ฉากชีวิตเด็กชายวาฤทธิ์ สมน้อย ลูกแม่ไม่ใช่ฮีโร่ประชาธิปไตย - Decode
Reading Time: 3 minutes

“การที่คุณบอกลูกแม่เป็นวีรบุรุษ แม่อยากบอกกลับไปว่า แม่ไม่อยากให้ลูกเป็นวีรบุรุษ แม่และครอบครัวแค่อยากใช้ชีวิตธรรมดา การสูญเสียแบบนี้ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ ลูกคุณเป็นวีรบุรุษตาย ตายแล้วได้อะไร ได้แต่บาดแผลมาเต็มตัว  ตัวแม่ตอนนี้มีแต่ความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง มันหมดหวัง หมดสิ้นไปทุกอย่าง ไม่คิดว่าวันนึงต้องมารับลูกกลับในสภาพไม่มีลมหายใจ เป็นเถ้ากระดูกแบบนี้” 

16 สิงหาคม 2564 สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก เป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะบริเวณสมรภูมิดินแดง ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเสียงกระสุนจริงจะดังขึ้น ก่อนทุกสิ่งอย่างของครอบครัว วาฤทธิ์ สมน้อย จะเปลี่ยนไปตลอดกาล

“แม่หนูขอไปม็อบได้ไหม” 

“ไม่ได้ ห้ามไป รู้ไหมมันอันตรายแค่ไหน”

“ไม่ไปหรอกแม่ รู้อยู่ว่าไปไม่ได้ เพื่อนหนูไปมาเขาก็โดนแก๊สน้ำตา”

เวลา 16.00 น. ในขณะที่ นิภาพร สมน้อย แม่ของวาฤทธิ์ กำลังนั่งดูทีวีอยู่ เธอเห็นลูกของเธอนั่งอยู่ตรงบันได กำลังเก็บของใส่กระเป๋า นิภาพรถามลูกว่าจะเก็บของไปไหน

“เอาเสื้อผ้าไปให้น้องเขาจะไปม็อบ หนูแค่จะเอาไปให้เขาเฉย ๆ ไม่ได้ไปด้วยหรอกแม่”

เวลาผ่านไปจนตะวันลับขอบฟ้า นิภาพรเริ่มเอะใจว่าทำไมลูกเธอถึงยังไม่กลับบ้าน  ในใจลึก ๆ เธอสังหรณ์แล้วว่า ลูกของเธอมีโอกาสแอบไปม็อบ 

“แต่เดี๋ยวเขาก็คงกลับมา” เธอคิดเช่นนั้น ก่อนที่เสียงกระสุนปืน 5 นัด จะดังขึ้นหน้าสน.ดินแดง ในเวลาประมาณ 21.00 น. 

นับตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง วาฤทธิ์ คือผู้เสียชีวิตรายแรกในวัย 15 ปี ชื่อของเขาอาจถูกจดจำ ฐานะผู้เสียสละในการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตย เราต่างมีภาพจำแค่เพียงว่า วาฤทธิ์เป็นหนึ่งในเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวที่ดินแดง แต่ชีวิตหนึ่งชีวิตที่สูญเสียไปไม่ได้มีแค่นั้น เขามีครอบครัว ชีวิต ความฝัน และเรื่องราวต่าง ๆ มากมายซ่อนอยู่ในฉากชีวิตของเขา 

ขอให้เรื่องราวต่อไปนี้ จะทำให้เราจดจำและรู้จักวาฤทธิ์ สมน้อย ให้มากกว่าเพียงคำว่า เยาวชนที่ถูกยิงหน้า สน.ดินแดง 

ฉากชีวิตวาฤทธิ์ สมน้อย

“เราไม่คิดว่าเด็กที่เคยวิ่งเล่นอยู่หน้าบ้านหลังนี้ ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จะไปถูกยิงตายหน้าสน.ดินแดง”

วาฤทธิ์ สมน้อย เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ชื่อเล่น วา อันย่อมาจากคำเต็มว่า วาเลนไทน์ เพราะเขาเกิดในวันแห่งความรัก เป็นลูกชายคนโตมีน้องสาว 1 คน ภายใต้ครอบครัวอันเป็นที่รักของเขามี พ่อ แม่  ตา ยาย น้าสาว คอยดูแล

“แม่ค่อนข้างเคร่งครัดกับเขา เลี้ยงมาในกรอบ คือคุณตาเป็นคนหัวโบราณ ต้องกลับบ้านตรงเวลา ต้องเรียนสายนี้ นี่คือสิ่งที่เขาเลี้ยงแม่มา เราเลยเอาสิ่งนี้มาปรับใช้กับลูกจนเกินไป จนลืมคิดไปว่าสังคมที่เขาอยู่มันเป็นอย่างไร” 

นิภาพรแม่ของวาฤทธิ์ เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของลูกชาย เธอกล่าวว่า วาฤทธิ์เป็นเด็กเรียนไม่เก่งแต่ชอบทำกิจกรรม

“บางครั้งก็ไปช่วยตัดหญ้าที่สนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน ที่เกเรก็มีเตะฟุตบอลโดนบ้านชาวบ้านเขา วาเขาชอบเล่นกับเด็กอายุน้อยกว่า บางทีก็ชวนกันไปเล่นซ่อนแอบ เล่นขี้โคลน จนเราพูดกับเขาว่า ‘มึงโตแล้วนะวา มึงจะไปเล่นกับเด็กอะไรแบบนี้’ เขาก็มักจะบอกแม่ว่า ‘ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลยแม่’”

ภายใต้ความเศร้า ที่ฉายแววออกมาในดวงตาของนิภาพร กลับมีรอยยิ้มคืนมาได้บ้าง เมื่อเธอได้ย้อนเล่าความทรงจำ เมื่อครั้งลูกของเธอยังมีชีวิต ฉากความทรงจำ ไม่เคยเลือนหายไปจากผู้เป็นแม่คนนี้ 

“แม่ต้มมาม่าให้หนูกินหน่อย ใส่หมูสับด้วยนะ” 

คือประโยคที่นิภาพรจะได้ยินทุกบ่ายวันอาทิตย์จากลูกของเธอ

“เขากินเก่ง จนเรียกฉายาเขาว่า ไอเด็กล้างตู้เย็น ที่บ้านซื้อขนมซื้อนมมาไว้ เขาจะกินทุกอย่างในตู้เย็นให้มันหมด แต่พอมานั่งนึกทุกวันนี้ (เสียงแผ่ว) ของในตู้เย็นเหลือเท่าเดิม ไม่มีใครเอาไปกินอีกแล้ว”

วาฤทธิ์เติบโตมาในสภาพครอบครัว ที่พ่อกับแม่พยายามสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เขา มีน้าสาวที่เปรียบเสมือนพี่สาว ที่เขาปรึกษาได้ทุกเรื่อง มีคุณตาคุณยายดูแลอย่างใกล้ชิด แต่วาฤทธิ์ก็เหมือนเด็กวัยรุ่นโดยทั่วไป เมื่อถึงวันหนึ่งโลกภายนอกดูช่างน่าค้นหาสำหรับเขา

“บางทีแม่ก็เลี้ยงลูกผิด ตีกรอบเขาค่อนข้างเยอะ แค่โทรศัพท์มือถือ เรายังบอกเขาเลยว่า ถ้าไม่จบ ม.3 แม่ก็ไม่ซื้อให้ใช้ ทั้ง ๆ ที่เด็กคนอื่นเขาก็มีโทรศัพท์ใช้กัน”

ภายใต้กรอบที่เธอสร้างให้ลูกนั้นเธอมีเหตุผล นิภาพรเล่าให้ฟังว่า สมัยที่วาฤทธิ์เพิ่งเกิดครอบครัวอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว เธอจึงพยายามทุกวิถีทาง ให้ลูกของเธอมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“แม่คิดไว้ตลอดว่าถ้าเราสบาย ลูกเราต้องสบายกว่า ลูกเราจะไม่ต้องมาเริ่มนับจาก 0 ไป 100 แต่เราจะเริ่มนับไว้ให้เขา ทั้งหมดทำไปเพื่อเขา แต่เราเลี้ยงเขาไว้ในกรอบ และวันหนึ่งเขาก็ออกจากกรอบมา…”

สังคมที่ลงโทษเด็กออกนอกกรอบด้วยความตาย

“ยังจำได้วันที่น้องเสียชีวิต ก่อนจะไปแม่ใช้เขาไปซื้อผงซักฟอก และมันมีเงินทอนเหลืออยู่ 7 บาท เขายังบอกว่าแม่หนูขอนะเงิน 7 บาท  เขาก็เอาใส่กระเป๋า จนเราเอากางเกงที่น้องโดนยิง จาก รพ. กลับมาบ้าน เงิน 7 บาท ที่เขาขอแม่ก็ยังอยู่ในกระเป๋า”

บทสนทนากับนิภาพร ค่อย ๆ ดำเนินจนมาถึงช่วงเวลาการเสียชีวิตของวาฤทธิ์ น้ำเสียงของเธอเริ่มสั่นเครือ เมื่อเล่าถึงฉากเหตุการณ์ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564

วาฤทธิ์ออกไปจากบ้านเวลาประมาณ 16.00 น. กับเพื่อนอีก 1 คน การเดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการไปร่วมชุมนุมที่ดินแดงของวาฤทธิ์ ในวันดังกล่าวสันนิษฐานว่า เขาเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้า BTS โดยใช้แอปเป๋าตัง จากมือถือคุณยายในการจ่ายค่าโดยสาร ตามคำบอกเล่าของนิภาพร

เมื่อเดินทางไปถึง วาฤทธิ์ได้ไปรู้จักกับเพื่อนใหม่ในม็อบ จนกระทั่งเวลา 21.00 น.  วาฤทธิ์ขอติดรถมอเตอร์ไซต์เพื่อนคนดังกล่าวไปลงสถานี BTS แต่ระหว่างทางกลับเสียงปืนดังขึ้น กระสุนนัดหนึ่งได้เจาะเข้าไปที่ลำคอของเขา บริเวณหน้า สน.ดินแดง  ก่อนที่ผู้ร่วมชุมนุมและเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะรีบนำตัวเขาไปส่ง รพ.

“วันที่เขาถูกยิง แม่นั่งรอเขากลับบ้านจนถึงสี่ทุ่ม จนแม่ตื่นมาตีห้าลงมาดูก็ยังไม่เจอรองเท้า จากนั้นแม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู ปรากฏว่าเพื่อนของวาส่งลิงก์ที่มีรูปภาพจากสำนักข่าวมาบอกว่า ‘แม่ครับวาโดนยิงนะ’

“ความรู้สึกแรกแม่คิดว่าไม่ใช่ลูกเรา เสื้อผ้าที่เขาใส่ มันคนละชุดกับที่เขาออกจากบ้าน แต่ด้วยความเป็นแม่เราจำทุกสัดส่วนของลูกได้  แม่เห็นมือเขาในรูปข่าว ที่วางแนบไว้กับเตียงที่เขายกขึ้นรถกู้ภัย 80% ก็เชื่อแล้วว่าเป็นลูกเรา”

จนเมื่อเธอเดินทางไปถึง รพ. เธอจึงรู้ว่านั่นคือลูกของเธอ 100%

“การสูญเสียวา มันเปลี่ยนบางอย่างในตัวแม่ ความสุขในบ้านมันหายไป ลูกไม่อยู่เราก็ไม่อยากอยู่บ้านหลังนี้แล้ว ความทรงจำมันเยอะ เขาอยู่บ้านหลังนี้ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ครอบครัวเราไม่เคยสูญเสียจากเหตุการณ์แบบนี้ มันยิ้มให้กันน้อยลง ทานข้าวด้วยกันน้อยลง คุยกันน้อยลงทุกอย่างน้อยลงหมด”

สำหรับคนเป็นแม่ 72 วัน ที่ลูกเธอนอนรักษาตัวอยู่ใน รพ. มันเป็นความทรมานที่สุดในชีวิตเท่าที่เคยเจอ แต่มันก็เป็นความทรมานที่ยังมีความหวัง

“ครั้งหนึ่งแม่กับครอบครัวเข้าไปเยี่ยมน้อง แม่จับมือเขาและบอกว่า ‘วาต้องเข้มแข็งให้มากกว่าเดิม ไม่ต้องเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ทุกคนรอวากลับบ้าน’ พอแม่พูดเสร็จ เหมือนเขาได้ยินสิ่งที่แม่พูด เปลือกตาเขาขยับเหมือนจะร้องไห้ เรารู้สึกอย่างนั้น แม้หมอจะบอกว่ามันเป็นเอฟเฟ็กต์จากกระบวนการรักษาก็ตาม”

แต่ในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 วันที่วาฤทธิ์เสียชีวิต สำหรับคนเป็นแม่มันคือความทรมาน ที่ไร้ซึ่งความหวังในทุกอย่าง

“มันเป็นความทรมานที่แตกต่าง ความทรมานที่มีความหวัง กับความทรมานที่เราหมดหวังไปแล้ว  วันที่เขาเสียชีวิตแม่ไปรับศพลูกที่ห้องสุดท้าย เราไปเจอศพลูกตัวเองในสภาพที่เขาฝ่าและเย็บตั้งแต่หัว คอ จนมาถึงลำตัว ไปกอดในสภาพแบบนั้น มันทรมานนะคนที่อยู่ ตายกันทั้งคู่มันอยู่ที่ว่าตายแบบมีลมหายใจ กับไม่มีลมหายใจ”

สำหรับนิภาพรถ้าย้อนกลับไปได้อีกครั้ง เธออยากจะขอโอกาสที่จะได้นั่งพูดคุยกับลูกของเธอ

“คุยกับน้าสาวเขาแล้วว่า ถ้าวันนั้นวากลับมาจะขอนั่งคุยกับเขา ถึงขอบเขตการไปม็อบ ว่าไปแล้วเราจะไปเจออะไรบ้าง ถามว่าอยากให้ไปไหม คนเป็นแม่ไม่อยากให้ไปหรอก

“แต่บางทีเราไปปิดกั้นเด็ก โดยที่ไม่เคยถามเขาเลยว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร แม่ไปตีกรอบลูก แล้ววันหนึ่งเขาก็ต้องแสวงหาสิ่งที่เขาอยากรู้เพิ่มขึ้นเอง เด็กตอนนี้เขามีความคิดผู้ใหญ่ก็ต้องฟัง ไม่ใช่พอเด็กไม่ทำตาม คุณก็ยิงแก๊สน้ำตากระสุนยางใส่ ในขณะเดียวกันครอบครัวก็ต้องฟังด้วยว่า เด็กออกไปด้วยจุดประสงค์อะไร ถึงเวลาที่ผู้ใหญ่ควรที่จะกลับมามองได้แล้ว เด็กออกมาเรียกร้องเพราะอะไร”

ลูกแม่ไม่ใช่วีรบุรุษแห่งประชาธิปไตย

“ที่งานศพมีคนมาบอกแม่ว่า ‘ลูกคุณคือฮีโร่ เป็นวีรบุรุษแห่งประชาธิปไตย’ แม่ไม่ชอบคำนี้เลยเขาไม่ใช่ฮีโร่ เขาแค่เป็นผู้ถูกกระทำ โดยที่เขาไม่เคยคาดคิดว่าจะเสียชีวิต  มันไม่สามารถเรียกวีรบุรุษได้ เพราะมีแต่คนที่แพ้ และคนที่แพ้ที่สุดคือครอบครัว”

สำหรับครอบครัววาฤทธิ์ คำว่าวีรบุรุษแห่งประชาธิปไตย ไม่ได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่พวกเขาแม้แต่น้อย กลับกันการเสียชีวิตของวาฤทธิ์ที่กลายเป็นข่าวดัง กลับสร้างบาดแผลให้แก่คนในครอบครัว

“ทุกวันนี้ครอบครัวเราเหมือนมีแผลบางอย่าง ปกติจะนั่งทานข้าวกันข้างนอก ก็จะย้ายไปกินกันข้างใน เราไม่อยากให้คนแถวนี้มาบอกเราว่า ‘อ่อ ครอบครัวนี้เหรอ ที่ลูกโดนยิง ที่ไปชุมนุม ทำไมไม่ห้ามลูกละ ทำไมถึงสอนลูกไม่ได้’ แม้แต่คนรู้จักกันในหมู่บ้าน ยังบอกว่า ‘จะเลี้ยงทำไมในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าลูกจะพิการ มันรุนแรงนะสำหรับคนเป็นแม่’”

ฝันสุดท้ายของวาฤทธิ์ สมน้อย

“วันนี้วาเตะบอลยิงเข้า 2 ลูกด้วยนะแม่ จะให้อะไร”

“โม้รึเปล่า”

“เขาชอบมาเล่าให้แม่ฟังเวลาไปแข่งบอล แม่ก็ไม่รู้นะเขาเล่นตำแหน่งไหน แต่ชอบไปอยู่ตรงประตูของคู่แข่ง เด็กแม่ว่าเขามีความฝันไปเรื่อย ๆ ตามช่วงอายุ  บางทีเขาก็อยากเป็นนักฟุตบอล เพราะเขาเรียนไม่เก่ง แม่ยังบอกกับเขาเลยว่า ถ้าไม่ไหวก็ออกมาทำงาน เขาบอกแม่ว่า งั้นผมอยากลองทำงานเป็นช่างซ่อมรถ 

“เชื่อเสมอว่าเขาจะสามารถผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ตอนอายุ 15 – 18 ปี แต่เขาก็ผ่านมันไปไม่ได้ ลูกเราเลี้ยงมา 15 ปี อยู่ดี ๆ มีใครก็ไม่รู้มาพรากชีวิต ตอนที่เขาอยู่เราก็คาดหวัง พอตอนเขาไปเราก็หมดหวัง” 

บรรยากาศยามเย็นในบ้านของนิภาพรวันนี้ หลังจากที่เราคุยกับเธอเสร็จ ดูเงียบเหงา ไร้ชีวิตชีวาลงถนัดตา มีเพียงเสียงกระดิ่งดังกระทบตามแรงลม พอให้เราได้รับรู้ว่า สถานที่แห่งนี้ยังคงเคลื่อนไหวตามกาลเวลา 

แม้ตลอดการสนทนา นิภาพรดูเหมือนจะพยายามคิดว่า การตายของลูกเธอนั้น ส่วนหนึ่งเป็นความรับผิดชอบของเธอ แต่การที่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ออกมาส่งเสียงเรียกร้อง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามของวาฤทธิ์ ที่ทำให้เขาเลือกตัดสินใจไปร่วมชุมนุมในวันนั้น การตายไม่ใช่สิ่งตอบแทนที่เขาสมควรได้รับ 

การตายที่เกิดขึ้นหน้า สน.ดินแดง ย่อมต้องอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ  ที่จะต้องคืนความยุติธรรมให้ครอบครัวของวาฤทธิ์จนถึงที่สุด 

และหากเรายังอยู่ในสังคมที่รัฐบาล เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น หนำซ้ำยังเป็นคนยินยอม สั่งการให้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นเรื่อยมา ทุกครั้งที่มีการชุมนุม วาฤทธิ์อาจจะเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 1 แต่เชื่อได้ว่า หากเราดำรงอยู่ในรัฐที่ไร้เสรีภาพในการแสดงออกเช่นนี้ ศพที่ 2 3 4 5… คงจะตามมาในอีกไม่ช้า

อ่านบทความตอนที่ 2: After ‘วา’เลนไทน์ ความยุติธรรมคือความหวังเดียวที่เหลือของวาฤทธิ์ สมน้อย
อ่านบทความตอนที่ 3: “เป็นเด็กตำรวจ” ฆาตกรรมซ้ำ “วาฤทธิ์ สมน้อย”

.
.

Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565