“ผมอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้” เดิมพันแลก 'อนาคต' ของวัยรุ่นแนวปะทะดินแดง - Decode
Reading Time: 3 minutes

“อยากให้ม็อบเลิกมาตรงนี้สักที ชาวบ้านเดือดร้อน ถ้าม็อบไม่มาตำรวจคฝ. เขาก็ไม่มา แต่ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ทุกวันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ อย่างกับพวกวัยรุ่นป่วนเมือง บางทีก็มีวัยรุ่นจากที่อื่นมาฝังตัวอยู่ในพื้นที่ แล้วพวกนี้น่ากลัวมาก ๆ วันก่อนมีคนไปด่า มันพังห้องซะเละเลย”

“แล้วได้เห็นเหตุการณ์จริง หรือเคยได้พูดคุยกับพวกเขาบ้างไหมครับ”

“ใครจะกล้าคุย มันมองตาขวางอย่างนั้น ป้าเดินผ่านพวกวัยรุ่นที่มาม็อบยังไม่กล้าเลย พวกนี้มันเด็กไม่มีอนาคต” 

เสียงหนึ่งจากประชาชนแฟลต 1 ดินแดง วิงวอนอยากให้พื้นที่บ้านของเขากลับมาสงบเสียที

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจริง ๆ จากการพูดคุยกับคนในละแวกแฟลตดินแดงหลายคนพบว่า กว่าพวกเขาจะได้หลับนอนในคืนที่มีการปะทะ ระหว่างตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุม ก็เป็นเวลาเที่ยงคืนตีหนึ่ง กว่าเสียงระเบิดจะเงียบลง มิหนำซ้ำในแฟลตห้องไหนที่ไม่ได้ติดแอร์ ก็ต้องทนกับกลิ่นแก๊สน้ำตา ที่ฟุ้งกระจายเข้าไปทั่วห้อง พวกเขาคือผู้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แต่เสียงที่มองว่าเด็กเหล่านี้ออกมาชุมนุมเพราะโดนชักจูง เสียงที่บอกว่าเยาวชนเหล่านี้ไม่มีอนาคต ไม่มีความคิดเป็นของตัวเองนั้น มันคือเรื่องจริงแค่ไหนกัน?

ความฝันที่หล่นหาย ขอมาเอาชีวิตกลับคืนที่ดินแดง 

“ผมอยากกลับไปเรียนหนังสือ แต่ตอนนี้คงทำได้แค่เรียน กศน. ผมอยากมีชีวิตวัยรุ่น อยากไปนั่งในห้องเรียนแล้วคุยกับเพื่อน ผมก็แค่อยากเป็นเด็กมัธยมอย่างที่คนอื่นเขาเป็นกัน แต่สำหรับผมมันหายไปแล้ว…มันหายไปนานแล้ว ผมหมดอนาคตไปตั้งนานแล้ว

ผมเจอต้น (นามสมมุติ) ในช่วงเวลาบ่ายบริเวณแยกดินแดง ในขณะที่เขากับเพื่อนอีกคน กำลังกินข้าวอยู่ด้วยความหิวโซ ชาวแฟลตดินแดงกลุ่มหนึ่งโบกมือเรียกผม 

“นักข่าวใช่ไหม! มานี่เลย มาดูซิ เด็กมันกลับบ้านไม่ได้ ตำรวจจ้องแต่จะจับมันเป็นนักข่าวช่วยอะไรได้บ้าง” ชาวแฟลตคนหนึ่งกล่าวขึ้น ด้วยความหงุดหงิดใจ

หลังจากที่ต้นกินข้าวเสร็จ ผมนั่งลงข้าง ๆ เขา ถามไถ่ความเป็นมาก็ได้ความว่า เขาอายุ 18 ปี พักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สมุทรสาคร มาร่วมการชุมนุมได้ 4-5 เดือนแล้ว นับจากวันที่เขาตกงาน

“ผมมาร่วมการชุมนุมเพราะว่า บริษัทที่ผมทำงานปิดกิจการ รายได้ทั้งหมดหายไป จากที่เคยมีชีวิต มีเงินกินใช้ ทุกอย่างในชีวิตผมแย่ลง ผมเลยเข้ามาเป็นการ์ดให้กับคณะการ์ด ปชช. นับจากวันนั้นผมก็อยู่ในม็อบมาตลอด” 

1 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่การชุมนุมที่ดินแดงร้อนระอุในทุกคืน ต้นไม่เคยได้กลับบ้าน เขาอาศัยช่วงเวลาเช้าถึงบ่าย หลับนอนตามสถานที่ต่าง ๆ จนถึงช่วงเย็นจึงออกไปหาอะไรกิน และร่วมชุมนุมจนถึงเวลาเช้ามืด 

โดยเหตุผลที่เขาไม่กลับบ้านนั้น ต้นกล่าวว่าตอนนี้เขาถูกเพ่งเล็งจากตำรวจ ที่รู้แล้วว่าบ้านเขาอยู่ตรงไหน โดยสาเหตุมาจากการที่ใบหน้าของเขา ไปปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ ของบัญชีผู้ใช้งานที่ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกเขา พร้อมกับคำถามในใจของต้นว่า ตำรวจจะจับเขาในข้อหาอะไร

“ในเมื่อกลับบ้านไม่ได้ แนวทางของผมตอนนี้ คือสู้จนกว่าจะชนะ สู้จนกว่านายกจะลาออก ถ้าไม่ชนะผมจะอยู่ตรงนี้ คุณไม่ออก ผมก็ไม่ไป ต่อให้โอกาสชนะจะมีแค่ 0.1%  อยากน้อยผมสู้ ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”

ต้นเน้นย้ำกับผมหลายต่อหลายครั้งว่า การออกมาสู้ของเขาและเพื่อนอีกหลายคน คือการต่อสู้ของคนที่ไม่มีอะไรจะให้เสียแล้ว “ชีวิตผมมันพังไปตั้งนานแล้ว” เขากล่าว ต้นได้เล่าจุดเริ่มการพังทลายของชีวิตเขาให้ผมฟัง

“4 ปีที่แล้ว จากประสบการณ์ชีวิตของผม ช่วงนั้นกิจการท่องเที่ยวของพ่อผมเริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ ผมต้องย้ายบ้านทุกเดือน จากที่มีโอกาสได้เรียนต่อมัธยมปลายก็ไม่ได้เรียน ผมได้ทุนเรียนฟรีเป็นเด็กกิจกรรม สุดท้ายผมไม่ได้เรียนต่อ ต้องออกมาทำงานตั้งแต่อายุ 16 ชีวิตวัยรุ่นของผมหายไป ผมไม่ได้เรียนให้ห้องเรียนดี ๆ เหมือนเพื่อนคนอื่น  ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองฝันอยากจะทำ มันทำให้ผมเจ็บใจมาตลอด”

คำพูดของเขาลบล้างคำถามของผม ที่ถามเขาว่า คิดเห็นอย่างไรกับคนที่บอกว่า วัยรุ่นอย่างพวกเขา ไม่มีความรู้มากพอที่จะเข้าใจการเมือง สำหรับเขาการเมืองไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในตำราเรียน แต่การเมืองถูกบรรจุอยู่ในชีวิต ผ่านความเหลื่อมล้ำ ชีวิตความเป็นอยู่ การเข้าถึงการศึกษา พวกเขาได้เรียนรู้ว่า การเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาในทุก ๆ วัน

“ผมอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ การเมืองมันส่งผลกับชีวิตผม และผมจะไม่เพิกเฉยต่อมัน ผมมีสิทธิที่จะพูด มีสิทธิที่จะถกเถียง และมีสิทธิที่จะลงมือทำ” 

ต้นบอกว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการความรุนแรง และไม่มีใครอยากเอาชีวิต เลือดเนื้อของตัวเองไปเสี่ยงกับกระสุน เขารู้ทั้งรู้อยู่แล้วว่า อาวุธที่พวกเขามี ไม่สามารถไปต่อกรกับอาวุธ และกำลังที่ตำรวจ คฝ. มีได้ ต้นพูดกับผมด้วยมุมมองจากเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เท่าที่เขาจะสู้ได้

“พวกผมออกมาไม่ได้ต้องการความรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่ในเมื่อตำรวจทำร้าย เราจะยอมให้เขาทำรุนแรงกับเราอยู่ฝ่ายเดียวเหรอ วัยรุ่นอย่างพวกผมเชื่อกันว่า ถ้าถูกตบแก้มข้างซ้าย เราก็ต้องสวนมันด้วยหมัดขวา ผมรู้ว่าสันติวิธีเป็นสิ่งที่ดี แต่ในเมื่อสันติวิธีใช้ไม่ได้กับตำรวจ มีเหตุผลอะไรที่พวกผมต้องอยู่นิ่ง ๆ ต้องเจ็บตัวอยู่ฝ่ายเดียว ต้องมีอีกกี่คนที่ต้องเจ็บ สิ่งเดียวที่พวกผมสู้ได้คือ เขาทำเรามาอย่างไร เราก็ทำกลับไปอย่างนั้น

“ผมยังมีความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงนะ ถึงแม้มันจะน้อย เพราะผมรู้สึกว่าสู้อย่างนี้ไปยังไงก็ไม่ชนะ  หนึ่งคือการต่อสู้ของเรากับเขามันค่อนข้างแตกต่าง เราไม่เคยเข้าประชิดตัวเขาได้เลย เขามีอาวุธที่ดีกว่าเรา สองคือต่อให้เราพูดอะไรออกไป มันก็ไม่สะทกสะท้านเขาหรอก เขายังคงทำหน้าที่ของเขาเหมือนเดิม สามคือตำรวจเขาไม่เคยสนใจว่า เราเป็นเด็กหรือเยาวชน พื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตชุมชนหรือไม่ เขาสามารถยิงได้หมดทุกสถานการณ์ เขากล้าที่จะยิง”

การพูดคุยเคลื่อนผ่านไป จนแทบลืมการเคลื่อนไหวของเข็มนาฬิกา ต้นเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้ผมฟังหลากหลายเรื่อง เขาบอกว่าสมัยเด็ก ๆ เห็นภาพตำรวจ ทหาร ออกมาช่วยเหลือประชาชน มันเป็นอาชีพที่ดูเท่ในสายตาเขา แต่วันนี้อาชีพเหล่านี้ กลับหันกระบอกปืนเข้าใส่ประชาชน

“มันเจ็บใจนะ ที่อาชีพที่ผมเคยชื่นชม กลายเป็นคนทำร้ายเรา” ต้นกล่าวขึ้นในขณะที่สายตาของเขา จ้องมองไปที่ตำรวจสายตรวจ 2 คนฝั่งตรงข้ามด้วยความหวาดระแวง เขาตอบคำถามสุดท้ายของผม ก่อนแยกย้ายจากกันไป

“ถึงคนที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย แม้วิธีการเคลื่อนไหวเราจะต่างกัน แต่เรามีอุดมการณ์ ปัญหาเดียวกัน แม้คุณจะเคลื่อนไหวด้วยวิธีการใด ผมก็เคารพในการเคลื่อนไหวนั้น และเชื่อว่าแต่ละคนมีภาระหน้าที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดคุณมีครอบครัวที่ต้องดูแล คุณก็ต้องดูแลครอบครัวคุณให้ดี ถ้าคุณมีหน้าที่ต้องเรียนคุณก็เรียนไป คุณมีงานทำคุณก็ทำงานของคุณให้เต็มที่ที่สุด ต่อให้คุณไม่ได้ออกมา แต่อย่างน้อยขอให้คุณแค่มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น แค่นั้นพวกผมก็คิดว่าคุณคือเพื่อนเราแล้ว และผมก็มีหน้าที่ของพวกผม ที่อยากทำมันให้ถึงที่สุดเช่นกัน”

“เสียงจากชาวแฟลต” วงเสวนาใต้ถุนแฟลต 2 ดินแดง

หลังจากที่ต้นเดินหายไปกับเพื่อนของเขา ผมขยับวงสนทนา ไปหาชาวบ้านที่จับกลุ่มนั่งคุยกัน บริเวณใต้ถุนแฟลตดินแดง แน่นอนว่าบทสนทนาที่คุยกัน ไม่สามารถบ่งบอกทุกเสียง แทนคนในแฟลตดินแดงได้ แต่เป็นอีกความคิดเห็น ที่จะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ ระหว่างชาวแฟลตดินแดง กับกลุ่มวัยรุ่นที่มาชุมนุมได้ในระดับหนึ่ง ทั้งสามคนที่คุยไม่สะดวกเปิดเผยตัวตน ผมจึงขอใช้สรรพนามแทนตัวพวกเขาว่า ‘เสียงจากชาวแฟลตดินแดง’

“ที่เขาบอกกันว่า ชาวแฟลตเข้าข้างม็อบคือมันไม่เกี่ยวกัน เราอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ใครเดือดร้อนเข้ามา เราก็เห็นใจเขา มันคือความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ความคิดทางการเมืองเราไม่ได้มีแบบเขา การที่ภาพข่าวออกไปว่าชาวแฟลต ด่าไล่ตำรวจ มันเป็นเพียงแค่เราอยากปกป้องชีวิตเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมือง”

ชาวแฟลตดินแดงพยายามอธิบายว่า สิ่งที่พวกเขาทำ มันคือหลักของความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ที่ไม่สามารถทนดูความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้พวกเขายังบอกว่า

“ยิ่งตำรวจใช้ความรุนแรงมากเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้ชาวบ้านบริเวณนี้ เห็นใจเยาวชนที่ถูกทำร้ายมากยิ่งขึ้น คุณจับเขาได้ แต่คุณไม่มีสิทธิ์ ไปทุบตีเขาถึงขนาดนี้”

“จริง ๆ เราก็เห็นใจทั้ง 2 ฝ่ายทั้งตำรวจและผู้ชุมนุม ตำรวจก็โดนทำร้ายเหมือนกัน ฝั่งผู้ชุมนุมเราก็เข้าใจ ว่าที่เขาออกมา มันเป็นสิทธิของเขาที่จะชุมนุม พวกเขาเดือดร้อนถึงออกมาแบบนี้ มันก็ว่าไม่ได้ การชุมนุมเป็นเรื่องธรรมชาติ คนเรามันมีข้อเรียกร้องแตกต่างกัน” อีกหนึ่งเสียงจากชาวแฟลตดินแดงที่แทรกเข้ามาในวงสนทนา

สำหรับชาวแฟลตกลุ่มนี้ที่เป็นผู้สูงวัย การอยู่ร่วมกับสมรภูมิการชุมนุมทางการเมือง ที่ผ่านมานานนับเดือน สร้างความตื่นเต้นในชีวิตพวกเขาในช่วงแรก แต่พอนานวันไปเสียงหนึ่งก็บอกว่า เริ่มเบื่อหน่ายกับสถานการณ์ที่เจอ แต่อีกเสียงหนึ่งบอกว่าเริ่มชินและไม่ได้ใส่ใจอะไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนบอกออกมาไม่ต่างกันคือ

“โอ๊ย! เรื่องแค่นี้ไม่คิดจะย้ายหนีหรอก แฟลตก็คือบ้านพวกเรา ม็อบเข้ามาชีวิตก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรนักหรอก ยังคงหาเช้ากินค่ำอยู่อย่างเดิม ถ้าถามพวกเรา มันไม่ได้เครียดถึงขนาดนั้น”

แต่พวกเขาบอกว่า ไม่ใช่พวกเขาไม่เครียด และคนอื่นจะไม่เครียดเหมือนพวกเขา เพราะแต่ละคนมีภาระหน้าที่การงาน มีลูกหลานที่ต้องดูแลต่างกัน บางคนต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง อย่างไรแล้วชาวแฟลตดินแดงทุกคน ก็รอวันที่ทุกอย่างจะกลับมาสงบดังเดิม 

“สุดท้ายถ้าจะแก้ปัญหานี้ มันต้องกลับไปดูที่ต้นเหตุว่า เด็กมันเรียกร้องอยากให้ใครออกไป” เสียงจากชาวแฟลตดินแดง

ถ้าวันนี้ทุกอย่างมันดีกว่านี้

“ถ้าวันนี้สภาพสังคมมันปกติ ผมเคยคิดว่า ผมคงได้นอนกินขนมดูอนิเมะเรื่อง Attack on Titan และเรื่อง Tokyo Revengers อยู่ที่บ้าน ผมก็อยากมีชีวิตวัยรุ่น วัยเรียนเหมือนทุกคน อยากจะเรียนหนังสือ อยากลองทำช่องยูทูบของตัวเอง โตขึ้นก็อยากทำงานเก็บเงิน สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัว  ไม่มีใครอยากออกมารับกระสุนแบบนี้หรอก 

“ถ้าถามความรู้สึกตอนนี้ ผมอยากกลับบ้านอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อมีหน้าที่ที่อยากจะอยู่ตรงนี้ ผมก็อยากทำมันจนถึงที่สุด พ่อแม่เขาก็ไม่เคยตามผมนะ ถ้าไม่นับเพื่อนชีวิตผมก็หมาป่าเดียวดาย ผมเป็นตัวของตัวเองได้ดีที่สุดแล้ว ผมเป็นได้เท่านี้จริงๆ

“ผมอยากบอกชาวบ้านเขตดินแดงว่า ขอโทษที่พวกผมสร้างความเดือดร้อน แต่พวกผมก็พยายามที่จะปกป้อง คนที่ไม่เกี่ยวข้องให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” 

เสียงจากต้นเยาวชนอายุ 18 ปี ที่ออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มมวลชนอิสระ บริเวณแยกดินแดง ถ้าวันนี้รัฐจัดการกับวิกฤตโควิดได้ดีกว่านี้…ต้นคงไม่ตกงาน ถ้าที่ผ่านมาเศรษฐกิจมันดีกว่านี้…พ่อแม่ต้นคงจะส่งเสียให้เขาได้เรียนต่อ ถ้าวันนี้สังคมมันเหลื่อมล้ำน้อยกว่านี้…ต้นคงได้นอนดูอนิเมะเรื่องที่เขาชอบอยู่ที่บ้าน แต่วันนี้ชีวิตเขาไม่หลงเหลืออะไรที่ว่ามา เขาถึงต้องออกมาทวงคืนความหวังในชีวิต ที่หลงเหลืออยู่ของเขากลับมา