ลงทุนเพื่อเกษียณแค่มายา ข้าวปลาสิของจริง - Decode
Reading Time: 2 minutes

การเผชิญหน้ากับวัยเกษียณเป็นเรื่องของทุกคน แต่การเกษียณก็ต้องอาศัยหลายปัจจัย De/code ชวนพูดคุยกับสองเคสในโลกคู่ขนานระหว่างคนทำงานในสาระบบประกันสังคมม.33 กับแรงงานนอกระบบ เอ้ พรพัชรนันท์ พัฒนเธียร ในฐานะคนงานอิสระ อายุ 48 ปี และ สุนี (นามสมมุติ) อายุ 50 ปีในฐานะพนักงานประจำ เราพูดคุยกับทั้งสองคนในมุมมองของการลงทุนเพื่อการเกษียณ และการวางแผนในวัยเกษียณ เปิดบทสนทนาด้วยการให้ทั้งสองเล่าความแตกต่างของสิทธิที่ได้รับ

สุนีได้เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับสวัสดิการที่พนักงานประจำได้ เมื่อเกษียณว่า “ถ้าทำครบ 180 เดือน หรือ 15ปี เราถึงจะมีสิทธิ์ที่จะได้รับบำนาญจากประกันสังคม ตอนแรกจะได้รับตอนอายุ 55 แต่กฎหมายเปลี่ยนแล้วเป็นอายุ 60 โดยคำนวณจากสัดส่วนของระยะเวลาการทำงานของเรา โดยไม่ว่าเราจะเงินเดือนเท่าไรก็เขาคิดสูงสุดหมื่นห้า เหมือนเราจ่ายไปครึ่งหนึ่งแล้ว บริษัทหรือหน่วยงานเราก็ออกครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าครบตามที่เขากำหนด เราจะได้เดือนละ 3000 ถ้าเราทำมากกว่านั้น เขาก็คิดสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นไปตามระยะเวลาการส่งประกันสังคม

นอกจากนี้ที่ทำงานพี่ก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แนวคิดคล้ายประกันสังคมเราจ่ายครึ่งหนึ่งบริษัทจ่ายครึ่งหนึ่ง แต่อันนี้แล้วแต่บริษัทว่าจะให้พนักงานเลือกหักสมทบเข้ากองทุนกี่เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือน และกองทุนเลี้ยงชีพไม่จำเป็นว่าเราต้องเกษียณ เราออกจากบริษัทเมื่อไหร่ เราก็ได้เงินเป็นก้อนแล้วแต่ที่เราสะสมไว้เท่าไหร่ แต่มันก็มีหลักเกณฑ์บริษัทจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ถ้าเราทำงานมา 5 ปี เราสะสมได้หนึ่งแสน แล้วบริษัทก็จ่ายสมทบให้ก็ได้สองแสน แล้วสองแสนนี้ก็จะมีผลกำไรด้วย ที่บริษัทหลักทรัพย์ลงทุนไปเขาก็จะแจ้งมาทุกปีว่า กำไรปีนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าเราทำงานไม่ครบ 5 ปี อันนี้ก็จะได้แค่ส่วนของเรา แต่ทำงานไปยาวกว่า 5 ปี มันก็จะได้เยอะขึ้น

สุนีชี้ให้เห็นปัญหารูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงในการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมว่า

ประกันสังคมไม่ให้สิทธิด้านการรักษาในตอนเกษียณ พี่มีความรู้สึกว่า ทำงานมาทั้งชีวิต แล้วเราจ่ายประกันสังคมมาตลอด แต่พอเกษียณก็ตัดสิทธิประกันสังคมเลยมันก็แปลกดี

เราได้พูดคุยกับเอ้ในมุมมองของคนทำงานนอกระบบ

“อาชีพอิสระถ้าเราไม่ได้เก็บออม หรือวางแผนการเงินในระยะยาว เราจะไม่มีเงินเก็บเงินออมในวันเกษียณเลย แต่จะมีเงินออมกอช. สำหรับการออมที่อายุไม่เกิน 60 ปี มีตรงนี้ก็จะช่วยให้มีเงินหลังเกษียณได้ ซึ่งรัฐจะช่วยสมทบครึ่งหนึ่ง”

เธอยังได้เล่าเสริมถึงวิธีการเตรียมตัวว่า ก่อนหน้านี้วางแผนไว้แล้ว เพราะปกติจะมีร้านตัดผมอยู่ มีรายได้ค่อนข้างชัดเจน แล้วก็แน่นอน ยังพอมีเหลือเก็บไว้บ้าง พอที่จะได้คิดว่าจะวางแผนอย่างไรกับชีวิตในการเกษียณต่อไป แต่สถานการณ์โควิดกลายเป็นว่า มันไม่ได้รายได้จากตรงนั้น ที่อยู่ทุกวันนี้ก็ลำบากมากๆ ก็ได้แต่หวังว่า สถานการณ์โควิดของไทยจะดีขึ้น เศรษฐกิจจะดีขึ้น เพื่อที่เหลือเก็บเอาไว้ใช้ในการเกษียณ

“คิดไว้แล้วที่จะลงทุนเพื่อการเกษียณ แต่รายได้ที่ใช้จ่ายในครอบครัวมันแทบจะไม่พอ มันก็ไม่เหลือให้เราเพื่อเตรียมตัวเกษียณได้”

โควิดพรากทุกอย่างไปจากการเกษียณ

ก่อนโควิดเรามีรายได้พอที่จะเหลือกินเหลือเก็บ แต่ช่วงโควิดเราติดลบยังมองไม่เห็นว่า ถ้าเกษียณแล้วเราจะเป็นอย่างไร ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ อาจจะต้องหาอาชีพเสริมขายของออนไลน์ หรืออาชีพอื่นต้องดิ้นรนกันไป

เอ้กล่าว ก่อนเล่าด้วยน้ำเสียงของการหมดหวังต่อว่า

“มันพรากไปทุกอย่าง อย่าไปพูดถึงช่วงเกษียณเลย เอาปัจจุบันที่ต้องกินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทุกวัน อย่างพี่มีแม่ 1 คน มีลูกอีก 2 คน ซึ่งกำลังอยู่ในวัยเรียน ค่อนข้างจะลำบากรายจ่ายเพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้เราไม่ได้คิดว่าจะมีสถานการณ์โควิด ได้ตัดสินใจซื้อรถทำให้เรามีหนี้สินมีภาระที่จะต้องจ่าย แต่รายได้กลับลดลง และมีสิ่งที่เราต้องจ่ายเท่าเดิมหรือมากขึ้น ตอนนี้ที่บ้านเจ็บป่วยด้วยโควิดสองคนแม่และลูกชาย ก็ยังดีที่สามารถเข้าระบบการรักษาได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายก็ยังทุเลาไป แต่ตอนนี้ถ้ามีการเจ็บป่วยที่ต้องมีค่าใช้จ่ายขึ้นมา จะต้องลำบากมากแน่”

ไม่ใช่แค่เพียงเอ้ที่ทำอาชีพอิสระที่ต้องถูกพรากความฝัน “การเกษียณ” จากโควิด แต่รวมถึงพนักงานประจำที่ถึงแม้จะมีสวัสดิการรองรับมากกว่า โดยสุนีได้เล่าให้เราฟังว่า

“ต้องออกจากงาน ถ้าอยู่ครบ 5 ปี จะได้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากกว่านี้ แต่เขาก็เลิกจ้าง ทั้งที่อีก 2 เดือนจะทำงานครบ 5 ปี เสียดายแทนอยู่เหมือนกัน”

ต้นทุนของการ “กลับบ้าน” ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับทุกคน

ค่าครองชีพในเมืองมักจะสูงกว่าในต่างจังหวัดอยู่แล้ว ทำให้หลายคนเมื่อเข้าสู่ช่วงเกษียณหลังวัยทำงาน มักจะย้ายไปอยู่ในต่างจังหวัด เราได้ลองถามเอ้ว่า หากเกษียณแล้วย้ายถิ่นกลับต่างจังหวัดยังพอมีอนาคตบ้างไหม

“ถ้ามีที่อยู่ต่างจังหวัด ก็อยากเกษียณไปอยู่ต่างจังหวัดเหมือนกัน แต่ไม่มีที่ทางในต่างจังหวัด ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนต่อไป มันไม่มีทางเลือก”

โดยสิ่งที่ทำให้เอ้คิดว่าเป็นไปไม่ได้ สำหรับทางเลือกการย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดนั้นเธอกล่าวว่า

“เมื่อก่อนเคยมีที่อยู่ต่างจังหวัด แล้วที่ดินมันไม่มีโฉนดอะไรที่จับจองกัน พอแม่มาทำงานที่กรุงเทพ ก็ให้ญาติอยู่ เขาเอาที่ตรงนั้นไปขาย ก็หวังเล็ก ๆ ว่าอยากมีที่ตรงนั้นไว้ เอาไว้ปลูกบ้านอยู่ตอนแก่ แต่ญาติเขาเอาไปขายแล้ว เลิกคิดทางเลือกนี้เลยที่จะไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะไม่มีที่ทางอยู่ที่นั่น”

เบี้ยคนชราไม่พอยาไส้ ในสายตาคนหาเช้ากินค่ำ

เอ้มีมุมมองต่อนโยบายสวัสดิการของการเกษียณ ที่จะสามารถเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในประจำวันของเธอไว้ว่า

“ไม่เพียงพอ อยากให้มันเป็นบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท อย่างน้อยโดยเฉลี่ยคนสูงอายุใช้วันละร้อยก็น่าจะเพียงพอ ถู ๆ ไถ ๆ ไปได้ แต่ตอนนี้เบี้ยผู้สูงอายุ 600-700 มันไม่พอหรอก มันควรจะได้เงินเดือน 3000 จากรัฐให้มันเป็นถ้วนหน้า ให้มันครอบคลุมทุกคน อย่างน้อยเราแก่มา เราก็ยังอุ่นใจว่า เราน่าจะมีชีวิตที่พอเลี้ยงตัวเองได้ประมาณหนึ่ง”

ขณะที่สุนี มองว่าจำนวนที่พอสำหรับการเกษียณที่เธอเคยได้ฟังจากที่ต่าง ๆ มา เธอได้รวมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร จะอยู่ที่ประมาณ 300-500 บาทต่อวัน ถ้าคิดเป็นรายเดือนก็จะอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท โดยเธอบอกเงินข้างต้นสำหรับคนที่ไม่ได้ไปเที่ยว แต่หากมีการไปเที่ยวหรือจัดงานต่างๆ ก็อาจแตะถึง 10 ล้านบาทได้เลย

แต่เมื่อเราลองเทียบแล้วกับประกันสังคม เช่น ม.40 โดยสิทธิตามผู้ประกันตน ม.40 ในเรื่องของบำนาญได้บอกว่า เมื่อผู้ประกันตนที่ตรงตามเงื่อนไข จะได้รับสิทธิ์บำนาญอยู่ที่ขั้นต่ำ 600 บาทต่อเดือน หากเทียบกับ 3,000 บาทที่เอ้บอก หรือ 20,000-30,000 บาท ที่สุนีพูด เงินบำนาญของประกันสังคมก็ถือว่า ยังห่างไกลกับจำนวนเงินที่ทั้งคู่บอก แต่สำหรับเอ้ สิทธิ์ประกันตนของมาตรา 40 ที่แตกต่างไปตามจำนวนเงินที่จ่ายสมทบในแต่ละเดือน “เขามีค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย แล้วจะมีเงินรัฐสมทบด้วยเพราะมาตรา 40 ที่ทำ เรทราคาค่อนข้างสูง”

เอ้ เล่าต่อว่า เธออยากให้รัฐบาลทำเป็นแบบถ้วนหน้า คือให้รัฐบาลทำประกันในราคาเดียว เพื่อให้ไม่มีการเหลื่อมล้ำกัน เพราะคนจ่ายมากก็ได้อะไรเพิ่มมากกว่าคนอื่นเขา เธออยากให้สวัสดิการสามารถครอบคลุมและเข้าถึงทุกคนได้

สวัสดิการของไทยนั้นทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่า ในทุกวันนี้สวัสดิการน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

สุนีได้เปรียบเทียมสวัสดิการของไทยกับประเทศอื่นว่า “ยกตัวอย่างสแกนดิเนเวีย ที่เขาเป็นรัฐสวัสดิการความเท่าเทียมเขาเยอะกว่าเรา แม้เขาจะเก็บภาษีสูงมาก ประมาณ 60% แต่คนที่เกษียณแล้วก็ค่อนข้างจะสบาย หรือญี่ปุ่นก็ดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ เพราะผู้สูงวัยมีปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาหลัก แต่สำหรับประเทศไทย ครอบครัวต้องดูแลกันเอง ลูกก็ต้องดูแลค่าใช้จ่ายของพ่อแม่”

สิ่งที่เราเห็นจากมุมมองของทั้งสองเคส คือสวัสดิการของรัฐ “ไม่เพียงพอ” ต่อชีวิตในวัยเกษียณ จึงเกิดคำถามว่า ตกลงแล้วเรื่องของเกษียณควรเป็นเรื่องของตัวเอง หรือรัฐควรมีสวัสดิการที่รองรับอย่างเท่าเทียมไม่เราจะอยู่สารระบบแรงงานแบบไหนก็ตาม

อ้างอิงข้อมูลจาก
เงื่อนไขการรับประโยชน์ทดแทน ผู้ประกันตนมาตรา 40