นโยบายส่วนใหญ่ ที่ชาวกรุงเทพฯ มักจะคุ้นหูคุ้นตากัน มักจะเป็นประเด็นของนโยบายเชิงโยธาฯ ของการปรับปรุงสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในเมืองหลวง ทว่า นโยบายทางสังคม โดยเฉพาะนโยบายและการจัดการที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้หญิง” กลับมีน้อยจนน่าแปลกใจ
ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงในเมืองกรุง ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีจำนวนถึง 2.4 ล้านเสียง หรือนับเป็นจำนวนเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด! ยังไม่นับประชากรแฝงที่มีจำนวนอีกเท่าตัว
De/code ชวนมองปัญหาที่เหล่าผู้ว่าฯ หลายยุคหลายสมัย มอง(ไม่)เห็น จากข้อเรียกร้องจนกลายเป็นนโยบายให้ผู้หญิงหลายกลุ่ม มีคุณภาพชีวิตดี ๆ ในเมืองกรุงมากขึ้น ความสำคัญของนโยบายเหล่านี้ ตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างปัญหาที่ผู้หญิงเกือบทุกคนพบเจอ การให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายและการจัดการมากขึ้น ไปจนถึงผลประโยชน์ที่ผู้หญิงที่ใช้ชีวิตในกทม. จะได้รับ
เรื่องของ”ผู้หญิง” ที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่นโยบายทางสังคมวาระผู้หญิงในกทม. จะต้องเกิดขึ้นและทำได้จริงสักที
เมื่อผู้หญิงหลายกลุ่มล่องหนได้ แบบที่ไม่ใช่พลังวิเศษ
“ถ้าเราจะพูดถึงผู้หญิงในกทม. นอกจากประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แล้วนั้น ยังมีประชากรอีกกลุ่มหนึ่งคือประชากรแฝง ซึ่งมีจำนวนมากกว่าประชากรที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองด้วยซ้ำ” เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสภานภาพสตรีฯ กล่าวถึงจำนวนประชากรของผู้หญิงที่แท้จริงในเมืองกรุง
เรืองรวีให้ข้อมูลประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมดมีจำนวนโดยประมาณ 11-12 ล้านคน จำนวนคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในกทม. หรือผู้ที่มีทะเบียนบ้านในกทม. มีจำนวนโดยประมาณ 5 ล้านเสียง ซึ่งผู้หญิงที่มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีจำนวนกว่า 2.4 ล้านเสียง ซึ่งเท่ากับมากกว่าครึ่งแล้ว เรืองรวีจึงกล่าวว่า หากผู้สมัครคนไหน ที่มีนโยบายที่เข้าใจปัญหาของผู้หญิงในเมืองกรุงได้ ก็นับว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
ทว่า ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น นโยบายที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งแรงงานนอกระบบ คนพิการ กลับมีอยู่น้อยและแทบไม่สามารถช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้มากนัก
ภาพของผู้หญิงในเมืองกรุงที่เราไม่ค่อยได้รับรู้ กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้หญิงที่เป็นแรงงานนอกระบบ การอพยพเข้ามาหางานในเมืองกรุง แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติหรือการดูแลเท่าที่ควร บางครั้งคนกลุ่มนี้ เมืองเทพสร้างก็เหมือนจะหลงลืมพวกเขา ซ้ำร้ายบางครั้ง คนเหล่านี้ก็ถูกจัดให้เป็นศัตรูของกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ริมทาง
เรืองรวีพูดถึงการกดทับที่ผู้หญิงในเมืองกรุงจะพบเจอ นอกเหนือจากชุดความคิดเก่าที่กดทับผู้หญิงในสังคมไทยอยู่แล้ว ปัญหาเรื่องปากท้องเมื่อมีความเป็นผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งทำให้การกดทับมีความซ้ำซ้อนและถูกทับถมไว้หลายชั้น เรืองรวีกล่าวว่าสิ่งนี้คือ “Intersectionality”
Intersectionality ที่เรืองรวีกล่าวถึง คือการกดทับทางเพศที่มีความทับซ้อนลงไป ซึ่งจะทวีคูณด้วยปัญหาทางสังคม เช่น ในสถานการณ์โควิดที่มีการเลิกว่าจ้างพนักงานจำนวนมาก กลุ่มอาชีพที่เสี่ยงต่อการเลิกว่าจ้างที่องค์กรสามารถทดแทนด้วยเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์เช่น งานสื่อสิ่งพิมพ์ งานธนาคาร เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลที่เรืองรวีกล่าวมา ผู้หญิง ก็มักจะเป็นกลุ่มที่โดนเลิกว่าจ้างก่อนเสมอ
ปัญหาของการทับซ้อนกันของกดทับนี้ ทำให้เรืองรวีกล่าวถึงผู้หญิงกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้พิการ นอกเหนือจากการที่กรุงเทพฯ จะไม่ได้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ ทั้งทางเท้าที่ไม่เรียบ หรือการเดินทางที่ยากลำบาก กลุ่มผู้หญิงพิการ เป็นอีกกลุ่มที่ถูกคุกคามทางเพศอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถ้าหากรวมกับกลุ่มข้างต้น ทั้งการเป็นประชากรแฝง ทั้งการเป็นแรงงานนอกระบบ ก็ยิ่งทับซ้อนกันในพีระมิดความเหลื่อมล้ำที่ผู้หญิงในเมืองหลวงพบเจอ
เรืองรวี เล่าประสบการณ์ในการทำงานด้านการช่วยเหลือผู้หญิงหลาย ๆ กลุ่ม และผู้หญิงพิการจำนวนไม่น้อยที่ถูกคุกคามทางเพศ ซ้ำร้ายผู้หญิงกลุ่มนี้ ไม่สามารถมีสิทธิ์มีเสียง หรือขัดขืนได้ทันท่วงที จนได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ
“พี่เคยรับเคสหนึ่งมา ซึ่งปัญหานี้ขนาดเรายังนึกไม่ถึงเลยว่ามันเกิดขึ้นกับคน ๆ หนึ่งได้ยังไง มีหญิงหูหนวกโดนข่มขืนทางเพศ แต่ป้องกันตัวและทำให้คนข่มขืนเสียชีวิต ซึ่งพอจะไปขึ้นศาลเนี่ย ในประเทศไทยเรามีล่ามภาษามือที่มีความรู้ด้านกฎหมายอยู่ 4 คน ผลสุดท้ายคือเขาแพ้คดีและติดคุก เพราะการกดทับที่ทับซ้อนตรงนี้แหละที่ทำให้เขาต้องเข้าเรือนจำ” เรืองรวี เล่าถึงกรณีตัวอย่างจากเรื่องจริงจากการทำงานที่ผ่านมา
อีกกลุ่มหนึ่งที่มีทั้งการรณรงค์ รวมถึงมีข่าวสารให้เห็นมาเป็นเวลานาน คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ตั้งแต่การทำร้ายจิตใจ การทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางเพศ จนไปถึงการละเมิดทางเพศ “ปัญหาที่เราพบมากคือการคุกคามทางเพศเนี่ย มักจะเกิดขึ้นในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ปู่ ตา พ่อเลี้ยง หรือกระทั่งพ่อแท้ ๆ ก็ตามเป็นผู้กระทำเสียเอง”
นอกจากนี้ ค่านิยมของสังคมในเรื่องของเพศ ที่ทำให้ผู้ชายต้องแบกรับความล้มเหลวในฐานะหัวหน้าครอบครัวอยู่บ่อยครั้ง เรืองรวีให้ข้อสังเกตุจากข้อมูลในการทำงานว่า เมื่อผู้ชายหรือหัวหน้าครอบครัวล้มเหลวหรือล้มละลาย มักจะเลือกทางจบชีวิตทั้งครอบครัว หรือที่เราเห็นกันตามข่าวอย่าง ฆ่ายกครัว กลับกันเมื่อเป็นผู้หญิงกลับไม่ได้มีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อผู้หญิงที่เจอความล้มเหลว การกลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว ก็ทำได้ยากกว่าผู้ชาย
ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งไม่ถึงครึ่งจากการทำงานหลายสิบปีของเรืองรวี นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงหลาย ๆ กลุ่ม ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้น ประโยคต่อไปพร้อมเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่และตกใจ ต้องทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ปลอดภัยและเท่าเทียมสำหรับผู้หญิงได้สักที
ความรุนแรงไม่เลือกอายุ ไม่เลือกชนชั้น แต่ดันเลือกเพศ
รถไฟไทยใช้ตั้งแต่สมัย ร.5 ที่มิลลินำไปแต่งท่อนแรปโชว์ในงาน Coachella อาจไม่ใช่ความจริงเสียทั้งหมด ทว่า ความเป็นจริงที่ยังมีให้เห็น คือพื้นที่สาธารณะในกทม. คือที่ที่ผู้หญิงโดนคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศเยอะที่สุด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อาจารย์ วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า ทัศนคติที่เป็นปัญหาของสังคมไทยอย่างหนึ่ง คือการคุกคามทางเพศถ้าไม่ถึงขั้นของการข่มขืน สังคมจะไม่รู้สึกว่าการคุกคามเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่สักเท่าไหร่
จากข้อมูลการสำรวจของแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ เมื่อปี 2561 ผู้คนที่ใช้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทจำนวน 1,000 กว่าคน ผู้หญิงจำนวน 45 % ในผลสำรวจ ถูกเคยคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะเหล่านี้ ในขณะที่ตัวเลขจากข้อมูลการสำรวจของ Action aids ในรูปแบบของการเก็บข้อมูลทางออนไลน์ พบว่ามีผู้หญิงในเมืองใหญ่ของประเทศไทย ถูกคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะถึง 86 %
อาจารย์ยังกล่าวเสริมว่า ข้อมูลจริง ๆ อาจจะมีมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เนื่องจากใช้การสำรวจแบบพูดคุยทันที ทำให้อาจจะเกิดการไม่กล้าให้ข้อมูลทั้งหมด รวมถึงกลุ่มสำรวจเป็นจำนวนแค่ 1,000 คน จากประชากรในกทม. ทั้งหมด 10 กว่าล้านคน
อาจกล่าวได้ว่าหากเราเห็นตัวเลขของการคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะในกทม. จริง ๆ ท้ังหมด เราอาจจะพบกับตัวเลขที่สูงจนเราต้องสงสัยเมืองหลวงแห่งนี้ ว่ามันเป็นเมืองที่เทพสร้างได้อย่างไร
ข้อมูลจากการสำรวจโดยแผนสุขภาวะผู้หญิงเมื่อปี 2561 พบว่า ลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ มีการมองใต้กระโปรง/มองลงคอเสื้อ 18.8% เบียดชิดต้อนเข้ามุม แต๊ะอั๋ง ลูบคลำ 15.4 % ผิวปากแซว 13.9 % พูดจาแทะโลม 13.1 % พูดลามก ชวนคุยเรื่องเพศ 11.7 % ถูกอวัยวะเพศถูไถร่างกายเพื่อสำเร็จความใคร่ 4.6 % นี่ยังเป็นเพียงตัวเลข จากการสำรวจประชากรแบบสุ่ม ของผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะในกทม.
พื้นที่สาธารณะในกทม. หลายจุด ในฐานะพื้นที่เสี่ยง ทั้งความเปลี่ยวหรือเป็นจุดที่เกิดการคุกคามทางเพศอยู่บ่อยครั้ง อาจารย์วราภรณ์ยังกล่าวเสริมว่า จริง ๆ ความเป็นพื้นที่เสี่ยงไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ต้องเป็นพื้นที่รูปแบบใด ประวัติการคุกคามทางเพศในกทม. สามารถเกิดได้ทุกที่ ทั้งที่คนน้อยและคนเยอะ ในช่วงเวลากลางคืนและกลางวัน
และผลการสำรวจในปี 2560 ประเภทของรถโดยสารที่เกิดการคุกคามทางเพศมากที่สุดคือ รถเมล์ 50 % รถมอเตอร์ไซค์ 11.4 % แท็กซี่ 10.9 % รถตู้ 9.8 % รถไฟฟ้าบีทีเอส 9.6 % จากตัวเลขเหล่านี้ทำให้เราทราบอย่างหนึ่งได้แน่ชัดว่า การคุกคามทางเพศไม่ได้จำกัดเฉพาะในที่ที่ลับตาคน ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการคุกคามทางเพศมักจะเกิดในที่สาธารณะเสียด้วยซ้ำ
ปัญหาเหล่านี้ เมือง จะต้องแก้ไขทั้งทางกายภาพ ที่หมายถึงสภาพแวดล้อมที่จะไม่กลายเป็นจุดเสี่ยง ทั้งระบบ ในการสร้างระบบให้ตรวจตราและป้องกัน รวมถึงสามารถตามหาหลักฐานได้ง่ายและสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมต่อเหยื่อในคดีเหล่านี้มากขึ้น ไปจนถึงทัศนคติต่อคนในสังคม ทั้งต่อผู้ที่โดนคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ และความเข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้ให้มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน อาจารย์วราภรณ์กล่าวเสริมว่า การทำให้พื้นที่ทางกายภาพปลอดภัย หรือเสริมสร้างระบบของเมืองให้แข็งแรงขึ้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จะไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไป ก็จะได้ใช้พื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น “และการสร้างภูมิคุ้มกันเหล่านี้ ใช่ว่าจะต้องพัฒนาไปทีละส่วน แต่เราต้องทำไปพร้อม ๆ กัน และสร้างการตระหนักรู้เรื่องนี้ควบคู่กันไป ถึงจะได้ผลสำเร็จ”
เพราะฉะนั้นแล้วการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้หญิง จึงไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา แบบที่ไม่ใช่ทางอ้อม แต่เป็นถนนเลนเดียว ที่จะมอบผลประโยชน์ให้ทุกคนต่างหาก
ทำแท้งปลอดภัย สัญญาณแห่งความเท่าเทียมของผู้หญิง
ถึงแม้ว่าปัญหาหลักในการแก้ไขและป้องกันการคุกคามและการละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงในกทม. นั้น ผลการสำรวจจะชี้ให้เห็นถึงระบบและพื้นที่ของกทม. ที่ไม่ได้เอื้อให้ผู้หญิงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ทว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความยากลำบากต่อผู้หญิงในเมืองกรุงไม่แพ้กัน คือทัศนคติและค่านิยมที่สังคมมอบให้
สุพิชา เบาทิพย์ ผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง เล่าถึงความสำคัญของการทำแท้งปลอดภัย จนเกิดเป็นนโยบายทำแท้งปลอดภัยที่กลุ่มทำทาง นำเสนอต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในเวลานี้ว่า มันคือสิทธิและความเท่าเทียมที่ผู้หญิงที่ดำเนินชีวิตอยู่ในกรุงเทพ ทั้งประชากรจริงและประชากรแฝง ควรได้รับ
ภาพจาก สุพิชา เบาทิพย์
การทำแท้งในปัจจุบันไม่ได้เป็นภาพจำอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการจ่ายยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งได้รับการยืนยันจากผลการวิจัยทั่วโลกว่ามีความปลอดภัย “ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวยาหรือวิธีการยุติการตั้งครรภ์ แต่เป็นระบบการรักษาในไทย ที่ยังมีปัญหาในการเข้ารับการรักษา”
ระบบการเข้ารับการรักษากรณีการทำแท้งในไทยขึ้นกับสปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่าย 3,000 บาทต่อคน และจ่ายให้กับโรงพยาบาล ถึงอย่างนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่า การเข้ารับการรักษาต้องไปที่ถิ่นกำเนิดของตัวเองก่อน จึงจะทำการโอนสิทธิ์ในการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ เมื่อมองกลับมาที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีประชากรแฝงที่เป็นผู้หญิงจำนวนมาก การเข้าถึงการทำแท้งปลอดภัยนี้จึงไม่ได้เอื้อต่อคนกลุ่มนี้มากนัก
ในขณะที่กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีผู้ที่ต้องการรับบริการทำแท้งมาที่สุดในประเทศ แต่มีสถานพยาบาลที่ให้บริการทำแท้งปลอดภัยเพียง 6 แห่ง เป็นคลินิก 4 แห่ง และรพ.เอกชน 2 แห่ง กลับกันโรงพยาบาลรัฐกว่า 138 แห่ง ไม่ให้บริการทำแท้ง และถ้าหากต้องการทำแท้งปลอดภัยในกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 5,000 บาท
จึงกลายเป็นหนึ่งในนโยบายทำแท้งปลอดภัย ที่กลุ่มทำทางกำลังรณรงค์นโยบายนี้ต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหลาย ในการดำเนินการให้สามารถใช้สิทธิ์ในสถานพยาบาลที่เข้าร่วม เพื่อให้ง่ายต่อการรักษา
แต่ทว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่าระบบการเข้าถึงการรักษา คือทัศนคติของคนไทยต่อเรื่องการทำแท้ง
เมื่อการทำแท้งผูกติดอยู่กับศาสนาพุทธ ในประเด็นของการฆ่าชีวิต หมอและพยาบาล ไปจนถึงสถานพยาบาลหลายแห่ง ไม่ได้มีความยินยอมและยินดีในการที่จะรักษาให้กับคนไข้ที่ต้องการจะทำแท้งเหล่านี้
ในมุมหนึ่งมันคือการเลือกปฏิบัติ ให้เปรียบเทียบว่ามีคนเมาแล้วขับรถล้ม หมอเลือกได้มั้ยว่าจะไม่รักษาเขา เพราะเขาทำตัวเอง คุณก็ไม่ คุณก็รักษาคนเมาเหล่านั้น กลับกันทำไมพอเป็นเรื่องของการทำแท้ง หมอกลับไม่อยากรักษา ไม่อยากให้มือของตัวเองเปื้อนเลือด มันเปื้อนเลือดยังไง คุณนิยามตัวอ่อนเหล่านี้ยังไงถึงได้ตัดสินว่าคุณฆ่าใครสักคน ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงที่ต้องการทำแท้ง ก็เป็นผู้ป่วยในการรักษาของคุณเหมือนกัน
เราจะเห็นได้ว่าเส้นทางของการทำแท้งปลอดภัย นอกจากการต่อสู้กับระบบการรักษาแล้ว การต่อสู้กับผู้คนในสังคมส่วนมาก จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยที่พวกเธอเหล่านั้นจะต้องพบเจอ สุพิชา ยังเล่าถึงประสบการณ์จากการทำงาน ในเรื่องพฤติกรรมการโทษคนไข้ของหมอ ที่หาว่าไม่ป้องกันบ้าง จะฟ้องมหาวิทยาลัยบ้าง ฟ้องผู้ปกครองบ้าง จนไปถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนไข้
“ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง ตอนทำก็สนุกด้วยกันทั้งคู่ ทำไมเรื่องนี้ถึงต้องกลายเป็นผู้หญิงที่รับผิดชอบอยู่ฝ่ายเดียว” หากถามว่าสังคมชายเป็นใหญ่ในสังคมไทยมีหน้าตาอย่างไร ประโยคนี้ดูท่าจะยืนยันให้เห็นภาพได้ชัดเจน
กลับกันอายุของผู้ที่เข้ามาปรึกษากลุ่มทำทาง ในการขอคำปรึกษาการทำแท้ง ไม่ได้เป็นกลุ่มเยาวชนอย่างที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ในข่าว แต่เป็นช่วงอายุระหว่าง 20-25 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว พี่ชมพู่ให้ความคิดเห็นว่า ปัญหาเรื่องความไม่พร้อมในการตั้งครรภ์ จึงมีมากกว่าที่เราเห็นในสื่อ แต่เมื่อเป็นกลุ่มเยาวชนตั้งครรภ์ขึ้นมา สังคมเลยมองว่ามันผิดวิสัยไปจากปกติ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาเหล่านี้มันมีอยู่ทั่วไป
“ทางออกที่เราจะผลักดันเรื่องนี้ได้ คือทำให้การทำแท้งกลายเป็นเรื่องปกติและเหมือนกับการรักษาทั่วไปในสังคม เพราะการทำแท้งก็เหมือนการคุมกำเนิดรูปแบบหนึ่ง ในการที่จะไม่ให้มีการตั้งครรภ์ ท้ายที่สุดคนที่เสียผลประโยชน์ คือผู้หญิงหรือแม่ ที่โดนกดทับจากสังคมอีกที”
ต่อให้เราจะมีระบบการปกครองที่ดีแค่ไหน ถ้าหากว่าเราไม่สามารถทำให้การทำแท้งปลอดภัย เป็นสิทธิและความเท่าเทียมที่ผู้หญิงพึงจะได้รับ ทำให้การทำแท้งเป็นการรักษาทั่วไป เมืองแห่งความเท่าเทียมที่เราใฝ่ฝันถึง อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้
แล้วผู้ว่าฯ กทม. สามารถทำอะไรได้บ้าง กับทั้งกายภาพ ระบบ และทัศนคติของเมือง ถึงจะทำให้เมืองหลวงของประเทศไทย ใกล้เคียงกับเมืองแห่งความเท่าเทียมได้บ้าง?
มองไกลแล้ว อย่าลืมมองปัญหาใกล้ตัว
ผู้ร่วมสัมภาษณ์ทุกคน ต่างเป็นผู้ทำงานในการผลักดันสิทธิทางเพศเป็นเวลานับหลายสิบปี สิ่งหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์ทำนอกเหนือจากการช่วยเหลือในเนื้อหาของตน คือการผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565 นี้ พวกเขายังทำงานและผลักดัน หวังที่จะให้นโยบายที่เสนอไปได้รับการตอบรับและนำไปปฏิบัติจริง
ในเวทีสาธารณะ “เสนอมา แถลงไป นโยบายทางสังคมของผู้ว่าฯ กทม.” ที่เป็นการร่วมมือของหลายภาคีที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ในการเสนอนโยบายสาธารณะต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เรืองรวี เป็นผู้กล่าวในข้อเสนอของผู้หญิงและผู้สูงอายุ ข้อเสนอที่น่าสนใจคือการจัดตั้งกองทุน โดยมีงบประมาณอย่างต่ำ 100 ล้าน และให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ
การจัดตั้งกองทุนนี้ เพื่อที่จะให้องค์กรต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ที่เจอปัญหาต่าง ๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น (ฟังข้อเสนอและการอภิปรายในงานเวทีสาธารณะ เสนอมา แถลงไป นโยบายทางสังคมของผู้ว่าฯ กทม. ได้ ที่นี่)
และในความเป็นจริง ทั้งเรืองรวีและอาจารย์วราภรณ์มองว่า กทม. ไม่สามารถที่จะจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ทั้งหมด แค่ในส่วนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้นการกระจายอำนาจโดยการร่วมมือกับองค์กรเอกชนต่าง ๆ จึงจะเป็นทางออกที่จะทำให้ความปลอดภัยและความเท่าเทียมเกิดขึ้นกับผู้หญิงในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นจึงเขยิบไปสู่การกระจายอำนาจสู่ชุมชน ในการสร้างความแข็งแรงตรงนี้ให้เกิดขึ้น
เรืองรวี ยังกล่าวถึงการจัดตั้งรองผู้ว่าฯ กทม. ชุดนี้ ให้มีผู้หญิงในอัตราส่วนครึ่งหนึ่งของที่นั่ง จุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างนโยบายเพื่อผู้หญิง จะต้องมีรากฐานคิดมาจากผู้หญิงด้วย การให้พื้นที่ทางการเมืองต่อผู้หญิง จะทำให้นโยบายเหล่านี้กลายเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งคือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ผ่านแนวคิด ผ่านบุคคล ในการออกจากกรอบชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย
นโยบายทำแท้งปลอดภัยจากกลุ่มทำทาง ที่ต้องการจะให้การทำแท้งเป็นทั้งสิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิงเกิดขึ้นจริง การเข้ารับการบริการของครรภ์ที่ต่ำกว่า 12 เดือน และต้องทำได้ฟรี รวมถึงการให้มีสถานบริการทำแท้งในกทม. อย่างต่ำ 1 แห่ง เพราะการทำแท้งปลอดภัย พึงจะเป็นสิ่งที่ผู้หญิงที่ดำเนินชีวิตในกทม. ควรได้รับ (อ่านข้อเสนอและร่วมลงชื่อผลักดันนโยบายนี้ ได้ ที่นี่)
ภาพจาก สุพิชา เบาทิพย์
ด้านแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ ก็มีการร่วมมือและเสนอกับกรุงเทพฯ ในการทำระบบเพื่อให้รับเรื่องร้องเรียนและแสดงพื้นที่จุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า กล้องของกทม. มักจะมีปัญหาเมื่อต้องการขอภาพมาใช้ นอกจากนี้การเข้าถึงสิทธิ์ในการขอรูปภาพยิ่งยากกว่า การสร้างระบบโดยภาคีเหล่านี้ คือการสร้างความปลอดภัย ให้เกิดกับระบบการจัดการและพื้นที่ทางกายภาพของกทม. ให้เป็นรูปธรรมจริง ๆ พร้อมทั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้ กทม. จะต้องจัดการท้ังกายภาพ ระบบ และทัศนคติของเมือง ไปพร้อม ๆ กัน ถึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่ครั้งแรก การลุกขึ้นของประชาชน ที่ต้องจะส่งเสียงไปถึงส่วนปกครอง ในการเรียกร้องสิทธิที่พึงจะได้ ตั้งแต่การเรียกร้องลาคลอด 90 วัน ในปี 2536 มาจนถึงการเรียกร้องสิทธิทางเพศใน 2565 ที่เรายังต้องเรียกร้องกันต่อ
ผู้สัมภาษณ์ทุกคนให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากขึ้น มีการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิทางเพศได้หลายช่องทางและเข้าถึงได้ง่าย
หลังจากนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อสังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะคนมีอำนาจในเมืองหลวงแห่งนี้ จะจัดการและตอบรับกับนโยบายที่ประชาชนเสนอไปอย่างไร
นับหนึ่งถึงเท่าไหร่? กรุงเทพฯ ถึงจะเป็นเมืองสำหรับทุกคน
“ต่อให้เราปลูกต้นไม้เป็นล้านต้น แต่ยังมีผู้หญิงที่ถูกลิดรอนสิทธิหรือถูกคุกคาม เมืองนั้นไม่มีทางที่จะเป็นเมืองที่ดีได้หรอก” – เรืองรวี
“ความรุนแรงไม่เคยเลือกวัย เลือกเวลา แต่มันดันเลือกเพศเสมอ” – วราภรณ์
“การทำแท้ง คือสิทธิและความเท่าเทียมที่ผู้หญิงคนหนึ่งพึงจะได้รับ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องทำแท้ง แต่ทุกคนควรจะมีสิทธิ์เลือกได้ว่า ฉันจะทำแท้งหรือไม่ทำก็ได้” – สุพิชา
ปัญหาที่เกิดกับผู้หญิงในกทม.ที่เหมือนเม็ดทราย ถึงดูมากมาย แต่การจัดการและการแก้ไขในเรื่องนี้ กลับมีนิดเดียว ผู้ว่าฯ กทม. ในสายตาของผู้เข้าสัมภาษณ์ทั้ง 3 ท่าน สามารถนำเม็ดทรายปัญหาเหล่านี้ มาสร้างเป็นปราสาททรายแห่งนโยบายได้อย่างไรบ้าง
ปราสาททรายแรกมีชื่อว่า ‘ระบบ’ ตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. สามารถจัดการได้โดยตรง โดยการสั่งการในขอบเขตของอำนาจตัวเอง ระบบที่ว่าในกทม. คือการทำให้การเข้าถึงการแจ้งปัญหาในกทม. สามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ทั้งการแจ้งพื้นที่เสี่ยง แจ้งเหตุ หรือกระทั่งการขอภาพและวิดิโอในที่เกิดเหตุ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนต่อไป หรือกระทั่งการสร้างระบบในการจัดการเรื่องเหล่านี้
หรือการสร้างระบบในการเข้ารับการรักษา การเยียวยา คดีทางเพศ ไปจนถึงการทำแท้งปลอดภัย ที่สำคัญคือการสร้างระบบยุติธรรม ที่เป็นธรรมต่อเหยื่อ เราต้องอย่าลืมการทับซ้อนทางเพศที่เกิดขึ้น จากผู้หญิง ทวีคูณด้วยความพิการหรืออื่น ๆ ไปจนถึงอคติทางสังคมที่มอบให้กับผู้หญิงทุกคน รวมถึงการให้พื้นที่กับผู้หญิงในบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้การสร้างนโยบายเพื่อผู้หญิง มีแนวคิดจากผู้หญิงโดยตรง
ในแง่ของ ‘กายภาพ’ ในกรุงเทพมหานคร อาจารย์วราภรณ์กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. นอกจากการสร้างพื้นที่ผู้คนใช้ประโยชน์ รวมถึงสามารถให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ปัจจัยสำคัญคือการทำให้พื้นที่ในกทม. ต้องมีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเดินตอนกลางคืนหรือกลางวัน คนเยอะหรือคนน้อย ความปลอดภัยพึงจะมีให้กับประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกทม. ตลอดเวลาให้เป็นเรื่องปกติ
และปราสาทหลังสุดท้าย คือปราสาทของ ‘ทัศนคติ’ หรืออคติในสังคมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง
2 ประเด็นในข้างต้นที่ผู้ว่าฯ กทม. สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกออกไม่ได้ ถึงอย่างนั้น สุพิชา มองเห็นถึงการแก้ไขทัศนคติของผู้คนในสังคม ไม่ใช่การบอกกล่าวหรือสอนในระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องทำให้เรื่องเหล่านี้ ให้กลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งการต่อต้านการคุกคามและการละเมิดทางเพศ ทัศนคติต่อเหยื่อในคดีทางเพศ มุมมองของผู้หญิง เพศศึกษา หรือการทำแท้งก็ตาม
รูปแบบของการทำให้เรื่องราวเหล่านี้ เป็นปกติในสังคมมากขึ้น คือการสร้างนโยบายที่จะมอบความปลอดภัย มอบการตรวจตรา มอบรูปแบบโครงสร้าง ที่ประชาชนในเมืองจะต้องปฏิบัติตาม เช่นนั้น ความธรรมดาในสังคม จากคำว่า ‘แค่นี้’ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง อาจจะสามารถเปลี่ยนเป็น ‘ขนาดนี้’ ก็เป็นได้
ในช่วง 5 ปีหลัง ที่สังคมไทยมีการตื่นตัวและตระหนักรู้กันมากขึ้น ตั้งแต่การพูดปากต่อปากของประชาชน การผลักดันนโยบายจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการออกพรบ. ต่าง ๆ จากภาครัฐ
ถึงการต่อสู้นี้จะยังไม่จบ แต่เชื่อว่าเรา ก็เดินมาไกลเกินกว่าจะเรียกว่า ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 คือการนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
เพราะสังคมที่ดี ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่เมื่อมากกว่า 2.4 ล้านเสียง ยังเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ เราจะเรียกเมืองหลวงแห่งนี้ ว่าเป็นเมืองที่ดี ที่พัฒนา หรือเท่าเทียม อย่างเต็มปากได้อย่างไร