นักเรียนทุน มายาของการ 'ให้' ที่ไม่จริง? - Decode
Reading Time: 2 minutes

เงิน คงเป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับใครก็ตามที่ต้องการไปเรียนต่อต่างประเทศ หากเงินทุนในการไปเรียนไม่มีหรือไม่เพียงพอ บางคนเลยต้องไปมองทุนรัฐบาลแทน เช่น ทุนของรัฐบาลไทยที่มาจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่หากดูเงื่อนไขในทุนแล้ว มันสามารถเรียก ทุนการศึกษา ได้จริงหรือ?

De/code ได้ไปพูดคุยกับ อภิวัฒน์ มูลนางเดียว หรือ ณัฐ หนึ่งในนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของนักเรียนทุนกับการทำงานใช้ทุนว่า สิ่งนี้เป็นสัญญาทาสเกินไปหรือเปล่า

นักเรียนทุนรัฐบาลกับความเป็นสัญญาทาส?

โดยเราจะแบ่งเป็นทั้งสองช่วง ได้แก่

ตอนเรียน เราจะถูกสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ ปฏิบัติกับเราเหมือนเราเป็นเด็กเสมอ เรียนปริญญาโทถึงปริญญาเอกแล้วก็ต้องคอยรายงานผลการศึกษานะ

แต่ก่อนก็ไม่ได้เข้มงวดแบบเดี๋ยวนี้ แต่ก่อนส่งปีละครั้งก็ได้ หลัง ๆเริ่ม 6 เดือนครั้ง จนล่าสุดเห็นที่ UK ให้ส่งทุก 3 เดือน ซึ่งธรรมชาติการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาโดยเฉพาะป.เอกที่ทำวิจัยมากกว่าจะเรียนในห้อง การรายงานว่าสามเดือนนี้ทำวิจัยอะไรไปบ้างนี่มันโคตรบั่นทอนเลย เรียนก็กดดันมากพออยู่แล้ว ยังต้องมากรอกแบบฟอร์ม ไม่กรอกก็ไม่ได้ เพราะเขาเอาเงินเดือนนักเรียนทุนเป็นตัวประกัน ถ้าไม่ส่งไม่โอนเงินมาให้

ซึ่งมันตลกมากที่เขาเอาอำนาจอะไรมาตั้งเงื่อนไขกักเงินที่เราควรได้รับตามสัญญาที่เคยเซ็นไว้ด้วย ที่ตลกกว่านั้น คือ เวลาส่งรายงานต้องขอจดหมายความเห็นจากอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย ทุกครั้งที่ผมต้องรบกวนอาจารย์ก็เกรงใจมาก ภาระงานอาจารย์ก็เยอะอยู่แล้วทั้งสอนทั้งวิจัย ยังต้องมามีภาระงานเอกสารที่ไม่สมเหตุสมผลเพิ่มอีก รู้สึกเหมือนเป็นเด็กอนุบาลที่ต้องให้ครูเขียนสมุดพกรายงานผู้ปกครองให้ทุกเทอม

“มันวุ่นวายและสร้างแรงกดดันกับเรามากกว่าที่จะอยากรายงานด้วยความสมัครใจ ถ้าอยากรู้ว่าเรามีปัญหาอะไรมั้ย ส่งแค่แบบฟอร์ม Google มาถามเป็นระยะ ๆ ที่เหมาะสมก็ได้ มีวิธีที่เป็นมิตรกว่านี้ และพอเอาเงินเดือนเป็นตัวประกันไปด้วยยิ่งเครียด เพราะเงินที่ให้นักเรียนทุนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของในประเทศที่เรียนอยู่แล้ว เราก็ต้องยอมกรอก เพราะค่าหอค่ากินค่าอยู่ก็ต้องจ่ายทุกเดือน”

ตอนทำงานใช้ทุน ทุนรัฐบาล เช่น ทุนด้านวิทยาศาสตร์ เขาเอาเวลาที่เรียนและรับเงินทุนรัฐบาลไปคูณสองเลยโดยไม่มี cap ถ้าเป็นทุนที่เรียนเอกอย่างเดียวหรือโท-เอกในประเทศที่เรียนจบได้ไวหน่อยก็ใช้ทุนอย่างมาก 10 – 12 ปี แต่ถ้าคุณรับทุนรัฐบาลตั้งแต่ตรี – โท – เอก เท่ากับคุณต้องใช้เวลาเรียนเป็น 10 ปี และก็ใช้ทุน 20 ปีเลย เรียกว่าขายวิญญาณและชีวิตให้กับทุนไปแล้ว

ถ้าคุณออกจากทุนกลางคันก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะระหว่างระยะเวลารับทุนหรือช่วงรอยต่อระหว่างระดับการศึกษา จะด้วยการตัดสินใจไม่เรียนต่อหรือได้รับทุนให้เปล่าอื่นก็ตาม เขาจะให้คุณกลับไทยไปใช้ทุนหรือต้องชดใช้ด้วยเงินทันที

ซึ่งมันประหลาดมาก บางคนเรียนดีได้ทุนฟรีจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้คิดจะหนีทุน แค่ขอไม่รับเงินก็ทำไม่ได้ ต้องรับไปจนกว่าจะจบการศึกษา ทั้งที่มันก็เป็นการเซฟทั้งสองฝ่าย นักเรียนทุนเองก็ไม่ต้องคูณเวลาใช้ทุนนาน รัฐบาลก็ไม่ต้องให้ทุนซ้ำซ้อน

ถ้าแก้หลักเกณฑ์ของทุนรัฐบาลได้ อยากจะแก้เรื่องไหนที่สุด?

อภิวัฒน์ตอบเราว่า “ส่วนตัวผมอยากแก้เรื่องค่าปรับผิดสัญญานี่แหละมากที่สุด เพราะผมรู้สึกว่า ความคิดเบื้องหลังค่าปรับผิดสัญญาเป็นการขู่ให้กลัว คนไม่อยากเสียเงินมหาศาลเขาก็ต้องยอมกลับมาทำงาน ผมอยากเห็นว่า ถ้าผิดสัญญาแล้วคิดเงินแบบเงินกู้ที่ใช้คืนได้ง่ายกว่า คนจะกลับมาทำงานใช้ทุนเป็นจำนวนเท่าไหร่

เพราะถ้าให้พูดตามตรง คนที่เรียนจนจบเอกแล้วไม่กลับมาใช้ทุน ศักยภาพในการหาเงินมาใช้ค่าเรียนคืนเขามีนะ เขาอาจจะได้งานในสายที่เขาชอบที่สามารถทำเงินได้ดี แล้วยินดีใช้คืนก็ได้ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นเราอาจจะหันมามองแก้ปัญหาว่าแล้วทำไมคนถึงไม่อยากกลับมาใช้ทุน มันมีความลำบากหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีอะไร ที่ทำให้คนเลือกจะทิ้งบ้านตัวเองไปอยู่แดนไกลทั้งที่ก็มีงานรองรับ

ทำไมเราไม่มองต้นเหตุปัญหาว่า เราขาดแรงจูงใจ ทำไมคนเขาถึงไม่อยากกลับมา ควรแก้ปัญหายังไง ผมเชื่อว่า ถ้าการกลับมาทำงานใช้ทุนมันดูดีมีความหวัง มีอนาคต ต่อให้ไม่ตั้งเกณฑ์ลงโทษเขาในกรณีผิดสัญญา เขาก็กลับมาครับ”

ห้ามทำงาน แต่เงินก็ไม่พอยาไส้

ต่อมาณัฐได้เล่าเพิ่มเติมจากในช่วงเวลาตอนที่เขาเรียนว่า จำนวนเงินต่อเดือนที่ทางสำนักงานก.พ. ไม่พอกับการดำรงชีวิตอยู่ในรายเดือน อีกทั้งจำนวนเงินยังน้อยกว่ารายได้ขั้นต่ำของประเทศที่ไปเรียนอีก

โดยในข้อบังคับ ก.พ. ว่าด้วยการจัดการการศึกษา ควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ และนักเรียนที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ในต่างประเทศ พ.ศ. 2551 ในหมวดที่ 6 วินัยและการปฏิบัติตน ในข้อ 3 ย่อยของข้อ 27 มีการกล่าวว่า บุคลากรภาครัฐ และนักเรียนทุนของรัฐบาลจะทำงานเพื่อหารายได้ในระหว่างศึกษาหรือฝึกอบรมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียน

อภิวัฒน์ได้เล่าเพิ่มเติมว่า  “ตอนแรกผมไม่เชื่อด้วยนะระเบียบเรื่องนี้คิดว่า เขาเอามาขู่เฉย ๆ เพราะกลัวเราจะแห่ไปทำแล้วไม่ตั้งใจเรียน แต่มันมีจริงๆ คือ ห้ามมีรายได้ทางอื่นในระหว่างที่ศึกษาอยู่ แต่ถ้าถามมิตรสหายนักเรียนทุนไทยทั้งหลายที่ทำงานพิเศษ สาเหตุก็มาจากเงินไม่พอใช้ทั้งนั้นเลย”

“ถ้าคุณให้เงินมาพอดำรงชีวิต แล้วออกข้อห้ามว่า คุณต้องตั้งใจเรียนเต็มที่ ห้ามทำงานว่อกแว่ก ผมยังเข้าใจได้นะ แต่นี่เงินเดือนให้ต่ำกว่าค่าครองชีพประเทศเขา และห้ามมีรายได้อื่นอีก มันก็บีบคอกันเกินไป สุดท้ายนักเรียนทุนก็ต้องทำทั้งนั้นแหละ ตัวสถานทูตหรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนก็รู้ แต่ก็รับรู้ปัญหา แต่กลับไม่ได้เป็นปากเสียงช่วยเรียกร้องแก้ไขปัญหาอะไรให้ นั่งดูนักเรียนทุนวิ่งเสิร์ฟข้าวไปเฉย ๆ

การห้ามทำงานพิเศษมันไม่ได้มีแค่ทำในร้านอาหาร แต่หลายมหาวิทยาลัยเขาจะจ้างนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกไปช่วยสอน คุมแล็บ ตรวจข้อสอบ ซึ่งงานพวกนี้มันดีนะ เป็นงานที่ให้ประสบการณ์ ได้เห็นว่าระบบการศึกษาการเรียนการสอนเขาเป็นยังไง มันเป็นประโยชน์กับนักเรียนทุนโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องกลับไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ แต่ถ้าตามระเบียบ งานพวกนี้คุณก็ทำไม่ได้ เพราะถือว่าได้รับค่าตอบแทน”

อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ค่าใช้จ่ายประจำเดือนของนักเรียนทุนที่ศึกษาต่อประเทศอังกฤษ ที่ได้มีการปรับปรุงค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลที่ศึกษาในประเทศอังกฤษล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่มีค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ 1,020 ปอนด์สำหรับนอกกรุงลอนดอน ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงสำหรับผู้ที่มีอายุ 23 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 9.50 ปอนด์ โดยทำงานเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็น 380 ปอนด์ รวม 4 สัปดาห์เป็น 1,520 ปอนด์

เราจะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่นักเรียนทุนได้รับกับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศอังกฤษห่างกันถึง 500 ปอนด์ ซึ่งเงินจำนวนเท่านี้เกือบจะสามารถเช่าที่พักนอกลอนดอนได้แล้ว โดยแต่ก่อนค่าใช้จ่ายรายเดือนสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาล อาจจะดูเยอะในปี 2560

แต่ในปี 2565 จากหลายๆเหตุการณ์ ทำให้ค่าครองชีพก็เพิ่มสูงตาม แต่ค่าใช้จ่ายประจำเดือนของนักเรียนทุนรัฐบาลก็ยังอยู่เท่าเดิม ทำให้สุดท้ายนักเรียนทุนก็ทำได้เพียงแค่หลบซ่อนจากการจับตาของหน่วยงานที่ดูแล แล้วทำงานเพื่อแลกกับเงินเพื่อเติมเต็มค่าใช้จ่ายที่ไม่พอต่อเดือน

วัฒนธรรมการให้ ‘ทุน’ ที่ ‘มอง’ ไม่เหมือนกัน

อ้างอิงข้อมูลจากการสรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ เรื่อง “ปัญหาทางกฎหมายของสัญญารับทุนรัฐบาล” ที่จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 เราจะยกหยิบยกประเด็นเรื่อง เบี้ยปรับค่าผิดสัญญาของทุนรัฐบาล

โดยในเสวนาได้มีการหยิบยกความเห็นของศาลที่มองว่า เบี้ยปรับ 3 เท่าถือว่าไม่สูงเกินไป เพราะหากหน่วยงานของรัฐไม่กำหนดเบี้ยปรับให้สูงเช่นนี้ แผนพัฒนาบุคลากรก็จะสำเร็จได้ยาก เนื่องจากคนที่ได้ทุนอาจไม่ยอมเข้ามาทำงานรับราชการหลังจากเรียนจบ แต่จะเลือกเสียค่าปรับแทบ ซึ่งทำให้ภาครัฐขาดบุคลากรตามวัตถุประสงค์ของทุน และต้องเสียเวลาเพื่อที่จะส่งคนไปเรียนใหม่

ต่อมาได้มีวิทยากรกล่าวในเสวนาบางช่วงว่า “เบี้ยปรับที่กำหนดไว้สูงเกินไปนั้นจะทำให้ผู้รับทุนไม่มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองได้ เพราะต้องทำงานในที่ที่กำหนดไปเป็นระยะเวลายาวนานซึ่งอาจดูเกินสมควรไปเหมือนกัน เราจึงต้องมาถกเถียงกันว่าตัวเลขที่เหมาะสมที่พอจะทำให้ผู้รับทุนสามารถเปลี่ยนชีวิตของตัวเองในกรณีจำเป็นโดยการเลือกที่จะจ่ายเบี้ยปรับได้นั้นคือเท่าใด ทั้งในเรื่องตัวเลขเทียบปรับ 3 เท่านั้นก็อาจจะสร้างความไม่เท่าเทียมให้แก่ผู้รับทุนเช่นกัน

เนื่องจากในสถานที่ที่ผู้รับทุนไปเรียนในแต่ละที่นั้นมีค่าเงินที่ถูกแพงต่างกัน ในบางที่เช่นยุโรปหรืออเมริกาอาจจะใช้เงินเป็นจำนวนมากจนทำให้เบี้ยปรับมีจำนวนมากกว่าของผู้ที่ไปเรียนในประเทศอื่น ๆ จนทำให้ไม่สามารถจ่ายเบี้ยปรับได้ไหวเพราะมีจำนวนมาก ซึ่งจะเสียเปรียบกว่าผู้ที่ต้องเสียเบี้ยปรับจำนวนน้อยกว่าเพราะเขามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้มากกว่า”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องระยะเวลาการใช้ทุนนั้นก็มีระยะเวลานานมาก บางทุนอาจต้องใช้เวลาใช้ทุนมากกว่าสิบปีด้วยซ้ำ ซึ่งหากเราไปดูเรื่องเบี้ยปรับของสัญญาใช้ทุนจากคำพิพากษาของศาลแรงงานของเยอรมัน โดยศาลมีการวางหลักว่า สัญญารับทุนที่มีความผูกพันให้กลับมาทำงานตามที่กำหนด

ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพนั้นสามารถกระทำได้ เพราะเป็นความตกลงระหว่างคู่สัญญา แต่ระยะแต่เวลาในข้อตกลงก็มีประเด็นว่าหากนานเกินไปก็จะขัดกับเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพเกินสมควรแก่เหตุ ในเรื่องตัวเลขเวลานั้นแนวคำพิพากษาของศาลแรงงานเยอรมันบอกว่ารวมทั้งหมดแล้วไม่ควรเกิน 5 ปีเพราะหากเกิน 5 ปีจะถือเป็นการจำกัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพเยาวชนเกินสมควรแก่เหตุ 

นอกจากนี้ก็จะมีบางส่วนที่เป็นเพียงเด็กมัธยมที่ยังไม่เคยก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ต้องมาตัดสินใจกับทุนที่ต้องผูกมัดกับการทำงานในหน่วยงานนั้นไปอีกสิบกว่าปี คงเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะปล่อยโอกาสตรงหน้าทิ้ง เนื่องจากในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงมาก พวกเขายอมถูกผูกมัดให้ทำงานในหน่วยงานเดิมไปจนเกษียณ เพียงแลกกับโอกาสสักครั้งในชีวิตที่จะได้ไปสัมผัสการศึกษาที่ดีในประเทศที่พัฒนาแล้ว

“ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาเองก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสมองไหล เพราะโอกาสการทำงานของในประเทศเขาก็ยังมี เรียนจบคนก็ยังอยากทำงานในประเทศเขา ทำงานวิจัยต่าง ๆ ให้ประเทศ โดยที่ไม่ต้องมานั่งตามเงื่อนไขอะไรมากมาย

แต่เงื่อนไขในประเทศเราค่อนข้างแย่กว่าเขา ถ้าถามถึงแรงจูงใจเฉย ๆ มันไม่จูงใจพอให้คนกลับมาทำให้คนกลับประเทศ เลยต้องตั้งเงื่อนไขที่บีบคอขึ้นมา เพื่อกำหนดให้คนต้องกลับ เพราะติดเงื่อนไขทุน หากไม่ทำตามเงื่อนไขก็ต้องชำระเงินค่าผิดสัญญา” อภิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

อ้างอิงข้อมูลจาก

OCSC

LAW TU