จับพิรุธ! ขุดร่องน้ำอ่าวกุ้ง ร่องน้ำ(ทิพย์)? - Decode
Reading Time: 4 minutes

“คนส่วนใหญ่ในชุมชนตอนนี้อยากจะพัฒนา เขาต้องการความเจริญ”

ย้อนกลับไป 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เทศบาลตำบลป่าคลอก ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ขอให้ดำเนินการขุดลอกคลอง ร่องน้ำสาธารณะบริเวณอ่าวกุ้ง (ท่าเล) ตามที่ชาวบ้านในหมู่ 9  ร้องขอ เนื่องจากพวกเขาได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางเข้า-ออกทะเลที่ไม่สะดวกเพราะน้ำตื้นเขิน นอกจากนี้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมองว่า โครงการขุดร่องน้ำคือโอกาสพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต

แต่การพัฒนาครั้งนี้ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้งเกิดความไม่พอใจ แสดงความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชาวประมง และสิ่งแวดล้อมในชุมชนของพวกเขา มีการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการขุดร่องน้ำไปในหลายหน่วยงานภาครัฐ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 กรมเจ้าท่า เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการ มีผู้เข้าร่วมประชุม 180 คน โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการขุดร่องน้ำ

แต่ทางด้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้งจำนวน 15 คน ได้เข้ายื่นหนังสือกับนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอคัดค้านการประชุมดังกล่าว เนื่องจากการจัดเวทีไม่ชอบธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ทั้งยังอ้างถึงการแปลภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

De/code เดินทางลงพื้นที่บ้านอ่าวกุ้ง หมู่ 9 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต พูดคุยกับชาวบ้านฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ และตอนท้ายในบทความชิ้นนี้ De/code รวบรวมหลักฐานจากนักวิชาการในการแปลภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของพื้นที่อ่าวกุ้ง(ท่าเล) ว่าเป็นร่องน้ำเดิม และเหมาะสมหรือไม่ที่จะขุดร่องน้ำ โดยมีเดิมพันเป็นแนวปะการัง และทรัพยากรธรรมชาติที่อุมดมสมบูรณ์ภายในอ่าวกุ้ง

ชาวอ่าวกุ้งต้องการพัฒนา?

“ผมอยู่ที่นี่มา 30 ปี ตรงนั้นคือท่าเลมีร่องน้ำเดิมของมัน แต่อีกฝั่งเขาไม่ยอมพูดความจริง จะมาบอกว่าตรงนี้ไม่มีท่าเรือได้ยังไง คนในหมู่ 9 มีทั้งหมด 612 คน คนที่ไม่เห็นด้วยกับการขุดร่องน้ำมี 80 คน ที่เหลือคุณคิดเอาเอง”

กิตติชัย มาเห็ม อายุ 52 ปี อาชีพค้าขาย พื้นเพเป็นคน จ.เพชรบูรณ์ ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ที่บ้านอ่าวกุ้ง ได้ 30 กว่าปีแล้ว เขาเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนโครงการขุดร่องน้ำ เพราะเห็นโอกาสในการพัฒนา และรับรู้ถึงความลำบากที่ชาวบ้านคนอื่นได้รับจากการเข้าออกทะเล

“ผมมองเห็นว่าถ้ามันมีร่องน้ำ เราสามารถที่จะเข้าออกทะเลได้ตลอดเวลา เผื่อจะมีนักท่องเที่ยวเขาเอาเจ็ตสกีมาขับ หรือการมีท่าเรือมารีน่าในอนาคต”

แต่สิ่งหนึ่งที่กิตติชัย ต้องตอบคำถามชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ให้ได้คือ บริเวณที่จะขุดร่องน้ำนั้น ติดกับที่ดินของเอกชนรายหนึ่งทั้งหมด ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการขุดร่องน้ำครั้งนี้ คนที่ได้รับผลประโยชน์แท้จริงนั้นไม่ใช่ชาวบ้านในพื้นที่

“ท่าเลตรงนั้นมีคนใช้งานตลอด มีคนจอดเรือไว้ 7-8 ลำ ผมไม่กังวลเรื่องเส้นทางการเดินเข้าออกตรงท่าเล ตัวแทนชาวบ้านได้คุยกับเจ้าของที่ดินแล้ว เขาจะบริจาคที่ดินเพื่อให้เราทำถนนคอนกรีต ผู้ใหญ่เขาคุยกันแล้ว”

โดยในหมู่ 9 มีท่าเรือหลักที่ชาวบ้านใช้กันคือ “ท่าคลอง” และ “ท่าเรือบ้านหลังแดง”  โดยในส่วน “ท่าเล” บริเวณที่จะมีการขุดร่องน้ำ กิตติชัยอ้างว่ายังมีคนใช้งานอยู่บ้าง เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวกจากการใช้ท่าเรืออื่น ๆ 

“เราไม่อยากไปใช้ท่าคลอง เพราะตอนนี้คนมันทะเลาะกัน บางคนเขาใช้ท่าเรือตรงนี้สะดวกกว่า”

กิตติชัยบอกว่าคนที่คัดค้านไม่อยากให้มีโครงการขุดร่องน้ำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวประมง เขาอยากให้มองว่า ทุกวันนี้ลูกหลานคนในชุมชนไม่ได้ทำอาชีพประมงแล้ว อีกทั้งบริเวณอ่าวกุ้งไม่ได้มีสัตว์มากพอสำหรับทำประมงเพื่อค้าขาย จึงควรจะพัฒนาชุมชนเหมือนที่พื้นที่อื่นเขาทำกัน

“ผมยังยืนคำเดิมการพัฒนากับการอนุรักษ์ต้องไปควบคู่กัน คนที่ทำประมงเขาอยากอนุรักษ์ กลุ่มคนที่ไม่ได้ทำประมง เขาก็อยากพัฒนาการท่องเที่ยว คนเรามี 2 กลุ่มพื้นที่จะขุดร่องน้ำเป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าใครอยากได้เขามีสิทธิ์ขออนุญาต”

กิตติชัยถือว่าชาวบ้านฝั่งที่สนับสนุนโครงการ ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายและเขามั่นใจว่าหน่วยงานรัฐ จะเข้าใจสิ่งที่เขาร้องขอไป กิตติชัยฝากความหวังไว้กับหน่วยงานรัฐ และไม่กังวลถึงเรื่องกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา

“การพัฒนามันต้องมีการสูญเสีย แต่ในเมื่อเรามีกระบวนการของหน่วยงานราชการ เขามีมาตรการป้องกัน เขามีฝ่ายวิชาการ เราเป็นชาวบ้านคิดไปไม่ถึงหรอกว่าจะต้องมีการป้องกันอย่างไร แต่หน่วยงานรัฐเขาเป็นผู้ดูแลมีผู้เชี่ยวชาญระดับดอกเตอร์”

กิตติชัยกล่าวในตอนท้ายกับเราว่า ถึงแม้เขาจะเป็นคนต่างถิ่น แต่เขาอยากเห็นชุมชนเจริญ อยากให้เกิดที่ท่องเที่ยวในชุมชน การขุดร่องน้ำจะนำมาซึ่งธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะถ้าขุดร่องน้ำเรือก็เข้าออกง่าย พร้อมทั้งแสดงความมั่นใจว่าทางเทศบาลเองค่อนข้างสนับสนุนโครงการ แต่เขาเสียดายที่มีคนบางกลุ่มไม่เห็นผลประโยชน์ตรงนี้

“ทำไมการอนุรักษ์และการพัฒนาถึงไม่ไปพร้อมกัน ผมเสียดายแม้แต่ผู้นำในหมู่บ้านเรายังไม่เห็นด้วยเลย”

ทำไมผมจะไม่อยากให้หมู่บ้านผมพัฒนา

ตอนนี้ผู้ใหญ่โดนด้อยค่าว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ขัดขวางการพัฒนา ประเด็นที่กรมเจ้าท่าจะมาขุดร่องน้ำ จะทำให้อ่าวกุ้งพัฒนาได้อย่างไร ผู้ใหญ่มองไม่เห็นว่าโครงการนี้เป็นการพัฒนา”

ประจิตญ์ รอบรู้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ประกอบอาชีพค้าขาย เขาเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ 14 มิถุนายน 2555 ประจิตญ์เป็นคนที่เกิดและเติบโตมาในอ่าวกุ้ง

“พื้นที่ขุดร่องน้ำ แต่ก่อนมันเป็นหาดทรายเล็ก ๆ มีป่าโกงกาง อีกทั้งยังเป็นแหล่งประมงชายฝั่ง ผู้ใหญ่เดินเล่นอยู่บริเวณนั้นตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ถ้ามันเป็นร่องน้ำจริงผู้ใหญ่คงจมน้ำไปแล้ว”

ประจิตญ์พยายามชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้เป็นร่องน้ำมาแต่เดิม เพราะโครงการขุดลอกร่องน้ำ ที่ไม่ใช่ร่องน้ำธรรมชาติเดิม ตามกฎหมายจะต้องมีการดำเนินการจัดทำรายงานการเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  จึงเป็นเหตุให้มีการพยายามตีความพื้นที่ที่จะขุดลอกร่องน้ำให้ได้ว่า เป็นพื้นที่ร่องน้ำเดิมที่ตื้นเขิน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำ EIA 

“ตอนที่ผู้ใหญ่ได้ยินโครงการขุดร่องน้ำครั้งแรก ผู้ใหญ่มั่นใจว่ายังไงก็ขุดไม่ได้  แต่ตอนนี้มันสะท้อนใจนะ เขาพยายามทำให้มันเป็นร่องน้ำให้ได้ สภาพพื้นที่ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมต้องรู้สิตรงไหนเป็นร่องน้ำ”

นอกจากความผิดปกติของการพยายามทำให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นร่องน้ำแล้ว ประจิตญ์มองว่าโครงการนี้ไม่สมเหตุสมผล หากจะบอกว่าขุดร่องน้ำเพื่อทำท่าเรือให้ชาวบ้าน เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ดินเอกชน ไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ทางเข้าออกเหมือนท่าเรืออื่น ๆ

“ตรงท่าเล บริเวณนั้นไม่มีบ้านคนไม่มีบ้านเลขที่ มีแต่ที่ดินเอกชนเป็นบ่อกุ้งร้างไม่มีบ้านสักหลัง พี่น้องที่ทำประมงทั้งหมด อาศัยอยู่บริเวณท่าคลอง เป็นไปไม่ได้ที่ท่าเลจะอยู่ใกล้บ้านคนมากกว่า”

ในฐานะที่ประจิตญ์เป็นผู้ใหญ่บ้าน เขาอยากให้หน่วยงานรัฐรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านอย่างยุติธรรม แต่ในเวทีรับฟังความคิดเห็นของทางเทศบาล แม้แต่ตัวเขาที่เป็นผู้ใหญ่บ้านยังไม่ทราบข่าว และผลสรุปจากเวทีคือทุกคนเห็นด้วยกับโครงการ ภายใต้ข้อกังขาของฝ่ายที่คัดค้าน

“การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ผู้ใหญ่รู้ใครเป็นลูกบ้านของผู้ใหญ่และก็รู้อีกว่าคนไหนไม่ใช่”

เมื่อเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งประจิตญ์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ หลังจากการประชุม มีมติให้ใช้การแปลภาพถ่ายทางอากาศ ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นร่องน้ำเดิมจริงหรือไม่

“หลังจากมีมติให้มีการนำผู้เชี่ยวชาญอดีตข้าราชการมาแปลภาพถ่ายทางอากาศ ผลการแปลภาพถ่ายเขาบอกว่า พื้นที่ตรงนั้นเป็นร่องน้ำเดิม”

โดยมีมติกรรมการ 12 เสียงเห็นด้วยกับการแปลภาพถ่าย ไม่เห็นด้วย 5 เสียงซึ่งทั้งหมดเป็นชาวบ้านของอ่าวกุ้ง โดยการพิจารณาครั้งนี้ ใช้ผลการแปลภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้พิจารณาถึงบริบทอื่น ๆ เช่น การลงสำรวจพื้นที่ การสอบถามผู้อาวุโสในชุมชน

หลังจากที่ผลแปลภาพถ่ายออกมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ชาวบ้านที่คัดค้านผลการแปลภาพถ่าย ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้มีการตรวจสอบ แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา

“หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล หลาย ๆ คนไม่มีความรู้สึกเดือดร้อนเลย เรารู้สึกเขาไม่ได้หวงแหนอะไรเลยนะ ทั้งที่เขามีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดูแล สรุปแล้วเขามีจิตวิญญาณไหม กับการทำงานของเขา”

ประจิตญ์หมดความหวังกับหน่วยงานรัฐ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนบริเวณพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2553 ทั้งยังมีหน่วยงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ภูเก็ต) / เทศบาลตำบลป่าคลอก / กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง / กลุ่มเยาวชนโครงการทูบีนัมเบอร์วันบ้านอ่าวกุ้ง ร่วมกิจกรรม และรับรู้โดยทั่วกันว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่ร่องน้ำ แต่เป็นพื้นที่ป่าชายเลน

“ความไม่สอดคล้องของโครงการนี้ พื้นที่ตรงนั้นมันไม่ใช่ร่องน้ำเดิม มันเป็นป่าชายเลน มีการขึ้นป้ายทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน มีหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพจัด สิ่งนี้เป็นการรับรู้โดยกว้างขวาง ว่าเป็นพื้นที่ป่าชายเลนไม่ใช่ร่องน้ำ”

ถึงตอนนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าพื้นที่อ่าวกุ้ง (ท่าเล) เป็นร่องน้ำหรือไม่? ทางฝั่งอนุรักษ์มองว่าการแปลภาพถ่ายทางอากาศโดยผู้เชี่ยวชาญ ที่จัดหาโดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง (ท่าเล) ระบุว่าร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) มีสภาพเป็นร่องน้ำเดิม ขาดรายละเอียดและข้อมูลที่รอบด้าน เช่น ไม่ได้ระบุความลึกของร่องน้ำ และมีการระบุความกว้างของร่องน้ำที่ 30 เมตร ซึ่งไม่สมเหตุผลกับข้อเท็จจริง ทั้งยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยหรือตอบคำถามจากการแปลภาพถ่ายใด ๆ ได้  เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญฯ ที่แปลภาพถ่ายทางอากาศไม่ได้เข้าร่วมในที่ประชุม

ทางชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านไม่ยอมรับข้อสรุปนี้ จึงมีการประสานงานไปยังนักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ ทางด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศการแปลภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อมาให้ข้อมูลอีกด้าน จากการใช้ภาพถ่ายทางอากาศชิ้นเดียวกันนี้ ในการแปลผลพิสูจน์การเป็นร่องน้ำในอีกมุมมอง

ถอดรหัสแปลภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์การเป็นร่องน้ำ

อาจารย์วีรนันท์ สงสม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมและบริการด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ การแปลภาพถ่ายทางอากาศ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่มา 10 กว่าปี โดยเน้นการศึกษาการเจริญเติบโตของป่าชายเลน ทั้งในฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย 

อ.วีรนันท์ เข้ามาศึกษาภาพถ่ายทางอากาศบริเวณอ่าวกุ้ง(ท่าเล) จากการร้องขอของชาวบ้าน เป็นบริการวิชาการให้ชุมชน เขาเริ่มอธิบายการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510

พ.ศ. 2510 – 2519

ภาพทางซ้ายมือเป็นภาพที่ถูกถ่ายขึ้นในปี 2510 อ.วีรนันท์กล่าวว่า ภาพในปีดังกล่าวไม่คมชัด ทำให้เห็นเพียงลักษณะของต้นไม้ โครงสร้างพื้นที่สีสว่างกับสีทึบ จึงจำเป็นต้องนำภาพปี 2519 ทางด้านขวามือมาเปรียบเทียบกัน เราจะเห็นช่อง ก คือจุดที่เป็นประเด็นว่าใช่ร่องน้ำเดิมหรือไม่ ซึ่งจากการสังเกตดูของอ.วีรนันท์ พบว่าช่อง ก มีความเปลี่ยนแปลงไป

“ในปี 2510 ตรงที่มีการอ้างว่าเป็นร่องน้ำ  มันมีลักษณะต่อเนื่องของน้ำจากแผ่นดินไปจนถึงทางออกทะเล แต่ของปี 2519 ไม่มีความต่อเนื่องกัน นั่นแปลว่าต้นไม้มีการเจริญเติบโตขึ้นมา ดังนั้นถ้าเป็นร่องน้ำจริง จะไม่มีต้นไม้ที่ไหนโตอยู่กลางลำน้ำ”

ประเด็นต่อมาคือลักษณะวัตถุที่คล้ายหลังคาทรงสี่เหลี่ยม ในปี 2519 (ภาพทางซ้ายมือ) ซึ่งไปสอดคล้องกับภาพปัจจุบันทางขวามือ ที่มีวัตถุคล้ายหนังคาอยู่เหมือนกัน และพอดูภาพจากแนวระดับสายตาก็เป็นหลังคา และมีช่องว่าง อ.วีรนันท์ ให้ความเห็นจากหลักฐานชิ้นนี้ว่า

“วัตถุที่คล้ายหลังคามีความสำคัญเชื่อมโยงกับช่องว่างของต้นไม้ อาจเป็นที่พักของชาวบ้านหรือเป็นเส้นทางเข้าออก  ผมคิดว่าร่องน้ำที่เขากล่าวอ้าง มันคือช่องว่างที่ให้ชาวบ้านใช้เข้าออกมากกว่า”

พ.ศ. 2542

ต่อมาอ.วีรนันท์ ใช้ภาพปี 2542 เพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ถ้าสังเกตช่อง ก เราจะพบว่ามีต้นไม้เจริญเติบโตขึ้นมา จนปิดทางเข้าออกทะเล นอกจากนั้นยังเกิดช่องว่างใหม่คือ ช่อง ข และช่อง ค  นั่นแปลว่ามีการตัดต้นไม้ออก อาจจะเพื่อระบายน้ำจากนากุ้งไปสู่ทะเล ประเด็นสำคัญที่อ.วีรนันท์ตั้งข้อสันนิษฐาน คือในปี 2542 เจ้าของที่ดินไม่ใช้ช่อง ก เป็นทางระบายน้ำแล้ว

“ถ้าเป็นร่องน้ำตามธรรมชาติจริงควรที่จะต้องมีน้ำไหลประจำ แต่ช่องว่างทุกช่องที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์มากกว่าธรรมชาติ”

และความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้ง ในปี 2558 เมื่อมีการปิดช่อง ข และกลับไปเปิดช่อง ก แทน อ.วีระนันท์มองว่า การทำเช่นนี้ผู้กระทำอาจจะมีการวางแผนในอนาคต ที่มองเห็นว่าพื้นที่ ก เหมาะแก่การทำอะไรบางอย่างในอนาคตมากกว่าช่องทางอื่น ๆ

นอกจากนี้ถ้าเราสังเกตตรงบริเวณปากทางออกทะเล จะพบแนวสันทรายที่มีความสูงระดับหนึ่ง จะกั้นไม่ให้น้ำไหลไปทางขวามือแต่จะไหลไปทางซ้ายมือ แต่แบบแปลนที่ทางหน่วยงานรัฐจะขุดร่องน้ำนั้นกลับวางแปลนไปทางขวามือ ซึ่งขัดกับหลักความเป็นจริง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าโครงการขุดร่องน้ำนี้แท้จริงแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อเหตุใด

ผมว่าหลักฐานที่ผมหมา เพียงพอแล้วที่จะยืนยันว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่ร่องน้ำ เพราะเราใช้ข้อมูล 50 ปีย้อนหลัง ดูจากลักษณะการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่ามีร่องน้ำ ถ้ามีร่องน้ำต้องมีลักษณะความต่อเนื่องของระยะเวลา ถ้าเป็นร่องน้ำจริงต้องมีน้ำไหลอยู่เป็นประจำ นึกไม่ออกเลยว่าพื้นที่ตรงนั้นจะเป็นร่องน้ำได้อย่างไร”

ในตอนท้ายอ.วีรนันท์มองว่า การพยายามแปลภาพถ่ายให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นร่องน้ำ มีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะผู้จัดทำโครงการทราบดีอยู่แล้วว่าพื้นที่ตรงนั้นมีปะการัง หญ้าทะเล และทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เป็นการยากที่ EIA จะผ่าน  

“ทุกสิ่งที่ทำอยากให้ทำเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย อย่าไปลัดขั้นตอน ไม่งั้นผลกระทบถ้าเกิดขึ้นแล้ว มันนานกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม และคนที่ได้รับผลกระทบคือคนในพื้นที่ เหมือนสองฝั่งที่สนับสนุนและคัดค้าน สุดท้ายพวกเขานั่นแหละที่จะได้รับผลกระทบเอง”

ไม่เพียงแค่ข้อมูลการแปลภาพถ่ายของอ.วีรนันท์เท่านั้น ที่สรุปผลว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่ร่องน้ำเดิม แต่ยังมีความเห็นของนักวิชาการอีกอย่างน้อย 2 ท่าน คือ อ.สายสนิท พงศ์สุวรรณ คณะวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และ ดร.จตุรงค์ คงแก้ว ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการจัดการชายฝั่ง คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ที่ออกมายืนยันว่าพื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่ร่องน้ำ และไม่เหมาะสมแก่การขุดร่องน้ำ โดยทั้ง 2 คนกล่าวไว้ในงานเสวนา “อ่าวกุ้ง อัญมณีแห่งท้องทะเล กับความท้าทายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

สิ่งที่ต้องจับตาดูควบคู่ไปกับโครงการนี้ เพราะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันและอยู่ในพื้นที่เดียวกัน คือโครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้งมารีน่าว่าแท้จริงแล้วร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง (ท่าเล) ทำมาเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวบ้านที่จะใช้ท่าเรือ หรือสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองการทำธุรกิจของภาคเอกชน บนงบประมาณและการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของพวกเราทุกคน

รับชมบันทึกการเสวนา: อ่าวกุ้ง อัญมณีแห่งท้องทะเล กับความท้าทายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน