Decode Project: เจอนี่ #Decode เดินปลุกกรุง สั่งการบ้านผู้ว่าฯ กทม. “ซ่อมแซม”​ มหานคร - Decode
Reading Time: 2 minutes

กรุงเทพฯ เมืองแห่งความหลากหลาย ทั้งชนชั้น สถานะ รายได้ อาชีพ ความฝัน และปัญหาสารพัดนึกถูกรวมมาไว้ที่นี่ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในรอบ 9 ปี นอกจากจุดประกายความหวัง และความฝันให้ผู้คนแล้ว ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ปัญหาต่างๆ ทั่วกรุง กำลังถูกขุด และผุดขึ้นมาให้เห็น หวังนำไปสู่การได้แก้ไขจริงๆ เสียที ตั้งแต่ปัญหาคนจนเมือง คนไร้บ้าน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รายได้ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การเดินทาง คุณภาพชีวิตผู้คน และสิ่งแวดล้อม 

“เมืองโตเดี่ยว” ที่ถูกเคี่ยวด้วยความเหลื่อมล้ำมาหลายสิบปีในทุกมิติ กำลังหลงลืมเสียงของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ De/code Project เจอนี่ #Decode เดินปลุกกรุง ชวนคนรุ่นใหม่/รุ่นใหญ่มาวอล์ค (Walk) วล็อก(Vlog) ปัญหาในกรุงเทพ และความต้องการของคน (อยู่) กรุงจริงๆ ไม่อิงทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออกของสังคมที่เริ่มจากบทสนทนา ความจริง และตั้งคําถามท้าทาย สู่การลงมือคราฟท์สังคมไปด้วยกัน 

ภารกิจของผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน 18 ทีม เพื่อฟังเสียงประชาชนเสร็จสิ้นแล้ว ด้วยลีลาการทำคลิปวิดิโอสั้นๆ ใส่ใจประเด็น และเล่าเรื่องด้วยความคิดสร้างสรรค์ Decode ขอรวบรวมผลงานของพวกเขาใน 4 กลุ่มประเด็นใหญ่ๆ คือ จนมุม, ทางเทพ ทางทิพย์, นายก็เป็นได้นะ เพลย์กราวน์หน่ะ และ เมืองโต คนตัน มาให้ได้ชมกันแบบจุกๆ และหวังว่า เสียงของพวกเขาจะเป็น “การบ้าน” ให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ได้ช่วยเข้ามา “ซ่อมแซม” ด้วย


01 จนมุม
คนจนกำลังจนมุม

คนจนเมืองในกรุงเทพฯ ที่เรานึกถึงมีใครบ้าง?​ เสียงของผู้คนจนเมืองที่คนรุ่นใหม่ได้เก็บรวบรวมมามีทั้ง “คนไร้บ้าน” และ ”ชีวิตผู้คนที่คลองเตย หรือชุมชนแออัดอื่นๆ” พวกเขาเล่าชีวิตเรื่องราวได้หลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 การติดตามชีวิตคนไร้บ้านใน 1 วันว่าทำอะไรกันบ้าง กินอยู่แบบไหน รวมไปถึงปัจจัยพื้นฐานที่ชีวิตต้องการ เช่น อาหาร ความสะอาด ก็กลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากของคนไร้บ้าน

ขณะที่ประเด็นคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนแออัด อย่างย่านคลองเตย เรื่องเล่าหยิบประเด็นที่น่าสนใจออกมาว่า แม้ความช่วยเหลือจะหลั่งไหลเข้ามาในคลองเตยตลอดเวลา แต่ทว่าคลองเตยก็ยังมีปัญหา “คุณภาพชีวิต” ที่ถูกกระทบจากการไล่รื้อบ้าง การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรอบๆ ชุมชนบ้าง หรือจะเป็นชีวิตของ “คนริมรางทางรถไฟ” อีกหนึ่งคนจนเมืองที่เข้าเมืองหลวงหวังชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับต้องจ่ายต้นทุนชีวิตทุกอย่าง “แพงกว่า” คนอื่นๆ 

ทุกเรื่องราวอยากสะท้อนให้เห็นว่า ในวันที่กรุงเทพกำลังรุดหน้าพัฒนาโครงสร้างตึกรามทั้งหลาย มีคนกลุ่มหนึ่ง คือ คนจน กำลัง “จนมุม



02 ทางเทพ ทางทิพย์ 
ทางเท้า การเดินทางที่เทพต้องช่วย

ประเด็นที่คนรุ่นใหม่เลือกสะท้อนมากที่สุดเกือบครึ่งของผลงานทั้งหมด เพราะอะไรกัน เพราะปัญหาทางเท้าในเมืองหลวงมันเล็กน้อย แต่กระจายทั่วกรุงเทพอย่างมหาศาล? ตั้งแต่พื้นผุ พัง กร่อน ลื่น นี่คือปัญหาคลาสสิก ทั้งยาวนาน และมีลักษณะไม่แตกต่างกัน หาดูได้ทุกๆ พื้นที่ 

ทางเทพ ทางทิพย์ เน้นเสาะหาพื้นที่การเดินทางเท้า สะพานลอย ทางม้าลาย ว่าใช้งานได้ดีจริง ใช้ง่ายได้จริงหรือไม่ หรือสะดวกสบายหรือเปล่า มาไปกว่านั้น ก็ยังมีเรื่องราวของ “การเข้าถึง” (Accessibility) การเดินทางบนทางเท้า ถนน และรถไฟฟ้า ของผู้พิการประเภทต่างๆ ตั้งแต่ผู้พิการทางการได้ยิน, ทางการมองเห็น และผู้ใช้วีลแชร์

นอกจากนี้ ยังมีการติดตาม พี่ๆ วินมอไซต์ เพื่อติดตามนโยบาย “วินเซฟ” ของรัฐบาล สำหรับมาตรการการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านราคาน้ำมันที่วันนี้มีราคาสูงขึ้นอย่างมาก แต่นโยบายที่ออกมานั้น ให้พี่ๆ วินใช้ผ่านแอพพลิเคชันเป๋าตังค์ ซึ่งหลายคนไม่รู้ข่าว ไม่สามารถใช้งานได้ หรือใช้งานไม่เป็น



03 นายก็เป็นได้นะ เพลย์กราวน์หน่ะ 
เสาะหาความหมายของพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วกรุง

มาแบบเน้นๆ 5 คลิป แต่ความหมายของ “พื้นที่สร้างสรรค์” ในกรุงเทพฯ แน่นเอี๊ยด ทั้งในแง่ของการเสาะหาสนามเด็กเล่นของเด็กๆ ที่หายไป เพราะถูกทุบ รื้อ และทำลาย ทั้งในแง่ของการพูดถึงการจัดพื้นที่แสดงผลงานศิลปะของผู้คน คนธรรมดาในทุกๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯ ไม่ต้องผูกขาดเพียงแค่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพเท่านั้น เรื่อยไปจนถึงการสำรวจ “งานศิลปะ” แบบไทยๆ ที่ถูกทำให้ทันสมัย (modernized) มากขึ้นในโรงแรม จุดประกายทำให้งานศิลปะแบบนี้เข้าไปฝังด้วย และประยุกต์ในงานอื่นๆ ด้วย



04 เมืองโต คนตัน
ตึกโต คุณภาพชีวิตคนตก (ต่ำ)

ท่ามกลางตึกสูงใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ถนนคอนกรีต และทางด่วน มีการตั้งคำถามว่า “ความเจริญทางโครงสร้างที่เกิดขึ้นนี้ กดทับใครไปบ้าง” กลุ่มประเด็น “เมืองโต คนตัน” พาไปสำรวจชีวิตคนเมืองที่ถูกไล่รื้อจากการเกิดใหม่ของสิ่งของที่มาในนามของ “ความเจริญ” และกลับหลงเหลือชีวิตผู้คนที่ตกรางขึ้นขบวนนี้ไปด้วย หนำซ้ำยังต้องดิ้นรนหาทางออกเพื่อพยุงชีวิตตัวเองให้กลับขึ้นมาอีกด้วย