“เรายังจะกล้าฝันอะไร ในประเทศนี้ได้อีกหรอคะ”
คือคำตอบของนาเดียจากการสัมภาษณ์ของจามี่ หญิงสาวมุสลิมที่รักการเดินทาง เธอเดินทางไปเป็นอาสาสมัครอยู่ทั่วทุกมุมโลก แต่โควิดทำให้เธอเดินทางไม่ได้ การเดินทางลงชายแดนใต้ คือหมุดหมายใหม่ที่เธอไม่เคยคิดวางแผน แต่วันนี้แผนที่ไม่เคยคิด กลับกลายเป็นหนังสือบทสัมภาษณ์เสียงของคนหนุ่มสาวในพื้นที่ พื้นที่ที่เงียบงันจากสื่อ แต่ดังก้องกังวานจากเสียงกระสุนและระเบิดทุกวี่วัน
“หน้าที่ของสื่อ คือการถ่ายทอดเสียง ของผู้ที่ซึ่งไร้สิทธิ์ไร้เสียง” (คือคำกล่าวของมัตสึดะ ตัวละครในซีรีส์ The Journalist :NETFLIX)
BEING YOUNG IN THE RED ZONE เป็นหนังสือประเภทนั้น เป็นเล่มที่บอกว่าความสำคัญของการมีสื่อ คือความสำคัญที่จำเป็นต่อการถ่ายทอดเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อย จามี่ได้เดินทางเพื่อสัมภาษณ์เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งคนที่ออกมาเป็นแกนนำและคนที่เข้าร่วมชุมนุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง สัมภาษณ์ศิลปินที่พยายามขยับเพดานความเชื่อของคนในพื้นที่ ว่าเผด็จการคือตัวปัญหาที่ทำให้บ้านเขาหยุดชะงักไม่พัฒนาไปไหนเสียที อยู่ภายใต้กฎหมายที่ไม่ปกติถึงสองฉบับ อยู่บนถนนรถวิ่งที่มีด่านกว่าพันจุด มีเจ้าหน้าที่ถือจับอาวุธอย่างกับจะต้องห้ำหั่นกันตลอดเวลา สัมภาษณ์ “แพะ” แพะที่ไม่ใช่สัตว์ แต่ถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ เขาโดนกล่าวหาว่ามีความผิด โดนจับเข้าคุก ครอบครัวสลาย คนรอบข้างห่างหาย กลายเป็นคนไร้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีที่จะใช้ชีวิตอย่างปุถุชนสามัญทั่วไป
“นาเดีย”
เธอเป็นเยาวชนมุสลิมหญิงในพื้นที่ ที่บอกว่าที่แห่งนี้ไม่มีพื้นที่สำหรับความคิดความฝัน เธอเคยฝันว่าอยากเป็นประธานาธิบดี ด้วยจุดมุ่งหมายเดียว ที่อยากทำให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงเสียที แต่วันนี้เธอมีความฝันที่จะเข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่น อยากเห็นยะลาบ้านเกิดของเธอดีขึ้น ตอบสนองต่อคนทั่วไปมากขึ้น ทั้งต่อคนหนุ่มสาว ต่อคนวัยกลางคน ต่อคนชรา เธอบอกว่านี่แค่สิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ แต่ประเทศนี้ให้เราไม่ได้
จินตนาการที่ไร้ขอบเขต แต่ถูกบีบไม่เหลือพื้นที่ ความฝันต่อเสรีภาพและสันติภาพกลับมีค่ามากที่สุดแค่ตอนหลับนอน แต่ช่างห่างไกลจากความเป็นจริงในชีวิตตื่น ความเจ็บปวดจากการกดทับ โดนปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองชั้นสอง เจ้าหน้าที่อยากควบคุมตัวใคร อยากเชิญใครเข้าค่ายทหาร ก็แค่เอารถพิกอัปไปจอดหน้าบ้านแล้วคว้าตัวขึ้นรถ
อย่างที่เกิดกับอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ที่เสียชีวิตอย่างปริศนาหลังจากถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหาร เป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ถืออาวุธสงครามอยากลั่นไกตรงไหนก็ลั่น อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการยิงรถรับส่งนักเรียนที่อำเภอยะรัง เกิดขึ้นกับหนุ่มวัยรุ่นตั้งแคมป์ในจังหวัดนราธิวาสที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าใจผิดว่านี่คือคนร้าย
ชีวิตคนเรายิงกันง่ายขนาดนั้นเลยหรือ? คำถามง่าย ๆ คือทำไมเยาวชนเหล่านี้ถึงไม่มีสิทธิ์โกรธ โกรธที่พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตปกติเหมือนเด็กทั่วไป โกรธที่ต้องทนเห็นอนาคตของตัวเองโดนพรากไปต่อหน้าต่อตา หากเด็กคนไหนในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่อายุ 18 ปีในวันนี้ นั้นแสดงว่าเขาเกิดปี 2547 ปีที่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ปะทุจนถึงทุกวันนี้
และนั้นหมายความว่า ทั้งช่วงชีวิตของเขาอยู่ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบ อยู่ภายใต้กฎหมายอันพิลึกพิลั่น ทั้งพรก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก แล้วจะไม่ให้พวกเขาเหลืออดกับจินตนาการแห่งสันติภาพได้อย่างไร
“อามีน”
นักไถสเกตบอร์ดที่อยากเห็นรัฐสวัสดิการ แม้อามีนจะบอกว่าในวันนี้พื้นที่ห่างไกลอย่างบ้านเขา ยังไร้ซึ่งความเข้าใจต่อพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่เขาก็อยากเห็นมัน เขาเป็นคนเดียวในหนังสือเล่มนี้ที่ตอบคำถามของจามี่ว่า
“ผมไม่มีหวังเลยว่าพื้นที่บ้านผมมันจะสงบ”
ในฐานะคนอ่านคงคิดว่าอามีนนั้นมองโลกในแง่ลบจนเกินไป ไม่เหลือพื้นที่แม้เพียงแค่หวังว่ามันจะสงบ แต่ถ้าหากเราเป็นคนที่เกิดและเติบโตมาในพื้นที่อย่างที่อามีนเติบโต คงเข้าใจได้ว่าอามีนไม่ได้ใจร้ายเกินไป อามีนบอกกับจามี่ว่า แค่อย่างน้อยที่สุด ที่นี่(ชายแดนใต้) มันต้องดีขึ้น แต่ก่อนที่นี่จะดีขึ้น โครงสร้างใหญ่ทางการเมืองส่วนกลางต้องดีขึ้นก่อน
ครั้งหนึ่งในคลาสเรียนกับอาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นบรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ อาจารย์เอกรินทร์เคยให้ความเห็นว่า
“สามจังหวัดชายแดนใต้จะสงบได้ ประเทศไทยจะต้องเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน หรือถึงแม้ต่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ก็ไม่แน่ใจว่าชายแดนใต้จะสงบ”
“ซิดดิก”
ศิลปิน Street art ที่(หน่วยงานความมั่นคง)ไม่อยากให้มีผลงานดังที่ผ่านมาเช่น ภาพประธานาธิบดีปูตินและนายกประยุทธ์ที่กำแพงเก่าใกล้หาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เหตุผลเดียวของซิดดิกคือต้องการบอกว่าทั้งสองคนคือเผด็จการเหมือนกัน เป็นภาพที่ไม่ได้อธิบายความหมายด้วยข้อความ แต่อธิบายมันด้วยภาพเปรียบเทียบ
ซิดดิกบอกว่าใครขับรถผ่านไปผ่านมา จะได้ตั้งคำถามว่าทำไมสองคนนี้ถึงมาอยู่ในภาพเดียวกัน มีคนบอกให้ไปลบ ซิดดิกบอกว่าเขาจะไม่ลบผลงานตัวเอง ถ้ามีใครไปลบเขาจะไปพ่นใหม่ หลายคนเชื่อว่าสิ่งที่ตื่นมาทำในตอนเช้าทุกวี่วัน จะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ให้ดีขึ้นได้บ้าง ซิดดิกก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เชื่อว่าภาพพ่นสีข้างกำแพงจะช่วยสื่อสารถึงความต้องการการเปลี่ยนแปลง ที่อย่างอย่างน้อยที่สุดก็อยากเห็นบ้านเกิดของเขาพบเจอกับสันติภาพ
แพะ (แพะที่ไม่ใช่สัตว์)
ผมไม่อยากนำบทสัมภาษณ์ส่วนนี้ของหนังสือมาเปิดเผยเลยแม้เพียงน้อยนิด ด้วยเหตุผลเพียงข้อเดียว เพราะว่าผมอยากให้คุณได้อ่านส่วนนี้มากที่สุด เป็นส่วนที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด คราบรอยน้ำตาที่ยังไม่ห่างหาย แม้ในวันที่ “แพะ” ออกจากคุกมาแล้วจากการยกฟ้องเพราะไม่มีมูลว่าเขามีความผิด แต่เขาบอกว่า อนาคตของเขามันหมดไปตั้งแต่วันแรกที่เขากลายเป็นแพะ ครอบครัวโดนคนในชุมชนหนีห่างและเกลียดชัง ในวันที่กลับออกมาก็ไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ เนื่องจากเคยมีชื่อว่าถูกดำเนินคดี
จากบทสัมภาษณ์ของจามี่แพะพูดว่า
“มันยากมาก เพราะสังคม สังคมตีตราว่าผมเป็นโจรไปแล้ว”
ทั้งยากต่อการมีชีวิตใช้ชีวิตแบบคนปกติ ยากที่จะมีความฝัน และที่สำคัญยังยากที่จะมีความสุข ด้วยสัมพันธภาพในความเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจและกระดูกสันหลัง ทั้งรู้สึกหดหู่และเป็นห่วง นี่คงเป็นสปอยล์เดียวจากบทสัมภาษณ์บทนี้ แต่ผมอยากให้คุณได้อ่าน เพราะเป็นบทเดียวจากเก้าบทที่ผมอ่านมันด้วยน้ำตา
“มิน”
มิน สุฮัยมี เขาคือหนึ่งเดียวจากพื้นที่ชายแดนใต้ บนเวทีปราศรัยในท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 มินคือหนึ่งในเยาวชนที่ปรากฏหน้าสื่ออยู่หลายครั้ง จากเวทีปราศรัยในที่ต่าง ๆ วันนี้มีหมายคดีจากการฟ้องของเจ้าหน้าที่กว่า 2 หมาย ทั้งพรก.ฉุกเฉิน และพรบ.ชุมนุมในที่สาธารณะ แต่จากบทสัมภาษณ์ของจามี่ เห็นได้ว่ามินยังมีจุดมุ่งหมายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังอันแรงกล้า ที่อยากเห็นสังคมไทยเปลี่ยนแปลง
โดยเฉพาะปัตตานี สามจังหวัดชายแดนใต้บ้านเกิดของเขา ช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์มินบอกว่า การใช้ชีวิตในพื้นที่แบบนี้มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง มันทำให้เขาต้องดิ้นรนมากกว่าคนส่วนอื่นในประเทศ เพราะเขาต้องหนีแรงเหนี่ยวที่พันธนาการไม่ให้ที่แห่งนี้พัฒนา มินบอกว่าต้องพยายามถีบตัวเองอยู่ตลอดว่า เพื่อก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน ต้องหาโอกาสไปต่างประเทศ หรือไปใช้ชีวิตนอกพื้นที่
น่าเสียดายที่บ้านเกิดไม่ได้กลับเป็นแรงบันดาลใจที่มุ่งหมายให้คนหนุ่มสาวได้กลับไปใช้ชีวิต หรือถ้าหากคิดอีกมุมหนึ่ง นี่เรากำลังสูญเสียทรัพยากรบุคคลไปเท่าไหร่ หรือเราจะต้องเสียอีกเท่าไหร่ เพื่อแลกกับอนาคตที่ไม่อาจวาดหวังว่าคนหนุ่มสาวจะกลับมาใช้ชีวิตที่นี่ได้อย่างคนหนุ่มสาวทั่วไป ซึ่งคำตอบง่ายมากจากเหตุผลที่แสนยาก
“ทำให้พื้นที่นี้สงบดิ แล้วคนจะกลับมาการพัฒนาจะกลับมา”
“ยังคงหวังว่าจะสงบ แต่ไม่รู้ว่าวันไหน” คือคำตอบสั้น ๆ ที่มินได้ให้ไว้กับจามี่ และเราในฐานะนักอ่าน ก็ยังคงหวังว่าที่นั่น จะพบกับรุ่งแสงยามเช้า ที่เปี่ยมไปด้วยสันติภาพ เสรีภาพ และประชาธิปไตย
หนังสือ: BEING YOUNG IN THE RED ZONE
ผู้เขียน: จามี่ เลาะวิถี
สำนักพิมพ์: ปาตานีฟอรั่ม
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี