“จะสู้จนกว่าความยุติธรรมในใจของทุกคนจะเบ่งบานออกมา” เสียงเรียกร้องจากผู้หญิงต่อความยุติธรรมที่ยังไม่สิ้นสุด - Decode
Reading Time: 3 minutes

มีนาคมเป็นเดือนของผู้หญิงทั่วโลก ด้านหนึ่งของผู้หญิงในประเทศไทยที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองจากการที่มีคนในครอบครัวถูกอุ้มหาย เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของรัฐ หรือถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐ ต่างต้องต่อสู้อย่างเจ็บปวด แต่ยังต้องเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า วันหนึ่งความยุติธรรมจะเกิดขึ้น

ในเวทีเสวนา…จากบิลลี่ถึงชัยภูมิสู่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน “Woman: Unfinished Justice ผู้หญิงกับความยุติธรรม: การต่อสู้ไม่สิ้นสุด” เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 65 ซึ่งจัดโดย Protection International กลุ่มดินสอสี และกลุ่มด้วยใจรัก เชิญผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาแลกเปลี่ยน “เส้นทางการต่อสู้” ว่าพบเจออะไร และมีความหวังต่อความกระบวนยุติธรรมแค่ไหน

อีก 2 ปีคดีหมดอายุความ – ผู้หญิงเป็นเหยื่อเปราะบางกว่าที่คิด

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้ถูกอุ้มหายบนถนนกลางกรุงเทพมหานคร จนบัดนี้ 18 ปี ยังไม่มีผลสรุปว่าทนายสมชายอยู่ที่ไหน? รัฐหรือใครเป็นผู้ก่ออาชญากรรมที่ต้องรับผิดอย่างแท้จริง?

อังคณาเปรียบเส้นทางการต่อสู้ 18 ปีเป็นคน ๆ หนึ่งที่วันนี้บรรลุนิติภาวะแล้ว และหากเปรียบเป็นคดีฆาตรกรรม อายุความ 20 ปี ก็ใกล้จะหมดลงแล้ว  “ไม่ว่าจะต่อสู้แค่ไหน มันก็ต้องสิ้นสุด” แต่ถึงอย่างไร ทุกคนที่เจอเหตุการณ์นี้ก็มีสิทธิที่จะรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวของตัวเอง และมีโอกาสได้ทบทวนความจริงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ เหยื่อไม่ใช่เพียงแค่คนที่ถูกฆ่า แต่คือคนข้างหลังด้วย ซึ่งเหยื่อจะเปราะมากขึ้นไปอีกหากเหยื่อนั้นเป็นผู้หญิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ร่ำรวย ผู้หญิงที่อยู่บนเวทีในวันนี้ ล้วนเป็นเหยื่อการถูกละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้เกิดความซับซ้อนต่อการเรียกร้องความยุตืธรรม

“ผู้หญิงที่มีคนในครอบครัวถูกอุ้มหาย มันไม่ใช่แค่ใครสักคนหายไป มันคลุมเครือ มันตอบคำถามลูกไม่ได้ มีชีวิตหรือไม่มี อยู่ที่นี่หรือที่ไหน หรือไม่อยู่ที่ไหน มันตามหลอกหลอนคนในครอบครัวทุกคน  มีคนเคยถามว่า ทำไมไม่ลืม รับเงินไปแล้วก็ใช้ชีวิตต่อ “มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น” เราจะได้ยินเหยื่อพูดซ้ำ ๆ กันว่า

“อยากให้กรณีของตัวเองเป็นครั้งสุดท้าย แต่มันไม่เป็นครั้งสุดท้ายได้ ถ้าคนกระทำยังลอยนวล และคนทำผิดไม่เคยหลาบจำ”

ด้วยเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้เลือกเอง การที่จะยืนระยะ และยืนหยัดต่อสู้ได้อย่างนานเพื่อให้ความจริงปรากฏนั้น อังคณาบอกว่ามันอยู่ได้ด้วยความหวังว่า “ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นจริง” แม้ที่ผ่านมาหลายสิบปี ตั้งแต่พฤษภา 2535 ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลอยู่ ดังนั้นเสียงของทุกคนมีความสำคัญ เพราะทุกคนสามารถพบเจอสถานการณ์เดียวกันนี้ได้

“เสียงของทุกคนจึงสำคัญ ว่าเราจะไม่ยอมให้เกิดสิ่งนี้อีก การละเมิดสิทธิโดยรัฐต้องไม่เกิดขึ้น”

จะสู้จนกว่าความยุติธรรมในใจของทุกคนจะเบ่งบานออกมา

ส่วน ยุพิน ซาจ๊ะ กลุ่มด้วยใจรัก ตัวแทนครอบครัวชัยภูมิ ป่าแสผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่าทหารที่ยิงชัยภูมิเป็นการป้องกันตัว ไม่ต้องรับผิด แม้มีหลักฐานสำคัญ คือ ภาพจากกล้องวงจรปิด และการตรวจสอบลายนิ้วมือที่วัตถุพยาน แต่นั่นก็ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณา

ยุพินเล่าว่า นอกจาการต่อสู้ที่แทบไม่คืบหน้า ยังถูกปฏิเสธการเยียวยาซ้ำแล้วซ้ำอีก ขณะที่แม่ของชัยภูมิก็สุขภาพไม่ดี ต้องต่อสู้คนเดียว เพราะหลังจากเสียลูกไป สามีก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งตนเองในฐานะตัวแทนกลุ่มด้วยใจรักก็รวมกันช่วยเหลือ และยังช่วยเหลือคนที่มีชีวิตอยู่ คือ นาหวะ ซึ่งถูกติดคุกไปกว่า 300 วัน และเพิ่งออกมาก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรม หรือการชดเชยจากรัฐ

“กระบวนการยุติธรรมช้ามาก ในเส้นทางแห่งการต่อสู้ ชีวิตเจอการคุกคาม ข่มขูทางร่างกาย จิตใจ กฎหมาย พวกเราต้องใช้ชีวิตในเมืองที่ไม่คุ้นชิน ต้นทุนของการเรียกความยุติรรม ไม่ใช่แค่เงินแต่เราเจ็บปวดทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องนี้ เรายังถูกตราหน้า เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของความเป็นคน”

“อยากจะถามผู้มีอำนาจ ว่าการทำความจริงให้ปรากฎ และการทำความเท็จให้เป็นความจริง อันไหนคือความยุติธรรม”

แต่ถึงอย่างไร ยุพินก็หนักแน่นว่า ในวันที่ความยุติธรรมยังไม่ปรากฎ ก็ยังต้องมีความหวังในกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพราะหากมันยังมีช่องทางให้ต่อสู้แปลว่ายังสามารถเรียกความเป็นธรรมกลับมาได้

 “จะสู้จนกว่าความยุติธรรมในใจของทุกคนจะเบ่งบานออกมา”

ไม่ใช่แค่ความยุติธรรมต่อบิลลี่ แต่คือเป้าหมายที่ทำกินของพี่น้องบางกลอย

ไม่ต่างจาก พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้สูญหายไปหลังจากถูกหัวหน้าและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวที่ด่านมะเร็ว จนภายหลัง DSI พบซากกระดูกในถังน้ำมันใต้แม่น้ำเพชรฯ ในเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน

มึนอบอกว่า ใจสลายทุกครั้งที่ได้เห็นภาพของบิลลี่ แต่ต้องทำใจให้เข้มแข็งเสมอ เพื่อเป็นหลักให้กับครอบครัว ลูก ๆ และญาติ หรือทุก ๆ ครั้งที่พวกเขาไถ่ถามเรื่องคดี และฝากความหวังการทวงคืนความยุติธรรมให้กับบิลลี่  ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 65 มึนอได้ติดตามเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อส่งสำนวนไปที่อัยการสุงสุด จนวันนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว

“มีชิ้นส่วนที่ DSI ยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว แต่อัยการสูงสุดไม่เชื่อที่ DSI บอก ถ้าไม่เชื่อในนิติวิทยาศาสตร์ เราจะเชื่ออะไรได้อีกบ้างในโลกนี้”

ความหวังของมึนอเพื่อจะต่อสู้ได้ต่อไป คือ กำลังจากใจคนหลาย ๆ คน ญาติพี่น้อง คนที่เจอสถานการณ์เดียวกัน รวมถึงลูกที่กำลังเติบโต ซึ่งเมื่อลูกโตแล้วรู้เรื่องก็อาจจะมาสานต่อ เป็นตัวแทนต่อไป ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การนำความยุติธรรมสู่บิลลี่เท่านั้น แต่คือการทำให้สิ่งที่บิลลี่ต่อสู้เพื่อพี่น้องบางกลอยให้เกิดขึ้นจริง คือ การที่ทุกคนมีที่ดินทำกิน

คดีมุมดำ กับยังต้องมีความหวัง แม้ว่าเขา (รัฐ) จะไม่ให้ถึงเรา

ด้าน พะเยาว์ อัคฮาด แม่ผู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกสาว กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 แต่กลับถูกชายชุดดำยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลอาสา ซึ่งขณะนี้คดีความอยู่ชั้นอัยการของศาลทหาร แต่ยังไม่มีความคืบหน้าทางด้านคดีใด ๆ

คดีนี้ผ่านไปแล้ว 12 ปี พะเยาว์เล่าว่ากระบวนมันสะดุด และหยุดที่รัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งมีคู่กรณีนั่งอยู่ในรัฐบาลด้วย ทั้งที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิตเป็นร้อยคน และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน มีการชี้มูลการตายแค่ 20 กว่าศพเท่านั้น คดีของน้องเกดก็เช่นเดียวกัน ที่ถูกชี้มูลว่าการตายที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐในรางรถไฟฟ้า 8 คน ที่ยิงเข้าไปในวัดปทุมวนาราม

“กระบวนการไต่สวนแต่เดิมอยู่ที่ศาลพลเรือน ทหาร 8 คนได้เจอหมดทุกคน เวลาเจอกันก็จะก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ จนการไต่สวนใช้เวลาเป็นปี ศาลชี้มูลความตาย ส่งคดีกลับไปที่อัยการเพื่อให้ไต่สวนต่อ อัยการคดีพิเศษ เราก็รอความยุติธรรม พอเกิดรัฐประหาร 2557 เจ้าหน้าที่ DSI ที่ทำทั้งหมดเปลี่ยนตัว  ล่าสุด มีคำสั่งให้ทำคดีเป็นมุมดำ “หาคนกระทำผิดไม่ได้” เราไม่ยอม เคส 6 ศพที่วัดปทุมฯ ทำไม่ได้เพราะมีการชี้มูลไว้แล้ว ต้องไต่สวนต่อไป”

ไม่ใช่แค่ระหว่างทางของการเรียกร้องเท่านั้นที่ยากลำบาก พะเยาว์บอกว่า เคยถูกจับขัด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพราะไปเล่นละครใบ้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชน

“วันนั้นดันถูกจับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งต้องไม่เกิน 5 คน แต่เราไป 4 คน พอไปโรงพักก็เลยถามเขา ดิฉันมีแค่ 4 คนเองทำไมถึงจับ ตำรวจบอกว่าต่อให้คนเดียวก็จับเรื่องนี้ นี่หรือคือกระบวนการยุติธรรม ตอนนี้เรามองเลยว่า กระบวนการยุติธรรมนั้นแม้ไม่ได้เรียนกฎหมายยังรู้เลยต้องทำไง แต่มันใช้ไม่ได้เลย ยิ่งในยุคประยุทธ์ก็คือใช้อะไรไม่ได้เลย ต้องสู้กันไปอีกนาน”

พะเยาว์บอกว่า “ทุกคนต้องมีความหวัง เพราะความยุติธรรมยังไม่มาถึงเรา แม้ความเป็นจริง เขาจะไม่ยอมให้ถึงเรา เขาจะรอให้หมดอายุความ 20 ปี ซึ่งของเราเหลือ 8 ปี แต่ตอนนี้ไปอยู่ในมือทหาร เราต้องสู้หนักกว่าเดิมอีกมั้ง และต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  ตอนนี้ฝากความหวังไว้ที่เด็กรุ่นหลัง เพราะว่ารุ่นดิฉันถูกละเมิดจนชิน”

จากมุมมอง “นักข่าวผู้หญิง” ที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน

ขณะที่สื่อมวลชนที่ทำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอดอย่าง ฐปนีย์ เอียดศรีไชย สะท้อนว่า ตั้งแต่ทำประเด็นเรื่องนี้มา มันไม่เคยง่ายเลยที่จะต้องทำให้ผู้ชม และประชาชนเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ความพยายามที่ต้องให้ข่าวนี้ ซึ่งถือเป็นข่าวนอกกระแสได้เผยแพร่ในช่วงเวลาข่าวที่มีอย่างจำกัด  และในฐานะผู้หญิงก็พบอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงข่าว และนำเสนอข่าว

“เราจะต้องใช้พลัง โดยเฉพาะแรงงานทาส แรงงานประมงคนไทยที่ตกเรือ หรือติดคุก เหยื่อการค้ามนุษย์ที่อินโดนีเซียก็ใช้พลังสูงมาก เราต้องเจอกับคนที่ไม่อยากให้เราทำ เจอการข่มขู่ เราเจอทั้งเรื่องการใส่ร้าย กล่าวหาใน social media เจอขบวนกรไอโอที่เข้ามาโจมตี”

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรณีของการนำเสนอเรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเมื่อ 8 ปีก่อน ที่ถูกกล่าวหาว่าขายชาติ หรือเจอคำพูดในทำนอง “สงสารนักก็หาบ้านให้อยู่เลยไหม” ซึ่งฐปนีย์บอกว่า เวลานั้นมีกระบวนการไอโอเข้ามาปลุกปั่นเกลียดชังโรฮิงญา และตัวเราด้วย  แม้เสียใจ แต่ก็ได้รับพลังที่จะทำความเข้าใจเรื่องโรฮิงญาต่อ จนชิ้นงานได้รับรางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ และหลังจากนั้นผ่านมาเรื่องราวของโรฮิงญาถูกพูดถึงในสภาฯ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้คนเริ่มเข้าใจก็มีการขอโทษ และเข้าใจสิ่งที่ทำมากขึ้น

ขอบคุณภาพจาก Protection International