสองลำ! รวด! เข้า เส้น ชัย!”
ทุกครั้งที่นึกถึง ฉันอดนึกสงสัยไม่ได้ว่า น้ำที่เย็นขนาดนี้ไม่สามารถกลบจิตวิญญานนักสู้ในตัวพวกเขาให้เย็นลงได้เลยหรือ จะว่าไปขนาดฉันเอง ยังคล้อยตามจนจะเป็นนักแข่งเองแทนเสียแล้ว
นี่คงเป็นความอบอุ่นทุกครั้งที่ฉันนึกถึงผู้คนเหล่านั้น และผู้คนเหล่านั้นพูดถึงชื่อฉันอยู่เสมอ
“คนริมโขง” เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ไม่ใช่แค่ปลาที่ขาดน้ำแล้วตาย
ถึงฉันจะไม่ได้กินอาหารครบ 3 มื้อ หรือได้รับสารอาหาร 5 หมู่อย่างคนอื่น แต่ถึงอย่างนั้นฉันไม่เคยจะผอมซูบลงไปถึงขนาดนี้เลย จู่ ๆ วันหนึ่งตัวฉัน ก็ได้แห้งเหือดไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และดูสาเหตุนั้นจะมาจากการสร้าง ‘เขื่อน’
“การสร้างเขื่อนเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดปัญหาระบบนิเวศทางน้ำจนคนริมโขงไม่สามารถจัดประเพณีได้ แต่ถึงกระนั้นกลุ่มผู้มีอำนาจหรือกลุ่มนายทุนที่เข้ามาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายแก่คนเมือง ให้เมืองใหญ่ของตนได้พัฒนา ส่วนตัวเองก็โกยเงินโกยกำไรเข้ากระเป๋าตัวเองไปเสวยสุข อยู่บนความทุกข์ของคนริมโขง โดยไร้การเข้ามาช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด”
“นอกจากจะส่งผลกระทบที่ทำให้จัดประเพณีไม่ได้แล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนริมโขง อย่างการหาปลาเพื่อขายและนำมาใช้บริโภคเพื่อยังชีพ ก็ไม่สามารถทำได้เหมือนอย่างเคย เพราะ กระแสน้ำที่เปลี่ยนไปทำให้ฤดูน้ำไม่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเหมือนอย่างเคย”
เพื่อน ๆ ฝูงปลาของฉัน ตัวเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด หลายครั้ง ที่ฉันแทบจำพวกเขาไม่ได้เลย ผู้คนที่อพยพและเติบโตมากขึ้น แต่ฝูงปลาน้อยใหญ่ กับลดหายไปเรื่อย ๆ ฉันอดที่จะเป็นห่วงพวกเขาไม่ได้จริง ๆ จากความเชื่อที่ว่าถ้าจะออกไปหาปลาไม่ให้เอาปลาไปด้วย เพราะยังไงก็ได้ปลากลับมา ในทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่าการจะได้ปลามาสักตัวต้องอาศัยความ “โชคดี”
“พอได้กิน แต่ไม่พอได้ขาย แล้วเราจะทำไปทำไม สามสี่ปีมานี้ มันหาคืนก็ไม่ได้ มันไม่มีอะไรให้”
จริงอย่างที่ เกศราภรณ์ สุวรรณ, พัทธมน สมหมาย, ณัฐกมล แพงตาแก้ว เล่าไว้ในบทความ คน ชุมชน ปลา : ปลาหาย บ่คือเก่า ว่า
ชีวิตผู้คนมันไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยข้าวปลาอาหารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป พวกเขาจำเป็นที่จะต้องเอาสิ่งเหล่านี้ ไปแลกกับกระดาษและเหรียญที่เรียกว่า เงิน ในการดำรงชีวิตของพวกเขาอีกหลายอย่าง
ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร จากเขื่อนไซยะบุรีมาถึงที่ ต.บ้านม่วง อาจจะเป็นระยะทางที่ดูเหมือนไกล คนริมโขงต่างก็ได้รับผลกระทบจากเขื่อนอย่างรวดเร็ว ในบางครั้งก็ได้รับผลกระทบเป็นรายวัน เพราะบางวันก็น้ำขึ้นแล้วก็แห้งภายในวันนั้นเลย ทำให้ชาวบ้านปรับตัวกับระดับน้ำไม่ทันเหมือนก่อน
ที่สำคัญ นอกจากคนจะปรับตัวไม่ทัน ปลาก็อาจจะปรับตัวไม่ทันด้วยเช่นกัน
“ผลกระทบถูกส่งต่อเป็นทอด ๆ ต้นเหตุใหญ่อย่างเขื่อนลาวสัญชาติไทย อย่างเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ทางฝั่งเพื่อนบ้าน การกักเก็บและการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ เรียกว่า คิดอยากจะปล่อยก็ปล่อย คิดอยากจะปิดก็ปิด โดยไม่สนคนปลายน้ำหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ระบบนิเวศตามธรรมชาติที่เคยมีอยู่ในแม่น้ำโขงก็เริ่มเปลี่ยนแปลงด้วยฝีมือของมนุษย์” และปลาได้หายไปเกือบ 20 ชนิด ส่วนหอยก็หาไม่เจอเลย น้าโอ่งว่าอย่างนั้น
ชาวบ้านหลายกลุ่ม เลือกที่จะกินปลาจากพื้นที่ของตน มากกว่าจะไปซื้อปลาจากพวกตลาดสด คำตอบที่ได้จากพวกเขาเป็นคำสั้น ๆ แต่กลับบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาได้มากมาย
“มันบ่แซ่บ”
ที่ว่ามันบ่แซ่บ ฉันว่าคงไม่ใช่แค่รสชาติที่ได้จากทางลิ้น ปาก และไหลลงท้อง แต่คือรสชาติที่พวกเขาติดอกติดใจ และมันเป็นรสชาติในความทรงจำ ที่ฉันมีให้พวกเขา ตลอดเกือบ 100 ปีหรือมากกว่านั้น
บ่คือเก่า
ฉันเสียใจที่ฉันแห้งเหือด จนไม่สามารถมอบความอุดมสมบูรณ์อย่างที่พวกเขาเคยได้มี แต่ที่ฉันเสียใจยิ่งกว่า คือฉันไม่สามารถพูดออกมาได้
ความพยายามของชาวบ้านริมฝั่งโขงที่เริ่มแก้ปัญหากันเองก็ผ่านมานับ 10 ปี ความอัดอั้นตันใจ และเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาที่พบ อาจดังก้องอยู่แค่ในกลุ่มของคนริมฝั่งโขงด้วยกันเท่านั้น
สำหรับคนที่ไม่เคยมาสัมผัสฉันเลยสักครั้ง ก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในตอนนี้มีต้นเหตุมาจากไหน ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง และเป็นวงกว้างมากแค่ไหน ต้องการการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างไร แม่น้ำที่เป็นเหมือนชีพจรของคนริมโขง จึงจะสามารถกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ปัญหาการลดลงของพันธุ์ปลาที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของแม่น้ำโขงจำเป็นต้องได้รับความสนใจจากประชาชนจากพื้นที่อื่น รวมไปถึงกลุ่มที่สำคัญอย่างหน่วยงานของภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจะรับฟังเสียงของคนริมโขงมากขึ้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป
บทความทั้ง 2 ชิ้น พูดถึงฉัน ในวันที่ความอุดมสมบูรณ์ยังรายล้อม ในขณะเดียวกัน คือตัวฉันที่ค่อย ๆ จะหายไป
ฉันกลัวว่าวันหนึ่ง ผลกระทบเหล่านี้ จะไปไกลกว่าที่ ๆ ฉันอยู่ ระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร อาจจะลุกลามไปไกลกว่านั้น ฉันเสียใจที่ฉัน “พูดไม่ได้” แต่ฉันหวังว่าเธอที่ได้อ่านบันทึกเล่มนี้ จะรับรู้และช่วยพูดแทนฉันได้สักวัน
“ปลาส้มบ่แซ่บคือเก่า กะบ่เป็นหยัง แต่ขอให้ได้มีความหวัง ให้หมู่เฮากลับมา ได้อย่างเดิม”
อ้างอิงเนื้อหา :
1.เมื่อสายน้ำแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนริมโขงกำลังจะหายไป
โดย ชุติมา อร่ามเรือง, กีรติกา อติบูรณกุล, ศุภธัช ธาตุรักษ์
2.คน ชุมชน ปลา : ปลาหาย บ่คือเก่า
โดย เกศราภรณ์ สุวรรณ, พัทธมน สมหมาย, ณัฐกมล แพงตาแก้ว