“ป้าเป็นแม่ไอ้รามใช่ไหม?” หนึ่งในตำรวจชุดจับกุมเอ่ยขึ้น หน้าห้องพิจารณาคดี ในคดีฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
“ผมกราบขอโทษป้าด้วยนะ ผมรู้ว่ามันไม่เกี่ยวข้อง แต่ผมจำเป็นต้องให้การอย่างนี้จริง ๆ เพราะว่ามันเป็นคำสั่งนาย นายสั่งมา” หญิงสาวผู้เป็นแม่ร่ำไห้ หลังจากได้ยินคำกล่าวของตำรวจ คำที่ทำให้ลูกของเธอถูกตัดสินประหารชีวิต
“ทำไมทำแบบนี้ ชีวิตคนทั้งคนนะลูก” ตำรวจนายนั้นรีบเดินจากไป ไม่เคยหันกลับมาฟังคำร้องขอ ของเธออีกเลย
บทสนทนาข้างต้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปีพ.ศ. 2544 เหตุการณ์ผ่านมา 20 ปี แต่ภาพความอยุติธรรมในวงการตำรวจไทย ไม่เคยจางหาย
ราม (นามสมมุติ) อดีตนักโทษเรือนจำ คดีมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ย้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้เราฟังอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำว่า ตำรวจไทยไม่ใช่ตัวแทนแห่งความยุติธรรม และการปฏิรูปตำรวจคือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ผ่านความเจ็บช้ำที่คนคนหนึ่งติดคุกไป 18 ปี เพราะคำคำเดียวคือ คำสั่งนาย
2544 แพะรับบาปในสงครามยาเสพติด
“ผมทำงานเป็น Driver ของสายการบินไทย ทำหน้าที่ขับรถจากสนามบิน ไปส่งลูกค้าตามสถานที่ต่าง ๆ”
ราม เริ่มต้นเล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เขาเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติด โดยในวันดังกล่าว มีลูกค้ารายหนึ่งบินมาจากเชียงใหม่ และเข้ามาขอใช้บริการรถรับ-ส่ง แบบเหมารายวัน โดยมีรามเป็นผู้ขับรถให้ในวันนั้น
“คืนนั้นดึกแล้ว ลูกค้าให้ผมขับรถไปส่งที่โคราช ระหว่างทางเขาก็แวะทำธุระตามที่ต่าง ๆ และในทุกจุด เขาจะให้ผมรอที่รถ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการทำงาน”
จนกระทั่งผ่านไปอีก 1 วัน ลูกค้าให้รามขับรถกลับมาที่กรุงเทพฯ และบอกให้เขากลับบ้านไปพักผ่อน เมื่อถึงเวลาเดินทาง เขาจะโทรไปเรียกใช้บริการอีกครั้ง จนช่วงบ่ายลูกค้าคนดังกล่าวโทรมาบอกว่า ให้รามขับรถไปรับเพื่อนของเขาที่วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี เพื่อมาส่งที่กรุงเทพฯ รามจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วัดได้ไม่เคยลืม
“ผมขับรถเข้าไปที่ลานจอดรถ พอเปิดประตูลงมา ตำรวจเข้ามาล้อมผมเต็มไปหมด”
รามคิดว่าตอนนั้นเขามีการแสดงอะไรกัน จนสุดท้ายตำรวจจับรามกระแทกลงไปที่พื้น และใช้ขาเหยียบตัวเขาไว้ พร้อมเอาปืนมาจ่อ และบอกรามว่า “มึงมารับเงินใช่ไหม”
“ตั้งแต่วินาทีนั้น ชีวิตผมคือจบ โดนแจ้งข้อหาร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย”
โดยในตอนนั้นตำรวจได้จับกุมเครือข่ายยาเสพติด ของคนที่รามกำลังเดินทางไปรับไว้ได้หมดแล้ว ซึ่งรามไม่ได้รู้จักกับคนเหล่านั้นเป็นการส่วนตัว เพียงแค่ทำตามหน้าที่ขับรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ตามที่ได้รับมอบหมายจากลูกค้าคนดังกล่าว ให้ไปรับเพื่อนของเขาจาก จ.สุพรรณบุรีมาส่งที่กรุงเทพฯ
แต่ตำรวจกล่าวหาว่า เขาคือตัวเชื่อมเพียงหนึ่งเดียว ในการขยายผลการจับกุม ไปยังอีกเครือข่ายยาเสพติดที่เป็นลูกค้าของราม หลังจากบ่ายวันนั้น รามถูกควบคุมตัวเข้าสู่ชั้นสอบสวน ตำรวจพยายามให้เขาซัดทอดข้อมูล ไปยังลูกค้าคนดังกล่าว ทั้งที่รามไม่ได้รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว และจนถึงบัดนี้ลูกค้ารายนั้นก็ยังลอยนวล
ความยุติธรรมที่หล่นหายในชั้นสืบสวน-สอบสวน
“เราถูก จนท. ยืนล้อม และเอากุญแจไขว้หลัง ถ้าเอนไปซ้ายก็โดนเตะซ้าย เอนไปขวาก็โดนเตะขวา เอนไปข้างหลังก็โดนเตะ เอนไปหน้าก็โดนหน้าอีก จนเราบอกเขาว่า ‘ไม่รู้เรื่องจริง ๆ มึงยิงกูตายตรงนี้ กูก็ไม่รู้เรื่อง”
ราม เล่าเรื่องราวตอนที่เขาถูกจับกุม และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโดยเป็นทีมเดียวกันกับที่จับกุม รามกล่าวว่าสิ่งที่ตัวเองโดนกระทำ รวมทั้งที่เพื่อน ๆ ของเขาในเรือนจำโดน และอย่างคดีดังของ ผกก.โจ้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในวงการตำรวจไทย จนอาจเรียกได้ว่าเป็นค่านิยม เรื่องธรรมดาของตำรวจไปแล้ว
โดยหลังจากวันสอบสวน ตำรวจส่งตัวรามฝากขังที่เรือนจำ ทำให้เขาไม่สามารถเตรียมพยานหลักฐานได้ ในขณะที่ฝั่งตำรวจมีความพร้อม และความสามารถในการเตรียมสำนวนคดี หลักฐานต่าง ๆ
“การต่อสู้ในกระบวนยุติธรรมกับตำรวจมันเหนื่อย เขาเป็นเจ้าของอำนาจ จนมีคำพูดในกลุ่มพรรคพวกเราในเรือนจำกันเองว่า
“มึงต้องถามตัวมึงเอง ถ้ามึงโกรธหมา มึงจะโดดเข้าไปกัดกับหมาไหม ถ้ามึงโกรธหมาแล้วกัดกับหมาได้ มึงถึงสู้กับตำรวจได้ แต่ถ้ามึงกัดกับหมาไม่ได้มึงไม่ต้องไปสู้ มึงหาทางยอมไปซะ เสียให้น้อยที่สุด เพราะมึงแทบไม่มีโอกาสชนะคดี”
ดั่งที่เกริ่นไปตอนต้น ตำรวจเองก็กล่าวกับแม่ของราม รู้ว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ต้องจับเพราะเป็นคำสั่ง อีกทั้งรามยังกล่าวเสริมว่า
“เหตุผลที่เขาต้องจับผม เพราะเขาต้องการเชื่อมผมกับคนที่หลบหนี และในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่ทำการปรามปราบยาเสพติด แทบจะไม่มีคดีไหนยกฟ้อง เพราะฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงฝ่ายตุลาการ หากผู้พิพากษาทำการยกฟ้อง จะต้องทำรายงานและโดนตรวจสอบอย่างเข้มข้น”
ในอีกมุมหนึ่งจากคำบอกเล่าของราม ที่ได้รู้จักกับเพื่อนนักโทษคดียาเสพติดเหมือนกันพบว่า ผู้ต้องหาคดีขนยาเสพติดส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้ผลิต หรือตัวบงการของขบวนการอย่างแท้จริง เป็นเพียงกลุ่มคน ที่รับจ้างขนยามูลค่าหลักแสน เพื่ออยากจะได้เงินหมื่นห้า ไปออกรถมอเตอร์ไซต์ มาส่งลูกไป รร. โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เขาให้ส่งอะไร
18 ปี ในเรือนจำของราม จากโทษประหารชีวิตสู่การจำคุกตลอดชีวิต และได้รับการอภัยโทษในที่สุด มันคือความสูญเสียโอกาสในชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ เรื่องราวของเขาทำให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง The Shawshank Redemption
โดยในระหว่าง 18 ปีนั้น รามพยายามขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานองคมนตรี โดยใช้วิธีการเขียนจดหมาย บอกเล่าเหตุการณ์ของตนเอง เพื่อหวังว่าผู้มีอำนาจจะมองเห็นสิ่งที่เขาต้องพบเจอ แต่ก็ไม่เป็นผล
รวมทั้งในระหว่างอยู่ในเรือนจำ รามได้ทำการศึกษาเล่าเรียน จนจบปริญญาตรีนิติศาสตร์เกียรตินิยมอันดับ 2, ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจการเกษตร และปริญญาโทจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและการแนะแนว
ในฐานะที่เขามีความรู้เรื่องกฎหมาย และเป็นคนที่ประสบกับความอยุติธรรมของตำรวจไทยมาโดยตรง เขาคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว ที่การเปลี่ยนแปลงในวงการตำรวจ ควรเกิดขึ้นสักที
“อำนาจในการจับกุมกับอำนาจในการสอบสวน เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน เรื่องการแยกอำนาจสองส่วนนี้ออกจากกัน แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้
“อีกอย่างหนึ่งคือ อำนาจของอัยการในการกลั่นกรอง ทุกวันนี้อัยการมีหน้าที่ ทำให้สำนวนคดีที่ตำรวจทำมา ไปหาข้อบกพร่องและทำให้มันรัดกุมมากขึ้นเท่านั้นเอง แต่เขาไม่เคยทำกระบวนการตรวจสอบ ว่าอันนี้มันไม่ถูก มันมีข้อบกพร่อง อัยการควรต้องลงมาล้วงลึก มาสอบถึงความเป็นจริง อัยการไม่ได้ทำหน้าที่นั้น ทำหน้าที่แค่ชี้ว่าตรงนี้มันมีช่องโหว่ คุณไปหาอะไรมาอุดไว้
“กลายเป็นว่าทั้งอัยการและตำรวจ เป็นการเสริมแรงกัน แทนที่จะเป็นการถ่วงดุล ตรวจสอบซึ่งกันและกัน”
ฝันลม ๆ แล้ง ๆ แยกงานสอบสวนออกจากสตช.
“คงไม่มีทางแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ แต่อย่างน้อย ๆ ขอให้กลับไปเป็นอย่างเดิมก็ยังดี”
พ.ต.ท.สุริยา แป้นเกิด รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ที่ครั้งหนึ่งในช่วงปี 2560 เคยร่วมกับสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ พยายามเรียกร้องให้แยกงานสอบสวนออกมาให้เป็นอิสระ มีการเติบโตในสายงานตัวเอง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ
โดยคำว่า “อย่างน้อย ๆ ให้เป็นอย่างเดิมก็ยังดี” เป็นผลมาจากคำสั่ง คสช.ที่ 7/2559 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน พ.ต.ท.สุริยา สรุปใจความหลักของคำสั่งฉบับดังกล่าวไว้ว่า
“ก่อนที่คำสั่ง คสช. 7/59 จะออกมา มันเคยมีระบบการเติบโตของพนักงานสอบสวนไว้อยู่แล้ว ที่สามารถทำให้พนักงานสอบสวนเติบโต ในสายงานตัวเองจนถึงระดับพลตำรวจตรี แต่คำสั่ง คสช. สั่งยุบระบบดังกล่าวไป แต่ก่อนใครจะขึ้นเป็นสารวัตรสอบสวนต้องทำคดี 140 คดี อยู่มาอย่างน้อย 7 ปี มีการยื่นผลงาน สอบข้อเขียน ประเมินวัดความรู้ ถึงจะได้ขึ้นเป็นสารวัตร โดยไม่ต้องใช้เส้นสาย แต่พอยุค คสช. ยุบแท่งพนักงานสอบสวน ตอนนี้ไม่ต้องประเมินผลงาน ไม่ต้องยื่นสอบ อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ว่าใครจะได้ขึ้นสารวัตรสอบสวน ไม่ต้องผ่านงานสอบสวนก็ได้”
ผลที่ตามมาจาก คำสั่ง คสช. 7/59 จึงทำให้การเติบโตของตำรวจขึ้นอยู่กับ ความพึงพอใจของผู้บังคับบัญชา ทั้งยังได้ตำรวจสอบสวนที่อาจจะไม่มีความรู้ ความสามารถเรื่องงานสอบสวน และสิ่งที่ตามมาคือการทุจริต ที่ตำรวจสามารถทำได้ง่ายขึ้น
“ตอนนี้ทั้งงานสืบสวนและงานสอบสวน มีหัวหน้าคนเดียวกันในโรงพักคือผู้กำกับ เหมือนคดี ผกก. โจ้ ถ้าไม่เป็นข่าวดัง งานสอบสวนสามารถช่วยงานสืบสวน ให้ดูเหมือนเป็นการตายธรรมดาได้”
พ.ต.ท.สุริยา กล่าวเสริมในประเด็นนี้ต่อว่า ตอนนี้ผู้กำกับส่วนใหญ่ มีอำนาจในการสอบสวน สืบสวน ดัดแปลงข้อเท็จจริง ทำอย่างไรก็ได้ให้ฝ่ายสอบสวนไปช่วยฝ่ายสืบสวน โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับยาเสพติด หลักฐานส่วนใหญ่จะมาจากทางงานสืบสวนนำมาให้ ผู้ต้องหาแทบไม่มีโอกาสนำพยานหลักฐานใด ๆ เข้ามาต่อสู้
“ทั้งที่จริง ผู้ต้องหาควรมีสิทธินำพยานหลักฐานขึ้นมาต่อสู้ แต่ความเป็นจริงแทบไม่มี เพราะในการจับกุมตำรวจมีโอกาสได้เตรียมความพร้อมต่าง ๆ เช่น การถ่ายภาพ หาข้อมูลต่าง ๆ ไว้หมดแล้ว”
ดังนั้นถ้าหากฝ่ายสอบสวนสามารถแยกตัวออกมาทำงานได้อย่างอิสระ พ.ต.ท.สุริยา เชื่อว่าการกลั่นแกล้งผู้ต้องหา และการเอื้อประโยชน์ของคนทั้ง 2 ฝ่ายนี้จะลดลง
“ถ้าเขาแยกออกมา ผู้กำกับก็ไม่สามารถให้คุณให้โทษพนักงานสอบสวนได้ หากฝ่ายสืบสวนไปทำร้ายผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนก็สามารถทำงาน สอบสวนหาความจริง จากผู้ต้องหาได้อย่างเต็มที่ ในทางกลับกันถ้าฝ่ายสอบสวนทำอะไรทุจริต ก็จะเจอกับฝ่ายสืบสวนหาหลักฐานดำเนินคดี เป็นการคานอำนาจกัน”
ดังนั้นถึงแม้การแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะดูไม่มีความเป็นไปได้ แต่การแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระ หรือแม้แต่การกลับไปใช้ระบบคัดสรรพนักงานสอบสวน ก่อนคำสั่ง คสช. 7/59 เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่สังคมทุกวันนี้ยังไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย เหยื่อคนแล้วคนเล่า ที่ถูกผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ พรากสันติภาพไปจากชีวิตพวกเขา และไม่มีวี่แววว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะหมดไปจากสังคมในเร็ววัน
เสียง(ไม่)สุดท้าย จากเหยื่อความอยุติธรรมของตำรวจไทย
“ยังมีความโกรธแค้นอยู่ มันไม่ได้สลัดไปจนหมด ส่วนหนึ่งเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มันทำให้แม่ผมทุกข์ แม่ผมทุกข์มา 18 ปี ทุกวันที่แม่ไปเยี่ยม ผมต้องลากตรวนเดินออกมาเสียง เก๊ง เก๊ง เก๊ง แม่ได้ยินเสียงตรวนทีไร น้ำตาแม่ร่วงทุกที จนทุกวันนี้แม่ยังต้องกินยาระงับประสาทอยู่
“วันที่เขาตัดสินประหารชีวิตผม แม่ไปรอรับศพอยู่หน้าบางขวาง แม่คิดว่าหลังจากตัดสินประหาร เขาจะเอาผมไปฆ่าทันที แม่มาเล่าให้ฟังว่าทนไม่ได้จริง ๆ รู้ทั้งรู้ว่าลูกตัวเองไม่ผิด แม่บอกว่าถ้าวันนั้นรับศพผมมาแล้ว จะโดดน้ำตายตามที่หน้าบางขวาง
“ช่วงแรกผมโกรธมาก ถ้ามีโอกาสแก้แค้นได้ผมจะแก้แค้น แต่พอระยะเวลามันทอดยาวไปความโกรธก็เบาบาง และผมได้มาเรียนกฎหมายก็ยิ่งเห็นว่า ระบบกฎหมายบ้านเรามันแปลกประหลาด เพราะมันยึดระบบหนึ่งแต่เวลาปฏิบัติก็ใช้อีกระบบหนึ่ง ถ้ากระบวนการสืบสวน สอบสวน ระบบกฎหมายยังเป็นแบบนี้ คนปฏิบัติงานมันก็ต้องทำแบบนี้ เพราะมันเห็นช่องว่าง
“ตอนแรกศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต จนกระทั่งศาลสุดท้ายเราก็แพ้คดี เหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยศาลอ้างว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของของกลาง แต่จำเลยไม่ให้ข้อมูลของผู้ที่หลบหนี จึงเชื่อว่าจำเลยรู้เห็นเป็นใจ ศาลมักใช้อ้างในคำพิพากษาว่า
‘พยาน(ตำรวจ) เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติไปตามหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำ ให้จำเลยต้องได้รับโทษ เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตามที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลย’”
-เสียงจากราม อดีตนักโทษประหาร คดีมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย