ลำนำ 'ฉันทนา' หน่าฮ่านเดอะซีรีส์ ความคับข้องใจที่แฝงฝังของลูกอีสาน - Decode
Reading Time: 3 minutes

ถ้าเราไม่เก่งพอจนครูจดจำ หรือมีวีรกรรมเลวจนครูยากจะลืม ตัวตนของนักเรียนกลาง ๆ อย่างเรายากจะถูกจดจำ ถ้าเราไม่เป็นคนที่ระบบการศึกษาขีดเส้นให้เป็น เราจะอยู่ตรงไหนในระบบนี้

หน่าฮ่านเดอะซีรีส์พูดกับวัยรุ่นกลาง ๆ เหล่านั้น ด้วยน้ำเสียงเข้าใจพวกเขาว่า ไม่เป็นไรเว้ย ยังมีพวกเราที่เข้าใจและอยากฟังแกนะ

หน่าฮ่านเดอะซีรีส์เล่าเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นบ้านโนนหินแห่ที่ชื่นชอบการเต้นหน่าฮ่าน หรือหน้าเวทีหมอลำของชาวอีสาน เล่าชีวิตของเด็กต่างจังหวัดได้แตกต่างกับรสชาติซีรีส์วัยรุ่นทั่วไทยที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ ไม่ใช่เด็กบ้านนอกหน้าซื่อตาใสอะไรก็ได้อย่างที่กระแสหลักชอบสร้าง

หากแต่หน่าฮ่านพาเราไปดูช่วงพักกลางวันที่ริมโขงของเด็กโดดเรียน ฟังเสียงหัวเราะของกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับระบบ และดิ้นรนเอาตัวรอดตามวิถีทางที่ตนเชื่อ ดูครอบครัวที่เสียพ่อไปจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 การค้นหาตัวตนของวัยรุ่น LGBT และความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย

De/code คุยกับผู้กำกับ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ถึงแนวคิดการทำซีรีส์ และตัวตนลูกอีสานผ่านงานของเธอ

“หน่าฮ่านคือพื้นที่ที่เปิดให้เด็กมีตัวตน การเต้นหน่าฮ่านคือที่ทางเดียวที่ทำให้เขารู้สึกว่ามีตัวตน ในเมื่ออยู่ห้องเรียนรู้สึกว่าไม่มีใครจำผลการเรียนเขาได้ ไม่มีใครจำว่าความสามารถพิเศษของเขาคืออะไร เพราะไม่ใช่เด็กเรียนเก่งหรือเด็กเรียนเลว เหมือนการไม่มีตัวตนไม่มีอนุสาวรีย์เป็นของตัวเอง ฉะนั้นการเต้นคือการเฉลิมฉลองให้ตัวตนของตัวเอง”

ฉันทนาเล่าว่าหน่าฮ่านเคยเป็นภาพยนตร์มาก่อน การนำกลับมาทำใหม่เป็นซีรีส์ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงาน เพราะความยาวของเรื่องถูกขยายจาก 1 ชั่วโมงกว่าในโรงหนัง เป็น 8 ตอนฉายบนทีวีและสตรีมมิ่ง จากเดิมดำเนินเรื่องด้วย Plot ต้องเปลี่ยนเป็นดำเนินเรื่องด้วยตัวละครแทน ผู้เขียนบท ผู้กำกับและทีมผู้สร้างจึงเริ่มสำรวจความคิดของวัยรุ่นอีสานในยุคนี้ว่าเขาคิดอะไร ทำอะไร และสิ่งใดที่คับข้องใจให้พวกเขาหยิบมาเล่าได้บ้าง ตัวละครในเรื่องทุกตัวจึงเป็นตัวแทนของวัยรุ่นโขงเจียมที่มีชีวิตอยู่จริง

ตัวแทนกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่ได้เก่งและพยายามเอาตัวรอดจากค่านิยมกระแสหลัก

แก๊งยุพิณค่อนข้างเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศหรือของสากล เป็นเด็กที่เรียนหนังสือได้ไม่ได้เรียนเก่ง ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เด็กเลว พอเป็นคนกลุ่มใหญ่ กลับไม่ถูกจดจำจากส่วนกลาง ต้องดิ้นรนหาที่ทางเอาเองในขณะที่เป็นวัยรุ่น เราเลยคิดว่าต้องคุยกับคนกลุ่มนี้เยอะ ๆ เพราะเขาเป็นคนกลุ่มใหญ่หาที่ทางของตัวเอง และความทุกข์ทรมานของพวกเขาคืออะไรบ้าง เหมือนทำซีรีส์ตลกเถิดเทิงทั่วไป จริง ๆ แล้ว Comedy is Tragedy ความตลกมันคือโศกนาฏกรรมในตัวมันเอง ฉันทนากล่าว

หน่าฮ่านเป็นกระแสมากขึ้นจากฉากสัญญะทางการเมือง ของลูกสาวที่สูญเสียพ่อไปจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง กรุงเทพฯ ​น่ากลัว​เด็กสาวเสียพ่อไปตั้งแต่เด็​กเพราะเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ​​ พ่อเธอไม่เคยกลับไป​ พ่อเธอตายที่นั่น​ กล้องรับตรงหน้า​สบตากับคนดู​ ฉายผ่านช่องหลักที่กลุ่มคนดูเป็นคนกรุง​ เด็กสาวใส่ชุดสีแดงสื่อนัยถึงคนเสื้อแดงที่คนกรุงอาจหลงลืม​

สัญญะเรื่องเสื้อแดงเข้ามาตอนไหน เราตั้งใจอยากพูดเรื่องนี้อยู่แล้วหรือเปล่า

เราแค่ทำสิ่งที่มันเป็นอยู่แล้ว เราไม่ได้มีสัญญะทางการเมืองเป็นสารตั้งต้นแรก เรามีชีวิตคนจริง ๆ เป็นสารตั้งต้นและอยากจะเล่ามากกว่า มันเริ่มจากการสำรวจภูมิหลังตัวละครจนไปเจอคนจริง ๆ เขาอยู่กับแม่ 2 คนและพ่อตายจากการชุมนุม ในพื้นที่นั้นอุดมการณ์ทางการเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นแรงงาน เขามีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนว่าเขาอยู่ฝ่ายไหน เราสะท้อนสิ่งนั้นออกไปมันเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว

เรื่องพวกนี้พอไปอยู่ในชุมชนจริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่และพูดถึงกันอยู่แล้ว เราเลยประหลาดใจนิดว่า อ๋อ นี่มันเป็นเรื่องใหญ่เพราะเราอยู่ในสังคมแบบไหนมากกว่า

คนในเน็ตอาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง และทำให้ดูเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะสื่อหลักไม่เคยนำเสนอภาพนี้เลย มันถูกทำให้ภาพนี้กลายเป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็น แต่พอเข้าไปอยู่ในชุมชนจริง ๆ เรื่องพวกนี้โคตรจะธรรมดา เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะดำเนินเรื่องไปอย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว

ฉันทนาเล่าว่า อิสระอย่างหนึ่งที่ทำให้เธอและทีมผู้สร้างสามารถเล่าเรื่องการเมืองได้ อาจเพราะเธอไม่ใช่ผู้กำกับชื่อดัง หรือนักแสดงที่ดังมากจนอึดอัดที่จะรับบท การเป็นคนที่ไม่ค่อยถูกมองเห็น กลายเป็นอิสระที่เธอพูดได้แล้วไม่ถูกเพ่งเล็ง

กรุงเทพฯ มันเป็นตาย่าน

เป็นหยังยุพินถึงคิดแบบนั้น

ตอนเฮาน้อย ๆ พ่อบอกว่า สิไปชุมนุมอยู่กรุงเทพฯ แต่ว่าก็บ่ได้กลับมาอีกเลย

เป็นหยังถามได้บ่

เพิ่นตาย

บทสนทนาระหว่างนางเอกและพระเอกที่ริมผา มองไกล ๆ เห็นฝั่งลาวที่ถูกขวางกั้นด้วยแม่น้ำโขง เด็กสาวเล่าว่าพ่อเธอตายที่กรุงเทพฯ เธอกลัวที่นั่นไม่อยากไป เด็กหนุ่มเล่าว่าไม่อยากเรียนต่อ เลยออกหางานทั่วอีสาน ยังไม่อยากไปกรุงเทพเพราะเขายังไม่จนตรอก

ผู้กำกับเล่าถึงเบื้องหลังบทสนทนานั้น คือคำถามว่าทำไมโอกาสทั้งหลายต้องรวมไว้ที่กทม. เธออยากลุกขึ้นทวงถามอำนาจรัฐให้คืนสู่ประชาชนคนรากหญ้า แต่ไม่กล้าพอเพราะเห็นตัวอย่างพ่อที่ตายไปของเด็กที่มีอยู่จริงในชุมชน 

คุณบอกว่าไม่อยากเข้าไปแก้ส่วนกลาง เลยดิ้นรนหาทางอื่นแทนดีกว่า

ไม่ใช่ว่าไม่อยากแก้แต่แก้แล้วก็ตาย พยายามทำแล้วก็ตาย เป็นความน่ากลัวมันเลยเป็นบทนั้นของยุพิน เป็นสองความคิดที่คุยกัน เราเองอยากแก้นะ แต่ก็มีความกลัวเป็นของตัวเองเหมือนกัน

ฉันทนาเล่าว่าถ้าเลือกได้เธอไม่อยากทำงานในกรุงเทพฯ ทำไมทุกความเจริญถึงต้องรวมไว้ที่นี่ ทั้งที่ต่างจังหวัดและบ้านเกิดของเธอมีทรัพยากรทางธรรมชาติ และศักยภาพที่ทัดเทียมกับเมืองหลวง ความขับข้องใจนี้สะท้อนผ่านหน่าฮ่าน ผ่านพระเอกและบทสนทนาของตัวละครหลายซีน

ถ้าเลือกได้เราไม่อยากมากรุงเทพฯ มันมีความจำเป็นและเหตุผลอะไรที่ประเทศนี้ความเจริญมันจะอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ทำไมจังหวัดบ้านนอกถึงไม่มีโอกาสและความเจริญบ้าง เรากลับไปสำรวจความคิดของเพื่อน คนรอบตัวที่บ้านว่าพอเขาเรียนจบก็ไม่ได้ไปไหนไกลเกินบ้าน เขาเอาตัวรอดได้ ดูมีชีวิตที่ดิ้นรนแบบที่มันควรจะเป็น

บางทีเขาอาจไม่ได้อยากอยู่บ้าน ไม่อยากจมอยู่กับความไม่เจริญ ความไม่พัฒนาแบบนั้นหรอก แต่ให้ทำยังไงได้เขาอยากมีชีวิตแบบนี้มากกว่าไปมีชีวิตที่กรุงเทพฯ คงเห็นตัวอย่างว่าการมาอยู่กรุงเทพฯ ถ้าสมมติไม่ได้เรียนหนังสือ ถ้าไม่ได้เรียนปริญญาตรีสูง ๆ อาชีพที่เป็นไปได้ใกล้ที่สุดคือสาวโรงงาน เด็กปั๊ม หรือไม่ก็พนักงานตามห้างสรรพสินค้า  

พอมีใบปริญญาชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น ตัวอย่างเงินเดือนหมื่นห้า บ้านก็เช่าข้าวก็ซื้อ หักลบกลบหนี้ทุกอย่างแล้วหมด เพราะกรุงเทพฯ มันแพง และเป็นความจริงในสังคมที่สะท้อนอยู่ เลยรู้สึกว่าไม่มีใครอยากจากบ้านมาไกล มันเป็นเมืองแห่งโอกาส แต่โอกาสนั้นแพงมาก

ฉันทนา เล่าว่าแรงบันดาลใจของพระเอกมาจากเปิ้ล ปทุมราช และก้อง ห้วยไร่ ศิลปินอีสานที่เลือกหยุดเรียนและหาเงินเลี้ยงชีวิต แม้ท้ายที่สุดเขาหาเงินได้ เขาก็หาโอกาสเรียนต่อ แต่ก่อนที่เขาจะดังเขาตัดสินใจหยุดการเรียนไว้ก่อน หากย้อนกลับไปเธอเองคงไม่เรียนต่อปริญญาเช่นกัน ครั้งนั้นพ่อบอกว่าการเรียนต่อไร้สาระเป็นภาระทางการเงิน วันนั้นเธอไม่เห็นด้วย แต่วันนี้เธอเห็นกับตาว่าพ่อคิดถูก เพราะมันไม่ได้ทำให้ชีวิตเธอดีขึ้น ยังคงดิ้นรนต่อไป ยังไม่ได้เลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจเป็นชนชั้นกลาง พ่อแม่ฉันทนายังคงเป็นชาวนายากจน ไม่เห็นเหมือนที่ระบบบอกเราให้ไขว่คว้าปริญญา

เราเรียนจบปริญญาตรี หน้าที่การงานเราก็มี เงินเราได้จากการทำงานประมาณหนึ่ง แต่ชีวิตเราไม่ได้ดีขึ้น ทำไมมีสิ่งนี้แล้วชีวิตยังไม่ดีขึ้นวะ เราอยู่ในสังคมแบบไหน ทำไมชีวิตกลายเป็นแบบนี้ ตัวเราเองยังไม่ได้เลื่อนชั้นเป็นชนชั้นกลาง พ่อแม่เราเป็นชาวนา ทุกวันนี้เขาก็ยังเป็นชาวนาและยากจน

เรายังเป็นคนนั้นอยู่ คนที่เป็นลูกชาวนา แล้วอยู่ดี ๆ มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ถ้าไม่มีเงินอันนี้แล้วกูจะได้เรียนหนังสือได้ยังไงวะ แล้วทำไมการศึกษามันถึงเป็นเรื่องเดียวกันกับการกู้เงิน ทำไมมันถึงเป็นเรื่องของหนี้สิน ทำไม หรือว่ามันเป็นอย่างนี้โดยปกติของมันอยู่แล้ว มันเลยเป็นตัวละครสิงโตนี่แหละที่เขาไม่เอาสิ่งนั้น เขาไม่เอาหนี้สินเพื่อไปลงทุนกับการศึกษา และรู้สึกว่าชีวิตที่อยู่รอดมันไม่ได้ขึ้นกับการศึกษาเสมอไป เพราะว่าตัวเรามีการศึกษาที่ดี มีหน้าที่การงานที่ดี แต่ว่าจริง ๆ แล้วแทบเอาชีวิตไม่รอดในแต่ละวัน ต่างอะไรกับคนที่จบม.6 แล้วไม่ได้ต่อปริญญาตรี ไม่ต่างกันเลย ฉันทนากล่าว

เหมือนตั้งคำถามและสะท้อนออกมา ที่ผ่านมาสื่อกระแสหลักบอกว่าต้องเรียนต่อ ใบปริญญาจะทำให้มีชีวิตที่ดี เป็นคุณค่าหนึ่งที่สังคมไทยบอก หน่าฮ่านนำเสนออีกมุมที่ไม่ค่อยเห็นในสื่อหลัก เพราะเรามองคนละเลนส์กับพวกเขาหรือเปล่า

ใช่ เรารู้สึกว่าเรามองกันคนละบริบท ซีรีส์กระแสหลักทำหน้าที่แบบหนึ่ง เรามีโอกาสได้ทำก็ทำในอีกเลนส์หนึ่ง พอเราโตมาในที่แบบนั้น เราสะท้อนสิ่งที่มันเป็นอยู่เหมือนที่คนอื่นไม่เคยเล่า แต่ดันเป็นปัญหาหลักและเป็นปัญหาใหญ่ด้วย เราเลยสงสัยว่าทำไมคนถึงไม่เล่า เราเลยเล่าซะเลย 

งานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนการทดลองที่ฉันทนาอยากรู้ว่า สังคมจะตอบกลับสารของเธออย่างไร พอมีคนเห็นด้วยและมองเห็นว่ามันคือปัญหาเช่นเดียวกัน เธอจึงรู้สึกว่า

“ในเมื่อเห็นพ้องต้องกันว่ามันมีปัญหานี้อยู่ แต่ทำไมที่ผ่านมาถึงถูกละเลยอยู่เรื่อย ๆ เราไม่แน่ใจเหมือนกัน” ฉันทนากล่าว

เมื่อถามถึงวิธีแก้ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นในบทสนทนาทั้งเรื่องระบบการศึกษา การเมือง การกระจายอำนาจ ผู้กำกับสาวบอกว่าเธอเองไม่รู้เหมือนกัน สิ่งที่เธอทำได้คือสะท้อนบอกว่าปัญหานั้นคืออะไร พร้อมสำรวจทางเลือกอื่น ๆ ที่มีอยู่จริง

เพราะอำนาจการตัดสินใจว่าจะแก้ หรือจะยินยอมให้กระจายอำนาจกลับผูกขาดไว้ที่ส่วนกลางและคนไม่กี่คน อยากเข้าไปก็กลัวตายพยายามแล้วก็ตาย 

คนตัดสินใจว่าจะช่วยหรือไม่แค่คนไม่กี่คน เราเลยทิ้งมันไปไม่สนใจตรงนั้นว่า เราจะเข้าไปแก้ปัญหาระบบได้ยังไงวะ สิ่งที่เราทำคือส่งเสียงว่าเรามีปัญหา เราเจอปัญหาและกูกำลังดิ้นรนกระเสือกกระสนด้วยหนทางตัวเองอยู่ จงรู้ไว้ซะ! ฉันทนากล่าว

อยากบอกอะไรกับวัยรุ่นกลาง ๆ ที่ไม่ดีไม่เลวตามที่ระบบกำหนด และเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมนี้

เราพูดในฐานะเพื่อนดีกว่า และเราเป็นคนแบบนั้นเหมือนเขาด้วย เรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงฐานะทางสังคมของตัวเอง เรายังเป็นชนชั้นล่างอยู่เลย เราไม่อยากพูดคำว่าสู้ ๆ นะด้วย เพราะเราไม่รู้ว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร สู้แล้วจะตายไหม สู้แล้วจะรอดหรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะเสี่ยงเอาชีวิตไปสู้ไหม แต่สิ่งที่เราอยากจะทำคือการนั่งลงและฟัง อยากบอกว่ามีคนที่ฟังปัญหาอยู่นะ

หรือแม้ตัวเราเองก็ยังมีคนที่รับฟังเราอยู่ มีคนที่พร้อมทำความเข้าใจเรา พร้อมเป็นปากเป็นเสียงและพร้อมที่จะทำ เราเป็นสิ่งนั้นให้ได้ เราว่ามันเป็นสภาพแวดล้อมของสังคมที่ดี ซึ่งสังคมตอนนี้กำลังขาดสิ่งนี้อยู่ ไม่ว่ากับคนกลุ่มไหนหรือสถานะทางการเมืองแบบไหน การนั่งลงแล้วฟังกันไม่ค่อยมีในสังคมนี้ ต่อให้เข้าใจหรือไม่เข้าใจแต่ขั้นแรกเลยต้องฟังกันก่อน

หน่าฮ่านเดอะซีรีส์เป็นหนึ่งในความหวังใหม่ของสื่อบันเทิงไทยในมุมของฉัน น้ำเสียงจริงใจ บทที่นุ่มลึกและใจกว้างกับตัวละครทุกตัว ความสามารถของนักแสดง ภาพและสัญญะแฝงทั้งหลายในเรื่องล้วนควรค่าแก่การรับชมยิ่ง  

เครดิตรูปภาพจาก: TV Thunder