Sex education for parents : คุยเรื่อง Sex กับลูก ไม่ใช่แค่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ - Decode
Reading Time: 2 minutes

สวัสดีเดือนแห่งความรัก

พอเข้าเดือนกุมภาฯ บรรยากาศต่าง ๆ ก็เริ่มจะอบอวลไปด้วยความรัก ทั้งจากคนที่เรารัก และคนที่รักเรา

แต่ในบางครั้งการแสดงความรักของบางคนก็อาจไปละเมิดสิทธิร่างกายของคนอื่นได้ 

เมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา หลาย ๆ คนอาจจะเคยผ่านตาข่าว ๆ หนึ่งผ่านหน้าฟีดสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่ประโคมข่าวเรื่องคุณพ่อที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งแสดงความรักกับลูกสาวมากเกินไปจนดูเหมือนว่าไปละเมิดสิทธิทางร่างกายของคนที่เป็นลูก จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมกันอยู่ช่วงนึงว่ามันคือ “การคุกคามทางเพศ หรือ  Sexual Harassment” หรือเปล่านะ แม้ข่าวนั้นจะผ่านมาซักพักแล้ว แต่จริง ๆ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะเรายังคงเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทุกวัน เพียงแต่มันไม่ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นข่าวเท่านั้นเอง

จากข่าวในตอนนั้น ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่า ตั้งแต่เกิดจนโตมาถึงตอนนี้เราเคยถูกละเมิดสิทธิทางร่างกายบ้างหรือเปล่า เพราะบางครั้งการกระทำบางอย่างของคนในครอบครัว ผู้กระทำอาจไม่ได้ตระหนักว่าการกระทำเหล่านั้นมันคือการละเมิดสิทธิร่างกายของคนอื่นอยู่….

ทำไมเรื่องแบบนี้ ยังวนเวียนอยู่ในสังคมไทยล่ะ

ค่านิยมแบบไหนที่ปลูกฝังให้คนในครอบครัวยังมีความเชื่อว่าการกระทำแบบนั้น เป็นการแสดงออกความรักต่อลูก  ทำแค่ไหนถึงจะไม่เกินเลยไปจนกลายเป็นการละเมิดสิทธิร่างกาย เราควรเรียนรู้เรื่องสิทธิของเนื้อตัวร่างกายตัวเองกันตั้งแต่ตอนไหน ใครควรจะเป็นคนสอน…

เราจำได้ว่าเราเรียนเรื่องพวกนี้ในวิชาสุขศึกษา ช่วงมัธยม ถูกสอนโดยครูในโรงเรียน เนื้อหาส่วนมากจะเน้นไปที่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

แต่ในหนังสือแปลจากญี่ปุ่นเล่มนี้ “Sex education for parents” เขียนโดย คุณมามิ ฟุคุจิ และคุณยูคิฮิโระ มุราเสะ บอกกับเราว่า เรื่องเพศ ยิ่งคนในครอบครัวพูดคุยกับลูก เริ่มเร็วเท่าไรได้ยิ่งดี….

หลายคนอ่านมาถึงตอนนี้ก็อาจจะเอ๊ะในใจว่า “for parents” ?

หรือจริง ๆ แล้วคนที่ควรสอนเรื่องนี้กับเรามากที่สุด คือคนในครอบครัว แล้วต้องมีลูกก่อนหรือเปล่าถึงจะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้ แต่เราอยากจะบอกกับทุกคนว่า ไม่ต้องมีลูกก็อ่านหนังสือเล่มนี้ได้  เพราะเรื่อง Sex เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน Sex ไม่ใช่แค่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ อ่าน ๆ ไปก็เกิดคำถามว่า…ทำไมเรื่องนี้เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะ ทำไมไม่มีใครมาบอก หรือมาสอน

ยิ่งใครที่มีลูก หรือมีหลาน ก็ยิ่งแนะนำให้อ่าน เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นแนว How to ที่มีคุณยูคิฮิโระ มุราเสะ (คุณหมอกระต่ายในหนังสือ) เป็นคนมาช่วยคอยอธิบายว่าในเด็กแต่ละวัย เราควรจะพูดคุยเรื่องเพศศึกษาอย่างไร พูดคุยด้วยท่าทาง สีหน้า น้ำเสียงแบบไหน ด้วยความที่เป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่น เราก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นบางอย่างไปด้วย เช่น การอาบน้ำด้วยกัน ของพ่อ-ลูก หรือแม่-ลูก  ซึ่งในหนังสือก็จะบอกว่าช่วงวัยไหนที่ลูกไม่ควรอาบน้ำกับพ่อแม่แล้ว 

พ่อ-แม่ หรือคนเลี้ยงดู หลายคนอาจจะกลัว หรือเขิน ไม่กล้าสอนลูกเรื่องเพศศึกษา เพราะอาจมีภาพจำเก่า ๆ ว่าเรื่องเพศศึกษา เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องลามก (ผู้เขียนก็ด้วย) ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เรื่องเพศศึกษาเกี่ยวพันกับเราตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้นค่อย ๆ เปิดใจไปพร้อมกับการค่อย ๆ เปิดหนังสือเล่มนี้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

เรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะถ้าสอนไม่ดีอาจส่งผลต่อพฤติกรรมตอนโต  อย่างในช่วงพาร์ทนึงของหนังสือที่พูดถึง “พื้นที่ส่วนตัว” ซึ่งถือเป็นส่วนของร่างกายที่ห้ามให้คนอื่นมาจับมาดู (รวมทั้งพ่อแม่ด้วย)  ทุกคนคิดว่า “พื้นที่ส่วนตัว” มีอวัยวะส่วนไหนบ้าง ?

ในหนังสือบอกกับเราว่า ที่ 4 ส่วนนี้เป็นพื้นที่ส่วนตัว เนื่องจากเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับภายในร่างกาย และเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ การคลอด ความรัก และชีวิต

เมื่ออ่านแล้ว เราก็ลองเอามาใช้บ้าง  ด้วยความที่มีหลานวัย 3 ขวบ ในบางจังหวะที่เล่นกัน ก็จะถือโอกาสคุยกับเขาไปในตัวว่าเวลาอาบน้ำ อาบเสร็จแล้วให้รีบแต่งตัว ใส่เสื้อผ้าให้เรียบร้อย อย่ามาเดินในบ้านโดยที่ยังไม่ใส่เสื้อผ้า หรือบางครั้งที่เราอยากจะกอด เราก็จะขออนุญาตเจ้าตัวก่อน ถ้าได้รับอนุญาตถึงจะกอดได้   เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราเคารพตัวเอง สิทธิร่างกายตัวเอง เราก็จะเคารพสิทธิร่างกายของคนอื่นด้วยเช่นกัน

แค่เรื่อง “พื้นที่ส่วนตัว” ก็จะเห็นได้ว่าทุกคนมีสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตัวเองตั้งแต่เกิด เพียงแต่เราตระหนักเรื่องนี้กันอย่างจริงจังแค่ไหน  และไม่ใช่แค่ “พื้นที่ส่วนตัว” บนร่างกายเท่านั้น ในหนังสือยังพูดถึง “พื้นที่ส่วนตัว” ที่เป็นพื้นที่ภายในบ้านด้วย เช่น การแยกห้องนอน หรือการแยกกันอาบน้ำของพ่อแม่ (วัฒนธรรมญี่ปุ่น พ่อ-ลูก แม่-ลูก จะมีอาบน้ำด้วยกันตอนที่ลูกยังเด็ก) เหตุที่ควรแยกพื้นที่ตรงนี้เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเด็ก กลไกทางชีววิทยาอาจทำให้มองว่า นี่ไม่ใช่เด็กแล้วแต่เป็นเพศตรงข้ามแทน มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าแล้วถ้าที่บ้านไม่ได้มีพื้นที่เยอะ ไม่ได้มีห้องนอนเป็นสัดส่วนจะทำยังไง  คุณยูคิฮิโระ มุราเสะ ก็แนะนำว่า ให้แยกฟูกนอน เตียงสองชั้น หรือหาผ้าม่านมากั้นก็ได้แล้ว เพื่อเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของลูกให้เหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่ง

อย่าว่าแต่ใครเลย ผู้เขียนเอง ตั้งแต่เกิดจนโต ก็นอนห้องเดียวกันกับพ่อแม่มาตลอด จนช่วงหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยมาไม่นาน ถึงจะพอมีพื้นที่ส่วนตัวในบ้านกับเขาบ้าง เพิ่งมาเข้าใจตอนนี้เองว่าความสบายใจของการมีพื้นที่ส่วนตัวคืออะไร  

ในหนังสือไม่ได้มีแค่เรื่องที่เรายกตัวอย่างมาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องเพศศึกษาที่ควรคุยกับลูกตั้งแต่เด็ก จนถึงช่วงวัยรุ่นเลยล่ะ ตามที่หนังสือบอกกับเราในท้ายเล่มว่า 

…เด็กที่เติบโตมาในบรรยากาศเปิดกว้างในการพูดคุยเรื่องเพศ จะเป็นคนที่ยอมรับเกี่ยวกับเพศและร่างกายของตัวเอง มองเห็นคุณค่าในตัวเอง และในที่สุดเขาจะมีทักษะที่พ่อแม่ทุกคนอยากเลี้ยงลูกให้มี นั่นคือ “ เป็นคนที่เคารพตัวเอง และเคารพความแตกต่างของผู้อื่นด้วย ”

หนังสือ Sex education for parents คุยกับลูกเรื่องเพศศึกษาให้เป็นวิชาที่ไม่ต้องรอครูสอน
ผู้เขียน ฟุคุจิ มามิ และมุราเสะ ยูคิฮิโระ
สำนักพิมพ์  SandClock Books

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี