ยิ่งพูดดัง ยิ่งถูกทำให้เงียบลง
ยิ่งเรียกร้อง ยิ่งถูกคุกคาม
ยิ่งเห็นต่าง ยิ่งเป็นอันตราย
เรากำลังอยู่ในยุคที่กำลังถูกทำให้เสียงที่พูดออกมาเบาลง…เรื่อย ๆ
หลายต่อหลายครั้งการส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของประชาชนนำพาไปสู่การถูกติดตาม จับตา จับจ้อง เรื่อยไปถึงการถูกจับกุมและตั้งข้อหา โดยหวังให้เสียงนั้น “แผ่วลง” นี่ไม่ใช่ความปกติธรรมดาแน่นอน และมันก็ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาเช่นกันที่ “นักต่อสู้สิทธิ์” เหล่านั้นจะสามารถเล่าเรื่องราวการถูกคุกคามได้ง่าย ๆ ด้วยหลายครั้งเหตุการณ์สะเทือนใจ และน่าหวาดกลัวเกินกว่าจะถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้
แต่การได้พูด และได้สื่อสารสิ่งที่เผชิญ “ทางใดทางหนึ่ง” ไม่ใช่แค่การระบายความในใจ แต่มันตอกย้ำว่าพวกเขาจดจำได้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นมา และจดจำได้ดีว่ายังต้องพูดและเล่าเรื่องนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้เสียงหรี่ลง ยิ่งวันนี้บ้านเมืองถูกใส่ฟิลเตอร์ (filter) ด้วยโรคระบาด และพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีทีท่าว่าน่าจะขยายเวลาออกไปอีก เสียงเรียกร้องนี้ก็ถูกกลบให้เบาไปอีก การออกเรียกร้องสิทธิอาจถูกข้ามผ่านไปไม่น้อย หรือแม้แต่ความยากในเข้าถึงการรักษาสิทธินั้นในกระบวนการยุติธรรม
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อนโควิด-19 จะมาถึง Decode ไปรู้จักเรื่องราวของผู้หญิงที่ใช้เส้นด้าย และปลายเข็มเย็บผ้าเล่าการต่อสู้ของตัวเองคู่ขนานกับการถูกคุกคาม หรือแม้แต่การถูกแปะป้าย ตีตราในนิทรรศการ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistance”
‘ผ้าควิลท์’ สัญลักษณ์ของความรัก การเอาใส่ใจ และการต่อสู้
ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection International เริ่มต้นอธิบายให้ Decode ฟังว่าผ้าควิลท์คืองานปักผ้าประเภทหนึ่งที่ผู้หญิงมักทำกัน เวลามีสงครามผู้หญิงก็มักจะปักผ้า หรือทำเป็นผ้าห่มให้คนรักติดตัวไปด้วย ต่อมาผ้าควิลท์ถูกนำมาใช้เล่าเรื่องราวการต่อสู้ในหลายพื้นที่ เช่น ประเทศแคนาดา กลุ่มผู้หญิงชาวพื้นเมืองดั้งเดิมก็ใช้นำมาเล่าถึงความก้าวหน้า แต่ก็ยังประสบกับปัญหาความปลอดภัยอยู่ หรือในแถบละตินอเมริกาก็ใช้ผ้าควิลท์เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวและต่อต้านการถูกทำร้ายจากรัฐ และกลุ่มค้ายา หรือในชิลีในช่วงอยู่ใต้เผด็จการทหารก็ใช้ผ้าควิลท์เล่าเรื่องราวเช่นกัน ขณะที่ในประเทศไทย กลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ก็ใช้การทอผ้าเล่าเรื่องราวของพวกเขา
“เราอยากใช้ผ้าควิลท์สะท้อนช่วงชีวิต ประวัติศาสตร์การต่อสู้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงนักต่อสู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ในชุมชนต่างๆ วันนี้บ้านเราอยู่ภายใต้รัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2549 แม้จะมีเลือกตั้งปีที่แล้ว (2562) แต่เราก็รู้ว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ หรือกระแสการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็เป็นพื้นที่ของผู้ชาย ปีนี้ (24 มิถุนายน 2563) อภิวัฒน์สยาม 88 ปี เราก็มักเห็นแต่คนที่นำเป็นผู้ชายเท่านั้น ไม่ค่อยมีคนพูดถึงบทบาทของผู้หญิงเท่าไหร่”
โจทย์การปักผ้า คือการเอาวัฒนธรรมจารีต การแสดงออกความรักความห่วงใยมาผสม เป็นกระบวนการที่นักปกป้องสิทธิ์จะได้ลงแรงร่วมกัน ที่สำคัญมันสร้างพื้นที่ “ปลอดภัย” สร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้หญิงด้วยกันที่ต่างก็เคยเผชิญเหตุคุกคามมา
“ถ้าเชิญแม่ พี่ เมียของผู้ที่ถูกบังคับสูญหายมาพูดมาเล่า มันไม่ใช่ทุกคนที่มั่นใจและพูดเล่าเรื่องได้ ต้องเป็นรูปแบบศิลปะนี่แหละ เคสหนึ่งผู้หญิงไทย-มุสลิมต้องเห็นลูกถูกทรมาน และต่อมาลูกเสียชีวิต ซึ่งศาลตัดสินแล้วว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่ จะให้เขาเล่าเรื่องมันยากมาก เพราะเหตุการณ์สะเทือนใจ ตอนร่วมกิจกรรมเขาก็มีสมาธิในการวาดมาก”
จุติอร รัตนอมรเวช เครือข่ายสลัมสี่ภาค
ถูกจับตา-ติดตามทุกครั้งที่เรียกร้องสิทธิทำกิน
“ผ้าที่ปักอยากสื่อว่าสิทธิที่ดิน คือ สิทธิมนุษยชน รัฐควรกระจายการถือครองที่ดินให้ทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” จุติอร รัตนอมรเวช เครือข่ายสลัมสี่ภาค อธิบายภาพที่เธอปักให้เราฟัง
เธอจำไม่ได้ว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม คอยควบคุมกี่ครั้งกันแน่ระหว่างที่เธอ และเครือข่าย เป็นแกนนำเรียกร้องสิทธิให้กับชุมชนที่ถูกไล่รื้อโดยไม่เป็นธรรม การต่อสู้มา 10 ปี 20 ปี ปัญหายังไม่ถูกแก้อย่างเป็นรูปธรรม หรือแก้แต่ก็เกิดความยั่งยืนน้อยมาก การต่อสู้ก็ต้องยังอยู่เสมอ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าการยืนหยัด และอยู่ในแถวหน้านั้นต้องแลกกับอะไรบ้าง รู้เพียงว่าจะต้องสู่ต่อไปเพื่อให้ความเป็นธรรม แม้กลัวอยู่ข้างในลึก ๆ ก็ตาม
“เวลาจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างจะโดนคุกคาม ยิ่งในยุค คสช.จะเจอเยอะ ลักษณะและรูปแบบการถูกคุกคามก็คือแกนนำจะถูกตามถึงบ้าน ถูกเฝ้าดูพฤติกรรมจะออกไปไหน ไม่ได้ร้ายแรง แต่เรารู้สึกไม่มั่นคง หรือตอนที่ชุมนุม ไม่ให้เดิน บังคับให้อยู่ในกรอบ ถ้าไม่เดินมาบอก รัฐจะรู้ได้อย่างไร”
วันนี้เธอฝันให้รัฐไทยจัดสรรที่ดินให้เป็นธรรม และมีสิทธิเรียกร้องโดยที่ไม่ได้ถูกคุกคาม “ไทยมีที่ดิน 320 ล้านไร่ ประชากรเพิ่มตลอด แต่ที่ดินไม่เพิ่ม รัฐควรมองที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ คำนึงถึงคนจนที่อยู่ในเมือง คนจน เพราะเขาคือ คนสร้างเมืองไม่ว่าจะมีโครงการอะไรมาก็ตาม”
มายด์ หรือปลาทู ฐิติรัตน์ วิริต Law Long Beach
พวกเราไม่ใช่อาชญากร
เรือลอยล่องอยู่ในทะเล ตัวแทนอาชีพประมง และสมอเรือเป็นตัวแทนของกลุ่ม Law Long Beach ซึ่งสมอเรือมีรูปร่างเหมือนเป็นตาชั่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองทะเลชายฝั่ง ข้าง ๆ มีภาพที่ชาวบ้านโดนสลายการชุมนุม และควบคุมตัว ด้วยวิธีที่รุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้าง ภาพปักคลิวท์ผืนนี้ ถูกตั้งชื่อว่า “พวกเขาไม่ใช่อาชญากร We Are Not Criminal”
“การที่ชาวบ้านออกไปต่อสู้เพื่อบ้านเกิดเขาเป็นสิทธิ์ของเขา บ้านเกิดเขาอ่ะ เขามีสิทธิ์ในการอยู่ และสามารถเลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ การที่เขาออกมาเรียกร้องพวกเขาไม่ใช่อาชญากร”
มายด์ หรือปลาทู ฐิติรัตน์ วิริต Law Long Beach กลุ่มนักกฎหมายกฎหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน พูดชัดตรงไปตรงมาว่าเรื่องราวที่เธอปักบนผ้าเป็นอย่างไร มายด์ทำงานอยู่ในกลุ่มเยาวชนที่ทำงานเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชายฝั่ง และดูแลสิทธิ์ของชุมชน ทั้งดูแลเรื่องกฎหมาย ทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ว่า “พวกเขาสามารถต่อสู้และบอกกับรัฐได้ว่าไม่ต้องการโครงการนี้ของรัฐ” ที่อาจทำลาย และทำร้ายพื้นที่ของพวกเขา
มายด์บอกว่า ตราบใดที่ประเทศยังอยู่ในภาวะ “ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ” การเคลื่อนไหวเพื่อเรีกยร้องสิทธิ์มันเป็นไปได้ยากอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ และไม่ใช่การหยุดพูด สิ่งเหล่านี้เรียนรู้หลังการเข้ามาทำงานกับLaw Long Beach ตั้งแต่ยังเรียนของมายด์
“เคยเจอถูกคุกคามไหม ส่วนตัวยังไม่เคยเจอ เจอแค่การถ่ายรูปเราตอนไปเคลื่อนไหว แต่เราก็ถ่ายกลับนะ เป็นข้อตกลงของกลุ่ม ถามว่าเราเข้ามา (ทำงานตรงนี้) เรากลัวไหม ไม่กลัว แต่ถ้าเข้าถึงจุดที่โดนจับ แต่ก็กังวลแหละ แต่ยังไม่ถึงจุดนั้น”
ตอนนี้กลุ่ม Law Long Beach ของมายด์ ทำงานขับเคลื่อนในประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา การสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ตรงจะนะ จ.สงขลา และติดตามแผนพัฒนาภาคใต้ให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
ระยะห่างระหว่างประท้วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตัดตอนเสรีภาพ ‘เรียกร้องสิทธิ’
ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บวกกับรัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันทำให้การป้องสิทธิ์ หรือการเคลื่อนไหวถูกผลักให้ไปอยู่นอกสายตาของสังคมไม่น้อย ถูกทำให้เลือนลาง ปรานมถือว่าเป็นการล็อกดาวน์เสรีภาพของประชาชนในการเรียกร้องสิทธิ แต่กลับไม่ได้ล็อกดาวน์การออกประทานบัตรเหมืองแร่ แต่กระนั้นนักปกป้องสิทธิก็พยายามเรียกร้องภายใต้มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม”
“ประท้วงแบบรักษาระยะห่างทางสังคม ต้องไป อบต.ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ ตลอด การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจ เราไม่ติดโรคเพราะใช้กฎหมายแรง ๆ แต่จริงๆ ไม่ได้เข้าใจเพราะเรามีระบบทำงานของการแพทย์ และ อสม.ที่ดี ขยันขันแข็งกันมาก ล่าสุดเกิดกรณีที่คุณสุนทร ที่อ.บำเหน็จณรงค์ ลุกขึ้นมาอ่านแถลงการณ์ เจ้าหน้าที่ก็เชิญตัวไปที่โรงพัก และยึดมือถือ แล้วก็ถูกติดตาม”
ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection International
ไม่ว่าเพศไหนก็เสี่ยงถูกคุกคาม “รุนแรง” เท่า ๆ กัน
ผู้หญิงที่ออกมาปกป้องสิทธิ์เพื่อชุมชนส่วนใหญ่ทำงานในประเด็นที่ทำกิน ป่าไม้ และการจัดสรรทรัพยากร รูปแบบการคุกคามมีตั้งแต่ข่มขู่ ถูกติดตาม หรือแม้การอุ้มหาย หรือหลาย ๆ ครั้ง ผู้หญิงก้าวขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์อย่างล่าสุดที่เราเห็นแม่ และพี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองที่หายตัวในประเทศกัมพูชา พวกเขาเรียกร้องหน่วยงาน และรัฐไทยให้สืบเสาะหาสาเหตุการหายตัวไป
การออกเรียกร้องสิทธิ์ของผู้หญิงเพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้อื่นแบบนี้ บางครั้งถูกทำให้เบลอและตีความไปได้ว่าไม่น่าจะรุนแรง หรือโหดร้ายเมื่อเทียบเท่ากับผู้ชาย และหลายครั้งก็ถูกสังคมโจมตีด้านเพศเพิ่มด้วย
“นักปกป้องสิทธิ์ที่ถูกอุ้มหาย 90% เป็นผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็ถูกรูปแบบการสังหารเหมือนกัน เช่น กรณีของปราณี มณฑา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่ถูกยิงในสวนปาล์ม เมื่อปี 2553 หรือที่ จ.หนองคาย กำนันเตี้ย กรรณิการ์ วงศ์ศิริ ถูกยิงเสียชีวิตเพราะเรียกร้องที่ทำกินให้ประชาชน สิทธิ์ที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนมันต้องได้รับการคุณค่า เพราะเขามีคุณูปการในการเปลี่ยนแปลง อะไรก็ตามที่ประชนออกมาปกป้องสิทธิ์สาธารณะ เราต้องตระหนักสิทธิ์นี้ ให้ค่ากับสิทธิ์นี้”
ฟ้องปิดปากผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ หลังรัฐประหารพุ่ง 440 ราย
Protection International เปิดเผยตัวเลขการถูกคุกคามของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ์เฉพาะจากชุมชนช่วง 3 ปีแรกหลังรัฐประหาร 2557-2560 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม 179 คน จนถึงวันนี้นับแต่รัฐประหาร 6 ปี ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 440 คน แม้ว่าเมื่อปี 2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี หรือ CEDAW เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ แทนที่ตัวเลขจะลดลงก็กลับพุ่งสูงขึ้น และพบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เพียง 25 คน จากทั่วประเทศเท่านั้นที่เข้าถึงกองทุนยุติธรรม ซึ่งกองทุนนี้เป็นกองทุนที่จะช่วยให้ผู้หญิงรากหญ้าที่ออกมาปกป้องสิทธิ์เพื่อผู้อื่นได้ใช้เงินเพื่อต่อสู้คดี โดยที่คดีส่วนใหญ่ก็เป็นคดี SLAPP หรือการฟ้องปิดปากมากกว่า
ดังนั้นเห็นว่า เงินกองทุนควรใช่เพื่อพาผู้ที่ถูกคุกคามให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เฉพาะคดีดัง ๆ เท่านั้น โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Protection International ขอให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ์ให้คะแนนความก้าวหน้า และตัดเกรดรัฐบาลไทยว่าได้ทำตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี หรือ CEDAW ในทุกรูปแบบหรือไม่ ปรากฎว่ารัฐได้เกรด F เกือบทุกด้าน ตั้งแต่การเข้าถึงความยุติธรรม และการเยียวยา ปัญหาความยากจน หรือผู้หญิงชนบท เป็นต้น ได้เกรด D- ในด้านกรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึงด้านแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณี